ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เลือกตั้งอย่างรับผิดชอบ 2566 > We Watch เรียกร้อง กกต.ประกาศผลเลือกตั้งทางการใน 7 วัน

We Watch เรียกร้อง กกต.ประกาศผลเลือกตั้งทางการใน 7 วัน

16 พฤษภาคม 2023


We Watch เปิดผลการสังเกตการณ์การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป 2566  พบประชาชนตื่นตัวการเลือกตั้งมาใช้สิทธิ 39 ล้าน สูงสุดในประวัติศาสตร์  ขณะที่เห็นว่าการเลือกตั้ง ยังไม่สะท้อนบริบทประชาธิปไตยเหตุยังใช้กติกาเดิม มี สว.ที่ไม่ยึดโยงประชาชน เรียกร้อง กกต.แถลงผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการใน 7 วัน

We Watch แถลง จับตาการเลือกตั้ง

ที่สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่ม We Watch และอาสาสมัคร ร่วมแถลงผลการสังเกตการณ์ “การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการทั่วไป 2566”  โดยมี นายพงษ์ศักดิ์ จันทร์อ่อน, น.ส.ณัฐชลี สิงสาวแห และนายกฤต แสงสุรินทร์ ร่วมกันนำเสนอการสังเกตการณ์การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2566 ที่ผ่านมาว่า We Watch มีอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้ง เครือข่ายทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และอาสาสมัครในนามบุคคลทั่วไป ทำงานร่วมกับ “เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2566” จำนวนกว่า 9,000 คน สังเกตการณ์ในหน่วยเลือกตั้งอย่างน้อย 11,622 หน่วย จากทั้งหมด 95,000 หน่วย 350 เขตเลือกตั้ง ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ  เพื่อการจับตาการเลือกตั้งให้ดำเนินการไปด้วยความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพมากที่สุด รวมจำนวนอาสาสมัครจากทุกช่องทาง

จากการสังเกตการณ์พบว่าการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.2566 ได้พบข้อกังขาและข้อจำกัดในการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และระบบเลือกตั้งของไทยในปัจจุบัน ซึ่งจากหลักฐานอันเป็นที่ประจักษ์ มีข้อค้นพบดังต่อไปนี้

1. บริบทการเมือง เลือกตั้ง 2566 ใต้กติกาเดิม

นายกฤตกล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่มีพรรคการเมืองจำนวนมากลงรับสมัครรับเลือกตั้งถึง 70 พรรค มีจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งจำนวน 6,679 คน แบ่งเป็นสมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 70 พรรค จำนวน 4,781 คนและ ส.ส.บัญชีรายชื่อ มี 67 พรรค ส่งผู้สมัครรวม 1,898 คน และการเสนอรายชื่อผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีจำนวน 43 พรรค จำนวน 63 คน

นอกจากนี้ยังพบว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีประชาชนออกมาใช้สิทธิในการเลือกตั้งจำนวนมาก โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้แถลงถึงจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. 2566 แบบไม่เป็นทางการ มีสัดส่วนถึงร้อยละ 75.22

อย่างไรก็ตาม นายกฤต กล่าวว่า  การเลือกตั้งในครั้งนี้ยังเป็นการเลือกตั้งในกรอบกติกาเดิม จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เฉพาะในส่วนของระบบเลือกตั้ง เป็นการแก้ไขโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในรัฐสภา ซึ่งต่างจากการแก้ไขโดยการเข้าชื่อเพื่อการเข้าชื่อ เสนอต่อรัฐสภาโดยประชาชน ทำให้ผลของการแก้ไขมีลักษณะเช่นเดียวกับการแก้ไขระบบเลือกตั้งในปี 2554

“การแก้ไขเป็นเพียงแค่การแก้ไขระบบเลือกตั้ง ฉะนั้น การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในปี 2566 จึงเป็นการเลือกตั้งภายใต้กติกาเดิมที่เคยเกิดขึ้นเท่านั้น แต่โครงสร้างสถาบันทางการเมืองยังเป็นผลพวงมาจากการรัฐประหารในปี 2557 ดังจะเห็นได้ว่า ยังคงมีหลายองค์กรทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเชื่อมโยงกับประชาชน อาทิ วุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มาจากการแต่งตั้งของวุฒิสภา เป็นต้น ดังนั้นการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในวันที่ 14 พ.ค. พ.ศ. 2566 จึงยังมิอาจเรียกได้ว่าเกิดขึ้นภายใต้บริบทของการเป็นประชาธิปไตยอย่างเสรีและเปิดกว้างอย่างแท้จริง”

2.บรรยากาศเลือกตั้ง  ปชช.ตื่นตัวออกมาใช้สิทธิจำนวนมาก

ส่วนบรรยากาศการเลือกตั้ง พบว่าคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ทุกคนที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ตลอดทั้งวัน ส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือกับการสังเกตการณ์การเลือกตั้งเป็นอย่างดี จนลุล่วง

การเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา เป็นการเลือกตั้งที่มีประชาชนตื่นตัวทางการเมืองสูงมากครั้งหนึ่งนับตั้งแต่ประเทศไทยมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในปี 2476 ซึ่งในการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. มีประชาชนออกมาใช้สิทธิเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุด เป็นอันดับ 2 จากจำนวน 28 ครั้งที่มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศไทย และมีจำนวนประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเป็นจำนวน 39,284,752 คน มากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ส่วนหนึ่งมาจากการรณรงค์การเลือกตั้งที่เป็นไปอย่างคึกคักตั้งแต่ต้นปี 2566 และเข้มข้นยิ่งขึ้นในระยะเวลา 2 เดือนก่อนวันเลือกตั้งทั่วไป ผ่านหลากหลายช่องทาง

นายกฤต กล่าวว่า การตื่นตัวของประชาชน ปรากฏออกมาให้เห็นตั้งแต่การเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งนอกเขตเลือกตั้งและในเขตเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนออกมาลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้ากว่า 2.2 ล้านคน ผู้คนทยอยออกมาใช้สิทธิกันตั้งแต่เช้าจรดเย็น แต่ยังพบข้อกังวลถึงขั้นตอนการส่งบัตรเลือกตั้งไปยังเขตเลือกตั้งภูมิลำเนาเพื่อนับคะแนน และมีปัญหาของการที่ผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า-นอกเขต ไม่สามารถใช้สิทธิในวันเลือกตั้งได้ ในกรณีที่ลงทะเบียนไว้แล้ว เป็นจำนวน 200,000 คน

ภาพรวมของการเลือกตั้ง ไม่พบรายงานความรุนแรงระหว่างการใช้สิทธิ โดยหลายเขตพบว่าประชาชนออกมารอใช้สิทธิตั้งแต่ก่อนเปิดคูหา 08.00 – 17.00 น. แต่ในระหว่างกระบวนการลงคะแนน มีรายงานสิ่งผิดปกติเข้ามาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา 9 ชั่วโมง ของขั้นตอนการลงคะแนน อาสาสมัครยังติดตามกระบวนการนับคะแนนตามหน่วยเลือกตั้งต่างๆ ในหลายหน่วยเลือกตั้งดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย

ขณะที่มีอีกหลายหน่วยเลือกตั้งมีประชาชนร้องเรียน โต้แย้งความเห็นกรรมการเลือกตั้งประจำหน่วย (กปน.) ตั้งแต่ขั้นตอนการขานคะแนน การอ่านบัตรเลือกตั้ง ไปจนถึงการตรวจสอบจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ถูกใช้ กับจำนวนบัตรเลือกตั้งที่แสดงก่อนใช้สิทธิ เช่น จ.ปทุมธานี กรุงเทพมหานคร เป็นต้น

“ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ยืนยันให้เห็นว่าประชาชนไทยให้ความเอาใจใส่ต่อกิจกรรมทางการเมืองครั้งนี้ การเลือกตั้งจึงมิได้มีฐานเป็นเครื่องมือในการแสดงออกทางประชาธิปไตยเท่านั้น แต่คือจุดเดิมพันที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตทางการเมืองของทุกคน”

อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับประชาชนหลาย 10 ล้านคน ยังมีปัญหาอีกจำนวนมาก ซึ่งอาสาสมัครและประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งได้พบและรายงานเข้ามา ทำให้ We Watch ประมวลข้อค้นพบที่น่าสนใจและต้องครุ่นคิดแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป

 3. กฎหมายและการจัดการเลือกตั้ง

การจัดการเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากมี พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 โดยมีกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. 2566 ดังนี้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ส่งผลต่อการกำหนดระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 โดยนอกเหนือจากข้อกำหนดว่าด้วยการออกแบบระบบเลือกตั้งแล้ว ในหลายกรณีส่งผลโดยตรงต่อการใช้สิทธิของประชาชน ดังต่อไปนี้

  • แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งกลับมาสู่ระบบแบ่งเขตและระบบบัญชีรายชื่อแบบปิดที่เขตเลือกตั้งทั้งประเทศ ทว่ายังคงกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี
  • การตัดสิทธิพลเมืองหลายกลุ่ม คือ พระสงฆ์ ตลอดจนผู้ที่มีความเจ็บป่วยทางจิต และผู้ต้องขังทั้งหมดไม่ว่าจะอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีหรือถูกพิพากษาด้วยความผิดเล็กน้อย
  •  การใช้ระบบบัตรเลือกตั้งสองใบ หมายเลขผู้สมัครและพรรคไม่เหมือนกัน เนื่องจากผู้รับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตจะต้องจับฉลากหมายเลขของตนเองในทุกๆเขตเลือกตั้ง โดยไม่ได้หมายเลขตามพรรคการเมืองที่สังกัด อันเป็นการสร้างความสับสนและไม่เอื้อต่อการใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชน
  • ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่อาจไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าได้ตามได้ลงทะเบียนไว้ สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ในวันเลือกตั้งจริง
  • ระยะเวลาการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ภายใน 60 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง ถือเป็นระยะเวลาที่ล่าช้าเกินสมควร ส่งผลให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเริ่มดำเนินงานและบริหารประเทศได้ล่าช้า โดยมีข้อสังเกตเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งก่อนปี 2557 ที่กำหนดให้ประกาศผลเลือกตั้งภายใน 7 วันหลังการเลือกตั้ง
  • 4.กระบวนการลงคะแนน

    แม้ว่ากรรมการประจำนหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) จะถือเป็นกำลังหลักในการทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทว่ามีข้อสังเกตและกังวลหลายประการที่จะสามารถยกระดับให้การเลือกตั้งในทุกระดับในอนาคตเพื่อลดข้อบกพร่องต่อการจัดการเลือกตั้งได้มากขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นในกระบวนการลงคะแนน อันเป็นขั้นตอนที่อาสาสมัคร We Watch และประชาชนผู้สังเกตการณ์การการเลือกตั้งมีข้อกังวลต่อการจัดการเลือกตั้งเป็นพิเศษ โดยสามารถสรุปเป็นประเด็นสำคัญ ดังนี้

  • ปัญหาประสิทธิภาพในการจัดการหน่วยเลือกตั้ง โดยพบข้อกังวลในหลายกรณี เช่น มีการจัดสถานที่ลงคะแนนไม่เอื้ออำนวยต่อผู้พิการ คนสูงอายุนั่งรถเข็น ฯลฯ บางหน่วยเลือกตั้งพบว่าทางขึ้นคูหาเลือกตั้งเป็นพื้นยกระดับสูง อีกทั้งไม่มีทางลาดที่ใช้สำหรับรถเข็นคนพิการ เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นในบางหน่วยจากหลายพื้นที่ อาทิ จ.ชุมพร เลย ขอนแก่น อุตรดิตถ์ อุบลราชธานี ตรัง กรุงเทพ สุราษฎร์ธานี ชลบุรี
  • รวมถึงปัญหา การให้ข้อมูลผู้สมัครรับเลือกตั้งผิด หลายหน่วยเลือกตั้งมีป้ายไวนิลแนะนำผู้สมัครที่เขียนผิด หรือเอกสารข้อมูลผู้ลงสมัครเลือกตั้งไม่ครบถ้วน เป็นต้น

