ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เลือกตั้งอย่างรับผิดชอบ 2566 > อัดฉีด1 ล้านล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจ “ประชาธิปัตย์” ใช้เงินจากไหน ?

อัดฉีด1 ล้านล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจ “ประชาธิปัตย์” ใช้เงินจากไหน ?

10 เมษายน 2023


อัดฉีดเศรษฐกิจ 1 ล้านล้าน ฟื้นประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ใช้เงินจากไหน ไม่ก่อหนี้ใหม่ ไม่พึ่งงบประมาณ ระบุไม่กระทบวินัยการเงินคลังิแต่ขับเคลื่อน 16 นโยบายกระตุ้นจีดีพีโต 5 % 

ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานคณะกรรมการนโยบาย พรรคประชาธิปัตย์

พรรคประชาธิปัตย์ประกาศใช้เงิน อัดฉีดเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท ในการขับเคลื่อน 16 นโยบายเพื่อพลิกฟื้นประเทศ  ใช้เงินมาจากไหน? ด้วยวิธีการอะไร

“สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า” ได้พูดคุยกับ ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานคณะกรรมการนโยบาย พรรคประชาธิปัตย์ ถึงที่มาของเงิน 1 ล้านล้านบาท ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำไมถึงกล้าประกาศจะไม่ต้องก่อหนี้เพิ่ม แล้วจะดำเนินการอย่างไร

“ผมเชื่อว่าไม่มีพรรคไหนคิดนโยบายเชิงมหาภาคออกมาให้เห็นในเชิงนโยบายเหมือนพรรคประชาธิปัตย์ และผมกล้าประกาศว่าจะหาเงิน 1 ล้านล้านบาท มากระตุ้นเศรษฐกิจโดยไม่ก่อหนี้เพิ่มแน่นอน”

3แสนล้านตั้งกองทุนเอสเอ็มอี

ดร.พิสิฐ แบ่งงบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจออกเป็น 4 ก้อน ก้อนแรกจะกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับมหาภาค โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยตั้งเป็นกองทุนเอสเอ็มอี 3 แสนล้านบาท

ทำไมต้องเอสเอ็มอี…ดร.พิสิฐ อธิบายถึงภาพรวมเศรษฐกิจมหาภาคของประเทศไทยก่อนจะมาเป็นนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ว่า ประเทศไทยมีปัญหาพื้นฐาน ในขณะนี้เศรษฐกิจโดยรวมมีอัตราโตช้ามากประมาณ 1-2 %  ขณะที่อินโดนีเซีย เวียดนามโตขึ้นปีละ 5-6 % แม้จะบอกว่าเผชิญกับปัญหาโควิด-19 แต่เมื่อโควิด-19 ผ่านไป อัตราการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศยังโตไม่เกิน 3 % เช่นเดิม

“อัตราการเติบโตเศรษฐกิจของเราหลังโควิดโตช้ามากเป็นไปได้อย่างไร เราต้องโตอย่างน้อย 5 %  ซึ่งปัญหามาจากพื้นฐานโครงสร้างเศรษฐกิจมหาภาค คือความสมดุลระหว่างรายได้และรายจ่ายถูกกทบระอย่างรุนแรง”

จากการประเมินในช่วงโควิด-19 รายได้ประเทศหายไป 3 ปี ประมาณ 3 ล้านล้านบาท จากรายได้จากนักท่องเที่ยวที่หายไป และกลุ่มธุรกิจที่ต้องปิดกิจการ แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลจะกู้เงิน 2 ฉบับ 1.5 ล้านล้านบาท แต่ก็ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ รายได้ที่หายไปหมายถึงกิจการที่ปิดตัวลง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การกลับมาฟื้นกิจการอีกครั้งจะทำได้ยากหากไม่มีเงินทุนใหม่

“ผมห่วงธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดกลาง ขนาดเล็ก พวกนี้ที่ผ่านมารายได้หายไป แต่หากต้องกลับมาทำกิจการใหม่ต้องมีเงินมาเติมเต็ม เช่นโรงแรม ถ้าจะกลับมาเปิดใหม่จะต้องมีเงินใส่เข้าไปเพื่อให้ไปรีโนเวทใหม่ ทำสวนใหม่ ทาสีใหม่ รับพนักงานกลับมาเพื่อให้ต้อนรับแขกได้ เราจึงเห็นว่าต้องใส่เงินทุนลงไปแบบไม่ใช่เงินกู้ เพราะว่าเขารับไม่ไหวแล้ว”

ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานคณะกรรมการนโยบาย พรรคประชาธิปัตย์

ที่ผ่านมาหลายพรรคการเมืองเสนอให้มีการพักหนี้เอสเอ็มอี และไม่ต้องตรวจเคดิตบูโร แม้วิธีการแบบนี้จะถือเป็นการให้ทุน แต่การพักหนี้ทำให้เอสเอ็มเสียประวัติในการกู้ เจ้าหนี้ไม่กล้าให้กู้เพิ่ม เราต้องการเสริมทุนความมั่นคงให้เอสเอ็มอี ไม่ทำให้เขาอ่อนแอลงหรือมีประวัติไม่ดี

“เรื่องนี้ยาก แต่ต้องกล้าทำ ผมเชื่อว่ากระทรวงคลัง  แบงก์ชาติก็คิด แต่ไม่กล้า แต่ผมคิดว่า เวลานี้ต้องกล้าคิด  กล้าทำ ไม่อย่างนั้นประเทศไทยจะมีแต่รายใหญ่ ฮุบปลาเล็กไปหมด เพราะรายเล็กอยู่ไม่ได้ขายให้รายใหญ่หมด  เพราะฉะนั้นนโยบายมหาภาคของพรรคประชาธิปัตย์ก้อนแรกคือ เอสเอ็มอี เพื่อให้อยู่รอดได้”

ดร.พิสิฐ บอกว่าได้สำรวจเงินก้อนหนึ่งที่สามารถนำมาช่วยเอสเอ็มอีได้โดยไม่ต้องไปก่อหนี้เพิ่ม หรือไปสร้างปัญหากับวินัยการเงินการคลังหรืองบประมาณ จะนำเงินก้อนแรก 3 แสนล้านบาทมาตั้งเป็นรูปแบบกองทุนเอสเอ็มอี โดยจะหารือกับธนาคารที่มีลูกหนี้เอสเอ็มอี ว่ารายไหนมีหนี้จำนวนเท่าไหรจะเพิ่มทุนหรือไม่ หรือจะแปลงหนี้เป็นทุนได้อย่างไร โดยให้กองทุนฯเข้าไปถือในระยะเวลา 8 ปีจนกว่าเอสเอ็มอีจะฟื้นและซื้อคืนได้ในราคาที่ตกลงกันไว้

“อันนี้คือหลักคิดเราไม่สามารถใส่เงินลงไปในรูปแบบของสินเชื่อได้แล้ว ต้องเป็นทุนให้เอสเอ็มอีเท่านั้น ต้องมีความกล้าหาญในการทำเพราะว่าธุรกิจตอนนี้ต้องการทุน ไม่ได้ต้องการสินเชื่อ แม้ว่ามีการเรียกร้องให้พักหนี้ ไม่จ่ายดอกเบี้ยซึ่งก็คือจ่ายทุน แต่เสียประวัติว่าเคยพักหนี้ ในอนาคตกู้ลำบาก เราต้องเสริมทุนทำให้เขามีโอกาสในการขยายตัวแข็งแรงได้”

สำหรับที่มาของเงิน 3 แสนล้านที่จะใส่ลงไปใน กองทุนเอสเอ็มอี  ดร.พิสิฐ บอกว่า ขณะนี้ได้สำรวจพบแล้วว่าจะนำเงินมาจากไหน โดยสามารถนำมาใช้ได้เลยไม่ต้องแก้กฎหมาย และไม่ใช่เงินงบประมาณ และไม่ต้องกู้เงินด้วยเช่นกัน

 2 แสนล้าน กระตุ้นรากหญ้า

ส่วนเงินก้อนที่สองอีกประมาณ 2 แสนล้านบาท ดร.พิสิฐ มองไปที่การกระตุ้นในระดับรากหญ้าในหมู่บ้านและชุมชน พบว่าที่ผ่านมามีหนี้ครัวเรือนสูงถึง 90 % ของจีดีพี  แต่เราจะทำอย่างไรให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้าได้

ในอดีตเคยทำ 2 รูปแบบคือ 1.ในสมัย รัฐบาลชวน หลีกภัย นำเงินใส่ลงไปในโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน(กข.คจ.) ผ่านกรมพัฒนาชุมชนประมาณหมื่นล้านบาท พบว่าผ่านไป 20 ปี เงินยังอยู่ไม่มีเอ็นพีแอล เนื่องจากกรมพัฒนาชุมชนไม่กล้าดำเนินการอะไร

