ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เป็นหนี้ต้องมีวันจบ > เป็นหนี้ต้องมีวันจบ (4) : พฤติกรรมชอบดื่มของคนในครอบครัว สู่หนี้จำนำทองที่ยังใช้คืนไม่หมด

เป็นหนี้ต้องมีวันจบ (4) : พฤติกรรมชอบดื่มของคนในครอบครัว สู่หนี้จำนำทองที่ยังใช้คืนไม่หมด

11 กรกฎาคม 2023


ซีรีส์ “เป็นหนี้ต้องมีวันจบ” นำเสนอแนวคิด วิธีการแก้ไขปัญหาหนี้ จากผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งประสบการณ์ตรงของลูกหนี้ที่แก้ไขปัญหาหนี้สำเร็จและไม่สำเร็จ ให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข เพื่อให้ลูกหนี้ที่ยังมีภาระหนี้มีช่องทาง วิธีการแก้หนี้ มองเห็นทางออก มีความหวัง เพื่อเป็นพลังให้ต่อสู้ชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต ซีรีส์นี้ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือลูกหนี้ภาคประชาชนครบวงจร

เป็นหนี้ต้องมีวันจบตอนนี้ แชร์ประสบการณ์ลูกหนี้ ซึ่งเป็นคุณครูในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ที่เป็นหนี้จากการนำทองคำไปจำนำ เพื่อนำมาใช้จ่ายในครอบครัว เพราะรายได้ไม่พอใช้จากพฤติกรรมชอบดื่มเหล้า ติดเบียร์ของสามี ต้องใช้ทองที่มีอยู่ไปจำนำ จนกลายเป็นหนี้ก้อนโต เข้าโครงการแก้ไขหนี้ และปัจจุบันยังจ่ายหนี้คืนไม่หมด

คุณครูในโรงเรียนแห่งหนึ่ง แม้ได้เงินเดือนไม่มาก แต่ถ้ารวมกับเงินเดือนสามี ครอบครัวนี้จะมีรายได้ถึงเดือนละ 45,000 บาท แต่สุดท้ายกลับเป็นหนี้ เพราะสามีมีพฤติกรรมติดเหล้า ติดเบียร์ ทำให้รายได้ของสามีแทบไม่เหลือ เมื่อรวมกับหนี้อื่นๆ และค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแล้ว ครอบครัวนี้จึงชักหน้าไม่ถึงหลัง และต้องกู้เงินด้วยการเอาทองที่มีอยู่ 2 บาทไปจำนำกับร้านทอง เสียดอกเบี้ยถึงเดือนละ 600 บาท ซึ่งเป็นอัตราที่ครูเองก็ตกใจ เมื่อมีโครงการแก้หนี้ ครูจึงตัดสินใจไปขอรับคำปรึกษาเพื่อหาทางแก้หนี้ที่มีอยู่

ที่สำหรับมาของการเป็นหนี้ เริ่มจากการกู้ตามสิทธิ์กรมธรรม์ประกันชีวิตเพื่อซื้อรถมอเตอร์ไซค์มาใช้ตามความจำเป็น เป็นหนี้ที่ยังพอทยอยจ่ายได้ แต่พฤติกรรมติดเบียร์ของสามี ที่นอกจากทำให้รายได้หายไปเกือบหมด และยังติดหนี้ร้านค้าเบียร์อีก 17,000 บาท ครูจึงนำทอง 2 บาทไปจำนำกับร้านทองแห่งหนึ่ง เป็นตั๋วจำนำ 2 ใบ ใบแรก 15,000 บาท ใบที่สอง 17,500 บาท รวม 32,500 บาท โดยทองที่นำมาจำนำ เป็นทองที่สามีกู้เงินผ่านธนาคารซื้อมา และใช้วิธีหักเงินเดือนชำระหนี้

