นายกฯ ย้ำ รมต. ลา ครม. หาเสียงได้ แต่องค์ประชุมต้องครบ ชง PM2.5 เข้าที่ประชุมอาเซียน ห่วง “จุดความร้อน” ไทยพุ่ง 5,396 จุด ระดมทุกหน่วยแก้ PM2.5 มติ ครม. รับทราบฐานะการเงินรัฐบาล – แก้โควิดฯ ดันหนี้เพิ่มกว่า 7% แจงความเสี่ยงการคลัง หนี้/GDP ปี ’65 ทะลุ 60% ไม่ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครอง เบรก “โครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา” ปรับเกณฑ์จ่ายเบี้ยยังชีพคนชราทันทีที่อายุครบ เพิ่มสิทธิ BOI หนุนผลิตรถ EV-สร้างสถานีชาร์จ-ลดฝุ่น
เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น พลเอก ประยุทธ์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน รวมทั้งมอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ
ชง PM2.5 เข้าที่ประชุมอาเซียน
พลเอก ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้มีการประชุม ครม. หลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องฝุ่นละออง PM2.5 โดยมีกำชับการเผาต่างๆ และได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัญหา PM2.5 เป็นวาระอาเซียนด้วยหรือไม่ พลเอก ประยุทธ์ ตอบว่า “ก็ต้องทำอย่างนั้น เพราะเราก็มีข้อมูลอยู่แล้ว อยู่ในประเทศเราเท่าไร รอบบ้านเท่าไร ต้องหารือร่วมกัน เป็นปัญหาที่เกิดมายาวนาน แต่เราก็แก้ให้ดีที่สุดแล้วกัน วันนี้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดูแลเรื่องเหล่านี้ให้ช่วยกันแก้ปัญหา ทั้งระดับพื้นที่ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ต้องช่วยกันหมด”
วอนเกษตรกรหยุดเผา ลดมลพิษ
พลเอก ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันได้มีการประสานความร่วมมือและขอความร่วมมือระดับรัฐบาลแต่ละประเทศแล้ว เพราะยังมีการประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่มีการเผาจำนวนมาก
“ก็ขอความร่วมมือให้ได้มากที่สุดนะจ๊ะ คนไทยด้วยกันต้องช่วยกันให้มากกว่าเดิม ไม่งั้นจะมีผลกระทบอย่างอื่นด้วย จะทำอะไรก็ตามนึกถึงผลกระทบกับคนอื่นเขาด้วย” พลเอก ประยุทธ์ กล่าว
ย้ำ รมต. ลา ครม. หาเสียงได้ ถ้าครบองค์ประชุม
มีคำถามว่า วันนี้รองนายกฯ ท่านไหนขออนุญาตลาราชการเพื่อลงพื้นที่หาเสียงบ้างในช่วงนี้ พลเอก ประยุทธ์ ตอบว่า “ก็แล้วแต่ท่าน ถ้าองค์ประชุม ครม. ครบก็ประชุมได้อยู่แล้ว ทุกคนเขามีภาระไม่เหมือนกัน”
ถามต่อว่า งานทั่วไปจะเกิดช่องโหว่หรือไม่ พลเอก ประยุทธ์ ตอบว่า “ไม่เกิด เพราะองค์ประชุมครบ และผมนั่งหัวโต๊ะจะต้องทำให้มันครบ”
ถามต่อว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข บอกว่าจะขอลาราชการยาว พลเอก ประยุทธ์ บอกว่า “ไม่มี ไม่เห็นลาเลย ก็ค่อยลาเป็นครั้งเป็นคราวก็แล้วกัน”
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯ จะลาไหม พลเอก ประยุทธ์ ตอบว่า “ถ้าจำเป็นก็ต้องลาบ้าง มันคนละบทบาท ผมไม่ตอบตรงนี้ ก็บอกไว้แล้ว”
เมื่อถามถึงการเตรียมลงพื้นที่หาเสียง พลเอก ประยุทธ์ ตอบสั้นๆ ว่า “ยังไม่มี ถ้ามีก็จะรู้”
ห่วง “จุดความร้อน” ไทยพุ่ง 5,396 จุด
นายอนุชารายงานว่า ในที่ประชุม ครม. วันนี้ ได้มีการพูดถึงปัญหาการแก้ไข PM2.5 โดยข้อมูลสถานการณ์ล่าสุดจาก GISDA พบว่า ประเทศไทยพบจุดความร้อนทั้งสิ้นประมาณ 5,396 จุด ส่วนประเทศเมียนมา 6,877 จุด, สปป.ลาว 4,066 จุด, กัมพูชา 139 จุด และเวียดนาม 626 จุด
นายอนุชา กล่าวถึงจุดความร้อนในประเทศไทยว่า GISDA พบจุดความร้อนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 3,024 จุด, ป่าสงวนแห่งชาติ 1,790 จุด, พื้นที่เกษตร 251 จุด, พื้นที่ชุมชนอื่นๆ 167 จุด, พื้นที่เขตสปก. 157 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 7 จุด ส่วนจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากสุด 3 อันดับแรก คือ จังหวัดน่าน 555 จุด, แม่ฮ่องสอน 429 จุด และอุตรดิตถ์ 382 จุด
ระดมทุกหน่วยแก้ PM2.5
นายอนุชากล่าวต่อว่า นายกฯ ได้มีข้อสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองเป็นวิกฤติ รายละเอียด ดังนี้
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการปิดป่าในส่วนที่มีสถานการณ์ไฟป่าระดับวิกฤติหรือเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าขั้นรุนแรง มีการระดมสรรพกำลัง เครือข่ายอาสาสมัคร อุปกรณ์เครื่องมืออากาศยาน และลาดตระเวนเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น
