ThaiPublica > คอลัมน์ > ด้วยรักและต่อต้านเผด็จการ

ด้วยรักและต่อต้านเผด็จการ

7 มกราคม 2023


1721955

“เรื่องที่คุณคิดว่ารู้แล้ว…แต่จริง ๆ คุณยังไม่รู้” คือคำโปรโมทในเทรลเลอร์ของ Pinocchioฉบับ กีเยร์โม เดล โตโร ที่ก่อนจะออกฉายทางเน็ตฟลิกซ์ ผู้คนต่างใคร่รู้ว่าเวอร์ชั่นของเขาจะออกมาแตกต่างอย่างไร เพราะอย่างที่รู้ว่างานของ เดล โตโร ไม่ใช่แค่ความละเมียดในการใส่ใจบรรจงลงไปด้วยใจรักเท่านั้น แต่ยังเปี่ยมพลังด้วยเนื้อหาข้นขลั่กซุกซ่อนอยู่ในทุกอณู สร้างสมดุลระหว่างสองสิ่งนี้กลายเป็นความกลมกล่อม ที่ก่อให้เกิดแฟนเดนตายในผลงานของเขาที่ต่างจับจ้องมองว่า เดล โตโร จะขยับตัวรังสรรค์อะไรใหม่ ๆ ให้กับโลกโฉดชั่วอันแสนอ่อนโยนใบนี้อีกบ้าง

อันที่จริง เดล โตโร ก็จงใจจะค่อย ๆ ปล่อยความลับรั่วทีละเล็กละน้อย ตามประสาคนทำหนังที่เล่นข่าวเป็น ที่ทำให้แฟนผลงานของเขาต่างรับรู้ว่า แม้ว่า Pinocchio คราวนี้จะออกมาเป็นมิวสิเคิล แต่มันไม่ได้สดใสลั้นลาอย่างเวอร์ชั่นทั้งหมดก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะเมื่อมันจงใจจะเซ็ตฉากให้อยู่ในช่วงเผด็จการฟาสซิสต์ของอิตาลีในยุค 1930s แถมยังสำทับด้วยคำให้การจาก รอน เพิร์ลแมน หนึ่งในผู้ให้เสียงพาย์ในหนังเรื่องนี้ว่า “มันเกิดขึ้นในยุคที่ทุกคนมีพฤติกรรมอย่างกับหุ่นเชิด ยกเว้นตัวหุ่นเชิดเองที่มีความเป็นคนมากกว่าคนตัวเป็นๆ เสียอีก…และเวอร์ชั่นนี้ พิน็อคคิโอจะถูกเชิดให้เป็นยุวชนทหารรักชาติตัวน้อย ๆ”

ในส่วนของเรื่องย่อ ไม่น่าจะไม่มีใครไม่รู้จักเรื่องราวอันเป็นที่รักของคนทั้งโลก แต่ถ้าอยากอ่านโดยละเอียด ผู้เขียนเคยเขียนไว้ก่อนหน้านี้แล้วที่ https://thaipublica.org/2022/12/pinocchio/ ดังนั้นสำหรับชิ้นนี้จะเป็นการอัพเดทการตีความใหม่ ๆ ของเดล โตโร ล้วน ๆ

ลูกสนในความมืด ภาพเปิดและภาพปิดในหนังเรื่องนี้

หนังเปิด(และปิด)ด้วยภาพ ลูกสน อย่างที่เราเคยบอกไปในคราวก่อนว่า ชื่อ พิน็อคคิโอ มีความหมายว่า ลูกสน (Pine cone) หรือ ถั่วไพน์ (Pine nut) และเดล โตโร ไม่รอช้าที่จะเปิดฉากด้วยความดำมืดก่อนจะค่อย ๆ สว่างขึ้น ดึงอารมณ์เศร้าและอบอุ่นขึ้นมาในทันที
แล้วเสียงบรรยายก็เริ่มขึ้น “ณ เวลานั้นที่ช่างไม้เก็ปเป็ตโตสร้างพิน็อคคิโอ เก็ปเป็ตโตเสียคาร์โลไปในช่วงมหาสงคราม พวกเขาได้อยู่ด้วยกันแค่สิบปี แต่ราวกับว่าคาร์โลได้พรากชีวิตชายชราไปกับเขา”

ตัดไปเป็นภาพหลุมศพของคาร์โล ที่บอกปี 1916 ที่เราไม่แน่ใจว่าเป็นปีชาตะหรือปีมรณะ แต่จากบทบรรยายนี้ที่ว่า คาร์โลเสียไปในช่วงมหาสงคราม อันหมายถึงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งแล้วนั้น คือในช่วง 1914 – 1918 จึงอนุมานได้ว่า 1916 คือปีที่คาร์โลเสียชีวิต [คาร์โล เป็นตัวละครที่ไม่มีอยู่ในนิยายดั้งเดิม แต่นี่เป็นการแสดงความคารวะต่อ คาร์โล คอลโลดิ (ชื่อจริง คาร์โล ลอเรนซินี) ผู้แต่งนิยาย Pinocchio ฉบับออริจินัล]

อย่างที่เคยเล่าไปในบทความก่อนว่า นิยายต้นฉบับพิน็อคคิโอถูกเขียนขึ้นที่อิตาลีในปี 1883 นั่นหมายความว่า เดล โตโร จงใจจะเปลี่ยนเซ็ตติ้งย้ายมาในช่วงที่เผด็จการฟาสซิสต์ เบนีโต มุสโสลินี เรืองอำนาจ อันเป็นเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ที่ผู้คนต่างคาดหวังว่าสงครามโลกจะไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก แต่แน่นอนว่าคนดูอย่างเราย่อมรู้ดีว่า สงครามโลกครั้งที่สองจะเกิดขึ้นต่อจากช่วงเวลานี้ คือในปี 1939 – 1945 และนี่คือภาพรวมของบรรยากาศเวอร์ชั่นของเดล โตโร และข้อมูลเนิร์ดตัวตึงแบบ เดล โตโร จะไม่มีวันพลาด…1883 ปีกำเนิดนิยายเรื่องนี้คือปีเกิดของ เบนีโต มุสโสลินี!