“รูปแบบแรกทำให้เราเห็นว่าแม้ว่าจะใส่เงินไปจำนวนมากผ่านระบบราชการ เจ้าของเรื่อง นั่งทับไว้ ไม่ได้ทำอะไรจริงจัง เพราะว่ากลัวความผิด กลัวความเสียหาย ให้มีเงินลงไปก็อาจจะไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้”

2. การใส่เงินในรูปแบบกองทุนหมู่บ้านละล้าน ซึ่งอาจจะมากเกินไปเพราะที่ผ่านมาใส่เงินไป 3 ครั้ง ครั้งละเกือบแสนล้านบาทแต่ระบบบัญชี หรือการตรวจสอบอาจจะไม่ดีพอ

ดร.พิสิฐ บอกว่า ทั้งสองรูปแบบอาจจะไม่ใช่คำตอบ จึงได้มาศึกษาและพบว่าใน ปี2562 มีกฎหมายฉบับหนึ่งเรียกว่า พ.ร.บ.สถาบันการเงินประชาชน 2562 เจตนารมย์คือการยกระดับของกองทุนต่างๆที่อยู่ตามหมู่บ้าน เช่น กองทุนสัจจะออมทรัพย์ ยกฐานะขึ้นมาเป็นสถาบันการเงิน  ดังนั้นจึงได้นำเอากฎหมายฉบับนี้มาใช้ในการตั้งธนาคารหมู่บ้านแต่ถ้าอยู่ในเมืองเรียกว่า ธนาคารชุมชน

“ทุกวันนี้เรามี ธนาคารออมสิน มีธกส. ซึ่งมีสภาพคล่องล้น เพราะว่าไม่กล้าปล่อยมากเพราะกลัวปัญหาหนี้เสีย ขณะที่รัฐบาลเองก็เป็นหนี้ ธกส.ประมาณ 8 แสนล้านที่ต้องใช้คืน ธกส. เพราะฉะนั้น สถาบันการเงินของรัฐเหล่านี้จะเอาเงินตรงนี้ใส่ไปในทุนธนาคารหมู่บ้านละ 2 ล้าน แต่จะใส่ในรูปแบบอะไร ระหว่างทุนหรือเงินกู้ กำลังพิจารณา ใจผมก็อยากใส่เป็นทุน เพราะรัฐบาลก็สัญญาจะใช้คืนเงิน ออมสิน- ธกส.อยู่แล้ว ซึ่งในเรื่องนี้ไปตามมาตร28 ของ พ.ร.บ.วินัยการคลังทำได้เช่นกัน”

การใส่เงินลงไปในธนาคารหมู่บ้าน 2 ล้านบาท เจตนาคือต้องการให้มีเม็ดเงินใหม่เข้าไปในหมู่บ้าน แต่มีระบบการจัดทำบัญชี  ไอที ในการตรวจสอบ  โดยมี ธ.ก.ส เป็นพี่เลี้ยง ให้ชาวบ้านทำมาหากินได้ นำเงินจากธนาคารสามารถซื้อเครื่องไม้ เครื่องมือ ค้ขายออนไลน์ ทำวิสาหกิจชุมชนได้

ดร.พิสิฐ มองว่า ถ้าตั้งธนาคารหมู่บ้านทุกหมู่บ้านประมาณ 8 หมื่นหมู่บ้าน จะมีเงินใหม่ใส่เข้าไปให้บริหารจัดการกันเอง โดยมี ธ.ก.ส. เป็นพี่เลี้ยง เราคิดว่าเป็นวิธีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับรากหญ้า ขณะที่เอสเอ็มอีเราก็เข้าไปช่วยเพิ่มทุน ทุกอย่างก็จะไปด้วยกันปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ทำให้เศรษฐกิจโตได้

“ผมไม่ห่วงธุรกิจขนาดใหญ่ เขาเอาตัวรอดได้ ผมกลัวว่า ธุรกิจรายใหญ่เขาจะมาฮุบธุรกิจขนาดเล็กมากกว่า คือเจตนานำเงินตรงนี้อาลงไปในหมู่บ้านประมาณ 2 แสนล้าน บวกกับที่ผ่านมา กองทุนเอสเอ็มอี 3 แสนล้าน รวมเป็น 5 แสนล้านบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศโดยที่ยังไม่กระทบงบประมาณเลย”

ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานคณะกรรมการนโยบาย พรรคประชาธิปัตย์

 ปลดล็อคกบข-กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ส่วนเงินอีกก้อนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดร.พิสิฐ  เห็นว่าในปัจจุบันทั้งข้าราชการและลูกจ้างเอกชนมีเงินออมไว้ใช้ในยามชราคือ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะบริหารกองทุนด้วยการนำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ หรือไปซื้อหุ้นในตลาดต่างประเทศ

“เงินก้อนนี้ถูกล็อคทำอะไรไม่ได้จนกว่าจะเกษียณ อยากปลดล็อคกฎหมายให้สมาชิ กบข. ข้าราชการครู ตำรวจ หรือพนักงานเอกชน สามารถนำเงินออกมาซื้อบ้าน ลดภาวการณ์เสียค่าเช่าของข้าราชการ เป็นหลักประกันในอนาคตว่าเกษียณแล้ว มีบ้านอยู่ และยังช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศได้ด้วย”

ดร.พิสิฐ  บอกว่า หากสามารถปลดล็อคกฎหมายสามารถนำเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุน กบข. ออกมาใช้ได้ประมาณ 3-4 แสนล้านบ้านเพื่อซื้อบ้านก็จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากขึ้น

“ถ้าเอาจากทั้งสองกองทุนฯอาจจะประมาณ 3 แสนล้านรวมกับเงินสองก้อนแรก 5 แสนก็จะได้เป็น 8 แสนล้าน ทำให้เรามีเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยไม่ต้องก่อหนี้ใหม่ ไม่ก่อหนี้สาธารณะ โดยสามารถช่วยเหลือเอสเอ็มอี,รากหญ้า พนักงานบริษัท ข้าราชการให้มีความคล่องตัวในเรื่องการเงิน ทำให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศได้”

2 แสนล้านช่วยภาคเกษตร

ส่วนงบประมาณก้อนสุดท้ายที่คาดว่าจะใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ  ดร.พิสิฐ บอกว่า ในจำนวน 16 นโยบายจะมีประมาณ 9 นโยบายที่จะเข้าไปช่วยเหลือภาคเกษตรซึ่งถือว่าเป็นส่วนใหญ่ของประเทศ

โดย 9 นโยบายที่จะเข้าไปช่วยภาคเกษตรประกอบด้วย จ่าย 3 หมื่นบาทต่อครอบครัว,เติม 3 ล้านบาทต่อยอดเกษตรแปลงใหญ่ในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 10,000 แปลง มีเกษตรกรเข้าร่วม 5 แสนราย ในพื้นที่กว่า 8 ล้านไร่ หรือการให้ค่าตอบแทน อาสาสมัครเกษตรประจำหมู่บ้าน 1,000 บาท/เดือน และประกันรายได้ จ่ายเงินส่วนต่าง ข้าว มัน ยาง ปาล์ม ข้าวโพด

ดร.พิสิฐ บอกว่าเงินก้อนนี้ต้องใช้ประมาณ 220,000 ล้านบาท ถามว่าจะเอาเงินจากที่ไหน ?  ซึ่งเราพบว่างบประมาณในช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีการประมาณการรายได้ต่ำ ทำให้คาดว่ารายได้ประเทศมีโอกาสเกินเป้าหมายที่กำหนดไว้ดังนั้นจะสามรถนำเงินในส่วนนี้มาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนนี้ได้

“ ทำไม ผมถึงกล้าประกาศว่า พรรคฯมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ 1 ล้านล้าน โดยที่ไม่ก่อหนี้สาธารณะ”

ดร.พิสิฐ บอกว่า เราไม่สามารถก่อหนี้สาธารณะได้อีกแล้วเพราะจะไม่มีอะไรดีขึ้นกว่าเดิมในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาเราใช้วิธีการก่อหนี้มาตลอดจนกระทั่งหนี้สาธารณะสูงขึ้น การขาดดุลงบประมาณที่เคยขาดดุลปีละ 3 แสนล้าน เพิ่มเป็นปีละ 6 แสนล้านบาท -7 แสนล้านบาท เราทำมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว เนื่องจากจะทำให้ประเทศเข้าตาจนได้ในอนาคต เพราะฉะนั้นเราต้องดูเงินที่มีอยู่และปลดล็อคสิ่งที่เป็นอุปสรรค

รวมแล้วนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจประมาณ 1 ล้านล้านบาท เราเชื่อว่าสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้โตได้ประมาณ 4.25 % ของจีดีพี เพราะฉะนั้นเป้าหมาย 5 % ของจีดีพี เราทำได้อยู่แล้วหากทำตามมาตรการเหล่านี้ แต่ถ้าไม่ทำแบบนี้เศรษฐกิจประเทศจะโตแบบเดิมคือ 1-2 % เท่านั้น

“ผมกล้าบอกว่าเราเป็นพรรคเดียวที่มีเรื่องของเศรษฐกิจมหาภาค เพราะหลายพรรคที่เสนอนโยบายมีเรื่องจุลภาค แต่เรามองภาพรวมว่าเราจะใส่เงินเข้าไปทำให้เกิดการขับเคลื่อนได้ทั้งประเทศ”

ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม

ส่วนนโยบายสวัสดิการอื่นๆ เช่น เรื่องของสวัสดิการของผู้สูงอายุนอกจากจ่ายเงินให้ชมรมผู้สูงอายุ 3 หมื่นบาท ยังมองไปถึงการปลดล็อคอายุในการเกษียณ ออกไปจาก 60 ปี เพื่อให้ผู้สูงอายุที่มีศักยภาพสามารถทำงานได้

“เรื่องผู้สูงอายุ เราไม่อยากให้เหมือนหลายพรรคประกาศให้ 3 พันบาท ก็มีคำถามว่าเงิน 4 แสนล้านต่อปีจะเอามาจากไหน ก็มีข้อเสนอ ต้องตัดงบกลางฯลงไป ผมอยู่ในสภาฯและอยู่ในกรรมาธิการงบประมาณแต่ละปีพิจารณากฎหมายงบประมาณให้ผู้เชี่ยวชาญมาพิจารณาเกลี่ยงบฯ ยังทำได้ไม่เกินหมื่นล้านบาท การจะเค้นงบประมาณให้ได้แสนล้าน จึงเป็นเป็นไปไม่ได้”

ดร.พิสิฐ เห็นว่าการจ่ายเงินเบี้ยผู้สูงอายุ 3 พันบาท เหมือนแจกขนมไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายจริง และแต่ละปีมีคนทำงานเกษียณอายุประมาณ 1 ล้านคน โดยที่ไม่มีเก็บเพียงพอ ขณะที่รัฐจ่ายเบี้ยชราให้แค่ 600-700 บาท ต่อให้เพิ่มอีก 3 พันบาทก็ไม่พอ ดังนั้นจึงเห็นว่าควรปลดล็อคอายุการทำงาน ปลดล็อคประกันสังคมในอายุ 55 ปี แต่เพิ่มเป็น 60 ปีและทำให้คน 1 ล้านคน ที่เกษียณอายุมีโอกาสทำงาน

“ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะขาดแคลนแรงงาน คนงานหายาก ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ การทำงานลูกจ้างไม่ควรจำกัดด้วยอายุ แต่ควรจำกัดด้วยสุขภาพ ความแข็งแรงของร่างกาย เพราะขณะนี้คนอายุ 60-70 ปีก็ทำงานได้ เพราะฉะนั้นผู้สูงอายุที่แข็งแรงถือเป็นกำลังสำคัญของเศรษฐกิจได้”

อย่างไรก็ตาม ดร.พิสิฐ เชื่อว่าการทุ่มเงินลงไป 1 ล้านล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจะสามารถฉุดให้เศรษฐกิจโตเร็วขึ้นได้ โดยใช้หลักคิดที่ว่าทำให้เศรษฐกิจมหาภาคโต ขณะเดียวกันระดับจุลภาคก็มีการใส่ชิ้นส่วนลงไปเรื่องของคนเรามีคุณภาพสูงขึ้นเรื่องการศึกษา สาธารณสุข เทคโนโลยี เพราะฉะนั้นวิธีคิดของเราคือจะมีมหาภาคเป็นตัวคลุมและมีจุลภาคเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขัน โดยสามารถจัดระเบียบ ปรับโครงสร้าง ปลดล็อค ข้อระเบียบกฎหมายต่างเพื่อทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้