    นอกจากนั้นยังมีข้อกังวลปัญหาว่าด้วยความเป็นกลาง เช่น กรณีป้ายหาเสียงอยู่ข้างหรือใกล้หน่วยเลือกตั้ง หรือในบางกรณีมีการรายงานว่าพบป้ายหาเสียงติดอยู่ที่กระดานปิดประกาศหน้าหน่วยเลือกตั้ง และระบบการรายงานผลที่ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น การรายงานผลที่ล่าช้าและมีจำนวนคลาดเคลื่อนจากที่ประกาศไว้

  • การละเลยหลักการลงคะแนนเป็นความลับ ในหลายพื้นที่พบว่าด้านหลังคูหาไม่มีกระดานทึบหรือกำแพงมาบังด้านหลังคูหา อาจทำให้มีการสอดส่องการลงคะแนนได้ ลักษณะเช่นนี้เกิดในบางหน่วยของกรุงเทพมหานคร,สุราษฎร์ธานี, อุบลราชธานี, ชัยภูมิ, ระยอง, นครศรีธรรมราช, สมุทรปราการ และลพบุรี
  • นอกจากนี้ยังมีกรณีเจ้าหน้าที่ทำบัตรเลือกตั้งขาด เกิดขึ้นในหน่วยเลือกในเขกรุงเทพฯ แต่บทเรียนที่สำคัญ คือกรณีที่กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งทำบัตรเลือกตั้งฉีกขาดขณะทำการฉีกบัตรให้ผู้มาใช้สิทธิ โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้ให้บัตรใหม่ แต่ใช้วิธีซ่อมโดยใช้เทปกาวแปะ

  • ข้อผิดพลาดของบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พบการรายงานในหลายกรณี เช่นกรณีที่พบรายชื่อบุคคลที่ไม่รู้จักอยู่ในทะเบียนบ้านของตน
  • รายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งยังคงอยู่ที่ทะเบียนบ้านเดิม แม้ว่าผู้นั้นย้ายที่อยู่เป็นเวลานานแล้ว พบสิทธิเลือกตั้งปรากฎเป็นคนละเขตกับภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านจริง

    5. ความผิดปกติของต้องเปิดเผยต่อประชาชน

  • รายการเกี่ยวกับจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ได้รับมาก่อนลงคะแนน (ส.ส.5/5) ซึ่งจะระบุจำนวนบัตรเลือกตั้งทั้งหมดของหน่วยเลือกตั้งนั้น และจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
  • ประกาศรายการเกี่ยวกับจำนวนบัตรเลือกตั้งหลังการลงคะแนน (ส.ส.5/7) ซึ่งจะระบุจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ใช้ไป และจำนวนบัตรเลือกตั้งที่เหลือของหน่วยเลือในโดยสองรายการแรก พบว่า มีข้อผิดปกติที่เกิดขึ้นซ้ำกันอย่างมีนัยยะสำคัญ เช่นไม่ปิดประกาศเอกสารไว้ที่หน้าหน่วยเลือกตั้งปิดประกาศเอกสารไว้ภายในหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งประชาชนไม่สามารถเดินเข้าไปดูได้ปิดประกาศโดยไม่ระบุรายละเอียด หรือระบุรายละเอียดผิด
  • รายการเกี่ยวกับผลการนับคะแนนเลือกตั้ง (ส.ส.5/18) ซึ่งระบุคะแนนที่ผู้สมัครแต่ละคนได้รับ คะแนนที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคได้รับในหน่วยเลือกตั้งนั้น พบว่ามีปัญหาคล้ายคลึงกับ 2 รายการแรก ทั้งการไม่ปิดประกาศ และระบุรายละเอียดผิด โดยมีประเด็นสำคัญที่เพิ่มเติมคือ เอกสาร ส.ส.5/18 นั้น ไม่จำเป็นต้องเก็บกลับไปคืน กกต.เขต จะต้องปิดประกาศทิ้งไว้ที่หน้าหน่วยเลือกตั้งเพื่อให้ประชาชนสามารถมาตรวจสอบผลคะแนนได้ แต่พบว่าในหลายหน่วยเลือกตั้งเจ้าหน้าที่เก็บประกาศนี้ทันทีหลังจากปิดประกาศได้เพียงไม่นาน
  • 4 ข้อกังวลต่อความเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ กปน. โดยมีการรายงานในหลายกรณี สามารถแบ่งออกช่วงเวลาการลงคะแนน ดังนี้

    ช่วงลงคะแนนเลือกตั้ง พบรายงานว่า เจ้าหน้าที่บางส่วนมีการให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน อันกระทบต่อสิทธิของประชาชน เช่น ในบางหน่วยเลือกตั้งเจ้าหน้าที่ไม่ตรวจสอบอัตลักษณ์ของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ไม่ให้ประชาชนพับบัตรเลือกตั้งก่อนหย่อนบัตรเลือกตั้งลงในหีบบัตรลงคะแนน  ห้ามใช้ปากกาที่ประชาชนเตรียมมาเอง ไม่ให้ประชาชนใช้บัตรประชาชนที่มีที่อยู่เก่าและให้กลับไปทำบัตรประชาชนมาใหม่ เป็นต้น

    ช่วงการนับคะแนนบัตรเลือกตั้ง พบการรายงานจำนวนมากเกี่ยวกับการวินิจฉัยบัตรดี-บัตรเสียผิดพลาด การขานคะแนนผิดพลาด รวมถึงการขีดคะแนนผิด ความเข้าใจที่คลาดคลื่อนเกี่ยวกับการจัดการเอกสารที่ต้องเปิดเผย ดังที่กล่าวไปแล้วในประเด็นก่อนหน้า

    6. ปัญหาว่าด้วยการมีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง

    พบการรายงานจำนวนมากว่าคณะกรรมการในหลายหน่วยเลือกตั้งไม่เข้าใจหลักการของความโปร่งใสและสิทธิในการสังเกตการณ์กระบวนการเลือกตั้งของประชาชน ส่งผลให้การสังเกตการณ์การเลือกตั้งเต็มไปด้วยอุปสรรค

    มีตัวอย่างดังต่อไปนี้  เจ้าหน้าที่ปฏิเสธผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ได้มีเอกสารแต่งตั้งจากพรรคการเมือง หรือจาก กกต.เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้อาสาสมัครถ่ายภาพ เอกสารสำคัญ เช่น รายงานจำนวนบัตรเลือกตั้ง ซึ่งต้องเปิดเผยต่อประชาชน รวมถึงการถ่ายภาพการนับคะแนนบัตรเลือกตั้ง  เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้อาสาสมัครและประชาชน ถ่ายภาพหรือบันทึกวีดีโอในขณะนับคะแนนบัตรเลือกตั้ง

     แนะกกต.เร่งประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ

  • กกต. ควรชี้แจงจำนวนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าที่มีการจัดการที่ผิดพลาด และชี้แจงวิธีการแก้ไขอย่างละเอียด พร้อมแสดงหลักฐานเพื่อสร้างความกระจ่างแก่ประชาชน
  • เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อการบริหารประเทศ และเพื่อสร้างความไว้วางใจต่อประชาชน กกต. ควรเร่งรัดให้เกิดการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ในการตรวจสอบผลการเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้ง และประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการโดยเร็วที่สุด โดยอาจยึดระยะเวลาตามกฎหมายเลือกตั้ง 2554 ซึ่งกำหนดให้ประกาศผลเลือกตั้งภายใน 7 วันหลังการเลือกตั้ง เป็นแนวทางปฏิบัติ ทั้งนี้ให้ครอบคลุมถึงการเปิดเผยผลคะแนนรายหน่วยเลือกตั้งด้วย