สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ลุกลามรุนแรงไปทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ได้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนทั้งในสังคมโลกและประเทศไทยอย่างน้อย 3 ด้าน คือ การใช้ชีวิต (living) การเรียนรู้ (learning) และการทำงาน (working) สถานการณ์ดังกล่าวจะยังคงมีผลกระทบต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ประชาชนในสังคมต้องเรียนรู้ที่จะอยู่และปรับตัว เตรียมความพร้อม ที่จะใช้ชีวิตอยู่ในภาวะปกติใหม่ (new normal) หลังวิกฤติโควิด
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า การดำรงชีวิตอยู่บนความพอดีในทุกๆ ด้าน ไม่มากไปไม่น้อยไป จะทำให้โลกมีความสมดุล และประชาชนมีภูมิคุ้มกัน จะสามารถผ่านภาวะวิกฤตินี้ไปได้ สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จึงเห็นความสำคัญในการนำแนวพระราชดำริมาสืบสาน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ให้มีรูปแบบการพัฒนาการขับเคลื่อนสังคมไทยที่สมดุลหลังวิกฤติโควิด-19 และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการศึกษา วิเคราะห์ในเชิงวิชาการว่าสังคมโลกและประเทศมีทิศทางในการปรับเปลี่ยนอย่างไร ประชาชนมีความพร้อมต่อการปรับเปลี่ยนมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะประเทศไทยควรศึกษาว่า รูปแบบการขับเคลื่อนสังคมไทยด้วยการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริ เพื่อให้เท่าทันกับบริบทการเปลี่ยนแปลง ควรเป็นอย่างไร
แปดองค์กรประกอบด้วย ธนาคารแห่งประเทศไทย, สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา, สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, มหาวิทยาลัยมหิดล, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดยมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ และสำนักข่าวไทยพับลิก้าเป็นผู้ประสานงาน ได้ริเริ่ม โครงการ “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” เพื่อที่จะช่วยกันมองและหารูปแบบ/โมเดลการขับเคลื่อนสังคมไทย ด้วยการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริเพื่อให้เท่าทันกับบริบทการเปลี่ยนแปลงและนำประเทศผ่านวิกฤติในครั้งนี้
โครงการ “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” กำหนดออกรับฟังความเห็นทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคใต้ที่หาดใหญ่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ขอนแก่น ภาคเหนือที่เชียงใหม่ ภาคตะวันออกที่ชลบุรี จากนั้นคณะวิชาการจะได้ทำการรวบรวมทั้งงานทางวิชาการและความคิดเห็นของประชาชน เพื่อเสนอต่อรัฐบาลและประชาชนทั่วประเทศได้รับทราบในช่วงปลายปี 2563
โครงการ “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” ได้จัดเวทีรับฟังความเห็นจากภาครัฐและภาคเอกชนไปแล้ว 2 ครั้ง คือ ที่หาดใหญ่เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 และที่ขอนแก่นเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 โดยสาระสำคัญที่สรุปได้จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลและรับฟังความเห็นจากวงเสวนาขอนแก่น พบว่า ภาคอีสานมีพื้นฐานด้านการเกษตรที่มีศักยภาพ การสนับสนุนภาคเกษตรต้องใช้ทั้งองค์ความรู้ การวางแผนการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ รวมทั้งต้องมีการส่งเสริมการแปรรูปหรือเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิต ตลอดจนเปิดโอกาสให้เข้าถึงแหล่งทุน และจัดอบรมเสริมความรู้ ขณะที่ภาคธุรกิจมองปัญหาเป็นการสร้างโอกาส ขอเพียงรัฐและระเบียบราชการต้องอำนวยความสะดวก
เกษตรพื้นฐานเศรษฐกิจที่เริ่มขยาย
นายประสาท สมจิตรนึก ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งติดตามภาวะเศรษฐกิจการเงินของ 20 จังหวัดภาคอีสาน ได้ให้ข้อมูลพื้นฐานทางเศรษฐกิจของอีสาน และภาวะเศรษฐกิจภาพรวมในช่วงที่เริ่มมีวิกฤติโควิด
ด้านแรก ข้อมูลพื้นฐานทางเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในแง่พื้นที่และประชากรภาคอีสานมีสัดส่วน 1 ใน 3 ของประเทศ หรือประมาณ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์แต่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพียงประมาณ 10% เท่านั้นหรือ 1 ใน 10 ส่วนรายได้ต่อหัวของประชากรภาคอีสาน 22 ล้านคน มีรายได้ต่อหัวประมาณ 8 หมื่นบาท แต่ค่าเฉลี่ยของประเทศอยู่ที่ 220,000 บาท ต่ำที่สุดในทุกภาคเศรษฐกิจ
