ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เวียดนามมุ่งพัฒนาภาคเอกชน พลังขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ASEAN Roundup เวียดนามมุ่งพัฒนาภาคเอกชน พลังขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ

7 พฤษภาคม 2023


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 30 เมษายน-6 พฤษภาคม 2566

  • เวียดนามมุ่งพัฒนาภาคเอกชน พลังขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ
  • การจัดตั้งธุรกิจใหม่เวียดนามพุ่งทำสถิติสูงสุด
  • เวียดนามขาดแคลนแรงงานด้านไอที
  • เวียดนามและกัมพูชาให้บริการท่าเรือเร็วที่สุดในอาเซียน
  • ค่าจ้างต่ำ เงินเฟ้อสูงทำลาวขาดแคลนแรงงาน
  • ลาวเตรียมปรับปรุงกฎหมายท่องเที่ยว
  • เวียดนามมุ่งพัฒนาภาคเอกชนพลังขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/nations-largest-firms-the-driving-force-for-economic-growth/235358.vnp

    เวียดนามจะมุ่งพัฒนาภาคเอกชนของประเทศเพื่อเปลี่ยนให้เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจตลาดสังคมนิยม ที่จะมีส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็วและยั่งยืน และยกระดับเศรษฐกิจที่อยู่ได้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายหลักของมติของรัฐบาลในแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินการตามมติของคณะกรรมการกลางพรรคฉบับที่ 12 ซึ่งลงวันที่ 3 มิถุนายน 2560 ว่าด้วยการพัฒนาภาคเศรษฐกิจเอกชน

    ภายใต้มติของรัฐบาล เวียดนามมุ่งมั่นที่จะมีกิจการประมาณ 1.5 ล้านแห่งภายในปี 2568 ทั้งกิจการขนาดกลางและขนาดใหญ่ 60,000 ถึง 70,000 แห่ง และยังคาดว่าจะมีกิจการอย่างน้อย 2 ล้านแห่งภายในปี 2573 พร้อมกับการจัดตั้งกลุ่มเอกชนจำนวนมากที่มีศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันสูงในตลาดในประเทศและต่างประเทศ

    อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจภาคเอกชนคาดว่าจะสูงกว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม และสัดส่วนของภาคเอกชนต่อ GDP ของประเทศจะอยู่ที่ประมาณ 55% ภายในปี 2568 และประมาณ 60-65% ของ GDP ภายในปี 2573

    นอกจากนี้คาดว่าผลิตภาพแรงงานของภาคเอกชนจะเพิ่มขึ้นประมาณ 5% ต่อปี ในขณะที่ 35-40% ของเอกชนจะมีกิจกรรมเชิงนวัตกรรม ลดช่องว่างทางเทคโนโลยี มีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพและความสามารถในการแข่งขันเมื่อเทียบกับกลุ่มชั้นนำของอาเซียน 4 ประเทศ(ASEAN 4)

    แผนด้านนี้กำหนดภารกิจหลักในการดำเนินการต่อเนื่องเพื่อให้มีกลไกและนโยบายที่สมบูรณ์แบบ สร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและการลงทุนที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจภาคเอกชน ส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเพิ่มการเข้าถึงทรัพยากรของภาคเอกชน นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายสนับสนุนนวัตกรรมของภาคส่วน การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการปรับปรุงประสิทธิภาพ

    รัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงการวางแผนและการลงทุนประสานงานกับกระทรวงและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการศึกษาข้อมูลและเสนอกรอบกฎหมายสำหรับธุรกิจในครัวเรือนเพื่อเอื้อต่อการขยายขนาดและปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยต้องให้ความสนใจกับการศึกษาและปรับปรุงกลไกเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการลงทุนในการผลิตทางการเกษตรและพัฒนาบริการสนับสนุนด้านการเกษตร

    นอกจากนี้ได้ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าทำงานร่วมกับกระทรวง ภาคส่วน และท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดแนวทางและนโยบายเพื่อใช้ประโยชน์จากตลาดภายในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนองค์กรต่าง ๆ ในการใช้โซลูชั่นเทคโนโลยีดิจิทัลในการตรวจสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์ และเสริมสร้างการป้องกันและต่อสู้กับการทุจริตทางการค้า การปั่นและการครอบงำตลาด

