ThaiPublica > เกาะกระแส > โลกจะรับมือและปรับตัวอย่างไรกับยุคสมัยเศรษฐกิจจีนเติบโตต่ำ

โลกจะรับมือและปรับตัวอย่างไรกับยุคสมัยเศรษฐกิจจีนเติบโตต่ำ

17 สิงหาคม 2022


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : bbc.com

เว็บไซต์ nytimes.com รายงานว่า เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน เปิดเผยตัวเลขว่า เศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 2 ของปี 2022 ขยายตัวแค่ 0.4% เทียบกับเวลาเดียวกันของปี 2021 ถือเป็นการขยายในอัตราที่เลวร้ายที่สุด นับจากไตรมาสแรกของปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่จีนล็อกดาวน์ประเทศ เพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดในระยะแรกของโควิด-19 ถือเป็นช่วงที่เศรษฐกิจหดตัวครั้งแรกของจีนในรอบ 28 ปี

Fu Linghui โฆษกสำนักงานสถิติของจีน กล่าวว่า เมื่อมองไปช่วงเวลาในระยะต่อไป ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจจีนให้อยู่ในอัตราบวก มีความเสี่ยงมากขึ้นที่เศรษฐกิจโลกจะเกิดภาวะทั้งเศรษฐกิจไม่เติบโตและราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น หรือ stagflation (คำว่า stagflation คือภาวะที่ผสมผสานทั้งการเติบโตที่อ่อนตัว การว่างงานสูง และราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น)

จีนไม่ใช่เครื่องยนต์ของโลกอีกต่อไป

แม้เศรษฐกิจจีนในไตรมาสแรกปี 2020 หดตัวติดลบถึง 6.8% แต่ทั้งปี 2020 เศรษฐกิจจีนก็ฟื้นตัวอย่างทันทีทันใด แต่แนวโน้มเศรษฐกิจจีนปี 2022 ดูไม่สดใส อัตราการว่างงานใกล้แตะระดับสูงที่เคยบันทึกไว้ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็ปั่นป่วน ส่วนธุรกิจรายย่อยก็ประสบปัญหาการใช้จ่ายของผู้บริโภคอ่อนตัวลง Kenneth Rogoff อาจารย์เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กล่าวว่า “ขณะนี้ จีนไม่อยู่ในฐานะที่จะเป็นเครื่องยนต์โลกของการเติบโต ปัจจัยพื้นฐานในระยะยาวแสดงถึงการเติบโตที่จะชะลอลงในระยะ 10 ปีข้างหน้า”

การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจเกิดแบบฉับพลัน นับเป็นการถดถอยที่ส่งผลเสียหายต่อจีน การมุ่งมั่นใช้นโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” ส่งผลกระทบอย่างมากทางเศรษฐกิจ การล็อกดาวน์นครเซี่ยงไฮ้ที่นาน 2 เดือนทำให้เศรษฐกิจเสียหายอย่างกว้างขวาง แต่ทางการจีนมองว่า การใช้นโยบายจัดการอย่างเด็ดขาดกับการปะทุของโควิด-19 เป็นเรื่องที่จำเป็น ไม่เช่นนั้น คนจีนจะเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

แต่การล็อกดาวน์ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ก็ทำให้เศรษฐกิจจีนดิ่งลงอย่างหนัก บริษัทหลักทรัพย์โนมูระคาดการณ์ว่า คนจีน 247 ล้านคนใน 31 เมืองต้องล็อกดาวน์อยู่กับที่พัก ทำให้ยอดค้าปลีกเดือนเมษายน-มิถุนายน ตกลงไป 4.6% การว่างงานในภาคบริการสูงขึ้น เดือนมิถุนายน อัตราการว่างงานของคนในเมืองที่มีอายุช่วงอายุ 16-24 สูงถึง 19.3% ในเดือนเมษายน นครเซี่ยงไฮ้ที่มีประชากร 25 ล้านคน ขายรถยนต์ไม่ได้แม้แต่คันเดียว เพราะคนต้องกักตัวอยู่กับที่พัก

การล็อกดาวน์ทำให้การผลิตของโรงงานหยุดชะงัก ส่งผลกระทบต่อเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานโลก และการส่งออกสินค้าจีนไปทั่วโลก ปัญหาการขาดแคลนสินค้าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อในสหรัฐฯ พุ่งขึ้นมา 9.1% ในขณะที่เงินเฟ้อในจีนเพิ่มเพียง 2.5% เพราะความต้องการของผู้บริโภคลดลง การล็อกดาวน์ที่เข้มงวดทำให้จีนคงไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตที่ตั้งไว้ 5.5% ในปี 2022