จอมเผด็จการฟาสซิสต์ “อิล ดูเช่” เบนีโต มุสโสลินี…ตัวม่อต้อ

ใครคือจอมเผด็จการฟาสซิสต์ เบนีโต มุสโสลินี

ในเรื่องมีช่วงที่พิน็อคคิโอไปอยู่กับคณะละครสัตว์ของเค้านต์โวลเป้ พิน็อคคิโอถูกบังคับให้แสดงเพลงปลุกใจโฆษณาชวนเชื่อทางทหารที่กล่าวสดุดีเบนีโต มุสโสลินี ซึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้เรียกว่า “อิล ดูเช่” หรือ “ท่านผู้นำ”

เพลงของพิน็อคคิโอยังดึงดูดความสนใจของมุสโสลินีเอง และคณะละครสัตว์ของเค้านต์โวลเป้ก็ยังได้เดินทางไปยังเมืองชายทะเลของคาตาเนียเพื่อที่มุสโสลินีจะได้ชมการแสดงอย่างใกล้ชิด ต่อหน้าที่นั่ง อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการกบฏต่อโวลเป พิน็อคคิโอได้เปลี่ยนเพลงโฆษณาชวนเชื่อให้เป็นเพลงที่เย้ยหยันมุสโสลินีผู้ตัวเตี้ยม่อต้อ (ในชีวิตจริงเขาสูง 5 ฟุต 6/169 ซม.) ในหนังฉากนี้ถูกแก้ไขให้พูดล้อเลียนเป็นเรื่องอึแทน เพื่อไม่ต้องการบอดี้เชมมิ่งดูถูกรูปลักษณ์ในฐานะความเป็นมนุษย์ที่มีความแตกต่างหลากหลายและมีความเป็นคนเท่าเทียมกัน

มุสโสลินีเป็นนายกรัฐมนตรีลัทธิฟาสซิสต์ของอิตาลีซึ่งปกครองประเทศในฐานะเผด็จการโดยพฤตินัยตั้งแต่ปี 1922 จนถึงสงครามโลกครั้งที่สอง ก่อนการยึดอำนาจเมื่อกลุ่มชุดดำผู้สนับสนุนเขา 30,000 คนเดินขบวนในกรุงโรม มุสโสลินีเคยทำงานเป็นนักข่าว ซึ่งหมายความว่าเขาเชี่ยวชาญในการใช้ประโยชน์จากสื่อมวลชนเพื่อให้ได้รับแรงสนับสนุน ทำให้เขาเปลี่ยนอิตาลีให้กลายเป็นรัฐตำรวจ ที่ซึ่ง “อิล ดูเช่” จะทำหน้าที่คัดสรรและแต่งตั้งบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ด้วยตัวมุสโสลินีเอง (แน่นอนว่าบรรดาบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เหล่านี้ที่เขาเลือกมาย่อมมาจากฝ่ายเชลียร์ “อิล ดูเช่” เท่านั้น / อารมณ์เหมือนบ้านเราเลือกสมาชิกวุฒิสภา 250 เสียง) และครูในโรงเรียนต้องสาบานว่าจักจงรักภักดีต่อระบอบฟาสซิสต์ และ “อิล ดูเช่” เท่านั้น (กรี๊ด!!? ช่างเหมือนพิธีสาบานตนของเผด็จการบางประเทศ)

ภักดีต่อ “อิล ดูเช่(ท่านผู้นำ)สูงสุด, มุสโสลินี” ฉากหนึ่งในหนังเดล โตโร

เมื่ออำนาจของมุสโสลินีเพิ่มขึ้น บทบาทของนายกเทศมนตรีและสภาท้องถิ่นก็ถูกแทนที่ด้วยพวกโปเดสต้า (podestà, เจ้าหน้าที่รัฐฟาสซิสต์) ผู้ภักดีซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้คุ้มกฎของลัทธิฟาสซิสต์ ผู้มีบทบาทสำคัญในเรื่อง Pinocchio ของ เดล โตโร
เป้าหมายหลักประการหนึ่งของมุสโสลินีในระหว่างการปกครองของเขา คือการสร้างอาณาจักรโรมันใหม่ในแอฟริกาและคาบสมุทรบอลข่าน เนื่องจากเขาเชื่อว่าชาวอิตาลีต้องการ ‘สปาซิโอ วิทาเล่ (spazio vitale)’ หรือ ‘พื้นที่อยู่อาศัยอันทันสมัย (คล้ายการล่าอาณานิคม) ที่หวนคืนสู่วันเก่าก่อนอันงดงาม’ ซึ่งเป็นความเชื่อที่คล้ายคลึงกับของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และความปรารถนาของนาซีเยอรมนีที่มีต่อ ‘ลีเบนชรวม (Lebensraum)’

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อิตาลีของมุสโสลินีเข้าข้างนาซีเยอรมนีในฐานะส่วนหนึ่งของฝ่ายอักษะ จนกระทั่งฝ่ายสัมพันธมิตรบุกยึดเกาะซิซิลีและแผ่นดินใหญ่ของอิตาลีในปี1943 ซึ่งทำให้กษัตริย์แห่งอิตาลีปลดมุสโสลินีออกจากตำแหน่งและจับกุมเขา

จากนั้นทหารเยอรมันก็เข้ายึดครองทางตอนเหนือของอิตาลีและช่วยมุสโสลินีจากการถูกคุมขัง เพื่อที่เขาจะได้เป็นผู้นำสาธารณรัฐสังคมอิตาลีที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ (หรือที่เรียกว่าสาธารณรัฐซาโล) ในฐานะ ‘ผู้ปกครองหุ่นเชิดภายใต้ฮิตเลอร์’

ในวันที่ 28 เมษายน 1945 ขณะที่ฝ่ายสัมพันธมิตรยังคงรุกเข้าสู่อิตาลีตอนเหนือ มุสโสลินีถูกกลุ่มสมัครพรรคพวกชาวอิตาเลียน (Italian partisans / กลุ่มผู้ต่อต้านฟาสซิสต์) จับตัวเขาขณะพยายามหลบหนีออกจากประเทศ ก่อนที่มุสโสลินีจะถูกกราดยิงตายพร้อมพรรคพวกรวม 15 คนบนรถไฟในที่สุด

กีเยร์โม เดลโตโร

ไอเดียการเปลี่ยนไทม์ไลน์นี้ เดล โตโร เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสารวานิตี แฟร์ ว่า “เรื่องราวเวอร์ชั่นนี้จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่พลเมืองปฏิบัติตนด้วยความเชื่อฟัง ซื่อสัตย์ จงรักภักดีสุดจิตสุดใจราวกับเป็นหุ่นเชิด” เขาอธิบาย

ซึ่งมันจะสวนทางกับฉบับหนังสือออริจินัล เพราะหนังสือกำลังพยายามควบคุมจิตวิญญาณของเด็กด้วยเรื่องราวแปลกใหม่ จริง ๆ แล้วต้นฉบับเดิมเป็นหนังสือที่เต็มไปด้วยสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ที่ยอดเยี่ยม แต่เพราะมันเป็นหนังสือเด็กที่มีแนวคิดในการพยายามกล่อมเกลาให้คุณไม่ดื้อไม่ซน และต้องเชื่อฟังพ่อแม่ ต้องเป็น ‘เด็กดี’ แต่สำหรับเวอร์ชั่นหนังแอนิเมชั่นของผมเรื่องนี้ มันจะเกี่ยวกับการค้นหาตัวตนและการค้นหาเส้นทางเดินในโลกอันโหดเหี้ยมนี้—ไม่ใช่แค่การเชื่อฟังพระบัญญัติที่ประทานมาแก่คุณเท่านั้น แต่เป็นการคิดให้ออกว่าเมื่อไหร่ที่คุณควรจะโอเคกับสถานการณ์แวดล้อม หรือเมื่อไหร่ควรจะเซย์โน ลุกขึ้นหืออือ ดื้อดึงบ้าง ถ้าสิ่งที่ผู้กุมอำนาจกระทำนั้น มันไม่ถูกไม่ควร”

เดล โตโร กล่าวเสริมด้วยว่า “หลายครั้งที่นิทานดูเหมือนสนับสนุนการเชื่อฟังและการบังคับควบคุมจิตวิญญาณของคุณให้อยู่แต่ในร่องในรอย แต่สำหรับผมการเชื่อฟังอย่างมืดบอดไม่ใช่คุณธรรม คุณธรรมที่พิน็อคคิโอในฉบับของผมมี คือการไม่เชื่อฟังและความดื้อดึง ในเวลาที่คนอื่นถูกทำให้เป็นหุ่นเชิด—เขาจะไม่ทำ เขาจะสวนกระแส นั่นคือสิ่งที่น่าสนใจสำหรับผม ผมไม่อยากเล่าเรื่องเดิมซ้ำ ผมต้องการบอกเล่าในแบบของผม…และในแบบที่ผมเข้าใจโลกใบนี้”

ประเด็นการเมืองเคยมีมาก่อนแล้ว เมื่อนามปากกา Collodi Nipote (ชื่อจริง เปาโล ลอเรนซินี) หลานแท้ ๆ ของเจ้าของต้นฉบับ เคยแต่งภาคต่อของพิน็อคคิโอในเล่ม The Heart of Pinocchio New Adventures of the Celebrated Little Puppet (1919) เล่าชีวิตเจ้าหุ่นไม้หลังจากได้เป็นคน เขาเข้าร่วมกองทัพอิตาเลียน แล้วกลับมาหลังสงครามโลกครั้งแรกในสภาพคล้ายหุ่นเชิด เนื่องจากเสียขาไปในสงครามและทางการเยียวยาให้ด้วยขาเทียมที่ทำจากไม้ง่อนแง่นเต็มทน

จริง ๆ นี่ไม่ใช่การดัดแปลงครั้งแรกของ Pinocchio ที่ขยายเรื่องราวเบื้องหลังของ เก็ปเป็ตโต โดยเพิ่มประเด็นการสูญเสียครอบครัวไป เพราะเคยเกิดขึ้นแล้วในฉบับมินิซีรีส์อิตาลีเรื่อง The Adventures of Pinocchio (1972) ที่ให้ เก็ปเป็ตโต เป็นพ่อม่ายเมียตาย ส่วนนางฟ้าผมสีเทอร์ควอยซ์ แท้จริงคือวิญญาณของภรรยาผู้ล่วงลับ

แต่นี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกของ เดล โตโรเช่นกันที่หยิบเอาพล็อตแฟนตาซี มาเจอกับไทม์ไลน์ทางประวัติศาสตร์ เพราะครั้งหนึ่งเขาเคยกำกับ The Devil’s Backbone (2001) หนังสยองขวัญการเมืองที่วางฉากหลังไว้ในช่วงปลายสงครามกลางเมืองของสเปน ปี1939 เมื่อสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าในเมืองห่างไกลถูกโจมตีโดยฝ่ายเผด็จการฟรังโก ความระส่ำระสายแร้นแค้นที่หนีไปไหนไม่ได้ บวกกับเรื่องผีเด็กที่ตายปริศนา และความสัมพันธ์ลับที่มาพร้อมกับความโลภ ท่ามกลางสงครามที่เปลี่ยนคนให้ไร้ความปราณี ฆ่าไม่เว้นแม้แต่ผู้หญิง เด็ก หรือคนชรา

แต่หนังการเมืองของเดล โตโร อีกเรื่องที่ทำให้โลกต่างหันมาจับตามอง และเขากลายเป็นคนดังเป็นที่ต้องการของฮอลลีวูดไปในทันที เมื่อเขาคว้า 3 รางวัลออสการ์จากหนังเรื่องนี้ Pan’s Labyrinth (2006) ที่ได้รับคัดเลือกฉายในเทศกาลหนังเมืองคานส์ด้วย หนังเล่าเหตุการณ์ในช่วงความโกลาหลของสงครามกลางเมืองในสเปน ที่ผนวกเข้ากับโลกแฟนตาซี เมื่อมีปีศาจเฟือน(ตามตำนานสเปน หรือผีแพน ตามตำนานฝรั่งเศส เนื่องจากเป็นช่วงที่สเปนถูกฝรั่งเศสยึดครอง) เป็นตัวแทนความชั่วร้ายของสงคราม และโลกแห่งแฟนตาซีเป็นสิ่งที่เด็กหญิงต้องเลือก แม้มันจะดูสยองขวัญ ลี้ลับ แต่อย่างน้อยก็ไม่เลวร้ายเท่ากับโลกแห่งความเป็นจริงที่ผู้คนเข่นฆ่ากันอย่างบ้าคลั่งเพื่ออะไรที่ไม่เป็นสาระ ล่าสุด เดล โตโร บอกด้วยว่า ถ้ารวมสองเรื่องนี้ พิน็อคคิโอ คือภาคจบของไตรภาคสงครามกับแฟนตาซีอย่างไม่เป็นทางการ

พิน็อคคิโอ เวอร์ชั่นของ เดล โตโร มีการตีความใหม่ ๆ หยุมหยิมยุ่บยั่บ เดล โตโรเล่าว่า “นี่คือเรื่องราวเกี่ยวกับหุ่นกระบอกที่แสดงโดยหุ่นเชิด เราต้องทำให้คนดูเชื่อในตัวละครเหล่านี้ เราจึงต้องการการออกแบบที่ทุกรายละเอียดบอกเล่าเรื่องราว และผมให้นักเชิดเป็นเหมือนผู้เสกให้หุ่นเหล่านี้มีชีวิต นั่นคือเหตุผลที่ผมให้บรรดานักเชิดหุ่นมีเครดิตต่อจากรายชื่อนักแสดงในเครดิตหนังท้ายเรื่อง”

แต่ส่วนตัวเราคิดว่าอีสเตอร์เอกเหล่านี้สามารถไปหาอ่านจากบทความคนอื่น ๆ ได้ ดังนั้นบทความนี้จะหยิบมาเจาะลึกเพียงไม่กี่ชิ้นที่ไม่น่าจะหาอ่านได้ในบทความคนอื่น และหนึ่งในนั้นก็คือ…

นางฟ้าผมสีเทอร์ควอยซ์

นางฟ้าผมสีเทอร์ควอยซ์ คือตัวละครสำคัญที่พลิกผันชะตากรรมของพิน็อคคิโอในฉบับนิยายดั้งเดิม ตัวละครนี้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นบลูแฟร์รี่ ในฉบับการ์ตูนดิสนีย์ (1940) เพราะเธอไม่ได้มีผมสีเทอร์ควอยซ์อีกต่อไปแล้ว แต่มาในเครื่องทรงสีฟ้า และเพราะนางฟ้าของคนรุ่นบูมเมอร์คือตัวแทนภาพลักษณ์คุณค่าแบบอเมริกันชน คนขาว ผมบลอนด์ ซึ่งเธอจะกลายเป็นตัวตลกไปในทันทีสำหรับโลกยุคนี้ที่สหรัฐโหมประโคมเรื่องสิทธิความเท่าเทียมกันโดยเฉพาะในหมู่คนผิวสี มิวายที่พิน็อคคิโอของดิสนีย์ฉบับคนแสดงปีล่าสุด 2022 ก็ยังคงใช้วิธีโฆษณาชวนเชื่อด้วยการเปลี่ยนให้ผู้แสดงบทบลูแฟร์รี่ เป็นคนผิวสี แล้วที่ว่าทำไมมันจึงเป็นโฆษณาชวนเชื่อ ก็เพราะตลอดช่วงชีวิตของพิน็อคคิโอฉบับดิสนีย์เวอร์ชั่นแรกจนถึงล่าสุด มันล้วนผันผ่านการเหยียดผิวเข่นฆ่าคนผิวสีตั้งแต่ คลู คลักซ์ แคลน มาจนแม้เวลาล่าสุดยุคแห่ง Black Lives Matter ที่ล้วนรู้กันดีว่าคือการสร้างภาพคนดีมีเมตตาแบบอเมริกา