    การจัดตั้งธุรกิจใหม่เวียดนามพุ่งทำสถิติ

    ที่มาภาพ:https://en.vietnamplus.vn/vietnam-wants-private-sector-to-become-driving-force-for-economic-growth/251884.vnp
    การจัดตั้งธุรกิจใหม่ในเวียดนามสร้างสถิติสูงสุดในเดือนเมษายน โดยมีจำนวน 15,967 แห่ง จากการรายงานของสำนักงานสถิติทั่วไป และเพิ่มขึ้น 6.4% จากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565 อย่างไรก็ตาม ทุนจดทะเบียนลดลง 5.7% มาที่กว่า 154.6 ล้านล้านด่อง (6.6 พันล้านดอลลาร์)

    ภูมิภาคเศรษฐกิจ 4 ถึง 6 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ ที่ราบสูงตอนกลาง สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดง และตอนกลางตอนเหนือและภูเขา มีธุรกิจจดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้นในเดือนเมษายน

    บริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่นี้มีพนักงานรวมกันมากถึง 119,089 คน เพิ่มขึ้น 13.7% จากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565

    สถิติยังแสดงให้เห็นว่าจำนวนธุรกิจที่เข้าตลาดและกลับเข้าสู่ตลาดในเดือนเมษายนเพิ่มขึ้น 36.6% เป็น 9,610 ราย ส่วนในไตรมาสแรก มีบริษัท 56,946 แห่งที่เริ่มดำเนินการใหม่ ลดลง 5.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี ส่งผลให้ในช่วงสี่เดือนแรกของปีนี้ บริษัท 78,871 แห่งที่เข้าสู่ตลาดและกลับเข้าสู่ตลาดทั่วประเทศ รวมทั้งบริษัทใหม่ 49,872 แห่ง เพิ่มขึ้น 0.6% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

    อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกและสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน คุกคามการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนาม โดยเฉพาะการดำเนินธุรกิจ เป็นผลให้ธุรกิจ 14,509 แห่งทั่วประเทศถอนตัวออกจากตลาดในเดือนเมษายน 2566 และตั้งแต่ต้นปี มีบริษัท 77,001 แห่งออกจากตลาด เพิ่มขึ้น 25.1% จากปีที่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่หยุดดำเนินการชั่วคราว

    เวียดนามขาดแคลนแรงงานด้านไอที

    ที่มาภาพ: https://hanoitimes.vn/vietnam-faces-shortage-of-it-workforce-323603.html
    ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ในเวียดนามเป็นที่ต้องการมากขึ้นด้วยการให้เงินเดือนสูง แต่เวียดนามกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านไอทีอย่างรุนแรง

    จากการสำรวจที่จัดทำโดย TopDev ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มจัดหางานด้านไอทีชั้นนำในเวียดนาม วิศวกรซอฟต์แวร์ด้านไอทีเป็น 1 ใน 3 ตำแหน่งงานอันดับแรกที่บริษัทต่างๆ ต้องการ แต่ก็เป็นตำแหน่งที่หาคนได้ยากเช่นกันแม้เงินเดือนจะค่อนข้างน่าสนใจก็ตาม

    TopDev กล่าวว่า ปัจจุบันเงินเดือนของโปรแกรมเมอร์ในเวียดนามอยู่ที่ 350 เหรียญสหรัฐต่อเดือน (สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาใหม่) ไปจนถึง 1,190 เหรียญสหรัฐต่อเดือนสำหรับตำแหน่งระดับกลาง โปรแกรมเมอร์อาวุโสมีเงินเดือนตั้งแต่ 860 เหรียญสหรัฐต่อเดือน ถึง 1,510 เหรียญสหรัฐต่อเดือน ส่วนตำแหน่งผู้จัดการ (ที่มีประสบการณ์ 5 ปีขึ้นไป) สามารถสร้างรายได้ตั้งแต่ 1,410 เหรียญสหรัฐต่อเดือน ถึงมากกว่า 2,300 เหรียญสหรัฐต่อเดือน

    อย่างไรก็ตาม มีนักศึกษาเพียงประมาณ 16,500 คน หรือประมาณ 35% ของนักศึกษาทั้งหมด 55,000 คนที่เรียนวิชาเอกไอทีที่มีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของธุรกิจ เป็นผลให้มีการคาดการณ์ว่าอาจขาดแคลนโปรแกรมเมอร์มากถึง 800,000 คนภายในปี 2567 จากการเปิดเผยของ TopDev และย้ำว่า การขาดแคลนนี้เกิดจากความไม่สอดคล้องกันระหว่างโปรแกรมเมอร์ที่มีทักษะและความต้องการทางธุรกิจ

