ThaiPublica > เกาะกระแส > สหรัฐฯเปลี่ยนท่าทีและนโยบายต่อจีน จาก De-Coupling มาสู่ De-Risking

สหรัฐฯเปลี่ยนท่าทีและนโยบายต่อจีน จาก De-Coupling มาสู่ De-Risking

25 พฤษภาคม 2023


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://www.porttechnology.org/news/top-10-ports-in-china-2022/

ในบรรดาบริษัทธุรกิจชั้นนำของโลก สิ่งที่เป็นความวิตกหวาดกลัวมากที่สุดคือ การแยกหักทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯกับจีน จะกลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น ในการสำรวจความเสี่ยงทางการเมือง 2023 ที่จัดทำโดยบริษัทประกันภัย WTW 40% ของบริษัทที่ตอบการสำรวจ คาดการณ์ว่าการแยกตัวทางเศรษฐกิจของสองมหาอำนาจจะรุนแรงมากขึ้นในปี 2023

จาก De-Coupling สู่ De-Risking

บทความของ foreignaffairs.com ชื่อ The US-Chinese Economic Relationship Is Changing เขียนไว้ว่า เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลโจ ไบเดน ได้พยายามลดความหวาดกลัวของธุรกิจในประเทศตะวันตก ลงในเรื่องนี้ เมื่อเดือนเมษายน Jake Sullivan ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของไบเดน ก็กล่าวอย่างชัดเจนว่า…

สหรัฐฯ “สนับสนุน de-risking (การลดความเสี่ยง) ไม่ใช่ de-coupling (การแยกตัว)” กับจีน

แนวคิด de-risking นี้ นำเสนอครั้งแรกโดย Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการของ EU ที่เสนอว่า ยุโรปไม่ควรรับแนวคิด de-coupling ของสหรัฐฯ นอกจากไม่ใช่แนวคิดที่เหมาะสมแล้ว ยังเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ เพราะจีนกับยุโรปมีการค้าขายมูลค่า 1 พันล้านยูโรต่อวัน บริษัทยุโรปหลายพันแห่งมีบริษัทในเครือและโรงงานอยู่ในจีน

Ursula von der Leyen เสนอว่า แทนที่จะมีแนวคิด de-coupling ก็เรียกร้องให้ใช้แนวคิด de-risking แทน คือลดความเสี่ยงในการพึ่งพาจีนมากเกินไป de-risking ยังทำให้ยุโรปกับจีนสามารถรักษาความต่อเนื่องของความสัมพันธ์ทางการเมือง วัฒนธรรม และอื่นๆ

แนวคิด de-risking ยังหมายความว่า ยุโรปอาจใช้มาตรการกีดกันมากขึ้นในเรื่องที่จีนละเมิดการแข่งขันเสรี หรือในเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคง บริษัทจีนที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลจีน จนมีความได้เปรียบอย่างไม่ยุติธรรม อาจถูกห้ามไม่ให้ทำธุรกิจในกลุ่ม EU ในเรื่องของ quantum computing ปัญญาประดิษฐ์ และ biotechnology ทาง EU อาจจะไม่ร่วมมือกับจีน

ความหมาย De-Risking ของสหรัฐฯ

Jake Sullivan อธิบายความหมายของ de-risking ในทัศนะของสหรัฐฯว่า ในเรื่องการควบคุมการส่งออกของสหรัฐฯ จะมุ่งเน้นให้แคบลงไปยังเทคโนโลยีที่จะกระทบต่อดุลยภาพทางทหาร ทางสหรัฐฯจะไม่ตัดการเชื่อมโยงทางการค้ากับจีน ก่อนหน้านี้ Janet Yellen รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ก็กล่าวว่าสหรัฐฯไม่ต้องการแยกตัวเต็มที่จากจีน เพราะผลที่เกิดขึ้นจะเป็นหายนะภัยต่อโลก

การประชุมผู้นำกลุ่ม G-7 ที่เมืองฮิโรชิมา ญี่ปุ่น ได้มีแถลงการณ์ออกมาว่า กลุ่ม G-7ให้การสนับสนุนอย่างหนักแน่นต่อแนวทางต่อจีน บนพื้นฐานของ de-risking ไม่ใช่ de-coupling โดยยุทธศาสตร์ของ de-risking มีเป้าหมาย 3 อย่าง

(1) จำกัดความสามารถของจีนในภาคส่วนทางยุทธศาสตร์ที่มีความหมายด้านความมั่นคงแห่งชาติ เช่น เทคโนโลยีก้าวหน้าเซมิคอนดักค์เตอร์ที่ล้ำหน้า

