ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > 2 เดือนแรกปี’57 คนไทยตกใจใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตติดลบ กสิกรไทยเผยทั้งปีจ่ายอะไรมากสุด

2 เดือนแรกปี’57 คนไทยตกใจใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตติดลบ กสิกรไทยเผยทั้งปีจ่ายอะไรมากสุด

6 มิถุนายน 2014


จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่าในเดือนมีนาคม ปี 2557 มีจำนวนบัตรเครดิต 18.9 ล้านใบ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบจากปี 2553 มีจำนวนบัตรเครดิต 13.4 ล้านใบ เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 8.93% หรือ 1.37ล้านใบต่อปี ทั้งนี้เมื่อดูการเติบโตรายเดือนย้อนหลัง 6 เดือน พบว่าโตเฉลี่ยเดือนละ 0.75% หรือ 137,441 ใบต่อเดือน

สำหรับยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ทั้งเดือนมีนาคม ปี 2557 มียอดอยู่ที่ 1.31 แสนล้านบาท โดยสามเดือนสุดท้ายของปี 2556 ยอดการใช้จ่ายโตขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 9.41% ขณะที่ช่วงต้นปี 2557 สองเดือนแรก ยอดการใช้จ่ายหดตัวลง -15.01% และ -10.11% ตามลำดับ ทั้งนี้เดือนมีนาคม ปี 2557 ยอดการใช้จ่ายเริ่มจึงฟื้นตัวกลับมา โดยโตเพิ่มขึ้น 13.12% จากเดือนก่อน

ยอดสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตหากย้อนไปดูตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2553 มียอดคงค้าง 1.83 แสนล้านบาท ในเดือนมีนาคม ปี 2557 มียอดคงค้างที่ 2.68 แสนล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 10% อย่างไรก็ดี ในช่วงต้นปี 2557 สองเดือนแรก ยอดสินเชื่อคงค้างหดตัวลง -6.45%และ -2.39% ทั้งนี้เดือนมีนาคมนับเป็นเดือนแรกของปี 2557 ที่ยอดสินเชื่อคงค้างเริ่มเติบโตขึ้นอีกครั้งที่ 1.40% ขณะที่หนี้เสียหรือ NPLs ของบัตรเครดิตในเดือนมีนาคม ปี 2557 มีทั้งสิ้น 2.72% หรือประมาณ 7.32 พันล้านบาท

การใช้จ่ายบัตรเครดิต

สินเชือบัตรเครดิตคงค้าง

ยอดสินเชื่อบัตรเครดิต

ขณะที่นายชาติชาย พยุหนาวีชัย รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับตลาดสินเชื่อบัตรเครดิต ในงานแถลงข่าวเปิดตัวบัตรเครดิตใหม่ “เพย์เวฟสติ๊กเกอร์” ของธนาคารกสิกรไทย ว่า ณ สิ้นปี 2556 ทั้งตลาดมีบัตรเครดิตอยู่ประมาณ 19 ล้านใบ เฉพาะของธนาคารกสิกรมีบัตรเครดิต 3.25 ล้านใบ และปีนี้น่าจะสามารถเติบโตได้ 9-10% โดยตั้งเป้าโต 16% หรือประมาณ 5 แสนใบในปีนี้

ด้านยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ปัจจุบันทั้งตลาดมียอดรวม 1.25 ล้านล้านบาท โดยเป็นของธนาคารกสิกรไทยประมาณ 260,000 ล้านบาท คิดเป็น 20% ทั้งนี้การจับจ่ายใช้สอยน่าจะเติบโตได้ปีละ 10%-12% ทั้งตลาด หรือคิดเป็น 125,000-150,000 ล้านบาท โดยน่าจะโตได้ 31% หรือ 80,600 ล้านบาท

“อันแรกที่การจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น เนื่องจากมันจะมีคนถือบัตรเพิ่มขึ้น 10-11% แต่ในช่วง 4 เดือนแรกนี้ตลาดก็โตไป 9% ขณะที่ในสองเดือนแรกโต 6-7% ก็แสดงว่าเดือนมีนาคม เมษายน พฤษภาคม เริ่มมีการจับจ่ายใช้สอย ประชาชนเริ่มหายตกใจ อีกเหตุผลหนึ่งก็คือว่า หลายฝ่ายก็พยายามให้คนเข้าไปสู่สังคมที่ไม่ใช้เงินสด (Non-cash Society) เพราะฉะนั้นจะเป็นการใช้บัตรเครดิตมากขึ้น จริงๆอยากให้ใช้เป็นบัตรเดบิตมากกว่า แต่คนไทยยังไม่คุ้นชิน ปัจจุบันคิดเป็นเพียง 5% จากยอดจับจ่ายใช้สอยทั้งหมด 1.25 ล้านล้านบาท ประกอบกันก็น่าจะโตถึง 10-12% ได้” นายชาติชายกล่าว

การใช้จ่ายบัตรเครดิตกสิกกรไทย

ทั้งนี้ เมื่อแบ่งประเภทของการใช้จ่าย 7 อันดับแรก พบว่าอันดับ 1 คือการประกันภัย คิดเป็น 10% ของการใช้จ่ายทั้งหมด อันดับ 2 คือน้ำมัน คิดเป็น 10% อันดับ 3 คือสุขภาพและความงาม คิดเป็น 9% อันดับ 4 คือบ้านและอุปกรณ์ตกแต่ง คิดเป็น 6% อันดับ 5 คือซูเปอร์มาร์เกต คิดเป็น 7% อันดับ 6 คือการท่องเที่ยว คิดเป็น 5% อันดับ 7 คืออาหาร คิดเป็น 4% และอื่นๆ รวมกันอีก 49%

ขณะที่การเติบโตของยอดการใช้จ่าย พบว่าประกันภัยโตขึ้น 8% การท่องเที่ยวและเดินทางเติบโต 27% บ้านและอุปกรณ์ตกแต่งโต 16% ส่วนหมวดที่หดตัวมีโรมแรมและห้างสรรพสินค้า หดตัว 4% และ 1% ตามลำดับ

ด้านหนี้เสียหรือ NPLs นายชาติชายยอมรับว่ามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา โดยในปลายปี 2553 ตลาดมี NPLs 2.29% ขณะที่ตอนนี้เป็น 2.72% โดยกสิกรไทยปรับเพิ่มขึ้นจาก 1.38% เป็น 1.72% ซึ่งก็ยังน้อยกว่าตลาดอยู่ อย่างไรก็ดี ทางธนาคารก็จำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังและมีการใช้เกณฑ์ที่เข้มงวดมากขึ้นอยู่แล้ว โดยเฉพาะลูกค้าที่มีการถือบัตรเครดิตหลายๆ ใบและมีรายได้น้อยกว่ายอดค้างชำระประมาณ 4 เท่า ที่ต้องจับตาดูเป็นพิเศษ

“จริงๆ แล้วเกณฑ์การอนุมัติน่าจะเป็นเกณฑ์ที่มีมาตรฐานสูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นทิศทางที่ธนาคารพาณิชย์ควรจะเป็น ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็ได้เข้ามาดูแลความเสี่ยงของหนี้เสียในแต่ละอุตสาหกรรม ช่วงนี้หนี้เสียของผู้บริโภคมากขึ้น เราก็ต้องให้ความสำคัญมากขึ้น แต่เกณฑ์พวกนี้ก็เป็นเกณฑ์มาตรฐานที่ธนาคารพาณิชย์ต้องพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นภูมิคุ้มกันของเรา เหมือนตอนปี 2540 ที่มีการปรับมาตรฐานการดูแล ส่งผลให้หนี้เสียของเราตอนนี้ต่ำอยู่” นายชาติชายกล่าว