ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เลือกตั้งอย่างรับผิดชอบ 2566 > พรรคประชาธิปัตย์สัญญาจะยกเลิกค่า FT ลดค่าไฟฟ้าได้ 1-1.50 บาท

พรรคประชาธิปัตย์สัญญาจะยกเลิกค่า FT ลดค่าไฟฟ้าได้ 1-1.50 บาท

19 เมษายน 2023


ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศจุดยืนด้านพลังงาน สัญญาเดินหน้ายกเลิกค่า FT ช่วยลดราคาไฟฟ้าได้ 1-1.50 บาท นอกจากนี้จะทบทวนโครงสร้างราคาและภาษีสะท้อนต้นทุนแท้จริงและเป็นธรรม ลดรายจ่ายให้คนไทย  ด้านราคาน้ำมันเสนอปรับโครงสร้างมาตรฐานค่าการกลั่นลดลง คาดส่งผลราคาน้ำมันลดลงได้มากถึง 3-5 บาท พร้อมชูพลังงานทดแทนเป็นวาระแห่งชาติ ก้าวสู่พลังงานสีเขียวพลังงานสะอาดสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ นำโดย นายเกียรติ สิทธิอมร ประธานคณะกรรมการต่างประเทศ , นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ประธาคณะกรรมการนโยบาย , นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ผู้เชี่ยวชาญด้านคมนาคมขนส่งโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการขนาดใหญ่ และ นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์

ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ นำโดย นายเกียรติ สิทธิอมร ประธานคณะกรรมการต่างประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ประธาคณะกรรมการนโยบาย นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ผู้เชี่ยวชาญด้านคมนาคมขนส่งโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการขนาดใหญ่ และ นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์  ประกาศจุดยืนด้านพลังงาน ชูรื้อโครงสร้างราคาพลังงาน ลดรายจ่ายคนไทย

นายเกียรติ  สิทธิอมร อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย ประธานคณะกรรมการต่างประเทศ พรรคประชาธิปัตย์กล่าวถึง ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนอยู่ในขณะนี้ น่าจะมาจากความผิดปกติในการกำหนดราคาพลังงานใน 4 ส่วน คือ ก๊าซหุงต้ม ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน และไฟฟ้า ซึ่งหากพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลจะรื้อโครงสร้างราคาพลังงาน เพื่อลดรายจ่ายให้คนไทยอย่างถาวร

ยกเลิก FT ลดค่าไฟฟ้าได้ 1-1.50 บาท

สำหรับเรื่องไฟฟ้า พรรคประชาธิปัตย์มีนโยบาย ยกเลิกค่า FT เพราะปัจจุบันการคิดคำนวณค่า FT เป็นสมมุติฐานทั้งสิ้น การทำแบบนี้เป็นช่องโหว่ของการกำหนดค่าไฟฟ้า เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบางกลุ่ม พรรคประชาธิปัตย์จะทำให้ราคาไฟฟ้าตรงกับต้นทุนจริง รวมไปถึงจะกำหนดระดับกำลังการผลิตสำรองที่เหมาะสม ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่มาก โดยปัจจุบันการผลิตสำรองอยู่ในระดับสูงกว่า 50% ซึ่งเกินกว่ามาตรฐานที่ควรอยู่ในระดับ 15% ต้องกำหนดสัดส่วนกำลังการผลิตระหว่างรัฐกับเอกชนให้เหมาะสม และทบทวนเรื่องสัญญาสัมปทาน รวมถึงกำหนดสัดส่วนการนำเข้าจากต่างประเทศทั้งราคาและรูปแบบสัญญา (PPA) และปรับราคาก๊าซป้อนโรงไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและเป็นธรรม

“เราจะยกเลิกค่า FT เพราะหลายประเทศส่วนใหญ่ไม่มีค่า FT(fuel tariff) และมันมีวิธีที่ดีกว่า ไม่ต้องให้ใครก็แล้วแต่ มากำหนดราคาค่าไฟ และตอนนี้ FT เป็นการคิดประเมินโดยมองไปในอนาคต 4 เดือน โดยคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยน ต้นทุนเชื้อเพลิงค่าไฟจากเอกชน ประเทศเพื่อนบ้าน “สมมติฐานผิด ก็ค่าไฟผิด” ทำให้คนเดือดร้อน ค่าไฟเราแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทำไมไม่ให้ราคาไฟฟ้าตรงกับต้นทุนจริง เราสามารถใช้ตัวเลขย้อนหลัง 4 เดือน แล้วจะทำระบบกองทุนไว้สำหรับความผันผวนได้” นายเกียรติ  กล่าว

นายเกียรติ  ระบุว่า หากดำเนินการตามมาตรการของพรรคประชาธิปัตย์ ในการยกเลิก FT และจัดโครงสร้างราคาก๊าซที่เข้าโรงไฟฟ้าให้เหมาะสมและเป็นธรรมจะ สามารถลดค่าไฟฟ้าได้ 1 บาทถึง 1.50 บาทต่อหน่วย

ปรับโครงสร้างค่าการกลั่นลดราคาน้ำมันได้ 3-5 บาท

นอกจากนี้ในเรื่องน้ำมัน พรรคประชาธิปัตย์จะกำหนดค่าการกลั่น ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน คือ 1 บาทต่อลิตร ซึ่งที่ผ่านมาค่าการกลั่นเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2552 อยู่ที่ 0.85 บาทต่อลิตร ปี 2554 ขยับขึ้นมาที่ 1.55 บาทต่อลิตร และขึ้นไปสูงสุดที่ 3.65 บาทต่อลิตร ในปี 2565 สูงกว่าค่าการกลั่นอ้างอิงประเทศสิงคโปร์ ตั้งแต่ 20% ถึงกว่า 400%

“ข้อเสนอของเราคือต้องกำกับค่าการตลาดให้อยู่ในระดับ 1.50 บาทต่อลิตร และจะทบทวนโครงสร้างราคาและภาษีให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและเป็นธรรม จะทบทวนเงินเข้ากองทุน ทบทวนการคำนวณต้นทุนน้ำมันที่อ้างอิงราคามันสำปะหลังและปาล์มน้ำมัน ต้องไม่ลืมว่า ทุก 1 บาทต่อลิตร ที่เพิ่มขึ้น ทำให้กำไรบริษัทน้ำมันสูงขึ้นกว่า 60,000 ล้านบาทต่อปี ไม่เป็นธรรมกับประชาชน”

ส่วนราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น หากมีการปรับโครงสร้างค่าการกลั่นมาตรฐานใหม่จะลดลงราคาน้ำมันได้ 3-5 บาท นี่คือเป้าหมายหลัก

สำหรับก๊าซธรรมชาติ จะมีการเฉลี่ยต้นทุนระหว่างนำเข้ากับแหล่งในประเทศ ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและเป็นธรรม มีการทบทวนค่าผ่านท่อ ปรับสูตรคำนวณและวิธีการกำกับดูแลใหม่ ทบทวนสัญญาระยะยาวที่เอาเปรียบและไม่เป็นธรรม เช่นเดียวกันกับก๊าซหุงต้ม ต้องมีการตรวจสอบปริมาณการผลิตและใช้ในประเทศจริง ทบทวนสูตรคำนวณราคาให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและเป็นธรรม แก้ปัญหาการลักลอบไปประเทศเพื่อนบ้าน ทบทวนสัญญาระยะยาวสำหรับกลุ่มปิโตรเคมี ส่วนปั๊มก๊าซ LNG / LPG จะทบทวนค่าการตลาดและสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และเป็นธรรมต่อประชาชน

ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ นำโดย นายเกียรติ สิทธิอมร ประธานคณะกรรมการต่างประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ , นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ประธาคณะกรรมการนโยบาย , นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ผู้เชี่ยวชาญด้านคมนาคมขนส่งโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการขนาดใหญ่ และ นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์