(2) ลดอิทธิพลของจีนที่มีต่อตะวันตกโดยการลดการครอบงำตลาดของจีนในวัตถุดิบสำคัญเช่นแร่ที่หายากและมีความสำคัญ

(3) และกระจายการดำเนินธุรกิจให้กว้างขวางออกไปเพื่อลดความเสี่ยงจากการหยุดชะงักของการค้า ระหว่างจีนกับตะวันตก

ที่มาภาพ : bbc.com

การตัดขาดจากจีนยังไม่เกิดขึ้น

บทความของ foreignaffairs.com กล่าวว่าจากข้อมูลความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจยังสะท้อนว่าสหรัฐฯมีเป้าหมายอย่างจำกัดในวงแคบต่อจีน ไม่ใช่ความต้องการที่จะตัดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจทั้งหมดกับจีน ที่ผ่านมาการตัดขาดจากจีนทั้งหมดยังไม่เกิดขึ้น แม้ว่าการลงทุนโดยตรงซึ่งกันและกันจะลดลงแต่ในปี 2022 การค้าระหว่างสองประเทศยังพุ่งขึ้นสูงถึง 690 พันล้านดอลลาร์แต่นักวิเคราะห์มองว่า แม้จะเปลี่ยนนโยบายมาเป็น de-risking ก็ยังจะเป็นการวางระบบความสัมพันธ์ใหม่ของตะวันตกกับจีนตะวันตกจะมีมาตรการรวดเร็วต่อจีนในภาคส่วนทางยุทธศาสตร์และความมั่นคง เช่นเทคโนโลยีพลังงานสะอาด แต่ในภาคส่วนเศรษฐกิจอื่น อาจไม่มีมาตรการใดเลย หรือดำเนินการแบบช้าๆ

อย่างเช่นกรณีการย้ายห่วงโซ่อุปทานออกจากจีน อาจไม่ได้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางแต่ภาคธุรกิจดำเนินการเองที่จะลดความเสี่ยง เพราะความล้มเหลวจากเหตุใดเหตุหนึ่งมีส่วนทำให้การผลิตหยุดชะงักลง การย้ายห่วงโซ่อุปทานยังเป็นเรื่องของภาคเอกชนมากกว่าเพราะนโยบายรัฐเช่นสหรัฐฯต้องการให้การผลิตเซมิคอนดักค์เตอร์กลับมาผลิตในสหรัฐฯเพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในเรื่องไต้หวันแต่การผลิตเซมิคอนดักค์เตอร์จะเกิดขึ้นที่ไหนอยู่ที่ความต้องการซื้อของเอกชนเป็นหลัก

จุดจบของบูรณาการจีน-สหรัฐฯ

ประวัตศาสตร์การลดความเสี่ยงกับจีนเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัย โดนัลด์ ทรัมป์ การเพิ่มภาษีสินค้านำเข้าจากจีน ส่งสัญญาณแก่ธุรกิจสหรัฐฯว่า
“ยุคบูรณาการที่ไม่มีขอบเขตจำกัด” กับจีนได้สิ้นสุดลงแล้ว การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งเป็นตัวเร่งการลดการ บูรณาการทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ-จีน

การหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานเกิดจากจีนปิดประเทศเพื่อรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิดพื้นฐาน ต่อบทบาทจีนกับเศรษฐกิจโลก ทำลายความคิดพื้นฐานที่ว่า จีนเปิดกว้างเสมอต่อธุรกิจและเป็นแหล่งพึ่งพาได้สำหรับวิธีการผลิตสินค้า “ตามการสั่งซื้อ” (just-in-time) นโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” ของจีน ทำให้ธุรกิจข้ามชาติต้องทบทวนการพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศ รวมทั้งกรณีที่รัสเซียบุกยูเครน

รัฐบาลโจ ไบเดน ทำให้นโยบาย de-risking มีลักษณะทางยุทธศาสตร์ โดยการสกัดกั้นความก้าวหน้าของจีนในภาคส่วนที่กระทบต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ เพิ่มความแข็งแกร่งด้านห่วงโซ่อุปทานโดยส่งเสริมให้วงโซ่อุปทานกลับมาผลิตในสหรัฐฯ (reshoring)หรือในประเทศที่เป็นพันธมิตร (friendshoring) และลดการพี่งพาจีนของสหรัฐฯในสินค้าที่มีความสำคัญ มาตรการของรัฐบาลไบเดน ได้แก่ การควบคุมการส่งออกเรื่องเทคโนโลยีชั้นสูง และควบคุมการลงทุนบริษัทอเมริกันในบริษัทเทคโนโลยีของจีน

