พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย
ช่วงเลือกตั้งเป็นช่วงเวลาที่เราจะได้ข้อเสนอและระดมความคิดใหม่ๆในการทำนโยบายเพื่อตอบโจทย์ความท้าทายทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่ประเทศเผชิญอยู่
แต่เพราะเรามีทรัพยากรจำกัด (เราเก็บภาษีได้แค่ 18% ของ GDP และขาดดุลการคลังประมาณ 2-3% ของ GDP เกือบจะทุกปี ในขณะที่ขนาดของรัฐใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตามภาระการคลังที่เพิ่มขึ้น) และเพราะโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี เวลาเราได้ยินข้อเสนอด้านนโยบายเรื่องใด ๆ ก็ตาม เราควรตั้งคำถามสามข้อกับผู้เสนอนโยบายนั้นเสมอ
หนึ่ง นโยบายนั้นมีผลกระทบอย่างไร ใครได้ประโยชน์ และใครเสียประโยชน์
เพราะนโยบายรัฐคือการใช้ทรัพยากรของรัฐที่ได้มาจากทั้งอำนาจภาษี อำนาจการนำเงินรัฐไปใช้จ่าย และการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบต่างๆ ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น แน่นอนว่า การปรับเปลี่ยนนโยบายใด ๆ ย่อมมีผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์เสมอ
ยากมากที่จะหานโยบายอะไรที่มีแต่ผู้ได้ประโยชน์เท่านั้น (ไม่งั้นเราน่าจะทำไปตั้งนานแล้ว)
การเมืองจึงเป็นเรื่องของการเจรจาต่อรองผลประโยชน์อย่างสันติระหว่างผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ โดยเปิดเผยผ่านการเลือกตั้ง (ไม่ใช่การคอร์รัปชั่น หรือการยึดอำนาจ)
เวลาเราได้ยินข้อเสนอด้านนโยบายจึงต้องคิดดีๆว่านอกจากคนที่จะได้รับประโยชน์แล้ว ใครเป็นผู้เสียประโยชน์บ้าง และบางทีรายละเอียดของนโยบายที่ไม่ค่อยได้พูดถึงกันนี่แหละเป็นสิ่งที่ควรตั้งคำถามกันเยอะๆ
และควรมีการศึกษาวิจัยกันมากๆว่าผลกระทบของแต่ละนโยบายเป็นอย่างไร ประชาชนจะได้มีข้อมูลไปประกอบการตัดสินใจอย่างครบถ้วน ไม่ใช่ฟังข้อมูลจากผู้เสนอเพียงฝ่ายเดียว และควรเป็นการวิเคราะห์จากข้อมูล ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ
ในหลายประเทศ มีสถาบันวิจัยหรือ think tank ที่ทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลในหลายมิติ และมีความชำนาญในด้านที่ต่างกันไป เพื่อนำข้อมูลมาเผยแพร่กัน แต่มีความเห็นต่างกันตามความเชื่อทางเศรษฐกิจและการเมือง เช่น ในสหรัฐมี Brookings Institute, Heritage Foundation, Peterson Institute, Tax Foundation เป็นต้น ที่ได้รับความเชื่อถือ และผลิตงานที่มีคุณภาพ และส่วนใหญ่มีเงินสนับสนุนจากเงินบริจาค จากคนที่อยากสนับสนุนงานเหล่านี้ หรือต้องการผลักดันนโยบายที่ตัวเองชมชอบ
หรือหลายประเทศมีหน่วยงานรัฐที่เป็นอิสระที่ทำหน้าที่นี้ เช่น ในสหรัฐ มี Congressional Budget Office หรือ CBO ที่ได้รับความเชื่อถือจากทุกพรรคการเมือง และในเมืองไทยก็มีสำนักงบประมาณ ของรัฐสภา ที่ควรจะทำหน้าที่นี้
นอกจากนี้ สื่อมวลชนเองก็อาจจะควรมีหน้าที่คำถาม และหาคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญ และนำข้อกังวลไปถามผู้เสนอนโยบาย
เช่น ถ้ามีข้อเสนอนโยบายอะไรสักอย่าง ก็ควรมีการวิเคราะห์กันลึกๆ ถึงความเหมาะสม และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ประชาชนจะได้ใช้ประกอบในการตัดสินใจ
สอง นโยบายนั้นมีต้นทุนเท่าไร?
อย่างที่บอกนะครับ เพราะโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี การทำนโยบายก็เช่นเดียวกัน ย่อมมีต้นทุนเสมอ และของที่ดี ไม่ว่าดีขนาดไหน แต่ถ้ามันราคาแพงมาก เราก็อาจจะไม่อยากมันได้ก็ได้ (ไม่งั้นทุกคนคงอยากได้เฟอร์รารีกันไปหมดแล้ว)
บางทีเวลาเราฟังนโยบายหาเสียง ที่เป็นนโยบายลดแลกแจกแถมกันบ่อยมาก จนเหมือนว่านโยบายพวกนี้มันฟรี ถ้าคิดว่าเราไม่ต้องจ่าย เราก็อยากได้ทุกนโยบาย แต่ถ้าเรารู้ว่ามันมีราคาเท่าไร และเราต้องจ่ายมันอย่างไร เราอาจจะต้องคิดหนักหน่อยว่าทำได้จริงไหม หรือเลือกอันไหนดี
เช่นกันครับ การวิเคราะห์ต้นทุนของนโยบายก็ควรได้รับการวิเคราะห์อย่างถ้วนถี่ และถูกต้องตามหลักวิชาการ การนั่งเทียนเรื่องต้นทุน หรือการประมาณผลกระทบที่ดีเกินจริง อาจจะทำให้เกิดการประเมินต้นทุนของนโยบายที่ผิดพลาด
ในอดีต เราเห็นนโยบายหลายอันที่เสนอมาแล้วบอกว่าไม่มีต้นทุนด้านการคลัง เพราะมีการใช้มาตรการกึ่งการคลัง การใช้ธนาคารของรัฐมาหลบกระบวนการด้านงบประมาณ หรือนโยบายที่เมื่อนำมาทำจริงๆแล้วมีต้นทุนสูงกว่ามีสัญญาไว้หลายเท่าตัว
เวลาได้ยินว่านโยบายนี้มีต้นทุนน้อยมาก ต้องคิดกันหนักๆนะครับ ว่าโดนหลอกอยู่หรือเปล่า
การวิเคราะห์ต้นทุนของนโยบายจึงความจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่ต่างจากการประเมินผลกระทบของนโยบายเลย
สาม จะเอาเงินจากไหนมาจ่าย?
เพราะเรามีทรัพยากรจำกัด ถ้ามีข้อเสนอเรื่องนโยบายใหม่ที่มีต้นทุนเกิดขึ้น มีแค่สามทางที่เราจะทำนโยบายนั่นได้ คือ
หนึ่ง ตัดเงินจากนโยบายอื่น
สอง ขึ้นภาษี สร้างรายได้ใหม่มาจ่าย
สาม เพิ่มการขาดดุล และสร้างหนี้ใหม่ ให้ลูกหลานมาจ่ายในอนาคต
ถ้าเราตั้งคำถามแบบนี้เสมอจะบังคับให้พรรคการเมืองคิดให้ครบ และทำให้เราต้องฉุกคิดว่า นโยบายที่เราคิดว่าดี มีต้นทุนค่าเสียโอกาสเป็นอย่างไร ถ้าเราอยากจะได้นโยบายใหม่มา เราต้องตัดงบประมาณอะไรไป (แต่งบบางอย่างเราอยากจะให้ตัดก็ได้) หรือต้องจ่ายภาษีใหม่อะไรบ้าง หรือต้องยอมรับหนี้เพิ่มขึ้นเท่าไร และคุ้มกันหรือไม่
ในหลายประเทศ คำถามว่าจะ “จ่าย” นโยบายอย่างไร อาจจะเป็นคำถามที่ตัดสินผลชนะหรือแพ้การเลือกตั้งได้เลย
สามคำถามนี้จึงเป็นคำถามที่เราควรช่วยกันตั้งกับผู้เสนอนโยบายกันนะครับ ไม่งั้นนโยบายหาเสียงจะกลายเป็นการแข่งกันแจก แข่งกันซื้อความนิยมกันมากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่ได้คิดว่านโยบายเหล่านั้นต้องแลกมาด้วยอะไร
เพราะโลกนี้ไม่มีอะไรฟรีครับ