ปีนี้นับเป็นปีของการรับผลจากกฏ “การกระทำ” และ “ไม่กระทำ” ของไทยในหลายๆ เรื่อง ในระดับมาตรฐานสากล ทำให้ประเทศไทยได้รับทั้งใบเตือนและติดธงเหลือง ธงแดง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรฐานการค้างาช้าง มาตรฐานการบิน มาตรฐานการทำธุรกิจประมง นับเป็นสัญญาณการเตือนภัยครั้งสำคัญต่อความอยู่รอดและอนาคตของประเทศ
ล่าสุด ชาวประมงที่ผิดกฎหมายต้องจอดเรือไม่สามารถออกจับสัตว์น้ำได้ เพราะรัฐบาลโดยศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ออกคำสั่งมีผลบังคับใช้วันที่ 1 กรกฎาคม 2558 ดำเนินการตามกฎหมายกับเรือประมงที่ผิดกฎหมายและไม่ผ่านการตรวจสอบเอกสาร 15 รายการ ซึ่งไม่สามารถออกทำการประมงได้ จึงมีเรือจอดเทียบท่าหลายพันลำทั่วประเทศ
ทั้งนี้เป็นผลมาจากสหภาพยุโรป (EU) ยื่นคำขาดให้ประเทศไทยปฏิรูปนโยบายเรื่องการประมงที่ผิดกฎหมาย ที่ไม่มีการรายงาน และที่ไม่มีกฎข้อบังคับ หรือที่เรียกย่อๆ ว่า IUU (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) มิฉะนั้นจะถูกห้ามส่งออกอาหารทะเลไปยัง EU ภายในสิ้นปีนี้ เพราะความวิตกกังวลสำคัญของ EU คือการที่ประเทศไทยไม่สามารถให้การรับรองได้อย่างถูกต้องถึงแหล่งที่มาและความถูกต้องตามกฎหมายของอาหารทะเลที่ส่งออก
ปัญหาและยุทธวิธีแก้ไขปัญหาประมงทะเลของไทยได้มีการพูดถึงและเสนอแนะต่อรัฐบาลมาตั้งแต่ปี 2538 ว่าจะทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมประมงทะเลของไทยอยู่ได้อย่างยั่งยืนและมีทรัพยากรสัตว์ทะเลให้จับได้ตลอดไป
ต่อเรื่องนี้ นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ผู้ซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมประมงทะเลมาตลอดชีวิต เจ้าของกลุ่มบริษัทศิริชัยการประมง ได้เขียนยุทธศาสตร์การประมงทะเลของไทย พร้อมข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล เคยเป็นอดีตสมาชิกวุฒิสภา ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย ได้ให้ความเห็นต่อการแก้ปัญหาการทำประมงทะเลต่อกรณี IUU ว่า