การส่งออกของจีนไปสหรัฐ ที่มาภาพ : Trading Economics

ใหญ่เกินไปที่จะตัดขาด

บทความของ foreignaffairs.com กล่าวอีกว่าแม้สหรัฐฯจะเปลี่ยนนโยบายต่อจีนมาเป็น de-risking แทน de-coupling แต่มีผลไม่มาก เมื่อดูข้อมูลการค้าจีนกับสหรัฐฯ ในปี 2022 การค้าของสองประเทศพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ จีนยังเป็นประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯรายใหญ่อันดับ 3 รองจากแคนาดาและเม็กซิโก คือ 20 % ของการนำเข้าของสหรัฐฯทั้งหมดมาจากจีน

แต่นโยบาย de-risking มีผลมากที่สุดในเรื่อง การลงทุนโดยตรงของต่างประเทศในจีนในปี 2022 การลงทุนต่างประเทศนี้ลดลงครึ่งหนึ่ง เพราะบริษัทธุรกิจหันเหออกจากจีน เนื่องจากจีนใช้นโยบายล๊อคดาวน์โควิด-19 และความกังวลเรื่องความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ แต่การลงทุนต่างประเทศในจีนมีลักษณะกระจุกตัวในบริษัทยักษ์ใหญ่มากขึ้น ช่วงปี 2018-2021 BASF, Daimler, Volkswagen และ BMW มีสัดส่วน 34% การลงทุนของยุโรปในจีนทั้งหมดขณะเดียวกัน บริษัทต่าง ๆ เริ่มกระจายห่วงโซ่อุปทานออกจากจีน มายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเม็กซิโก แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นรวดเร็ว สะท้อนปัญหาที่ยากลำบากในการย้ายการผลิตออกจากจีน เวียดนามและเม็กซิโกไม่ได้มีความสามารถเท่ากับจีน เนื่องจากมีประชากรน้อยกว่า ส่วนอินเดียมีปัญหากฎระเบียบและโครงสร้างพื้นฐาน

กลยุทธ์รับมือกับ De-Coupling

สิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงก็คือว่า มีบริษัทจำนวนมากที่มองว่าแม้จะมีความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ ตลาดจีนก็ใหญ่มากและมีค่ามากเกินกว่าที่จะทิ้งไปเศรษฐกิจจีนมีสัดส่วน 20 % ของ GDP โลก และมีผู้บริโภค 900 ล้านคน ปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทรัพยากรมนุษย์ และระบบนิเวศของซัพพลายเออร์ทำให้จีน กลายเป็นมหาอำนาจการผลิต

มาตรการ de-risking ทำให้ธุรกิจเอกชนต้องเสียสละเรื่องรายได้และการผลิตที่มีประสิทธิภาพ การตัดขาดจากจีน จึงเป็นเรื่องไม่สอดคล้องความเป็นจริง และนำไปปฏิบัติได้ยาก แต่ธุรกิจยักษ์ใหญ่ก็ไม่ประมาท บางบริษัทใช้กลยุทธ์สร้างระบบนิเวศการผลิต “จีนเพื่อจีน” (China for China) มีระบบการผลิตเฉพาะสำหรับตลาดจีน และย้ายการผลิตออกไป เพื่อผลิตสำหรับตลาดประเทศอื่น บางบริษัทใช้กลยุทธ์ “จีนบวกหนึ่ง” (China plus one) คือสร้างห่วงโซ่อุปทานที่อยู่นอกจีน ป้องกันกรณีการผลิตหยุดชะงักในจีน บางบริษัทย้ายโรงงานประกอบสินค้าสำเร็จรูปออกจากจีนเพื่อหลีกเลี่ยงสินค้าต้องติดป้าย “ผลิตในจีน”

สุดท้าย บางบริษัทวางแผนรับมือวิกฤติ ที่นโยบาย de-risking อาจเปลี่ยนไปเป็น de-coupling เช่น วิกฤติไต้หวัน วิกฤติทะเลจีนใต้ หรือหลังการเลือกตั้งปี 2024 รัฐบาลสหรัฐฯใช้นโยบายแข็งกร้าวต่อจีนมากขึ้น หลายบริษัทได้บทเรียนจากกรัสเซียบุกยูเครน เมื่อมีการคว่ำบาตรรัสเซียทำให้ไม่สามารถทำธุรกิจต่อไปในรัสเซีย

เอกสารประกอบ

The US-Chinese Economic Relationship Is Changing – But Not Vanishing, Jami
Miscik and others, May 24, 2023, foreignaffairs.com