กระทรวงมหาดไทย ได้กำชับจังหวัดห้ามเผาในทุกพื้นที่ รวมถึงห้ามบริหารจัดการเชื้อเพลิงด้วยการเผาในพื้นที่โล่ง และให้มีการบูรณาการหน่วยงานในพื้นที่ มีการลาดตระเวนเฝ้าระวังการเผา ป้องกันไม่ให้มีการเผาอย่างเข้มข้น
กระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำชับให้ลดรับอ้อยไฟไหม้ในช่วงนี้
กระทรวงคมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรุงเทพมหานคร ได้มีการพิจารณามาตรการในการจำกัดเวลาพื้นที่และปริมาณรถบรรทุกที่จะเข้าในเขตเมือง และให้ทุกหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายกับผู้ลักลอบเผาหรือผู้กระทำความผิดอย่างเข้มข้น
กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีการปฏิบัติการทำฝนหลวงเพื่อบรรเทาสถานการณ์ไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละออง
กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย ได้มีการจัดให้ทำห้องปลอดฝุ่น แจกอุปกรณ์ป้องกันฝุ่นเท่าที่จำเป็น รวมถึงยารักษาโรค และเร่งจัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งหน่วยงานบริการตรววจสุขภาพประชาชนและจัดคลินิกมลพิษเคลื่อนที่ในทุกจังหวัดเพื่อให้คำแนะนำและดูแลสุขภาพแก่ประชาชน
กระทรวงต่างประเทศ ได้พูดคุยและสั่งการเพิ่มเติมไปยังเอกอัครราชทูตประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อประสานการลดการเผาไหม้ในพื้นที่การเกษตร
นอกจากนี้ พลเอก ประยุทธ์ ใช้อำนาจในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อใช้ช่องทางทหารประสานงานหน่วยงานความมั่นคงเพิ่มเติมกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อขอความร่วมมือการลดการเผาไหม้ รวมถึงขอความร่วมมือกับบริษัทเอกชนที่เข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อช่วยดูแลพื้นที่เกษตรด้วย
เพิ่มสิทธิ BOI หนุนผลิตรถ EV-สร้างสถานีชาร์จ-ลดฝุ่น
นายอนุชากล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีพูดถึงการส่งเสริมในระยะยาวให้ประเทศไทยเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ โดยที่ผ่านมามีการส่งเสริมในด้านต่างๆ เห็นได้จากการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรถไฟฟ้าประเภทไฮบริด
“ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาฝุ่น PM2.5 และลดปัญหาโลกร้อน เป็นการประหยัดพลังงาน นอกจากนี้รัฐบาลส่งเสริมรูปแบบการประหยัดพลังงานจากพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานสะอาดหรือพลังงานทดแทนด้วย”
นายอนุชาเสริมว่า นายกฯ มีข้อสั่งการให้เพิ่มสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าทั่วประเทศ รวมทั้งเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการลงทุนมาตรการส่งเสริมการลงทุนของ BOI และสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตเพื่อแก้ปัญหาระยะยาว
มติ ครม. มีดังนี้
รับทราบฐานะการเงินรัฐบาล – แก้โควิดฯ ดันหนี้เพิ่มกว่า 7%
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบรายงานการเงินรวมภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ 2565 ประกอบด้วย งบแสดงฐานะการเงิน และงบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงินของรัฐบาล หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 8,424 หน่วยงาน จากทั้งหมดจำนวน 8,443 หน่วยงาน คิดเป็นร้อยละ 99.97 สรุปได้ ดังนี้
-
(1) รายงานการเงินรวมภาครัฐ สินทรัพย์ 34.20 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.96 ส่วนใหญ่เป็นที่ดินราชพัสดุ รองลงมาเป็นเงินลงทุน ระยะยาวและสินทรัพย์ของสถาบันการเงินของรัฐ หนี้สิน 26.87 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.73 เนื่องจากมีการกู้เงินเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคมและการชดเชยรายได้ของประชาชนตามแผนงาน หรือโครงการภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 พ.ศ. 2563 และ พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในส่วนของรายได้ 8.79 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.61 เนื่องจากมีรายได้แผ่นดินเพิ่มขึ้น เช่น การจัดเก็บ ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าใช้จ่าย 8.97 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.98 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ทำให้ต้นทุนการขายสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น
