ThaiPublica > เกาะกระแส > “ค่าสารก่อมะเร็งพุ่ง” 13 ปีเขตควบคุมมลพิษนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

“ค่าสารก่อมะเร็งพุ่ง” 13 ปีเขตควบคุมมลพิษนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

8 มีนาคม 2023


นักวิชาการชี้การประกาศเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุด  13 ปี “ล้มเหลว” แก้ปัญหามลพิษไม่ได้ “ค่าสาร VOCs” ก่อมะเร็งเกินมาตรฐานต่อเนื่อง 10 ปี คาดสัมพันธ์อัตราการเกิดมะเร็งเม็ดเลือกขาวชาว จ.ระยอง สูงกว่าค่าเฉลี่ยนของประเทศ เร่งรัฐตรวจสอบสุขภาพชุมชนชุมชนรอบนิคมฯ -โรงงานอุตสาหกรรม

นายสนธิ  คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพและนักวิชาการสิ่งแวดล้อม

นายสนธิ  คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพและนักวิชาการสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ค่าสารอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds : VOCs) หลายตัวเกินมาตรฐานต่อเนื่องมากว่า 10 ปีทำให้ชาวบ้านรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และชาวระยองต้องเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเพิ่มมากขึ้น

“ฝุ่น PM 2.5 ที่วิกฤติในบางช่วงประชาชนทั่วไปยังเสี่ยงต่อปัญหาโรคทางเดินหายใจ แต่ปัญหาสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs)  ในพื้นที่ มาบตาพุดเกินมาตรฐานต่อเนื่องตลอดทั้งปี ถือว่าอันตรายมากสำหรับชาวบ้านมาบตาพุดที่ต้องสูดดมเข้าไปทั้งปี”

นายสนธิกล่าวว่าเป็นเรื่องน่าตกใจมาก ที่ข้อมูลจากกรมควบคุมมลิพิษรายงานว่าเกินมาตรฐานต่อเนื่องมานาน เกือบ 10 ปี นับตั้งแต่ประกาศเขตควบคุมมลพิษในปี 2552 ค่าสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) เกินมาตรฐานถูกนำมาเปิดเผย หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระยะเวลา 5 ปี (2561-2565 )ให้ยกเลิกเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุด จ.ระยอง ภายในปี2565โดยให้เปลี่ยนเป็นพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สีเขียว ตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

การยกเลิกเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุด มีเงื่อนไขต้องเร่งแก้ปัญหามลพิษให้กลับสู่ภาวะปกติ เพราะภายในเดือน ส.ค.2565 ก่อนครบกำหนดการแก้ปัญหาตามแผนปฏิรูป 5 ปี โดยที่ผ่านมาพบว่าสามารถแก้ไขค่ามลพิษจากสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนไดออกไซด์ได้กลับมาสู่ระดับที่ดีต่ำกว่ามาตรฐาน ที่กระทรวงฯ กำหนดแล้ว แต่สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs)  ที่มาจากโรงงานอุตสาหกรรมยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่องมาตลอด และไม่สามารถแก้ไขปัญหาทันตามกำหนดเวลาภายในปี 2565

การยกเลิกเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุดให้ได้ในปี 2565 จึงไม่บรรลุเป้าหมาย  ขณะที่ชาวบ้านเครือข่ายประชานภาคตะวันออกยื่นหนังสือค้านการยกเลิกเขตควบคุมมลพิษ เพราะเห็นว่ายังไม่สามารถแก้ปัญหาสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs)  และปัญหามลพิษอื่นๆ โดยเห็นว่าต้องแก้ไขปัญหา สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs)  อย่างเร่งด่วนที่สุดเพราะชาวบ้านในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งมากขึ้น

โรงงานในนิคที่มาภาพ :

13 ปี จัดการมลพิษมาบตาพุด ‘ล้มเหลว’

หากย้อนกลับเมื่อ 13 ปีผ่านมาในปี 2552 เขตควบคุมมลพิษมาบตาพุด ถูกประกาศจากแรงผลักดันของชาวบ้านและชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ทนกลิ่นเหม็นจากการปล่อยสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนไดออกไซด์ และเริ่มมีชาวบ้านในชุมชนจำนวนไม่น้อยมีปัญหาสุขภาพ  จนกระทั่งศาลปกครองสูงสุดสั่งให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในขณะนั้นประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตควบคุมมลพิษ

เขตควบคุมมลพิษมาบตาพุด ครอบคลุมพื้นที่ตำบลมาบตาพุด ตำบลห้วยโป่ง ตำบลเนินพระ และตำบลทับมา อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง รวมทั้งพื้นที่ตำบลมาบข่า อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง และตำบลบ้านฉาง อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง รวมทั้งพื้นที่ทะเลภายในแนวเขตควบคุมมลพิษ