    “นอกจากนี้ ตลาดปัจจุบันไม่ได้ถูกจำกัดด้วยพรมแดนของประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในองค์กรต่างๆ ด้วย ซึ่งนำไปสู่ความต้องการที่สูงขึ้นในการสรรหาทรัพยากรมนุษย์ด้านสาขาวิชาเอกด้านไอที” Truong Nhu ซีอีโอของ TopDev กล่าว

    “ผลของการระบาดของโควิด-19 ทำให้การทำงานจากระยะไกลกลายเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้น หลายบริษัทในสหรัฐฯ สิงคโปร์ และยุโรปเริ่มรับสมัครบุคลากรที่มีทักษะสูงจากเวียดนาม และให้พวกเขาทำงานในประเทศ แต่ได้รับเงินเดือนจากต่างประเทศ” Nhuกล่าว

    Nhu ยังชี้ว่า โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในปัจจุบันของเวียดนามทำให้ประเทศมีความได้เปรียบในการแข่งขัน เวียดนามเป็น 1 ใน 12 ประเทศอันดับต้นของโลกที่มีค่าอินเทอร์เน็ตถูกที่สุด โดยอยู่ที่ประมาณ 11.27 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือนต่อสมาชิก ราคาที่ต่ำและการเข้าถึงในวงกว้างขวางนี้ทำให้มีการใช้อินเทอร์เน็ตกันทั่วประเทศ

    บริษัทต่างๆ ในฮานอยต่างต้องการทรัพยากรบุคคลด้านไอทีอย่างมากท่ามกลางยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล

    สถิติจาก FPT University Hanoi แสดงให้เห็นว่าความต้องการทรัพยากรบุคคลด้านไอทีเพิ่มขึ้น แต่ตลาดแรงงานในฮานอยมักจะขาดแคลนทั้งปริมาณและคุณภาพ

    การประเมินเบื้องต้นโดย สำนักงานแรงงาน ผู้ทุพพลภาพ และกิจการสังคม(epartment of Labor, Invalids and Social Affairs)ของฮานอย แสดงให้เห็นว่าการจัดหาแรงงานโดยองค์กรด้านไอทีหลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีบริษัทไอทีและองค์กรขนาดใหญ่กว่า 20 แห่งในเมืองหลวงต้องการคนด้านไอที

    การสำรวจความต้องการจัดหางานของศูนย์บริการจัดหางานฮานอย(Hanoi Job Service Center)เมื่อปลายเดือนมกราคมแสดงให้เห็นว่า อุตสาหกรรมไอที-โทรคมนาคมอยู่ในอันดับต้นด้านความต้องการจัดหางานด้วยตำแหน่งงานมากกว่า 1,000 ตำแหน่ง Vu Quang Thanh รองผู้อำนวยการศูนย์กล่าวว่า ตำแหน่งที่หาไม่ได้คือโปรแกรมเมอร์ วิศวกรไอที เจ้าหน้าที่ออกแบบ และเจ้าหน้าที่ด้านเทคนิค

    “ที่ผานมา บริษัทไอทีมักจะรับสมัครวิศวกรชาย แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ความต้องการจ้างแรงงานชายและหญิงใกล้เคียงกัน แสดงให้เห็นว่า การขาดแคลนทรัพยากรบุคคลและการแข่งขันด้านบุคลากร จึงส่งผลให้มีความเท่าเทียมทางเพศ ข้อกำหนดสำหรับผู้สมัครคือ คุณสมบัติที่เหมาะสม และความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับแต่ละงาน” Thanh กล่าว

    ทรัพยากรบุคคลด้านไอทีมีบทบาทสำคัญในกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล โดยเฉพาะตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 องค์กรต่างๆ ต้องลงทุนในแพลตฟอร์มเทคโนโลยี และความต้องการทรัพยากรบุคคลในอุตสาหกรรมนี้ไม่เคยลดลง

    เวียดนามและกัมพูชาให้บริการท่าเรือเร็วที่สุดในอาเซียน

    ที่มาภาพ: https://lecvietnam.com/en/operations/news/cai-mep-thi-vai-has-a-chance-to-rise-from-2020-164.html

    การขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ในเวียดนามและกัมพูชาใช้เวลาที่ท่าเรือเร็วที่สุดในอาเซียนในเดือนมิถุนายน 2565 โดยทั้งสองประเทศใช้เวลาเฉลี่ยเพียง 0.9 วัน ตามรายงานของธนาคารโลก

