ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เลือกตั้งอย่างรับผิดชอบ 2566 > “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ชี้การเมืองใหม่ ‘คนใจไม่ถึง ทำไม่ได้’ – แนะฝ่ายอำนาจเดิมต้องถอย

“วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ชี้การเมืองใหม่ ‘คนใจไม่ถึง ทำไม่ได้’ – แนะฝ่ายอำนาจเดิมต้องถอย

21 มิถุนายน 2023


‘พรรคการเมือง นักการเมืองต้องปรับตัวรับการเมืองใหม่ คิดแบบประชาชน คิดเพื่อประชาชนถูกเสมอไม่มีวันผิด’…  ถอดประสบการณ์ วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ  ‘นักการเมือง 44 ปี  ส.ส.12 สมัย’ ชี้ฝ่ายอำนาจเดิมต้องถอย เพราะผลการเลือกตั้ง 2566 ประชาชนต้องการเปลี่ยนแปลง

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ

ปรากฎการณ์การเมืองใหม่ หลังการเลือกตั้ง2566 ที่ทำให้ ส.ส.บ้านใหญ่ และ ส.ส.เก่าสอบตกเกิน 50 % ไม่ได้เข้าสภาผู้แทนราษฏร

“สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า” วิเคราะห์ปรากฎการณ์ ครั้งนี้ผ่านการมองของ  ส.ส.11 สมัย และว่าที่สส.สมัยที่ 12 กับการทำงานการเมืองมานานกว่า 44 ปี อย่าง “วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ” บอกว่า  ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ บอกถึงความต้องการเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทย  ประชาชนต้องการเปลี่ยนแปลง และนัการเมืองต้องเปลี่ยนตัวเอง โน้มหาประชาชน  อะไรที่สัญญากับประชาชนแล้วต้องทำ ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องบอกว่าทำไมถึงทำไม่ได้

จุดยืนพรรคประชาชาติ ‘พรรคเล็ก’ที่ยังเหนียวแน่น

นายวันมูหะมัดนอร์ บอกว่า พรรคประชาชาติไม่ใช่เป็นทั้งบ้านใหญ่ หรือ บ้านเก่า เพราะความจริงแล้วยังเป็นพรรคเล็กที่เห็นว่าควรจะมีการเมือง หรือพรรคการเมือง ที่แสดงจุดยืนอัตลักษณ์ของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ให้ประชาชนทั่วประทศได้รู้จัก

นอกจากนี้อยากให้เรื่องสิทธิมนุษยชน หรือ ความเชื่อวัฒนธรรมที่ถูกมองข้ามจากคนส่วนใหญ่ไป ได้รับความสนใจจากคนส่วนใหญ่และสามารถจะอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นธรรมและอย่างสันติสุข

“ผมยอมรับว่าพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่มีปัญหามายาวนาน ควรจะได้รับการแก้ไขและการแก้ไขที่คิดว่าจะเกิดขึ้นได้รวดเร็วมากที่สุดคือการแก้ไขทางการเมือง”

นายวันมูหะมัดนอร์ บอกว่า เราไม่สามารถแก้ไขปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย 3 จังหวัดภาคใต้ได้ด้วยความมั่นคงและทหารอย่างเดียว  เราเชื่อว่าการเมืองต้องนำการทหาร  อันนี้เป็นสิ่งที่เราคิด เพราะฉะนั้นการตั้งพรรคการเมือง จึงไม่ใช่เรื่องของการแบ่งแยกดินแดน แต่เป็นเรื่องของการเข้าจะไปช่วยรัฐบาล

ขณะที่การแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นปัญหาระดับประเทศและที่ผ่านมาใช้งบประมาณปีหนึ่งหลายหมื่นล้านบาท แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขและใช้เวลานาน เพราะฉะนั้นการตั้งพรรคประชาชาติมา 5 ปี และยังได้รับคะแนนเสียง 9 เสียง มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2 เสียงที่เหลือเป็น ส.ส.เขต ซึ่งพรรคจะนำแนวทางและการรับฟังประชาชนมาแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ให้สงบสุข สันติภาพ และให้ประชาชนอยู่ร่วมกันทั้งไทยพุทธ มุสลิม หรือทุกศาสนาสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้เหมือนในอดีต

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ

ประชาชนต้องการ’เปลี่ยน’ ไม่เอาอำนาจเก่า

 

