เอสโตเนีย เป็นประเทศแรกของโลกที่พัฒนาระบบลงคะแนนเลือกตั้งดิจิทัลในการเลือกตั้งระดับชาติ
เอสโตเนียเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าด้าน e-governance และบริการภาครัฐเป็น e-service ระบบดิจิทัลมากถึง 99% มีเพียงการหย่าร้างเท่านั้นที่ยังดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ไม่ได้
ในการนำคณะสื่อมวลชนไปศึกษาดูงานด้านดิจิทัลที่สาธารณรัฐเอสโตเนีย โดยนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้บริหารธนาคารกรุงไทยระหว่างวันที่ 28 มีนาคม – 4 เมษายน 2566 ที่ผ่านมานั้น Carmen Raal, Digital Transformation Advisor ประจำ Estonia Briefing Centre นอกจากได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ e-Governance แล้วยังให้ข้อมูล i-voting การลงคะแนนเลือกตั้งผ่านอินเทอร์เน็ตอีกด้วย
internet voting (i-voting) การลงคะแนนเลือกตั้งผ่านระบบอินเทอร์เน็ต พัฒนาขึ้นและเริ่มนำมาใช้ในปี 2005 ซึ่งขณะนั้นมีประชากรเพียง 2% ที่ใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งผ่านออนไลน์ i-voting แต่ล่าสุดในเดือนมีนาคมปีนี้ซึ่งมีการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา (Riigikogu) การเลือกตั้งระดับประเทศ สัดส่วนประชาชนที่ใช้สิทธิคะแนนผ่าน i-voting มีถึง 51% ของผู้มีสิทธิทั้งหมด
ระบบ i-voting ได้รับการพัฒนามากขึ้นในปี 2017 เพื่อให้ครอบคลุมการเลือกตั้งท้องถิ่น และให้อยู่บนกรอบ general framework for electronic voting ใหม่ซึ่งใช้ได้กับการเลือกตั้งทุกรูปแบบ และการยกระดับ i-voting ครั้งนี้ส่งผลให้เยาวชนอายุ 16-17 ปีสามารถใช้สิทธิลงคะแนนในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นได้ ขณะที่เยาวชนอายุ 18 ปีขึ้นไปสามารถใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งระดับประเทศและการเลือกตั้งสภาสหภาพยุโรป (European Parliament) ได้แล้ว
การพัฒนา i-voting เป็นไปเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งได้สะดวกยิ่งขึ้น ดังนั้น การลงคะแนนจะไม่ขึ้นอยู่กับเวลาและสถานที่ การนำระบบ i-voting มาใช้เนื่องจากมีความพร้อมจากฐานเทคโนโลยีและความพร้อมของสังคม
ระบบ i-voting ของเอสโตเนียมีพื้นฐานมาจาก การใช้บัตรประจำตัวประชาชนเป็นเอกสารอย่างเป็นทางการในการระบุตัวตนของบุคคลมานานกว่าสิบปี เอสโตเนียมีระบบดิจิทัลที่ใช้ในการระบุและยืนยันตัวตน นอกจากการความพร้อมทางเทคโนโลยีแล้ว ยังต้องมีพื้นฐานทางกฎหมายและเจตจำนงทางการเมืองสนับสนุนด้วย
Carmen กล่าวว่า ภาพของการใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งออนไลน์ในช่วงแรก ชัดเจนว่าส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้างประชากร โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย มีการศึกษาดี แต่ช่วงหลังนี้ผู้ชายผู้หญิงใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผ่าน i-voting มีสัดส่วนเท่ากัน และหากแยกตามอายุ ก็พบว่าคนรุ่นใหม่คนรุ่นเก่าก็มีสัดส่วนเท่ากันด้วย
การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเดือนมีนาคม 2023 ที่ผ่านมา มีคนเลือกตั้งผ่าน i-voting ประมาณ 51% ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีผู้ลงคะแนนเลือกตั้งผ่าน i-voting มากกว่าครึ่งของคนที่มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งหมด
การเลือกครั้งนี้มีผู้ใช้สิทธิรวม 63.7% โดยมีชาวเอสโตเนีย 615,009 คนออกมาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิทั้งหมด 966,129 คน นับเป็นสถิติสูงสุดสำหรับการเลือกตั้งทั้งหมดย้อนหลังไปถึงปี 1918 ในแง่จำนวน แต่เมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์จะต่ำกว่าปีก่อนๆ เล็กน้อย เป็นผลจากวิธีการลงคะแนนเสียงแบบใหม่ ซึ่งรวมถึงชาวเอสโตเนียทั้งหมดที่อยู่ในต่างประเทศ
กว่าครึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิทั้งหมด หรือจำนวน 313,514 คน รวมถึงตัวนายกรัฐมนตรี Kaja Kallas เอง ได้ลงคะแนนเสียงผ่านระบบออนไลน์ i-voting ซึ่งสร้างสถิติใหม่ให้กับประเทศและทั่วโลก โดย i-voting เริ่มขึ้นเวลา 9.00 น. ของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ และสิ้นสุดเวลา 20.00 น. วันที่ 4 มีนาคม
ในคืนวันเลือกตั้ง การถอดรหัสและนับคะแนนใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งตอกย้ำถึงคุณภาพของระบบนิเวศดิจิทัลระดับชาติอีกครั้ง ส่วนที่เหลืออีก 301,495 คนลงคะแนนด้วยบัตรลงคะแนนด้วยตนเอง
การลงคะแนนด้วย i-voting ทำลายสถิติเดิมที่ 247,232 ที่มีการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ในการเลือกตั้ง Riigikogu ปี 2019 และการลงคะแนนออนไลน์ในการเลือกตั้งท้องถิ่นในปี 2021 ซึ่งมีประชาชน 263,566 คนลงคะแนนเสียงผ่านระบบดิจิทัล ชาวเอสโตเนียกำลังใช้การเลือกตั้งแบบดิจิทัลมากขึ้น เป็นผลจากความปลอดภัยและความสะดวกสบาย ซึ่งขับเคลื่อนโดยระบบนิเวศของรัฐบาลดิจิทัลของประเทศ
Carmen กล่าวว่า การที่คนส่วนหนึ่งยังออกมาเลือกตั้งที่คูหาแบบเดิม อาจเป็นเพราะเอสโตเนียเพิ่งได้รับเอกราชมาไม่นาน เพิ่งมีเสรีภาพ การออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่คูหาจึงเหมือนสัญลักษณ์เฉลิมฉลองการได้รับเอกราช และการเลือกตั้งเป็นประเพณีของครอบครัว อีกทั้งคนบางกลุ่มมองว่าการเลือกตั้งผ่านออนไลน์อาจไม่ปลอดภัย และแม้ว่าความรู้ความเข้าใจการใช้คอมพิวเตอร์ของเอสโตเนียอยู่ในระดับสูง แต่บางคนก็ยังชอบไปลงคะแนนที่คูหาเลือกตั้ง
ปัจจุบันคนที่ใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผ่าน i-voting คือ คนที่ไม่สามารถเดินทางไปลงคะแนนที่คูหาเลือกตั้งได้ ในปีนี้การเลือกตั้งตรงกับช่วงโรงเรียนปิดเทอม ครอบครัวออกเดินทางท่องที่ยว จึงใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผ่าน i-voting เพื่อไม่ต้องกังวลว่าจะพลาดการใช้สิทธิ เพียงแค่นำคอมพิวเตอร์หรือแลปทอปติดตัวไปพร้อมบัตรประจำตัวประชาชน ก็สามารถใช้สิทธิได้ตามปกติ