นางฟ้าฉบับเดล โตโร

แต่นางฟ้าฉบับ เดล โตโร ต่างออกไปไกลโข ด้วยว่า เทวดา นางฟ้า ทูตสวรรค์ หรือแองเจิล ที่เราต่างเชื่อกันว่ามีหน้าตาเหมือนคนอย่างเรา ๆ แต่หากย้อนกลับไปอ่านไบเบิลของจริง คุณจะพบว่าไม่มีเทวดานางฟ้าองค์ไหนหน้าตาเป็นมนุษย์มนาเลยสักองค์ เช่น เมื่อพวกเขาปรากฏตัวต่อหน้ามนุษย์ ไบเบิลกล่าวว่า

‘ทูตสวรรค์องค์นั้นกล่าวกับเขาทั้งหลายว่า “อย่ากลัวเลย เพราะเรานำข่าวดีมายังพวกท่าน เป็นความยินดีอย่างยิ่งที่จะมาถึงคนทั้งหลาย’ -ลูกา 2:10

แปลกใจไหมว่าทำไมทูตสวรรค์จึงเอ่ยทักว่า “อย่ากลัวเลย” คือถ้าในหัวของคุณ เทวดาจะมีหน้าตาแบบคนขาวผมบลอนด์ สง่างามสวยหล่อ มีแสงวงรัศมีลอยบนกบาล คุณคิดผิด เอาล่ะเราจะขอยกตัวอย่างสารรูปที่แท้ทรูของบรรดานางฟ้าเหล่านี้ที่ถูกบรรยายอย่างถูกต้องตามตำรา อาทิ

เครูบิม (Cherubim)

หรือ เครูบ เป็นตำแหน่งต่ำที่สุดในบรรดาเทวดา ไบเบิลอธิบายว่าเป็นลูกผสมระหว่างสัตว์และมนุษย์ โดยมีหน้าที่ปกป้องสวนเอเดนจากมนุษยชาติ ในเอเสเคียลนิมิตของผู้เผยพระวจนะแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีสี่หน้า: สิงโต วัว อินทรี และมนุษย์ มีขาตรง มีปีกสี่ข้าง และกีบเท้าเหมือนวัวที่แวววาวเหมือนทองเหลืองขัดเงา ปีกชุดหนึ่งคลุมลำตัว ส่วนอีกชุดใช้สำหรับบิน มีดวงตาดวงใหญ่กลางอก (เอเสเคียล 1:4-28)

คำอธิบายสำหรับผู้ศึกษาเทวนิยมในปัจจุบันอธิบายว่าพวกเขาอยู่เหนือจินตนาการ เกินความเข้าใจมนุษย์

“Heaven might be more bizarre than blissful” สวรรค์อาจแปลกประหลาดเกินกว่าความสุขความพึงใจ(แบบมนุษย์โลก) นักวิชาการยุคใหม่บอกว่าภาพลักษณ์สมัยใหม่มาจากเทพกรีกโรมัน เช่น กามเทพตัวน้อย ๆ ถือธนูคันศรในชุดขาว ส่วนในไบเบิลมันเกิดจากการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมโบราณ เช่น บาลิโลเนีย ซีเรีย อียิปต์ หน้าที่ของเครูบในการเฝ้าปกปักษ์สถานศักดิ์สิทธิ์ เช่น ตอนเยซูกำเนิด หรือในถ้ำเก็บศพ และรูปลักษณ์ของเขาคือการผสมผสานกันของสัตว์ศักดิ์สิทธิ์อย่าง ลามัสซูของพวกบาบิโลน สฟิงซ์ของอียิปต์ และพวกนกกริฟฟินของชาวฮิตไทต์

เซราฟิม (Seraphim)

ตามคำกล่าวของผู้เผยพระวจนะอิสยาห์ เซราฟิมเป็นทูตสวรรค์ที่ล้อมรอบบัลลังก์ของพระเจ้าและร้องเพลงว่า “ศักดิ์สิทธิ์ บริสุทธิ์ บริสุทธิ์” พร้อมเพรียงกันและติดตามการเสด็จมาของพระเจ้า ผู้เผยพระวจนะอธิบายว่าพวกมันมีปีกหกปีก สองปีกมีไว้บิน ส่วนปีกที่เหลือใช้คลุมศีรษะและเท้า มีดวงตาขนาดใหญ่ตรงกลาง มีตารอบปีก และมีไฟระอุลุกโชนตลอดเวลา Seraphim มาจากคำภาษาฮีบรูว่า “Seraph” ซึ่งแปลว่า “เผาไหม้” หากเจาะลึกลงไป คำภาษาฮีบรู “ซาราฟ” แปลว่า “งูทะเลทรายพิษ” ในอียิปต์โบราณผู้คนเรียกงูเห่าว่า “ยูเรอัส” และมักจะประดับงูนี้ที่ศีรษะของฟาโรห์ นักประวัติศาสตร์หลายคนคาดเดาว่าผู้เขียนพันธสัญญาเดิมได้รับปีกและเปลวไฟของเซราฟิมจากภาพพจน์ของอียิปต์และความเกี่ยวข้องกับงูเห่า

โอฟานิม (Ophanim)

มีความหมายว่า “วงล้อ” ในเอเสเคียลอธิบายว่าพวกเขาเป็นสิ่งมีชีวิตที่สร้างจากวงล้อทองคำที่ซ้อนกันโดยที่ด้านนอกของวงล้อแต่ละวงมีตาหลายดวง พวกเขาเคลื่อนที่โดยลอยตัวอยู่บนท้องฟ้า ในฐานะผู้สูงสุดในลำดับชั้น พวกเขาได้รับมอบหมายให้ปกป้องบัลลังก์ของพระเจ้า ไม่มีต้นกำเนิดทางประวัติศาสตร์ที่แน่นอน โจเซฟ เอฟ บลัมริช อดีตเจ้าหน้าที่องค์การ NASA ได้ตั้งทฤษฎีว่าการมองเห็นวงล้อของเอเสเคียลและเทวดาองค์อื่น ๆ อาจเป็นการพบเห็นยูเอฟโอ นักวิชาการยังเสนอว่านิมิตนี้อาจเป็นเพียงคำอุปมาสำหรับความลึกลับของพระเจ้าที่เกินกว่าความเข้าใจของมนุษย์

ชิเมร่า หรือ อะเลบริเจส

ส่วนไอเดียนางฟ้าของ เดล โตโร ถูกแบ่งเป็น 2 องค์ เป็นพี่น้องกัน องค์บนโลกชื่อ สไปรท์ ส่วนองค์ในโลกความตายชื่อ เดธ พวกเธอมีร่างสีน้ำเงินเหมือนกัน แต่นิสัยต่างกันอย่างมาก เดล โตโรเล่าว่า “มันคือส่วนผสมของ Chimera ในเม็กซิโกจะเรียกว่า Alebrijes เป็นส่วนผสมของนก มังกร สัตว์เลื้อยคลาน และแมว ซึ่งมีให้เห็นอย่างมากในภาพวาดเม็กซิกันในยุคอาณานิคม สไปรท์เป็นส่วนผสมของมันกับเซราฟิม และจากนั้นปีกของสฟิงซ์(เดธ)ก็ดูเหมือนเทวทูตมากกว่า แต่ขนแต่ละเส้นบนปีกมีดวงตาซึ่งหมายถึงดวงวิญญาณ ผมกับกาย เดวิส(นักออกแบบ)พยายามทำให้คนดูนึกถึงรูปปั้นวัวมีปีกของชาวเมโสโปเตเมีย”

(ขวาบน) สไปร์ท (ขวาล่าง) เดธ

เดล โตโร เสริมด้วยว่า “สฟิงซ์(เดธ)มีต้นแบบมาจากเบลา ลูโกซี (นักแสดงยุคเก่าผู้รับบทแฟรงค์เกนสไตน์ และแดร็กคูล่า) ส่วนอีกตัว(สไปร์ท)เคลื่อนไหวประหลาดเกือบเหมือนดั๊ก โจนส์ (นักแสดงยุคใหม่ร่างสูงผอมมากผู้รับบทอสูรกายมาตลอด รวมถึง Pan’s Labyrinth ของเดล โตโร ด้วย) มันมีครีบเหมือนปลา เราออกแบบให้พวกเขาเป็นพี่น้องกัน”

ปลาด็อกฟิช

The Terrible Dogfish ( ภาษาอิตาลี : Il Terribile Pescecane ) เป็นสัตว์ทะเล รูปร่าง คล้ายปลาด็อก (บ้านเราเรียกฉลามหนู หรือฉลามแอตแลนติก) ซึ่งปรากฏมาตั้งแต่ในฉบับนิยายเดิมของ คอลโลดิ แล้ว มันเป็นลาสบอสศัตรูตัวสุดท้ายของพิน็อคคิโอ มันถูกอธิบายในนิยายว่ามีขนาดใหญ่กว่าตึกห้าชั้น ยาวหนึ่งกิโลเมตร (ไม่รวมหาง) และมีฟันสามแถว ในปากที่สามารถรองรับรถไฟทั้งขบวนได้ ชื่อเสียงของมันน่ากลัวมาก ในนิยายมันมีชื่อเล่นว่า “The Attila (หัวหน้าเผ่าหรือราชา) of Fish and Fishermen”

ในนิยาย เก็ปเป็ตโตติดอยู่ในท้องของปลาตัวนี้อยู่นานถึงสองปี โดยรอดชีวิตจากเสบียงในเรือที่ถูกมันกลืนเข้าไป เมื่อพบว่ามันป่วยเป็นโรคหอบหืดซึ่งเป็นภาวะที่บังคับให้มันหลับโดยยกหัวขึ้นจากน้ำและอ้าปาก พิน็อคคิโอจึงอุ้มเก็ปเป็ตโตไว้บนหลังและว่ายออกจากปากของมัน เมื่อเรี่ยวแรงของพิน็อคคิโอเริ่มหมดลง ก็มีปลาทูน่ามาช่วยให้พวกเขารอดไปถึงฝั่งได้

ในปี 1940 ภาพยนตร์เรื่องPinocchio ของ วอลต์ ดิสนีย์เจ้าปลาตัวนี้มีชื่อว่าMonstro (ซึ่งเป็นภาษาโปรตุเกส ภาษาเอ สเปรันโตและภาษาอิตาลีโบราณของคำว่า “สัตว์ประหลาด”) และถูกวาดออกมาเป็นวาฬสเปิร์ม ขนาดมหึมา ดุร้าย ก้าวร้าว ฉลาด และกินคน ตรงกันข้ามกับความเป็นจริงที่ปลาชนิดนี้เป็น “ยักษ์ผู้อ่อนโยนแห่งท้องทะเล”

เดวิส ผู้ออกแบบเล่าว่า “มันเป็นสิ่งมีชีวิตที่กินทุกอย่างไม่เลือก มันอยู่มานานจนเบื่อและน่าสังเวช” เขากล่าว “ผมอยากให้มีตัวละครที่มากกว่าการเป็นแค่เครื่องจักรสังหารไร้สติที่ล่องลอยอยู่ในมหาสมุทร” ส่วนเดล โตโร เสริมไอเดียว่า “ในอดีตมีอยู่ยุคหนึ่งที่นักสำรวจจะเดินเรือออกท่องโลก และวาดสัตว์ต่าง ๆ ที่ดูมหัศจรรย์พันลึกของท้องทะเลเกินกว่าความเป็นจริงเราหยิบไอเดียมาจากภาพเหล่านั้น แต่ทำให้ดูเกินจริงและแปลกประหลาดไปกว่านั้นอีก”

