ThaiPublica > ประเด็นร้อน > สิ่งที่เห็นและอยากให้ ‘ประเทศไทย’ เป็น > LGBT+ เปิดกว้างสู่สังคมที่เท่าเทียม พึ่งพาแต่ไม่พึ่งพิง

LGBT+ เปิดกว้างสู่สังคมที่เท่าเทียม พึ่งพาแต่ไม่พึ่งพิง

25 มกราคม 2022


ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ให้การยอมรับในความหลากหลายทางเพศ เห็นได้จากพลังสังคมที่เรียกร้องให้มีการสมรสเท่าเทียม ให้สิทธิต่อคู่ชีวิตเพศเดียวกัน และให้รับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวอย่างเท่าเทียมในทุกเพศสภาวะ แม้ว่าการผ่านกฎหมายเพื่ออนุญาตให้มีการสมรสของเพศเดียวกัน หรือกลุ่ม LGBT+ นั้น ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ

แต่แนวโน้มพฤติกรรมของ LGBT+ ในการอยู่ร่วมกันเป็น “ครอบครัว” ก็มีมากขึ้นในสังคมไทย รวมทั้งมีการสร้างครอบครัวกับคนต่างชาติ และร่วมกันตั้งรกรากถิ่นฐานในประเทศไทย

แม้ว่าการสำรวจประชากรที่เป็นทางการของไทยยังไม่สามารถระบุจำนวน LGBT+ ได้อย่างแน่ชัด แต่ตัวเลขประมาณการของ LBGT Capital พบว่าในปี 2562 กลุ่ม LGBT+ ชาวไทยที่มีอายุมากกว่า 15 ปี มีประมาณ 3.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 5 ของประชากรไทยทั้งหมด ซึ่งหากรวมชาวต่างชาติกลุ่ม LGBT+ ที่อาศัยอยู่ในไทยด้วยแล้วนั้น ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นประชากรกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งในสังคม

การบริโภคที่เพิ่มขึ้น กับการออมที่ต้องวางแผน

แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของกลุ่ม LGBT+ สอดคล้องกับรูปแบบครัวเรือนในสังคมไทยที่มีลักษะเป็น “ครัวเรือนไร้ลูกหลาน” มากขึ้น โดยข้อมูลจาก ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์, เกื้อ วงศ์บุญสิน และพัชราวลัย วงศ์บุญสิน (2563) ระบุว่า ในปี 2561 ไทยมีครัวเรือนที่ไร้ลูกหลานสูงถึงร้อยละ 37.4 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 26.1 ในปี 2549 หรือขยายตัวกว่าร้อยละ 43.3 โดยครัวเรือนในลักษณะนี้จะจำแนกได้เป็นครัวเรือน DINK (Double Income No Kids) คือ คู่สมรสที่ไม่มีลูก และครัวเรือน SINK (Single Income No Kids) คือ คนโสดที่ไม่ลูก

เป็นที่แน่ชัดว่ากลุ่ม LGBT+ จะถูกจัดอยู่ในครัวเรือน SINK หรือหากมีการผ่านกฎหมายการสมรสเท่าเทียมแล้ว ก็จะถูกจัดอยู่ในกลุ่ม DINK ซึ่งทั้งสองกลุ่มนั้น มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ครัวเรือน DINK และ SINK มีความน่าสนใจคือ พฤติกรรมการบริโภคที่อาจมีระดับสูงกว่าครัวเรือนอื่น ๆ ด้วยความที่ไม่ได้มีลูกหลานให้ส่งต่อสินทรัพย์ในอนาคต ทำให้การตัดใจสินใช้จ่ายในช่วงปัจจุบันทำได้ง่าย ไม่ต้องคำนึงถึงพันธะต่าง ๆ รอบตัว ซึ่งกลุ่ม LGBT+ ก็มีพฤติกรรมการบริโภคในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน Nielsen (2015) ระบุว่า ครัวเรือน LGBT+ ในสหรัฐอเมริกา มีการเดินทางเพื่อช้อปปิ้งมากกว่าครัวเรือนที่ไม่ใช่ LGBT+ ถึงร้อยละ 10 และมีการใช้จ่ายโดยทั่วไปมากกว่าครัวเรือนอื่น ๆ ถึงร้อยละ 7

สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมทางเศรษฐกิจของ LGBT+ ที่จะบริโภคมากกว่าเก็บออมหรือลงทุนเพื่ออนาคต

นอกจากนี้ ยังมีงานศึกษาวิจัยอีกหลายชิ้นที่พบว่า ความสัมพันธ์ของการเปิดกว้างในความหลากหลายทางเพศ มีความเกี่ยวโยงกับการเติบโตทางเศรษฐกิจในสังคมหนึ่ง ๆ ในทิศทางเดียวกัน หรือหมายความว่า หากสังคมมีการยอมรับในเพศทางเลือกมากขึ้น เศรษฐกิจในสังคมนั้น ๆ ก็จะดีขึ้นตามไปด้วย

ความสัมพันธ์ดังกล่าวอาจอธิบายได้ด้วย การบริโภค หรือ C ในสมการเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน ECON101 ที่เราคุ้นเคยกันอยู่แล้ว Y = C + I + G + (X – M) ซึ่งเมื่อ C เพิ่มขึ้นจากการบริโภคในปัจจุบัน ตัวแปรตาม หรือ รายได้ (Y) ก็จะเพิ่มขึ้นไปด้วย

แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราไม่สามารถคิดได้เฉพาะในช่วงเวลาปัจจุบันเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงช่วงเวลาข้างหน้าด้วย ดังนั้น หากนำเรื่องเงื่อนไขการใช้ชีวิตในอนาคตของกลุ่ม LGBT+ เข้ามาเกี่ยวพันด้วยแล้ว ความกังวลที่เลี่ยงไม่ได้คือ การใช้ชีวิตบั้นปลายที่ไม่มีลูกหลานมาคอยดูแล หรือสนับสนุนช่วยเหลือทางด้านการเงิน ดังนั้นการวางแผนเพื่อการออมหลังเกษียณ หรือการลงทุนเพื่ออนาคต จึงเป็นเรื่องที่กลุ่ม LGBT+ จะต้องให้ความสำคัญ

ซึมเศร้า ขัดสน หลังเกษียณ

ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์, เกื้อ วงศ์บุญสิน และพัชราวลัย วงศ์บุญสิน (2563) กล่าวถึงงานวิจัย 2 กลุ่ม คือ งานวิจัยในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น จีน และไทย โดยพบว่า ครัวเรือนที่ไร้ลูกหลานในประเทศพัฒนาแล้วส่วนมากไม่มีผลกระทบเชิงลบต่อผู้สูงอายุทั้งในด้านการเงินและด้านสุขภาวะทางจิต เนื่องจากระบบสวัสดิการในประเทศเหล่านี้ ครอบคลุมถึงเงินบำนาญและการดูแลผู้สูงอายุหลังเกษียณด้วยแล้ว ในขณะที่ ในประเทศกำลังพัฒนานั้น ผู้สูงอายุที่อยู่ในครัวเรือนไร้ลูกหลานมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้า และรู้สึกไม่มีความสุขกับการใช้ชีวิต ซึ่งเกิดการไม่มีเงินเพื่อใช้จ่ายที่เพียงพอกับความต้องการ และขาดคนดูแลโดยเฉพาะในยามเจ็บป่วย

สำหรับประเทศไทยที่ยังมีระบบบำนาญที่ไม่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม และระดับการออมยังมีความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้มีรายได้สูงและผู้มีรายได้ต่ำ ความน่าจะเป็นที่ครัวเรือน DINK และ SINK ซึ่งรวมถึงกลุ่ม LGBT+ จะประสบปัญหาสุขภาวะทางจิต เป็นโรคซึมเศร้า หรือมีรายได้ไม่เพียงพอหลังเกษียณ เพราะขาดการสนับสนุนจากครอบครัว ก็มีโอกาสสูงมาก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าวิตกและต้องเร่งหาทางรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นการเปิดกว้างของความหลากหลายทางเพศ อย่างมีสติ

การสนับสนุนให้สังคมไทยเปิดกว้างยอมรับความหลากหลายทางเพศ นับเป็นเรื่องที่ดีและเหมาะสมตามครรลองการอยู่ร่วมกันในสังคม ด้วยความเคารพในสิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ แต่การดำเนินการดังกล่าวจะต้องคิดและพิจารณาให้รอบด้าน การผลักดันกระบวนการทางกฎหมายเพื่อให้เกิดการสมรสเท่าเทียม จำเป็นที่จะต้องทำไปพร้อมกับการสนับสนุนให้กลุ่ม LGBT+ ปรับพฤติกรรมการบริโภคของตัวเอง โดยควรหันมาออมหรือลงทุนให้มากขึ้น ซึ่งภาคเอกชนและสถาบันการเงินอาจเสนอผลิตภัณฑ์ที่ดึงดูดกลุ่ม LGBT+ ให้เกิดวางแผนหลังเกษียณได้อย่างมั่นคง หรือผลิตภัณฑ์ที่เน้นการดูแลกลุ่ม LGBT+ ในช่วงแก่เฒ่า เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เปิดกว้าง พึ่งพากัน แต่ไม่พึ่งพิงและไม่เป็นภาระกับลูกหลานรุ่นต่อไป

อ้างอิงข้อมูล
ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์, เกื้อ วงศ์บุญสิน และพัชราวลัย วงศ์บุญสิน. (2563). สังคมไร้ลูกหลาน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/124862/ (วันที่ค้นข้อมูล: 24 มกราคม 2565).
สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล. (2561). ‘ความหลากหลายทางเพศ’ กับเศรษฐกิจ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/121111 (วันที่ค้นข้อมูล: 24 มกราคม 2565).
Neilson. (2015). U.S. LGBT Shoppers Make More Trips, Spend More Than Average. [Online]. from https://www.nielsen.com/us/en/insights/article/2015/us-lgbt-shoppers-make-more-trips-spend-more-than-average/ (retrieved 21 May 2022).
Quashie, N. and Pothisiri, W. (2018). Parental Status and Psychological Distress among Older Thais. Asian Social Work and Policy Review. 12. 10.1111/aswp.12145.

บทความซีรี่ส์ สิ่งที่เห็นและอยากให้ประเทศไทยเป็น จำต้องทำอย่างไร?

สนับสนุนซี่รี่ส์ “สิ่งที่เห็นและอยากให้ ‘ประเทศไทย’ เป็น จะต้องทำอย่างไร? โดย…