ThaiPublica > เกาะกระแส > “Together We Thrive” : สภาพัฒน์ เปิดพื้นที่สร้างสังคมฉุกคิด รับมือความท้าทายเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี (2)

“Together We Thrive” : สภาพัฒน์ เปิดพื้นที่สร้างสังคมฉุกคิด รับมือความท้าทายเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี (2)

23 กุมภาพันธ์ 2023


เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ จัดงาน “NESDC Social Forum 2023 : Together We Thrive” มุ่งขับเคลื่อนสังคมไทยรับมือการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและเทคโนโลยี พร้อมเปิดพื้นที่สนทนา สร้างแรงบันดาลใจ และจุดประกายความคิด ให้เกิดการพัฒนาและขับเคลื่อนสังคมร่วมกัน โดยเชิญวิทยากรจากหลากหลายภาคส่วน ได้แก่ อัยย์ทัชชา พลศรีเลิศ (จ๋า ลดา) จากเพจ Ladies of Digital Age (LDA), พิชฌ์พสุภัทร วงศ์อำไพ (ภูเขา) และบุญรอด อารีย์วงษ์ (บุญรอด) จากช่อง Poocao Channel, ประสาน อิงคนันท์ จากเพจมนุษย์ต่างวัย และอดีตพิธีกรรายการกบนอกกะลา และสิทธิพล ชูประจง จากมูลนิธิกระจกเงา

ต่อจากตอนที่ 1

ก้าวให้ทันเทคโนโลยี โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

อัยย์ทัชชา พลศรีเลิศ หรือ จ๋า ลดา จากเพจ “Ladies of Digital Age (LDA)” กล่าวในหัวข้อ “เทคโนโลยีสมัยใหม่: เปลี่ยนยังไง ไปให้ทัน” โดยเริ่มจากตั้งคำถามให้ฉุกคิดว่า ทำไมปัจจุบันคนใช้แผนที่ในรถ หรือเวลาซื้อของก็จ่ายผ่านคิวอาร์โค้ด อีกทั้งคนทำธุรกรรมบางประเภทที่ธนาคารก็น้อยลง – เหตุผลเพราะเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ทำให้มนุษย์สะดวกสบาย ที่สำคัญคือเมื่อความต้องการของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด มนุษย์ต้องการทำอะไรให้ง่ายขึ้น รวมถึงความขี้เกียจก็ไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องและไม่มีที่สิ้นสุด

จ๋า มองว่า เทคโนโลยีมีประโยชน์หลานด้าน ทั้งการเรียนออนไลน์ การทำงานนอกสถานที่ เทคโนโลยีการแพทย์ เทคโนโลยีการสื่อสาร โดยเทคโนโลยีสามารถช่วยพ่อค้าแม่ค้าให้ทำมาหากินได้ง่ายขึ้น แต่ทั้งนี้เทคโนโลยีก็เหมือนดาบสองคม เพราะข้อเสียของเทคโนโลยีก็มี โดยเฉพาะเรื่องข้อมูลส่วนตัว

“ถ้าเราอยากใช้เทคโนโลยีต้องนำข้อมูลส่วนตัวใส่เข้าไป โดยเฉพาะการเงิน ข้อมูลมีค่าสำหรับเราและมีค่าสำหรับคนจ้องจะเล่นงาน ถ้ามันน่ากลัวขนาดนี้ สิ่งที่ตามมาคืออาชญากรรมทางไซเบอร์” จ๋า กล่าว

อัยย์ทัชชา พลศรีเลิศ หรือ จ๋า ลดา จากเพจ Ladies of Digital Age (LDA)

คำถามสำคัญคือ ทำอย่างไรให้รับมือกับเทคโนโลยีได้ จ๋า มองว่า ‘มายเซ็ท’ (mindset) ที่มีต่อเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าไม่ยอมรับหรือปิดกั้นจะรับมือกับเทคโนโลยีได้ยาก และ ‘พร้อมเรียนรู้’ กับเทคโนโลยีใหม่ๆ เสมอเพราะไม่มีใครแก่เกินเรียน