ในส่วนของโครงสร้างเศรษฐกิจ ภาคอีสานประมาณ 60 กว่าเป็นภาคบริการ ซึ่งเป็นภาพเดียวกันกับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ แต่ภาคเกษตรกับภาคอุตสาหกรรมจะสวนทางกับของประเทศ โดยในภาพรวมของประเทศภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วน 27% ภาคเกษตร 8% แต่ในอีสานภาคเกษตรมีสัดส่วน 20% และภาคอุตสาหกรรม 19% อีกทั้งเมื่อเจาะลึกลงไปในภาคอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรด้วย ดังนั้นมีความชัดเจนว่าภาคอีสานพึ่งพาภาคเกษตรเป็นหลัก
นอกจากนี้ใน 20 จังหวัดมี 4 จังหวัดหลักที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกันเกือบ 50% จังหวัดแรกคือนครราชสีมา จังหวัดที่สองคือขอนแก่น จังหวัดที่คือสามอุบลราชธานี และจังหวัดที่สี่คืออุดรธานี
“พืชเศรษฐกิจหลักของอีสานมี 4 ชนิด คือ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และยางพางราซึ่งเข้ามาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพร้อมกับการเริ่มกระจายของพืชเศรษฐกิจหลัก โดยในช่วงหลังๆ ดีขึ้นอีกมาก เพราะมีผลไม้มากขึ้น เช่น ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ และมังคุด เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าพืชเศรษฐกิจยังเป็น 4 ชนิดหลัก แต่เริ่มกระจายตัวมากขึ้น”
อย่างไรก็ตาม ในภาคเกษตรยังพึ่งพาน้ำฝนเป็นหลัก เพราะพื้นที่ที่มีการบริหารจัดการน้ำชลประทานเพียงประมาณ 10% จึงทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบต่อรายได้เมื่อเกิดภัยแล้ง รายได้ผันผวนสูง ส่งผลให้หลายๆ ครั้งต้องไปกู้ ไปก่อหนี้ ทั้งเพื่อการบริโภค และใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการทำการเกษตรกรรม
อีสานมีประชากร 22 ล้านคน เป็นแรงงาน 9.7 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานนอกระบบหรือแรงงานอิสระประมาณ 6.5 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณ 70% ขณะเดียวกันใน 9.7 ล้านคนนี้ ทำเกษตรประมาณ 5.1 ล้านคน นอกภาคการเกษตร 4.4 ล้านคน ดังนั้นแรงงานส่วนใหญ่ของอีสานคือแรงงานเกษตร
ด้านที่สอง ภาวะเศรษฐกิจ นายประสาทกล่าวว่า เศรษฐกิจอีสานเริ่มหดตัวตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2562 สาเหตุที่หดตัวไม่แตกต่างจากภาพรวมประเทศ ในช่วงนั้นการส่งออกเริ่มที่จะหดตัว เพราะการส่งออกของโลกมีข้อพิพาททางการค้า สงครามการค้า ประกอบกับในช่วงไตรมาสที่ 4 ปีก่อนเกิดภัยแล้งด้วย จึงได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีก็ล่าช้า ทั้ง 3 ปัจจัยนี้ทำให้เศรษฐกิจอีสานเริ่มชะลอตัวตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปีที่แล้ว
ในไตรมาสที่ 1 ปีนี้สถานการณ์โดยรวมมีท่าทีจะดีขึ้น ทั้งการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน แต่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปียังไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภา และการระบาดของโควิด-19 เริ่มเกิดขึ้นในต้นเดือนมกราคม จนกระทั่งวันที่ 23 มีนาคม รัฐบาลได้ประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้เศรษฐกิจในไตรมาสแรกชะลอต่อเนื่อง และยังชะลอตัวอีกในไตรมาสที่ 2 หลังจากการผ่อนปรนมาตรการเดือนพฤษภาคมกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาบ้าง
ขณะนี้เริ่มที่จะกลับมาทำกิจกรรมได้มากขึ้นกว่าในช่วงเดือนเมษายน แต่ยังไม่กลับมาเต็ม 100% เพราะบางภาคธุรกิจอาจจะกลับมาได้มาก บางภาคธุรกิจอาจกลับมาฟื้นตัวช้า
โดยเฉลี่ยไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ เศรษฐกิจยังหดตัวอยู่ต่อเนื่อง แต่ไตรมาสที่สองจะหดตัวน้อยลง เพราะฉะนั้นในภาพรวมจะเห็นว่า เศรษฐกิจของอีสานก็จะคล้ายๆ กับภาพเศรษฐกิจของประเทศ
ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นข้อดีหรือข้อเสียของอีสาน เศรษฐกิจของอีสานพึ่งพาการท่องเที่ยวจากต่างประเทศไม่มาก หากวัดจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทย 100 คน จะมาท่องเที่ยวอีสานประมาณ 2 คน ฉะนั้นกรณีเรือล่มที่ภูเก็ต ภาคใต้และภาคเหนือได้รับผลกระทบมาก แต่อีสานไม่ได้รับผลกระทบเพราะนักท่องเที่ยวต่างประเทศมาเที่ยวอีสานน้อย และหลังจากสถานการณ์นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาดีขึ้นในภาคใต้ช่วงปลายปี 2562 อีสานก็ไม่ได้อานิสงส์จากการกลับมาของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ การท่องเที่ยวอีสานจึงมีเสถียรภาพมาก
“จากการสำรวจความเห็นอย่างไม่เป็นทางการ คนทั่วไปมักจะเลือกเที่ยวอีสานเป็นภาคสุดท้าย การส่งเสริมการท่องเที่ยวในอีสานที่อาจจะทำได้ คงเป็นการท่องเที่ยวระหว่างจังหวัดของคนในอีสาน หรือจังหวัดใกล้เคียง”
พัฒนาเกษตรด้วยความรู้-เทคโนโลยี
นายโชคชัย คุณวาสี ที่ปรึกษาอาวุโส หอการค้าขอนแก่น เสนอแนวคิดใน 3 ด้าน คือ การสนับสนุนภาคเกษตรที่ต้องใช้องค์ความรู้รวมทั้งวางแผนการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ การช่วยเหลือภาคธุรกิจให้อยู่รอด และการบริหารจัดการการท่องเที่ยว
นายโชคชัยกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เกษตรกรที่ทำการเกษตรจึงยังใช้โครงสร้างเดิม การดำเนินการแก้ไขปรับปรุงจึงต้องพิจารณาจากโครงสร้างเดิม ภูมิปัญญาชาวบ้านมีมากมาย วิชาการสมัยใหม่ก็มีมาก smart farming ก็มีเทคโนโลยี แต่ยังไม่มีหน่วยงานหรือผู้ที่รับผิดชอบ ในการบูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาชาวบ้าน นำความรู้เชิงวิจัยใหม่ เทคโนโลยีใหม่ เข้ามาผสมผสานกัน บูรณาการองค์ความรู้ใหม่เพื่อไปช่วยเพิ่มผลิตภาพเกษตรกรอย่างไม่มีต้นทุน เพราะตรงนี้เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว แต่ไม่มีคนทำ หากให้เกษตรดำเนินการเองก็มีต้นทุนสูง ขณะที่การมีหน่วยงานภาครัฐมีหน้าที่ดูแล จะทำให้ต้นทุนต่ำ ซึ่งจะสามารถส่งเสริมให้เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์ ทั้งหมดลดการใช้สารเคมี กลับเข้ามาสู่ธรรมชาติ ก็สามารถที่จะยกระดับผลิตภัณฑ์ ผลิตผลทั้งหมด ทั้งผลิตผล และคุณภาพ ราคาที่ได้ก็จะสูงขึ้น
ในภาคเกษตรก็ยังมีปัญหาเรื่องน้ำ อีสานไม่ใช่แห้งไม่มีน้ำ อีสานมีน้ำแต่การจัดการน้ำไม่ดีพอ เพราะฉะนั้นโครงการโขงชีมูล โครงการเก่าแก่ จะต้องนำกลับมาปรับปรุง ประกอบกับการศึกษาพื้นที่ ตอนนี้หอการค้าทั้ง 20 จังหวัดรับเรื่องนี้ไปแล้ว ทุกหอการค้าคงต้องไปดูเส้นทางน้ำธรรมชาติในพื้นที่ตัวเองรวมทั้งพื้นที่ที่จะสร้างแก้มลิง จุดที่จะทำเขื่อน ทำฝาย บนความร่วมมือของกรมชลประทาน กรมทรัพยากรฯ ที่จะร่วมกันคิดวางแผนระบบการจัดการน้ำทั้งระบบ ที่ครอบคลุมไปถึงน้ำจากแม่น้ำโขง ซึ่งน้ำโขงที่ไหลมาไม่สามารถกั้นเขื่อนได้ เพราะติดประเด็นสัญญาระหว่างประเทศ ต้องรอน้ำที่ปล่อยจากเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนบน
“เราไม่มีวิธีที่จะดึงน้ำกลับเข้ามาในพื้นที่แผ่นดินเราเลย เราต้องทำทางน้ำเข้าไปเชื่อมเพื่อดึงน้ำโขงเข้ามาตอนที่ระดับน้ำสูงแล้วให้ปล่อยไหลเข้ามาเก็บในพื้นที่รองรับไว้ แล้วทำประตูกั้นเปิดปิด อันนี้เป็นแนวคิดเบื้องต้น แล้วค่อยๆ ถ่ายทอดน้ำจากบนลงล่าง น้ำไหลจากสูงลงต่ำ ก็สามารถจัดเก็บได้ แม่น้ำชีเราเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ไม่มีการจัดระบบน้ำตลอดเส้นทางเลย เราเป็นธรรมชาติล้วนๆ เลย เพราะฉะนั้น พวกนี้จะมาทำใหม่หมด จะมีการบูรณาการใหม่ ต้องใช้เวลา แต่อย่างน้อยผมคิดว่าเมื่อเริ่มทำตรงนี้ หอการค้าผลักดัน ผมเชื่อว่าเสียงไปถึงภาครัฐได้ ผมเชื่อว่าระบบน้ำสามารถจัดการได้ ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งก็จะลดลงไป”
เมื่อแก้ปัญหาน้ำได้ ก็สามารถใช้องค์ความรู้ทั้งหมดที่มีเพิ่มผลิตผล และทำการเกษตรที่ปลอดภัยให้บริโภคผัก บริโภคพืช ผลไม้ อย่างไม่เป็นอันตราย ทุกวันนี้ผลิตเกษตรยังปนเปื้อนสารพิษในระดับหนึ่ง หากทำตรงนี้ได้คุณภาพชีวิตจะดีขึ้น และเป็นโอกาสทำการตลาด เพราะบริโภคทั่วโลกเพียงแต่ต้องมีผลผลิตจำนวนมาก ส่วนระบบการขนส่ง สามารถที่จะสร้างได้ ตลาดหาได้ แต่การจัดการตรงนี้อย่าเน้นการจัดการในเชิงทุนนิยมอย่างเดียว ต้องจัดการและแบ่งปันให้เกษตรกรมีรายได้ยกระดับขึ้นได้ เกษตรกรต้องรวยได้ เกษตรกรรวยได้ อีสานก็จะไม่จน
ภาคเกษตรยังรองรับแรงงานที่ไม่สามารถเพิ่มทักษะให้เป็นที่ต้องการของระบบเศรษฐกิจได้ แต่ภาคเกษตรต้องมีผลผลิตที่ดีในปริมาณที่มากพอ และการให้แรงงานเข้ามาอยู่ในภาคการเกษตรนั้น ต้องให้อยู่ในภาคการเกษตรที่มีฐานะ เป็นเกษตรแผนใหม่ เกษตรวิถีใหม่ที่มีรายได้เป็นคนมีเงิน
“1 ใน 3 ของประชากรเราเป็นเกษตรกร ถ้าคนกลุ่มหนึ่งในสามสามารถที่จะพลิกทำโพรดักต์ให้ดี คุณภาพของสินค้าของพืชผลให้ดี เป็นอินทรีย์มีความอร่อย ผมเชื่อว่าถ้าเราตั้งใจทำตอนนี้ พันธุ์บางอย่างเป็นพันธุ์ของไทยเราเอง ส่งเสริมให้พอ ยังมีช่องว่างอีกมากที่จะขยาย แล้วเราไม่ได้มีพืชผักผลไม้ประเภทเดียว เรามีหลายชนิด แต่ต้องเลือกพันธุ์เลือกผลไม้ที่จะปลูกให้เหมาะสมกับพื้นถิ่น เพราะทั้งพันธุ์ ดิน เราเราเลือกได้ น้ำเราควบคุมได้ มีผลวิจัยหมด แล้วสุดท้ายอุณหภูมิเราสามารถควบคุมได้หมด แต่ต้นทุนจะสูง ดังนั้นราคาต้องปรับขึ้น แล้วสิ่งที่ตามมาคือผลิตภาพของเกษตรกร”
ในประเทศและทั้งโลกยังมีคนที่จะบริโภคสินค้าเหล่านี้ได้ หากเริ่มทำวันนี้ในอีก 10 ปีข้างหน้าพืชผักผลไม้สามารถที่จะสร้างกลับขึ้นมาใหม่ได้ ดังตัวอย่างที่เห็นจากทุเรียนก้านยาวเมืองนนท์ลูกละ 10,000 บาท หรืออาจจะไม่ต้องทำราคาให้สูงมากนัก ทำราคาให้มีหลายระดับ และมีขายออกไปทั่วโลก ดีมานด์ซัพพลายเป็นเรื่องของการจัดการซึ่งเชื่อว่าสามารถทำได้ ทั้งคน แรงงาน เทคโนโลยี ถ้าเกษตรกรทำแล้วรวยก็เชื่อว่าคนจะเข้ามาอยู่ในภาคนี้จำนวนมาก นอกจากนี้เมื่อทำไปอีกระยะหนึ่งก็จะไปถึงจุดที่ไทยเผลิตเพื่อส่งออกเป็นครัวโลกได้ทั้งโลก
