ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เลือกตั้งอย่างรับผิดชอบ 2566 > วิเคราะห์ผลกระทบของนโยบายหาเสียงพรรคการเมือง

วิเคราะห์ผลกระทบของนโยบายหาเสียงพรรคการเมือง

3 เมษายน 2023


ฤดูกาลเลือกตั้งที่มาพร้อมนโยบายของแต่ละพรรค ต่างพร้อมขายฝันที่ยังไม่รู้ว่าจะทำให้เป็นจริงได้หรือไม่ หลายๆนโยบายได้สร้างความกังวลให้กับผู้กำกับดูแลเศรษฐกิจของประเทศ โดยหวั่นๆว่าจะสร้างการเข้าใจผิด และส่งเสริมให้ประชาชนขาดวินัยทางการเงิน รวมทั้งทำให้การบริหารจัดการเศรษฐกิจข้างหน้าไม่ยั่งยืน โดยนักวิชาการมองว่า

  • นโยบายหาเสียงส่วนใหญ่เน้นนโยบายประชานิยมแบบให้เปล่า ไม่มีเงื่อนไข คาดว่าจะใช้งบประมาณภาครัฐสูง สร้างภาระการคลัง และสร้างผลเสียในระยะยาว เช่น ลูกหนี้ขาดวินัยทางการเงิน มีการแทรกแซงกลไกตลาด บิดเบือนแรงจูงใจในการปรับตัว ยกระดับผลิตภาพการผลิตระยะยาวของธุรกิจ
  • จากงานวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) ระบุว่า หลายนโยบายอาจสร้างปัญหาในระยะยาวจากการใช้งบประมาณภาครัฐเกินตัวและการใช้เงินนอกงบประมาณ ซึ่งตรวจสอบได้ยาก โดยนโยบายที่ไม่ซ้ำกันของ 9 พรรคการเมืองอาจต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นถึง 3.14 ล้านล้านบาท เทียบกับงบประมาณของรัฐบาลปี 2566 ที่ 3.18 ล้านล้านบาท (ยังไม่รวมเงินนอกงบประมาณ) และหากมีงบประมาณไม่เพียงพอ ทำให้รัฐต้องกู้เพิ่ม จะส่งผลต่อหนี้สาธารณะ ทั้งนี้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ ธ.ค. 2565 = 61% โดยในช่วงปกติ เพดานหนี้สาธารณะของไทยไม่ควรเกิน 60% ต่อ GDP ตามการกำหนดของคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ แต่ในช่วงโควิด หลายประเทศรวมทั้งไทยได้ขยายเพดานหนี้สาธารณะเพื่อเพิ่มพื้นที่การคลังให้กับรัฐบาล ในการออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโดยไทยได้ขยายเพดานไปที่ 70% ต่อ GDP
  • นโยบายที่จะเป็นการเสริมสร้างศักยภาพการเติบโตของประเทศในระยะยาว ควรให้ความสำคัญกับประเด็น
    (1) การแก้หนี้อย่างยั่งยืน ต้องทำอย่างครบวงจรและตรงจุด เช่น ปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถของลูกหนี้ ไม่สร้างภาระเพิ่มให้ลูกหนี้ เช่น พักหนี้ไปเรื่อย ๆ จนทำให้มีภาระดอกเบี้ยเพิ่ม ไม่ลดโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อ เช่น ลบหรือแก้ประวัติสินเชื่อของลูกหนี้ จนสถาบันการเงินไม่รู้จักลูกหนี้และไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ และที่สำคัญ ต้องสร้างรายได้ควบคู่ด้วย

    (2) การเพิ่มผลิตภาพ การลงทุน เพื่อเพิ่มศักยภาพการเติบโตของไทยในระยะยาวควบคู่ไปกับการเพิ่มรายได้ ทั้งในด้านการพัฒนาทักษะคุณภาพของแรงงาน เช่น ปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้แรงงานมีทักษะ คุณสมบัติตรงกับความต้องการของตลาดในอนาคต upskill,re-skill แรงงาน รวมถึงการเพิ่มผลิตภาพการผลิต โดยเฉพาะในภาคการเกษตรที่ยังมีผลิตภาพต่ำกว่าภาคอื่น ๆ เช่น ปรับโมเดลเกษตรให้เหมาะกับพื้นที่ (ปลูกพืชมูลค่าสูง/หรือทำเกษตรผสมผสาน) ใช้เทคโนโลยีในการทำการเกษตร (เช่น smart farming) ซึ่งภาครัฐควรเร่งวางโครงสร้างพื้นฐานด้านเกษตรเพิ่มเติมด้วย เช่น ระบบชลประทาน

    (3) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการ และขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น พัฒนาคุณภาพการศึกษา สาธารณสุข คมนาคม รวมไปถึงระบบ social safety net ที่ยั่งยืน ไม่ก่อให้เกิดภาระทางการคลังที่มากจนเกินไป

    (4) การวางรากฐานทางเศรษฐกิจเพื่อรองรับกระแสโลกใหม่ เช่น การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และการสร้างโอกาสใหม่ ๆ จากนวัตกรรมทางเทคโนโลยี

  • ทั้งนี้ เพื่อผลักดันนโยบายที่เหมาะสมให้เกิดได้จริงและยั่งยืน ภาครัฐต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน
    มีความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนนโยบาย และกระบวนการใช้จ่ายโปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมทั้งบางเรื่องต้องสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญมากกว่า พร้อมทั้งต้องรักษาวินัยทางการคลัง ด้วยการวางแผนแหล่งเงินทุนให้เหมาะสม และคำนึงถึงความยั่งยืนของฐานะการคลังในระยะยาว เช่น ระดับหนี้สาธารณะ