    ข้อมูลโลจิสติกส์ทั่วโลกที่เผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ในวอชิงตันเป็นหนึ่งในตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพสำคัญใหม่ที่เสริมดัชนีประสิทธิภาพโลจิสติกส์ (Logistics Performance Index-LPI) ในการประเมิน 139 ประเทศ

    ในบรรดาสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ประเทศไทยใช้เวลาดำเนินการเร็วที่สุดเป็นอันดับสองคือ 1.0 วัน ตามมาด้วยมาเลเซียและสิงคโปร์ (1.2 วันทั้งคู่) ฟิลิปปินส์ (1.3 วัน) อินโดนีเซีย (1.8 วัน) และเมียนมา (2.0 วัน)

    ในแถลงการณ์ ธนาคารโลกกล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลช่วยให้ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่สามารถลดความล่าช้าของท่าเรือได้มากถึง 70% เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว

    “ในขณะที่เวลาส่วนใหญ่ใช้ไปกับการขนส่ง ความล่าช้าที่ใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นที่ท่าเรือ สนามบิน และสิ่งอำนวยความสะดวกต่อเนื่องหลายรูปแบบ” คริสตินา วีเดอเรอร์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคาร ผู้ร่วมเขียนรายงานกล่าว และว่า “นโยบายที่มีเป้าหมายเจาะจงไปยังสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้สามารถช่วยยกระดับความน่าเชื่อถือได้”

    สิงคโปร์อยู่ในอันดับต้นๆ ทั้งในอาเซียนและทั่วโลกด้วยคะแนน 4.3 คะแนน ตามมาด้วยมาเลเซีย (3.6 คะแนน) ไทย (3.5 คะแนน) ฟิลิปปินส์และเวียดนาม (3.3 คะแนนทั้งคู่) และอินโดนีเซีย (3.0 คะแนน) ไม่มีการจัดอันดับสำหรับเมียนมา

    แม้จะมีความท้าทายเช่นการระบาดของโควิด-19 แต่ธนาคารโลกกล่าวว่าบริการด้านโลจิสติกส์นั้น ยังแข็งแกร่งในภาพรวม ทั้งผู้ให้บริการที่ดีที่สุดและแย่ที่สุดทั้่วโลก

    “แม้จะมีการหยุดชะงักของการขนส่งที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19 และวิกฤติห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก แต่คะแนนรวมเฉลี่ยในปี 2566 ที่วัดจาก LPI ก็ยังอยู่ในระดับเดียวกับการสำรวจครั้งล่าสุดในปี 2561” รายงานระบุ

    LPI มีตัวชี้วัด 6 ด้าน ได้แก่ ประสิทธิภาพของพิธีการศุลกากรและการจัดการพรมแดน คุณภาพของโครงสร้างพื้นฐานด้านการค้าและการขนส่ง ความสะดวกในการจัดการขนส่งสินค้าในราคาที่สามารถแข่งขันได้ ความสามารถและคุณภาพของบริการโลจิสติกส์ ความสามารถในการติดตามและตรวจสอบสินค้า และความถี่ในการส่งมอบตรงเวลา

    เมื่อเร็วๆ นี้ สายการเดินเรือรายใหญ่ของโลกได้ลงทุนในการก่อสร้างและดำเนินการท่าเรือในเวียดนาม

    บริการท่าเรือที่ดีขึ้นและความต้องการขนส่งที่เพิ่มขึ้นได้ดึงดูดสายการเดินเรือขนาดใหญ่ให้เปิดเส้นทางจากเวียดนามไปยังประเทศอื่น ๆ ในโลก ท่าเทียบเรือ Lach Huyen สามารถรองรับเรือขนาด 132,000 ตัน(DWT) และท่าเทียบเรือท่าเรือ Cai Mep – Thi Vai ขนาด 214,000 DWT หรือมากกว่า 18,000 TEU ทุกสัปดาห์ เรือเกือบ 40 ลำออกจากท่าเรือ Cai Mep – Thi Vai รวมถึง 18 ลำไปยังยุโรปและอเมริกา และ 10 ลำไปยังเอเชีย ทำให้เวียดนามค่อยๆกลายเป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญในห่วงโซ่การเดินเรือทั่วโลก

