ThaiPublica > เกาะกระแส > ท่ามกลางความขัดแย้ง จีน-สหรัฐฯ “แนวทางที่สาม” ของอาเซียน คือยุทธศาสตร์ความรุ่งเรืองของภูมิภาค

ท่ามกลางความขัดแย้ง จีน-สหรัฐฯ “แนวทางที่สาม” ของอาเซียน คือยุทธศาสตร์ความรุ่งเรืองของภูมิภาค

18 มีนาคม 2023


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ฉิน กัง รัฐมนตรีต่างประเทศจีนคนใหม่ ให้สัมภาษณ์สื่อเป็นครั้งแรก ที่มาภาพ : Europa Press

ในช่วงการประชุมสมัชชาประชาชนแห่งชาติของจีน ครั้งที่ 14 เริ่มต้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคม นายฉิน กัง (Qin Gang) รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของจีนให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเป็นครั้งแรกว่า ความขัดแย้งและการเผชิญหน้า ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา เป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากรัฐบาลสหรัฐฯยังไม่ยอมเปลี่ยนแนวนโยบายที่เป็นอยู่

ฉิน กังกล่าวว่า “สหรัฐฯอ้างว่าต้องการที่จะแข่งขันกับจีน ไม่ได้ต้องการความขัดแย้ง ในความเป็นจริง สิ่งที่เรียกว่าการแข่งขัน ก็คือการปิดล้อมและหยุดยั้งการเติบโตต่อจีนในทุกด้าน เป็นเกมการต่อสู้ที่มองว่า ฝ่ายหนึ่งได้เปรียบ อีกฝ่ายหนึ่งจะเสียเปรียบ” ส่วนเป้าหมายของยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกของสหรัฐฯ คือการปิดล้อมจีน แนวคิดของสหรัฐฯที่ไม่ให้มีความขัดแย้งกับจีน มีความหมายว่า ฝ่ายจีนจะต้องไม่ตอบโต้กลับมา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้

อาเซียนท่ามกลางความขัดแย้ง

ในบทความชื่อ Asia’s Third Way ในเว็บไซต์ foreignaffairs.com Kishore Mahbubani นักการทูตชั้นนำของสิงคโปร์ เขียนไว้ว่า ในปัจจุบัน ท่ามกลางการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ความตรึงเคลียดในด้านการค้าและในกรณีไต้หวัน มีความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นว่า อนาคตข้างหน้าที่ชะตากรรมถูกกำหนดโดยการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจ จะมีโฉมหน้าอย่างไร

แต่มีภูมิภาคหนึ่ง ที่สามารถแสดงให้เห็นถึงหนทางที่รุ่งเรืองและสันติ ท่ามกลางยุคสมัยความขัดแย้งแบบ 2 ขั้ว คือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ตั้งอยู่กึ่งกลางทางภูมิศาสตร์ของการแย่งชิงอิทธิพล ระหว่างจีน-สหรัฐฯ ภูมิภาคนี้สามารถรักษาความสัมพันธ์ที่ดีและความไว้วางใจ ได้กับทั้งสองมหาอำนาจ แนวทางดังกล่าวมีส่วนอย่างมาก ในการส่งเสริมการเติบโตเศรษฐกิจ และการพัฒนาของภูมิภาคนี้

เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า เอเชียมากกว่ายุโรป ที่จะเป็น “สมรภูมิความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ” สิ่งที่เป็นสงครามครั้งใหญ่ในอดีตของยุโรปคืออนาคตข้างหน้าของเอเชีย แต่ปรากฏว่า ภาวะสงบสันติของเอเชียได้ดำเนินมานานเป็นทศวรรษที่ 5 แม้จะมีความระแวงและแข่งขันกัน ระหว่างจีนกับญี่ปุ่น หรือจีนกับอินเดีย แต่เอเชียก็สามารถหลีกเลี่ยงความขัดแย้งภายในภูมิภาคนี้

จากปี 2010-2020 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองก็เกิดความเจริญรุ่งเรือง ทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ในปี 2020 สมาคมอาเซียนที่ประกอบด้วย 10 ประเทศสมาชิก มีมูลค่าเศรษฐกิจรวมกัน 3 ล้านล้านดอลลาร์ แต่กลับมีบทบาทต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก มากกว่าสหภาพยุโรปหรือ EU ที่เศรษฐกิจมีมูลค่ารวมกัน 15 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 5 เท่าของอาเซียน

