ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เลือกตั้งอย่างรับผิดชอบ 2566 > ‘กรณ์ จาติกวณิช’ ชาติพัฒนากล้า ชู “งานดี มีเงิน ของไม่แพง” ด้วยยุทธศาสตร์ 7 เฉดสี

‘กรณ์ จาติกวณิช’ ชาติพัฒนากล้า ชู “งานดี มีเงิน ของไม่แพง” ด้วยยุทธศาสตร์ 7 เฉดสี

20 เมษายน 2023


นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า

“กรณ์ จาติกวณิช” เป็นที่รู้จักในฐานะอดีตผู้บริหารและเจ้าของบริษัทหลักทรัพย์ นักวาณิชธนกิจ นักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อเว้นวรรคการทำงานการเมือง เขาผันตัวไปเป็น “ชาวนาเฉพาะกิจ” ไปจนถึงการจับมือกับสตาร์ตอัปลงทุนด้านฟินเทค และก้าวสู่การเมืองอีกครั้งในฐานะหัวหน้าพรรคกล้า ในปี 2563 ล่าสุดก้าวขึ้นสู่หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า จากประสบการณ์ที่หลากหลาย ผ่านทั้งสนามธุรกิจและสนามการเมือง ล่าสุด ในฐานะหัวหน้าพรรค ได้เปิดตัวข้อเสนอหรือ “คำมั่นสัญญาว่าจะให้” ในการลงสนามเลือกตั้งที่กำลังจะถึงนี้ ด้วยสโลแกน “งานดี มีเงิน ของไม่แพง”

“กรณ์” เล่าที่มาว่า จุดเริ่มต้นคือเรื่องปากท้อง ที่เป็นปัญหาอันดับหนึ่งของประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางพรรคเชี่ยวชาญ ทำให้สรุปเป้าหมายของทุกนโยบายที่ออกมา เป็นสโลแกน “งานดี มีเงิน ของไม่แพง” ทั้ง 3 เรื่อง ตอบโจทย์ประชาชนทุกระดับ ปัญหาของแพง ปัญหาโอกาสทำมาหากิน ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินแหล่งทอง รวมทุกอย่างอยู่ใน 3 ประโยคนี้ที่เป็นเป้าหมายของเรา

‘กรณ์’ เล่าถึงหลักคิดที่มาของ “งานดี มีเงิน ของไม่แพง” ว่า “นโยบายเหล่านี้ได้มาจากการเก็บข้อมูลเกือบ 3 ปี แต่มาตกผลึกตอนรวมพรรคเป็นชาติพัฒนากล้า โดยมีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นั่งหัวโต๊ะ แล้วคุย ถกเถียง แลกเปลี่ยนกันเกือบ 3 เดือนเต็ม ตั้งแต่ที่มา ตรรกะ นโยบาย จนออกมา สังเกตได้เวลาใครขึ้นเวทีดีเบต ทุกคนพูดเหมือนกันหมด เพราะทำด้วยกัน ตกผลึก และตรรกะชัดเจน คุณสุวัจน์ ขึ้นเวทีดีเบต พูดเรื่องการหารายได้ เรื่องลดค่าใช้จ่าย ได้เหมือนกันหมด พูดเรื่อง เสรีนิยม คือส่งเสริมการแข่งขัน ทำให้ทุกคนมีโอกาสที่โปร่งใส เป็นธรรม นี่เป็นหลัก และจะไม่เห็นนโยบายแบบแจกทุกคนเท่ากัน บางคนไม่เท่ากันตั้งแต่แรก”

‘กรณ์’ บอกว่า อันดับแรก หลักปรัชญาทางการเมือง เป็นสาเหตุให้การรวมพรรคกล้าและพรรคชาติพัฒนาเป็น “ชาติพัฒนากล้า” การรวมกันนี้สามารถทำได้และราบรื่นมาก เพราะหลักคิดทางการเมือง เศรษฐกิจ ตรงกัน ถ้าให้คำจำกัดความตัวเรา คือ เสรีนิยมประชาธิปไตย คำนี้มีหลากหลายความหมาย แต่ที่สำคัญ คือ เชื่อในการแข่งขัน เป็นการแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรม

‘กรณ์’ บอกต่อว่าประเด็นปัญหาบ้านเราไม่ใช่เรื่องกลไกตลาด หรือกลไกตลาดไม่ดี หรือทุนนิยมไม่ดี แต่ปัญหาคือกลไกตลาดไม่ทำงาน เพราะเหตุการผูกขาดบ้าง การเมืองบ้าง ทำให้ไม่มีการแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรม ตัวอย่างเช่น ตลาดทุนไทย เป็นตลาดทุนที่ประสบความสำเร็จตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่สิ่งที่ทำให้ดีขึ้นได้ คือ โครงสร้างบริษัทจดทะเบียน (บจ.) จะเห็นว่ารายชื่อ บจ. ใหญ่สุดของประเทศย้อนกลับไป 10 ปีจนถึงปัจจุบันก็ยังเป็นชื่อเดิมๆ เป็นคำถามที่ต้องมีคำตอบ เพราะในช่วงเวลาเดียวกัน ในอเมริกา 20 กว่าปีก่อน จีอี ซิตี้กรุ๊ป วอลล์มาร์ต เดี๋ยวนี้หายไปไหนหมดไม่รู้ กลายเป็น เมย์บัค อัลฟาเบท ไมโครซอฟท์ เป็นกลุ่มหุ้นเทคโนโลยีหมด

“สะท้อนว่าโครงสร้างเศรษฐกิจของอเมริกานั้น บริษัทใหม่ๆ โดยเฉพาะที่ขายนวัตกรรมเข้าถึงแหล่งทุนได้ โตได้ ช่วงชิงพื้นที่ของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เคยครองตลาด เคยครองเศรษฐกิจ แต่ประเทศไทยทำไม่ได้ และไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่มีปัญหานี้ ในเอเชียก็มีปัญหานี้ เกาหลี อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ แต่ไม่ใช่ว่ามันไม่ใช่ปัญหา ฉะนั้น เรื่องการแข่งขันจึงเป็นเรื่องสำคัญ”