“ปกติเงินเดือนแฟนจะไม่ค่อยเหลือ เพราะติดกินเบียร์ กินเหล้า ทำให้ติดหนี้ร้านค้าเป็นหลักหมื่นบาท ร้านค้าก็ให้เครดิตเยอะ เคยติดหนี้ร้านค้ามากที่สุด 1.7 หมื่นบาท ตอนนี้ลดเหลือเท่าไหร่แล้วไม่รู้ เลยชักหน้าไม่ถึงหลัง และห้ามไม่ให้แฟนติดเหล้าติดเบียร์ก็ยาก เลยเอาทองไปจำนำ ทอง 2 บาทเป็นของแฟน คนที่ปล่อยทองคือธนาคารที่ปล่อยทองกับที่ทำงานของแฟน แล้วเอาทองไปจำนำร้านทองธรรมดา เป็นคนละเจ้ากัน เอาไปจำนำเพื่อปลดหนี้ แต่ปัญหาคือ หนี้ไม่ลดเพราะแฟนไม่เลิกกิน นี่คือปัญหา ได้เงินมาก็กินเยอะ ที่จะจบเลยไม่จบ ติดหนี้ร้านค้าเหมือนเดิม ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาจ่ายดอกเบี้ยเดือนละ 600 บาท จ่าย 2 เดือนแล้วเป็นเงิน 1,200 บาท ตกใจเหมือนกัน ถ้า 3 เดือนก็แพงขึ้นไปอีก เงินกู้ก้อนนี้เฉพาะดอกเบี้ยก็กลายเป็นภาระในชีวิตประจำวัน”

ครูเล่าว่า สาเหตุที่ไปขอคำปรึกษาโครงการแก้หนี้ เพราะมีความตั้งใจจะจ่ายหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้หมด แม้สามีจะเคยแนะนำให้นำทองไปขายเพื่อใช้หนี้ แต่ตัวเองไม่อยากขาย อยากเก็บไว้เป็นทรัพย์สินบ้าง ต่อไปจะได้นำไปทำทุน ถ้าขาย ทองจะหลุดไปเลย ไม่มีทรัพย์สินอะไรติดตัว ขณะที่ครูมีรายได้เดือนละ 11,000 บาท หักประกันสังคมแล้วเหลือ 10,500 บาท ส่วนสามีรายได้เยอะกว่า รวมกัน 2 คนเดือนละ 45,000 บาท โดยสามีรับผิดชอบจ่ายค่าเช่าบ้านเดือนละ 2,800 บาท จ่ายหนี้ทองที่ซื้อมา ส่วนครูมีค่าใช้จ่ายเรื่องค่ากินอยู่เดือนละ 5,000 บาท ค่าประกันชีวิต รวมถึงหนี้ที่กู้จากสิทธิ์กรมธรรม์ประกันชีวิตเพื่อซื้อมอเตอร์ไซค์

ทั้งนี้ โครงการแก้หนี้ได้แนะนำให้ไถ่ถอนทองแล้วนำไปจำนำกับโรงจำนำของรัฐที่ดอกเบี้ยถูกกว่ามาก โดยการไถ่ถอนนั้น ต้องหาเงินมาปลดหนี้ทองจากร้านทองก่อน รวมทั้งหนี้ทองที่มีอยู่ 3.2 หมื่นบาท ถ้าจ่ายหนี้เดือนละ 1,000-1,5000 บาท จ่ายดอกเบี้ยต่างหาก เมื่อรวมกับภาระอื่น ทั้งหมดนี้ทำให้ต้องหารายได้เพิ่ม โดยช่องทางที่คิดไว้ คือ สอนพิเศษในวันหยุด แต่ปัญหาคือ ครูรับสอนพิเศษได้ไม่เต็มที่ เพราะโรงเรียนมีงานเยอะมาก และเลิกงานไม่เป็นเวลา บางครั้งมีประชุม วันหยุดเสาร์อาทิตย์ก็มีงานให้ไปทำ แม้จะมีเบี้ยเลี้ยงบ้าง 300-400 บาท แต่ก็ไม่เพียงพอ เทียบกับการรับสอนพิเศษจะได้รายได้ดีกว่า แต่เนื่องจากมีเวลาไม่แน่นอนจากงานที่โรงเรียน ก็รับสอนพิเศษได้ไม่เต็มที่

ครูบอกว่า สิ่งที่อยากฝากไว้คือ เป็นหนี้แล้วควรต้องคืน สำหรับครูคิดว่าสามารถเคลียร์หนี้ก้อนนี้ได้ แม้จะไม่รู้ว่าจะจ่ายหนี้จบได้เมื่อไหร่ แต่จะพยายามจ่ายให้จบเร็วที่สุด เพราะหลังจากจ่ายหนี้แล้ว ก็ตั้งใจจะไปเรียนครู เพราะเวลานี้เป็นเพียงครูพิเศษสอน ไม่ได้เป็นครูวิชาชีพที่เรียนจบครูสายตรง จึงต้องการไปเรียนครูเพิ่ม