Kishore Mahbubani กล่าวว่า การเติบโตและสมานฉันท์ในเอเชีย ไม่ใช่เรื่องเกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่ส่วนใหญ่มาจากบทบาทของอาเซียน ในการสร้างระเบียบความร่วมมือในภูมิภาคนี้ขึ้นมา ระเบียบดังกล่าวเป็นสะพานก้าวข้ามการแบ่งแยกทางการเมืองในภูมิภาคนี้ และทำให้ประเทศในเอเชียอาคเนย์แทบทั้งหมด หันมาทุ่มเทให้กับการพัฒนาและความเติบโตทางเศรษฐกิจ

การใช้แนวทางยึดถือประโยชน์จากมุมมองทางการปฏิบัติ เพื่อจัดการกับการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ของมหาอำนาจ ทำให้แนวทางอาเซียนถูกมองว่าเป็น “โมเดล” ให้กับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่รัฐบาลในประเทศเหล่านี้ ให้ความสำคัญแก่การพัฒนาเศรษฐกิจ และไม่ต้องการที่จะเข้าข้างฝ่ายใด ในการแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐฯ

จีนกำลังรุกเข้าไปมีบทบาทในแอฟริกา ลาตินอเมริกา และตะวันออกกลาง หากสหรัฐฯต้องการจะสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกมากขึ้นกับประเทศเหล่านี้ ก็ควรจะเรียนรู้เรื่องราวความสำเร็จของอาเซียน ที่มาจากแนวทางยึดถือผลประโยชน์ทางภาคปฏิบัติ และเปิดกว้างแก่ทุกประเทศ แนวทางของสหรัฐฯ ที่มองโลกแบบฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์ อีกฝ่ายหนึ่งต้องเสียประโยชน์ ที่มุ่งแบ่งโลกเป็นสองค่ายที่ขัดแย้งกัน จะไม่มีวันที่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศโลกที่ 3

มูลค่าการค้า อาเซียนกับจีนกับสหรัฐฯ ที่มาภาพ:foreignaffairs.com

อาเซียนรุ่งเรืองเพราะจีนกับสหรัฐฯ

เมื่อจีนเปิดประเทศ ก็ให้การยอมรับอาเซียนในฐานะการรวมกลุ่มระดับภูมิภาค ในปี 2002 อาเซียนลงนามข้อตกลงการค้าเสรีกับจีน ทำให้การค้าขยายตัวอย่างมาก ปี 2000 การค้าของอาเซียนกับจีนมีมูลค่า 29 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2021 การค้าของอาเซียนกับจีนพุ่งพรวดเป็น 669 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่การค้าของอาเซียนกับสหรัฐฯเพิ่มเป็น 364 พันล้านดอลลาร์

การค้ากับจีนและกับสหรัฐฯ เป็นแรงผลักดันสำคัญ ที่ทำให้อาเซียนรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ในปี 2000 มูลค่า GDP ของอาเซียนรวมกันอยู่ที่ 620 พันล้านดอลลาร์ หรือ 1 ใน 8 ของญี่ปุ่น ในปี 2021 GDP ของอาเซียนมีมูลค่าเพิ่มเป็น 3 ล้านล้านดอลลาร์ เทียบกับ GDP ของญี่ปุ่นมีมูลค่า 5 ล้านล้านดอลลาร์ มีการคาดการณ์กันว่า ในปี 2030 เศรษฐกิจอาเซียนจะใหญ่กว่าญี่ปุ่น

ความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ ทำให้อาเซียนเผชิญปัญหาท้าทายจากจีนมากกว่าจากสหรัฐฯ ปัญหาข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นแล้วคือเรื่องทะเลจีนใต้ และเทคโนโลยี 5G ของจีน การอ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ของจีน ที่แสดงเป็นรูปแผนที่เส้นประ 9 เส้น จะยังเป็นประเด็นที่กระทบต่อความสัมพันธ์จีนกับอาเซียน รวมทั้งกรณีสองฝ่ายยังไม่สามารถมีข้อสรุปเรื่อง “กฎระเบียบ” (code of conduct) ของทะเลจีนใต้ แต่ในปี 1952 จีนเคยตัดทิ้งแนวทะเลจีนใต้จากเส้นประ 11 เส้นเหลือ 9 เส้นมาแล้ว เพื่อแสดงมิตรภาพต่อเวียดนาม จะเป็นเรื่องที่ฉลาด หากจีนจะประณีประณอมกับอาเซียนมากขึ้นในอนาคต

เรื่องเทคโนโลยี 5G คืออีกปัญหาหนึ่งของความขัดแย้งจีนกับอาเซียน สหรัฐฯรณรงค์ต่อต้านการใช้เทคโนโลยี 5G ของจีน ในประเด็นเรื่องนี้ อาเซียนไม่ได้มีท่าทีร่วมกัน ให้เป็นการติดสินใจของสมาชิกแต่ละประเทศ ว่าจะตกลงกับบริษัทหัวเหว่ยของจีนหรือไม่ อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ทำสัญญากับหัวเหว่ย ในการสร้างเครือข่าย 5G ส่วนมาเลเซีย สิงคโปร์และเวียดนาม ไม่ได้ทำสัญญากับหัวเหว่ย

ในบางกรณี ผลประโยชน์ของอาเซียน ทำให้ต้องมองข้ามความกังวลของสหรัฐฯ สหรัฐฯรณรงค์อย่างหนักต่อต้านโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน แต่ประสบล้มเหลว อาเซียน 10 ประเทศล้วนเข้าร่วมในโครงการนี้ และเป็นภูมิภาคที่ให้การต้อนรับต่อแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของจีน การศึกษาของนักวิชาการ มหาวิทยาลัยฮ่องกง ระบุว่า ในปี 2020 อาเซียนมีโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางทั้งหมด 53 โครงการ

Kishore Mahbubani กล่าวต่อไปว่า แนวทางของอาเซียนในการจัดการความขัดแย้ง จีนกับสหรัฐฯ ได้ให้บทเรียนแก่ประเทศกำลังพัฒนา และประเทศกำลังพัฒนาก็เริ่มใช้แนวทางของอาเซียน ที่สร้างความสมดุลระหว่าง สิ่งที่เป็นความกังวลอ่อนไหวของจีนกับของสหรัฐฯ สหรัฐฯต้องเลือกว่า ในความสัมพันธ์กับประเทศกำลังพัฒนา จะใช้แนวทางที่เป็นประโยชน์ทางภาคการปฏิบัติ หรือแนวทางให้ประเทศอื่นเลือก “เราหรือเขา” ในการแข่งขันกับจีน

จากประสบการณ์ของอาเซียน สหรัฐฯสามารถนำไปใช้เป็นท่าทีต่อประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เช่นการไม่กดดันให้ประเทศอื่นเลือกข้าง ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ สหรัฐฯมีข้อเสนอทางเศรษฐกิจมูลค่าไม่มากต่ออาเซียน เมื่อเทียบกับข้อเสนอของจีน สหรัฐฯอาจสนองความต้องการได้มากด้านการขายอาวุธ และความร่วมมือทางทหาร แต่จะเป็นความผิดพลาด หากสหรัฐฯถูกมองว่าเกี่ยวกับเรื่องอาวุธ ขณะที่จีนถูกมองว่าเป็นเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ ความจริงมีอยู่ว่า ประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาล้วนถือว่าการพัฒนาเศรษฐกิจมีความสำคัญอันดับหนึ่ง

ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ยินดีที่จะทำงานร่วมมือกับจีน ความพยายามของสหรัฐฯที่จะต่อต้านอิทธิพลของจีนในประเทศเหล่านี้ จะประสบความล้มเหลว ส่วนประเทศกำลังพัฒนา ที่ต้องการเป็นหุ้นส่วนทั้งกับจีนและสหรัฐฯ สามารถอาศัยแนวทางของอาเซียนเป็นแบบอย่าง แนวทางที่ว่าคือรักษาความสมดุล และจัดการปัญหาความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ โดยการพิจารณาจากแง่มุมประโยชน์ในทางปฏิบัติ

เอกสารประกอบ
Chinese FM meets press to elaborate on nations’s diplomacy, foreigh ties, March 08, 2023, globaltimes.cn
Asia’s Third Way: How ASEAN Survives and Thrives Amid Great-Power Competition, Kishore Mahbubani, March/April 2023, foreignaffairs.com