“เด็กจะเสิร์ชอินเทอร์เน็ตง่าย แต่ในมุมผู้สูงอายุ ถ้าจะถามเรื่องเทคโนโลยีแต่ให้เข้าเทคโนโลยี มันยาก เราควรพูดให้ฟังสัก 1 ถึง 2 นาที แนะนำสั้นๆ ชวนคุย อย่าลืมคนที่บ้าน แค่เราบอกเขาก็พร้อมฟัง บอกให้รู้ประโยชน์และโทษ”

จ๋า กล่าวถึงประเด็นเทคโนโลยีอาจทำให้คนตกงานว่า มีโอกาสเกิดขึ้นได้ และเริ่มเห็นมากขึ้น อย่างเวลาไปจอดรถในห้างก็เห็นรปภ.น้อยลง หรือตอนจ่ายเงินก็จ่ายผ่านคิวอาร์โค้ด ดังนั้นสิ่งที่ทำให้คนไม่ตกงานคือการเรียนรู้ และเพิ่มทักษะ

“เทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นเรื่อยๆ อยู่ที่เราพร้อมเปิดรับมันหรือเปล่า ยังไงมันก็เกิดขึ้น เรามาเตรียมตัวเพื่อรับมือให้ทันดีกว่า” จ๋า ทิ้งท้าย

เปิดกว้างหลากหลาย เคารพผู้อื่นอย่างมี empathy

ถัดมากับหัวข้อ ‘เปิดกว้างหลากหลาย เริ่ดได้ไม่สลวน’ โดย พิชฌ์พสุภัทร วงศ์อำไพ และ บุญรอด อารีย์วงษ์ จากช่อง “Poocao Channel” ที่จะมาบอกเล่าการสร้างการยอมรับในฐานะผู้มีความหลากหลายทางเพศ และในฐานะผู้พิการ การสนับสนุนจากครอบครัวและคนรอบข้างที่ทำให้สามารถดึงและแสดงศักยภาพของตนออกมาได้เต็มที่ และการสร้างสังคมที่มีความเท่าเทียม

(ซ้าย)บุญรอด อารีย์วงษ์ และ (ขวา) พิชฌ์พสุภัทร วงศ์อำไพ จาก Poocao Channel

พิชฌ์พสุภัทร วงศ์อำไพ หรือ ภูเขา เล่าประสบการณ์การถูกกดทับจากการเป็น LGBT ว่า ในอดีตตนตอนที่ยังไม่รู้ตัวเอง กลุ่มเด็กผู้ชายก็ผลักตนออกจากกลุ่ม ขณะที่เด็กผู้หญิงก็ผลักตัวเองออกจากกลุ่มเช่นกัน ทำให้รู้สึกว่าตัวเองยืนอยู่นอกวงกลม และตอนนั้นสังคมจะนิยามคนกลุ่มนี้ “ไม่ใช่ชายจริงหญิงแท้” จนกระทั่งตอนม.1 ไปเข้ากับกลุ่มเพื่อนที่เป็น LGBT เพราะคิดว่าจะสบายใจที่ไลฟ์สไตล์เหมือนกัน แต่กลับกลายเป็นโดนกดทับจากกลุ่มเพื่อน โดยในกลุ่มมีการแบ่งแยกทั้งรูปร่าง หน้าตา รสนิยม ฐานะ การใช้ชีวิตและพื้นฐานครอบครัว

“ความรู้สึกถูกกดทับ 2 ชั้น ยิ่งในสังคมของ LGBT ที่กำลังเรียกร้องว่าควรเท่ากับ straight สังคมบอกว่าทุกคนเท่ากัน แต่ในสังคม LBGT ก็มีการกดทับกันเอง ทำให้เราไม่รู้สึกปลอดภัยที่จะใช้ชีวิตในสังคมเลย” ภูเขา เผยความรู้สึก

