ThaiPublica > เกาะกระแส > ยูนิเซฟเปิดรายงาน เด็ก-วัยรุ่นไทยน่าห่วงปัญหาสุขภาพจิตสูง

ยูนิเซฟเปิดรายงาน เด็ก-วัยรุ่นไทยน่าห่วงปัญหาสุขภาพจิตสูง

31 สิงหาคม 2022


ยูนิเซฟและกรมสุขภาพจิตเปิดรายงานสุขภาพจิตเด็ก-วัยรุ่นไทยพบน่าห่วง โดยการฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุอันดับสามของการเสียชีวิตของ เด็ก และวัยรุ่นไทย  แนะรัฐไทยต้องเร่งจัดสรรงบประมาณจัดบริการสุขภาพจิตสำหรับเด็กและวัยรุ่นหลังพบเป็นปัญหาที่เสี่ยงเกิดผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ พัฒนาการ ในอนาคต

ปัญหาสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นไทยกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ขณะที่ รัฐไทยยังมีช่องว่างในเรื่องงบประมาณและการดูแลสุขภาพจิต  โดยยูนิเซฟ กรมสุขภาพจิต สถาบันวิจัยประชากรและสังคม และสถาบันเบอร์เน็ต ประเทศออสเตรเลีย ได้ทำการศึกษา การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบและบริการสนับสนุนทางจิตใจและจิตสังคมสำหรับเด็กและวัยรุ่นในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ฉบับประเทศไทย พบว่าว่า วัยรุ่นไทยอายุ 10-19 ปี ประมาณ 1 ใน 7 คน และเด็กไทยอายุ 5-9 ปี ประมาณ 1 ใน 14 คน มีความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์

นอกจากนี้ยังพบว่า การฆ่าตัวตายคือสาเหตุการเสียชีวิตอันดับสามของวัยรุ่นไทย โดยการสำรวจภาวะสุขภาพนักเรียนทั่วโลกในส่วนของประเทศไทยเมื่อปี 2564 (2021 Global School-based Student Health Survey) พบว่า ร้อยละ 17.6 ของวัยรุ่นอายุ 13-17 ปี มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย

 พบเด็กผู้หญิง “เครียด-วิตกกังวล”สูงกว่าผู้ชาย

ผลการสำรวจภาวะสุขภาพนักเรียนทั่วโลกในส่วนของประเทศไทย (Global School-based Student Health Survey)แสดงให้เห็นว่า สัดส่วนของเด็กและวัยรุ่นอายุ 13-15 ปี ที่ระบุว่ามีความกังวลในระดับที่ส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ  ซึ่งเป็นอาการหนึ่งของความวิตกกังวล) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.5 ในปี 2551 เป็นร้อยละ 16.3 ในปี 2564โดยสัดส่วนดังกล่าวเกิดกับเด็กหญิงมากกว่าผู้ชาย ร้อยละ 20.2 เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กชาย ร้อยละ 12.5

โดยผลการสำรวจดังกล่าวในโรงเรียนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยเมื่อปี 2560 มี สัดส่วนนักเรียนที่มีความวิตกกังวลสูงถึงร้อยละ 16.4

ทั้งนี้ข้อมูลปฐมภูมิเกี่ยวกับภาวะสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่นในประเทศไทยในด้านอื่น ๆ ยังมีจำกัด โดยมีเพียงผลการสำรวจเมื่อปี 2553 ซึ่งประมาณการว่า เยาวชนอายุ 15-24 ปี ที่เป็นโรคจิตเวท (schizophrenia) มีสัดส่วนร้อยละ 0.52 ในกลุ่มผู้ชายและร้อยละ 1.1 ในกลุ่มผู้หญิง 1, 2, 3  โดยที่ข้อมูลและงานวิจัยเกี่ยวกับความต้องการด้านสุขภาพจิตในประเทศไทยส่วนใหญ่จำกัดอยู่แค่เรื่องโรคทางจิตเวช

จากข้อมูลดังกล่าว นางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงกว่าคือมันอาจเป็นเพียงเศษเสี้ยวของปัญหาที่ใหญ่ยิ่งกว่า เด็กและวัยรุ่นหลายล้านคนในประเทศไทยกำลังได้รับผลกระทบจากปัญหาสุขภาพจิต ทั้งโรคเครียด โรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้า ซึ่งเกิดจากปัจจัยมากมาย เช่น ความรุนแรง การถูกกลั่นแกล้ง ความโดดเดี่ยว ความไม่แน่นอน

รวมทั้งผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  แต่น่าเสียดายที่ปัญหาดังกล่าวมักถูกบดบังเอาไว้ เนื่องจากการตีตราทางสังคมและการเข้าไม่ถึงข้อมูล การคัดกรอง การสนับสนุน ตลอดจนบริการด้านสุขภาพจิตที่เหมาะสม”

ปัญหาสุขภาพจิตอาจก่อผลกระทบรุนแรงในระยะยาวต่อสุขภาพ การเรียนรู้ และการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน รวมทั้งเป็นการจำกัดความสามารถของพวกเขาในการพัฒนาตัวเองอย่างเต็มศักยภาพ

รัฐขาดงบประมาณดูแลสุขภาพจิตเด็ก

รายงานการศึกษายังระบุอีกว่าประเทศไทยมีโรงพยาบาลจิตเวช 19 แห่ง แผนกจิตเวชในโรงพยาบาล 104 แห่ง หน่วยให้บริการผู้ป่วยในเฉพาะด้านนิติจิตเวช 1 แห่ง และสถานที่พักพิงและบำบัดผู้ป่วยจิตเวช 2 แห่ง10 ในจำนวนนี้ มีเพียง 5 แห่งที่ให้การดูแลผู้ป่วยในที่เป็นเด็กและวัยรุ่นเป็นการเฉพาะ

อย่างไรก็ตามมีสถานบริการด้านสุขภาพจิตสำหรับผู้ป่วยนอกจากจำนวน 830 แห่งด้านจิตเวชทั้งหมดเป็นสถานบริการเฉพาะสำหรับเด็กและวัยรุ่น 62 แห่ง10

ขณะที่สรุปสถานการณ์สุขภาพจิตในประเทศไทย ปี 2560 (Thailand Mental Health Atlas 2017) ระบุว่า ผู้มีโรคทางจิตเวชขั้นรุนแรงจำนวน537,000 คน ได้รับการรักษาในโรงพยาบาล  และในปี 2553 พบว่า มีการรับวัยรุ่นที่มีอาการทางจิตประมาณ 3,000 คน เข้ารับการบำบัดรักษาในโรงพยาบาล11 แห่ง

และระยะเวลาที่วัยรุ่นเข้ารับการรักษาด้านสุขภาพจิตในโรงพยาบาลคือ 8.49 วันโดยเฉลี่ย โดยยังไม่รวมวัยรุ่นที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากได้รับบาดเจ็บและได้รับสารพิษจำนวน 27,000 คน ซึ่งบางส่วนอาจจะเกิดจากการทำร้ายตัวเอง

รายงานการศึกษาดังกล่าวระบุว่า แม้ประเทศไทยจะมีความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและวัยรุ่น ในเชิงนโยบายและกฎหมาย รวมทั้งบริการบำบัดรักษา แต่ ปัญหาใหญ่คือช่องว่างของการขาดงบประมาณ การขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจำนวนจิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญที่ยังมีไม่เพียงพอในแต่ละหน่วยงาน

โดย เห็นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยต้องกำหนดวิสัยทัศน์และแผนงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตและการฆ่าตัวตายของเด็กและวัยรุ่นที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ  ต้องเร่งจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานทั้งในด้านการศึกษา สวัสดิการสังคม และกระบวนการยุติธรรม เพื่อสร้างหลักประกันให้เด็กและวัยรุ่น โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ได้มีสุขภาพจิตที่ดี และได้รับการสนับสนุน การดูแล และบริการที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการในเวลาที่เหมาะสมและทันท่วงที

นางคิมบอกด้วยว่าสังคมไทยตกอยู่ในความเสี่ยง หากเราไม่ดูแลสุขภาพจิตใจของเด็กและวัยรุ่นอย่างเหมาะสม โดยสิ่งที่เราต้องเร่งดำเนินการคือการกำหนดให้การมีระบบสนับสนุนทางจิตใจที่ครบวงจรเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อป้องกันความสูญเสียของประเทศทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ยูนิเซฟมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและทุกหน่วยงานในประเทศไทย เพื่อสร้างหลักประกันให้ระบบสนับสนุนทางจิตใจสอดคล้องกับความต้องการและเข้าถึงเด็กและวัยรุ่นก่อนที่จะสายเกินไป”