    เส้นทางบริการโดยตรงที่เชื่อมต่อตลาดหลักทั่วโลกจะสร้างโอกาสในการส่งออกของเวียดนาม เวลาของเส้นทางที่ให้บริการจากเวียดนามไปยังชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกาเคยใช้เวลา 35 ถึง 49 วัน ด้วยเส้นทางบริการตรง AA3 ที่ดำเนินการโดยบริษัทขนส่งว่านไห่(Wan Hai shipping) ทำให้เวลาในการขนส่งเหลือ 21 วันเท่านั้น บริการ USCW ของสายการเดินเรือ ZIM มีเส้นทางที่เร็วที่สุดที่เชื่อมต่อท่าเรือ Cai Mep – Thi Vai กับชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา โดยเวลาขนส่งลดลงถึง 15 วัน

    กระทรวงคมนาคมอนุมัติแผนคัดเลือกผู้รับเหมาเพื่อให้คำปรึกษาด้านการสำรวจพื้นที่ การเตรียมแบบ และการกำจัดระเบิดเพื่อยกระดับกลุ่มท่าเรือ Cai Mep – Thi Vai จากทุ่นหมายเลข 0 ไปยังท่าบริการตู้สินค้า Cai Mep

    การดำเนินโครงการเริ่มต้นเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 และจะแล้วเสร็จในปี 2568 ด้วยเงินลงทุนรวม 1.4 ล้านล้านด่องจากงบประมาณของรัฐ

    จากข้อมูลของกระทรวงคมนาคม ช่องทางการเดินเรือจากทุ่นหมายเลข 0 ไปยังต้นน้ำของท่าเทียบเรือนานาชาติ Cai Mep (CMIT) รัออกแบบมาสำหรับเรือขนาด 160,000 DWT พร้อมน้ำหนักบรรทุกเต็มพิกัด และเรือขนาด 120,000 DWT สำหรับการเดินรือแบบสองทาง

    ค่าจ้างต่ำ เงินเฟ้อสูงทำลาวขาดแคลนแรงงาน

    ที่มาภาพ: https://www.vientianetimes.org.la/sub-new/Previous_84_y23/freeContent/FreeConten84_Lowwages_y23.php

    การอ่อนค่าของเงินกีบและอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นส่งผลให้ลาวประสบกับการขาดแคลนแรงงาน ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม ผู้นำทางธุรกิจของสปป.ลาวกล่าว

    ค่าครองชีพที่สูงขึ้นและค่าแรงที่ค่อนข้างต่ำทำให้ชาวลาวหลายพันคนต้องออกไปหางานทำในประเทศอื่นๆ เพื่อให้สามารถหาเงินได้มากขึ้นและยกระดับมาตรฐานการครองชีพ โดยส่วนใหญ่หางานในประเทศไทยและสาธารณรัฐเกาหลี

    ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว (Lao National Chamber of Commerce and Industry-LNCCI) นายอุเดด สุวันนะวง กล่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้เกิดความท้าทายอย่างมากสำหรับธุรกิจในการหาพนักงานและความพยายามในการส่งเสริมการส่งออก และแรงงานที่มีทักษะจำนวนมากได้ออกนอกประเทศเพื่อไปทำงานที่อื่นที่มีค่าตอบแทนสูงกว่า

    ประธาน LNCCI กล่าวอีกว่า เกษตรกรจำนวนมากทิ้งไร่นาของตัวเองหรือปลูกพืชน้อยลง เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้นและขาดคนงาน

    การสำรวจล่าสุดที่จัดทำโดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจมหภาค(Macroeconomic Research Institute) พบว่า คนจำนวนมากกำลังข้ามพรมแดนมายังประเทศไทยซึ่งสามารถหารายได้ได้มากกว่าในลาว

    “ในปี 2565 ค่าจ้างขั้นต่ำต่อเดือนในลาวต่ำกว่าไทยเกือบ 4 เท่า สาเหตุหลักมาจากการอ่อนค่าลงอย่างมากของสกุลเงินลาว” ผลสำรวจระบุ

    ด้วยเกือบ 2 ใน 3 ของประชากรลาวอยู่ในวัยทำงาน ประเทศจึงมีศักยภาพอย่างมากในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม มีความกังวลว่าอัตราเงินเฟ้อที่สูงซึ่งเฉลี่ยที่ 40.85% ในไตรมาสแรกของปี 2566 เมื่อบวกกับค่าจ้างที่ค่อนข้างต่ำ หมายความว่า คนงานจำนวนมากเลือกที่จะทำงานในประเทศเพื่อนบ้านซึ่งสามารถหารายได้ได้มากกว่า

    กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมประเมินว่า จำนวนชาวลาวที่ออกจากบ้านเกิดเพื่อหางานที่ได้รับค่าจ้างดีกว่าในประเทศไทยอาจเพิ่มขึ้นเป็น 400,000-500,000 คน

    นางดาลุนี พุมมาจัก นักธุรกิจหญิงกล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อที่สูงในลาวยังบีบให้แรงงานต่างชาติที่มีทักษะต้องเดินทางกลับประเทศ

    ราคาผู้บริโภคที่สูงขึ้นยังส่งผลกระทบต่อการจัดหางานในภาคอุตสาหกรรมแปรรูปและบริการ

    ในการประชุมคณะรัฐมนตรีประจำเดือนล่าสุด รัฐบาลตัดสินใจขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากปัจจุบัน 1.2 ล้านกีบเป็น 1.3 ล้านกีบต่อเดือน เพื่อช่วยบรรเทาความยากลำบากของชาวลาวจำนวนมาก

    ค่าจ้างขั้นต่ำใหม่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 พฤษภาคม เนื่องในวันแรงงานสากล อย่างไรก็ตาม อัตราค่าจ้างใหม่ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับค่าจ้างในประเทศอื่นๆ ในอาเซียน

    สำนักข่าวลาวพัฒนารายงานว่า ลาวและเมียนมามีค่าแรงขั้นต่ำ ต่ำที่สุดโดยมีอัตราเฉลี่ยเพียง 2.86 เหรียญสหรัฐ (50,000 กีบ) และ 2.30 เหรียญสหรัฐ (40,285 กีบ) ต่อวันตามลำดับ ขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยในกัมพูชาอยู่ที่ 6.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อวัน ในเวียดนาม 6.67 เหรียญสหรัฐฯต่อวัน ในอินโดนีเซีย 10 เหรียญสหรัฐฯต่อวัน ในประเทศไทย 10.09 เหรียญสหรัฐฯต่อวัน ในฟิลิปปินส์10.31 เหรียญสหรัฐฯต่อวัน และ ในมาเลเซีย 11.2 เหรียญสหรัฐฯต่อวัน

    ลาวเตรียมปรับปรุงฎหมายท่องเที่ยว


    ลาวเตรียมแก้ไขกฎหมายด้านการท่องเที่ยว ยกระดับความร่วมมือระหว่างรัฐบาล และธุรกิจ

    สำนักข่าวสารประเทศลาว(KPL Laos News-KPL) รายงานว่า กระทรวงได้จัดประชุมเมื่อวันพฤหัสบดี(4 พ.ค.)เพื่อหารือข้อเสนอแนะจากรัฐบาล ธุรกิจเอกชน และผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ เพื่อปรับปรุงกฎหมายการท่องเที่ยวของประเทศ

    นางสวนสะหวัน วิยาเกด จากกระทรวงสารสนเทศ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว กล่าวว่า กฎหมายการท่องเที่ยวฉบับปรับปรุงต้องกำหนดบทบาทและความรับผิดชอบของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ดียิ่งขึ้น เน้นการใช้ทรัพยากรการท่องเที่ยวของลาวอย่างยั่งยืน และยกระดับปรับปรุงความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและภาคธุรกิจ

    ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนด้านการท่องเที่ยวจะพัฒนาแพลตฟอร์มที่ทันสมัยสำหรับการจองการเดินทางผ่านระบบดิจิทัลเพื่อป้องกันการสูญเสียรายได้ของประเทศ

    นางสาวดาละนี พมมะวงสา หัวหน้าฝ่ายบริหารธุรกิจท่องเที่ยว แถลงว่า กฎหมายที่ใกล้แล้วเสร็จมี 5 ฉบับ คือ กฎหมายว่าด้วยแหล่งท่องเที่ยว กฎหมายว่าด้วยเขต กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมตลาด กฎหมายว่าด้วยธุรกิจสุขภาพ และกฎหมายว่าด้วยการท่องเที่ยวในเขตป่าสงวนฯ

    สมัชชาแห่งชาติและกระทรวงได้อนุมัติเงินทุนจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียเพื่อจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศและในประเทศ ทำการวิจัยและช่วยเหลือในการปรับปรุงกฎหมาย

    ลาวมีการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นในไตรมาสแรกของปี 2566 โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 800,000 คน ตามข้อมูลของกระทรวงสารสนเทศ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว