ThaiPublica > Native Ad > “เพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์” ปั้นเยาวชน ‘น่าน’ สู่ผู้ประกอบการ เรียนรู้ประสบการณ์จริงจากนักธุรกิจ

“เพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์” ปั้นเยาวชน ‘น่าน’ สู่ผู้ประกอบการ เรียนรู้ประสบการณ์จริงจากนักธุรกิจ

6 พฤษภาคม 2023


กว่า 10 ปีของโครงการ ‘เพาะพันธุ์ปัญญา’ โดยธนาคารกสิกรไทย ที่ให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษาของประเทศ ด้วยความเชื่อว่าหากมีระบบการศึกษาที่ดี จะส่งผลต่อความคิดของเด็กและเยาวชนที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาได้จัดขึ้นทั่วประเทศในช่วง 7 ปีแรก และช่วง 3 ปีสุดท้ายของโครงการได้จัดขึ้นที่จังหวัดน่าน เพื่อ ปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่กลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตัวเองในทุกมิติ และสร้างความยั่งยืนในจังหวัดน่านและพื้นที่ใกล้เคียง

โครงการนี้เริ่มต้นจากความร่วมมือของธนาคารกสิกรไทย และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในปี 2556 ต่อเนื่องมาเป็นเวลา 10 ปี กระทั่งเดือนธันวาคม 2565 ธนาคารกสิกรไทยได้ก่อตั้ง ‘มูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา’ โดยมี ดร. อภิชัย จันทรเสน ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิ และคุณขัตติยา อินทรวิชัย ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการมูลนิธิ เพื่อต่อยอดกระบวนการเพาะพันธุ์ปัญญาให้มีความต่อเนื่อง

“การตั้งมูลนิธิฯ เพื่อต้องการให้เกิดความต่อเนื่องและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ในที่สุด เปรียบเหมือนกับตะเกียงที่เราใส่น้ำมันและจุดไฟให้ตะเกียงเกิดแสงสว่างขึ้นมาแล้ว หากเราไม่เติมน้ำมันเข้าไป เมื่อน้ำมันหมดตะเกียงก็จะดับ แต่หากเราเติมน้ำมันตะเกียงอยู่สม่ำเสมอ ไฟในตะเกียงก็จะยังลุกโชติช่วงอยู่ตลอดเวลา…เราควรทำต่อเนื่องให้เด็กเจริญเติบโตและสามารถแบ่งปันต่อ หรือกลับไปช่วยบ้านเกิดของพวกเขา” ดร.อดิศวร์ หลายชูไทย กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งมูลนิธิฯ

มูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญาต่อยอดไปสู่ ‘โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ รุ่นที่ 1’ ซึ่งจัดขึ้นในปี 2566 โดยมีจุดประสงค์เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะของนักเรียนให้มีองค์ความรู้ใหม่และทักษะใหม่ที่แตกต่างจากการเรียนในห้องเรียน ภายใต้แนวคิด “66 วันเรียนรู้ชีวิต ทำธุรกิจให้เป็นจริง” ผ่านกิจกรรมในโครงการ

โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ รุ่นที่ 1 จัดให้กับกลุ่มนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย วัยที่กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ โดยบ่มเพาะเยาวชนให้เรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง ทำให้เกิดการพัฒนาทักษะใหม่และเสริมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต สามารถกลับมาดูแลท้องถิ่น พัฒนาชุมชน และสร้างความยั่งยืนในจังหวัดน่านและพื้นที่ใกล้เคียง และตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs)

โครงการเปิดโอกาสให้เยาวชนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-5 ที่เคยผ่านห้องเรียนเพาะพันธุ์ปัญญา โรงเรียนละ 5 คน จาก 8 โรงเรียนในเมืองและพื้นที่ห่างไกลของจังหวัดน่าน รวม 40 คน มาเรียนรู้การทำธุรกิจและการเป็นผู้ประกอบการ ระหว่างวันที่ 23 มีนาคม – 27 พฤษภาคม 2566 รวม 66 วัน

แม้จะเป็นในรูปแบบค่าย-แคมป์ แต่หัวใจของเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ ไม่ใช่แค่การเรียนรู้ภายในระยะเวลากว่า 2 เดือนเท่านั้น เพราะภารกิจของธนาคารกสิกรไทยคือสร้างเมล็ดพันธุ์การศึกษา และเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้แก่เยาวชน

‘ประสบการณ์จริง’ วิชาที่ห้องเรียนไม่ได้สอน

ดร.อดิศวร์ มองว่า นอกจากระบบความคิดที่ดีแล้ว เด็กควรจะได้เรียนรู้ประสบการณ์จริง และเมื่อก้าวเข้าไปสู่สนามแข่งขันที่กว้างใหญ่ขึ้น หรือการแข่งขันสูงขึ้น เด็กที่ผ่านโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์จะมีความพร้อมอย่างเท่าเทียมในการเข้าร่วมแข่งขัน และจะรู้สึกว่าตัวเขาเองไม่ได้น้อยหน้าไปกว่าคนอื่น

ดังนั้น สิ่งที่ควรเติมเต็มคือสิ่งใหม่ๆ ที่เด็กไม่เคยพบเจอ และ “เพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์” จะเติมเต็มเรื่องเหล่านั้น

ดร.อดิศวร์ กล่าวว่า ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มเข้าแคมป์ เด็กต่างโรงเรียนกันจาก 8 โรงเรียน จำนวน 40 คนทั่วจังหวัดน่าน พวกเขายังไม่ค่อยจะพูดคุย หรือแสดงความคิดเห็นในห้องมากนัก แต่ต่อมามีปฏิสัมพันธ์มากขึ้น จนมาถึงวันที่ 5 ของแคมป์แรกคือ “กล้าเรียน” ซึ่งเป็นวันนำเสนอไอเดียธุรกิจด้วยหลักการและเหตุผล ทำให้เห็นว่า เด็กที่เข้าร่วมโครงการมีการใช้กระบวนความคิดแบบตั้งสมมติฐาน และเริ่มมีตรรกะที่จะหาคำตอบ พอได้คำตอบมาจะทำให้การเรียนรู้นั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ดร.อดิศวร์ เล่าต่อว่าว่า บางคนอาจสนใจทำธุรกิจ อยากเป็นผู้ประกอบการ อยากมีรายได้และอยากประสบความสำเร็จ กรณีนี้ เพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ จะทำให้เด็กเข้าใจว่าการทำธุรกิจจะต้องมีความรู้อะไรบ้าง ควรเริ่มจากตรงไหน และที่แตกต่างจากการเรียนในห้องเรียนทั่วไปคือ การเรียนรู้จากประสบการณ์จริง และลงมือทำจริงโดยมีทุนให้จำนวนหนึ่ง เพื่อให้เขาได้รู้ว่าสิ่งที่คิดและอยากทำจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ

“เมื่อเขาเติบโตขึ้นไปจะประกอบธุรกิจโดยใช้ทุนของตัวเองทำ พวกเขาจะจำได้ว่าครั้งหนึ่งเขาเคยทำอะไรแล้วไม่ได้กำไร ซึ่งเป็นสิ่งที่เข้าไปอยู่ในกระบวนความคิดของน้อง เป็นประสบการณ์ที่พวกเขาจะได้ติดตัวไปตลอดชีวิต ดีกว่าไปใช้ทุนของตัวเองและเรียนรู้ด้วยตัวเองทีหลัง” ดร.อดิศวร์ กล่าว

“ถ้าเรามีกระบวนการเรียนรู้ที่สร้างตรรกะให้กับเยาวชน รู้ว่าอะไรคือเหตุ อะไรคือผล เวลาเจอปัญหาเขาจะรู้ว่าต้องไปแก้ที่ต้นเหตุ ไม่ใช่ผล เมื่อไปแก้ที่เหตุ ปัญหาเดิมๆ ซ้ำๆ จะไม่กลับมาแล้ว ถ้าเราทำโครงการได้ดี ทำให้เด็กมีพัฒนาการที่เห็นชัดเจน เวลาเขาเกิดปัญหาที่ยากขึ้น เขาก็จะคิดด้วยตรรกะแบบแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ รู้ว่าตรรกะถูกต้องและสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด” ดร.อดิศวร์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ดร.อดิศวร์ เสริมว่า โครงการนี้จะไม่ซ้ำซ้อนกับสิ่งที่อยูู่ในห้องเรียน เพราะโครงการจะเน้นการเติมองค์ความรู้และทักษะที่จะเป็นประโยชน์ เราดึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มาให้ได้เรียนรู้และรับประสบการณ์จริง เพื่อเป็นตัวช่วยประกอบการตัดสินใจเมื่อโอกาสมาถึง

เพาะพันธุ์ปํญญาแคมป์ วิทยากร ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอบริษัทอุ๊คบี

ปลูกฝังเยาวชน ตอบแทนบ้านเกิด ‘น่าน’

ดร.อดิศวร์ กล่าวถึงเหตุผลที่ทำโครงการที่จังหวัดน่านว่า น่านเป็นจังหวัดเหมาะสมในการเรียนรู้หลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจ อีกทั้งจังหวัดน่านยังเป็นการสานต่อความสำเร็จจากโครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญา ซึ่งได้ทำมาก่อนหน้านี้

“สุดท้ายแล้วเขาจะกลับไปดูแลพัฒนาชุมชนบ้านเกิด นั่นหมายถึงว่า น้อง ๆ สามารถที่จะใช้ความรู้และทักษะต่าง ๆ ในเมืองน่านได้ ไม่มีเหตุผลใดที่พวกเขาจะออกไปทำงานที่อื่น ดังนั้น ความเจริญก็จะอยู่ที่น่าน และเมืองน่านก็จะเป็นเมืองที่น่าจะประสบความสำเร็จ เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ถือเป็นความหวังระยะยาวของทางมูลนิธิฯ” ดร.อดิศวร์ ให้เหตุผล

“การศึกษาใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล ฟังดูแล้วอาจจะไม่ตื่นเต้นเหมือนกับโครงการอื่นๆ แต่การศึกษาเป็นเรื่องที่จำเป็น ดังนั้น เราจะทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ต่อเนื่อง และทำในสิ่งที่เราเชื่อว่าสุดท้ายแล้วจะสัมฤทธิ์ผล และก็เชื่อว่าสุดท้ายแล้วเราจะเห็นสิ่งที่หวังไว้” ดร.อดิศวร์ กล่าว

ดร.อดิศวร์ เสริมว่า สักวันหนึ่งเด็กจะนำสิ่งที่ได้รับเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ได้จริงในชีวิตประจำวันและนำกลับไปพัฒนาให้ถิ่นเกิดเจริญขึ้นกว่าเดิม และถ้าจังหวัดน่านเจริญขึ้น ก็แสดงว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จ

สอนคุณสมบัติ ผู้ประกอบการ ‘ล้มแล้วลุก’ และ ‘ความยั่งยืน’

ด้าน นางภณิดา ทวีลาภ กรรมการ มูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา ผู้จัดเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ กล่าวว่า โครงการนี้สอนให้เยาวชนใช้หลักคิด “ผลเกิดจากเหตุ” มีการคิดวิเคราะห์ และสังเคราะห์ สามารถสร้างการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ผ่านการทำโครงงานวิจัยที่เกี่ยกับบริบทของท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น ชุมชน สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม ตลอดจนการสร้างความยั่งยืน

“ตลอด 66 วัน พวกเขาจะได้เรียนรู้ทักษะใหม่จากการลงมือปฏิบัติ และเสริมความรู้ใหม่เข้าไป เช่น เราเชิญนักธุรกิจตัวจริง หรือคนมีชื่อเสียงระดับประเทศ มาให้ความรู้ จะเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้เห็นสิ่งใหม่” นางภณิดา กล่าว

นางภณิดา กล่าวต่อว่า เพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์จะพาเยาวชนออกจากห้องเรียนแบบเดิม โดยพามาพบกับสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น สังคม สิ่งแวดล้อม หรือนวัตกรม กระทั่งแนวคิดแบบผู้ประกอบบการอย่าง ‘การล้มแล้วลุก’ ทำให้สมองได้กระตุ้นความคิด และเมื่อรวมกับสิ่งที่เยาวชนมีติดตัวมาจากโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา นั่นคือเรื่องการคิดวิเคราะห์ และการคิดเป็นตรรกะ จะทำให้เยาวชนเป็นคนที่มีคุณภาพ และเป็นกลไกสำคัญต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ให้มีสมรรถนะในการพัฒนาและสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ

“ความยั่งยืนก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงด้วย คือการเป็นนักธุรกิจไม่ใช่ว่าจะต้องแสวงหากำไรสูงสุดเสมอไป แต่ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบรอบข้างเราด้วยว่าทำอย่างไรถึงจะยั่งยืนไปด้วยกัน เพราะหากประสบความสำเร็จอยู่คนเดียวในขณะที่รอบข้างแย่หมดเลย จะทำให้ไม่เกิดความยั่งยืน” นางภณิดา กล่าว

“สิ่งสำคัญของโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา คือการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเมื่อประสบความสำเร็จก็กลับมาช่วยเพื่อนๆ น้องๆ และสังคม เราจะทำให้เขาเรียนรู้ว่า ไม่มีทางสำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียว แต่จะต้องมีเพื่อน พันธมิตร” นางภณิดา กล่าว

เติมเต็มความฝันเยาวชน

ภายในเวลารวม 66 วันของเพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์ แบ่งกิจกรรมออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ แคมป์กล้าเรียน แคมป์กล้าลุย และแคมป์กล้าก้าว ตามลำดับ โดยแคมป์ที่เสร็จสิ้นไปแล้วคือ แคมป์กล้าเรียน ซึ่งจัดวันที่ วันที่ 23-27 มีนาคม 2566

นายปกรณ์ ทองประเสริฐ หรือ ป้าง จากโรงเรียนพระธาตุพิทยาคม อ.เชียงกลาง เล่าบทเรียนจากแคมป์กล้าเรียน ว่า ตนสนใจการทำธุรกิจ มีความคิดอยากผลิตสินค้าแฮนด์เมดจำหน่ายตามสถานที่ท่องเที่ยว เช่น พวงกุญแจจากไม้มะขาม โคมไฟจากกะลามะพร้าว และหลังจากได้เข้าแคมป์ ก็ได้เรียนรู้ว่าการทำธุรกิจต้องใช้กระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการคำนวณต้นทุน ค่าใช้จ่าย กำไรและขาดทุน

ส่วน นางสาวเพชรชรินทร์ คำพุฒ หรือ นับหนึ่ง จากโรงเรียนสา อ.เวียงสา บอกว่่า ตนตั้งใจจะสอบเข้าแพทย์ แต่ก็สนใจและอยากลองทำธุรกิจ เพราะมีนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เป็นไอดอล

“หนูอยากทำธุรกิจที่ไม่เคยมีใครทำ เคยได้ยินคำพูดที่ว่า ‘หากจะทำสิ่งที่มีคนทำอยู่แล้วจะทำไปทำไม ทำไมเราจะทำเพื่อไปแข่งขันกับเขา แล้วทำไมเราไม่ทำในสิ่งที่แตกต่าง’ ซึ่งตอนนี้มีหลายอย่างที่อยากทำ แต่ทุกอย่างยังไม่อยู่ในความเป็นจริง แต่พอมาค่ายนี้ก็คิดว่ายังมีหนทางอื่น ทำให้ความฝันที่เคยคิดว่ายิ่งใหญ่ ไกลตัว ดูใกล้เข้ามานิดนึง” นางสาวเพชรชรินทร์ กล่าว

เช่นเดียวกับ นางสาวนารี แซ่โซ้ง หรือ ออม จากโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 อ.เวียงสา ที่มีอยากเป็นพยาบาลดูแลสัตว์ แต่ก็สนใจทำธุรกิจเช่นกัน

นางสาวนารี เล่าว่า กิจกรรมในวันแรกคือการปูพื้นฐานของธุรกิจ รวมถึงคุณสมบัติของงผู้ประกอบการที่ดี ส่วนวันถัดมาเป็นการลงลึกถึงกำไร-ขาดทุน

“ก่อนจะสร้างธุรกิจ ต้องรู้ก่อนว่ากลุ่มเป้าหมายคือใคร ทำอย่างไร มีความเป็นไปได้หรือไม่…วิทยากรหลายท่านบอกว่า ก่อนที่นักธุรกิจจะสำเร็จ ก็ต้องมีเจ๊งบ้าง ล้มเหลวบ้าง แต่เมื่อล้มแล้วก็ต้องลุกขึ้นมา” นางสาวนารี อธิบาย

สุดท้าย นายจิระศักดิ์ แดงต๊ะ หรือ จีโน่ จากโรงเรียนเมืองลีประชาสามัคคี อ.นาหมื่น บอกว่า การเข้าร่วมแคมป์ ช่วยให้เข้าใจการทำธุรกิจมากขึ้น ประกอบการตัดสินใจว่าอนาคตจะทำธุรกิจอะไร ที่สำคัญคือได้เรียนรู้ว่า นักธุรกิจบางคนไม่ได้เรียนเก่ง แต่ประสบความสำเร็จได้ ขอแค่เราขยันตั้งใจ ไม่ย่อท้อ หรือหากล้มแล้วก็ลุกขึ้นมาใหม่ได้ และต้องแบ่งคนให้ตรงกับงาน

“แม้จะมีช่วงที่ยาก แต่ก็รู้สึกชอบเพราะผมชอบความท้าทาย ทำให้ความมุ่งมั่นว่าเราจะประสบความสำเร็จให้ได้ ผมคิดว่า ‘เพาะพันธุ์ปัญญาแคมป์’ เป็นโครงการที่ดี” นายจิระศักดิ์ ทิ้งท้าย