ThaiPublica > คนในข่าว > “เหงียน หาย บั่ง” เอกอัครราชทูตเวียดนาม เล่าการโตอย่างก้าวกระโดด ย้ำสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม หุ้นส่วนยุทธศาสตร์คู่แรกอาเซียน

“เหงียน หาย บั่ง” เอกอัครราชทูตเวียดนาม เล่าการโตอย่างก้าวกระโดด ย้ำสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม หุ้นส่วนยุทธศาสตร์คู่แรกอาเซียน

21 มิถุนายน 2019


นายเหงียน หาย บั่งเอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศไทย

การปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่ตามนโยบายโด่ยเหมย (Doi Moi Revolution) ที่ประกาศในปี ค.ศ. 1986 และการวางนโยบายเปิดประเทศมากขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1989-1991 ส่งผลให้เวียดนามมีการพัฒนารวดเร็ว เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราเฉลี่ย 7.5% ต่อปีต่อเนื่องนานหลายสิบปี

ในปี ค.ศ. 1992 มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ต่อมาปี ค.ศ. 1995 ได้เข้าเป็นสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations – ASEAN) หรืออาเซียน ในปี ค.ศ. 2000 มีการก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์ และหนึ่งปีให้หลังได้ลงนามในข้อตกลงการค้าแบบทวิภาคีกับสหรัฐอเมริกา (US-Vietnam Trade Bilateral Agreement) หรือ US-BTA

ปี ค.ศ. 2006 เวียดนามเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกลุ่มประเทศในความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation – APEC) และปี ค.ศ. 2007 ได้เข้าสู่การเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO)

เวียดนามจะรับตำแหน่งประธานอาเซียนเป็นครั้งที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมปี 2020 ต่อจากไทยที่เป็นประธานในปีนี้

เวียดนามพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็วมาก มีการเติบโตก้าวกระโดดทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน เมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศ แต่นายเหงียน หาย บั่ง (Nguyen Hai Bang) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ประจำประเทศไทย มองว่ายังช้าไปและต้องพัฒนาให้เร็วกว่านี้

“เรารู้สึกว่าเราช้ามาก เพราะเราเสียเวลาไปกับสงครามในประเทศ เราต้องเร่งและชดเชยกับเวลาที่สูญไป และเราต้องเดินหน้าให้เร็วขึ้น เราเรียนรู้หลายอย่างจากไทย แม้ว่าเราจะเร็วแล้ว แต่ก็ต้องการทำให้เร็วขึ้นอีก”

นายเหงียน หาย บั่ง กล่าวในการให้สัมภาษณ์คณะสื่อมวลชนไทย เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ณ สถานเอกอัครราชทูตเวียดนาม ประจำประเทศไทย

นายเหงียน หาย บั่ง กล่าวว่า การพัฒนาที่รวดเร็วและการเติบโตแบบก้าวกระโดดของเวียดนาม เป็นผลจากการที่รัฐบาลปรับนโยบายการถือครองที่ดินจากเดิมที่รัฐบาลเป็นเจ้าของทั้งหมด ด้วยการเปิดให้ประชาชนถือครองที่ดิน เป็นเจ้าของที่ดิน ซึ่งนับว่าเป็นการเปิดเสรีการเกษตรไปในตัว เพราะเมื่อประชาชนเป็นเจ้าของที่ดิน สามารถทำการเกษตรได้อย่างเสรี เลือกปลูกพืชได้ตามความต้องการอย่างเต็มที่ รัฐบาลเพียงเก็บภาษี

“การเปิดเสรีการถือครองที่ดินเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญทำให้มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญจากการเป็นประเทศนำเข้าข้าวเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าว และรัฐบาลยังมีนโยบายเปิดเสรีด้านเศรษฐกิจ จากเดิมรัฐบาลคุมเศรษฐกิจผ่านรัฐวิสาหกิจจำนวนมาก แต่รัฐบาลได้หันมาใช้นโยบายบริษัทหุ้นส่วน มีรัฐบาลถือหุ้นและมีเอกชนเข้ามาถือหุ้นด้วย ทำให้เศรษฐกิจของเวียดนามพัฒนาอย่างก้าวกระโดด” นายเหงียน หาย บั่ง กล่าว

นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจโด่ยเหมย (Doi Moi Revolution)

กำหนดยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ 6 ประการ 1) การกระจายอำานาจบริหารแก่ภาคธุรกิจและท้องถิ่น 2) ระบบเศรษฐกิจเสรี 3) อัตราการแลกเปลี่ยนและดอกเบี้ยเป็นไปตามกลไกตลาด 4) นโยบายเกษตร ให้สิทธิครอบครองที่ดินในระยะยาวและเสรีการซื้อขายสินค้าเกษตร 5) เพิ่มบทบาทภาคเอกชน และ 6) เปิดเสรีด้านลงทุน

เวียดนาม-ไทย หุ้นส่วนยุทธศาตร์คู่แรกในอาเซียน

นายเหงียน หาย บั่ง กล่าวถึงความสัมพันธ์ของเวียดนามกับไทยว่า เมื่อต้นปีนี้ รัฐบาลไทยและรัฐบาลเวียดนามได้จัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความสัมพันธ์ทวิภาคีไทยเวียดนาม ซึ่งมีรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศไทยและรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศเวียดนามเป็นเจ้าภาพร่วมกัน ในการประชุมทั้งสองประเทศเห็นพ้องกันว่าความสัมพันธ์ไทยกับเวียดนามตอนนี้เป็นความสัมพันธ์ที่อยู่ในช่วงที่ดีที่สุดของความสัมพันธ์ตลอดที่ผ่านมา

“ไทยและเวียดนามเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์คู่แรกในกลุ่มอาเซียนตั้งแต่ปี ค.ศ. 2013 ที่ได้ลงนามร่วมกัน” นายเหงียน หาย บั่ง กล่าว

นายเหงียน หาย บั่ง กล่าวต่อว่า กลไกที่เชื่อมความสัมพันธ์ของสองประเทศมีหลายอย่างที่เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทยเวียดนามหรือ Joint Cabinet Retreat (JCR) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม

นอกจากนี้ยังมีกลไกการประชุมต่างๆ เพื่อความสัมพันธ์แบบทวิภาคีในทุกด้าน เช่น การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความสัมพันธ์ทวิ ภาคี กลไกทางด้านเศรษฐกิจการค้า การศึกษา ทั้งสองประเทศพยายามรักษาและดำรงกลไกต่อเนื่องร่วมกันตามกรอบเวลาที่วางไว้ ซึ่งมีทั้งการประชุม 1 ครั้งต่อปีหรือ 2 ปีครั้ง

นาย เหงียน หาย บั่ง กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา ทั้งสองประเทศประสบความสำเร็จในการทำตามแผนปฏิบัติหรือ Plan of Action ซึ่งเป็นการดำเนินการภายใต้ความสัมพันธ์หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ระยะ 5 ปีแรก ระหว่างปี ค.ศ. 2013-2018 ขณะนี้ทั้งสองประเทศกำลังร่างแผน Plan of Action ระยะ 5 ปีฉบับต่อไปที่เริ่มจากปี ค.ศ. 2019 เป็นต้นไป

“ Plan of Action เป็นการดำเนินการตามหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ แบ่งเป็นช่วงๆ ช่วงแรกปี ค.ศ. 2013-2018 ซึ่งสำเร็จแล้ว ขณะนี้กำลังวางแผนระยะต่อไป 5 ปีข้างหน้า Plan of Action ครอบคลุมทุกด้าน แผน 5 ปีที่แล้วครอบคลุม 24 ด้าน และ 5 ปีต่อไปจะไม่ต่างกัน” นายเหงียน หาย บั่ง กล่าว

นายเหงียน หาย บั่ง กล่าวว่า ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ มี 3 ระดับด้วยกัน ระดับแรกคือรัฐบาลกับรัฐบาล ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศ ความสัมพันธ์รัฐบาลกับรัฐบาลนี้เป็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และจากพื้นฐานที่มีความไว้วางใจซึ่งกันและกันทำให้เกิดการอำนวยความสะดวกในการสร้างกรอบความร่วมมือให้กับนักธุรกิจ หลังจากที่รัฐบาลได้ลงนามในกฎหมาย อนุสัญญาต่างๆ สร้างพื้นฐานให้กับนักธุรกิจไปลงทุน ซึ่งยกระดับเป็นความสัมพันธ์ชั้นที่สองของทั้งสองประเทศ