ชูพลังงานทดแทนเป็นวาระแห่งชาติ

ด้านนายอลงกรณ์  พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์   กล่าวถึงนโยบายพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานของพรรคประชาธิปัตย์ “ก้าวสู่พลังงานสีเขียวพลังงานสะอาดสู่สังคมคาร์บอนต่ำ” (Go Green Go Clean Go Low Carbon) ว่า วิสัยทัศน์เชิงรุกพรรคประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญสูงสุดสำหรับนโยบายพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานโดยยกระดับเป็นเป็นวาระแห่งชาติเร่งด่วน (National Urgent Agenda) เพื่อ 1.ลดค่าใช้จ่ายพลังงานในภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาครัฐ 2.ลดภาระต้นทุนของประเทศโดยชะลอการลงทุนด้านการจัดหาพลังงานของประเทศ

3.ยืนบนขาตัวเองตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 4.เพิ่มโอกาสส่งออกพลังงานทดแทนและเทคโนโลยีนวัตกรรมอนุรักษ์พลังงาน เป็นการแปรวิกฤติพลังงานเป็นโอกาส สามารถสร้างเงินสร้างคนสร้างชาติ ยกระดับประเทศไทยเป็นผู้นำพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงานในภูมิภาคเอเชียภายในปี 2030

“เราจะเป็นผู้นำพลังงานทดแทนในภูภาคเอเชีย ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่และแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีตัวอย่างนโยบายไฮไลท์ เช่น ส่งเสริมการวิจัยพัฒนานวัตกรรมโครงการ พลังงานไฮโดรเจน ( Hydrogen Energy ) โครงการ E100 B 100, โครงการ โซลาร์รูฟ ทุกบ้าน ทุกอาคาร ด้วยระบบ Net Metering และ Energy storage, โครงการโซลาร์ฟาร์มและเกษตรอัจฉริยะประหยัดพลังงานสำหรับฟาร์มพืช ประมงและปศุสัตว์”

นายอลงกรณ์   บอกว่า  พรรคประชาธิปัตย์จะเสนอนโยบายปฏิรูปเชิงโครงสร้างพลังงานทดแทน เช่น โครงการ 1 หมู่บ้าน 1 โรงแก๊สชีวภาพ 1 โรงปุ๋ยชีวภาพชุมชน, โครงการ 1 ตำบล 1 โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน, โครงการ 1 อำเภอ 1 ศูนย์ยานยนต์เครื่องจักรกลไฟฟ้าและการปรับเปลี่ยนยานยนต์เครื่องจักรกลเก่าเป็นระบบไฟฟ้า (Ev Conversion Center) (รถเก่ากว่า 40 ล้านคัน) เพื่อส่งเสริม EV, โครงการ 1 จังหวัด 1 โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน

ด้านอนุรักษ์พลังงาน เช่น เพิ่มมาตรการจูงใจให้มีการลงทุนจากภาคเอกชนและภาครัฐในการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน เช่น ระบบเอสโค (ESCO บริษัทจัดการพลังงาน) เพิ่มการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลในการอนุรักษ์พลังงานเช่น อินเตอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง (IOT) และแอปพลิเคชัน

นอกจากนี้จะส่งเสริมภาคเอกชนจัดตั้งศูนย์การปรับเปลี่ยนยานยนต์และเครื่องจักรกลเก่าเป็นระบบพลังงานไฟฟ้า (EV Conversion Center)         ทุกอำเภอโดยการสนับสนุนของศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC:Agritech and Innovation Center) 77จังหวัด เร่งเพิ่มอาคารประหยัดพลังงาน (BEC) และเร่งขับเคลื่อนโครงการบ้านประหยัดพลังงาน ส่งเสริมวัสดุก่อสร้างและชิ้นส่วนยานยนต์ลดความร้อนและผลิตได้ในประเทศเช่น กันชงไฟเบอร์ (Hemp Fiber)อิฐ (Hemp Brick) ผนังกันชง (Hemp Panel Board) เพิ่มมาตรการส่งเสริมเครื่องไฟฟ้าและนวัตกรรมประหยัดพลังงาน เช่น มาตรการ เบอร์ 5 พลัส ฯลฯ

