ภายหลังที่ประชุม ครม. วันที่ 31 กรกฎาคม 2561 อนุมัติโครงการพักชำระหนี้ และลดดอกเบี้ยให้เกษตรกร 3.81 ล้านครัวเรือน เพื่อสนับสนุนการปฏิรูปภาคการเกษตรตามแนวทางเกษตรประชารัฐ และลดภาระหนี้ให้กับเกษตรกร โดยร่วมมือกับกระทรวงเกษตรเร่งจัดทำแผนฟื้นฟูเป็นรายบุคคล ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรใน 3 ปี
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2561 นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ชี้แจงรายละเอียดของมาตรการลดภาระหนี้ให้เกษตรกรครั้งนี้ว่า เป็นโครงการภาคสมัครใจ โดย ธ.ก.ส. เปิดโอกาสให้เกษตรกรเลือกได้ 2 โครงการคือ
1) โครงการขยายเวลาชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรที่มีหนี้คงค้างกับ ธ.ก.ส. ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2561 ได้ขยายระยะเวลาชำระต้นเงินกู้ออกไป 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2561 ถึง วันที่ 31 กรกฎาคม 2564 ตามความสมัครใจ แต่ยังต้องชำระค่าดอกเบี้ยเงินกู้ตามกำหนดเดิม หรือตามที่มาแห่งรายได้อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เว้นในกรณีเป็นภาระหนัก ให้ขยายเวลาชำระดอกเบี้ย หรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นรายกรณีไป
2) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่เกษตรกร สำหรับต้นเงินกู้ 300,000 บาทแรก ธ.ก.ส. ลดดอกเบี้ยให้ 3% เป็นระยะเวลา 1 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2561 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ยกตัวอย่าง เกษตรกรเป็นหนี้กับ ธ.ก.ส. 500,000 บาท ปกติจ่ายดอกเบี้ย 7% ต่อปี หากเลือกเข้าโครงการลดดอกเบี้ย 3% ก็จะจ่ายค่าดอกเบี้ยแค่ 4% ต่อปี เป็นเวลา 1 ปี หลังจากนี้จ่ายดอกเบี้ยตามปกติ
ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และเป็นการลดต้นทุนในการประกอบอาชีพสามารถฟื้นฟูตนเอง รวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตให้ดียิ่งขึ้น มีเงินใช้จ่ายในครัวเรือนและออมเงินมากขึ้น โดยรัฐบาลจะจัดงบประมาณมาชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้แทนเกษตรกรในอัตรา 2.5% ต่อปี และ ธ.ก.ส. รับภาระค่าใช้จ่ายแทนเกษตรกรในอัตรา 0.5% ต่อปี คิดเป็นวงเงินรวมประมาณ 20,000 ล้านบาท
“สำหรับเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยจำนวน 287,000 ราย ที่เข้าโครงการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 2 ปี ตามมติ ครม. วันที่ 9 มกราคม 2561 และวันที่ 24 เมษายน 2561 หากประสงค์จะเข้าร่วมโครงการขยายเวลาชำระหนี้ จะได้รับการพักชำระเฉพาะเงินต้นเพิ่มอีก 1 ปี” นายอภิรมย์กล่าว
นายอภิรมย์กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรลูกค้าภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2561 ธ.ก.ส. จะส่งพนักงานออกไปพบเกษตรกรลูกค้า เพื่อชี้แจงรายละเอียดโครงการ และสอบถามความสมัครใจ หากเกษตรกรประสงค์จะเข้าร่วมโครงการฯ ต้องลงชื่อในแบบแสดงความประสงค์เข้าร่วมโครงการฯในจุดประชุมแต่ละพื้นที่ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 หากพ้นกำหนดจะไม่ได้รับสิทธิ์ขยายเวลาชำระหนี้ แต่ยังคงได้รับสิทธิ์ลดดอกเบี้ยเป็นเวลา 1 ปี สำหรับเกษตรกรที่เลือกเข้าโครงการพักชำระเงินต้น 3 ปี ยังสามารถมาขอใช้บริการสินเชื่อชะลอการขายข้าวจาก ธ.ก.