เอกชนคิด ทำ เปลี่ยนปัญหาเป็นโอกาส ขอรัฐอำนวยความสะดวก
การคิดใหม่ที่จะก้าวเดินต่อต้อง เริ่มจาก mindset หรือแนวคิดที่เป็นบวก ทุกวิกฤติมีโอกาส ตัวอย่างที่เห็นชัดในขอนแก่น คือ โรงงานแหอวน ซึ่งเป็นรายใหญ่รายหนึ่งของโลกและโดยปกติไม่ได้รับคำสั่งซื้อมากนัก แต่ในช่วงวิกฤติโควิดแทนที่ยอดขายจะลดลงกลับได้รับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นเกือบ 100% เพราะกลุ่มประเทศต่างๆ ที่ผลิตแหอวนไม่สามารถผลิตได้ คำสั่งซื้อจึงไหลเข้ามา ทำให้ประสบปัญหาว่า แรงงานไม่พอเพราะแรงงานไทยไม่ทำ แรงงานพม่าที่ทำงานประเภทนี้ก็ไม่สามารถเข้ามาได้ ไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้
“ผมเชื่อว่าหลายๆ ธุรกิจส่วนใหญ่โชคไม่ดีอย่างนั้น ในช่วงที่ผ่านมาอาจจะมีปัญหากระทบกำลังซื้อที่ลดลง สิ่งนี้ผมอยากจะบอกว่า ตรงนี้ก็เป็นสัญญาณเตือน การพึ่งพาตนเองเป็นสิ่งหนึ่งที่เราจะต้องสร้างฐานตรงนี้ให้เข้มแข็ง เราพึ่งพาการท่องเที่ยวมากไป เมื่อเขาเข้ามาไม่ได้ก็มีปัญหาอย่างที่เราเจออยู่ เพราะฉะนั้นต้องสร้างสมดุลตรงนี้ให้ได้ ต้องยกระดับการบริโภคในประเทศขึ้น ทำให้คนในประเทศมี mindset ที่จะเที่ยวในประเทศ เราไม่เคยจัดการเรื่องการท่องเที่ยวในประเทศไทยอย่างเป็นระบบ สิ่งที่จะเป็นสันทนาการให้ดีๆ ก็กลายเป็นรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้คนไทยเราเข้าไม่ถึง พวกนี้เป็นสิ่งที่ต้องทำทั้งหมด ซึ่งหอการค้าในภาคอีสานเราได้คุยเรื่องนี้กัน”
อีสานยังมีปัญหาเรื่องดิน พื้นที่อีสานส่วนใหญ่มีดินเค็ม มีเกลือสินเธาว์ใต้ดินมาก แต่พื้นที่ส่วนหนึ่งที่มีอยู่ ก็เป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การเพาะปลูกได้เช่นกัน แต่เมื่อหอการค้ารับรู้ประเด็นนี้ก็ได้ติดต่อกับผู้ประกอบการที่ค้าอาหารทะเล ให้แนวความคิด ผลิตอาหารทะเลที่อีสาน เป็นแหล่งเลี้ยงสัตว์ทะเลโดยใช้ความเค็มของดินมาเป็นทุน แล้วเสริมด้วยอย่างอื่นเพื่อให้น้ำมีคุณสมบัติเหมาะที่จะเลี้ยงสัตว์ทะเล เพื่อที่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สามารถส่งไปที่จีน หรือส่งไปประเทศเพื่อนบ้านของไทยได้ รวมไปถึงเส้นเวียดนามจนถึงเมียนมา อินเดีย ผู้ประกอบการก็สนใจมาทำการทดลอง
“ผลการทดลอง ตอนนี้คิดว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะเอาสัตว์ทะเลมาเลี้ยงในพื้นที่อีสาน ส่วนต้นทุนก็หักลบกลบหนี้ค่าใช้จ่ายด้านขนส่งแล้วของเราได้เปรียบมากกว่า เพราะใช้ระยะเวลาขนส่งสั้นกว่า อันนี้เป็นโอกาสทางหนึ่ง”
“ผมอยากจะบอกว่าเป็นมุมคิดของนักธุรกิจเอกชนที่มองว่าอะไรเป็นปัญหา เราก็จะพยายามเอาปัญหานั้นมาสร้างโอกาส หรือถ้ามีปัญหาที่เป็นอุปสรรคเราก็จะทำอย่างไรให้เดินผ่านไป ต้องเรียนย้ำตรงนี้ว่า กฎระเบียบราชการ ถ้าเป็นไปได้อยากให้มีการปรับแก้ในบางเรื่องบางจุด เพื่อให้กฎระเบียบของราชการนั้นเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันในทุกๆ เรื่อง”
“ผมเองในนามขอนแก่นพัฒนาเมือง จะเดินรถไฟฟ้ารางเบาก็ติดระเบียบราชการ เราทำมา 4-5 ปี ติดระเบียบราชการทั้งนั้นเลย ทุกอย่างผู้ใหญ่เห็นด้วยหมด ไม่มีอะไรขัดแย้ง ไม่มีข้อขัดแย้งที่เป็นลบเลย ความเสี่ยงตกที่เอกชน เงินลงทุนเอกชน สัมปทานเป็นของรัฐ ผู้ใหญ่เข้าใจหมดแต่ 4-5 ปีแล้วยังเดินได้ไม่เสร็จเพราะติดระเบียบราชการ เป็นต้น ก็อยากจะฝากภาครัฐช่วยผลักดันเรื่องนี้เพื่อให้ระเบียบราชการเหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน รัฐทำหน้าที่กำกับดูแล อำนวยความสะดวกผมว่าพอแล้ว อย่ามาเป็นผู้เล่นเลย กำกับอยู่ข้างบนทุกอย่างจะไปได้เร็วกว่า”
ทุกฝ่ายต้องช่วยสภาพคล่องธุรกิจ
นายโชคชัยกล่าวถึงภาคแรงงานว่า ภาครัฐคงไม่ต้องการให้มีการลดการจ้างงาน อยากจะคงการจ้างงานไว้ แต่ประเด็นมาตรการที่รัฐออกมา รัฐแก้ปัญหาไม่ตรงจุด และไม่ได้ผล 3 เดือนที่ผ่านมาลดการตกงานไม่ได้ เพราะไม่มีความมั่นใจในกำลังซื้อที่ตกลงอย่างเห็นได้ชัด จากทุกๆ ธุรกิจ และกระทบกันเป็นลูกโซ่
“สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อว่าทำได้คือ การช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง ธุรกิจบางอย่าง หากไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ก็จำเป็นที่ต้องปล่อยไป แต่ก่อนจะถึงตรงนั้นภาคส่วนที่เกี่ยวข้องขอให้ทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุด คือ เข้าไปช่วย ภาคแบงก์พาณิชย์ ภาคธุรกิจที่เป็นแบงก์ ควรให้สินเชื่อคนที่มีปัญหาและมีโอกาสที่จะสามารถเดินต่อได้ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าถ้าเสี่ยงก็ไม่ปล่อย แบงก์ไม่เคยดูแผนธุรกิจว่าจะเอาเงินมาทำอะไร เมื่อธุรกิจไม่มีเงินก็จะต้องจ้างโดยที่ยอดขายลดลง และมีค่าใช้จ่ายคงที่ ไม่ว่าธุรกิจไหนก็คงไปไม่รอด”