ขณะที่ บุญรอด อารีย์วงษ์ หรือบุญรอด บอกว่า “เราเกิดมาร่างกายไม่ปกติ โดนกดทับหนึ่งขั้นแล้ว ยังเป็น LGBT อีก โดนกดทับขั้้นที่สอง มันใช้ชีวิตยากมากๆ สังคมไทยไม่ยอมรับอยู่แล้ว คนพิการก็ถูกแบ่งแยก การเข้าเรียนก็โดนแบ่งแยกว่าคุณพิการ เรียนกับคนปกติไม่ได้หรอก เราดาวน์มาก ทำให้เรารู้สึกว่าต้องพัฒนาตัวเองให้ได้เรียน”

“สังคมผู้หญิงมองว่าเด็กคนนี้ประหลาดจัง หนึ่ง พิการ สอง มีความหลากหลายทางเพศ เรายิ่งโดนบูลลี่ขนาดวว่าอีตุ๊ดพิการ คำนี้มันเจ็บมาก หลายคนมองว่าเป็นคำปกติ แต่เป็นคำที่แรงมาก โดยด่าว่าทั้งตุ๊ดทั้งพิการ คำถามคือเราเลือกไม่ได้ที่เป็นอย่างนี้ และเราก็ไม่อยากเป็นอย่างนี้ด้วย”

แต่จุดเปลี่ยนของภูเขาและบุญรอดคือ แรงสนับสนุนจากครอบครัวที่รักและเข้าใจในตัวเขา จึงช่วยผลักดันให้ออกมาให้ชีวิต และแสดงออกอย่างที่เป็น ตลอดจนสังคมเพื่อนในมหาวิทยาลัยที่เข้าใจและเปิดกว้างในความหลากหลาย

บุญรอด อารีย์วงษ์ จาก Poocao Channel

ภูเขา บอกว่า ทุกคนมีพื้นที่ปลอดภัย (safe zone) ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัวหรือเพื่อน โดยเฉพาะเพื่อนชายขอบที่เติบโตโดยถูกกดทับมาเหมือนกัน ทำให้เข้าใจซึ่งกันและกัน แต่ใครที่ยังไม่เจอเซฟโซนให้มองว่าตัวเองคือเซฟโซนได้ ที่สำคัญคืออย่าไปสนใจคำวิจารณ์หรือไปให้ค่าคำของคนอื่น เพราะสุดท้ายคนนิยามคุณค่าตัวเองคือตัวเรา และเรามีความสุขกับการเป็นแบบนี้โดยไม่เดือดร้อนคนอื่น

“ถ้าเราไม่อยากให้คนอื่นเขาทำกับเราก็อย่าไปทำกับคนอื่นอย่างนั้น เวลาจะวิจารณ์หรือพูดถึงก็ถามตัวเองว่าถ้าเราโดนบ้างจะรู้สึกยังไง empathy มันตอบทุกอย่าง มันคือพื้นฐานที่ทุกคนต้องมี ถ้าเรามี empathy เป็นเมล็ดพันธุ์ในหัวใจ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนมันเป็นการโอบอุ้มโลกใบนี้ให้ก้าวต่อไปได้”

ด้าน บุญรอด เสริมว่า การศึกษาไทยควรจะมีบทเรียนสอดแทรกเรื่อง ‘คนเท่ากัน’ ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการ หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศ และไม่ควรแบ่งแยก รวมถึงสื่อก็ไม่ควรตอกย้ำให้ LGBT เป็นแค่ตลก

ภูเขา ฝากถึงเด็กรุ่นหลังที่กำลังสู้กับความรู้สึกแย่ๆ ว่า อย่าเพิ่งสูญเสียคุณค่าในตัวเอง ให้อดทนจนกว่าจะผ่านมาได้ เหมือนที่ตัวเองสู้มาจนมีทุกวันนี้ การต่อสู้ของคนชายขอบมีเงื่อนไขมากกว่าปกติ ดังนั้นประโยคที่ว่า ‘โลกนี้ไม่ได้น่าอยู่สำหรับทุกคน’ เป็นเรื่องจริง แต่หวังว่าสักวัน ‘โลกนี้จะน่าอยู่สำหรับทุกคน’

