ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > 30 ปีโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด : เมื่อการพัฒนาไม่ได้มาพร้อมกับความยั่งยืน

30 ปีโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด : เมื่อการพัฒนาไม่ได้มาพร้อมกับความยั่งยืน

18 ธันวาคม 2012


ที่มาภาพ: sanook.com

เหตุที่มี “พื้นที่” ที่อยู่ในเขตอุตสาหกรรมรวมกันมากถึง 51,656 ไร่

ทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจของ จ.ระยอง ขึ้นอยู่กับการขับเคลื่อนของภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก

จากการรวบรวมข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวม ของสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า ขนาดเศรษฐกิจของ จ.ระยองมีแนวโน้มขยายตัวมาอย่างต่อเนื่องจาก 254,497 ล้านบาท ในปี 2544 มาเป็น 597,697 ล้านบาทในปี 2551 โดยมีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยที่ 13.23 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

นอกจากนี้ยังพบว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมของ จ.ระยองระหว่างภาคการเกษตรกับนอกภาคการเกษตรนั้นมีความแตกต่างกันอย่างมาก

โดยสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมของภาคการเกษตรต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมรวมจังหวัดมีเพียง 3.15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ขณะที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมนอกภาคการเกษตรมีถึง 96.85 เปอร์เซ็นต์

และเมื่อจำแนกตามสาขาการผลิตนอกภาคการเกษตร ที่มีมูลค่าผลิตภัณฑ์รายปีมากเป็น 5 อันดับแรกในปี 2551 ประกอบด้วย 1. ผลิตอุตสาหกรรม มูลค่า 253,375 ล้านบาท 2. การทำเหมืองแร่และเหมืองหิน มูลค่า 226,460 ล้านบาท 3. ไฟฟ้า ก๊าซ และประปา มูลค่า 42,260 ล้านบาท 4. อุตสาหกรรมขายส่ง ขายปลีก 14,573 ล้านบาท 5. การขนส่ง 12,928 ล้านบาท

ขณะที่มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม จ.ระยอง ภาคการเกษตร โดยเฉพาะการประมงนั้น มูลค่าผลิตภัณฑ์รายปีกลับลดน้อยลงเรื่อยๆ โดยในปี 2551 มีมูลค่า 3,079 ล้านบาท ขณะที่ปี 2544 มีมูลค่า 4,160 ล้านบาท

จากการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบก้าวกระโดดของ จ.ระยอง ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ วันนี้ระยองจึงกลายเป็นจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมมากที่สุดในประเทศไทย

สำนักงานอุตสาหกรรม จ.ระยอง ระบุว่า ในปี 2551 จ.ระยองมีจำนวนโรงงานทั้งสิ้น 1,771 โรงงาน

โดยสามารถแบ่งประเภทอุตสาหกรรมได้ 21 ประเภท ซึ่งหากเรียงตามอันดับจะพบว่า 1. อุตสาหกรรมประเภททั่วไปมีจำนวนมากที่สุด โดยมีถึง 255 โรงงงาน 2. อุตสาหกรรมการเกษตร จำนวน 242 แห่ง 3. อุตสาหกรรมผลิตโลหะจำนวน 206 แห่ง 4. อุตสาหกรรมขนส่ง 163 แห่ง 5. อุตสาหกรรมเคมี 136 แห่ง 6. อุตสาหกรรมพลาสติก 111 แห่ง 7. อุตสาหกรรมอาหาร 108 แห่ง

8. อุตสาหกรรมไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ 103 แห่ง 9. อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล 101 แห่ง 10. อุตสาหกรรมอโลหะ 85 แห่ง 11. อุตสาหกรรมยาง 69 แห่ง 12. อุตสาหกรรมไฟฟ้า 52 แห่ง 13. อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และเครื่องเรือน 32 แห่ง 14. อุตสาหกรรมโลหะ 28 แห่ง

15. อุตสาหกรรมสิ่งทอ 19 แห่ง 16. อุตสาหกรรมกระดาษและผลิตภัณฑ์จากกกระดาษ 18 แห่ง 17. อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์ 16 แห่ง 18. อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ 14 แห่ง 19. อุตสาหกรรมเครื่องหนัง 6 แห่ง 20. อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม 5 แห่ง และ 21. อุตสาหกรรมเครื่องแต่งกาย 2 แห่ง

โดยในจำนวนทั้งหมดนี้ มีโรงงานที่อยู่นอกนิคมอุตสาหกรรมมากถึง 1,259 แห่ง!

เมื่อเจาะลึกตามรายอำเภอใน จ.ระยอง พบว่า อ.เมือง มีจำนวนโรงงานมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง โดยมีถึง 550 โรงงาน จำนวนเงินลงทุน 477,546 ล้านบาท รองลงมาคือ อ.ปลวกแดง มีโรงงาน 404 โรงงาน จำนวนเงินลงทุน 270,774 ล้านบาท ตามด้วย อ.นิคมพัฒนา มีโรงงาน 235 โรงงาน จำนวนเงินลงทุน 52,147 ล้านบาท อ.แกลง มีจำนวนโรงงาน 229 โรงงาน เงินลงทุน 12,714 ล้านบาท

อ.บ้านค่าย มีโรงงาน 178 แห่ง จำนวนเงินลงทุน 61,833 ล้านบาท อ.บ้านฉาง มีโรงงาน 64 แห่ง จำนวนเงินลงทุน 1,565 ล้านบาท อ.วังจันทร์ มีโรงงาน 22 แห่ง เงินลงทุน 844 ล้านบาท และ อ.เขาชะเมา มีโรงงาน 11 แห่งเงินลงทุน 741 ล้านบาท

และด้วยจำนวนโรงงานที่มากขึ้น ทำให้จำนวน “กากอุตสาหกรรม” ที่มาจากการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมได้เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นกัน โดยเฉพาะในเขต อ.เมือง จ.ระยอง โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม รายงานว่า ใน อ.เมือง มีโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยกากอุตสาหกรรมชนิดมีอันตรายจำนวน 24,896,662 กิโลกรัมต่อปี และกากที่ไม่เป็นอันตรายจำนวน 90,969,171 กิโลกรัมต่อปี

ในขณะที่กากของเสียจากชุมชนใน อ.เมือง จ.ระยอง มีจำนวน 733,000 กิโลกรัมต่อปี เท่านั้น

กากอุตสาหกรรมและมลพิษที่เกิดขึ้นจากการเดินเครื่องของโรงงานอุตสาหกรรมใน จ.ระยอง ได้สร้างผลกระทบทางสุขภาพกับชาว จ.ระยอง เป็นอย่างมาก ซึ่งเรื่องนี้ยังคงเป็นปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและจริงใจจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนแต่อย่างใด!