“โควิดจะยังคงอยู่อย่างน้อย 2 ปีเป็นอย่างต่ำ บางแห่งก็บอกว่าถึง 4 ปีถึงจะฟื้นกลับมาอยู่ในจุดใกล้ๆ เดิม ในช่วง 2-4 ปีนี้ธุรกิจจะอยู่ได้อย่างไรที่มีเสถียรภาพที่พออยู่ได้ แต่หากอยู่ไม่ได้ต้อง layoff คน บางธุรกิจอยู่ได้ถ้า layoff คนเพื่อลดต้นทุน แต่ต้องทำอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่ทำแบบตัดต้นทุน แต่ให้คนไปเป็นปัญหาของสังคมต่อ ทำให้เกิดปัญหาลูกโซ่ตามมา รัฐเองก็ต้องจุนเจือคนตกงาน กำลังซื้อในช่วงต้นๆ ที่เขาตกงานไม่เพียงพอ อาจเกิดปัญหาสังคมตามมาอีกเยอะแยะเลย แต่ตอนนี้การแก้ปัญหาที่ล่าช้ายิ่งทำให้ปัญหาหนักขึ้น ก็คงต้องให้กำลังใจรัฐบาล และก็ขอให้ราชการทำหน้าที่ตัวเองให้เข้มแข็งกว่านี้หน่อย รวมถึงภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง”
บริหารจัดการท่องเที่ยวให้มีมาตรฐาน
ด้านท่องเที่ยว อีสานมีที่เที่ยวเชิงแหล่งอารยธรรมและเชิงประวัติศาสตร์มากมาย เช่น ไดโนเสาร์ยุคจูราสสิกที่ขอนแก่น ที่กาฬสินธุ์ นอกจากนี้ยังมีวัด มีประวัติศาสตร์ประเพณีสืบเนื่องงานพุทธศาสนา อีกทั้งอาหารอีสานเป็นอีกจุดหนึ่งที่มีเสน่ห์ แต่ไม่ได้ทำตรงนี้ให้ชัดเจนขึ้น 3 เรื่องนี้เป็นหลายๆเรื่องที่อยู่ในของภาระกิจของหอการค้าภาคอีสาน ที่กำลังมุ่งจะไปบูรณาการกับภาครัฐเพื่อจะผลักดันการเกษตร การท่องเที่ยว การยกระดับนวัตกรรมอาหารอีสาน
หอการค้า 7 จังหวัดริมแม่น้ำโขง กำลังบูรณาการการพัฒนาการท่องเที่ยวบนริมน้ำโขง ในภาพรวมได้มีการวางแผน หลายจังหวัดก็รับไปดำเนินการในพื้นที่ตัวเองที่จะประสานงานหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในเชิงท่องเที่ยว บูรณาการในรูปแบบการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพและเป็นมาตรฐานมากขึ้น ขณะเดียวกันไม่ละเลยท่องเที่ยวชุมชน ครอบคลุมทุกพื้นที่ รวมทั้งมีการพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่ม เพราะอีสานยังมีผ้าไหม ผ้าทอมือ ซึ่งเป็นสินค้าที่ยังสร้างรายได้ได้ดี มูลค่าสูง แต่ต้องมีการออกแบบต่อยอด นำผ้าไปดีไซน์ออกแบบให้มีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ Thailand Creative & Design Center (TCDC) ได้เริ่มรับเข้ามาเป็นส่วนร่วมที่จะนำแนวคิดมาพัฒนาสินค้าประเภทผ้าต่างๆ ให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น เป็นส่วนหนึ่งที่จะไปต่อยอดในเชิงของท่องเที่ยวชุมชน
ประเด็นสุดท้าย คนถ้าจะอยู่ในยุคต่อไป ต้องย้อนกลับมาปัจจัยพื้นฐาน ให้มีปัจจัยสี่ครบเพื่อให้อยู่รอดก่อน ส่วนเทคโนโลยีเสริมได้ในภายหลัง แต่ตอนนี้เน้นเทคโนโลยีเป็นฐาน อาจต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ ใช้ความเก่าที่มีอยู่เดิมแต่เพิ่มของใหม่เข้าเพื่อไม่ให้ล้าหลัง และไม่ใช่วิ่งตามเทคโนโลยีจนลืมพื้นฐาน นอกจากนี้ สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงสำหรับประเทศไทยคือความมั่นคงทางไฟฟ้า ความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้า ทุกวันนี้ยังต้องซื้อไฟฟ้าจากลาว ผลิตในประเทศไม่ได้ ต้องเข้าใจต้องพัฒนาไปพร้อมกัน ต้องมีพื้นฐานที่จะต้องรองรับ
จัดการน้ำต้องสอดคล้องกับพื้นที่
นายมนตรี ดีมานพ ผู้อานวยการ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ความเห็นว่า ภาคอีสานไม่ใช่จะหมดหนทางเสียทีเดียว มีหลายด้านที่นับว่าเป็นทุนที่มีอยู่ ภายใต้แผ่นดินอีสานมีทรัพยากรมหาศาล ซึ่งยังไม่นำมาใช้อย่างเต็มที่ แล้วยังคิดว่าอย่าเพิ่งนำมาใช้ เพื่อให้คนในอนาคตลูกหลานในอนาคตใช้ทรัพยากรนี้มาพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น เกลือโพแทส ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมคนสำหรับใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ในอนาคต และยังไม่นับรวมทุนอีกหลายทั้งทุนทางสังคม ทุนทางเศรษฐกิจที่มี
สำหรับเรื่องน้ำภาพที่มักเห็นเสมอที่ผ่านมาคือ ขาดน้ำ แต่จากข้อมูลอีสานไม่ขาดน้ำ น้ำท่าที่ไหลเข้าภาคอีสานปีหนึ่งประมาณ 45,000 ล้านคิวบ์ แต่อีสานมีปัญหาเรื่องการจัดการ เพราะสามารถเก็บได้ประมาณ 17% ที่เหลือต้องปล่อยให้เข้าสู่ระบบลงแม่น้ำโขงไป สาเหตุที่เก็บไม่ได้เนื่องจากมีข้อจำกัดทางกายภาพ ใต้แผ่นดินอีสานเต็มไปด้วยเกลือมหาศาล โครงสร้างดินภาคอีสานเป็นดินทราย การจะเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวนมากก็เหมือนกับเอาน้ำมาแบกอยู่ในแผ่นดิน ที่ผ่านมาพอน้ำมีมาก บางที่เป็นการละลายของเกลือ กระทบกับวิถีชีวิตที่ผลิตอยู่เดิม คือ เกษตรกรรม
ฉะนั้น การที่จะทำออกแบบหรือการพัฒนาแหล่งน้ำคงไม่ใช่แหล่งน้ำขนาดใหญ่ ตัวเลขพื้นที่ชลประทานมีประมาณ 15% ซึ่งหากทำเต็มที่ก็ได้ประมาณนี้ การจัดน้ำก็ต้องใช้วิธีการจัดเฉพาะพื้นที่ เป็นแหล่งน้ำขนาดเล็ก เป็นแหล่งน้ำตามไร่นา เป็นรูปแบบที่จะต้องทำ
การจัดการลักษณะนี้เกี่ยวข้องกับเกษตรกร เกี่ยวข้องกับคน จะสั่งให้คนทำทั้งหมดไม่ได้ ต้องเป็นการพัฒนาด้วยความเข้าใจของตัวเกษตรกรว่าจะตัดสินใจเลือกใช้พื้นที่ที่มีอยู่อย่างไร จะใช้บางพื้นที่ก็มีขนาดการถือครองไม่ได้มาก
“วัฒนธรรมแนวคิดดั้งเดิมก็คือ ไม่อยากเสียที่ดิน เป็นเงื่อนไขที่เป็นมาตั้งนานแล้ว ในอดีตเราเคยมีความคิดว่า ทำไมเราเปรียบเทียบระหว่างผลตอบแทนของการทำนากับการทำประมงในพื้นที่นาเดียวกัน การทำประมงเราทำในพื้นที่แค่ 1 งานใน 1 ไร่ ให้ผลตอบแทนมากกว่าการปลูกข้าวถึง 1 ไร่ แต่ถ้าให้เกษตรกรเลือก เกษตรกรขอตัดสินใจเลือกที่จะทำนามากกว่า เพราะมีเรื่องของวัฒนธรรมวิถีชีวิตเป็นความเชื่อ เป็นสิ่งที่เป็นเงื่อนไขทางสังคม”
เปลี่ยนรูปแบบการผลิตสร้างมูลค่าเพิ่ม
นายมนตรีกล่าวว่า ในประเด็นด้านเศรษฐกิจอีสานเป็นเกษตรกรรม มีคนมาก พื้นที่กว้างใหญ่ พื้นที่เกษตรก็มีมาก ทุนทางกายภาพมีมากมาย มีข้อจำกัดเรื่องคุณภาพดินบ้างซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา ใช้เทคโนโลยีจัดการได้ แต่ปัญหาคือ ยังผลิตเหมือนเดิม รูปแบบการผลิตเหมือนเดิม พึ่งพาน้ำฝนเหมือนเดิม สิ่งที่ผลิตออกมาก็มีไม่กี่ชนิด ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ซึ่งได้ราคาตามตลาด หลายประเทศก็ทำได้เหมือนกับไทย
“สิ่งที่เราคิดเราจะต้องทำ คือ ต้องเปลี่ยน เราจะไปเปลี่ยนไม่ให้เขาทำการเกษตรไม่ได้ แต่เราเอาสินค้าเกษตรทำอย่างอื่นได้ ทิศทางการพัฒนาเพื่อการยกระดับมูลค่า การผลิตข้าวอาจจะไม่ได้เพื่อขายข้าวแล้ว แต่เป็นสินค้าชนิดอื่น ตามบริบทที่โลกเปลี่ยนไป สินค้าก็เปลี่ยนตามโครงสร้างสังคมที่จะเปลี่ยน”
โดยหลักคิดหลักๆ คือ สินค้าเกษตรต้องเปลี่ยน ต้องแปรรูปหรือเพิ่มมูลค่าสินค้าหลัก โดยใช้การวิจัยและพัฒนา ซึ่งในภาคอีสานเองมีทุนด้านนี้พอสมควร มหาวิทยาลัยหลายแห่งปรับตัวแล้ว ไปสู่อุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยอุบลฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี bio economy ในหลายพื้นที่เริ่มดำเนินการแล้ว แต่ตอนนี้อยู่ในขั้นของการพัฒาต้นแบบ ซึ่งอาจจะพัฒนาสินค้าได้ไม่กี่ชนิด แต่พื้นฐานเป็นการยกระดับตัวสินค้าที่มีอยู่ไปสู่สินค้าชนิดอื่น
เช่น มันสำปะหลังทุกวันนี้ราคากิโลกรัมละ 1.90 บาท ผลิตสินค้าต่อเนื่องได้ไม่กี่อย่าง ทั้งมันเส้น มันผง แต่ในอนาคตอาจเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นอาหารเสริม เป็นโปรตีน เป็นเอนไซม์ แต่ปัญหาหลักที่ยังไม่สามารถทำได้มากคือ การจัดการมันสำปะหลังให้เข้าสู่ระบบการผลิต ยังไม่สามารถทำได้
การจัดการเป็นปัญหาเดียวกับที่พบในการผลิตสินค้าเกษตรอื่น เช่น ผ้าไหม ที่มีความต้องการอีกมาก ยังจัดการไม่ได้ตั้งแต่พันธุ์ไหม การจัดการพันธุ์ไหมให้เหมาะสมแต่ละพื้น การจัดการกับคุณภาพเส้นไหม ตลอดจนแปลงหม่อน นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงไปเรื่องน้ำโยง คน และวัฒนธรรม เพราะผ้าไหม ยังเป็นรายได้รอง เป็นอาชีพเสริมที่หลังจากทำการเกษตร กลุ่มที่ทำเป็นอาชีพหลักมีน้อย เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะไปลงทุนดูแล หรือลงทุนด้านเทคโนโลยีในสิ่งที่ไม่ได้เป็นอุตสาหกรรมหลักของครัวเรือนจึงมีน้อย
“อัตลักษณ์สำคัญที่จะดึงดูดลูกค้าคือ ไหมเป็นเรื่องราวที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมและเป็นเรื่องราวที่ขายได้ แต่ยังไม่ไปสู่ผู้บริโภค การตัดสินใจของผู้บริโภคตอนนี้ใช้แค่ราคา ยังไม่ได้ตัดสินใจที่คุณภาพและวัฒนธรรมหรือในเชิงคุณค่า ไหม 80% อยู่ในภาคอีสาน เพราะฉะนั้นเป็นสินค้าอีกประเภทที่จะสร้างรายได้ แต่สร้างคุณภาพสินค้า พัฒนาคนในห่วงโซ่ให้ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่”
มองภาพสังคมอนาคตเพื่อวางแผนรับมือ
ในมิติสังคม เมื่อดูเงื่อนไขทางสังคม ปัญหาแรกที่เจอในหลายๆ พื้นที่ หรือแม้แต่ในโลก คือ โครงสร้างประชากรที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าไทยจะเป็นสังคมสูงวัยสมบูรณ์ โดยมีประชากรสูงวัยในสัดส่วน 20% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งมีสัญญาณเตือนจาก productivity หรือผลิตภาพแรงงานลดลงเรื่อยๆ ในทุกภาคการผลิตที่ใช้แรงงาน เป็นตัวบ่งชี้ว่าเริ่มมีปัญหา และต้องยกระดับ productivity
อย่างไรก็ตาม การที่ productivity ไม่เพิ่มอาจจะมาจากอีกหลายสาเหตุ หนึ่งสินค้าที่ขายราคาไม่สูง จึงทำให้ productivity ต่ำตาม สอง ทักษะ ภาคการเกษตรมีทางออกด้วยการเป็น smart farmer ส่วนในภาคอุตสาหกรรมก็จะมีการ reskill, upskill เพื่อให้ทักษะสูง แต่หากภาคเอกชนไม่ลงทุน productivity จะไม่เกิดตาม
“เราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว คำถามตามมาแล้วเราจะจัดการอย่างไร เพราะไม่ได้อยู่ภาคการผลิตอย่างเดียว การดำรงชีวิตหรือวิถีชีวิตชาวบ้านของชุมชนต้องปรับตาม”
