ThaiPublica > Native Ad > ‘น่านเพาะพันธุ์ปัญญา’ ซีเอสอาร์การศึกษาของ“ธนาคารกสิกรไทย” กับเป้าหมายสร้างทักษะการเรียนรู้ที่ยั่งยืน

‘น่านเพาะพันธุ์ปัญญา’ ซีเอสอาร์การศึกษาของ“ธนาคารกสิกรไทย” กับเป้าหมายสร้างทักษะการเรียนรู้ที่ยั่งยืน

10 ตุลาคม 2022


ปฏิเสธไม่ได้ว่าการศึกษาคือตัวบ่งชี้โอกาสการเติบโตและความก้าวหน้าของประเทศ หากประเทศใดที่ระบบการศึกษาดีย่อมทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้า กลับกันประเทศที่การศึกษายังไม่พัฒนา ประเทศนั้น อาจเติบโตไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของโลก

เมื่อหันมามองประเทศไทยจะเห็นว่า ระบบการศึกษายังมีจุดบอดอีกมาก ตั้งแต่การบริหารจัดการ โดยภาครัฐ ภาระหน้าที่ของครูที่มากเกินขอบเขตและมีภาระที่ไม่จำเป็นมากเกินไป ส่งผลกระทบมาถึงการเรียนการสอนที่ไม่มีประสิทธิภาพ นักเรียนไม่ได้รับความรู้หรือการสอนให้รู้จักคิดและวิเคราะห์ เน้นท่องจำ เพื่อสอบ ขาดตรรกะและเหตุผล ขณะเดียวกันเวลาทำโครงการก็มีจุดประสงค์เพื่อประกวดเท่านั้น ทั้งหมด ไม่ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ต่อผู้เรียน

“เพาะพันธุ์ปัญญา” โมเดลการศึกษาอย่างยั่งยืน

แม้การพัฒนาการศึกษาเป็นหน้าที่ของภาครัฐ แต่ภาคเอกชนอย่าง ‘กสิกรไทย’ มองว่าภาคธุรกิจ ควรมีส่วนร่วมกับการขับเคลื่อนสังคม จากความเชื่อของธนาคารกสิกรไทยที่ว่า สังคมจะยั่งยืนได้ ก็ต่อเมื่อ เด็กได้รับการศึกษาที่ดี มีกระบวนการคิดอย่างมีตรรกะและต่อยอดในชีวิตประจำวันได้

แนวคิดนี้มาจากความตั้งใจแรกเริ่มของคุณบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกิตติคุณ ธนาคารกสิกรไทย ต้องการเพาะพันธุ์เมล็ดพันธุ์การศึกษาให้งอกเงย และส่งต่อโมเดลการศึกษาอย่างยั่งยืน จึงตั้งชื่อว่า “เพาะพันธุ์ปัญญา”

ในปี 2556 ธนาคารกสิกรไทยจึงพัฒนาซีเอสอาร์โครงการ ‘เพาะพันธุ์ปัญญา’ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้วยการนำโครงงานวิจัย เป็นเครื่องมือในการกระตุ้น ให้นักเรียนเกิดความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นด้านการเรียนรู้ การคิดวิเคราะห์-สังเคราะห์ เข้าใจหลักเหตุ-ผล ผ่านทักษะการผนวกแนวคิดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ากับชุดความคิดทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ (SEEEM) ประกอบด้วย วิทยาศาสตร์ (Science) เศรษฐศาสตร์ (Economics) นิเวศวิทยา (Ecology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics)

ดร.อดิศวร์ หลายชูไทย เลขานุการบริษัท และรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย

ในปี 2562 ธนาคารกสิกรไทยสานต่อความสำเร็จมาที่จังหวัดน่านในชื่อ ‘น่านเพาะพันธุ์ปัญญา’ โดยเลือกพัฒนาโครงการที่จังหวัดน่าน เนื่องจากรายได้ต่อหัวยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก และน่าน ยังเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำที่สำคัญของประเทศ มีประชากรกลุ่มชาติพันธุ์มากมาย ดังนั้นการยกระดับการศึกษา จะเพิ่มทางเลือกในการดำรงชีวิต และสร้างความผูกพันและเชื่อมโยงระหว่างเด็กและท้องถิ่น

