ThaiPublica > เกาะกระแส > เงิน “หยวน” จะเป็นเงินสกุลหลักของโลก ต้องมีบทบาทความเป็นสากลทางการเงิน 3 ด้าน

เงิน “หยวน” จะเป็นเงินสกุลหลักของโลก ต้องมีบทบาทความเป็นสากลทางการเงิน 3 ด้าน

29 มิถุนายน 2023


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

เว็บไซต์ Geopolitical Monitor รายงานว่า ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทางการปากีสถานได้เปลี่ยนนโยบายครั้งสำคัญ ที่จากเดิมอาศัยดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินสกุลชำระการนำเข้า มาเป็นเงินหยวนของจีน โดยใช้ชำระการนำเข้าน้ำมันดิบ 100,000 ตันจากรัสเซีย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในการธุรกรรมระหว่างประเทศ ที่ปากีสานใช้เงินสกุลอื่นที่ไม่ใช่ดอลลาร์สหรัฐ

เมื่อเร็วๆ นี้ Matias Tombolini รัฐมนตรีการค้าของอาร์เจนตินา ก็เปิดเผยว่าอาร์เจนตินาได้ใช้เงินหยวน เพื่อชำระการค้ากับจีนเป็นมูลค่า 2.7 พันล้านดอลลาร์ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2023 การนำเข้า 17% ของอาร์เจนตินาใช้เงินหยวนเป็นเงินสกุลในการซื้อสินค้านำเข้าจากจีน

การตกต่ำของดอลลาร์เกิดขึ้นรวดเร็ว

กรณีของปากีสถานและอาร์เจนตินา ที่มาใช้ระบบการชำระเงินที่ไม่ใช่ดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนถึงความต้องการที่จะกระจายการชำระธุรกรรมระหว่างประเทศด้วยเงินหลายสกุล และลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐ กลุ่มระหว่างประเทศ เช่น BRICs และ ASEAN ก็มีการพิจารณาทางเลือกการใช้เงินสกุลอื่นนี้อย่างจริงจัง

พัฒนาการที่เกิดขึ้นสะท้อนปรากฏการณ์แบบคู่ขนาน คือ ฐานะนำที่ตกต่ำลงของเงินดอลลาร์สหรัฐ และการเกิดขึ้นของสกุลเงินที่เป็นทางเลือกใหม่ คือเงินหยวนของจีน

ไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่า เมื่อไหร่เงินหยวนจะสามารถชนะเงินดอลลาร์ แต่ที่แน่นอนก็คือ จีนมุ่งมั่นจะลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์ และการตกต่ำของเงินดอลลาร์ ก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเกินการคาดหมายของบรรดาผู้จัดการกองทุนต่างๆ ในสหรัฐฯ

ที่มาภาพ : https://www.amazon.com/Gaining-Currency-Renminbi-Eswar-Prasad/dp/0190631058

เงินหยวนกับฐานะมหาอำนาจจีน

หนังสือชื่อ Gaining Currency: The Rise of the Renminbi เขียนไว้ว่า เมื่อปี 2015 จีนในฐานะเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก มี GDP มูลค่า 11 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 15% ของโลก เป็นรองสหรัฐฯ ที่ GDP มีมูลค่า 18 ล้านล้านดอลลาร์ จีนมีสัดส่วน 12% ของการค้าโลก จีนมีสัดส่วนการถือเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ 30% ของโลก และระยะที่ผ่านมา 1 ใน 3 ของการเติบโต GDP ของโลกมาจากเศรษฐกิจจีน

แม้จีนจะมีฐานะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ แต่ฐานะของเงินเหรินหมินปี้ (renminbi) หรือเงินหยวน ไม่ได้ยิ่งใหญ่ตามฐานะเศรษฐกิจจีน เงินหยวนเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นมาเป็นปัจจัยหนึ่งของการค้าโลก ขณะที่ดอลลาร์สหรัฐ ยูโร เยน และเงินปอนด์ ล้วนมีบทบาทและความสำเร็จมานานแล้วในด้านระบบการเงินโลก

แต่ในระยะที่ผ่านมา รัฐบาลจีนดำเนินการหลายอย่างเพื่อให้มีการใช้เงินหยวนในเศรษฐกิจระหว่างประเทศ หาทางยกระดับให้เงินหยวนเป็นหนึ่งในกลุ่มสกุลเงินชั้นนำของโลก แต่การใช้เงินหยวนในตลาดโลกยังมีข้อจำกัด เพราะเศรษฐกิจจีนยังไม่มีระบบอัตราแลกเปลี่ยน ที่กำหนดโดยกลไกตลาดสมบูรณ์ หรือดุลบัญชีเงินทุน (capital account) ที่เคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนได้เสรี

