ThaiPublica > เกาะกระแส > เวียดนามยกระดับ “ห่วงโซ่คุณค่า” อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

เวียดนามยกระดับ “ห่วงโซ่คุณค่า” อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

9 มิถุนายน 2023


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://vietnamnews.vn/economy/1155392/samsung-to-make-additional-investment-in-thai-nguyen.html

ในรายงานที่เพิ่งเผยแพร่ของ Center for Strategic & International Studies (CSIS) ชื่อ Mapping the Semiconductor Supply Chain: The Critical Role of the Indo-Pacific Region (May 2023) กล่าวว่า ปัจจุบัน คำว่า “เซมิคอนดักเตอร์” หมายถึงแผงวงจรไฟฟ้า หรือ “ชิปคอมพิวเตอร์” อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์กำลังกลายเป็นภาคส่วนที่สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจโลก
อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

ในปี 2022 ยอดขายเซมิคอนดักเตอร์มีมูลค่าราวๆ 5 แสนล้านดอลลาร์ ที่สำคัญ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดธุรกรรมทางเศรษฐกิจ ปีหนึ่ง หลายสิบล้านล้านดอลลาร์ ตัวชิปคอมพิวเตอร์ไม่ได้บรรจุอยู่แค่ในศูนย์ข้อมูล คอมพิวเตอร์ต่างๆ หรือโทรศัพท์มือถือ เท่านั้น แต่ยังอยู่ในรถยนต์ เครื่องซักผ้า หลอดไฟ ระบบนำวิถีขีปนาวุธ และโครงสร้างพื้นฐานการผลิตและจ่ายไฟฟ้า

ในสหรัฐฯ การผลิตเซมิคอนดักเตอร์มีสัดส่วนมูลค่าแค่ 0.3% ของ GDP แต่ทว่าเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ เทียบเท่ากับ 12% ของ GDP ความสำคัญของเซมิคอนดักเตอร์สะท้อนออกมาจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ เมื่อเกิดการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ขึ้นมา กระทรวงพาณิชย์ สหรัฐฯแถลงว่า การขาดแคลนตัวชิปคอมพิวเตอร์ ทำให้ GDP สหรัฐฯในปี 2021 ลดลงมูลค่า 240 พันล้านดอลลาร์ ทำให้ในปี 2021 อุตสาหกรรมรถยนต์สหรัฐฯ ผลิตรถยนต์น้อยลง 7.7 ล้านคัน

ห่วงโซ่คุณค่าของผลิตชิป

รายงานของ CSIS กล่าวว่า ห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ค่อนข้างซับซ้อน บางบริษัทมีส่วนในขั้นตอนการผลิตชิ้น ในส่วนที่ซับซ้อนมาก แต่ไม่มีบริษัทไหน หรือประเทศไหน ที่สามารถมีบทบาทการผลิต ในทุกส่วนของห่วงโซ่อุปทานของเซมิคอนดักเตอร์
ความละเอียดของเซมิคอนดักเตอร์ ทำให้เกิดขึ้นตอนการผลิต 500 ขั้นตอน ตั้งแต่การออกแบบซอฟต์แวร์ ไปจนถึงการผลิต ห่วงโซ่อุปทานของเซมิคอนดักเตอร์ จึงมีลักษณะซับซ้อน แยกเป็นส่วนๆ และเกี่ยวข้องกับนานาประเทศ บริษัทที่ปรึกษา Accenture เคยระบุไว้ว่า ชิ้นส่วนต่างๆของตัวชิปวงจรรวม ต้องข้ามพรมแดนกว่า 70 แห่ง ก่อนที่จะส่งมอบให้กับผู้บริโภค ส่วนผู้ผลิตและผู้ขายชิปชั้นนำ ก็มีซัพพลายเออร์ทั่วโลก จำนวนหลายพันบริษัท

สหรัฐฯเป็นผู้นำโลกในส่วนของการออกแบบเซมิคอนดักเตอร์ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ปี 2021 การออกแบบมีมูลค่า 13.3 พันล้านดอลลาร์ สหรัฐฯครองตลาดอยู่กว่า 40% รวมทั้งในส่วนของซอฟต์แวร์ในการออกแบบ มูลค่าปีหนึ่ง 8.2 พันล้านดอลลาร์ ในส่วนวัตถุดิบการผลิต มูลค่าปีหนึ่ง 44 พันล้านดอลลาร์ ไต้หวันครองตลาดกว่า 25%

เครื่องจักรอุปกรณ์การผลิต ส่วนใหญ่เป็นบริษัท SME มีมูลค่า 108 พันล้านดอลลาร์ สหรัฐฯครองคลาด 40% ตามด้วยญี่ปุ่น 29% และเกาหลีใต้ 4.8% การประกอบการผลิตขั้นตอนสุดท้าย เรียกว่า ATP (Assemble, Test and Packaging) โรงงานเกือบทั้งหมดกว่า 95% อยู่ในเอเชีย-แปซิฟิก คือไต้หวัน จีน สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์

ที่มาภาพ : Vietnam News

ห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค

รายงานอีกชิ้นหนึ่งของ CSIS ชื่อ Securing Semiconductor Supply Chains in the Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity กล่าวถึง “พันธมิตรไฮเทค” ของสหรัฐฯในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกว่า ในเรื่องความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ ภายในกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก หรือ IPEF (Indo-Pacific Economic Framework) สหรัฐฯมีหลายประเทศที่เป็นหุ้นส่วน ที่สามารถสร้างบูรณาการเศรษฐกิจให้ลึกมากขึ้น

ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้มีความสามารถที่ก้าวหน้าด้านเซมิคอนดักเตอร์ ส่วนอินเดียกับไทยก็ต้องการเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของตัวเอง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และฟิลิปปินส์ มีความสามารถในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ไม่มาก และไม่ได้ส่งเสริมอย่างจริงจังสำหรับการลงทุนในด้านนี้

รายงานของ CSIS กล่าวถึงกรณีของไทยว่า ความไม่แน่นอนทางการเมือง และค่าแรงที่สูงกว่า สร้างข้อจำกัดต่อการบูรณาการเศรษฐกิจ ที่ลึกมากขึ้นกับหุ้นส่วนใน IPEF ไทยเป็นประเทศส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ใหญ่อันดับ 13 ของโลก ในปี 2021 มีมูลค่า 42 พันล้านดอลลาร์

แต่ไทยตามหลังมาเลเซียและเวียดนาม ในการดึงการลงทุนต่างประเทศในด้านไฮเทคให้เพิ่มมากขึ้น เพราะค่าแรงที่สูงกว่า รวมทั้งความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้นักลงทุนมีท่าทีระมัดระวัง แม้กรอบความร่วมมือ IPEF จะให้โอกาสไทยมากขึ้น ในเรื่องห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ก็ตาม

การลงนามความร่วมมือการอบรมการออกแบบชิป ระหว่าง Synopsis กับ Saigon Hi-Tech Part ที่มาภาพ : Vietnam Plus

เวียดนาม ดาวรุ่งไฮเทค

รายงานของ CSIS กล่าวถึงเวียดนามว่า กำลังพุ่งขึ้นมาที่จะเป็นยักษ์ใหญ่ไฮเทค และเป็นทางเลือกการย้ายฐานการผลิตมายังมิตรประเทศ (friend-shoring) เพื่อลดความเสี่ยงจากความขัดแย้งสหรัฐฯ-จีน รัฐบาลเวียดนามใช้มาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านไฮเทค โดยการลดภาษีนิติบุคคล ปี 2020 รัฐบาลเวียดนามเสนอมาตรการส่งเสริมการลงทุน ที่ออกแบบมาเฉพาะแก่นักลงทุนต่างประเทศด้านไฮเทค
ซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์เป็นนักลงทุนต่างประเทศรายใหญ่สุดของเวียดนาม ในปี 2013 ซัมซุงฯลงทุน 1.3 พันล้านดอลลาร์ เพื่อผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มาจนถึงปี 2021 ซัมซุงลงทุนในเวียดนามไปแล้วเป็นมูลค่ารวมกัน 18 พันล้านดอลลาร์ มีโรงงาน 6 แห่งในเวียดนาม และกำลังตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาขึ้นที่ฮานอย

เว็บไซต์ eastasiaforum.org รายงานเรื่อง การไต่บันไดห่วงโซ่คุณด้านไฮเทคของเวียดนามว่า เมื่อสิงหาคม 2022 หลังจาก CEO ของซัมซุงเข้าพบปะกับนายกรัฐมนตรีเวียดนาม Pham Minh Chinh ซัมซุงก็ประกาศการลงทุนมูลค่า 850 ล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ในเวียดนาม

การลงทุนของซัมซุงครั้งนี้ ทำให้เวียดนามกลายเป็น 1 ใน 4 ประเทศ ที่ซัมซุงมีโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ อีก 3 ประเทศคือเกาหลีใต้ จีน และสหรัฐฯ การที่ซัมซุงเลือกเวียดนาม แทนที่จะเป็นประเทศที่เจริญแล้ว แสดงให้เห็นถึงการที่เวียดนาม กำลังก้าวขึ้นมามีความสำคัญ ต่อห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์

รายงานของ eastasiaforum.org กล่าวว่า ผู้นำเวียดนามมีเป้าหมายให้ประเทศเข้าถึงห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเคอร์ เพราะโอกาสมหาศาลทางเศรษฐกิจ และเรื่องความมั่นคงของประเทศ การเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่า หมายถึงการเข้าไปเชื่อมโยงกับธุรกิจ ที่คาดการณ์กันว่า ในปี 2029 จะมีมูลค่า 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ และปีหนึ่งเติบโต 12% นอกเหนือไปจาก การสร้างทักษะแก่แรงงาน การพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคต่อเนื่อง และสร้างมูลค่าเพิ่มแก่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศ

เวียดนามก็วิตกกังวลว่า การมีระบอบการเมืองแตกต่างจากตะวันตก อาจทำให้ในอนาคต ตัวเองอาจประสบชะตากรรมแบบเดียวกับจีน ที่สหรัฐฯห้ามการส่งออกชิปคอมพิวเตอร์ เวียดนามจึงใช้ยุทธศาสตร์ 2 อย่างเพื่อลดความเสี่ยงจากภายนอก (1) ในทางการทูต วางตัวเป็นกลางในความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และ (2) สร้างความสามารถภายในประเทศ ต่อห่วงโซ่คุณค่าเซมิคอนดักเตอร์ เช่น การออกแบบ การสร้างวงจรบนแผ่นเวเฟอร์ (fabrication) และการประกอบการผลิตขั้นตอนสุดท้าย

นอกเหนือจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเซมิคอนดักเตอร์ สิ่งที่เวียดนามได้เปรียบประเทศเพื่อนบ้านคือ แรงงานด้านวิศวกรรมของประเทศ ที่ค่าแรงยังต่ำ นักศึกษาที่จบจากมหาวิทยาลัย 40% เรียนมาทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม เวียดนามเป็นหนึ่งใน 10 ประเทศในโลก ที่มีนักศึกษาจบทางด้านวิศวกรรมมากที่สุด

จากเสิ่นเจิ้นในจีนเดินทางมายังพื้นที่เขตอุตสาหกรรมการผลิตทางภาคเหนือของเวียดนาม ใช้เวลาขับรถยนต์เพียง 12 ชม. เวียดนามยังเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเปิดเสรีมากที่สุดประเทศหนึ่ง โดยมีข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ 15 ฉบับ รัฐบาลค่อนข้างมั่นคง มีวิสัยทัศน์การพัฒนาที่ชัดเจน ความเป็นกลางทางทางภูมิรัฐศาสตร์ เป็นอีกปัจจัยด้านบวก สำหรับบริษัทไฮเทค ที่จะมาลงทุนผลิตและส่งออก

Eastasiaforum.org บอกว่า ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของเวียดนาม มีพัฒนาการในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่คุณค่า Synopsys บริษัทซอฟต์แวร์ออกแบบชิปชั้นนำสหรัฐฯ ได้ย้ายการลงทุนและการอบรมวิศวกร จากจีนมาเวียดนาม ในปี 2021 บริษัทไฮเทคเอาหลีใต้ Amkor Technology ประกาศการลงทุนมูลค่า 1.6 พันล้านดอลลาร์ ในการสร้างโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในเวียดนาม Intel ลงทุน 475 ล้านดอลลาร์ ตั้งโรงงานผลิต core processor ในเวียดนาม

ก้าวต่อไปของเวียดนาม คือการก้าวไปให้พ้นจากการดึงการลงทุนจากต่างประเทศ มาสู่การบูรณาการธุรกิจของบริษัทข้ามชาติ ให้เข้ากับเศรษฐกิจภายในของเวียดนาม ใช้ความชำนาญของนักลงทุนต่างประเทศ มาพัฒนาระบบนิเวศด้านเซมิคอนดักเตอร์

ตัวอย่างพัฒนาการที่สะท้อนทิศทางดังกล่าวคือ ข้อตกลงการอบรมออกแบบชิป ระหว่าง Synopsis กับ Saigon Hi-Tech Part ของเวียดนาม หรือโครงการสร้างซับพลายเออร์ในประเทศ ที่เป็นความร่วมมือระหว่างซัมซุง กับกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของเวียดนาม เป็นต้น

เอกสารประกอบ

Mapping the Semiconductor Supply Chain: The Critical Role of the Indo-Pacific Region, May, 2023, csis.org
Securing Semiconductor Supply Chains in the Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity, May 2023, csis.org
Vietnam climbs the chip value chain, 15 November 2022, eastasiaforum.org