พร้อมกล่าวว่า ที่เปิดตัวอย่างนี้เพราะแต่ละนโยบายของพรรคจะย้อนกลับมาที่ปัญหานี้ และไทยไม่ได้เป็นเสรีนิยมสุดโต่ง (libertarian) การที่กลไกตลาดไม่ทำงาน เพราะเชื่อว่ารัฐต้องมีบทบาทในการแทรกแซง ไม่ใช่แทรกแซงเพื่อกำกับและกำหนดทุกอย่าง แต่แทรกแซงเพื่อให้เกิดการแข่งขันขึ้นมาได้ สร้างแต้มต่อ หรือสร้างโอกาส ให้กับคนเล็ก คนน้อย หรือผู้ประกอบการขนาดกลาง เขาจะได้มีโอกาส

“ปรัชญาทางการเมืองของพรรค ไม่ได้มองว่าทุกอย่างต้องเท่าเทียม เพราะความจริง คือ คนไม่เท่าเทียม ผู้ประกอบการไม่เท่าเทียม ภาพที่สะท้อนปรัชญาความคิดเราได้ดีที่สุด คือ เราจะเห็นว่ามีคนตัวสูงยืนมองข้ามรั้ว โดยไม่ต้องมีอะไรมาช่วย แต่คนตัวเตี้ย ต้องมีกล่อง หรือมีอะไรเพื่อให้เขายืนมองข้ามรั้วเดียวกันได้ บทบาทหน้าที่ของรัฐ คือเติมตัวช่วย ให้ทุกคนสามารถอยู่ในระดับแข่งขันได้ นั่นคือปรัชญา ที่มาของแนวคิดทั้งหมดของพรรค และเป็นสิ่งที่ทุกคนในพรรค จนถึงนักการเมืองรุ่นใหม่ที่เข้ามาจากหลากหลายภาคธุรกิจมีปรัชญาความคิดเดียวกัน นี่คือประเด็นสำคัญ พอหลักนี้ชัดเจน เรื่องต่างๆ ก็มีความชัดเจนตามมา

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า

ยุทธศาสตร์ 7 เฉดสี

หลักคิดต่อมา คือ พรรคเห็นว่า ประเทศไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ไทยกินบุญเก่าตั้งแต่ 30 กว่าปีที่แล้ว ที่ปรับจากประเทศเกษตรมาเป็นประเทศอุตสาหกรรม มีโมเดลการทำธุรกิจที่อิงกับแนวคิด industrialization มานาน ทุกวันนี้เริ่มมีสัญญาณชัดเจนว่า พึ่งพาความคิดเดิมอย่างเดียวไม่ได้แล้ว เศรษฐกิจไม่โต ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ความต้องการของโลกเปลี่ยนไป เราต้องปรับตัว

คำถามสำคัญ คือ บทบาทของไทยในเวทีโลกจะเป็นอย่างไร ไทยจะขายอะไรให้กับลูกค้า ประเภทธุรกิจใดที่ไทยแข่งขันได้ นี่คือภาพใหญ่ นี่คือภาพรวม

พรรคจึงมีแนววิธีในการหารายได้ให้กับประชาชน เป็นที่มาของชุดนโยบายที่เสนอ ยุทธศาสตร์ 7 เฉดสี (Spectrum Economy) ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ 5 ล้านล้านบาท ในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี ยุทธศาสตร์ 7 เฉดสี จะแบ่งเป็น สีเขียว สีเหลืองสีน้ำเงิน สีเทา สีขาว สีเงิน สีรุ้ง

ทุกเฉดสีอยากบอกว่าเป็นกระแสการเปลี่ยนแปลงหลักของโลก จึงต้องกำหนดนโยบาย กำหนดยุทธศาสตร์ ที่อยู่ในกระแส ไม่เช่นนั้นจะยาก เพราะไทยไม่ได้เป็นประเทศใหญ่ขนาดที่จะเปลี่ยนกระแสได้ ก็ต้องอ่านกระแสความต้องการ กระแสการเปลี่ยนแปลง แล้วกำหนดยุทธศาสตร์ที่ทำให้ไทยได้ประโยชน์จากกระแสนั้นๆ

ยุทธศาสตร์สีเขียว การให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม นโยบายหลัก คือการเข้าสู่ภาวะความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ที่มองว่าเป็นยุทธศาสตร์การฟื้นฟูการลงทุนครั้งใหญ่ของประเทศ เพราะการลงทุนของไทยย้อนหลังไป 10 ปีลดลง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนของนักลงทุนเอกชน หรือนักลงทุนจากต่างประเทศที่เดิมมีสูงมาก ปัจจุบันเหลือน้อยลง สาเหตุเพราะไทยขาดความชัดเจนเชิงยุทธศาสตร์

สีเขียว คือ ตัวแปร สีเขียวหมายถึงไทยต้องเข้าไปลงทุนใหม่ในอุตสาหกรรมใดบ้าง แน่นอน ด้านพลังงาน คมนาคม อุตสาหกรรมเกษตร อย่างพลังงานสัดส่วนเชื้อเพลิงยังเป็นฟอสซิล 70% แต่เดิมไม่มีปัญหา เพราะไทยมีแก๊สธรรมชาติ ปัจจุบันแก๊สธรรมชาติกว่าครึ่งเป็นแอลเอ็นจีที่แพงมาก จากสาเหตุสงครามยูเครน ขณะที่แหล่งพลังงานที่ถูกที่สุดต่อหน่วยการผลิตไฟฟ้า มีสัดส่วนนิดเดียวไม่ถึง 5% ก็เป็นคำถามว่า ทำไมไทยยังผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลงที่แพงกว่า จึงต้องปรับโครงสร้างนี้ และเป็นที่มาของนโยบายในการส่งเสริมพลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน โดยมีนโยบายอุดหนุนให้ประชาชนติดโซลาร์บนหลังคาบ้านตัวเองได้ รวมถึงการส่งเสริมการลงทุนในโซลาร์ฟาร์ม

“ข้อเสนอที่ให้กับประชาชน คือ จะลดต้นทุนของตัวแผง เพราะปริมาณการซื้อเยอะ คาดว่าลดราคาลงได้ 30% เทียบกับไปซื้อเอง มีการเข้าถึงแหล่งทุนในการติดตั้งที่ปลอดดอกเบี้ย โดยเราจะอุดหนุนดอกเบี้ยให้ ส่วนเงินต้นให้แต่ละบ้านใช้คืนด้วยส่วนต่างค่าไฟที่ประหยัดได้จากการติดตั้งโซลาร์ มีระบบขายไฟส่วนเกินกลับเข้าสู่ระบบได้ ในราคาเดียวกับราคาไฟฟ้าที่รัฐซื้อ เพราะตอนนี้รัฐซื้อไฟฟ้าจากผู้ประกอบการหน่วยละ 2.20 บาท แต่ขาย 5 บาท และเพิ่งประกาศเพิ่มปริมาณรับซื้อจาก 10 เมกกะวัตต์ เป็น 90 เมกกะวัตต์ แต่ก็ยังราคาเดิม 2.20 บาท ทำไมต้องซื้อถูกขายแพงอย่างนี้ จึงต้องแก้ปัญหาเรื่องโครงสร้าง”