“เป็นการยกระดับนโยบายและมาตรการพัฒนาพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงานแบบปฏิรูปเชิงโครงสร้างและระบบครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ ภายใต้ยุทธศาสตร์สร้างเงินสร้างคนสร้างชาติด้วยเทคโนโลยีแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนตอบโจทย์ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจและพลังงานของปัจจุบันและอนาคตเพื่อประเทศและคนไทยทุกคน” นายอลงกรณ์ กล่าว

พิสิฐ เสนอลดสูตรน้ำมันเหลือแค่ 2 สูตร

สำหรับ ดร.พิสิฐ  ลี้อาธรรม อดีต รมช.กระทรวงการคลัง และประธานคณะกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ราคาพลังงานเป็นต้นทุนในการประกอบวิชาชีพในทุกภาคส่วน รวมไปถึงเรื่องของภาระค่าครองชีพของประชาชนด้วย ดังนั้นการรื้อระบบ วิธีคิด ราคา ต้นทุนต่างๆ เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ถ้ามีการยกเลิกค่า FT และปรับโครงสร้างพลังงานตามที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอไป ก็จะได้ราคาพลังงานที่ถูกลง

นอกจากนี้ ดร.พิสิฐ  ยังอยากจะให้มีการปรับโครงสร้างของการทำงานในภาคพลังงาน เช่น เรื่องของการที่มีสูตรน้ำมันเยอะไปหมด ทั้งเบนซินและดีเซล ให้เหลือ 1-2 สูตรก็พอจะเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายทั้งผู้ผลิตและผู้ขาย ทำให้มีต้นทุนที่ต่ำลง รวมไปถึงเรื่องของการคิดราคาจากโรงกลั่น ซึ่งต้องยอมรับว่าโรงกลั่นปัจจุบันที่มีอยู่  5-6 โรง สร้างมาไม่ต่ำกว่า 30 ปี แล้ว มีการเสื่อมราคาไปหมดแล้ว ดังนั้นการคิดค่าโรงกลั่นมีการบวกค่าเสื่อมราคาไปเกินสมควรหรือเปล่า ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีการเจรจากับผู้ประกอบการ

การใช้รถยนต์ที่ใช้น้ำมันจะต้องลดลงโดยต้องใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น  เช่น รถ EV ประชาชนอยากซื้อแต่ไม่มีไฟฟ้าชาร์จ รัฐบาลต้องสนับสนุนเรื่องนี้อย่างจริงจัง ต้องมีการสนับสนุนให้ประชาชนมีการเดินสายไฟฟ้าเพื่อชาร์จรถ EV โดยการลดหย่อนภาษี หรือให้การไฟฟ้าต้องมีการจัดตั้ง รวมไปถึงรถมอเตอร์ไซค์และรถขนส่งสาธารณะต่างๆ ต้องมีมาตรการปรับเปลี่ยนจากการใช้พลังงานน้ำมันมาใช้พลังงานไฟฟ้าให้มากที่สุดเพื่อลดปัญหามลพิษ

นอกจากนี้ยังสนับสนุนมาตรการปลูกป่าอย่างจริงจัง   ทั้งในเชิงพาณิชย์ ในพื้นที่ของรัฐและของชุมชน เพื่อดูดซับมลพิษ โดยเฉพาะสามารถนำป่าไม้ที่มีอยู่ 30% ขยายเป็น 50% ของพื้นที่ มาขาย Carbon Credit ซึ่งตลาด Carbon Credit ต้องมีการจัดตั้งอย่างจริงจัง