“เราทำโครงการที่น่านเยอะ เรามีพันธมิตร และคิดว่าการทำที่ ‘น่าน’ เหมือนภาพเล็กๆ ที่ต่อกันเป็นภาพใหญ่ มันมีความหมายกับจังหวัดและประเทศ เกิดผลเป็นสิ่งใหม่ๆ จนวันนี้ ‘เพาะพันธุ์ปัญญา’ เป็นนวัตกรรมการศึกษา และถูกเอาไปใช้ในแซนด์บ็อกซ์ เราเริ่มเห็นความหวังว่าระบบการศึกษาจะเปลี่ยนแปลง” ดร.อดิศวร์ หลายชูไทย เลขานุการบริษัท และรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย เล่าเหตุผลที่เลือกน่านเป็นจังหวัดต้นแบบโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา

ดร.อดิศวร์ กล่าวต่อว่า ธนาคารกสิกรไทยสามารถขับเคลื่อนสังคมในฐานะ ‘แหล่งทุน’ เพราะธนาคารไม่ได้เป็นนักวิชาการหรือนักการศึกษา สิ่งที่ธนาคารทำได้ คือ ส่งต่อความตั้งใจ พัฒนาการศึกษาโดยหาคนที่มีเจตนารมณ์เดียวกันอย่าง “สกว.” เพราะเห็นตรงกันว่า หัวใจสำคัญของการศึกษาคือการพัฒนาระบบคิดให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสมดุลทุกมิติ

ดร.อดิศวร์ มองว่า….

“การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียน ‘เพาะพันธุ์ปัญญา’ สร้างกระบวนการที่ดึงศักยภาพของเด็กให้นำออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกัน ครูก็ต้องทำหน้าที่โค้ช การเปลี่ยนแปลงจะเกิด เมื่อครูโยนอาหารสมองให้นักเรียน ครูคือเบ้าในการหล่อหลอมเด็ก ถ้าเบ้ามีความคมสิ่งที่ออกมาก็ดี ดังนั้นนักเรียนเป็นผลผลิตที่สะท้อนความสามารถและความใส่ใจของครู”

“สมมติเราบอกว่าจะทำให้ทุกคนมีความรู้ในการเปิดบริษัท แล้วให้ทดลองทำ ต่อให้ล้มเหลวขายของ ไม่ได้สักชิ้น บริษัทปิดลง ไม่มีอะไรติดมือ ประเด็นคือไม่ใช่ว่าเฟล แต่นี่ คือ กระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญ มากกว่าทำอย่างไรถึงเฟล การล้มเหลวคือบทเรียนสำคัญในชีวิต” ดร.อดิศวร์ กล่าว

เพาะพันธุ์ปัญญาใช้วิธีการทดลองจริงผ่านโครงงานฐานวิจัย (Research-based Learning: RBL) โดยมีแนวคิด “ถามคือสอน สะท้อนคือเรียน เขียนคือคิด” กล่าวคือมีการตั้งคำถามกับผู้เรียน ชวนผู้เรียนสะท้อนความคิดเห็นจากสิ่งที่ค้นพบระหว่างเรียน และให้ผู้เรียนนำความคิดนั้น เข้าสู่กระบวนการ เขียนบทสรุป บทวิชาการ และความรู้สึก

โดยนักเรียนที่ร่วมโครงการจะได้ทักษะการทำงานเป็นกลุ่มตั้งแต่การกำหนดเรื่องราวที่สนใจทำโครงการ แล้วออกแบบวิธีการหาคำตอบด้วยวิธีการวิจัย

ด้วยข้อจำกัดของโควิด-19 ทำให้โครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญา ในปี 2565 จัดอบรมทางออนไลน์ เป็นหลัก มีนักเรียนที่เข้าร่วมทั้งระดับประถมและมัธยม แบ่งการแข่งขันออกเป็น 3 รอบ ในรูปแบบ Eduthon เวทีประลองปัญญา เพื่อระดมความคิด ศึกษา ค้นคว้า วิจัยปัญหาท้องถิ่นในจังหวัดน่าน

โดยรอบชิงชนะเลิศเป็นการแข่งขันในโจทย์ “ความลับของบ้านฉัน” เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน อาทิ การรักษาแหล่งน้ำ การจัดการที่ยั่งยืน ความเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว ทรัพยากรธรรมชาติ แลกเปลี่ยนสินค้า เศรษฐกิจหมุนเวียน ฯลฯ