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะผู้ผลิต อยู่ดีๆ จะเปิดประชาธิปไตยในระบบการผลิตไฟ ใครมาผลิตไฟก็ได้ บทบาทเขาก็จะลดลง เราจึงเสนอให้ กฟผ. แยกระบบสายส่งออกมา เหมือน ปตท. ที่ให้แยกท่องส่งก๊าซออกมา โดยสายส่งของ กฟผ. ที่แยกออกมาจะตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจ ไม่ได้แปรรูป เพื่อให้เกิด third party access ใครที่จะผลิตไฟสามารถเช่าสายส่งที่มีอยู่เพื่อขายไฟตรงให้ผู้อื่นได้ นี่เป็นตัวอย่าง และจะนำไปสู่การลงทุนมหาศาล เป็นรายได้ของประเทศ รวมถึงโซลาร์ฟาร์ม โซลาร์รูฟทอป และยังลดค่าใช้จ่าย ทำให้เกิดการสร้างงาน แค่รับจ้างติดตั้งแผงโซลาร์ ก็สร้างงานมหาศาล การปรับโครงสร้างนี้จะทำให้มีทั้งงาน มีทั้งเงิน ลดราคาค่าไฟ เป็นการลดค่าครองชีพด้วย ตอบโจทย์หมด

“ตัวอย่างเช่น ไอคอนสยามที่ใช้ไฟมหาศาล มีการพูดว่าใช้ไฟมากกว่าแม่ฮ่องสอนทั้งจังหวัด สมมติว่า ถ้าหันมาใช้พลังงานสะอาด 100% เขาทำได้หรือไม่ ทำไม่ได้ เพราะต้องซื้อไฟจากการไฟฟ้านครหลวง แล้วผลิตไฟจากอะไรก็เลือกไม่ได้ แต่ถ้าเปิดเสรีเรื่องนี้ แล้วแยกระบบสายส่งออกจาก กฟผ. แล้วไอคอนสยาม คำนวณการใช้ไฟแต่ละปี เวลาเปิด-ปิดไฟ มีการใช้ไฟเสมอต้นเสมอปลาย แล้วเปิดประมูลซื้อไฟที่มาจากพลังงานหมุนเวียนเป็นเวลา 20 ปี ขายตรงให้ไอคอนสยาม วิธีนี้ต้องเปิดตลาดให้ทำอย่างนั้นได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผู้ประกอบการสามารถโฆษณาเรื่องการลดคาร์บอนฟุตพรินต์ อุตสาหกรรมอื่นที่อยากลดคาร์บอน ขอทำสัญญาซื้อไฟจากโซลาร์ฟาร์ม ก็จะเกิดการลงทุน แค่เปิดให้เกิดการแข่งขัน สิ่งเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้น ขณะเดียวกัน ธุรกิจต่างๆ ก็ยังต้องพึ่ง กฟผ. หรือโรงไฟฟ้าใหญ่ๆ ในกรณีไฟตก หรืออื่นๆ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ การแข่งขันทำให้เกิดการลงทุน”

นอกจากนี้ ยังมีกรณี น้ำมัน ที่สู้มาตั้งแต่ปีที่แล้วในเรื่องค่าการกลั่น ที่ยังเป็นโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค สาเหตุที่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปสูงเกินไป เพราะยังอิงกับราคาที่สิงคโปร์ ทั้งที่การกลั่นอยู่ที่เมืองไทย ค่าการกลั่นควรอิงกับต้นทุนที่แท้จริง ไม่เกิน 2.0-2.50 บาท ขณะที่ราคาที่แท้จริง ปีที่แล้วสูงถึง 8 บาท 10 บาท เป็นภาระต่อประชาชน

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมต้องมีการปรับครั้งใหญ่ในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิต เรื่องคมนาคม คือการลดการขนส่งทางถนน ที่เวลานี้ใช้อยู่ 90% ส่วนใหญ่เป็นรถใช้น้ำมัน ต้องลดสัดส่วนการใช้การขนส่งแบบนี้ ด้วยการลงทุนระบบราง การส่งเสริมการใช้รถอีวี มอเตอร์ไซค์ รถบรรทุก รถเมล์ นี่คือสีเขียว ในส่วนของคมนาคมขนส่ง

สำหรับ สีเขียวในส่วนของเกษตร มีการเสนอยุทธศาสตร์ พันธบัตรป่าไม้ ที่จะช่วยเพิ่มพื้นที่ธรรมชาติในการดูดซับคาร์บอน ขณะเดียวกันก็แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เพราะมองว่า เรื่องฝุ่นต้องแก้ด้วยกลไกตลาด เนื่องจากที่มาของปัญหาฝุ่นคือการเผาไร่การเกษตร โดยเฉพาะไร่ข้าวโพด ไร่อ้อย และเมื่อคำนวณดูแล้ว รายได้ที่เกษตรกรได้จากการปลูกอ้อยน้อยมาก เป็นเรื่องดีในการสร้างแรงบันดาลใจให้เขามาปลูกป่าไม้เศรษฐกิจแทนได้ โดยมีรายได้เพิ่มและยั่งยืนกว่า ต้นทุนต่ำกว่า และไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดการเผาโดยปริยาย เพราะไร่ข้าวโพดส่วนใหญ่เคยเป็นป่ามาก่อน

แต่มีคำถามว่า ระหว่างรอให้ต้นไม้โตจะมีอะไรกิน เป็นสาเหตุให้ต้องมีพันธบัตร พอมีพันธบัตร ก็ใช้ระบบว่าจ้างเกษตรกรให้ปลูกป่าและดูแลป่า เพราะรู้อยู่แล้วว่าจะมีรายได้จำ 2 แหล่งสำคัญ คือ จากการตัดไม้ขายเมื่อถึงเวลา ก็นำรายได้ส่วนนั้นมาคำนวณแล้วจ่ายก่อนล่วงหน้าให้เป็นการว่าจ้างเกษตรกร สอง คือ ได้คาร์บอนเครดิต ที่มีแนวโน้มราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ของไทยร้อยกว่าบาทต่อตัน ที่ยุโรปเป็นหมื่นบาท นี่จะเป็นรายได้ส่งคลัง เป็นยุทธศาสตร์การหารายได้ตามเฉดสีเขียว

