ThaiPublica > คอลัมน์ > สำรวจสถานการณ์คอร์รัปชันในอาเซียนจากค่า CPI 2022 กับสถานการณ์ Treading Water on Anti-Corruption

สำรวจสถานการณ์คอร์รัปชันในอาเซียนจากค่า CPI 2022 กับสถานการณ์ Treading Water on Anti-Corruption

6 กุมภาพันธ์ 2023


Hesse004

ที่มาภาพ : https://www.transparency.org/en/news/cpi-2022-highlights-insights-corruption-conflict

วันที่ 31 ม.ค. ที่ผ่านมา Transparency International ได้เผยแพร่ดัชนี Corruption Perceptions Index ประจำปี 2022 หรือ CPI 2022 ซึ่งผลการจัดอันดับค่าคะแนนความโปร่งใสยังคล้ายๆ หลายปีที่ผ่านมา กล่าวคือ ประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียยังคงครองแชมป์ดังกล่าวเช่นเดิม เพียงแต่ค่าคะแนน CPI มีเพิ่มขึ้นลดลงตามสถานการณ์คอร์รัปชันในประเทศ

ปีนี้ “เดนมาร์ก” รักษาบัลลังก์แชมป์ความโปร่งใสด้วยคะแนน 90 จากคะแนนเต็ม 100 โดยคะแนนเพิ่มจาก 88 ในปี 2021

อันดับสองเป็น ฟินแลนด์ (87) และนิวซีแลนด์ (87) ขณะที่นอร์เวย์ได้ 84 คะแนน และหนึ่งเดียวจากเอเชีย คือ “สิงคโปร์” ได้อันดับ 5 ค่า CPI 83 คะแนน

สำหรับสถานการณ์ CPI ปี 2022 ในภูมิภาคอาเซียน เราเริ่มเห็นสัญญาณบวกในการป้องกันทุจริตจากประเทศกลุ่ม CLMV ได้แก่ กัมพูชา (24) สปป.ลาว (31) เวียดนาม (42) ขณะที่เมียนมา ค่า CPI ตกลงมาอยู่ที่ 23 จาก 100 อยู่อันดับที่ 157 จากประเทศที่จัดอันดับทั้งหมด 180 ประเทศ

จุดน่าสนใจอยู่ที่ “เวียดนาม” เพราะหลายปีที่ผ่านมาตามหลังไทยเราเรื่องนี้ แต่ปีนี้เวียดนามแซงเราไปเรียบร้อย แถมคะแนนกระโดดไปถึง 42 ครองอันดับที่ 77 เท่ากับติมอร์-เลสเต ที่ปีนี้ยังรักษาฟอร์มดีเมื่อเทียบในอาเซียน โดยติมอร์ได้คะแนน 42 เท่ากับเวียดนาม

สำหรับอินโดนีเซีย (34) และฟิลิปปินส์ (33) สองประเทศนี้อยู่ในกลุ่ม “น่าผิดหวัง” ทั้งที่ต่างก็เคยมีโอกาสขยับ CPI ให้พ้นไปจากตัวเลข “หลักสาม” เข้าสู่ “หลักสี่” แต่เอาเข้าจริง พวกเขาต้องกลับมาเริ่มต้นที่โซนคะแนนสามสิบกลางๆ กันใหม่

ส่วนมาเลเซีย (47) แม้จะติดอันดับสองในภูมิภาคอาเซียนมาหลายปี แต่สถานการณ์ภาพรวมไม่ดีนัก การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หลังหมดยุค “นาจิบ ราซัก” ด้วยเรื่องอื้อฉาวอย่างกองทุน 1MDB ทำให้ภาพรวมสถานการณ์ความโปร่งใสของมาเลเซียค่อนข้างทรงๆ ไปทางทรุดมากกว่าจะดีขึ้น

ขณะที่บ้านเรา ตัวเลข 36 คะแนน อันดับ 101/180 ดีขึ้นมาเล็กน้อยจากปีกลาย ซึ่งต้องชื่นชมทุกฝ่ายที่ช่วยกันพยายามทำให้ค่า CPI ดีขึ้น

อย่างไรก็ดี หากวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา ค่า CPI สะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์ความโปร่งใสบ้านเรายัง “ย่ำอยู่กับที่” เป็นแบบนี้มานานนับสิบปี

ถึงเวลาหรือยังที่เราควรตั้งเป้าหมายและโจทย์กันใหม่ว่า เราควรลงทุนสรรพกำลังในการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันกันอย่าง “คุ้มค่า” กับงบประมาณที่เสียไป

…ผู้เขียนเชื่อว่าคนอยู่ “หน้างาน” ย่อมเข้าใจข้อจำกัดของการทำงานด้านนี้ เพียงแต่ หากไม่โลกสวยจนเกินไป เราต้องยอมรับความจริงได้แล้วว่า ที่ผ่านมา เราต่อต้านทุจริตกันไปไม่ถึงไหน

ดูจากสถิติ 10 ปีย้อนหลัง (2013-2022) ค่าเฉลี่ย CPI ประเทศไทยอยู่ที่ 36.2 คะแนน

ทั้งนี้ หากวิเคราะห์ประเทศที่ได้ CPI เพิ่มขึ้น ปัจจัยสำคัญที่สุด คือ ลงมือทำจริง เอาจริงเอาจังกับการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะการปราบทุจริตที่ไม่ใช่แค่ทำท่าทีขึงขัง ตีโวหารไปวันๆ หรือทำแบบพอเป็นพิธี หรือเลือกปฏิบัติเฉพาะบางกรณี

ในมุมมองสากล… ประเทศที่ขยับค่าดัชนี CPI สูงขึ้นนั้น มีปัจจัยสำคัญอยู่ห้าประการ ได้แก่

  • หนึ่ง…ปฏิรูปการจัดซื้อจัดจ้าง เน้นนำ e-procurement มาใช้ เพื่อสร้างความโปร่งใส
  • บ้านเราทำมานานแล้ว และสังคายนากฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างใหม่มาตั้งแต่ปี 2560 แต่สถานการณ์ความโปร่งใสยังเท่าเดิม ยังมีเรื่องร้องเรียนตั้งแต่ล็อกสเปก ซื้อของแพง ฮั้วประมูล ตรวจรับงานเป็นเท็จ รวมถึงไม่ได้ใช้ประโยชน์พัสดุที่ซื้อจ้างมา… การใช้ e-bidding เต็มไปด้วยกฎระเบียบหยุมหยิม เน้นตีความตัวอักษรจนทำให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างขาดความคล่องตัว หนำซ้ำยังก่อปัญหาได้ของถูกแต่ราคาแพงกลับมาอีก

  • สอง…เพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการกำหนดนโยบายและการตัดสินใจของรัฐบาล
  • ประเด็นนี้บ้านเราก็ทำแล้ว แต่การเกาะติดแบบ policy watch คงมีไม่มากพอ ส่วนใหญ่เกาะติดนโยบายแบบ “ไฟไหม้ฟาง” หรือโหนกระแสมากกว่าจะลึกซึ้งจริงจัง แถมยังโยงเป็นประเด็นการเมืองเสียอีก

  • สาม…การสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน
  • วันนี้รัฐได้สรรงบประมาณผ่านงบบูรณาการ ทั้งวางเป็นยุทธศาสตร์ชาติ การสร้างความเข้มแข็งเหล่านี้สะท้อนจากการทำงานร่วมกัน ภาษาราชการเรียก “บูรณาการ” ภาษาปราบปรามเรียก “สนธิกำลัง” แต่จนแล้วจนรอด ความเข้มแข็งของการปราบปรามคอร์รัปชันยังไม่ได้ช่วยสถานการณ์ความโปร่งใสในประเทศดีขึ้นแต่อย่างใด

  • สี่…การเคลื่อนไหวของกลุ่มสื่อ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน
  • ปัจจัยนี้เป็นปัจจัยที่มีความกระตือรือร้น “มากที่สุด” โดยส่วนตัวผู้เขียนชื่นชมบทบาทของ ACT สำนักข่าวอิศรา, สำนักข่าว Thaipublica, เพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน, คอลัมน์หมายเลข 7 ที่เสนอข่าวต่อต้านทุจริตมาโดยตลอด รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลรับส่วยต่างๆ ของวงการตำรวจที่คุณชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ออกมาแฉ

    นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังรวมตัวกันในรูปของ “สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย” หรือ Thai-IOD ที่ขับเคลื่อนเรื่องต่อต้านการจ่ายสินบนของภาคเอกชนมานานนับสิบปี…นับเป็นความเข้มแข็งที่น่าชื่นชม

    ทุกวันนี้ เกือบทุกเรื่องฉาวในประเทศไทยถูกแฉโดยสื่อและภาคประชาชน

    “การแฉ” ล้วนมีต้นทุน โดยเฉพาะต้นทุนความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน เช่นเดียวกับสื่อที่เป็น investigative journalism มีส่วนสำคัญต่อการให้ข้อมูลและข้อเท็จจริง รวมทั้งสติปัญญากับสังคม

  • ห้า…ความตั้งใจจริงของรัฐ และการบังคับใช้กฎหมายจริงจัง (political will and law enforcement)
  • เขียนมาถึงตรงนี้ คำว่า political will and law enforcement ผู้เขียนคงไม่ต้องขยายความอะไรมากนัก เพราะจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในวันนี้… ถ้ามี political will กับ law enforcement จริง ค่าเฉลี่ย CPI ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาคงขยับมากกว่า 36.2

    …ผู้เขียนนึกถึงสำนวนฝรั่งคำหนึ่งซึ่งอธิบายการแก้ปัญหาคอร์รัปชันบ้านเราได้ดี

    สำนวนที่ว่า คือ ะreading water หรือ “พยุงตัวอยู่ในน้ำ” ประคับประคองไม่ให้จมไปมากกว่านี้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ดีขึ้น หรือก้าวหน้าพัฒนาขึ้น

    ตัวเลข CPI ปี 2022 คงสะท้อนภาพ treading water on anti-corruption ของบ้านเราได้เป็นอย่างดี