-
(2) รายงานการเงินรวมของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ (ไม่รวมรัฐวิสาหกิจและ อปท.) สินทรัพย์ 16.75 ล้านล้านบาท ลดลง ร้อยละ 1.20 ส่วนใหญ่เป็นที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ที่มีจำนวนลดลง จากการใช้งานในรูปแบบของค่าเสื่อมราคาอาคารและอุปกรณ์ของหน่วยงาน หนี้สิน 12.25 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.02 เนื่องจากมีการกู้เงินเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคม และการชดเชยรายได้ของประชาชนตามแผนงาน หรือ โครงการภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 พ.ศ. 2563 และ พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในส่วนของรายได้ 3.45 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 9.32 เนื่องจากรายได้ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ลดลง ค่าใช้จ่าย 4.21 ล้านล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.49 เนื่องจากค่าใช้จ่ายจากการอุดหนุนอื่นและการบริจาค และค่าใช้จ่ายอื่น เช่น สวัสดิการสังคมและเงินช่วยเหลือ ผู้ประสบภัย
-
(3) รายงานการเงินรวมของรัฐวิสาหกิจ สินทรัพย์ 18.42 ล้านล้านบาท เพิ่มร้อยละ 5.08 เนื่องจากสินทรัพย์ของสถาบันการเงินของรัฐเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นของ ธนาคารกรุงไทย และ ธนาคารออมสิน หนี้สิน 15.13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.79 เนื่องจากหนี้สินของสถาบันการเงินของรัฐเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นของ ธนาคารกรุงไทย และ ธนาคารออมสิน ในส่วนของรายได้ 5.11 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.41 เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลาย ส่งผลให้ รัฐวิสาหกิจมีผลประกอบการดีขึ้นและมีรายได้เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่าย 4.73 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.98 เนื่องจากรัฐวิสาหกิจมีผลประกอบการดีขึ้น จากการขายสินค้าและการให้บริการที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนขายสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น
-
(4) รายงานการเงินรวมของ อปท. สินทรัพย์ 1.61 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.18 ส่วนใหญ่เป็นที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ และสินทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐานหนี้สิน 0.11 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.41 ส่วนใหญ่เป็นภาระหนี้สินของ กทม. จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวและเงินรับฝากระยะสั้น ในส่วนของรายได้ 0.82 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.89 เนื่องจากรายได้ของ อปท.เพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บภาษี ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราปกติ ค่าใช้จ่าย 0.60 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.11 โดยเป็นค่าใช้จ่ายบุคลากร ค่าบำเหน็จบำนาญ และค่าใช้จ่ายสวัสดิการของรัฐ
สำหรับหน่วยงานของรัฐที่ไม่ส่งรายงานการเงิน คณะรัฐมนตรีให้จัดส่งรายงานการเงินประจำปีงบประมาณ 2565 ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ ครม. มีมติ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการวิเคราะห์ พบว่า สัดส่วนรายได้เพิ่มสูงกว่าค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยรายได้รวมของปีงบประมาณ 2565 เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2564 ร้อยละ 17.61 ขณะที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.98 โดยมีสัดส่วนรายได้เพิ่มสูงกว่าค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แสดงถึงสัญญาณทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้นทั้งการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานของรัฐและรายได้แผ่นดิน
แจงความเสี่ยงการคลัง หนี้/GDP ปี’65 ทะลุ 60%
นายอนุชากล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบรายงานความเสี่ยงทางการคลังประจำปีงบประมาณ 2565 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. ภาคงบประมาณ
2. ความเสี่ยงทางการคลังจากการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ
-
2.1 เงินกองทุนประกันสังคมปรับลดลงจากปีก่อน จากมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ลดลง และการลดอัตราการจ่ายเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33, 39 และ 40 รวมทั้งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุส่งผลให้จำนวนผู้ประกันตนวัยแรงงานเข้าสู่ระบบลดลงด้วย
-
2.2 การปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบของรัฐบาลเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และการเริ่มจ่ายเงินบำนาญชราภาพให้กับสมาชิกในปี 2566 อาจทำให้รัฐบาลมีความเสี่ยงในการจัดสรรงบประมาณ เพื่อชดเชยส่วนต่างผลตอบแทน หาก กอช. ไม่สามารถบรรลุอัตราผลตอบแทนตามที่รับประกันไว้
-
2.3 ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิติดลบจำนวนมาก จากราคาพลังงานโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้กองทุนต้องจ่ายเงินอุดหนุนชดเชยราคาก๊าซ LPG และราคาขายปลีกดีเซล เพื่อพยุงราคาในประเทศไม่ให้สูงเกินไป ซึ่งในช่วงต้นปี 2566 สถานการณ์ราคาพลังงานเริ่มปรับตัวดีขึ้น คาดว่าฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะคลี่คลายลง และกองทุนจะสามารถชำระหนี้คืนได้ โดยไม่เป็นภาระงบประมาณของรัฐบาลในอนาคต
-
2.4 ผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจในปีบัญชี 2565 ปรับตัวดีขึ้น แต่ยังคงต่ำกว่าก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 เงินนำส่งรายได้แผ่นดินของรัฐวิสาหกิจในภาพรวมลดลง โดยสาเหตุสำคัญมาจากรัฐวิสาหกิจกลุ่มไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการตรึงค่าไฟฟ้าผัน แปรอัตโนมัติ (Ft) เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการและประชาชน
-
2.5 ฐานะการเงินของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial:SFIs) ภาพรวมยังคงอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ อย่างไรก็ตาม ควรติดตามระดับหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จากการด้อยคุณภาพลงของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ COVID-19 และมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกรที่สิ้นสุดลงในปี 2565
-
2.6 ฐานะทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ในภาพรวมอยู่ในระดับแข็งแกร่ง อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ยังคงสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดตามมาตรฐานสากล และคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ 2565 ในภาพรวมปรับตัวดีขึ้นจากการปรับโครงสร้างหนี้และบริหารจัดการคุณภาพหนี้
-
2.7 ภาคประกันภัยอาจได้รับผลกระทบจากวิกฤติ COVID-19 โดยยอดเงินขอรับชำระหนี้อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับจำนวนเงินกองทุนประกันวินาศภัย อย่างไรก็ตาม การจ่ายเงินของกองทุนประกันวินาศภัยเป็นไปในลักษณะของการทยอยจ่าย จึงทำให้กองทุนยังสามารถบริหารจัดการยอดขอรับชำระหนี้ดังกล่าวได้ และเป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในวงจำกัด
-
2.8 รายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ปรับตัวดีขึ้นในปีงบประมาณ 2565 อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สำหรับการจัดเก็บภาษีของปีภาษี พ.ศ. 2566 ซึ่งจะส่งผลให้ อปท. มีรายได้จากภาษีที่ดินฯ ลดลง
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า รายงานความเสี่ยงทางการคลัง รัฐบาลสามารถใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายการคลังในปีงบประมาณต่อไปได้ ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ใช้นโยบายการคลังและงบประมาณ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและ ภาคธุรกิจ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ขณะที่การก่อหนี้กว่าร้อยละ 70 ยังเป็นหนี้เพื่อการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพื่อการเติบโตอย่ายั่งยืน ซึ่งบางประเทศยังนำแนวทางการดำเนินงานของรัฐบาลเป็นโมเดลในการพัฒนาประเทศด้วย
ไม่ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครอง – เบรก “โครงการพัฒนาริมฝั่งเจ้าพระยา”
ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ในการดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่ง ในลักษณะเป็นสะพานยกสูงเหนือระดับน้ำท่วมสูงสุด ซึ่งใช้เป็นเส้นทางสัญจรรองรับการเดินทางด้วยจักรยาน (Bike Lane) มี 12 แผนงาน เช่น แผนงานทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา แผนงานปรับปรุงภูมิทัศน์เขื่อน แผนงานพัฒนาท่าเรือ โดยแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 4 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 (สะพานพระราม 7 – กรมชลประทาน) ช่วงที่ 2 (กรมชลประทาน-คลองรอบกรุง) ช่วงที่ 3 (สะพานพระราม 7 – คลองบางพลัด) และช่วงที่ 4 (คลองบางพลัด – คลองบางยี่ขัน) ระยะทางประมาณ 14 กิโลเมตร
ทั้งนี้ ครม. เห็นชอบไม่ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ตามความเห็นของสำนักงานคดีปกครอง สำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งศาลฯ พิพากษาให้รัฐบาลระงับการก่อสร้างโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจนกว่าจะได้มีการดำเนินการ ดังนี้
-
1. จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยระบุถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชน มีการประกาศเผยแพร่ข้อมูลโครงการ และสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นให้ประชาชนทราบภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เสร็จสิ้นการรับฟังความคิดเห็น
-
2. จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการดังกล่าวตามที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยครบถ้วน
-
3. แก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 63 พ.ศ. 2537 ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 เพื่อให้เจ้าท่ามีอำนาจอนุญาตและได้อนุญาตให้ก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำได้
-
4. ขออนุญาตต่ออธิบดีกรมศิลปากรเพื่อได้มีคำสั่งเป็นหนังสืออนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารภายในบริเวณโบราณสถานตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในบริเวณที่โครงการพาดผ่าน
ปรับเกณฑ์ข่ายเบี้ยยังชีพคนชราทันทีที่อายุครบ
ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สอดรับกับข้อห่วงใยของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งมีแนวทางการดำเนินการ ดังนี้
-
1. กรณีการย้ายภูมิลำเนาของผู้มีสิทธิรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สูงอายุให้ได้รับสิทธิในเดือนถัดไปทันที เพื่อไม่ให้เสียสิทธิการรับเงิน และกรมการปกครองจัดทำระบบที่สามารถตรวจสอบการย้ายภูมิลำเนาของผู้สูงอายุได้ รวมทั้งให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและกรมบัญชีกลางตรวจสอบข้อมูลและคำนวณงบประมาณที่จะเพิ่มขึ้นในแต่ละปี เพื่อส่งข้อมูลให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพิ่มขึ้นได้อย่างถูกต้อง
-
2. การปรับอัตราการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันได ให้ปรับอัตราการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ณ วันที่ผู้สูงอายุมีอายุครบในเดือนนั้นทันที ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการปรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุระหว่างปีงบประมาณ ทำให้ผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 70, 80 และ 90 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ได้รับเบี้ยยังชีพในอัตราเดิมตลอดปีงบประมาณ จึงทำให้ผู้สูงอายุกลุ่มดังกล่าวเสียสิทธิ
-
3. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และหลักเกณฑ์แนวทางการรับลงทะเบียนผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุของ อปท. พร้อมทั้งปรับปรุงระบบสารสนเทศการจัดการฐานข้อมูลเบี้ยยังชีพ เพื่อให้สามารถคำนวณการใช้จ่ายงบประมาณในการปรับอัตราการจ่ายเงินได้
-
4. คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) เร่งรัดการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและนำเข้าที่ประชุม กผส. และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นนำมาพิจารณาเพื่อประกอบการแก้ไขระเบียบดังกล่าวด้วย
ต่อยอด “Ease of Traveling” อำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบการดำเนินการเรื่องระบบการอำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทาง (Ease of Traveling) ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ที่ได้มอบหมายส่วนราชการขับเคลื่อนบริการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) 12 งานบริการ