นอกจากนี้ อัตราการเกิดของคนลดลงต่อเนื่องจนใกล้ระดับศูนย์แล้ว และอาจจะเกิดผลกับประเทศ ในภาคอีสานเองอัตราการเกิดลดลง หมายความว่าในอนาคตจะไม่มีคนเข้ามาทดแทนคนรุ่นปัจจุบัน แต่การผลิตของภาคอุตสาหกรรมยังต้องดำเนินการต่อ ดังนั้นเป็นไปได้ว่า คนจากที่อื่นจากประเทศอื่นจะต้องเข้ามา และอาจจะเกิดปัญหาสังคม วัฒนธรรม ต่างจากการเข้ามาของแรงงานในปัจุบัน เนื่องจากแรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่เกาะกลุ่มอยู่
“การอยู่ร่วมในสังคมจะเริ่มมีปัญหาเกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นประเด็นที่อาจจะท้าทายในอนาคต แต่เราจะต้องมองภาพให้ออก ทั้งเรื่องคุณภาพคน เรื่องความยากจนที่เป็นผลพวงมาจากการผลิต จากข้อจำกัดทางด้านเศรษฐกิจที่ไม่มีโอกาสทำงาน ข้อจำกัดด้านกายภาพอยู่ที่ห่างไกล หรือที่ดินภาคการเกษตรไม่เหมาะสม หรือข้อจำกัดด้านสุขภาพ”
นายมนตรีกล่าวต่อว่า อีกหนึ่งเรื่องสำคัญคือ คุณภาพคนที่มีอยู่ โดยเฉพาะเด็ก จากข้อมูลไอคิวของเด็กภาคอีสาน ไม่ถึงกับขนาดน้อยสุดเมื่อเทียบกับภาคอื่น และดีกว่าภาคใต้ชายแดนเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก อีกทั้งมีแนวโน้มลดลง การดูแลคนตั้งแต่ในช่วงของครรภ์มารดาจึงมีความสำคัญมากต่อการพัฒนาคน ซึ่งสิ่งเหล่านี้สร้างได้ อยู่ที่การดูแล การมีระบบที่จัดการคน โดยเฉพาะคนเป็นแม่ที่จะตั้งครรภ์ในอนาคต ต้องอยู่ในระบบ ต้องเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ แม้มีปัญหาเรื่องแม่วัยใสที่ต้องจัดการดูแล แต่อย่างน้อยให้อยู่ในระบบเพื่อดูแลสุขภาพได้ ฉะนั้นตรงนี้เป็นความรู้ที่ต้องให้คนเข้าใจ และภาครัฐต้องจัดการให้ทั่วถึง ซึ่งจะทำให้คนทั้งหมดไปอยู่ในสิ่งที่คาดหวังว่า ถ้าคนมีคุณภาพ ได้รับการดูแลทั่วถึงเป็นอย่างดี การพัฒนาทางเศรษฐกิจไม่ว่าด้านใด หรือการนำเอาทรัพยากรขึ้นมาใช้ การใช้เทคโนโลยี ถ้าคนมีความพร้อมก็สามารถจะทำในสิ่งที่วางแผนไว้ได้ทั้งหมด
รายงานความก้าวหน้าของการพัฒนาคนปี 2562 แสดงให้เห็นถึงปัญหาหลักที่ไทยต้องเผชิญ คือ สุขภาพ โครงสร้างครอบครัว สะท้อนวิถีดำรงชีวิตของการดูแลสุขภาพ และต่อเนื่องมาถึงคุณภาพคน การพัฒนาคน เรามีทุนมากมาย มีเทคโนโลยี มีทุนความรู้หมด แต่ต้องคำนึงด้วยว่าจะจัดการกับคนอย่างไร หรือจะให้โอกาสเขาอย่างไร หรือจะทำบริการพื้นฐานตามบทบาทหน้าที่ที่รัฐมีให้ได้เข้าถึงได้อย่างเต็มที่”
ต้องให้โอกาสเข้าถึงแหล่งทุน-เงื่อนไขต้องไม่ยาก
นางสาวกชพร สมคำศรี นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดอุดรธานี ให้ข้อมูลว่า อุดรธานีเป็นเมืองค้าปลีกค้าส่งที่สำคัญในเขตอีสานตอนบน ซึ่งเชื่อมต่อหนองคายและไป สปป.ลาว เป็นเมืองธุรกิจที่สำคัญ ทุกวันประชาชนจาก สปป.ลาวจะเดินทางเข้ามาที่อุดรธานีเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค บริการด้านการแพทย์ เมื่อมีการระบาดของโควิด-19 ช่วงที่ผ่านมา อุดรธานี ได้รับผลกระทบไม่น้อยเช่นกัน
โดยข้อมูลสถิติจากสำนักงานคลัง ของจังหวัดอุดรธานี ชี้ว่าภาคบริการหดตัวสูงมาก โดยเฉพาะค้าปลีกค้าส่ง แต่ภาคที่กลับขยายตัวคือภาคเกษตร ขยายตัวค่อนข้างจะสูง การผลิตเดือนมีนาคมเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม ขยายตัว 8% ต่อมาเดือนมิถุนายนขยายตัวต่อเนื่อง 11% แสดงว่าภาคการเกษตรเป็นภาคที่สำคัญที่จะช่วยรองรับในการเจอวิกฤติต่างๆ ไปได้
สำหรับจังหวัดอุดรธานี ยุทธศาสตร์แรกคือ การค้า การลงทุน เกษตรเป็นรองยุทธศาสตร์ที่สอง แต่เมื่อประมวลภาพเกษตรทั้งหมด อุดรธานีมีพื้นที่กว่า 7 ล้านกว่าไร่ แต่พื้นที่การเกษตรมี 4.6 ล้านไร่ หรือ 60% เป็นพื้นที่การเกษตร ซึ่งพืชหลักที่ปลูกได้แก่ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา แล้วก็มีไม้ผลบ้าง คือ มะม่วง ขณะที่เงาะและทุเรียนกำลังขยายตัวรวดเร็ว
ในช่วงโควิด ภาคเกษตรของอุดรธานีได้รับผลกระทบบ้างในส่วนที่เกี่ยวกับการส่งออก มะม่วงน้ำดอกไม้ ซึ่งอุดรธานีมีพื้นที่ปลูกอยู่กว่า 6,000 ไร่ ผลผลิต 5,500 ตัน ส่งออกไม่ได้ทั้งหมด ตลาดหลักอยู่ที่เวียดนาม มาเลเซีย ญี่ปุ่น ราคาส่งออกปกติต่อกิโลกรัมกว่า 100 บาทขึ้นไปตั้งแต่ 120 บาท 150 บาท เมื่อส่งออกไม่ได้ราคาขายลดลงเป็น 3 กิโลกรัม 100 บาท
“ในภาคเกษตร เรามองว่าโควิดไม่ใช่อุปสรรค ไม่ใช่ปัญหา แต่กลับมองว่าโควิดนี่คือโอกาสของภาคเกษตรที่จะทำให้เราอยู่รอด ต่อไป
สำหรับอุดรธานี เกษตรอาจจะเป็นยุทธศาสตร์อันดับหนึ่ง ซึ่งเดิมด้านเกษตรเน้นส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัย เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมาได้มีการทบทวนประเด็นยุทธศาสตร์หันมาเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ เศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เน้นเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะเกษตรทฤษฎีใหม่ที่ยังเป็นทางออกให้กับเกษตรของเราได้”