แผนที่จากยุคกลาง (ขวาบนคือ Carta Marina)

สัตว์ประหลาดจากแผนที่ในยุคกลาง ยุคที่ยังไม่มีเทคโนโลยีทันสมัยอะไรอย่างโลกปัจจุบัน พวกนักสำรวจ นักเดินเรือ นักบวชเผยแผ่ศาสนา พวกผู้แสวงโชค หรือบางทีก็โจรสลัด ต่างพากันออกสำรวจโลก วาดแผนที่เพื่อหวังจะเป็นการบอกคนรุ่นหลังว่าตรงไหนควรเลี่ยงเส้นทาง ตรงไหนมีขุมทรัพย์ ตรงไหนมีพายุ หรือมีหินโสโครกอันตราย และตรงไหนมีสัตว์ประหลาด ฯลฯ

สัตว์ประหลาดในจินตนาการของพวกเขาผสมจากหลายสายพันธุ์ บางทีก็ตัวใหญ่ยักษ์ บางตัวก็โจมตีเรือ ที่น่าสนใจคือคนในยุคนั้นเชื่อกันว่าแผนที่เหล่านี้เป็นข้อเท็จจริง และบางทีพวกเขาก็จำแนกพวกสัตว์แปลกที่พวกเขาไม่รู้จักให้กลายเป็นสัตว์ประหลาดไปด้วย เช่น สิงโตทะเล หรือวาฬ

แผนที่ฉบับแรก ๆ ถูกเรียกว่า Carta Marina (ภาษาละตินแปลว่า แผนที่ทางทะเล) แสดงประเทศในกลุ่มนอร์ดิก วาดโดย ออลาอุส แม็กนัส ชาวสวีเดนที่อาศัยอยู่ในโรม ใช้เวลา 12 ปีจึงเสร็จสมบูรณ์ (1527-1539) ต่อมา อับราฮัม ออร์เทลิอุส นักเขียนแผนที่ชาวเฟลมิช ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้สร้างแผนที่โลกฉบับแรกที่เรียกว่า Theatrum Orbis Terrarum (“โรงละครแห่งโลก”) ซึ่งก็มีบรรจุคอลเลกชั่นสัตว์ประหลาดในแผนที่ฉบับนี้ด้วย

หลายคนในสมัยนั้นเชื่อว่าสิ่งมีชีวิตที่แปลกประหลาดและมุ่งร้ายอาศัยอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของโลกนอกพรมแดนของตนเอง ต้นฉบับภาษาอังกฤษเก่าจากศตวรรษที่ 11 เล่าขานถึงสิ่งมหัศจรรย์แห่งตะวันออกอธิบายเป็นภาพสัตว์ประหลาด เช่น มังกรขนาดมหึมาที่ขัดขวางการเดินทาง มดยักษ์ และแม่ไก่ที่สามารถเผาคนได้ มนุษย์กินคนและคนป่าเถื่อนรวมอยู่ในนี้ด้วย บางทีก็มีสัตว์ครึ่งคนครึ่งลา

บางทีพวกเขาก็หยิบนิทานทางศาสนา เช่น โยนาห์กับปลาวาฬ มาช่วยเสริมความเชื่อในความเป็นไปได้ของสิ่งมีชีวิตหลายประเภทเหล่านี้ เลวีอาธานจากในไบเบิล สัตว์สัญลักษณ์ของชาวสุเมเรียนและตำนานชาวบาบิโลน ในยุคกลาง เลวีอาธานถูกใช้เป็นภาพลักษณ์ของซาตาน แต่ที่น่าสนใจคือมีเรื่องราวของสัตว์ทะเลในแทบทุกวัฒนธรรมที่เขตแดนติดต่อกับทะเล ตลอดช่วงเวลาของประวัติศาสตร์นี้ ผู้คนอ้างว่าพบเห็นสัตว์ร้าย ลูกเรือจำนวนมากได้อธิบายสัตว์ประหลาดตรงกัน

ในช่วงปี 1980 มีคนรายงานว่าพบเห็นสัตว์ทะเลนอกชายฝั่งซานฟรานซิสโก แคลิฟอร์เนีย 2 ครั้ง เรื่องราวของสัตว์ประหลาดในทะเลสาบเช่น ล็อคเนส หรือตัวเนสซี บางทีก็บอกว่าเป็นสัตว์กลายพันธุ์ จนถึงขั้นเป็นสัตว์ต่างดาวเมื่อสิ่งเหล่านี้ตกทอดมาถึงยุคโมเดิร์น

ถูกห้ามฉายในบ้านเกิดตัวเอง

แม้เวอร์ชั่นเดล โตโร จะชุบชูใจผู้คนได้มากเท่าไร แต่มันเคยถูกบล็อคห้ามฉายแม้แต่ทางสตรีมมิ่งในเม็กซิโก อันเป็นประเทศเกิดของ เดล โตโรเอง หลังจากที่ครั้งหนึ่ง เดล โตโร ให้สัมภาษณ์สื่อว่า เขารู้สึกเสียใจกับสถานะของภาพยนตร์เม็กซิกันเพราะเจ้าหน้าที่รัฐไม่ให้ความใส่ใจกับวงการหนัง จนคนทำหนังเก่ง ๆ ต้องสมองไหลออกไปหากินในฮอลลีวูด ก็เพราะเม็กซิโกไม่เคยดูแลศิลปินใหม่ ๆ เลย แต่หลังจากมีการเจรจากันรัฐก็ยอมให้ฉาย แต่จำกัดโรงเพียงไม่กี่แห่ง

การเมืองแฝงอยู่ในทุกเวอร์ชั่น

“จริง ๆ เรื่องราวฉบับเดิมของ คอลโลดิ ก็แฝงเรื่องการเมืองอยู่ไม่น้อยนะ เพราะมันถูกสร้างมาเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของอิตาลีในเวลานั้น ด้วยแนวคิดพื้นฐานที่จะพยายามน้อมรับการเชื่อฟังและน้อมรับความภักดีต่อผู้อาวุโส ในขณะที่พวกเขากำลังหลอมรวมสังคมของพวกเขาให้เป็นหนึ่งเดียว เป็นสาธารณรัฐ และสร้างความรู้สึกภาคภูมิใจในประเทศชาติและครอบครัว ทั้งหมดเหล่านี้มันคือการเมือง เพราะเวลานั้นพวกเขากำลังใช้แนวคิดหลักของการเชื่อฟังเป็นคุณธรรมนำชาติ แล้วหากเรากำลังบอกเล่าเรื่องราวของการไม่เชื่อฟังว่าเป็นคุณธรรมล่ะ ภูมิหลังที่ดีที่สุดในทางการเมืองคือยุคเผด็จการ และยิ่งไปกว่านั้น หากคุณกำลังเขียนเรื่องราวของพ่อและลูกชาย — เก็ปเป็ตโต้ กับ พิน็อคคิโอ, นายทหารฟาสซิสต์กับลูกชายของเขา พระเยซูและบาทหลวงของเขา — สิ่งเหล่านี้คือภาพแทนรูปแบบความเป็นพ่อที่กัดกร่อนและกัดกินผู้คนมากที่สุด และมันคือแนวคิดแบบฟาสซิสต์ แนวคิดของชายเป็นใหญ่ แนวคิดแบบบุรุษผู้แข็งแกร่งมุสโสลินี” – เดล โตโร

“นักเขียนและนักคิดในยุค 20s และ 30s ชี้ให้เห็นว่าหนึ่งในนวัตกรรมของลัทธิฟาสซิสต์ คือวิธีที่มันนำองค์ประกอบของวงการบันเทิงและสุนทรียศาสตร์มาสู่การเมือง วันก่อนมีคนบอกผมว่า “ค่ายอบรมสั่งสอนฟาสซิสต์ในเรื่องดูเหลือเชื่อยังกับการ์ตูน” แล้วผมก็ตอบเขาไปว่า “แต่นั่นผมสร้างจากภาพถ่ายจริง ๆนะ” ขบวนพาเหรดของลัทธิฟาสซิสต์เป็นเหมือนธุรกิจการแสดงในทางหนึ่ง ความยิ่งใหญ่ อลังการ ตรึงตราตรึงใจ แทนที่พวกเขาจะสร้างเป็นเกาะแห่งความสุข ที่เด็ก ๆ กินขนมและเล่นสนุกได้เต็มที่ พวกเขากลับทำค่ายเยาวชนที่เด็ก ๆ เล่นทำสงครามรบกัน แล้วแทนที่จะเล่นแปลงกายเป็นนั่นเป็นนี่กัน พวกเขากลับได้รับหน้ากากกันแก๊สพิษ แล้วพ่อก็ชักปืนจริง ๆ พูดว่า “ยิงเพื่อน” ฟังดูดราม่า แฟนตาซีเนอะ แต่เรื่องเหล่านี้เคยเกิดขึ้นจริง ในช่วงเวลาที่คนรุ่นพ่อเราถูกกล่อมเกลาล้างสมองให้พลีชีพเพื่อชาติ”

สโลแกนฟาสซิสต์ของอิตาลี “Credere, obbedire, combattere” (จงเชื่อ! จงเชื่อฟัง! จงสู้รบ!)
ปรากฏเด่นชัดบนกำแพงในเมือง

เซบาสเตียน: “หยุดเดี๋ยวนี้ นายต้องเชื่อฟังพ่อนะ”
พิน็อคคิโอ: “เชื่อฟังหรือ”
เซบาสเตียน: “ก็ทำตามคำสั่งไง”
พิน็อคคิโอ: “แต่ผมไม่อยากจะเชื่อฟัง”
ลูกชายเจ้าหน้าที่รัฐ: “พ่อฉันบอกว่าถ้ากลัวว่าจะตายเพื่อประเทศชาติ แปลว่าอ่อนแอ และขี้ขลาด”
เชื่อฟัง เข้มแข็ง เพื่อประเทศชาติ ฟังดูคล้ายคำประกอบในคำขวัญวันเด็กของท่านผู้นำจอมเผด็จการบางประเทศ ที่ชอบให้เด็ก ๆ ว่าจง…“มีวินัย” “ภักดี” “สามัคคี” “เป็นเด็กดี” ฯลฯ
เดล โตโรทิ้งท้ายว่า “ภาพยนตร์เรื่องนี้เกี่ยวกับความรัก การให้อภัย ชีวิตของคนเราสั้นเพียงใด และสังคมถูกสร้างขึ้นจากสิ่งมีชีวิตที่ไม่สมบูรณ์ พ่อที่ไม่สมบูรณ์ ลูกชายที่ไม่สมบูรณ์ และเราจะข้ามผ่านสิ่งเหล่านั้นไปได้อย่างไร เมื่อนั้นเราจะสามารถรักและกลายเป็นมนุษย์ที่แท้จริงได้…ไม่ใช่หุ่นเชิดที่ถูกจับไปซ้ายทีขวาที”