i-voting ของเอสโตเนียต่างจากการใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งออนไลน์ของสหรัฐฯ ที่เป็น e-vote หรือ electronic voting ซึ่งเป็นการใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ที่คูหาเลือกตั้ง แต่เอสโตเนียเพียงแค่ใช้คอมพิวเตอร์ลงคะแนนเสียบบัตรจากที่ไหนก็ได้
Carmen คาดว่าจะพัฒนาระบบให้ลงคะแนนผ่าน i-voting ด้วยโทรศัพท์มือถือ เป็น m-voting ได้ในปี 2024
Carmen กล่าวว่า ข้อดีของการเลือกตั้งผ่าน i-voting คือ สะดวก ลดค่าใช้จ่ายในการจัดคูหาเลือกตั้ง อำนวยความสะดวกให้กับคนเอสโตเนียที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศซึ่งไม่มีสถานทูตใช้สิทธิลงคะแนนได้ โดยเอสโตเนียมีสถานทูตในประเทศอื่นไม่ถึง 50 ประเทศทั่วโลก ในลาตินอเมริกาไม่มีสถานทูตเอสโตเนียอยู่เลย การมีช่องทางให้ลงคะแนนเลือกตั้งออนไลน์ได้ แสดงให้เห็นว่าประชาชนยังสามารถมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งได้
นอกจากนี้ ยังช่วยลดเรื่องการซื้อสิทธิ์ขายเสียง เพราะใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งได้หลายครั้งจนกว่าจะปิดการลงคะแนนเลือกตั้ง ดังนั้น แม้ในครั้งแรกจะเลือกพรรคหนึ่ง แต่ก็สามารถกลับไปเลือกพรรคใหม่ได้
Carmen กล่าวว่า “ระบบ i-voting ไม่เคยเป็นประเด็นทางการเมือง เพราะไม่มีพรรคการเมืองไหนนำเรื่องการปรับภาครัฐเป็นดิจิทัลมาเป็นเป้าหมายของตัวเอง ซึ่งหมายความว่า ประชาชนก็ไม่ต้องแบ่งขั้ว ไม่ต้องเลือกข้าง”
นอกจากการพัฒนาระบบขึ้นเป็นระบบที่มีโครงสร้างแบบกระจายศูนย์ (decentralized structure) แต่ละหน่วยงานดูแลระบบให้บริการและจัดเก็บข้อมูลของตัวเอง ทำให้เกิดความไว้วางใจ ประกอบกับระบบบริการดิจิทัลทั้งหมดเป็น open-source หมายถึงว่า ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลด source code มาทำการศึกษาได้ แม้แต่ i-voting เองก็ทำได้
Carmen กล่าวว่า การเลือกตั้งของเอสโตเนียก็เปิดให้มีการสังเกตการณ์ ทั้งการลงคะแนนออนไลน์และที่คูหาเลือกตั้ง สำหรับประชาชนเอสโตเนียที่ต้องการมีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์การเลือกตั้งก็สามารถทำได้ แต่ต้องการผ่านอบรม สำนักงานการเลือกตั้งของรัฐ (State Electoral Office) ได้จัดการฝึกอบรมผู้สังเกตการณ์ก่อนการเลือกตั้งทุกครั้ง และยังสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการเพื่อความโปร่งใส ผู้สังเกตการณ์สามารถสังเกตขั้นตอนการตั้งค่าระบบ และเข้าร่วมการนับคะแนนในตอนเย็นของวันเลือกตั้งได้อีกด้วย
i-voting รับผิดชอบโดยสำนักงานการเลือกตั้งของรัฐร่วมมือกับสำนักงานระบบสารสนเทศ (Information System Authority) ก่อนเริ่มการลงคะแนน สำนักงานการเลือกตั้งของรัฐจะเตรียมระบบ i-voting และประกาศรายละเอียดการลงคะแนนบนเว็บไซต์ “valimised.ee”