พิชฌ์พสุภัทร วงศ์อำไพ จาก Poocao Channel

สังคมสูงวัย สื่อสารทัศนคติที่ดีระหว่างกัน

ประสาน อิงคนันท์ จากเพจ “มนุษย์ต่างวัย” ถ่ายทอดเรื่องราวของสังคมสูงวัยในหัวข้อ ‘อัปเวลสูงวัยไปด้วยกัน’ พร้อมทั้งชวนปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนทุกวัยที่มีต่อผู้สูงอายุ การเตรียมตัวเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่หลังวัยเกษียณ และการร่วมกันคิดถึงบทบาทของคนต่างเจเนอเรชันในการอยู่ร่วมกับผู้สูงวัยอย่างเข้าใจ เกื้อกูล และมีความสุข

ประสาน เชื่อว่า ประเด็นสังคมสูงวัยไม่ได้มีแค่เรื่องความเจ็บป่วยหรืออาหารสุขภาพเท่านั้น แต่เพจมนุษย์ต่างวัยจะสื่อสารเรื่องการอยู่ร่วมกันของคนต่างวัย เพื่อสร้างสังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ

“เราคุยเรื่องทัศนคติ มายเซ็ทสำคัญที่สุด เมื่อเราเกษียณแล้วจะมีทัศนคติที่ดีต่อชีวิตได้ยังไง…อายุ 60 คือวัยหยุดนิ่งอยู่บ้าน ไม่ต้องทำอะไรแล้วหรือเปล่า หรือคิดว่านี่คือวัยเริ่มต้นอีก period ของชีวิต ดังนั้น เราคุยกับคนทุกกลุ่ม ทำให้รู้ว่าในสังคมมันหลากหลาย มีทั้งวัยเขาและวัยอื่น จะคุยแค่คนอายุ 60 ไม่ได้ เราต้องเตรียมตัวทัศนคติที่ดีในการพาตัวเองเข้าสู่วัยเกษียณ ขณะเดียวกันคนวัยเกษียณก็ต้องเรียนรู้ว่าโลกมันก็หลากหลาย นอกจากผู้สูงวัยก็มีเด็กที่คิดไม่เหมือนกัน”

ประสาน บอกว่า ถ้ามีคนมาชวนทำประเด็นสังคมสูงวัยในอดีตอาจจะไม่สนใจ เหตุผลง่ายๆ แบบคนทำสื่อคือเนื้อหาไม่ sexy เพราะวิธีคิดตอนนั้นคือผู้สูงวัยป่วยแล้วอยู่บ้าน ไม่น่าจะมีชีวิตตื่นเต้น อยู่คนเดียว เลี้ยงหลานเหงาหงอย และรู้สึกว่าสังคมสูงวัยไกลตัว แต่จุดเปลี่ยนคือการได้เห็นข้อมูลภาพใหญ่

ประสาน อิงคนันท์ เพจมนุษย์ต่างวัย และอดีตพิธีการรายการกบนอกกะลา

ประสาน ให้ข้อมูลว่า สังคมสูงวัยเป็นเทรนด์ระดับโลก โดยปี 2013 ประชากรโลกมีผู้สูงอายุ 841 ล้านคน และปี 2100 คาดว่าจะเพิ่มอีก 4 เท่า เป็น 2,984 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรโลก ในประเทศไทย ปี 2000 คนอายุมากกว่า 60 ปี 8.5 ล้านคน จากจำนวนประชากร 66 ล้านคน และปี 2040 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 20.5 ล้านคน จากจำนวนประชากร 63.9 ล้านคน

“เมื่อเรามีผู้สูงวัย 1 ใน 3 เท่ากับเราขาดกำลังในการทำงานลดน้อยอีก 1 คน ถ้าเขาเป็นคนแข็งแรงก็แล้วไป แต่ถ้าเป็นคนป่วย หมายความว่ารัฐหรือคนป่วยจะต้องดูผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอีก 1 คน”

