ThaiPublica > ประเด็นร้อน > เลือกตั้งอย่างรับผิดชอบ 2566 > ‘สามคำ’ สำหรับการออกแบบนโยบายเศรษฐกิจไทย: การมีส่วนร่วม กลไกตลาด และความสมดุล

‘สามคำ’ สำหรับการออกแบบนโยบายเศรษฐกิจไทย: การมีส่วนร่วม กลไกตลาด และความสมดุล

30 เมษายน 2023


ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ

เศรษฐกิจไทยเคยมีพัฒนาการที่โดดเด่นผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวเคยเติบโตได้ถึง 6.3% ต่อปีในช่วงปี 2523-2539 และยังสามารถเติบโตได้ถึง 4.5% ต่อปีในช่วงปี 2542-2549 พัฒนาการที่ก้าวกระโดดนี้สะท้อนนโยบายเศรษฐกิจที่สอดรับสนับสนุนกับบริบทและเงื่อนไขของเศรษฐกิจไทยในขณะนั้นได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยเริ่มชะลอลง โดยในช่วงปี 2553-2561 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัวเติบโตได้เพียง 2.9% ขณะเดียวกัน ไทยยังเผชิญปัญหาความเหลื่อมล้ำ ส่งผลให้ไทยเปราะบางต่อความผันผวนทางภูมิรัฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อม และยังจำกัดความสามารถของเศรษฐกิจไทยในการปรับตัวตามภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ในวันนี้ที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ขณะที่การเลือกตั้งกำลังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกำลังใกล้เข้ามา ถึงเวลาที่เราจะทบทวนและปรับแต่งนโยบายเศรษฐกิจไทยให้สอดคล้องกับบริบทและเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลง เพื่อให้ไทยสามารถเติบโตไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคมและเทคโนโลยีในปัจจุบันและอนาคต

บทความนี้ขอนำเสนอ ‘สามคำ’ ที่เป็นหลักคิดในการวางกรอบนโยบายทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป

  • ขอสามคำสำหรับการประเมินนโยบายเศรษฐกิจพรรคการเมือง
  • สามคำถามที่ควรถามต่อนโยบายหาเสียง – คาถาป้องกันนโยบายประชานิยม
  • 1. นโยบายเศรษฐกิจที่ส่งเสริม ‘การมีส่วนร่วม’ เพื่อการเติบโตอย่างทั่วถึง

    ในช่วงปี 2531-2564 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของผู้ที่มีรายได้มากที่สุด 20% แรกเพิ่มขึ้น 22,488 บาท สูงกว่าผู้มีรายได้น้อยที่สุด 20% แรกที่เพิ่มขึ้นเพียง 2,594 บาท หรือสูงกว่า 8.7 เท่า สถิติบ่งชี้ว่าผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ไม่ได้กระจายตัวอย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของความเหลื่อมล้ำของ ‘โอกาสทางเศรษฐกิจ’ ซึ่งหมายถึงโอกาสในการมีส่วนร่วมกับการสร้างมูลค่าเพิ่ม และได้รับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง

    หนังสือ Why Nations Fail อธิบายว่า เงื่อนไขในการกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง คือ ‘โครงสร้างสถาบันทางเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม’(Inclusive Economic Institutions) อันหมายถึงกรอบแรงจูงใจและกฎกติกาทางเศรษฐกิจและสังคมที่เอื้อให้คนไทยสามารถเข้าถึงโอกาสในการสะสมทรัพยากรตั้งต้น (เช่น การเข้าถึงการศึกษา ทรัพยากรและผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และโครงสร้างพื้นฐาน) และลงแข่งขันภายใต้กฎกติกาที่เสมอภาคโดยการเพิ่มโอกาสในการเข้าสู่ตลาด ณ ต้นทุนที่เหมาะสม คนมีอำนาจต่อรองในตลาดสินค้าและตลาดแรงงานที่เท่าเทียม

    ภายใต้สถาบันทางเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม คนไทยจะสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างอิสระ ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การบริโภค หรือการลงทุน เอื้อให้คนได้ใช้ทุนและทักษะที่มีมาร่วมสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง

    2. นโยบายเศรษฐกิจที่สนับสนุน ‘กลไกตลาด’

    ​เศรษฐกิจไทยเป็นระบบตลาด อาศัยกลไกตลาดในการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์ชี้ว่าเศรษฐกิจไทยมีการแทรกแซงกลไกตลาดผ่านการประกันราคาสินค้าและบริการ และการผูกขาดการจัดสรรทรัพยากรทางเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ มายาวนาน

    ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ชี้ว่าการแทรกแซงจะสามารถทำได้ในกรณีที่ระบบตลาดไม่สามารถทำงาน เช่น การจัดสรรทรัพยากรสาธารณะ แต่หากตลาดทำงานได้ปกติ การแทรกแซงและผูกขาดจะบิดเบือนแรงจูงใจของคนในระบบเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเช่น ‘การควบคุมราคา’ ซึ่งส่งผลให้ผู้ผลิตขาดแรงจูงใจที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อแข่งขัน ขณะที่ผู้บริโภคจะพึ่งพิงการแทรกแซงกลไกตลาดมากเกินไป นอกจากนี้ การแทรกแซงอาจส่งผลให้ตลาดจัดสรรทรัพยากรผิดไปจากความต้องการที่แท้จริงของคนในระบบเศรษฐกิจ เพราะผู้ดำเนินนโยบายไม่อาจคาดเดาความต้องการของคนได้ถูกต้องเสมอไป

    บทบาทที่เหมาะสมของนโยบายทางเศรษฐกิจ จึงน่าจะเป็นการสนับสนุนให้กลไกตลาดทำงานเต็มศักยภาพ เช่น การสนับสนุนให้เกิดการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสารและการเคลื่อนย้ายทรัพยากรในตลาดสินค้าและตลาดแรงงาน การวางกรอบกติกาให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียม ยืดหยุ่นตามลักษณะเฉพาะของธุรกิจ และกระแสการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีได้ทัน

    3. นโยบายทางเศรษฐกิจให้ผลลัพธ์ทั้งในระยะสั้นและยาวอย่าง ‘สมดุล’

    ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา ผู้ดำเนินนโยบายทุ่มทรัพยากรมาตรการทาเศรษฐกิจไปกับการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะสั้น เช่น การเสริมสภาพคล่องและประคองกำลังซื้อของครัวเรือนและธุรกิจ วันนี้ที่วิกฤติโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ถึงเวลาที่ต้องจัดสรรทรัพยากรมาแก้ปัญหาระยะยาวมากขึ้น นั่นคือ การลดความเหลื่อมล้ำของโอกาสทางเศรษฐกิจ ซึ่งต้องอาศัยการวางโครงสร้างเชิงสถาบัน และการปฏิรูป

    การดำเนินนโยบายระยะสั้นควบคู่ไปกับการปฏิรูปอย่างสมดุลเป็นโจทย์ที่ท้าทาย การปฏิรูปย่อมมีผู้เสียประโยชน์ในระยะสั้น และมีค่าเสียโอกาสจากการนำทรัพยากรสาธารณะที่ใช้ในการปฏิรูปมากระตุ้นเศรษฐกิจ การหาสมดุลที่ดี คือ การเปิดเวทีให้คนในระบบเศรษฐกิจมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น จำแนกข้อดีข้อเสีย และกำหนดนโยบายร่วมกัน เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ดำเนินนโยบายชั่งน้ำหนักระหว่างนโยบายระยะสั้นกับการปฏิรูประยะยาว ในต่างประเทศ เช่น สหภาพยุโรป เริ่มส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนโดยตรงร่วมกับการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น โดยสหภาพยุโรปวางหลักการและมอบอำนาจในเชิงกฎหมายไว้ใน The Treaty of Lisbon ซึ่งกลายเป็นรากฐานในการประกาศใช้เครื่องมือเชิงนโยบายต่างๆ เช่น European Citizens Initiative ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มให้ประชาชนเสนอและสนับสนุนนโยบายสาธารณะ

    จังหวะเวลาในการปฏิรูปก็เป็นเรื่องสำคัญ งานศึกษาของ OECD (2010) ชี้ว่าการเริ่มปฏิรูปจากช่วงปลายของวิกฤติทางเศรษฐกิจต่อเนื่องมาจนเศรษฐกิจฟื้นตัวเป็นช่วงเวลาที่คนส่วนใหญ่ในระบบเศรษฐกิจตระหนักถึงปัญหาเชิงโครงสร้างและมีแนวโน้มสูงที่จะสนับสนุนการปฏิรูป วันนี้จึงเป็นเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะสร้างสมดุลระหว่างนโยบายระยะสั้นและการปฏิรูป

    สามคำในบทความนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของคำอีกหลายคำ แต่สิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สัมฤทธิ์ผล คือ การมีส่วนร่วมของทุนคนในการออกแบบและขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจที่ส่งผลดีต่อการเติบโตและการกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจในระยะยาว