ThaiPublica > คอลัมน์ > 4 มิถุนา เมื่อนักศึกษาเรียกร้องประชาธิปไตยต่อท่านผู้นำเผด็จการ The Gate of Heavenly Peace

4 มิถุนา เมื่อนักศึกษาเรียกร้องประชาธิปไตยต่อท่านผู้นำเผด็จการ The Gate of Heavenly Peace

30 มิถุนายน 2015


1721955

OPEN Gate-of-Heavenly-Peace

สารคดีเดือนนี้ออกจะเก่าอยู่สักหน่อย แต่ก็เป็นประเด็นที่ไม่เคยเชยเลย เพราะเรื่องราวทำนองนี้ยังคงวนเวียนเกิดขึ้นซ้ำซากมาจนปัจจุบันนี้ในอีกหลายประเทศ รวมถึงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาก็ครบวาระของเหตุการณ์สำคัญนี้พอดี และประจวบเหมาะกับอะไรอีกหลายอย่างที่ทำให้อดจะนึกถึงหนังเรื่องนี้ไม่ได้ The Gate of Heavenly Peace (1995)

สารคดีเรื่องนี้เป็นผลงานร่วมกำกับและร่วมโปรดิวซ์โดย ริชาร์ด กอร์ดอน กับคาร์มา ฮินตัน ความยาวกว่าสามชั่วโมง อันเป็นการสัมภาษณ์นักศึกษา ชนชั้นแรงงาน และเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้อยู่ในเหตุการณ์ สลับกับคลิปจากในที่เกิดเหตุลำดับตามเหตุการณ์วันต่อวันตลอดหกสัปดาห์ของการชุมนุมประท้วงนองเลือด ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ตั้งแต่กลางเดือนเมษายน จนสิ้นสุดลงด้วยความโศกสลดในวันที่ 4 มิถุนายน 1989

นักศึกษาท้าทายอำนาจรัฐด้วยการจำลองรูปปั้นเทพีเสรีภาพวางไว้เบื้องหน้ารูปท่านประธานฯ เติ้งเสี่ยวผิง
นักศึกษาท้าทายอำนาจรัฐด้วยการจำลองรูปปั้นเทพีเสรีภาพวางไว้เบื้องหน้ารูปท่านประธานฯ เติ้งเสี่ยวผิง

ตัวหนังล้วงลึกไปตั้งแต่ที่มาเบื้องหลังของการชุมนุมประท้วง ไปจนถึงเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ในอดีตก่อนหน้านั้น และบริบททางสังคมอันเป็นการสำรวจความสำคัญของจัตุรัสแห่งนี้ “เทียนอันเหมิน” ที่มีความหมายว่า ประตูสันติสวรรค์ อันเป็นที่มาของชื่อหนังเรื่องนี้ ด้วยการย้อนรอยไปเท้าความตั้งแต่ ขบวนการเคลื่อนไหว 4 พฤษภาคม 1919, ช่วงทศวรรษแห่งการปฎิวัติวัฒนธรรม 1966-76, กรณีเทียนอันเหมินในปี 1976 อันเป็นรากเหง้าของปัญหาที่สะสมเรื่อยมาจนถึงกาลแตกหักในปี 1989

โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ในเทียนอันเหมินปี 1989 นี้ เกิดขึ้นหลังจากการเสียชีวิตของ หูเย่าปัง อดีตผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ ผู้มีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปการเมืองในจีน ซึ่งจบชีวิตลงอย่างกะทันหันและเป็นปริศนาเมื่อวันที่ 15 เมษายนในปีเดียวกันนั้น หลังจากที่เขาถูกกดดันให้ลาออกในปี 1987 เนื่องด้วยท่าทีที่อ่อนข้อและแสดงความเห็นใจต่อนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยในช่วงนั้น ส่งผลให้ในปี 1989 นักศึกษาจำนวนมากจึงออกมารวมตัวกันเพื่อไว้อาลัยต่อเขา และใช้โอกาสนี้ในการชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปประชาธิปไตยในสังคมจีน

สถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อทางการจีนตอบโต้ด้วยการบิดเบือนข่าว กล่าวหาว่ากลุ่มนักศึกษามีแผนการร้ายและต้องการจะโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการคอมมิวนิสต์ ทำให้ภาคสังคมต่างๆ พากันแห่มาเข้าร่วมกับขบวนการนักศึกษา ลุกลามขยายตัวเป็นวงกว้าง ไปสู่การชุมนุมอดอาหารประท้วงในเดือนพฤษภาคม ขณะที่สื่อต่างชาติต่างพากันกรูเข้ามาทำข่าวนี้ ทำให้ท้ายที่สุดมีชาวจีนกว่า 2,600 คน (เท่าที่ทางการนับได้) ต้องมาเสียชีวิตลง และอีกกว่าหมื่นคนได้รับบาดเจ็บ กลายเป็นเหตุสังหารหมู่นองเลือดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์จีนยุคใหม่

หวังตัน แกนนำนักศึกษากล่าวแถลงการณ์ต่อผู้สื่อข่าว
หวังตัน แกนนำนักศึกษากล่าวแถลงการณ์ต่อผู้สื่อข่าว

“สารคดีเรื่องนี้สำเร็จลงได้ด้วยความช่วยเหลือจากกองทุนแห่งชาติเพื่อสิทธิมนุษยชน อันเป็นหน่วยงานสำหรับสื่อทีวีสาธารณะ และมูลนิธิฟอร์ดกับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ส่วนกองฟุตเตจมากมายในปี 1989 รวบรวมมาจากโฮมวิดีโอของบรรดานักศึกษาชาวไต้หวันและชาวอเมริกัน รวมถึงช่องทีวีต่างๆ ที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ขณะนั้น และใช้เวลากว่าสองปีในการรวบรวมฟุตเตจทั้งหมด” ริชาร์ด กอร์ดอน บอกถึงที่มาของฟุตเตจต่างๆ ที่ทั่วโลกต่างพากันตื่นตะลึงกับภาพบันทึกวันต่อวันที่ส่วนใหญ่ไม่เคยถูกเผยแพร่มาก่อนเลย

คาร์มา ฮินตัน กล่าวถึงผู้ให้สัมภาษณ์ว่า “บางคนในกลุ่มผู้ให้ปากคำ ปัจจุบันอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ดังนั้นพวกเขาจึงปลอดภัยจากการถูกคุกคามของรัฐบาลจีน ส่วนพวกที่เหลือเป็นกลุ่มผู้กล้าที่เปิดเผยตัวตนต่อสาธารณชนในเวลานั้น และให้ข้อมูลต่อผู้สื่อข่าวเป็นประจำอยู่แล้ว พวกเขาต่างรู้ดีว่าทุกสิ่งที่พวกเขาพูดได้ถูกบันทึกเอาไว้ด้วย” แม้ว่าสารคดีเรื่องนี้จะกำกับโดยชาวอเมริกัน แต่ภาษาก็ไม่เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด เพราะฮินตันแม้จะมีพ่อแม่เป็นอเมริกัน แต่เธอเกิดและเติบโตในปักกิ่ง จึงใช้ภาษจีนในการสื่อสารได้อย่างคล่องแคล่ว

เหตุที่ทั้งคู่มาร่วมงานกัน ความตั้งใจแรกคือเข้าไปเมืองจีนเพื่อจะถ่ายทำสารคดีทีวีเกี่ยวกับ จางไต้เจี้ยน ศิลปินพู่กันจีนชื่อดังซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว กระทั่งกลายเป็นสารคดีเรื่อง Abode of Illusion: The Life and Art of Chang Daichien (1993) แต่ระหว่างนั้นพวกเขาก็ได้พบข้อมูลลึกๆ และได้เห็นฟุตเตจมากมายเกี่ยวกับกรณีเทียนอันเหมิน ในที่สุดจึงกลายเป็นหนังสารคดีเรื่องแรกของพวกเขาที่ได้ฉายทางโรงภาพยนตร์และกลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมา เมื่อในปีที่หนังเปิดตัวในเทศกาลหนังนิวยอร์กก็ทำให้ทางการจีนหัวเสีย ถึงกับสั่งถอนหนังเรื่อง Shanghai Triad (1995) ของ จางอี้โหมว ผู้กำกับมือรางวัล ที่ได้รับเลือกฉายในเทศกาลเดียวกันนั้นด้วย (ภายหลังฮินตันและกอร์ดอนร่วมกันกำกับหนังอีกเรื่องเกี่ยวกกับการปฎิวัติวัฒนธรรมในจีน เรื่อง Morning Sun, 2003)

ภาพจำที่ชาวโลกต่างไม่มีวันลืม เมื่อชายนิรนามเข้าไปยืนขวางรถถังของทางการจีน
ภาพจำที่ชาวโลกต่างไม่มีวันลืม เมื่อชายนิรนามเข้าไปยืนขวางรถถังของทางการจีน

แง่มุมหนึ่งที่หนังเรื่องนี้ตีแผ่ และไม่เคยปรากฏในหนังเรื่องใดมาก่อน คือการลากย้อนไปเล่าถึงเหตุการณ์ 4 พฤษภาคม 1919 เมื่อมีมติจากการประชุมสันติภาพ ณ พระราชวังแวร์ซาย ให้ญี่ปุ่นรับช่วงสิทธิพิเศษในมณฑลซานตุงต่อจากประเทศเยอรมนี กลุ่มนักศึกษารักชาติกว่าห้าพันคนจึงเดินขบวนคัดค้านมตินี้ ลุกลามไปสู่การเผาบ้านรัฐมนตรี เฉายู่หลิน ผู้ถูกตราหน้าว่าทรยศชาติ เพราะเป็นผู้เจรจาและลงนามในสนธิสัญญาแวร์ซายฉบับนั้น ความคลั่งชาติได้ปลุกปั่นให้มีพวกไปรุมทำร้ายอัครรัฐฑูตจีนประจำญี่ปุ่นจนถึงแก่ความตายในวันรุ่งขึ้น ทำให้รัฐบาลในขณะนั้นตอบโต้ด้วยคำสั่งประหารชีวิตนักศึกษา 32 คน และจับนักศึกษาเข้าคุกไปอีกหลายร้อยคน แต่เหตุการณ์ไม่จบลงเท่านั้น นักศึกษาต่างลักลอบส่งโทรเลขไปยังสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ และนัดหยุดเรียนออกมาเดินขบวนกันอย่างแพร่หลายตามมณฑลต่างๆ ทั้งเมืองเทียนสิน เซี่ยงไฮ้ นานกิง หานโจว ฟู่โจว และกวางตุ้ง จนเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ ทำให้นักศึกษาได้รับบาดเจ็บล้มตายไปเป็นจำนวนมาก

แต่ปรากฏว่าประชาชนทั่วไปต่างให้การสนับสนุนต่อนักศึกษารักชาติเหล่านี้ ศูนย์การค้าสำคัญๆ ต่างพากันปิดแล้วมาเข้าร่วมกับขบวนการนักศึกษา ไปสู่การต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นในเดือนมิถุนายน อันเป็นจุดกำเนิดของการย้ายศูนย์กลางประชามติของจีน จากเดิมที่เคยขึ้นอยู่กับพวกขุนนางข้าราชการและชนชั้นผู้ดี ไปสู่กลุ่มนักศึกษา ปัญญาชน และชนชั้นแรงงาน โดยมีเป้าหมายต่อต้านจักรวรรดินิยม ทำให้บรรดานักการเมืองและฝ่ายทหารต่างพากันตื่นตะลึงถึงพลังมวลชน เป็นผลให้ซุนยัดเซ็นเล็งเห็นหนทางใหม่ และได้เริ่มนำนักศึกษาเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคก๊กมินตั๋ง (พรรคอนุรักษนิยมซึ่งภายหลังย้ายไปอยู่ในไต้หวัน หลังจากพ่ายแพ้แต่พวกคอมมิวนิสต์ในเวลาต่อมา)

ความสูญเสียที่เกิดขึ้นในรุ่งเช้าวันที่ 4 มิถุนายน 1989
ความสูญเสียที่เกิดขึ้นในรุ่งเช้าวันที่ 4 มิถุนายน 1989

กระทั่งพลังหนุ่มสาวทวีอำนาจมากขึ้นในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมตามนโยบายของท่านประธานเหมาเจ๋อตุงจนไม่อาจจะควบคุมได้ และต้องสลายกลุ่มขั้วอำนาจเหล่านี้ในบั้นปลายยุคปฏิวัติวัฒนธรรม แต่แนวความคิดทางการเมืองของหนุ่มสาวยุคใหม่เปลี่ยนไป เมื่อพวกเขาได้พบว่าการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลเผด็จการไม่อาจแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ โดยเฉพาะปัญหาปากท้อง พวกเขาต้องการสวัสดิการหลายอย่างจากรัฐ ซึ่งรัฐไม่อาจช่วยเหลือหรือจัดหาให้ได้ ท้ายที่สุดจึงพบว่ารัฐบาลจีนไม่อาจตอบสนองต่อพวกเขาได้ หากยังคงรูปแบบการปกครองเดิม อันนำไปสู่แนวคิดการเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งจบลงด้วยการนองเลือดในที่สุด

อันเป็นที่มาที่หนังเรื่องนี้ ที่พยายามจะชี้ให้เห็นถึงกระบวนการเปลี่ยนผ่านจากฝ่ายอนุรักษนิยมไปสู่ความเป็นหัวก้าวหน้าที่ต้องการปฏิรูปสังคมจีน แต่ก็ล้มเหลวในที่สุดเมื่อผู้ปกครองบ้านเมืองไม่ยอมผ่อนปรน และเลือกจะใช้อำนาจในทางรุนแรง โดยไม่เห็นแก่ชีวิตประชาชน