ประสาน บอกว่า การอัพเวลสังคมสูงวัย คือการทำให้คนสูงวัยมีสุขภาพดีและมีคุณภาพ ซึ่งเป็นความท้าทายทั้งระดับปัจเจกและนโยบาย และปัจจุบันธุรกิจก็เริ่มให้ความสำคัญกับกลุ่มเป้าหมายผู้สูงวัย เช่น บริการพาผู้สูงวัยไปหาหมอรวมถึงธุรกิจที่ริเริ่มโดยผู้สูงวัยที่อยากออกมาทำงานเพื่อสร้างคุณค่าให้ชีวิต

อย่างไรก็ตาม ประสาน พูดถึงการทำงานร่วมกันระหว่างเด็กและผู้สูงวัยว่า “แต่ละวัยต้องมีทัศนคติที่ดีระหว่างกัน เราไม่สามารถปล่อยผู้สูงวัยให้ออกไปเผชิญโดยลำพัง คนต่างวัยมีส่วนสำคัญในการทำให้เขามีคุณภาพที่ดี ขณะเดียวกันคนต่างวัยอาจต้องการบางอย่างจากคนวัยเกษียณเพื่อทำให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้เหมือนกัน ถ้าเอาความรู้ของคนรุ่นเก่ามารวมกับความทันสมัยของคนรุ่นใหม่ จะเป็นจุดที่คนพึ่งพาอาศัยและอยู่ร่วมกันได้”

ประสาน ยกตัวอย่างทิ้งท้ายว่า “มีโรงงานบะหมี่ที่หนึ่งเขาบอกไม่มีวันเกษียณ มีผู้สูงวัยทำงานเต็ม คนจ้างผู้สูงวัยถ้าคิดถึงต้นทุนกำไรไม่ได้อะไร เพราะทำงานได้น้อย ยกของได้น้อย ผลิตภาพน้อย แต่บางอย่างมันไปเกิดตอนมีน้ำท่วม เขาบอกคนสูงวัยคือคนอยู่โรงานตั้งแต่ต้น รู้หมดว่าน้ำจะเข้าทางไหนถ้าคุณจะกันน้ำ นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งว่าคนอายุมากๆ เราไม่ได้ใช้อะไร แต่เราใช้ประสบการณ์เขา”

มูลนิธิกระจกเงา สร้างเครื่องมือแก้ปัญหา คนเร่ร่อน-คนหาย-ผู้ป่วยข้างถนน

สิทธิพล ชูประจง จาก “มูลนิธิกระจกเงา” กล่าวในหัวข้อ ‘ช่วยกันพาย คนละไม้คนละมือ’ โดยนำเสนอบทบาทของภาคประชาสังคมที่ไม่เพียงหนุนเสริม แต่ยังกลายเป็นผู้เล่นหลักในการพัฒนาและขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยเฉพาะในสภาวะวิกฤติ ผ่านการสร้างสรรค์โครงการต่าง ๆ มากมาย เช่น โครงการผู้ป่วยข้างถนน โครงการจ้างวานข้า (จ้างงานคนไร้บ้าน) และโครงการคอมพิวเตอร์เพื่อน้อง เป็นต้น

“สิบกว่าปีก่อน หลายคนไม่รู้จักปัญหาคนหาย หรือคนไร้บ้าน บางคนเรียกคนจรจัด คนเร่ร่อน ทำให้เราหันมามองตัวเองว่าจะช่วยแก้ปัญหายังไง…เคยมีคนถูกล่อลงเรือประมง มากสุด 5 ปี ต่อมามีโครงการต่อต้านการค้ามนุษย์”

สิทธิพล เล่าจุดเริ่มต้นของมูลนิธิกระจกเงาว่า มูลนิธิกระจกเงาเริ่มจากกลุ่มการแสดงละครสะท้อนสังคม ในชื่อกลุ่มศิลปะ การละครกระจกเงา โดยมีสำนักงานแรกที่จังหวัดเชียงราย เพราะมองว่าเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาคนไม่มีสัญชาติ แต่เมื่อแก้ปัญหาไปได้เรื่อยๆ ก็พบปัญหาคนหายตามมา ยิ่งกว่านั้นคือได้เห็นว่าคนหายจำนวนมากเผชิญกับชะตากรรมที่เลวร้าย

สิทธิพล กล่าวว่า ในช่วงแรกๆ กระจกเงาจะขยาย-ต่อยอดแต่ละปัญหาที่พบ และทราบว่าหลายปัญหาไม่มีคนลงมือแก้ไข

“คนบอกว่าถ้าจะแจ้งความต้องพ้น 24 ชั่วโมง ซึ่งไม่เป็นความจริง เราสามารถแจ้งความคนหายได้ทันทีที่คิดว่าหายไปแล้ว คนหายมีประเภทการหาย สาเหตุหนึ่งคือหายจากอาการจิตเวทหรือสมองเสื่อม เป็นสถิติสูงสุดว่าทำไมหายแล้วไม่เจอ เราเคยเจอคนข้างถนนมาเดินเร่ร่อน พอช่วยคนข้างถนน หรือที่เรียกว่าคนบ้า นำเขาเข้าสู่ระบบการรักษา พอความจำฟื้น เขาบอกบ้านได้ ทำให้ติดต่อกลับไปที่บ้าน เป็นคนที่หายจากบ้านสิบปีแล้ว”

สิทธิพล ชูประจง จากมูลนิธิกระจกเงา

“ทุกวันนี้ปัญหามันซับซ้อนมากขึ้น คนไร้บ้านไม่ใช่แค่การไร้บ้าน แต่มันเชื่อมไปถึงสวัสดิการ มิติเศรษฐกิจผู้สูงอายุ การไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ หรือถ้าเขาอยู่ในพื้นที่ที่ท้องถิ่นจัดการตัวเองและเจริญได้ เขาจะไม่หลุดออกมา ปัญหาไร้บ้านไม่ใช่แค่การให้บ้านอยู่เพราะถ้าอยู่บ้านแต่ไม่ทำงานเขาก็รู้สึกไม่มีชีวิต”

ปัญหาดังกล่าวทำให้มูลนิธิกระจกเงาทำโครงการผู้ป่วยข้างถนน ทำให้ผู้ป่วยจิตเวชข้างถนนเข้าสู่ระบบการรักษา เพื่อให้ได้กลับบ้าน แต่สิทธิพล บอกว่า โครงการเป็นเครื่องมือในการติดตามคนหาย แต่การแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริงต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ

ตัวอย่างเช่น แคมเปญคนหายหน้าเหมือนที่ให้คนนอกเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาคนหาย หรือความร่วมมือกับเอกชนร้านสะดวกซัก อย่าง Otteri ซึ่งทำรถอาบน้ำและซักอบผ้าให้คนไร้บ้าน หรือปัญหาผู้ป่วยเร่ร่อนล้นโรงพบาบาล เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่สามารถทำเรื่องเบิกจ่าย เพราะไม่มีสถานะบุคคล ทำให้มูลนิธิกระจกเงาเสนอกับกระทรวงหมาดไทยให้นำรอยนิ้วมือมาแก้ปัญหา สุดท้ายช่วยโรงพยาบาลให้เบิกจ่ายเงินได้เพราะรอยนิ้วมือช่วยระบุตัวตนของคนเร่ร่อน เป็นการแก้ปัญหาคนหายและปัญหาสุขภาพไปพร้อมกัน

“เราทำงานที่ไม่มีใครทำและพยายามสร้างเครื่องมือจัดการปัญหา เป็นการทำงานภายใต้ปรัชญาของมูลนิธิกระจกเงิน เรามีปรัชญาการสร้างคน นวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลง คนคือนักกิจกรรมที่มีความสามารถและคุณสมบัติสร้างนวัตกรรมไปสู่การเปลี่ยนแปลง และสะท้อนให้เกิดการมีส่วนร่วม โดยเปิดพื้นที่ทำให้คนภายนอกเข้ามาสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสังคม”