นับตั้งแต่ผังเมืองรวมบริเวณอุตสาหกรรมหลักและชุมชน จ.ระยอง พ.ศ. 2546 หมดอายุลงในวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 (ดูรายละเอียดผังเมือง 30 ปี มาบตาพุด)
กว่า 2 ปีแล้วที่พื้นที่รวมบริเวณอุตสาหกรรมหลักและชุมชน จ.ระยอง ที่ครอบคลุมพื้นที่เทศบาลเมืองมาบตาพุด เทศบาลเมืองบ้านฉาง เทศบาลตำบลบ้านฉาง เทศบาลตำบลพลา เทศบาลตำบลเนินพระ เทศบาลตำบลทับมา และเทศบาลตำบลมาบข่าพัฒนา ปราศจากผังเมืองที่มาควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน
จนนำไปสู่ความวิตกกังวลของประชาชนในพื้นที่ว่าอาจเป็น “ช่อง” ที่ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมขยายอาณาเขตข้ามไปยังพื้นที่อื่นที่ไม่ได้ถูกจัดสรรให้เป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ โดยเทศบาลเมืองมาบตาพุดได้ดำเนินการเผยแพร่ร่างผังเมืองรวมบริเวณอุตสาหกรรมหลักและชุมชน จ.ระยอง(ปรับปรุงครั้งที่ 3) ก่อนที่จะทำการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่
ในร่างผังเมืองฉบับใหม่นี้อยู่ภายใต้วิสัยทัศน์ของ จ.ระยอง ที่ระบุว่า “เมืองแห่งคุณภาพที่ดีและเศรษฐกิจที่สมดุล” หรือ “City of good quality of life and balanced economy” ซึ่งมีการกำหนดยุทธศาสตร์ดังนี้
1. พัฒนาและพื้นฟูการท่องเที่ยว
2. ส่งเสริมและพัฒนาให้เป็นแหล่งผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมที่ได้มาตรฐาน สามารถสร้างและขยายโอกาสทางการตลาดได้
3. สร้างเสริมสังคมให้มีคุณธรรมนำความรู้ สู่การดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
4. ส่งเสริมและพัฒนาให้เป็นแหล่งอุตสาหกรรมของภูมิภาคที่ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนสังคมได้อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ “ข้อขัดแย้ง” ในพื้นที่ที่มาจากปัญหามลพิษและการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ผังเมืองรวม จนนำไปสู่การฟ้องร้องเพื่อระงับการขยายโครงการอุตสาหกรรมไว้ชั่วคราว ได้ถูกนำมาพิจารณาในการวางผังเมืองฉบับนี้ด้วย
แนวคิดในการปรับปรุงผังเมืองทดแทนผังเดิมจึงประกอบไปด้วย
1. การสร้างความสมดุลระหว่างพื้นที่อุตสาหกรรมและพื้นที่ชุมชน
2. การจัดทำพื้นที่กันชนระหว่างอุตสาหกรรมและชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ
3. การแก้ไขปัญหาพื้นที่ชุมชนเดิมในพื้นที่อุตสาหกรรม
4. การจัดการพื้นที่สงวนและพื้นที่อนุรักษ์
5. แนวโน้มหรือความเป็นไปได้ในการปรับปรุงผังเมืองรวมตามความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นรายบริเวณ
โดยวางเป้าหมายให้เป็นแนวทางในการพัฒนาเมืองในระยะ 20 ปี โดยจะมีการปรับปรุงผังทุกๆ 5 ปี ซึ่งจะรองรับประชากรจำนวน 330,083 คนในปี 2572 และรองรับประชากรแฝงที่จำนวน 190,912 คนในปีเดียวกัน
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของประเภทการใช้ประโยชน์จากที่ดินระหว่างผังเมืองเดิมกับผังเมืองใหม่ พบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
1. พื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย ผังเดิม 24,809,832 ตร.ม. ผังใหม่ 42,936,701 ตร.ม. เพิ่มขึ้น 18,126,868 ตร.ม.
2. พื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง ผังเดิม 5,608,014 ตร.ม. ผังใหม่ 8,745,899 ตร.ม. เพิ่มขึ้น 3,137,885 ตร.ม.
3. พื้นที่พาณิชกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก ผังเดิม 3,008,865 ตร.ม. ผังใหม่ 2,775,314 ตร.ม. ลดลง 233,551 ตร.ม.
4. พื้นที่อุตสาหกรรมและคลังสินค้า ผังเดิม 64,615,277 ตร.ม. ผังใหม่ 36,579,542 ตร.ม. ลดลง 28,035,735 ตร.ม.
5. พื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม ผังเดิม 93,926,930 ตร.ม. ผังใหม่ 129,786,614 ตร.ม. เพิ่มขึ้น 35,859,683 ตร.ม.
6. ที่โล่งเพื่อการนันทนาการและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ผังเดิม 376,160 ตร.ม. ผังใหม่ 360,122 ตร.ม. ลดลง 16,038 ตร.ม.
7. พื้นที่อนุรักษ์ป่าไม้ ผังเดิม 1,673,049 ตร.ม. ผังใหม่ 23,661,422 ตร.ม. เพิ่มขึ้น 23,661,422 ตร.ม.
8. พื้นที่สถาบันการศึกษา ผังเดิม 649,731 ตร.ม. ผังใหม่ 724,533 ตร.ม. เพิ่มขึ้น 74,802 ตร.ม.
9. พื้นที่สถาบันศาสนา ผังเดิม 539,443 ตร.ม. ผังใหม่ 716,216 ตร.ม. เพิ่มขึ้น 176,773 ตร.ม.
10. พื้นที่สถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ผังเดิม 4,041,523 ตร.ม. ผังใหม่ 5,916,429 ตร.ม. เพิ่มขึ้น 1,874,905 ตร.ม.
11. พื้นที่เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมการท่องเที่ยวและการประมง ซึ่งไม่มีกำหนดอยู่ในผังเมืองเดิม แต่ได้เพิ่มในผังเมืองใหม่ จำนวน 289,750,889 ตร.ม.
12. พื้นที่อุตสาหกรรมทั่วไปที่ไม่เป็นมลพิษต่อชุมชน ที่ไม่มีกำหนดอยู่ในผังเมืองเดิม แต่ได้เพิ่มในผังเมืองใหม่จำนวน 7,168,460 ตร.ม.
ดังนั้น หากมีการประกาศใช้ร่างผังเมืองฉบับนี้ จะทำให้พื้นที่อุตสาหกรรมและคลังสินค้าลดลง 28 ล้าน ตร.ม.
และมีพื้นที่อนุรักษ์ป่าไม้เพิ่มขึ้น กว่า 23 ล้าน ตร.ม. รวมไปถึงพื้นที่ที่มีการบรรจุใหม่ คือ พื้นที่เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมการท่องเที่ยวและการประมง รวมไปถึงพื้นที่อุตสาหกรรมทั่วไปที่ไม่เป็นมลพิษต่อชุมชน
แม้ว่าทรัพยากรธรรมชาติของมาบตาพุดต้องเสียไปกับมลพิษและแผนพัฒนาต่างๆ ในอดีตจนไม่มีวันที่จะย้อนกลับมาดังเดิมได้
แต่กระนั้น ในผังเมืองฉบับใหม่นี้ ไม่มีการสนับสนุนให้เกิดการรุกพื้นที่เพื่อขยายเขตพื้นที่อุตสาหกรรมเพื่อไม่ให้เป็นการทำลายมาบตาพุดไปมากกว่าเดิม