นอกจากนี้ มีนิคมอุตสาหกรรม 5 แห่ง ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุสาหกรรมผาแดง นิคมอุตสาหกรรมเอเซีย นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ นิคมอุตสาหกรรมอาร์.ไอ.แอล.  และท่าเรือน้ำลึก 1 แห่ง

เป้าหมายการประกาศเขตควบคุมมลพิศมาบตาพุดเพื่อควบคุมมลพิษจากโรงงาน เพราะเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เหล็ก เคมีภัณฑ์ โรงกลั่นน้ำมัน โรงไฟฟ้า ฯลฯ มีปัญหาการจัดการขยะมูลฝอย ของเสียอันตราย ถ่านหิน และมลพิษทางอากาศ

ที่มาภาพ :สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)

นายสนธิกล่าวต่อว่า ตลอด 13 ปีของเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุดไม่สามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ แม้จะสามารถควบคุมสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนไดออกไซด์ได้ แต่ไม่สามารถคุมสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs)  ได้เลย ทั้งนี้ไม่เพียงไม่สามารถแก้ไขปัญหาการควบคุมสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs)  ได้แล้ว การควบคุมอัตราการเติบโตของโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ก็ไม่สามารถทำได้ จากปี 2542 นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดมีโรงงาน 65 โรงงาน ในปี2552 ซึ่งประกาศเขตควบคุมมลพิษมีโรงงาน 130 แห่ง และในปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 161 แห่งโรงงานส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้น เป็นประเภทโรงงานปิโตรเคมี โรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน โรงผลิตไฟฟ้าถ่านหิน และโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก

“โรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดไม่ควรจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากปัญหามลพิษในพื้นที่ แต่ก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นเนื่องจากกระบวนการรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจจะขาดประสิทธิภาพ ขอไปก็ผ่าน ให้เปิดโรงงานงาน โดยไม่ได้ประเมินปัญหาสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ที่เพิ่มมากขึ้นจนน่าเป็นห่วง”

สำหรับสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs)  เกิดจากกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เกิดจากการ รั่วซึม จาก ถัง ท่อ แทงค์เก็บน้ำมัน รวมไปถึงกระบวนการซ่อมบำรุงโรงงานอุตสาหกรรมในทุกปี จะปล่อยสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ออกมาจำนวนมาก

นายสนธิกล่าวว่า ข้อมูลจากการรายงานของกรมควบคุมมลพิษพบว่าคุณภาพอากาศโดยรอบนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มีสารอินทรีระเหยง่าย รอบพื้นที่รอบนิคมอุตสาหกรรมในตำบลมาบตาพุด เกินค่ามาตรฐาน 3 ตัว ประกอบด้วย ค่าสารเบนซิน, สาร 1, 2 ไดคลอโรอีเทน (Dichloroethane) และสาร 1, 3 บิวทาไดอีน (Butadiene) เกินค่ามาตรฐานเฉลี่ยรายปีมาโดยตลอด สถานีตรวจวัดค่าสารเบนซีนที่เกินมาตรฐานคือ ชุมชนบ้านพลง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมาบตาพุด วัดหนองแฟบ ชุมชนเมืองใหม่มาบตาพุด ศูนย์บริการสาธารณสุขตากวน เป็นต้น

“ช่วงหลัง เขาพยายามไล่ตรวจโรงงาน แต่ประเด็นคือจำนวนโรงงานที่เพิ่มขึ้น  โดยส่วนใหญ่เป็นโรงงานปิโตรเคมี  โรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงแยกแก๊ส และโรงกลั่น ซึ่งโรงงานเหล่านี้มีสารระเหยเบนซีนที่อันตรายทั้งหมด”

ที่มาภาพ :
สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล

สารเบนซีนก่อมะเร็งเกินต่อเนื่อง 10 ปี

จากรายงานผลการตรวจวัดสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs)  ของกรมควบคุมมลพิษพบว่าค่ามลพิษเกินมาตรฐานทั้ง 3 ชนิด ประกอบด้วย สารเบนซีน , สาร 1, 2 Dichloroethane และสาร 1, 3 Butadiene  โดยสารเบนซีนเป็นสารอันตรายที่องค์การวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ หรือ IARC กำหนดให้สารเบนซีนเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่มที่ 1  หากรับสารดังกล่าวต่อเนื่องไประยะยาวนานนมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือดขาว

รายงานผลการตรวจวัดค่า สารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs)  ของกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ค่าเฉลี่ยสารเบนซีนเกินมาตรฐานต่อเนื่องตลอดทั้งปีมาตั้งแต่ ปี 2548-2558 โดยมีค่าเบนซีนอยู่ที่ 4.5-6.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สำหรับค่ามาตรฐานสารเบนซีนของไทย อยู่ที่ 1.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ญี่ปุ่น 3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สหรัฐเมริกา 5 มค.ก.ต่อ ลบ.ม. ซึ่งการปล่อยสารเบนซีนบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเกินมาตรฐานของทุกประเทศ

ผลการตรวจวัดสารเบนซีน ในปี 2564 มีค่าเกินมาตรฐานประกอบด้วย  สถานีหนองแฟบ มีค่า 2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สถานีที่การชุมชนบ้านพลง  5.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สถานีเมืองใหม่มาบตาพุด  3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สถานีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมาบตาพุด 2.9 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร   สถานีศูนย์บริการสาธารณสุขบ้านตากวน  3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรสถานีชุมชนเนินพะยอม  3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ขณะที่ผลตรวจสารเบนซีนในปี 2565  ที่สถานีหนองแฟบ  1.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร  ยังไม่เกินมาตรฐาน แต่สถานีที่ทำการชุมชนบ้านพลง 2.9 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สถานีเมืองใหม่มาบตาพุด 2.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร  โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพส่วนตำบลมาบตาพุด 2.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ศูนย์บริการสาธารณสุขบ้านตากวน   1.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ชุมชนเนินพะยอง 2.9 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร  วัดปลวกเกตุ  2.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ส่วนผลตรวจ สาร 1,2 Dichloroethan และ 1,3 Butadiene ซึ่งเป็นสารที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งตามข้อเสนอแนะของ IARC ในสถานีที่ตรวจวัดในพื้นที่มาบตาพุด มีค่าสูงเกินค่ามาตรฐานเช่นเดียวกัน โดยค่ามาตรฐานของ 1,3 Butadiene ต้องไม่เกิน 0.33 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่ามาตรฐานของ1,2 Dichloroethane มีค่าไม่เกิน 0.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

นายสนธิกล่าวว่า ชุมชนบ้านพลง เป็นชุมชนที่น่าเป็นห่วงเพราะตั้งอยู่ระหว่างนิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด กับโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ทำให้รับสารมลพิษเกินมาตรฐานต่อเนื่องตลอดปี โดยรับจากนิคม อาร์ไอแอล 4 เดือน ในช่วงฤดูหนาวและรับจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด 8 เดือนทำให้ชุมชนนี้รับมลพิษตลอดเวลา  ขณะที่ชุมชนที่ได้รับสารทั้ง 3 ชนิด เกินค่ามาตรฐานในปี 2565 คือ วัดหนองแฟบ ที่ทำการบ้านพลง เมืองใหม่มาบตาพุด รพ.สต.มาบตาพุดและศูนย์บริการสาธารณสุขตากวน เป็นพื้นที่ต้องเข้าไปประเมินผลกระทบต่อสุขภาพเป็นการด่วน

ที่มาภาพ :
สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล

ผู้ป่วยมะเร็ง จ.ระยองแชมป์ประเทศไทย

แม้จะยังไม่มีสิ่งบ่งชี้ที่ชัดเจนว่าอัตราการป่วยเป็นโรคมะเร็งของชาวจ.ระยองที่สูงเกินค่าเฉลี่ยในประเทศไทยจะสัมพันธ์โดยตรงจากค่าสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs)เกินมาตรฐาน แต่ข้อมูลจากงานวิจัยโรคมะเร็งในประเทศไทยช่วงปี 2557-2560 พบว่าค่าเฉลี่ยอัตราการเกิดมะเร็งในผู้ชาย 156.7 ต่อประชากรแสนคน และผู้หญิง 138 .2 คนต่อประชากรแสนคน

อัตราค่าเฉลี่ยการเกิดมะเร็งในพื้นที่จ.ระยองสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ โดย อัตราการเกิดมะเร็งในผู้ชายอยู่ที่ 210.1 คนต่อประชากรแสนคน และผู้หญิงอัตราการเกิดมะเร็ง 177.2 คนต่อประชากรแสนคน

นอกจากนี้ยังพบว่า กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า ปี 2563 พื้นที่ จ.ระยองมีผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือกขาวสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ  และพบว่าอัตราการป่วยที่มีรูปร่างผิดปกติตั้งแต่กำเนิดมากขึ้น  และมีอัตราเด็กที่เกิดมาแล้วโครโมโซมผิดปกติมากที่สุดใน อ.เมือง จ.ระยอง

“ผมคิดว่าค่าการป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวน่าจะสัมพันธ์กับสารเบนซีนที่เกินค่ามาตรฐานต่อเนื่องยาวนาน หากได้รับสาร VOCs ต่อเนื่องเกิน 1 ปี มีความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งชาวบ้านที่ จ.ระยองได้รับสารเคมีต่อเนื่องมาตลอดหลายปี”

  • “ภารนี สวัสดิรักษ์” กับโจทย์ “มาบตาพุด” เมื่อผังเมืองเลยเถิดสำหรับการใช้ชีวิตของมนุษย์
  • บทเรียนจาก “มินามาตะ” ถึง “มาบตาพุด” และหยุด”ส่งออกมลพิษ”
  • เปิดผังเมืองมาบตาพุดฉบับใหม่ พื้นที่อุตฯ ลดลง 28 ล้าน ตร.ม.เพิ่มพื้นที่สีเขียว-เกษตรกรรม
  • 30 ปีโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด : ผลสำรวจ ” นิคมมาบตาพุด” สะสมมลพิษสาร “ก่อมะเร็ง”
  • 30 ปีโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด : ย้อนรอยเขตอุตสาหกรรมหนัก การเปลี่ยนไปของ “มาบตาพุด”
  • “กนิษฐ์ พงษ์นาวิน” เสียงสะท้อนเจ้าบ้าน “มาบตาพุด” ความสุขที่หายไปพร้อมกับผู้มาเยือน
  • เปิดงานวิจัยมาบตาพุด (3): ความล้มเหลวของการเติบโตอย่างยั่งยืน – การพยายามหากินตามประเทศที่พัฒนาแล้ว
  • จี้รัฐเร่งตรวจสุขภาพคนในชุมชนมาบาบตาพุด

    นายสนธิให้ความเห็นว่า ยังไม่ควรยกเลิกเขตควบคุมมลพิษมาบาตาพุด แต่สิ่งเร่งด่วนที่รัฐต้องดำเนินการมากกว่าการยกเลิกเขตควบคุมมลพิษคือ กระทรวงอุตสาหกรรมควรเป็นเจ้าภาพและแต่งตั้งคณะกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบทุกแหล่งกำเนิดมลพิษที่อาจก่อให้เกิดสาร VOCs ของโรงงาน รวมทั้งโรงงานต้องให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ และต้องเผยแพร่ผลการทำงานให้ประชาชนทราบ ซึ่งภายใน 1 ปี ต้องลดค่า VOCsในพื้นที่

    ส่วนปัญหาสุขภาพของชาวระยอง กรมควบคุมโรค และกรมอนามัย ตรวจสุขภาพและทำการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่มีสาร VOCs รายปีเกินค่ามาตรฐาน  และควรออกข้อกำหนดให้มีการตรวจวัดสาร VOCs ในบรรยากาศริมรั้วของโรงงานที่มีการปล่อยสารอินทรีย์ หรือ Fence line Monitoring และออกกฎหมายการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register) หรือ PRTR เผยแพร่ต่อสาธารณชน

    ส่วนในระยะยาวเสนอให้โรงงานที่ปล่อยมลพิษสูงและมีหอเผาไหม้ต้องจัดทำ Enclosed Ground Flare ซึ่งเป็นระบบปล่อย Flare ในระบบปิดเพื่อป้องกันสารไฮโดรคาร์บอนที่เผาไหม้ไม่หมด หรือสาร VOCs ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยรอบ

    ผลตรวจวัดมลพิษ กรมควบคุมมลพิษ

    กนอ. ยันสาร VOCs นิคมมาบตาพุดไม่เกินมาตรฐาน

    นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า จากกรณีที่มีการรายงานว่า ในพื้นที่มาบตาพุดพบสารก่อมะเร็งในพื้นที่สูงเกินค่ามาตรฐาน-อันตรายต่อสุขภาพ จากการปล่อยสารอินทรีย์ระเหยง่ายนั้น จากการตรวจสอบพบว่า รายงานดังกล่าวเป็นข้อมูลงานวิจัยอุบัติการณ์โรคมะเร็งในประเทศไทยในช่วงปี 2557-2560 ที่จังหวัดระยองมีอัตราการเกิดโรคมะเร็งสูง ซึ่งข้อมูลยังไม่เป็นปัจจุบัน รวมถึงการรายงานผลตรวจของกรมควบคุมมลพิษว่า พบค่าสารเบนซีนเฉลี่ย 1 ปี ตั้งแต่ปี 2548-2558 ก็ยังเป็นข้อมูลที่ไม่ใช่ปัจจุบันเช่นกัน

    ขณะที่การนิคมอุตสาหกรรมฯ ย้ำมาตรฐานควบคุมการจัดการสารอินทรีย์ระเหย VOCs พื้นที่กลุ่มนิคมมาบตาพุดคอมเพล็กซ์ เป็นไปตามกฎหมาย

    ขณะที่การจัดการสารอินทรีย์ระเหย VOCs กนอ.ได้บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และชุมชน โดยนำมาตรการหลักปฏิบัติที่ดี (Code of Practice) มาใช้กำกับดูแลการประกอบกิจการเกี่ยวกับการจัดการสารอินทรีย์ระเหย ซึ่งเป็นการใช้ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และผู้เชี่ยวชาญการศึกษาในการดำเนินการ