นายวันมูหะมัดนอร์มองว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นปรากฎการณ์ที่ทุกคนอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง เนื่องจากตลอด 8-9 ปีที่ผ่านมาการปกครองด้วยรัฐบาลอำนาจนิยม ที่สร้างรัฐธรรมนูญเพื่อขยายและสืบทอดอำนาจต่อ แล้วยังตั้งองค์กรเพื่อปกป้องตัวเอง ประชาชนมีความรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและต้องการให้มีความเปลี่ยนแปลง

“รัฐธรรมนูญควรเป็นของประชาชนที่เป็นประชาธิปไตย และองค์กรอิสระทั้งหลายควรจะมาจากหรือยึดโยงกับประชาชนให้มากกว่านี้ ไม่ใช่  อย่าง สว.แต่งตั้งแล้ว มาเลือกนายกรัฐมนตรี องค์กรอิสระทั้งหลาย รวมถึงศาล ที่อาจจะแต่งตั้งมาแล้วมาดูแลพรรคพวกของตัวเอง ผมคิดอย่างนี้ว่า ควรจะมีการปฏิรูปเพื่อให้ประเทศเราเดินหน้าไปได้ โดยเอาประชาชนเป็นหลัก”

นายวันมูหะมัดนอร์มองว่า  พรรคก้าวไกลควรจะเป็นพรรคการเมืองที่โตขึ้น แต่ไม่คิดว่าจะโตเป็นอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่าคนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะคนที่อายุ 18 ปีที่มีเพิ่มสัดส่วนมากขึ้น ขณะที่คนอายุมากก็ลดจำนวนลงเช่นกัน ทำให้พรรคก้าวไกลได้เปรียบจากสัดส่วนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอายุ 18-30 ปี จึงเชื่อว่าน่าจะเป็นพรรคการเมืองที่โตขึ้น แต่ไม่นึกว่าพรรคก้าวไกลจะโตจนชนะการเลือกตั้ง

“ผมคิดว่าพรรคก้าวไกลโตได้ขนาดนี้ แสดงให้ว่า ไม่ใช่แค่วัยรุ่นอย่างเดียวเลือกพรรคก้าวไกล แต่ยังมีวัยกลางคน คนสูงอายุก็เลือก พรรคก้าวไกลด้วย และการเลือกครั้งนี้เพราะต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง”

การเลือกตั้งครั้งนี้เห็นได้ชัดว่าถ้าอยากให้มีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีพรรคการเมืองอย่างพรรคก้าวไกลเข้ามามีส่วนร่วม เพราะประชาชนไม่เชื่อว่า ถ้าพรรคอื่นเข้ามาแล้ว ฝ่ายอำนาจนิยมจะไม่กลับมาอีก

เพราะฉะนั้นการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง จึงเป็นวิธีที่ประชาชนเลือก แสดงออกถึงความต้องการให้อำนาจเดิมออกไป

“ไม่ใช่แค่ต้องการเปลี่ยนอำนาจเดิมออกจากการบริหารประเทศ แต่ประชาชนต้องการให้บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นเพราะฉะนั้นควรจะยอมรับอำนาจของประชาชน ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงเมื่อเราบริหารมาได้ระยะหนึ่งแล้ว เราต้องยอมซึ่งจะทำให้ลงได้อย่างสบาย แต่ถ้ายังดื้อดึง ไม่ยอม ไม่แน่ใจว่าจะเกิดผลดีหรือผลเสียกับผู้มีอำนาจเดิม”

นายวันมูหะมัดนอร์ยกตัวอย่าง ผู้มีอำนาจที่พยายามจะอยู่ในอำนาจ เช่น จอมพลถนอม กิตติขจร  พยายามดื้อดึงขยายอำนาจ หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2519 ต้องหนีออกนอกประเทศ  เช่นเดียวกับ จอมพลป.พิบูลสงคราม ที่พยายามจะต่ออำนาจของตัวเอง ทุจริตการเลือกตั้งแต่สุดท้ายต้องไปเสียชีวิตในต่างประทศ

“ผมคิดว่าถ้าผู้อำนาจในปัจจุบันได้เห็นบทเรียนในอดีตแล้ว การเปลี่ยนแปลงก็ไม่มีอะไรรุนแรง ยอมให้คนที่ชนะเลือกตั้งให้เข้ามาบริหารประเทศไป เราถอยออกมา ไม่เจ็บตัว แต่แน่นอน ถ้าทำไม่ดีไว้ เขาอาจจะใช้กฎหมาย แต่ผมคิดว่าป็นกระบวนการที่ดีกว่า หากยังผู้มีอำนาจยังดื้อดึงไป จะไม่สามารถพิสูจน์ตัวเองได้เลย จะไม่ส่งผลดีต่อบ้านเมือง”