แต่เนื่องจากจีนมีสัดส่วนการค้าโลกที่สูง มาตรการของรัฐบาลจีนจึงได้รับความสนใจอย่างรวดเร็ว

ธนาคารประชาชนจีน ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/

ประวัติของเงินเหรินหมินปี้

หนังสือ Gaining Currency กล่าวถึงประวัติเงินเหรินหมินปี้หรือเงินหยวนว่า ก่อนหน้าการประกาศจากตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการเกือบ 1 ปี ในวันที่ 1 ธันวาคม 1948 พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ตั้ง “ธนาคารประชาชนจีน” ขึ้นมา ทำหน้าที่เหมือนธนาคารกลางของประเทศ หลังจากนั้นก็ออกธนบัตรชื่อเหรินหมินปี้ หรือ “เงินของประชาชน” ซึ่งเป็นเงินสกุลเดียวที่มีฐานะทางกฎหมาย

ผู้นำจีนในเวลานั้น ต้องการให้ธนบัตรชุดแรกที่พิมพ์ออกมาในต้นปี 1949 มีรูป เหมาเจ๋อตุงในฐานะเป็นผู้ก่อตั้งจีนสมัยใหม่ แต่เหมาเจ๋อตุงคัดค้าน เพราะเห็นว่าเป็นการบูชาตัวบุคคล

กล่าวกันว่า เหมาเจ๋อตุงตื่นเต้นมากเมื่อธนบัตรเงินหยวนชุดแรกพิมพ์ออกมา โดยกล่าวว่า “ในที่สุดประชาชนจีนก็มีกองทัพของตัวเอง ระบอบการเมืองของตัวเอง ที่ดินของตัวเอง และบัดนี้ คือธนาคารและธนบัตรของตัวเอง”

เงินหยวนชุดแรกเป็นธนบัตรใบละ 1 หยวน จนถึง 50,000 หยวน ปี 1955 มีการออกธนบัตรใหม่ เรียกว่า “เหรินหมินปี้หยวน” หรือ RMB Yuan ที่มีอัตราการแลกเปลี่ยนที่ 10,000 หยวนเก่าต่อ 1 หยวนใหม่ ปี 1987 มีการพิมพ์เงินหยวนชุดที่ 4 ออกมา ธนบัตร 100 หยวนมีรูปผู้นำจีน 4 คน ได้แก่ เหมาเจ๋อตุง, โจวเอินไหล, หลิวเช่าฉี และจูเต๋อ ปี 1999 ในโอกาสครบ 50 ปี การก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพิมพ์ธนบัตรครั้งที่ 5 รูปของเหมาเจ๋อตุงก็ปรากฏขึ้นในธนบัตรต่างๆ

ธนบัตรจีนรุ่นพิมพ์ครั้งที่ 5 เป็นรูปเหมาเจ๋อตุง ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Renminbi#/

แนวคิดเกี่ยวกับสกุลเงิน

หนังสือ Gaining Currency อธิบายว่า อัตราแลกเปลี่ยนคือ “ราคา” ของเงินสกุลท้องถิ่นเมื่อเทียบกับเงินสกุลต่างประเทศ เช่น 1 ดอลลาร์เท่ากับ 6 หยวน กฎอุปสงค์กับอุปทานใช้กับเงินตรา แบบเดียวกับที่ใช้กับแอปเปิลกับส้ม แต่เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็น “ราคาเปรียบเทียบ “การคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนจึงมีลักษณะเป็นการเปรียบเทียบระหว่าง “แอปเปิล” กับ “ส้ม”

เมื่อความต้องการมากขึ้น ราคาของค่าเงินก็เพิ่มขึ้น เช่น อัตราแลกเปลี่ยนของหยวนจาก 6 หยวนต่อดอลลาร์ มาเป็น 5 หยวนต่อดอลลาร์ หมายความว่าค่าเงินหยวนแพงขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ เงินท้องถิ่นที่มีค่ามากขึ้น เป็นผลดีแก่ผู้บริโภค สินค้านำเข้าถูกลง เท่ากับเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ครัวเรือน แต่ก็มีด้านที่ไม่เป็นคุณประโยชน์ สินค้านำเข้าราคาถูกลง มีผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศ ผู้ส่งออกเองจะรู้สึกว่าส่วนต่างกำไรลดลง เมื่อนำมาเทียบกับค่าเงินท้องถิ่น