ทั้งนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้จัดทำแผนดำเนินการหรือโรดแมปของระบบ Ease of Traveling สำหรับปี 2565-67 โดยพัฒนาต่อยอดจากระบบ Thailand Entry ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อเป็นเว็บท่า (Web Portal) ในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการและขั้นตอนการเดินทางเข้าไทย ในช่วงที่ยังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อทางการได้ยกเลิกมาตรการต่างๆ และเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นมา Entry Thailand จึงได้รับการพัฒนาให้เป็นแพลตฟอร์มกลางอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวแบบครบวงจรแทน โดยการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำเสนอข้อมูลสำคัญที่ตรงกับพฤติกรรมและความต้องการของนักท่องเที่ยว ตั้งแต่ก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย ระหว่างพำนักในประเทศ และก่อนเดินทางออกนอกประเทศไทย
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ในปี 2565 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้เชื่อมโยง Entry Thailand กับหน่วยงานต่างๆ เช่น กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในส่วนแอปพลิเคชัน Thailand Pass, กรมสรรพกร ในเรื่องการคืนภาษีสำหรับนักท่องเที่ยว, กรมการกงสุล เรื่อง การขอวีซาออนไลน์, กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ในเรื่องแอปพลิเคชัน Tourist Police I Lert U เพื่อให้ความช่วยเหลือนักท่องเที่ยวประสบเหตุ, เชื่อมกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ในเรื่องตารางเที่ยวบิน, เชื่อมกับกรมควบคุมโรค เรื่องการตรวจสอบการได้รับวัคซีนโควิด-19, เชื่อมกับ คปภ. ในการซื้อประกันคุ้มครองสำหรับโควิด-19 เป็นต้น
สำหรับปี 2566 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะดำเนินการเชื่อมต่อ Entry Thailand เข้ากับหน่วยงานต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ Ease of Traveling ให้เพิ่มมากขึ้น ได้แก่ เชื่อมกับกระทรวงวัฒนาธรรม ในเรื่องข้อมูลงานเทศกาลและงานประเพณีของประเทศไทย, กับกรมศิลปากร ในเรื่องการค้นหาข้อมูลพิพิธภัณฑ์และอุทยานประวัติศาสตร์, กับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในเรื่องการรายงานสถานการณ์สาธารณภัยประจำวัน, กับกรมอุตุนิยมวิทยา ในเรื่องการแจ้งเตือนภาพอากาศ และกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในเรื่องระบบการจองที่พักในอุทยานแห่งชาติ
นอกจากนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ Ease of Traveling โดยมีการวิเคราะห์ความพึงพอใจ พฤติกรรม และความต้องการของนักท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับทิศทางและการคาดการณ์ด้านการท่องเที่ยวในอนาคตและจัดทำโร้ดแมปในปีต่อๆไป รวมถึงเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อให้นักท่องเที่ยว ประชาชน ตลอดจนผู้ประกอบการให้รับรู้เกี่ยวกับระบบ Ease of Traveling ของประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบด้วย
เห็นชอบ ขรก.-ลูกจ้างรัฐ ลาบวช 97 รูป ถวายเป็นพระกุศลสมเด็จพระสังราชฯ
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบให้ข้าราชการทุกประเภท พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ลาเข้าร่วมโครงการบรรพชาอุปสมบท 97 รูป ถวายพระกุศล สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลสังฆปริณายก เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 8 รอบ 26 มิถุนายน 2566 โดยไม่ถือเป็นวันลา เสมือนเป็นการปฏิบัติราชการและได้รับเงินเดือนตามปกติ ระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม 2566 (รวม 17 วัน) ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร
สำหรับการบรรพชาอุปสมบทครั้งนี้ได้กำหนดผู้เข้าร่วมโครงการประกอบด้วยข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างประจำจากหน่วยงานภาครัฐ ผู้แทนภาคีเครือข่ายภาคเอกชน นักศึกษาและประชาชน มีหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินโครงการ ได้แก่ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ร่วมกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และมีกรุงเทพมหานคร และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นหน่วยงานสนับสนุน
นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ลำดับการดำเนินโครงการฯ มีรายละเอียดดังนี้ เปิดรับสมัครเข้าร่วมโครงการ ระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ -31 มีนาคม 2566 จากนั้นดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติในเดือนเมษายน 2566 ประกาศรายชื่อผู้เข้าร่วมโครงการในเดือน พฤษภาคม 2566, มีพิธีปลงผมในวันที่ 15 มิถุนายน 2566, มีพิธีรับประทานผ้าไตรและเข้ารับประทานพระโอวาทจากสมเด็จพระสังฆราช ในวันที่ 16 มิถุนายน 2566, พิธีบรรพชาอุปสมบท วันที่ 17 มิถุนายน 66 และลาสิกขาในวันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ตามลำดับ
ชู 9 แนวทาง “สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล”
นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบแนวทางการรณรงค์เพื่อสืบสานคุณค่าทางวัฒนธรรม เนื่องในประเพณีสงกรานต์ พุทธศักราช 2566 ภายใต้แนวคิด “สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล” ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ เพื่อกำหนดแนวทางรณรงค์เพื่อสืบสานประเพณีสงกรานต์ และแนวทางการประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ประเพณีสงกรานต์ในโอกาสที่ไทยเสนอเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก รวมทั้งการดูแลทรัพย์สิน สุขอนามัย และความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญเพื่อให้ประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติได้รับความสุข จากประเพณีสงกรานต์นี้
นางสาวทิพานันกล่าวว่า แนวทางการรณรงค์ภายใต้แนวคิด “สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล” มี 9 ข้อ ดังนี้
-
1. ขอความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ร่วมกันจัดกิจกรรมประเพณีสงกรานต์ มุ่งเน้นสืบสานคุณค่าสาระของประเพณีอันดีงาม พร้อมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สู่การรับรู้ของชาวต่างชาติ
2. ส่งเสริมให้จังหวัดต่างๆ ใช้พื้นที่จัดกิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรมในประเพณีสงกรานต์
3. รณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันสืบสานคุณค่าสาระและสิ่งที่ควรทำของประเพณีสงกรานต์ เช่น ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ และขอพรผู้สูงอายุ
4. รณรงค์ให้แต่งกายที่สร้างภาพลักษณ์ความเป็นไทย เช่น ใช้ผ้าไทย ผ้าท้องถิ่น ชุดไทยย้อนยุค หรือชุดสุภาพ เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสร้างการรับรู้ถึงอัตลักษณ์ความเป็นไทยต่อชาวต่างชาติ
5. ขอความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ สนับสนุนศิลปินพื้นบ้านเพื่อถ่ายทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และให้เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไปได้ร่วมกันสืบสานประเพณี
6. หน่วยงานด้านความมั่นคง ความปลอดภัย และด้านบริการประชาชนบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
7. ขอความร่วมมือประชาชนที่ใช้ยานพาหนะและใช้ถนนให้ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎจราจร อย่างเคร่งครัด
8. การจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม 608 ให้รักษาตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และโรคทางเดินหายใจ เพื่อสุขอนามัยที่ดีของผู้เข้าร่วมงาน
9. ส่งเสริมให้ภาครัฐ เอกชน และประชาชน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเพณีสงกรานต์ ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และนานาชาติ ในโอกาสที่สงกรานต์ในไทยเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติที่เข้าสู่การพิจารณาของยูเนสโก
“แนวทาง “สืบสานสงกรานต์วิถีไทย ร่วมสานใจ สู่สากล” นี้จะเป็นการตอกย้ำคุณค่าของประเพณีวัฒนธรรมไทย ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีผลักดันให้ “สงกรานต์ในไทย” เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติที่ของยูเนสโก ซึ่งยูเนสโกจะพิจารณาการขึ้นทะเบียนสงกรานต์ในไทยเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติภายในเดือนธันวาคม 2566 นี้” นางสาวทิพานัน กล่าว
อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 28 มีนาคม 2566 เพิ่มเติม