นางสาวกชพรกล่าวว่า ภาคเกษตรของอุดรธานีมีจุดเด่น คือ เกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่ทำเกษตรเอง แต่ก็มีจุดอ่อนเหมือนกัน คือ แรงงาน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ทำเกษตรแบบเดิมๆ แต่โควิดให้โอกาสจากการกลับคืนถิ่นของแรงงานที่เข้าไปอยู่ในเมือง ซึ่งต้องทำงาน และสืบทอดผืนแผ่นดินของพ่อกับแม่ นั่นก็คือเกษตร
จังหวัดอุดรธานีได้ให้แรงงานคืนถิ่นลงทะเบียน ซึ่งบางส่วนแสดงความสนใจด้านเกษตรบ้างผู้ว่าราชการจังหวัดก็ให้ความสำคัญในประเด็นนี้ และให้โอกาส ทั้งโอกาสในการเข้าถึงองค์ความรู้ โอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่ขาดการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เข้าถึงยากมาก
“ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ที่ดูแลในเรื่องของเงินทุนของกระทรวงเกษตร 2 กองทุน ถามว่าเกษตรกรรายย่อยเขาเข้าถึงยากไหม ยากมาก เงื่อนไขเข้มงวดมาก จากการที่เราลงไปส่งเสริม ตามนโยบายกระทรวงเกษตรฯ ที่เน้นการรวมกลุ่มทำการเกษตรแปลงใหญ่เพื่อที่จะต่อรองด้านการตลาดได้ แต่เมื่อเข้าไปส่งเสริมจริงๆ ปรากฏว่าเกษตรกรมีกำลัง มีความรู้ มีเทคโนโลยีจากการสนับสนุนของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีผ่านการทำวิจัย แต่สิ่งสำคัญปัญหา หาแหล่งเงินทุนไม่ได้ ก็ต้องกลับมาหาภาครัฐ แม้แต่ ธ.ก.ส. ในสภาวะแบบนี้ปล่อยกู้ยากขึ้น”
“ด้านแหล่งทุนที่เป็นกองทุนของหน่วยงานต่างๆ ถามว่ามีไหม มีเยอะด้วย แต่เงื่อนไขก็เข้มงวดเช่นกัน โดยกำหนดว่า หนึ่งกลุ่มเกษตรกรต้องรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชน ต้องมีการปิดงบการเงิน ต้องมีผู้สอบบัญชีให้การรับรอง ซึ่งชาวบ้านทำไม่เป็น ต้องนำไปพิจารณากัน เนื่องจากเป็นสิ่งสำคัญที่เขาจะมีรายได้ เราต้องให้โอกาสเขา เพราะเกษตรเป็นทางออกที่สำคัญในวิกฤตินี้”
ให้ความรู้ทางการเงินเพื่ออยู่รอดในอนาคต
นางทัศนีย์ ตั้งพัฒนาศิริ ผู้อำนวยการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่คนจะอยู่ได้หรือไม่หลังจากโควิด คือ การบริหารจัดการเงิน เพราะประสบการณ์ได้สอนแล้วว่า หากบริหารจัดการการเงินไม่ดี หรือไม่มีทุนสำรอง ก็ไม่สามารถที่จะอยู่รอดในภาวะวิกฤติอย่างนั้นได้ ฉะนั้นเป็นอีกแนวคิดหนึ่งที่จะต้องแทรกความรู้เรื่องการเงินให้กับประชาชน นิสิต นักศึกษา รวมทั้งชาวบ้าน เกษตรกรด้วย
“ประชาชน ชาวบ้าน เกษตรกร ควรจะมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการออม แต่เขาบอกว่า อย่าพูดถึงการออมเลย แค่จะกินไปวันวันยังไม่มี แตอันนี้คือสิ่งที่เราจะต้องใส่ให้เขา เขาจะต้องรู้ ตระหนัก ต้องคิดว่าการออมเป็นเรื่องจำเป็น การบริหารจัดการเรื่องการเงินเป็นเรื่องจำเป็น และนอกจากตระหนักคิดได้จะต้องปรับเปลี่ยนนิสัยตัวเองเพื่อให้มีพฤติกรรมที่สอดรับกับการที่จะอยู่ต่อไปได้ในอนาคต ต้องเพียงพอใช้จ่ายได้ในยามฉุกเฉิน ไม่อย่างนั้นเขาอยู่ไม่รอด ต้องรู้จักจดบัญชี บัญชีครัวเรือน บัญชีค่าใช้จ่ายประจำวันของตัวเอง ซึ่งการจดจะทำให้รู้ จะเจอว่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองไปกับเรื่องอะไร บางทีอาจจะไม่ใช่สิ่งจำเป็นนัก แล้วพอเจอแล้วจัดการได้กับชีวิต ชีวิตก็จะดีขึ้น”
นอกจากนี้จะได้มีความคิดความเข้าใจเกี่ยวกับการสร้างหนี้ ว่าก่อนจะเป็นหนี้จะต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง ไม่ใช่ว่ามีคนมาชวนเป็นหนี้ก็เป็นหนี้ได้ง่าย จากข้อมูลที่มีประชาชนในภาคตะวันออกเฉียง เหนือ จะเป็นเหยื่อมิจฉาชีพภัยการเงินมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ ในประเทศไทย และเป็นแหล่งกำเนิดของภัยการเงินหลากหลายรูปแบบมาก เพราะอาศัยความไม่รู้ของประชาชน และความหวังของประชาชน เช่น มาหลอกว่า จะมีเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศมาปลดหนี้ ซึ่งสำหรับคนที่มีความรู้มองว่า เรื่องแบบนี้ไม่มีหรอก แต่ชาวบ้านเชื่อเพราะเป็นความหวังของเขา เพราะฉะนั้นความรู้ทางการเงินที่สอดแทรกเข้าไปจะช่วยให้เขาไม่ถูกหลอกในเรื่องเหล่านี้
“ที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อมีความรู้ ตระหนักรู้แล้วคิดเป็น มีความเข้าใจ ก็จะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดรับกับการที่จะมีชีวิตอยู่โลกอนาคตได้ รวมทั้งต้องเข้าใจว่าแม้รายได้จะน้อยก็จำเป็นจะต้องออมเพื่อที่จะรองรับตัวเองในวัยเกษียณ ชาวบ้านเกษตรกรก็เช่นกัน ระยะเวลาหาเงินมีจำกัด แต่ว่าเวลาใช้เงินยาวออกไป สรุปก็คือจะต้องมีความรู้ทางการเงิน ตระหนักคิดแล้วก็ลงมือทำเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้อยู่รอดได้”