ในช่วงลงคะแนนเสียงล่วงหน้าที่กำหนดไว้ ผู้ลงคะแนนเสียงจะเข้าสู่ระบบโดยใช้ e-ID ที่ออกโดยรัฐบาลให้และลงคะแนนเสียง เมื่อล็อกอินเข้าระบบแล้ว ระบบจะตรวจสอบสิทธิการลงคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยอัตโนมัติ และแสดงรายชื่อผู้สมัครที่ถูกต้องแก่ผู้ลงคะแนนเสียง หลังจากทำการลงคะแนนแล้ว ระบบจะเข้ารหัสการลงคะแนนเสียงของผู้ใช้สิทธิลงคะแนนเสียง จากนั้นผู้ลงคะแนนต้องยืนยันการลงคะแนนด้วยลายเซ็นดิจิทัล และบัตรลงคะแนนของผู้ใช้สิทธิลงคะแนนเสียงจะส่งไปยังเซิร์ฟเวอร์รวบรวมคะแนนเสียง ในขณะเดียวกัน ระบบจะระบุการลงคะแนนทุกครั้งด้วยการลงเวลา ซึ่งช่วยให้สามารถตรวจสอบได้ในภายหลังว่าคะแนนเสียงทั้งหมดถูกส่งต่อไปยังผู้รวบรวมบัตรเลือกตั้งแล้วจริงๆ และข้อมูลประจำตัวของผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะถูกลบออกจากบัตรลงคะแนน ก่อนที่จะนำส่งคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งชาติเพื่อตรวจนับ
ปัจจุบันการยืนยันตัวตนของประชาชนเอสโตเนียมี 3 รูปแบบ คือ 1) บัตรประชาชนที่มีชิป 2) Mobile ID ซึ่งเป็นซิมการ์ดที่ใช้ยืนยันตัวตน 3) Smart ID แอปพลิเคชันที่ใช้ยืนยันตัวตน โดยอุปกรณ์เหล่านี้ จะต้องใช้ร่วมกับ PIN 1 และ PIN 2 โดย PIN 1 ใช้กับการยืนยันตัวตน เช่น การล็อกอินเข้าระบบต่างๆ PIN 2 ใช้ในการลงนาม digital signature ซึ่งเทียบเท่ากับการลงนามบนกระดาษ มีผลผูกพันทางกฎหมาย
การที่ต้องลงนามในบัตรลงคะแนน i-vote ทำให้ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนการลงคะแนนเสียงนั้นได้ ไม่ว่าจะทางใดก็ตาม หากผู้ลงคะแนนรู้สึกว่าไม่มีอิสระในการลงคะแนนเสียง ก็สามารถยกเลิกการลงคะแนนเสียง i-vote ของตัวเองได้ โดยการลงคะแนนทางออนไลน์อีกครั้งหรือโดยการลงคะแนนที่คูหาเลือกตั้ง
Kristjan Vassil และ Mihkel Solvak นักวิจัยจาก University of Tartu ได้ข้อสรุปในงานวิจัยว่า การลงคะแนนด้วย i-voting ไม่ได้สนับสนุนพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งเป็นการเฉพาะ ไม่มีพรรคการเมืองใดได้เปรียบในการเลือกตั้งเพียงเพราะผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนหนึ่งตัดสินใจใช้วิธีอื่นในการลงคะแนนเสียง แต่จะลงคะแนนให้พรรคการเมืองนั้นโดยที่ไม่มีโอกาสใช้ i-voting แต่หากมีโอกาสก็จะใช้
i-voting เป็นวิธีที่สะดวกสำหรับการมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งและแสดงความคิดเห็นในสังคม แม้แต่ผู้ที่กำลังเดินทางหรืออยู่ต่างประเทศก็สามารถเข้าร่วมการเลือกตั้งได้ ตัวอย่างเช่น ในการเลือกตั้ง Riigikogu ในปี 2015 มีการลงคะแนนเสียงผ่าน i-voting จาก 116 ประเทศทั่วโลก i-voting ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ไม่ได้ประหยัดค่าใช้จ่ายขององค์กรในการเลือกตั้ง แต่เป็นการประหยัดเวลาและเงินของผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วย การวิจัยที่มีขึ้นระหว่างการเลือกตั้งรัฐสภาปี 2011 แสดงให้เห็นว่าประหยัดเงินได้มากกว่าครึ่งล้านยูโร