สำหรับภาคอุตสาหกรรม ก็ต้องมีแรงจูงใจด้านภาษี และอื่นๆ เพื่อให้เขาลงทุนปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต เพื่อลดคาร์บอน ซึ่งอุตสาหกรรมต้องทำอยู่แล้ว เพราะการขายสินค้าไปยุโรป หรืออเมริกา มีเงื่อนไขของซัพพลายเชน เกี่ยวกับคาร์บอนฟรุตปรินท์ ถ้าไม่ลดตามเงื่อนไขก็จะถูกตัดออกจากตลาดสำคัญ และมีบางอุตสาหกรรมที่ต้องปรับเปลี่ยน รัฐบาลต้องพร้อมส่งเสริม เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ต้องปรับ รัฐบาลก็ต้องช่วยให้ไทยยังเป็นตัวเล่นสำคัญด้านยานยนต์ได้

“รัฐบาลที่ผ่านมาได้ทำในหลายประเด็น แต่ยังไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนทั้ง 4 ตัวนี้ที่ควรศึกษาให้ชัดว่านี่คือเป้าหมายสำคัญของประเทศ ผมถือว่าเรื่องนี้ใหญ่ที่สุดในยุทธศาสตร์ 7 เฉดสี”

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า

ยุทธศาสตร์สีน้ำเงิน คือ เทคโนโลยี กระแสการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีถือเป็นกระแสหลักของโลก มีผลต่อไทยมาก มีผลต่อประชาชนทุกคน ตัวอย่าง เช่น การสร้างแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นเรื่องยาก แต่เวลานี้เราใช้แพลตฟอร์มต่างประเทศหมด ทำให้อุตสาหกรรมที่ไทยได้เปรียบต้องสูญเสียรายได้มหาศาล ตัวอย่างที่ดีที่สุด คืออุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่เวลานี้ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จองห้องพักผ่านแพลตฟอร์ม ต้องเสียค่า GP สูงถึง 30% ถ้ามีนักท่องเที่ยว 20 ล้านคน รายได้รวมประมาณ 6 แสนล้านบาท ถ้าคิดค่าห้องพัก 5 พันบาทต่อคืน เสียค่า GP แค่ 20% ก็ 1.2 แสนล้านบาท เป็นจำนวนมหาศาล เป็นรายได้ที่เสียไปโดยไม่ได้อะไรคืนมา เก็บภาษีก็ไม่ได้ ประโยชน์ที่เสียไปแสนกว่าล้านบาททุกปี เพียงพอที่จะสร้างแพลตฟอร์มของเราเองหรือไม่ เป็นเรื่องท้าทาย น่าทำ และต้องทำ

‘กรณ์’ บอกว่าแต่สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับยุทธศาสตร์สีน้ำเงิน คือ ภาครัฐ ระบบราชการที่เป็นภาระ ต้นทุนสูงมาก และไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ข้าราชการทำงานลำบาก ประชาชนเข้าถึงระบบราชการได้ไม่มาก ระบบการขออนุญาตต่างๆ ซับซ้อน มีต้นทุน ไม่โปร่งใส ทำให้เกิดการทุจริต คอร์รัปชัน เป้าหมายของเรา คือ government technology พูดง่ายๆ จะต้องเอาระบบราชการทั้งหมดมาไว้ในโทรศัพท์มือถือ และทำให้เป็น all service center หน่วยราชการชอบพูดถึง one-stop service หมายถึงหนึ่งหน่วยราชการ แต่ต้องไปหลายหน่วยราชการ ซึ่งถ้าใช้เทคโนโลยีเชื่อมโยงกันหมด จะเปิดโฮมเสตย์ ร้านอาหาร สปา นวด อะไรก็แล้วแต่ แค่ยื่นคำขอจุดเดียว กดปุ่มว่า คุณกำลังขออะไร แล้วข้อมูลนั้นไปทุกหน่วย มีเงื่อนไขเวลาชัดเจนว่า หน่วยราชการต้องใช้เวลาพิจารณาเท่าไหร่ ทุกอย่างอยู่ในมือถือ โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีการประมาณการณ์ว่า เรื่องนี้เรื่องเดียว ส่งผลต่อจีดีพี 2-3%

“เรื่องนี้สามารถทำไม่ได้ ก่อนโควิดเล็กน้อย ผมไปกับสมาคมฟินเทค ไปดูงานที่เอสโตเนีย ประเทศเล็กๆ ที่เป็นบิดาของเรื่องนี้ ตอนเอสโตเนียแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต เขาไม่มีเงินงบประมาณที่จะสร้างระบบราชการ เลยตัดสินใจสร้างระบบราชการบนเทคโนโลยีบล็อกเชน ที่ตอนนั้นยังไม่มีชื่อนี้ จนขณะนี้เขาประเมินว่า 90% ของปริมาณธุรกรรมทั้งหมด ประชาชนสามารถทำผ่านโทรศัพท์มือถือได้ รวมถึงการเลือกตั้ง โดยมีหลักปฏิบัติง่ายๆ ที่สำคัญมาก 3 ข้อ”

ข้อแรก once only ครั้งเดียวพอ ความหมายคือ ประชากรชาวเอสโตเนียทั้งชีวิตตามกฎหมายต้องยืนยันตัวเองด้วยการยื่นสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน เพียงแค่ครั้งเดียว เพราะระบบราชการมีการเชื่อมโยงข้อมูลกันหมด หน่วยงานราชการถ้าต้องการตัวตนก็เข้าไปดูข้อมูลที่ยื่นมา

ข้อที่สอง สำคัญมาก เขาถือว่าข้อมูลทั้งหมดของประชาชน เป็นกรรมสิทธิ์ของประชาชนไม่ใช่ของรัฐ ผลคือ มีกฎหมายชัดเจนว่า หน่วยงานราชการแต่ละแห่งมีสิทธิทางกฎหมายที่จะเข้าไปดูข้อมูลอะไรบ้าง และทุกครั้งที่หน่วยราชการดูข้อมูลเรา มันจะขึ้นที่แอปพลิเคชันในมือถือ เช่น ตอนนี้ ป.ป.ช. หรือสรรพากร กำลังดูข้อมูลเราอยู่ และถ้าเราเห็นว่ามีหน่วยราชการที่ล่วงอำนาจขึ้นมา ทำเกินอำนาจกฎหมาย เราฟ้องได้

ข้อที่สาม เนื่องจากเขาพึ่งพาเทคโนโลยีเยอะ มีเรื่องความปลอดทางไซเบอร์ (cyber security) มี 3 หลัก ซึ่งผมคิดว่าไม่ต้องคิดใหม่ ก็ทำเหมือนเขา เทคโนโลยีมีข้อดีคือ ใช้ที่ไหนก็ได้ จำนวนคนไม่เกี่ยว แต่ขึ้นกับ mindset ของผู้นำ อย่างโควิดมีแอปเป๋าตังค์อยู่แล้ว คนไทยใช้ 30 ล้านคน ทำไมกระทรวงสาธารณสุขต้องทำแอปหมอพร้อมมาต่างหาก ทำไมไม่จองคิวฉีดวัคซีนผ่านเป๋าตังค์ ประชาชนก็ไม่สะดวกต้องมีแอปเพิ่ม เพราะต่างคนต่างทำ ไม่มียุทธศาสตร์รวม”

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า

ยุทธศาสตร์สีเหลือง เกี่ยวโยงกับสีน้ำเงิน คือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ก็มีกองทุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมให้คนทุกวัยสามารถตั้งตัวในฐานะผู้ประกอบการได้ เน้นทุกวัย ขอให้เป็นเศรษฐกิจที่อยู่ในเกณฑ์สร้างสรรค์ อาหาร แฟชั่น กีฬา ได้หมด สะท้อนถึงความสำคัญของซอฟต์เพาเวอร์ โดยมีกองทุนมาส่งเสริม เหมือนเกาหลีที่มียุทธศาสตร์ creative industry ตั้งแต่หลังเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ทำให้เขาฟื้นตัวได้

ยุทธศาสตร์สีเทา ยุทธศาสตร์นี้เป็นโอกาสใหญ่มากของประเทศไทย เรื่องนี้สะท้อนจากความเป็นจริงที่ธนาคารโลกมีข้อมูลว่า ไทยมีเศรษฐกิจสีเทาสัดส่วน 50% ของจีดีพี สูงสุดในโลก ไม่ดีเท่าไหร่ ตอนนี้จีดีพีไทย 17 ล้านล้านบาท เท่ากับอย่างน้อย 8 ล้านล้านบาทไม่อยู่ในระบบ หมายความว่า ขาดการกำกับดูแล เก็บภาษีไม่ได้ แข่งขันไม่ได้ ไม่มีกติกาชัดเจน ทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันทุกอย่าง การเลือกตั้งที่ไม่สุจริต ก็มาจากเงินสีเทา บางเรื่องต้องกำจัดให้หมด เช่น ยาเสพติด แต่บางเรื่อง เช่น การพนัน พรรคชาติพัฒนากล้าเห็นว่า เรื่องบ่อน ต้องมองความเป็นจริง บ่อนเถื่อนมีทุกหัวเมือง คนไทยชอบเล่นการพนัน จึงมองว่า ในพื้นที่ที่พร้อม ออกใบอนุญาตคาสิโน รีสอร์ท ซึ่งสอดคล้องกับการท่องเที่ยวของเรา ทำให้ได้ 3 เด้ง คือ ปราบเงินเถื่อน ดึงเงินคนไทยที่ไปต่างประเทศให้กลับมา และชักจูงนักท่องเที่ยวที่ปัจจุบันไปเล่นสิงคโปร์ ออสเตรเลีย เขมร มาเล่นที่ไทยเป็นรายได้เพิ่ม

“ตัวอย่างลาสเวกัส รายได้จากการพนันแค่ 30% ที่เหลือมาจากที่พัก สันทนาการ อื่นๆ อีกมากมาย และถ้าไทยจะทำต้องดีที่สุดในโลก อยู่ในกรอบกฎหมาย มีการกำกับดูแลที่ดี มาตรฐานคุณภาพที่เป็นเลิศ เป็นมาตรฐานโลก ซึ่งได้คุยกับผู้ประกอบการที่ไปลงทุนที่สิงคโปร์ เขาบอกว่า สำหรับเขาแล้วไทยเป็นท็อปในโลก และเขาพร้อมลงทุน 2-3 แสนล้านบาทต่อแต่ละที่”

นอกจากนี้ ก็มีเรื่องหวย ที่เป็นเรื่องใหญ่ พรรคมีนโยบายที่จะปรับปรุงล็อตเตอรี่ให้เป็นธรรมมากขึ้น คือคนไม่ค่อยรู้ว่า ช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมามีการเพิ่มจำนวนล็อตเตอรี่มหาศาล ตั้งแต่การปฏิวัติปี 2557 จำนวนล็อตเตอรี่เพิ่มจาก 37 ล้านใบ มาเป็น 100 ล้านใบ เพิ่มขึ้นทุกปี และไม่เคยเพิ่มอย่างนี้มาก่อน ทำให้รายได้ของสำนักงานสลากเพิ่มจาก 1.5 หมื่นล้านบาท เป็น 5.5 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นเงินของคนยากคนจนที่เล่นหวย ผมมองว่าแฟร์หรือไม่

ยุทธศาสตร์สีขาว เข้าใจง่ายๆ คือท่องเที่ยวสายมู ที่ยกเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ เพราะไทยเรามีดีมากกว่าทุกที่ในเรื่องนี้ และอยู่ในกระแสหลักของโลก เวลานักท่องเที่ยวจีน สิงคโปร์ ฮ่องกง มา ตลาดพระเครื่องบูมสนั่น และการหาที่พึ่งทางใจ การใช้ท่องเที่ยวไหว้พระเป็นข้ออ้างในการไปเที่ยวแหล่งอื่นๆ ทุกพื้นที่ทุกจังหวัดในไทยมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ สถานที่อิงประวัติศาสตร์ เราเสนอให้มีการลงทุน 1 พันล้านบาทต่อจังหวัด เพื่อปรับปรุงเรื่องเส้นทางคมนาคม ห้องน้ำ หรือบางกรณีมีการสร้างสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาต่างหาก จะช่วยให้การท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวในประเทศ และทำให้มีการท่องเที่ยวกระจายออกจาก 5 เมืองหลักที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศชอบมา ตัวอย่างหลวงพ่อโสธร คนไปปีละ 3 ล้านคน ไปแล้วก็กลับไม่ได้ไปที่อื่น สมาคมชาวแปดริ้วจึงคิดวิธีดึงคนที่มาวัดโสธรให้อยู่นานขึ้น ใช้เงินมากขึ้น ก็มีแผนสร้างพระพิฆเนศ ถ้าไปดู จะพบว่าบริเวณรอบๆ มีชาวบ้านนำผลผลิตมาวางขายให้นักท่องเที่ยวพื้นที่ 2 หมื่นตารางเมตรใหญ่มาก สร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ แรงบันดาลใจเรื่องนี้มาจากกระแสวัดไอ้ไข่ ที่ช่วงโควิดคนหลั่งไหลไปจังหวัดนครศรีธรรมราช ทำให้เห็นโอกาสในจุดนี้

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า

อีกเรื่องหนึ่งที่ขอเสริม คือยุทธศาสตร์ฟ้ามืด เวลานี้มีกระแสเที่ยวดูดาว เรื่องนี้นอกจากเป็นเรื่องท่องเที่ยวแล้ว ยังมีเรื่องการอนุรักษ์ โลก สมัยนี้มีมลพิษทางแสงเยอะ ทำให้ลูกหลานเราไม่เห็นดาวเห็นเดือน หรือมีข่าวเรื่องฝนดาวตก แต่ไม่สามารถมองเห็นได้ ในต่างประเทศจะมีพื้นที่อนุรักษ์ รักษาความมืด โดยมีตัววัดว่าความมืดเท่าไหร่ถึงจะเข้าเกณฑ์ ตัวอย่างของไทย อุทธยานผาแต้ม ที่จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพื้นที่สงวนรักษาฟ้ามืด ก็จัดดูดาว มีคนไป 2 พันคน เรื่องนี้เหมือนเรื่องเล็ก แต่สะท้อนแนวคิดว่า บางพื้นที่ห่างไกล ไม่พัฒนา กลับกลายเป็นจุดขาย ประเทศเอเชียเหลือพื้นที่ฟ้ามืดน้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น หรือเกาหลี แต่ไทยยังมีอยู่ ต้องให้คุณค่ากับสิ่งที่ไทยมี ต้องมีมาตรการควบคุม มีมาตรการให้คนในพื้นที่เห็นคุณค่าจะได้ช่วยกันรักษา และมีผลสำรวจในอเมริกา พบว่า แสงไฟ 30% เป็นแสงไฟที่สิ้นเปลือง ไม่มีประโยชน์ ซึ่งมีผลต่อพลังงานที่ใช้ มีผลต่อมลพิษทีเกิดจากพลังงานที่ใช้ และมลพิษของแสงเอง ถ้าให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ก็จะรวมในหลายประเด็นที่จะทำให้ไทยเป็นประเทศอารยะ

ยุทธศาสตร์สีเงิน เป็นกระแสหลักทั่วโลก คือผู้สูงอายุ เป็นโอกาสเรื่อง health tourism ที่ภูเก็ตกำลังทำอยู่ พรรคมีนโยบายผู้สูงอายุที่ต่างจากพรรคอื่น เรามองผู้สูงอายุเป็นทรัพย์สินที่มีคุณค่า นโยบายที่ผ่านมาส่วนใหญ่แจกเงินเบี้ยยังชีพ ทำให้คนรู้สึกว่าผู้สูงอายุเป็นภาระ แต่เรามองว่าไม่ใช่ โดยมี 2 นโยบาย นโยบายแรกคือ วัยเก๋าไฟแรง จะมีงบประมาณสร้างตำแหน่งอาชีพให้ผู้สูงอายุ 5 แสนตำแหน่ง ด้วยการชดเชย 5 พันบาทต่อเดือนให้กับนายจ้างที่ว่าจ้างผู้สูงอายุ ข้อดีคือรัฐได้จัดเก็บภาษีรายได้ วิธีนี้ดีกว่าได้เบี้ยยังชีพ มีศักดิ์ศรี มีสังคม มีรายได้ที่ดีกว่า เป็นการใช้เงินที่มีคุณค่ากว่า นโยบายที่สอง คือ อารยะสถาปัตย์ คือทุกบ้านที่มีผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้พิการ จะมีงบ 5 หมื่นบาทในการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านให้ปลอดภัยต่อการดำรงชีวิต หลักคือห้องน้ำ เพราะมีสถิติว่าทุกปีมีผู้สูงอายุลื่นในบ้าน 3 ล้านคน บางคนเสียชีวิต บางคนป่วยติดเตียง เป็นภาระของจริง งบนี้ยังสร้างงาน สร้างรายได้

สุดท้าย คือ สีรุ้ง พรรคมีความชัดเจนเรื่องสิทธิความเท่าเทียม สิทธิการสมรส และไปไกลกว่า คือ ไม่ใช่แค่คนไทยที่แต่งงานกันได้ แต่เปิดให้ LGTBQ ทั่วโลกมาแต่งงานในไทย กระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยว ที่บรรจุเรื่องนี้ในยุทธศาสตร์การสร้างรายได้ เพราะ LGTBQ ทั่วโลก มีกำลังซื้อมหาศาลและกล้าใช้ มีการประเมินประมาณ 160 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ LTGB+ ทั่วโลกมาใช้ในไทย10% ในการท่องเที่ยว ก็ 6 ล้านล้านบาท

ใช้ alternative data แก้หนี้ครัวเรือน

สำหรับนโยบายอื่นๆ ที่มองว่าสำคัญ คือ เรื่องหนี้ครัวเรือน การเข้าถึงแหล่งทุน เรื่องใหญ่มาก การพักหนี้ไม่ได้ผล หลายเรื่องต้องรื้อโครงสร้าง ต้องกล้าทำเรื่องยาก อย่างกรณีสินเชื่อ มีเรื่องการประเมินความเสี่ยง ประเมินความน่าเชื่อถือในการกู้ คือระบบ เครดิตบูโร ที่ล้าสมัยมากไม่มีการปรับปรุง ปัญหาคือ เป็นข้อมูลทางลบในการประเมินความน่าเชื่อถือ และแม้กฎหมายจะบอกว่าไม่มีแบล็คลิสต์ แต่ประเพณีปฏิบัติทำให้เกิดสภาพแบล็คลิสต์ เพราะเขามีประวัติผิดนัดชำระหนี้ หรือค้ำประกันผู้ผิดนัดชำระหนี้ ทำให้มีข้อมูลติดในเครดิตบูโร กู้ยืมไม่ได้ ธนาคารก็อธิบายเขาว่า เขาติดแบล็คลิสต์ ในทางพฤตินัย อย่าปฏิเสธว่าไม่มี มีแน่นอน