แม้ผลลัพธ์จากโครงงานวิจัยจะไม่เป็นรูปธรรมมากนัก แต่สิ่งที่เห็นชัดที่สุด คือ เด็กมีวิธีคิดอย่างมีตรรกะ มากขึ้น และเชื่อมธรรมชาติกับตัวเองเข้าหากันได้

สร้างกระบวนการคิดและแก้ไขปัญหา

รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ผู้ถ่ายทอดกระบวนการเพาะพันธุ์ปัญญา และกรรมการกำกับดูแล ทิศทางการดำเนินงาน โครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญา กล่าวว่า ในอดีตนักการศึกษาจะพูดถึงวิธีที่ชื่อ STEM (science, technology, engineering, mathematics) แต่วิธีการแบบ STEM ทำให้เด็กขาดการเชื่อมโยง ตัวเองกับท้องถิ่น และไม่ได้รับองค์ความรู้เศรษฐกิจพอเพียง ดังนั้นโครงการเพาะพันธุ์ปัญหาจึงใช้แนวคิด SEEEM เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนแก้ไขปัญหาสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา

“เราต้องการสร้างเด็กที่เข้าใจความสัมพันธ์ของชีวิตและธรรมชาติ ปัญหาของเด็ก คือ อาชีพกับธรรมชาติห่างกัน เด็กเป็นลูกหลานคนปลูกข้าวโพด บ้านเขาทำลายธรรมชาติโดยไม่รู้ตัว เขาอยู่ในวงจรการใช้หนี้เพื่อปลูกข้าวโพด มองไม่เห็นว่าข้าวโพดไปทำลายระบบนิเวศ เกิดผลต่อน้ำ ดิน โรคภัยไข้เจ็บ ถ้าเราต้องการให้คนน่านเห็นความยั่งยืน เราต้องสร้างการศึกษาให้เด็กเห็นความสัมพันธ์ให้ได้ แล้วเขาจะมองเห็นความยั่งยืนของการใช้ทรัพยากร” รศ.ดร.สุธีระ กล่าว

รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ กรรมการกำกับดูแล ทิศทางการดำเนินงาน โครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญา

รศ.ดร.สุธีระ เล่าว่า กลุ่มนักเรียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในปีแรกนำเสนอเรื่อง ‘แชมพูผสมน้ำมันมะพร้าว’ และให้เหตุว่าแชมพูทำให้ผมนุ่ม รักษาความชุ่มชื้นและขจัดสิ่งสกปรก แต่นักเรียนไม่มีเครื่องมือวัดผล และไม่สามารถให้คำตอบทางวิทยาศาสตร์ ทว่าสิ่งที่โครงการต้องการไม่ใช่ข้อมูลเชิงลึกหรือความถูกต้อง แต่เพาะพันธุ์ปัญญากำลังสร้างกระบวนการคิดและแก้ไขปัญหา

โดยเด็กกลุ่มนี้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้โดยนำใบชบามาจุ่มน้ำที่มีแชมพู แล้วเอาใบชบาไปชั่งว่า น้ำหลุดออกจากใบไม้หรือไม่ สุดท้ายคณะกรรมการเห็นตรงกันว่า เกณฑ์ตัดสิน คือ เด็กสามารถต่อยอด วิธีคิดของตัวเองได้หรือไม่ และในเคสนี้คือเด็กต่อยอดได้

“การเรียนรู้ไม่ใช่แค่เด็กใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ แต่ต้องทำให้เด็กเรียนรู้โดยการคิด ถ้าเราจัดแข่งขันทั่วไป ก็ไม่ต่างจากคนอื่น สังคมไม่ได้เข้าใจการเรียนรู้ของเด็ก เราไม่ต้องการความเป็นเลิศทางวิชาการ ทำไมเราไม่สอนเด็กให้เรียนรู้ระบบคิด ให้อธิบาย Why ไม่ใช่แค่ What นี่คือ Creative Thinking” รศ.ดร.สุธีระ กล่าว

รศ.ดร.สุธีระ กล่าวต่อว่า ในปีแรกมีการให้รางวัล แค่ภายหลังพบว่าการให้รางวัลกับเด็กไม่ถูกต้อง เพราะเด็กจะทำงานเพื่อผลรางวัล เด็กถูกขับเคลื่อนด้วยแรงจูงใจ ไม่ใช่แรงบันดาลใจ ในปีต่อๆมาจึงงดการให้รางวัล และตั้งโจทย์ใหม่ว่ารางวัลของโครงการ คือ สิ่งที่เด็กจะได้รับกลับไป คือ กระบวนการคิดที่ติดตัวไป ซึ่งสะท้อนว่า ‘น่านเพาะพันธุ์ปัญญา’ เป็นโครงการที่สร้างทักษะการเรียนรู้ที่ยั่งยืน


ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ดังนี้

  • กระบวนการสอน : ครูเปลี่ยนบทบาทเป็นโค้ชทางการศึกษา คอยตั้งคำถามเพื่อให้เด็กค้นหาคำตอบ ปลูกฝังจิตวิญญาณความเป็นครู เพิ่มพื้นที่ปลอดภัยให้นักเรียน ครูกล้าพานักเรียนลงมือทำในสิ่งที่ไม่รู้มาก่อน
  • กระบวนการเรียนรู้เด็ก : เด็กนักเรียนเปลี่ยนบทบาทจากเรียนตามหลักสูตร เป็นการเรียนตามความสนใจ เห็นโจทย์ในชุมชนเป็นการเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ
  • การเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของภาครัฐ : โรงเรียนปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอนโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งหลักสูตรส่วนกลางเท่านั้น เพราะวิชานอกห้องเรียนก็ทำให้นักเรียนมีพัฒนาการเช่นกัน
  • การเปลี่ยนความคิดผู้ปกครอง : ผู้ปกครองเห็นว่าการทำงานแบบเพาะพันธุ์ปัญญาคือการเรียนรู้ที่ห้องเรียนปกติไม่สามารถให้ได้ อีกทั้งเด็กยังกล้าแสดงออกมากขึ้น และมีระบบคิดเป็นเหตุเป็นผล

“น่านเพาะพันธุ์ปัญญาพยายามสร้าง Growth Mindset ถ้าเขาไม่มี เด็กจะไม่กล้าทำสิ่งยากๆ ท้อถอย กลัวความพ่ายแพ้ ทุกคนตั้งความหวังว่าต้องชนะ แต่รับความล้มเหลวไม่ได้ กลายเป็น Fixed Mindset และครูต้องฝึกเป็นผู้ฟัง เข้าใจกระบวนการการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เด็ก” รศ.ดร.สุธีระ กล่าว

ธนาคารกสิกรไทยเชื่อว่า ‘เพาะพันธุ์ปัญญา’ จะเป็นกระบวนการด้านการศึกษาที่สร้างความเปลี่ยนแปลงทุกมิติไปสู่ ‘การศึกษาที่ยั่งยืน’ ขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นๆ ในประเทศจนภาครัฐยกเป็นต้นแบบการเรียนรู้ศตวรรษที่ 21 ของประเทศไทย

เรียนรู้ลบช่องโหว่

เด็กหญิงดรัลรัตน์ ครุฑเงิน โรงเรียนน่านคริสเตียนศึกษา บอกความรู้สึกหลังจบโครงการว่า สิ่งที่ประทับใจ จากโครงการนี้คือการได้ศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเอง และออกนอกพื้นที่ไปศึกษาเรื่องข้าวหลามสังขยากาแฟ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ข้าวหลามในท้องถิ่น

เช่นเดียวกับ นางสาวภูริชญา สบานงา โรงเรียนศรีสวัสดิ์วิทยาคาร บอกว่า “ตลอดระยะเวลาหนึ่งเดือน ทำให้ได้พบเจออะไรหลายอย่าง หนูคิดว่าปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาจากจุดเล็กๆ ที่เป็นช่องโหว่ หน้าที่ของเรา คือไปลบช่องโหว่นั้น ยกตัวอย่าง เรื่องการหมักโกโก้ ตอนนี้เกษตรกรน่านปลูกโกโก้เริ่มแพร่พลายแล้ว แต่เขายังไม่รู้วิธีการเพิ่มมูลค่าโกโก้ โดยการหมักจะช่วยเพิ่มมูลค่าโก้โก้ได้ เป็นช่องโหว่หนึ่งที่เกษตรกรน่านยังไม่รู้”

ทั้งนี้ ‘เพาะพันธุ์ปัญญา’ ดำเนินการมาต่อเนื่องมาเป็นเวลา 10 ปี ถือเป็น ‘ซีเอสอาร์’ ที่ยาวนานที่สุดตั้งแต่ธนาคารกสิกรไทย
ทำโครงการซีเอสอาร์มาทั้งหมด