ส. ได้ตามปกติ เพราะเป็นสินเชื่อคนละประเภทกัน โดยสินเชื่อที่ได้รับการพักชำระเงินต้น 3 ปี เป็นเงินทุนหมุนเวียน ระหว่างพักหนี้ไม่ต้องนำเงินต้นมาชำระคืน ธ.ก.ส. แต่ก็ไม่สามารถมาขอสินเชื่อหมุนเวียนประเภทนี้ได้จนกว่าจะมีการชำระเงินต้น เจตนาของมาตรการพักหนี้ เพื่อให้เกษตรกรนำเงินไปลงทุน หรือลดภาระหนี้สิน แต่ถ้ายังไม่มีแผนการลงทุน ธ.ก.ส. ได้เตรียมแพ็คเกจเงินออม พร้อมสิทธิประโยชน์มากมายไว้บริการเกษตรกร เช่น เงินฝากออมทรัพย์ทวีโชค ซึ่งได้จัดโปรแกรมมอบสิทธิประโยชน์ และรางวัลพิเศษแก่ผู้ออมเงินที่เข้าร่วมโครงการ และผลิตภัณฑ์ “ธกส มอบรัก” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ประกันแบบคุ้มครองสินเชื่อ เพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง
นอกจากนี้ในระหว่างการขยายเวลาชำระหนี้ ธ.ก.ส. ได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าไปสนับสนุนแผนการพัฒนาอาชีพเป็นรายบุคคล เพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพให้สามารถแข่งขันและมีรายได้เพิ่ม เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในอาชีพเดิม การลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ หรือกรณีพื้นที่เพาะปลูกไม่เหมาะสมกับการประกอบอาชีพเดิมจะสนับสนุนให้มีการปรับเปลี่ยนการผลิตไปสู่ทางเลือกอื่นๆ ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า สนับสนุนการรวมกลุ่มเพื่อทำการผลิตในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่รวมถึงการสร้างอาชีพเสริมใหม่ๆ ภายใต้หลัก “ตลาดนำการผลิต” เพื่อให้เกษตรกรมีช่องทางในการขายสินค้า มีรายได้ที่มั่นคง สามารถชำระหนี้เมื่อสิ้นสุดการขยายเวลาชำระหนี้ โดยดำเนินการผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการสินเชื่อเพื่อปรับโครงสร้างการผลิตการเกษตรสู่ความยั่งยืน โครงการสินเชื่อชุมชนเพื่อการปรับเปลี่ยนการผลิตและพัฒนาอาชีพผู้มีรายได้น้อย (XYZ) อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี โครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาอาชีพของผู้มีรายได้น้อย อัตราดอกเบี้ย 0% เป็นเวลา 6 เดือน โครงการลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร และสถาบันเกษตรกร เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม กรณีเกษตรกรลูกค้ามีความประสงค์ชำระหนี้ครบถ้วนตามกำหนด ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยสามารถขอสินเชื่อใหม่ตามโครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มศักยภาพการประกอบอาชีพ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปีในปีแรกและปีต่อไปคิดในอัตราปกติ วงเงินให้สินเชื่อรวม 100,000 ล้านบาท
ส่วนเกษตรกรที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินเร่งด่วน ธ.ก.ส. ก็พร้อมสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน และการจัดหาปัจจัยการผลิตผ่านบัตรเกษตรสุขใจ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าและป้องกันการเป็นหนี้นอกระบบ ทั้งนี้ มาตรการและโครงการต่างๆ เป็นการดูแลแก้ไขปัญหาหนี้แบบครบวงจร ทำให้เกษตรกรมีขวัญและกำลังใจในการพัฒนาตนเอง เพื่อก้าวผ่านอุปสรรคและความยากลำบาก โดยหลุดพ้นจากวงจรหนี้ สามารถกลับมาประกอบอาชีพและสร้างรายได้ เพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างมั่นคงยั่งยืน