ThaiPublica > Sustainability > Headline > ยูนิเซฟแนะรัฐบาลพัฒนากลไกติดตามกำกับดูแลสถานรองรับเด็ก หลังพบกว่า 1.2 แสนคนโตนอกบ้าน

ยูนิเซฟแนะรัฐบาลพัฒนากลไกติดตามกำกับดูแลสถานรองรับเด็ก หลังพบกว่า 1.2 แสนคนโตนอกบ้าน

20 เมษายน 2023


ยูนิเซฟรู้สึกกังวลเกี่ยวกับสวัสดิภาพของเด็กกว่า 120,000 คนที่อยู่ในสถานรองรับทั่วประเทศไทย จากข้อมูลงานวิจัยชิ้นใหม่ซึ่งเผยแพร่วันนี้โดยมหาวิทยาลัยมหิดล เครือข่ายและยูนิเซฟ พบว่า ปัจจุบันมีเด็กที่เติบโตนอกบ้านและอาศัยอยู่ในสถานรองรับทั่วประเทศกว่า 120,000 คน โดยสถานรองรับเหล่านี้ ได้แก่ สถานสงเคราะห์ บ้านพักเด็ก โรงเรียนประจำ วัด ศาสนสถาน และสถานที่ประเภทอื่น ๆ ที่รับเด็กไว้เลี้ยงดู ซึ่งส่วนใหญ่ยังขาดการติดตามและกำกับดูแล

งานวิจัยใหม่ “เด็กโตนอกบ้าน…ในสถานฯ ที่ไม่มีใครมองเห็น” พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีเด็กที่โตนอกบ้านที่อยู่ภายใต้การเลี้ยงดูในรูปแบบสถานรองรับอย่างน้อย 120,000 คน โดยเป็นไปได้ว่า หากมีข้อมูลเพิ่มเติมจากภาคส่วนต่างๆ คาดว่าจํานวนที่แท้จริงของเด็กที่โตนอกบ้านภายใต้สถานรองรับประเภทต่าง ๆ จะสูงกว่านี้มาก

ในประเทศไทยมีการรวบรวมข้อมูลว่ามีสถานสงเคราะห์เด็กเอกชนอย่างน้อย 679 แห่งซึ่งคาดว่าจะมีเด็กอยู่ในการเลี้ยงดูเฉลี่ยประมาณ 58,000 คน ในกลุ่มนี้มีสถานสงเคราะห์เด็กเอกชนอย่างน้อย 390 แห่งที่ดําเนินการโดยมิได้รับใบอนุญาตดําเนินการสถานสงเคราะห์ตามกฎหมาย (พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546) โดยจังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายมีจำนวนสถานสงเคราะห์เอกชนมากที่สุด โดยคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของสถานสงเคราะห์เด็กเอกชนทั้งหมดทั่วประเทศ

แต่ทั้งนี้พบว่าจํานวนเด็กที่อยู่ในสถานรองรับของภาครัฐมีจํานวนสูงกว่าเด็กที่อยู่ในสถานรองรับของภาคเอกชนอย่างมาก โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนา สังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีสถานรองรับในสังกัด 109 แห่ง รวมถึงบ้านพักเด็กและครอบครัวที่มีในทุกจังหวัด ซึ่งให้บริการแก่เด็กประมาณ 16,600 คนต่อปี ทั้งยังมีสถานรองรับเด็ก ซึ่งรวมถึงสถานสงเคราะห์ สถานคุ้มครองสวัสดิภาพ และสถานพัฒนาและฟื้นฟูของรัฐซึ่งมีเด็กราว 4,100 คนในความดูแลในแต่ละปี อย่างไรก็ดี หน่วยงานในกระทรวงเดียวกันยังมีสถานรองรับเด็กอื่นๆ รวมถึง สถานสงเคราะห์เด็กพิการและสถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้วย นอกจากนี้ยังมีเด็กที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่แต่ต้องเติบโตภายใต้การดูแลในรูปแบบสถานรองรับในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการอีกประมาณ 43,000 คน ในลักษณะของโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์และโรงเรียนประจําสําหรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

ทั้งนี้ข้อมูลจากการศึกษาที่มีเด็กจํานวนไม่น้อยกว่า 120,000 คนที่ได้กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ยังไม่ได้นับรวมถึงเด็กที่เติบโตในโรงเรียนประจําอื่นๆ รวมทั้งโรงเรียนประจําของเอกชน ซึ่งยังไม่มีข้อมูลที่แน่นอน และยังไม่ได้รวมจํานวนเด็กที่เติบโตในสถานรองรับขนาดใหญ่ประเภทอื่นๆ เช่น หอพักนักเรียนการกุศล โรงเรียนสอนศาสนา โดยเฉพาะในบริบทศาสนาอิสลามซึ่งมีหลากหลายประเภทสถานรองรับ ศาสนสถาน ที่พบว่าวัดให้การดูแลสามเณรประมาณ 33,510 รูป ไม่รวมเด็กที่อาศัยอยู่ในวัดโดยไม่ได้บวชเรียน และสถานรองรับในสังกัดกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ที่มีทั้งศูนย์ฝึก สถานแรกรับ และสถานพินิจ ดังนั้น ประมาณได้ว่า จํานวนเด็กที่โตนอกบ้านในสถานฯที่ไม่มีใครมองเห็นนั้นมีอยู่จํานวนมาก

ยูนิเซฟร้องรัฐบาลพัฒนากลไกติดตามกำกับดูแล

นางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “จำนวนเด็กที่ต้องอาศัยอยู่ในสถานรองรับเหล่านี้สูงจนน่าตกใจ เพราะการอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมซึ่งแยกจากครอบครัว โดยเฉพาะในสถานรองรับที่มีเด็กจำนวนมาก อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อพัฒนาการทางร่างกาย สมอง และอารมณ์ของเด็กในระยะยาว เนื่องจากเด็ก ๆ ไม่สามารถสร้างความผูกพันที่มั่นคง หรือพัฒนาทักษะทางสังคม หรือได้รับการดูแลเอาใจใส่ทั้งทางสุขภาพกายและจิตใจอย่างที่พวกเขาจะได้รับในสภาพแวดล้อมแบบครอบครัว สิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่งคือการขาดระบบกำกับดูแลตรวจสอบสถานรองรับเหล่านี้ นั่นแปลว่า เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเด็ก ๆ มีความเป็นอยู่แบบไหน ได้รับการดูแลอย่างไร หรือมีความเสี่ยงต่อการถูกใช้ความรุนแรง การถูกทำร้ายหรือถูกละเลยทอดทิ้งหรือไม่”

ยูนิเซฟเน้นย้ำเสมอว่า ในกรณีที่เด็กไม่สามารถอยู่กับครอบครัวได้ สถานรองรับหรือสถานสงเคราะห์ควรเป็นทางเลือกสุดท้ายและควรอาศัยอยู่ในระยะเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ งานวิจัยพบว่าเด็กที่เติบโตในสถานเหล่านี้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเผชิญปัญหาต่าง ๆ เมื่อเติบโตขึ้น เช่น ปัญหาด้านสุขภาพจิต การเรียน หรือการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น

ยูนิเซฟเรียกร้องให้รัฐบาลพัฒนากลไกเพื่อติดตามและกำกับดูแลสถานรองรับเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเด็ก ๆ จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอื้อต่อพัฒนาการของพวกเขา ในขณะเดียวกัน ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงวัฒนธรรม ควรต้องร่วมมือกันกำกับดูแลสถานรองรับรูปแบบต่าง ๆ รวมถึง สถานสงเคราะห์ บ้านพักเด็ก โรงเรียนประจำ วัดและศาสนสถาน

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวเด็กทุกคนควรได้เติบโตในสภาพแวดล้อมของครอบครัวที่ปลอดภัยและเต็มไปด้วยความรักและการดูแลเอาใจโดยที่ไม่มีความจำเป็นต้องมีสถานรองรับเหล่านี้ ทั้งนี้ ยูนิเซฟกำลังดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายเพื่อป้องกันไม่ให้เด็กถูกพรากจากครอบครัว พร้อมกับส่งเสริมให้เด็กได้อาศัยอยู่กับญาติหรือครอบครัวอุปถัมภ์ในกรณีที่พ่อแม่ของเด็กไม่สามารถเลี้ยงดูเองได้

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยการเลี้ยงดูทดแทนสำหรับเด็ก (พ.ศ. 2565-2569) ซึ่งรัฐบาลไทยได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะสนับสนุนครอบครัวให้เข้มแข็งขึ้น ตลอดจนส่งเสริมการเลี้ยงดูในรูปแบบครอบครัวและปรับปรุงมาตรฐานการดูแลเด็ก ควบคู่ไปกับลดการพึ่งพิงการดูแลในรูปแบบสถานสงเคราะห์

นางคิมกล่าวปิดท้ายว่า “เด็กทุกคนควรเติบโตในครอบครัวที่รักและดูแลเอาใจใส่ แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยการเลี้ยงดูทดแทนสำหรับเด็กถือเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทย แต่จะก่อให้เกิดประโยชน์ก็ต่อเมื่อนโยบายเหล่านั้นถูกนำมาปฏิบัติจริง ยูนิเซฟพร้อมทำงานร่วมกับรัฐบาลและภาคีเครือข่ายเพื่อสร้างสังคมที่เด็กทุกคนในประเทศไทยสามารถเติบโตในสภาพแวดล้อมแบบครอบครัวที่ปลอดภัยและเต็มไปด้วยความรักและการดูแลเอาใจใส่อย่างแท้จริง”