สำหรับความสัมพันธ์ระดับที่สอง เป็นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ไทยกับเวียดนามมีความสำคัญในทางเศรษฐกิจซึ่งกันและกัน เมื่อปี ค.ศ. 2018 มีนักลงทุนไทยไปลงทุนที่เวียดนามจำนวนมาก มี 500 กว่าโครงการที่กำลังพิจารณาในเวียดนาม คิดเป็นเงินลงทุนราว 10,000 ล้านเหรียญหรัฐ ส่วนความสัมพันธ์ทางการค้า มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับเวียดนามสูงเกือบถึง 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นเป้าหมายของปี ค.ศ. 2020 ที่ทั้งสองประเทศวางเป้าหมายไว้ และคิดว่าจะบรรลุเป้าหมายได้

นายเหงียน หาย บั่งกล่าวว่า บนพื้นฐานของการไว้วางใจกัน การมีผลประโยชน์ร่วมกันทางเศรษฐกิจนำไปสู่ความสัมพันธ์ชั้นที่ 3 คือ ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นความสัมพันธ์ระดับสูงสุด

“เมื่อใดที่ประชาชนของทั้งสองประเทศมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน มีการไปมาหาสู่กัน มีการเดินทางท่องเที่ยว มีการเดินทางเพื่อการศึกษา การเดินทางเพื่อการรักษาสุขภาพ การเป็นเพื่อนกัน ก็ถือว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีความแน่นแฟ้น” นายเหงียน ฮาย บั่ง กล่าว

พร้อมจับมือกับไทยในทุกกรอบข้อตกลง

นายเหงียน หาย บั่ง กล่าวถึงทิศทางความสัมพันธ์ของไทยกับเวียดนามในอาเซียนว่า เวียดนามกับไทยเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์คู่แรกของกลุ่มประเทศอาเซียน ที่กำลังจะมีการร่างแผน Plan of Action ภายใต้การเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระยะ 5 ปีช่วงที่สอง เวียดนามให้ความสำคัญกับการร่วมมือกับไทยในกรอบความร่วมมือต่างๆ ของอาเซียน ของภูมิภาค และระดับโลกในทุกความร่วมมือ

“ส่วนความร่วมมือแบบทวิภาคี เวียดนามจะพยายามให้รักษากลไกความร่วมมือที่มีอยู่ให้ดำเนินตามเวลา และกรอบการดำเนินการที่วางไว้ เช่น การจัดการประชุมทุกๆ ปี หลายกลไก พยายามจัดทุกปี พยายามหาเวลาให้ตรงกัน และที่สำคัญคือมีการจัดการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วม ของทั้งสองประเทศที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งเป็นกลไกพิเศษ น้อยประเทศมากที่มีกลไกลักษณะนี้” นายเหงียน หาย บั่ง กล่าว

นายเหงียน หาย บั่ง กล่าวว่า คาดว่าจะมีการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทยเวียดนามครั้งที่ 4 ขึ้นที่เวียดนามในปีนี้ โดยเวียดนามจะเป็นเจ้าภาพ ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่เพื่อกำหนดเวลาให้สอดคล้องกับทั้งสองประเทศ

นายเหงียน หาย บั่ง กล่าวว่า ไทยกับเวียดนามยังสามารถร่วมมือกันได้อีกในหลายด้าน โดยเวียดนามกับไทยมีผลผลิตทางการเกษตรที่คล้ายคลึงกัน ไทยกับเวียดนามควรร่วมมือเป็นพันธมิตรคู่ค้าร่วมกันในด้านเกษตร ตอนนี้ไทยกับเวียดนามเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวรายใหญ่ลำดับต้นๆ ของโลก เพราะฉะนั้นความร่วมมือทางด้านนี้ทำได้หลายอย่าง เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางด้านการตลาด การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เรียนรู้การผลิต การแปรรูป การกระจายในตลาด

“ตลาดส่งออกข้าวของไทยกับตลาดส่งออกข้าวของเวียดนามเป็นคนละตลาด เพราะฉะนั้นการร่วมมือกันโดยพื้นฐานร่วมกันเป็นวิธีที่ดีที่สุดของทั้งสองประเทศ เช่นเดียวกับยางพารา ตลาดโลกมีการเปลี่ยนแปลงมากมายซึ่งเราคาดไม่ถึง เพราฉะนั้น ไทย เวียดนาม และประเทศอื่นที่ส่งออก เช่น มาเลเซีย ผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลกควรร่วมมือกันเพื่อจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลกอย่างมีประสิทธิภาพ” นายเหงียน หาย บั่ง กล่าว

นอกจากนี้ ไทยกับเวียดนามเป็นกลุ่มประเทศที่อยู่ในลุ่มแม่น้ำโขงเดลตา ต่างรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นทั้งสองประเทศมีผลประโยชน์คล้ายกัน ก็ควรจะร่วมมือกัน เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ทางด้านสิ่งแวดล้อมที่จะมีผลกระทบกับไทยและเวียดนาม

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าไทยกับเวียดนามเป็นสมาชิกที่มีการทำงานอย่างแข็งขัน และทำงานอย่างสร้างสรรค์ในกลไกต่างๆ ของลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งมีอยู่หลายกลไกมาก แต่ในแง่ความสัมพันธ์ต้องดูว่าแต่ละกลไกมีข้อดีอย่างไร และจะนำข้อดีของกลไกนั้นมาประยุกต์ใช้กับประเทศของตัวเองและประเทศเพื่อนบ้านเพื่อได้ประโยชน์ร่วมกันจากกลไกต่างๆ เหล่านั้น

ยุคความขัดแย้งการค้า-เลือกรับการลงทุนต่างชาติ

ในช่วงท้ายของการสัมภาษณ์ สื่อมวลชนได้ขอให้นายเหงียน หาย บั่ง กล่าวถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จของเวียดนามในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ โดยเฉพาะในช่วงที่โลกกำลังมีความขัดแย้งทางการค้า และมีการคาดการณ์กันว่าเวียดนามจะเป็นประเทศที่ได้รับผลดีในลำดับต้นๆ

นายเหงียน หาย บั่ง กล่าวว่า ประเทศที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากความขัดแย้งทางการไม่ใช่เฉพาะเวียดนามประเทศเดียว แต่มี 3-4 ประเทศที่น่าจะได้ประโยชน์จากความขัดแย้งทางการค้าด้วย โดยมีการคาดการณ์ว่าบริษัทต่างชาติอาจจะย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังเวียดนามและ 3-4 ประเทศในอาเซียน คือ อินโดนีเซีย ไทย และประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งประเทศเหล่านี้มีความแตกต่างกันบ้างในเชิงของข้อได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (comparative advantage) และเวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่กระแสการลงทุนจากต่างชาติไหลเข้าจำนวนมาก

“เวียดนามมีความพร้อมที่จะรับการลงทุนต่างชาติไม่ว่าจะมีข่าวร้ายหรือข่าวดี” นายเหงียน หาย บั่ง กล่าว

นายเหงียน หาย บั่ง กล่าวอีกว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเป็นประเด็นที่โลกกำลังจับตาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเวียดนามกับไทยที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านใกล้กับจีนก็ต้องเกาะติดสถานการณ์ ประกอบกับไทยและเวียดนามเป็นประเทศที่ได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ ด้วย เพราะฉะนั้นก็จะมีผลกระทบกับไทยและเวียดนาม

“การคาดการณ์เกี่ยวกับผลของสงครามการค้าที่เกี่ยวกับเวียดนามมีหลากหลายและมีหลายความคิดเห็น ฝ่ายหนึ่งกังวลเพราะมองว่าอาจจะได้รับผลกระทบ ดังสุภาษิตที่ว่า เมื่อช้างสารชนกันหญ้าแพรกก็แหลกราญ โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาและเป็นประเทศขนาดเล็ก แต่โดยรวมแล้ว ก็มีข้อได้เปรียบ อาจจะมีการย้ายฐานการผลิตจากประเทศจีนมาที่เวียดนาม แต่การที่เวียดนามจะรับการลงทุนจากต่างชาติก็ต้องพิจารณาไม่ใช่รับทุกอย่าง จะพิจารณาถึงสิ่งที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อประเทศ” นายเหงียน หาย บั่ง กล่าว

นอกจากนี้เวียดนามเป็นเป้าหมายหนึ่งของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะปี ค.ศ. 2018 มีการลงทุนโดยตรงของต่างชาติในเวียดนามจำนวนสูงมาก เพราะเวียดนามมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติ แต่ในอนาคตนโยบายเหล่านี้อาจจะมีการปรับเปลี่ยนได้ ตอนนี้เวียดนามกำลังพัฒนา แต่เมื่อถึงจุดใดจุดหนึ่งก็ต้องปรับเปลี่ยนนโยบาย

“เมื่อได้พูดคุยกับนักลงทุน นักธุรกิจของไทยก็ได้ให้ความเห็นในลักษณะนี้เพื่อให้นักลงทุนเตรียมความพร้อม แต่ช่วงนี้เป็นโอกาสที่ลงทุนค่อนข้างดี ดีที่สุด เป็นโอกาสที่สำคัญให้นักลงทุนเข้ามาในเวียดนาม เพราะเมื่อเปรียบเทียบเวียดนามกับประเทศอื่นๆ เวียดนามมีข้อได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ เช่น กำลังซื้อของเวียดนามที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูง ขนาดของตลาดก็เป็นขนาดใหญ่ ความสามารถของแรงงาน ทักษะแรงงาน ระบบการศึกษา เป็นข้อได้เปรียบ อีกทั้งต้นทุนการผลิตต่ำ มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี” นายเหงียน หาย บั่ง กล่าว

นายเหงียน หาย บั่ง ยอมรับว่า ระบบการศึกษาของเวียดนามทำให้อัตราการอ่านออกเขียนได้ของประชาชนอยู่ในระดับสูง คนเวียดนามแทบทุกคนอ่านออกเขียนได้ อีกทั้ง PISA Score ของเวียดนามอยู่ในระดับสูง แต่ไม่ต้องการที่จะเปรียบเทียบระบบการศึกษาของเวียดนามกับประเทศอื่น เพราะการเปรียบเทียบไม่ได้อยู่บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน แต่ละประเทศมีจุดอ่อนจุดแข็งที่ต่างกัน

สำหรับกลุ่มบริษัทไทยมีการลงทุนในเวียดนามจำนวนมาก เช่น กลุ่มซีพี เซ็นทรัลกรุ๊ป เครือซิเมนต์ไทย และอมตะกรุ๊ป และส่วนใหญ่จะเลือกเวียดนามเป็นประเทศแรกในการขยายการลงทุนไปต่างประเทศ

นายเหงียน หาย บั่ง กล่าวว่า เวียดนามดึงนักลงทุนได้มาก เพราะมีจุดแข็งคือมีทรัพยากรบุคคลด้านไอที มีโอกาสพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัล ด้านเทเลคอม รวมทั้งทรัพยากรที่มี ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐาน และทรัพยากรบุคคลในภาคการผลิตเฉพาะด้าน

“เวียดนามก็ไม่ต่างจากไทยที่มีการรับการลงทุนโดยตรงของต่างชาติ ซึ่งเมื่อเปิดรับการลงทุนโดยตรงของต่างชาติแล้วก็ต้องยอมรับทั้งประโยชน์ที่ได้และผลกระทบทางลบที่ตามมาด้วย เวียดนามตระหนักดีถึงด้านนี้” นายเหงียน หาย บั่ง กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เวียดนามคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ไว้อย่างไร ยังคงขยายตัวในอัตรา 7% หรือไม่ ซึ่งนายเหงียน หาย บั่งกล่าวว่า “หวังว่าจะเป็นอย่างนั้น”

อนึ่งธนาคารพัฒนาเอเชีย(Asia Development Bank) คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามปี 2019 ไว้ที่ 6.8% และ 6.7% ในปีหน้า ขณะที่รายได้ต่อหัวของประชากร(GDP per Capital) ปีนี้จะขยายตัว 5.8% ในปีหน้าจะเพิ่มขึ้น 5.7% ส่วนอัตราเงินเฟ้อปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.5% และ 3.8% ในปี 2020