นายวันมูหะมัดนอร์เห็นว่า ขณะที่ฝ่ายอำนาจเดิม ทั้งคนที่แต่งตั้งมา และพวกพ้องใกล้ชิด ยังมีความรู้สึกว่า ‘ดื้อให้อยู่ต่อ’ แต่ถ้าเราช่วยกันอธิบายว่าประชาธิปไตยเป็นเรื่องของการเลือกตั้ง คนที่ได้เสียงข้างมากควรจะได้บริหารประเทศ จะเรียกว่าฉันทานุมัติ  หรือ เสียงสวรรค์ที่ชี้มาอย่างนั้น นี่คือระบบประชาธิปไตย ถ้าเราไปฝืนระบบแล้ว มันจะทำให้บ้านเมืองไม่สงบสุข

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ

การเมืองใหม่ ‘คนใจไม่ถึง ทำไม่ได้’

นายวันมูหะมัดนอร์  หวังว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ น่าจะถึงเวลาของการเปลี่ยนแปลง ประชาชนได้เลือกพรรคร่วมรัฐบาลชัดเจนแล้วว่า ต้องการการเมืองใหม่  โดยต้องการให้พรรคก้าวไกลเป็นผู้นำของการเปลี่ยนแปลง

“ผมก็ยังหวังและเชื่อว่าหากพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ จะทำให้มันดีขึ้น  การเปลี่ยนแปลงใดใด มันต้องมีแบบที่เขาเรียกว่า ความมุ่งมั่นที่จะแก้ไข”

พร้อมบอกว่า “แน่นอน การเปลี่ยนแปลงจะพบปัญหาอุปสรรค แรงเสียดทานเยอะ ผมเชื่อว่าพรรคก้าวไกลเขายอมรับความเสียดทาน ถึงแม้ ว่าเขาต้องเป็นฝ่ายค้านก็ยอม ถ้าเขาทำสิ่งที่เป็นนโยบายของเขาไม่ได้ แต่การเข้ามาเป็นรัฐบาลถึง 8 พรรค จะยืนนโยบายของตัวเองแบบ 100 % ไม่ได้ อาจจะได้สัก 50 %  ส่วนที่เหลือต้องเป็นพรรคร่วมรัฐบาลรับผิดชอบร่วมกัน”

“ผมยังคิดว่าความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น แต่แน่นอนว่าความเปลี่ยนแปลงจะมีแรงเสียดทานเยอะ คนใจไม่ถึงทำไม่ได้หรอก ต้องใจถึง  ถ้าเราอยากเปลี่ยนแปลงอะไร แม้แต่เรื่องภายในบ้านเราเอง ถ้าใจไม่ถึง เปลี่ยนแปลงไม่ได้หรอก”

การเปลี่ยนไม่ใช่แค่ฝ่ายบริหาร ‘รัฐสภาไทย’ต้องปฏิรูป

นายวันมูหะมัดนอร์บอกว่าถึงเวลาที่ รัฐสภาไทยต้องปฏิรูป ตลอดระยะเวลาการทำงานในสภาผู้แทนราษฎรกับการดำรงตำแหน่ง ส.ส. 12 สมัยพบว่าสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เพียงแค่ฝ่ายบริหาร ‘รัฐสภาไทย’ ต้องการปฏิรูปเช่นเดียวกัน เพราะใช้เวลาในการออกฎหมายนาน บางฉบับใช้เวลาอภิปรายนานกว่า 9 เดือนแต่ก็ยังอภิปรายกันไม่จบ

“ผมคิดว่าการทำหน้าที่ ส.ส.12 สมัยของผม เห็นการเปลี่ยนแปลงในสภาฯมากที่สุด แต่วิธีการทำงานในสภาฯ ผมอยากให้ปฏิรูป ไม่ใช่ว่ากฎหมายฉบับหนึ่ง 9 เดือนอภิปรายยังไม่จบ และอภิปรายอะไรก็ไม่รู้ 2 สัปดาห์ ก็ยังไปไม่ถึงไหน เรา เห็นสภาฯมามาก ในต่างประเทศ การอภิปรายใช้เวลาสั้นๆ พรรคการเมืองที่อภิปรายควรส่งตัวแทนมาอภิปรายกฎหมายฉบับหนึ่งคนเดียว หรือ 2 คน เพราะพรรคได้มอบหมายคนนั้นมาแล้วจะได้ไม่เสียเวลา”

ในต่างประเทศเดือนหนึ่ง สภาฯของเขาออกกฎหมายไปแล้ว 3-4 ฉบับ ของเราสมัยหนึ่งยังออกไม่ได้สักฉบับ นี้แสดงว่าขบวนการนิติบัญญัติของเรายังไปไม่ถึงไหน

เพราะฉะนั้นไม่ใช่ปฏิรูปเฉพาะรัฐบาล ฝ่ายนิติบัญญัติต้องปฏิรูปด้วย  สว. เขาอยู่อีกปีหนึ่งก็หมดวาระแต่ สว.มาใหม่ต้องปฏิรูปด้วยเช่นกัน

เมื่อสภาผู้แทนราษฎรต้องการปฏิรูป คนที่จะมานั่งตำแหน่งประธานสภาฯ จึงมีความสำคัญที่ต้องการความกล้าหาญและความมุ่งมั่นเช่นกัน โดยการปฏิรูปสภาผู้แทนราษฎรต้องทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด โดยเฉพาะการออกกฎหมายที่มีประสิทธิภาพในระยะเวลาที่รวดเร็ว

“ใครมาเป็นประธานสภาฯคราวนี้ควรจะทำงานหนัก โดยต้องมีความมุ่งมั่นที่จะปฏิรูประบบรัฐสภาให้เป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด ประเทศต้องบริหารโดยกฎหมาย หากกฎหมายออกช้า หรือกฎหมายไม่ออก ก็ทำอะไรไม่ได้ กฎหมายฉบับเดียว ทำไมต้องใชเวลาเป็นปี นั่นแสดงว่าฝ่ายนิติบัญญัติยังต้องพัฒนา ยังต้องปฏิรูปด้วย”

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ

การเมืองแบบใหม่ คิดแบบประชาชน ยึดประโยชน์ของประชาชน

พร้อมกล่าวต่อว่าความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนที่สุดในการเลือกตั้ง2566 คือ ประชาชนที่ออกมาแสดงให้เห็นถึงความต้องการความเปลี่ยนแปลง ดังนั้น นักการเมือง พรรคการเมือง ต้องเปลี่ยนตัวเอง ต้องทำการเมืองแบบใหม่ คิดแบบประชาชน ยึดประโยชน์ของประชาชน

“คิดเพื่อประชาชน อย่าไปคิดเพื่อพวกพ้องเพื่อพรรคของตัวเอง การคิดเพื่อตัวเอง คิดแบบเก่า คิดแบบผู้มีอำนาจแบบเก่า แต่ถ้าคิดแบบใหม่คิดถึงประชาชน ซึ่งความจริงแล้ววิธีคิดที่ยึดประชาชน ควรจะเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่บ้านเรายังไม่ชัดเจน ซึ่งสมัยนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี”

นายวันมูหะมัดนอร์  เห็นว่าการทำงานการเมืองที่ยึดประชาชนเป็นหลักในหลายประเทศเพื่อนบ้าน เริ่มเปลี่ยนแล้ว เช่น ประเทศมาเลเซีย เขาปราบคอร์รัปชัน จัดสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุ ให้ทุนการศึกษาเด็ก นายกรัฐมนตรีมาเลเซียประกาศลดเงินเดือนตัวเอง เพื่อให้นำไปจัดสวัสดิการเพิ่ม

“มาเลเซียเขาเริ่มทำการเมืองแบบยึดประชาชนมาก่อนเรา นายกรัฐมนตรีประกาศลดเงินเดือนตัวเอง ไม่ใช่ขอเพิ่มเงินเดือน เพื่อให้สวัสดิการ ผู้สูงอายุ นายกรัฐมนตรีบอกว่าต้องไม่มีคอร์รัปชัน ใช้งบประมาณอย่างเป็นประโยชน์กับประชาชน”

กระจายอำนาจ ไม่ใช่แบ่งแยกดินแดน

ขณะที่ 19 ปีของการสร้างสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ใช้งบประมาณกว่า 5 แสนล้านบาท แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้  นายวันมูหะมัดนอร์ บอกว่าในพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค มีคณะทำงานร่วมกันในเรื่องนี้จึงยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ แต่ที่ไม่ค่อยสบายใจ คือกระแสเรื่องของแบ่งแยกดินแดน

นายวันมูหะมัดนอร์ย้ำว่า การสร้างสันติภาพ การเจรจา หรือการทำอะไรก็แล้วแต่ ต้องอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ ทุกฉบับบอกว่าราชอาณาจักรไทย เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแบ่งแยกมิได้ อันนี้ต้องเป็นบทดำเนินการ ใครคิดทำแบบอย่างอื่น เป็นการไม่เคารพรัฐธรรมนูญ และอาจจะผิดกฎหมาย ซึ่งหากคิดภายในกรอบพรรคการเมือง ต้องเคารพกฎหมายเคารพรัฐธรรมนูญ  แต่ไม่ได้หมายความว่าทำเอาตามรัฐธรรมนูญแล้วบ้านเมืองไม่เจริญ ไม่สงบ

“รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามการกระจายอำนาจ ไม่ได้ห้ามการเลือกผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่ได้ห้ามการส่งงบประมาณให้กับพื้นที่ รัฐธรรมนูญมีกรอบขยายมากมาย แต่ถ้าไปคิดอะไรที่ผิดจากรัฐธรรมนูญก็ผิดกฎหมาย อาจไปไกลถึงเรื่องขบถอะไรต่ออะไร ผมในฐานะที่เป็นพรรคการเมืองและเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบประชาธิปไตย เราจะไปคิดและทำอย่างนั้นไม่ได้”

ผมไม่เชื่อว่าสิ่งนั้นจะเกิดขึ้นและไม่เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่เขาคิดแบบนั้น และการทำประชามติที่ผิดไปจากรัฐธรรมนูญนั้น มันไม่ควรจะทำตั้งแต่แรกแล้วเพราะผลออกมามันจะยุ่งไปกันใหญ่

“ผมเห็นด้วยกับการจัดการตัวเอง การปกครองตัวเอง ซึ่งไม่ได้หมายความว่า เป็นเอกราช หมายถึงการจัดการปกครอง  การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ฟังเสียประชาชน การจัดการศึกษา เศรษฐกิจในพื้นที่  ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็มีความแตกต่างกันออกไป”

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ

นักการเมือง คิดเพื่อประชาชนถูกเสมอไม่มีวันผิด

นายวันมูหะมัดนอร์ บอกว่า ผู้สูงวัยที่ทันสมัย ต้องยอมรับความคิดเห็นของคนอื่นและเราไม่คิดว่าความคิดเห็นของเรามันถูกอย่างเดียว เราต้องรับฟังเสียงของคนอื่นด้วยอย่าไปคิดว่าเราถูกต้องรับฟังความคิดเห็น

“ในสมัยผมเป็นรัฐมนตรีผมไม่เคยคิดว่า ข้าราชการมาต้องมาฟังผม ผมบอกว่า ถ้าผมทำอะไร ถ้านโยบายผมผิด ก็บอก สิ่งที่เดียวที่ผมขอร้อง คือว่าเมื่อเป็นนโยบายประชุมตกลงกันแล้ว ปฏิบัติตามนโยบาย แต่อย่ามาเอาใจผม วันเกิดผม วันปีใหม่ อย่าเอาของขวัญมาให้ผมเพราะว่าในปีใหม่นั้น ท่านผู้ว่า ฯหัวหน้าส่วนราชการ ควรจะอยู่กับครอบครัว ลูกเมียที่บ้าน ไม่ควรจะมาหาเจ้านายที่กรม ฯ ที่กระทรวง”

นายวันมูหะมัดนอร์…  

บอกว่าถ้าคิดเพื่อคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมือง การคิดเพื่อประชาชน…ถูกเสมอ ไม่มีวันผิด ถ้าคิดผิดไปจากการทำเพื่อประชาชน แน่นอนมีโอกาสผิด

ดังนั้นการสร้างเมืองใหม่ พรรคการเมืองต้องปรับตัว ต้องฟังประชาชนให้มาก และทำงานเพื่อประชาชน อย่าไปคิดว่า พอเป็นรัฐบาลจะไปซื้อ ส.ส.ให้มาก การไปซื้อ ส.ส.มา สอบตกหมด แล้วก็ใช้เงินจำนวนมากซื้อเสียง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะชนะการเลือกตั้ง  เพราะพรรคที่ไม่ใช้เงินอย่างพรรคก้าวไกล  ก็ชนะเลือกตั้งได้ แสดงให้เห็นว่า ประชาชนเขาคิดได้ เงินใครก็อยากได้ แต่ได้เงินแล้วเขาไม่เลือกก็ได้

“การเมืองใหม่จะปิดประตูการทำรัฐประหารได้ ประชาชนต้องตื่นตัวลุกขึ้นแสดงออก เพื่อบอกว่าไม่ต้องการอำนาจแบบนี้อีกแล้ว”