“แต่ผมไม่ได้มาล้างประวัติเครดิตบูโร แต่จะเปลี่ยนเป็นเครดิตสกอร์ เพื่อให้มีข้อมูลครบถ้วนในการประเมินความน่าเชื่อถือในประวัติของแต่ละคน อย่าง GRAB ปล่อยสินเชื่อให้ร้านอาหาร หรือไรเดอร์ โดยไม่สนใจข้อมูลเครดิตบูโร เพราะเขามีข้อมูลหมดว่าร้านนี้ขายเท่าไหร่ ไรเดอร์คนนี้ขยันมั้ย ทำงานวันละกี่ชั่วโมง มีรายได้เท่าไหร่ สามารถให้กู้ได้ด้วยความมั่นใจ เครดิตบูโร จึงควรเปิดให้มีข้อมูลที่หลากหลายขึ้นเพื่อช่วยประเมินความเสี่ยงผู้กู้ อาจมีคนเคยผิดนัดชำระหนี้ 2 เดือน แต่ระหว่างนั้นมีการจ่ายค่าไฟ จ่ายค่าน้ำ ค่าเล่าเรียนลูก ค่าอินเตอร์เน็ต ทำไมไม่เอาข้อมูลเหล่านี้มาคิด แล้วออกมาเป็นแต้ม พอคิดแบบนี้ก็จะมาที่ประเด็นเรื่องการแข่งขัน สาเหตุส่วนหนึ่งที่ส่วนต่างดอกเบี้ยที่แพง เพราะธนาคารไม่มีการแข่งขันเรื่องดอกเบี้ย แต่สมมติว่าเครดิตบูโรใช้เครดิตสกอร์ 0-100 ธนาคารบางแห่งบอกว่า ถ้าต่ำกว่า 80 ไม่รับเป็นลูกค้า แต่ก็จะมีบางแห่งบอก 60-80 จะรับ แต่อัตราดอกเบี้ยเท่านี้ อีกธนาคาร 60-80 ก็รับ แต่ให้ดอกเบี้ยต่ำกว่า ทำให้แข่งขันกัน เพราะมีข้อมูลโปร่งใส มีมาตรฐาน สูตรคำนวณเดียวกัน หรือบางคนได้เพียง 40 บางธนาคารก็อาจจะให้กู้เพราะอยากเล่นตลาดนี้ โดยคิดดอกเบี้ยแพงหน่อย การกู้เงินในระบบได้ แม้จะคิดอัตราดอกเบี้ยในเพดานสูงสุดที่แบงก์ชาติกำหนด ก็ยังต่ำกว่ากู้นอกระบบ”

กรณ์กล่าวต่อว่า “เรื่องนี้ผมพร้อมเถียงกับทุกคน นี่เป็นตรรกะ และจากการลงพื้นที่ ทำให้รู้ที่มาของปัญหาหลัก ปัญหาใหญ่มาก โดยเฉพาะหลังโควิด หลายคนไม่เคยเป็นหนี้เสียเลย มาสะดุดหกล้มช่วงโควิด แล้วติดแบล็คลิสต์ 3 ปี แล้วทำไมต้อง 3 ปี เพราะแม้ชำระหนี้หมดวันนี้ก็ยังติดอีก 3 ปี ลดเวลาลงได้หรือไม่ ยังไม่นับการเก็บข้อมูลอื่นๆ ที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงิน อย่างอเมริกา มี alternative data แล้วขายข้อมูลให้กับบริษัทที่ปล่อยสินเชื่อเพื่อใช้ประเมินความเสี่ยง เช่น ผมทิ้งโทรศัพท์มือถือให้ขึ้นขีดแดงบ่อยแค่ไหน ถ้าทำทุกวัน แสดงว่าคนนี้ไม่ค่อยมีความรับผิดชอบ เสี่ยงตายเสมอ แต่ถ้าแบตไม่เคยลดต่ำกว่าครึ่ง เห็นปั๊บต้องรีบเสียบชาร์จทันที แสดงว่าผมเป็นคนระมัดระวัง นี่คือ alternative data อนาคตอาจนำมาใช้ แต่ขอให้ใช้ข้อมูลที่เพิ่มความแม่นยำ ยิ่งแม่นดอกเบี้ยยิ่งถูก”

สำหรับนโยบายต่อมา คือ การเพิ่มเงินในกระเป๋า คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ที่เสนอว่า รายได้ที่หักค่าใช้จ่าย หักค่าลดหย่อน 4 หมื่นบาทแรกไม่ต้องเสียภาษี จากปัจจุบัน 2.6 หมื่นบาทที่ใช้มานาน ขณะที่ค่าครองชีพสูงขึ้น นโยบายนี้จะทำให้ผู้เสียภาษี 2 ล้านคนที่เงินเดือนต่ำกว่า 4 หมื่นบาทจะหมดภาระภาษีเงินได้ และทำให้รัฐเสียรายได้เพียง 2.1 หมื่นล้านบาท จากรายได้ภาษีส่วนบุคคลที่ปีนี้ตั้งเป้าเก็บ 1.7 แสนล้านบาท ไม่เยอะแต่ช่วยคนมหาศาล และจะทำให้ภาษีเงินได้นิติบุคคล กับภาษีส่วนบุคคลเสมอภาคมากขึ้น เพราะที่ผ่านมา มีการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลมานานแล้ว แต่ไม่ได้ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า