ที่มาภาพ : africa-press.net

นักลงทุนทบทวนกลยุทธ์ธุรกิจในจีน

เมื่อเร็วๆ นี้ nytimes.com มีบทรายงานข่าวเรื่องที่ว่า ครั้งหนึ่งธุรกิจและอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก ต่างก็โหนกระแสคลื่นการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนนานอยู่เป็นเวลาหลายปี แต่ทุกวันนี้ ธุรกิจต่างชาติในจีนต่างก็หันมารับมือกับผลเสียที่เกิดขึ้นจากเศรษฐกิจจีนเติบโตช้าลง

บริษัท A.H. Beard ผู้ผลิตที่นอนคุณภาพสูง ระดับตลาดบนของออสเตรเลีย ที่มีอายุมานาน 123 ปี ให้ความสนใจกับตลาดจีนตั้งแต่ปี 2010 ด้านหนึ่งเพราะสินค้าต้นทุนต่ำจากต่างประเทศบุกเข้ามาตีตลาดในออสเตรเลีย ส่วนจีนเป็นตลาดที่เหมาะกับการขยายธุรกิจของ A.H. Beard ออกไป เพราะจีนมีประชากร 1.4 พันล้านคน คนชั้นกลางที่นิยมสินค้าแบรนด์เนมก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

การตัดสินใจของ A.H. Beard เป็นตัวอย่างการประสบความสำเร็จทางธุรกิจ โดยเปิดร้านแห่งแรกในจีนเมื่อปี 2013 ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ธุรกิจเติบโตปีหนึ่ง 30% มีร้าน 50 ร้านทั่วประเทศจีน และมีแผนจะเปิดอีก 50 ร้าน จีนกลายเป็นตลาดทำยอดขายมากสุดของที่นอนราคา 75,000 ดอลลาร์ของ A.H. Beard แต่ทุกวันนี้ บริษัทก็เหมือนกับบริษัทต่างชาติในจีน คือต้องคิดใหม่กับกลยุทธ์ที่เคยดำเนินการมา การใช้นโยบายโควิด-19 ที่เข้มงวดของจีน ทำให้การส่งออกของบริษัทไปจีนไม่เพิ่มขึ้น การส่งสินค้าทางเรือก็ล่าช้า

ปัญหาท้าทายของจีนในปี 2022

บทความของ foreignaffairs.com ชื่อ The Age of Slow Growth in China กล่าวถึงปัญหาสำคัญที่ท้าทายเศรษฐกิจจีนในปี 2022 ที่จะให้การเติบโตบรรลุ 5.5% ตามเป้าหมายที่วางไว้ว่า ปี 2021 มูลค่าเศรษฐกิจจีนอยู่ที่ 17.7 ล้านล้านดอลลาร์ เศรษฐกิจจีนที่โต 5.5% หมายความว่า ในปี 2022 จะมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นอีก 1 ล้านล้านดอลลาร์

การเติบโตตามเป้าหมายของจีนดังกล่าว ต้องอาศัยแหล่งที่มา 3 ทางด้วยกัน คือ (1) การลงทุนของธุรกิจ (2) การบริโภคของครัวเรือนและรัฐ และ (3) การได้เปรียบดุลการค้า เนื่องจากการส่งออกสุทธิคงจะติดลบ และการบริโภคภายในไม่เพิ่มขึ้น การเติบโตของจีนในปี 2022 จึงต้องอาศัยการลงทุนของธุรกิจมาชดเชย

แต่ในหลายปีที่ผ่านมา การลงทุนของธุรกิจที่เติบโตขึ้นมามาก เกือบ 50% เป็นการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ แต่ปัจจุบัน นักลงทุนอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ประสบปัญหาล้มละลายจากหนี้ การล็อกดาวน์คนจีนหลายร้อยล้านคน ทำให้การใช้จ่ายเงินของผู้บริโภคถูกแช่แข็งไปด้วย ส่วนการได้เปรียบดุลการค้าของจีนประสบปัญหาการนำเข้ามีมูลค่ามากขึ้น เพราะสงครามยูเครนทำให้ราคาสินค้านำเข้าพุ่งสูงขึ้น การล็อกดาวน์ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเขตการผลิตส่งออกที่สำคัญของจีน เช่น เซี่ยงไฮ้และเสิ่นเจิ้น

แต่บทความ foreignaffairs.com ก็กล่าวว่า ในทศวรรษ 1990 ที่ญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจเติบโตต่ำ เมื่อพิจารณาจากรายได้เฉลี่ยต่อคน ในเวลานั้นญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศมั่งคั่งแล้ว แต่ปัจจุบัน รายได้เฉลี่ยต่อคนของจีนอยู่ที่ 12,000 ดอลลาร์ หรือ 1 ใน 5 ของสหรัฐฯ ดังนั้น เศรษฐกิจจีนจึงมีศักยภาพที่จะกลับมาเติบโตสูงขึ้นในช่วงหลังปี 2022

แต่ก็มีปัจจัยหลายอย่างที่จะเป็นตัวถ่วงรั้งต่อการเติบโตของจีนในอนาคต เช่น แนวโน้มประชากรลดลง ที่จะมีความหมายในระยะยาว คือจำนวนคนทำงานและผู้บริโภคลดลง การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในอีกหลายปีจะอ่อนตัวลง แต่จีนก็สามารถหันเหการลงทุนไปสู่พลังงานสะอาดแทน เป็นต้น และจีนต้องหันมาสร้างนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีของตัวเอง เพื่อชดเชยที่ตะวันตกเข้มงวดมากขึ้นกับจีน

นัยจากเศรษฐกิจจีนเติบโตต่ำ

บทความของ foreignaffairs.com กล่าวว่า ความรู้สึกทางเศรษฐกิจของคนจำนวนมากในโลกเชื่อว่า การเติบโตของจีนจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เหมือนกับคุณค่าของเพชรที่อยู่ยงคงกระพัน แต่เมื่อความเชื่อมั่นนี้สูญหายไป จะมีนัยที่สำคัญหลายอย่าง เช่น หุ้นของบริษัทธุรกิจบางแห่งที่มีราคาสูง เพราะนักลงทุนถือว่า บริษัทพวกนี้จะสามารถสร้างผลกำไรจากธุรกิจที่เกี่ยวพันกับจีน ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง มูลค่าบริษัทเหล่านั้นก็ตกต่ำลงไปด้วย

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และสินทรัพย์ต่างๆ ที่การประเมินราคามาจากการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของจีนจะเติบโตรวดเร็วในอีก 10 ปีข้างหน้า ก็จะตกต่ำลงเช่นเดียวกัน การประเมินทางเศรษฐกิจในการลงทุนทำธุรกิจในจีนก็จะเปลี่ยนไป นักลงทุนต่างประเทศที่สร้างโรงงานการผลิตในจีน จะต้องประเมินความเสี่ยงและหาทางมีส่วนต่างกำไรเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่ลงทุนเพราะเชื่อมั่นต่อสถานการณ์การเมืองและการเติบโตเศรษฐกิจ ที่สามารถคาดการณ์ได้ เช่น หากพรรคคอมมิวนิสต์จีนบอกว่า เศรษฐกิจจะเติบโต 8% ในทางเป็นจริงก็สอดคล้องกันกับที่ผู้นำจีนกล่าวไว้

บทความของ foreignaffairs.com บอกว่า ผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง ที่มีต่อประเทศต่างๆ จะไม่เหมือนกันทุกประเทศ แต่อาจจะทำให้ประเทศเป็นพันธมิตรเกิดความตึงเครียดด้านนโยบายการค้าต่อจีน เช่น การเติบโตของธุรกิจสินค้าแบรนด์เนม สัดส่วนถึง 35% มาจากตลาดจีน ย่อมทำให้กลุ่ม EU กับสหรัฐฯ ยากลำบากที่จะมีมาตรการการค้าร่วมกันในเรื่องจีน

สำหรับหลายประเทศในโลก ที่ไม่ได้มองจีนเป็นประเทศคู่แข่ง แต่เป็นเครื่องยนต์ของการเติบโตทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง หมายถึงการอ่อนตัวของเศรษฐกิจประเทศตัวเอง สภาพเช่นนี้จะเกิดขึ้นกับ 55 ประเทศในโลกที่ได้เปรียบดุลการค้ากับจีน และ 139 ประเทศที่ลงนามการเข้าร่วมโครงการ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” ส่วนประเทศที่ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวจากจีน ก็จะได้รับผลกระทบ เช่น ไทยและฝรั่งเศส

บทความ foreignaffairs.com สรุปว่า การอ่อนตัวของเศรษฐกิจจีนทำให้เกิดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจต่อโลกเรา ชาติตะวันตกควรจะมีท่าทีชื่นชมต่อประชาชนจีน ที่สามารถบรรลุความสำเร็จที่ใหญ่หลวงของการพัฒนาในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา และสนับสนุนการปรับตัวของจีน ในเส้นทางของการพัฒนา เหมือนกับที่ตะวันตกก็เคยผ่านสิ่งนี้มาแล้ว ตะวันตกจะต้องไม่เอาประโยชน์จากจีน ที่กำลังเผชิญหน้าปัญหาท้าทายทางเศรษฐกิจ แต่ต้องการที่จะเห็นจีนสามารถแก้ปัญหาท้าทายนี้ได้อย่างยั่งยืน จีนไม่จำเป็นต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ เพื่อที่สหรัฐฯ จะเป็นฝ่ายที่ชนะ

เอกสารประกอบ

China’s Economy Hits a Slump as Covid Policy Takes a Toll, July 14, 2022, nytimes.com
China’s economic growth slows to 0.4% weakest in two years, July 15, 2022, washingtonpost.com
They Flocked to China for Boom Times. Now They’re Thinking Twice, July 28, 2022, nytimes.com
The Age of Slow Growth in China, April 15, 2022, foreugnaffairs.com