เช่นเดียวกับผู้ผลิตในประเทศ ผู้ส่งออกจะเผชิญปัญหาการสูญเสียส่วนแบ่งตลาด เมื่อค่าเงินแพงขึ้น ตัวอย่างเช่นโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าจีนคิดราคาเสื้อส่งออก 1 ตัวที่ 10 ดอลลาร์ (60 หยวน) เมื่อส่งไปขายในสหรัฐฯ ทางร้าน Gap ตั้งราคาที่ 75 ดอลลาร์ หากเงินหยวนแข็งค่าจาก 6 หยวนมาเป็น 5 หยวนต่อดอลลาร์ หากผู้ส่งออกจีนยังรักษาราคาส่งออกเดิมที่ 10 ดอลลาร์ รายได้ของผู้ส่งออกจีนลดลงจาก 60 หยวนมาที่ 50 หยวน หากจะขึ้นราคาเสื้อส่งออกสินค้าจีนก็แข่งขันได้น้อยลง Gap สามารถหันไปหาผู้ผลิตในเวียดนาม หรือบังคลาเทศแทน

การบริหารอัตราแลกเปลี่ยน

Gaining Currency กล่าวว่า ค่าเงินที่แข็งขึ้นเกี่ยวข้องกับความเข้มแข็งของเศรษฐกิจในประเทศ แต่ในระยะยาว อัตราแลกเปลี่ยนของเงินจะถูกกำหนดจากการเติบโตของผลิตภาพของประเทศ (productivity growth) ส่วนในระยะสั้น ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินคือ การเคลื่อนย้ายเงินทุน อัตราดอกเบี้ย และวงจรขึ้นลงของเศรษฐกิจ นอกจากนี้ค่าเงินยังอาจถูกกำหนดจากการเก็งกำไร

ในทศวรรษ 2000 เศรษฐกิจจีนโตอย่างรวดเร็ว เพราะจีนได้เปรียบดุลการค้าและเงินไหลเข้าจากนักลงทุนต่างประเทศ ทำให้มีความต้องการใช้เงินหยวนมากขึ้น ผู้ส่งออกต้องจ่ายค่าแรงและซัพพลายเออร์เป็นเงินหยวน โครงการลงทุนต้องใช้เงินหยวนในการซื้อวัสดุ ค่าแรง และที่ดินจึงทำให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากเงินหยวนที่แข็งค่า ธนาคารกลางจีนสามารถเข้าแทรกแซงโดยการขายเงินหยวนในตลาดเงินตราต่างประเทศ และซื้อเงินสกุลแข็งอื่น การขายเงินสกุลท้องถิ่น ทำให้ธนาคารกลางจีนเพิ่มปริมาณเงินหยวนในตลาดมากขึ้น เท่ากับเป็นบรรเทาความต้องการเงินหยวนที่มากขึ้น

“การแทรกแซง” ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จึงช่วยจำกัดการเพิ่มขึ้นของค่าเงินหยวนลดการนำเข้า และเพิ่มการส่งออกในการเข้าแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ธนาคารกลางจีนต้องนำเงินตราต่างประเทศที่ซื้อมานั้น ไปฝากไว้หรือลงทุนในจุดที่ปลอดภัย และมีความคล่องตัว ซึ่งก็คือพันธบัตรรัฐบาลของประเทศที่เจริญแล้ว เช่น สหรัฐฯ กลุ่มยูโรโซน ญี่ปุ่น และสวิตเซอร์แลนด์ การลงทุนดังกล่าวถือเป็นเงินทุนสำรองต่างประเทศของจีน นอกเหนือจากทองคำ

การแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนยังเป็นวิธีการที่ได้ผลในอีกทางหนึ่ง คือป้องกันไม่ให้ค่าเงินอ่อนตัวลง การที่ค่าเงินอ่อนลงเป็นประโยชน์ต่อการส่งออก แต่ไม่เป็นผลดีต่อการนำเข้า เพราะสินค้าราคาแพงขึ้น สำหรับประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าอย่างมาก การที่ค่าเงินสูงขึ้นทันทีทันใดจะสร้างปัญหาอย่างมาก เพื่อบรรเทาการอ่อนตัวของค่าเงินประเทศนั้น สามารถขายเงินทุนสำรองต่างประเทศ และซื้อเงินสกุลของตัวเอง อันจะทำให้ความต้องเงินสกุลท้องถิ่นมีมากขึ้น และช่วยรักษาค่าเงินของตัวเอง

การบริหารอัตราแลกเปลี่ยนเป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อน การค้าขายเงินสกุลสำคัญของโลก เช่น ระหว่างเงินดอลลาร์ ยูโร และเยน เป็นไปอย่างเสรี ค่าเงินหยวนสามารถบริหารโดยเทียบกับเงินสกุลหลักเหล่านี้ แต่จีนเลือกที่จะบริหารเงินหยวนกับเงินดอลลาร์เป็นหลัก เพราะเหตุนี้ การขึ้นลงของเงินหยวนกับเงินยูโร จะขนานไปกับการเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์กับยูโร

วิธีการนี้ของจีนก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ประเทศในเอเชียก็ใช้วิธีการเดียวกันบทบาทสากลของสกุลเงิน Gaining Currency กล่าวว่า ก่อนที่จะพิจารณาว่าเงินหยวนกำลังจะเข้ามาแทนที่เงินดอลลาร์ โดยการเป็นเงินสกุลหลักของโลก จะต้องมองบทบาทสำคัญของเงินตรา ที่มีต่อการเงินโลกใน 3 ด้าน

(1) บทบาทของ “บัญชีเงินทุน” (capital account) คือการเคลื่อนย้ายเข้าออกของเงินหยวนกับเงินสกุลอื่น ประเทศที่ไม่มีข้อจำกัดถือว่ามีระบบบัญชีเงินทุนเสรี แต่เศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างจีนหรืออินเดีย ยังมีการควบคุมเรื่องเงินทุนไหลเข้าออก

(2) บทบาท “เงินตราที่ใช้ชำระธุรกรรมการค้าและการเงินระหว่างประเทศ” (internationalization) เช่น สัญญาซื้อขายน้ำมันดิบที่กำหนดราคาและชำระเงินเป็นดอลลาร์ ปัจจุบันบทบาทของสกุลเงินในเรื่องธุรกรรมการเงินก็สำคัญมาก เช่น นักลงทุนสหรัฐฯ เข้าไปซื้อหุ้น Alibaba ในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ สัญญาทางการเงินจึงต้องระบุราคาเป็นเงินสกุลใดหนึ่ง

(3) บทบาทการเป็น “เงินทุนสำรอง” ที่หมายถึงสกุลเงินที่ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ถือไว้เพื่อเป็นมาตรการป้องกันวิกฤติดุลการชำระเงิน (balance of payment) ที่เกิดขึ้น เพราะประเทศหนึ่งเกิดขาดแคลนเงินที่นานาประเทศยอมรับในการชำระหนี้สินต่างประเทศ หรือการชำระสินค้านำเข้า สหรัฐฯ แทบไม่มีเงินทุนสำรองต่างประเทศเลย เพราะเงินดอลลาร์ได้รับการยอมรับทั่วโลก หมายความว่าผู้บริโภคคนอเมริกันไม่ต้องกลัวว่าต่างประเทศจะไม่ขายสินค้าหรือบริการให้คนอเมริกัน นอกจากนี้ สหรัฐฯ แทบไม่แทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ปล่อยให้ค่าเงินดอลลาร์เป็นไปตามกลไกตลาด

หนังสือ Gaining Currency สรุปว่า โอกาสที่เงินหยวนจะเป็นเงินสกุลหลักของโลก จึงขึ้นกับนโยบายของจีนในเรื่องความยืดหยุ่นของอัตราแลกเปลี่ยนที่จะเป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น การเปิดเสรีบัญชีเงินทุนและบทบาทการเงินใช้ชำระธุรกรรมทางเศรษฐกิจ ปัจจัย 3 อย่างจะทำให้เงินหยวนมีฐานะเป็น “เงินทุนสำรองต่างประเทศ”

แต่จีนไม่ได้พัฒนาสิ่งเหล่านี้ในแบบตามกฎกติกาดั้งเดิมที่เป็นอยู่ ทว่าใช้การพัฒนาในแบบของจีนเอง ในการทำให้เงินหยวนมีบทบาทมากขึ้นในโลกทางการเงิน

เอกสารประกอบ
De-dollarization and Emergence of Chines Yuan, Imran Khalid,geopoliticalmonitor.com
Gaining Currency: The Rise of the Renminbi, Eswar S. Prasad, Oxford University Press, 2017.