เด็กไทยต้องพูดได้ 3 ภาษา

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานก็สำคัญ เช่น การเสนอให้สร้างมอเตอร์เวย์ทั่วประเทศ 2,000 กม. อย่างสายใต้รอวันนี้มานานแล้ว เป็นเรื่องควรขับเคลื่อนทันที และมีผลมหาศาล ทั้งต่อการลงทุน การลดค่าใช้จ่ายของประชาชน รวมถึงการเชื่อมโยง เรื่องการศึกษาเน้นที่ผลลัพธ์ เน้นที่เด็กไทยพูด 3 ภาษา ไทย อังกฤษ จีน และภาษาคอมพิวเตอร์ โคดดิ้ง เพราะผมให้ความสำคัญและเชื่อว่าเด็กไทยควรพูดภาษามากกว่าหนึ่งให้ได้ จะเลือกภาษาจีนก็ได้ เพราะไทยเป็นประเทศท่องเที่ยว ประเทศค้าขาย ถ้าตั้งใจทำ ภายใน 10 ปี เด็กไทยทุกคนที่ตอนนี้อายุไม่เกิน 3 ขวบจะพูดได้ 2 ภาษา เพียงแต่ต้องให้เขาได้โอกาสเรียนจากเจ้าของภาษาอย่างน้อยทุกวันๆ ละ 1 ชั่วโมง เรียนตั้งแต่เด็กยิ่งดี จะเริ่มตั้งแต่อนุบาล 1 ก็ได้

ใช้เงินจากไหน

มีคำถามว่าจะใช้เงินจากแหล่งไหนได้บ้าง ‘กรณ์’ กล่าวว่า ถ้าย้อนไปดูแต่ละนโยบายจะเห็นว่า แต่ละโครงการไม่ได้ใช้เงินจำนวนมาก และแต่ละเรื่องถือว่าเป็นการลงทุน เทียบกับการประกันรายได้เกษตรกรปีละ 1 แสนล้านบาทที่จ่ายทุกปีแล้วหายไป ราคาพืชผลยิ่งตกต่ำ นอกจากนี้ บางค่าใช้จ่าย อย่างพันธบัตรปลูกป่า แม้จะกู้เงินมา แต่การลงทุนปลูกป่ามีคุณค่าทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แม้ระหว่างนั้นต้องหาเงินมาชดใช้ จึงต้องมีนโยบายหารายได้ด้วย ที่คำนวณไว้คือ 5 ล้านล้านบาทภายใน 5 ปี ฟังดูแล้วเหมือนมาก แต่ถ้าเทียบกับจีดีพี ที่ปัจจุบัน 17 ล้านบาท เพิ่มเป็น 22 ล้านบาท เท่ากับเพิ่มปีละ 5% เท่านั้น และยังมีเรื่องการเอาสิ่งที่อยู่นอกระบบมาเข้าในระบบ สมมติว่า เอาจีดีพีนอกระบบ 10% หรือ 1.7 ล้านล้านบาท ที่มาอยู่ในระบบ นี่คือทำให้จีดีพีที่เพิ่ม

สำหรับเรื่องความโปร่งใส เป็นธรรม กรณ์ กล่าวว่า ถ้าพูดให้เห็นภาพ อย่างเรื่องไฟฟ้า เทคโนโลยีไปไกลแล้ว แต่กฎระเบียบไปไม่ถึง เทคโนโลยีวันนี้สามารถทำให้ประชาชนเป็นทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตได้ ทุกคนมีหลังคาบ้านสามารถเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าได้ ก็ควรเปิดให้เป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ด้วยการเปิดโอกาสให้เขาสามารถผลิตไฟฟ้าได้ด้วย ไม่จำกัดไว้แต่นายทุนบางกลุ่ม แล้วปิดกั้นเทคโนโลยี ตอนนี้เรากำลังขยันสร้าง แอลเอ็นจีเทอร์มินัล ลงทุนเป็นหมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นอนาคตหรือ แม้แก๊สจะมีความสำคัญ พอเราทุ่มไปตรงนั้น ลงทุนแล้วต้องทำให้คุ้ม พอลงทุนเรื่องแก๊ส ต้องให้คุ้ม ก็เลยไปกระทบกับนโยบายอื่น แต่แนวโน้มเทคโนโลยีไปอีกอีกระดับ ก็ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนลองดู ผลิตไฟเอง 2 บาทต่อหน่วย ซื้อไฟ 5 บาทต่อหน่วย

อีกตัวอย่าง คือ ปัญหาดอกเบี้ยส่วนต่างของธนาคาร เทียบกับที่ออสเตรเลีย อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 4 % อัตราดอกกเบี้ยกู้ซื้อบ้าน 5% ต่างกัน 1% ของไทยดอกเบี้ยเงินฝาก 1.5% กู้ซื้อบ้าน 6.5% ต่างกัน 5 เท่า แต่ไม่มีใครบ่น หรือตั้งคำถาม ซึ่งแบงก์ไม่ได้มีกำไรเกินควร แต่มีทุนมากกว่าเกณฑ์มาตรฐานโลกที่กำหนดไว้ 12% แต่ธนาคารไทยสูงถึง 17-18% อีกส่วนคือไม่มีการแข่งขันอย่างจริงจัง จำนวนแบงก์เยอะจริง แนวคิดหนึ่งที่ผมจะทำคือ open banking คือ ข้อมูลของลูกค้าไม่ว่าอยู่ที่ธนาคารไหน จะเปิดให้ธนาคารอื่นดูได้ แนวคิดนี้มาจากที่ผมทำ refin ที่มาจากรีไฟแนนซ์ งานหลักคือรีไฟแนนซ์เงินกู้ซื้อบ้าน ที่คนไม่ค่อยรู้ว่า จ่ายหนี้ครบ 3 ปีจะรีไฟแนนซ์เงินกู้ได้ ทำให้ที่ผ่านมาได้ดอกเบี้ยต่ำลง เพราะดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง และที่น่าอึดอัดคือ พอทำแล้วจึงรู้ว่า จำนวน คนที่รู้เรื่องรีไฟแนนซ์มีน้อยมาก หลักของผม คือ ลูกค้าทุกคนควรรู้และได้รับข้อเสนอที่ดีที่สุด ซึ่งถ้าให้ใครเข้าไปดูข้อมูลลูกหนี้ที่ผ่อนอยู่ ก็จะมีแบงก์มาเสนอเองเลย มากู้ผมดีกว่า นี่คือ open banking

กลับไปที่หลักว่า ข้อมูลของเรา เป็นของเรา ไม่ใช่ข้อมูลของเราเป็นของธนาคาร หรือของใคร ความโปร่งใสนำไปสู่การแข่งขัน นำไปสู่โอกาส

“เพราะฉะนั้น ถ้าประชาชนต้องการโอกาสที่ดีขึ้น เศรษฐกิจที่ดีขึ้น ต้องการคนมาช่วยแก้ปัญหาค่าครองชีพ ไม่มีพรรคไหนน่าเลือกเท่าพรรคชาติพัฒนากล้า ผมมั่นใจ” กรณ์กล่าวสรุป