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

ประเทศไทยได้มีการพัฒนาแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยการเลี้ยงดูทดแทนสําหรับเด็กและระบบสารสนเทศ ด้านการคุ้มครองเด็ก แตยังขาดความชัดเจนของกลไก ความมุ่งมั่น และทรัพยากร ในการผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธต่อตัวเด็ก อย่างเป็นรูปธรรม รายงานมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 3 ประการที่สามารถดำเนินการได้เลย ได้แก่

1. การกำหนดนิยามสถานรองรับให้ครอบคลุมทุกประเภท แม้ว่าตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กจะกำหนดให้มีสถานรองรับไม่กี่ประเภท แต่หากพิจารณาลักษณะการจัดบริการของสถานรองรับประเภทอื่น เช่น หอพักนักเรียนการกุศล โรงเรียนประจำ โรงเรียนสอนศาสนา ศาสนสถาน และสถานรองรับเพื่อพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน พบว่ามีการให้การเลี้ยงดูเด็กที่ขาดการเลี้ยงดูโดยพ่อแม่เป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยมีกิจวัตรประจำวันที่เคร่งครัด และมีข้อจำกัดในการตอบสนองต่อความต้องการของเด็กเป็นรายบุคคลเช่นกัน ดังนั้น เพื่อให้เด็กทุกคนที่โตนอกบ้านในสถานรองรับได้รับการคุ้มครองและเลี้ยงดูอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับหลักการสำคัญของแนวปฏิบัติแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเลี้ยงดูทดแทนสำหรับเด็ก จำเป็นต้องมีการกำหนดนิยามสถานรองรับให้กว้างขวางขึ้นเพื่อเป็นพื้นฐานในการปรับใช้มาตรฐานการเลี้ยงดูในสถานรองรับและนโยบายคุ้มครองเด็กอย่างครอบคลุมต่อไป

2. การขยายความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น ๆ โดยเฉพาะภาครัฐ ที่มีเด็กอยู่ในการเลี้ยงดู พร้อมปรับใช้นโยบายคุ้มครองเด็กและจัดให้มีแผนการดูแลเป็นรายบุคคลเพื่อคืนเด็กสู่ครอบครัวในสถานรองรับทุกประเภท นอกจากกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แล้ว ยังมีเด็กอยู่ในการเลี้ยงดูของหน่วยงานอื่น ๆ โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐ ดังนั้นกรมกิจการเด็กและเยาวชนในฐานะผู้มีหน้าที่สำคัญในการคุ้มครองเด็กจึงควรขยายความร่วมมือด้านการคุ้มครองเด็กไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีเด็กอยู่ในการเลี้ยงดู อย่างน้อยเพื่อสร้างการตระหนักรู้ถึงข้อจำกัดในการเลี้ยงดูเด็กกลุ่มใหญ่และให้แนวทางในการลดผลกระทบเชิงลบที่มีต่อพัฒนาการและสุขภาวะของเด็ก อนึ่ง มาตรการพื้นฐานในการคุ้มครองเด็กในสถานรองรับที่มีเด็กอยู่แล้วคือการปรับใช้นโยบายคุ้มครองเด็ก และจัดให้มีแผนการดูแลเด็กเป็นรายบุคคลเพื่อคืนเด็กสู่ครอบครัวในสถานรองรับทุกประเภท ทั้งสถานรองรับเด็กเอกชน สถานรองรับเด็กของรัฐ โรงเรียนประจำหอพักนักเรียนการกุศล ศาสนสถาน โรงเรียนสอนศาสนาและสถานรองรับเด็กขนาดใหญ่ประเภทอื่น ๆ ด้วย

3.เสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวและชุมชน เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่ที่เข้ามาอยู่ภายใต้การเลี้ยงดูของ สถานรองรับมีสาเหตุมาจากความยากจนและการขาดโอกาส ทางการศึกษา ซึ่งไม่ใชเหตุผลที่เหมาะสมในการแยกเด็กออกจากครอบครัว แต่เป็นสัญญาณชี้ถึงความจําเป็นที่ควรช่วยให้ครอบครัวเข้มแข็งพอที่จะพึ่งพาตนเองและสามารถเลี้ยงดูบุตรเองได้ เมื่อครอบครัวมีความพร้อม และชุมชนมีความเข้มแข็งก็จะสามารถลดความเสี่ยงในการพรากเด็กออกจากครอบครัวโดยไม่จําเป็น อนึ่ง การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัวและชุมชนจําเป็นต้องอาศัยเจตจํานงที่เข้มแข็งของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง นโยบายที่ชัดเจนของผู้มีอํานาจ ตลอดจนเจตคติและแนวปฏิบัติเชิงรุกของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ พรอมทั้งการจัดสรรทรัพยากรของภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้มีบริการที่หลากหลายสําหรับ เสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวในแต่ละพื้นที่ และมีปริมาณเพียงพอต่อความจําเป็นที่ซับซ้อนของเด็กและครอบครัวในปัจจุบัน