ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เวียดนามส่งออกพลังงานลมให้สิงคโปร์

ASEAN Roundup เวียดนามส่งออกพลังงานลมให้สิงคโปร์

12 กุมภาพันธ์ 2023


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 5-11 กุมภาพันธ์

  • เวียดนามส่งออกพลังงานลมให้สิงคโปร์
  • เวียดนามจะมีสนามบิน 30 แห่งภายในปี 2573
  • รัฐบาลลาวเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ
  • เงินเฟ้อลาวเดือนม.ค.พุ่งแตะระดับสูงสุดใหม่ 40.3%
  • ลาวกำหนดมาตรการหนุนภาคเกษตร ป่าไม้
  • เวียดนามส่งออกพลังงานลมให้สิงคโปร์

    ที่มาภาพ: https://www.ptsc.com.vn/en-US/news/ptsc-news-1/operating-news/ptsc-and-scu-presented-the-joint-development-agreement-jda-for-export-of-electricity-to-singapore-from-offshore-renewable-sources-in-vietnam
    เวียดนามจะส่งออกพลังงานลมไปยังสิงคโปร์ภายใต้ข้อตกลงการพัฒนาร่วมกันที่ทำขึ้นระหว่างธุรกิจของทั้งสองประเทศในวันศุกร์(10 ก.พ.) ระหว่างการเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการเป็นเวลา 3 วันของนายกรัฐมนตรีเวียดนามฝ่าม มิงห์ จิ๋ง ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง สิงคโปร์

    ข้อตกลงนี้ลงนามและแลกเปลี่ยนระหว่าง PetroVietnam Technical Services Corporation (PTSC) ของเวียดนาม และ Sembcorp Utilities ภายใต้ Sembcorp Industries ของสิงคโปร์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโซลูชันด้านพลังงานและเมืองชั้นนำ หลังจากการพบปะระหว่างนายกรัฐมนตรีเวียดนามฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ และนายโต้ว เฮง ตัน รองประธานของ Sembcorp Industries

    “นายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง และผมได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับเวียดนามที่สามารถจัดหาไฟฟ้า 4,000 เมกะวัตต์ให้กับสิงคโปร์ในอนาคตผ่านการสร้างสายส่งไฟฟ้าในทะเลเวียดนามตะวันออก” นายกรัฐมนตรีจิ๋งห์กล่าวกับนายโต้ว โดยอ้างถึงการพูดคุยของเขากับนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ หนึ่งวันก่อนหน้านี้

    นายโต้ว แจ้งถึงความต้องการที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเวียดนามสำหรับแผนความร่วมมือระหว่าง Sembcorp และ PTSC ในการดำเนินโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่งในเวียดนามและส่งออกพลังงานสีเขียวนี้ไปยังสิงคโปร์

    นายกรัฐมนตรีจิ๋งห์ เน้นย้ำถึง การสนับสนุนความพยายามของ Sembcorp ในการพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนในเวียดนาม รวมถึงแผนความร่วมมือดังกล่าวระหว่างกลุ่มบริษัทและ PTSC

    “เรามุ่งมั่นที่จะทำสิ่งนี้ด้วยจิตวิญญาณของการประสานผลประโยชน์และแบ่งปันความเสี่ยง” ผู้นำรัฐบาลเวียดนามกล่าว

    นายกรัฐมนตรีจิ๋งห์เน้นย้ำว่า นักลงทุนในโครงการดังกล่าวสามารถรายงานปัญหาอุปสรรคที่เผชิญระหว่างการดำเนินโครงการผ่านช่องทางต่างๆ แม้กระทั่งรายงานถึงตัวนายกฯโดยตรงเพื่อหาทางแก้ไข

    นายกรัฐมนตรีจิ๋งห์กล่าววา Sembcor ตัดสินใจที่ถูกต้องที่เลือก PTSC เป็นหุ้นส่วน เนื่องจากบริษัทมีประสบการณ์และความสามารถในการพัฒนาโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่ง

    หากข้อตกลงการพัฒนาร่วมกันประสบความสำเร็จ ก็จะเป็นข้อพิสูจน์ถึงความร่วมมือของทั้งสองประเทศ ซึ่งมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างรากฐานสำหรับการสร้างความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจดิจิทัลสีเขียวที่เวียดนามและสิงคโปร์ตั้งเป้าไว้ นายกรัฐมนตรีกล่าว

    นอกจากข้อตกลงแล้ว กลุ่มจะยังคงส่งเสริมการดำเนินงานในเวียดนาม รวมถึงโครงการ Vietnam-Singapore Industrial Park (VSIP) รองประธาน Sembcorp กล่าว และยังเสนอข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีจิ๋งห์เกี่ยวกับการแก้ไขและปรับปรุงกฎหมายที่ดิน

    Sembcorp Industries ลงทุนในเวียดนามผ่าน Sembcorp Utilities ในภาคพลังงาน และผ่านบริษัทในเครืออีกแห่งคือ Sembcorp Development ในด้านโครงสร้างพื้นฐานของสวนอุตสาหกรรมและอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

    นอกจากนี้ ในเช้าวันศุกร์ นายกรัฐมนตรีจิ๋งห์ได้พบปะตัวแทนจากธุรกิจต่างๆ ของสิงคโปร์ รวมถึง United Overseas Bank, Surbana Jurong Group, Temasek Corporation และ Keppel Corporation เป็นต้น

    ในการพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีลี เซียนลุงเมื่อวันพฤหัสบดี ผู้นำทั้งสองได้หารือเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมความสัมพันธ์หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างทั้งสองประเทศในทุกสาขา

    รวมทั้งยังได้เป็นสักขีพยานในการลงนามในเอกสารความร่วมมือต่างๆ รวมถึง MoU เกี่ยวกับการจัดตั้งหุ้นส่วนเวียดนาม – สิงคโปร์เกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

    เวียดนามจะมีสนามบิน 30 แห่งภายในปี 2573

    ที่มาภาพ: https://www.phuquocislandexplorer.com/travel-news/phu-quoc-international-airport.html
    เวียดนามจะมีสนามบินทั้งหมด 30 แห่งภายในปี 2573 โดยที่ 14 แห่งรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ ภายใต้ร่างแผนการพัฒนาที่สำนักงานการบินพลเรือนเวียดนามได้ยื่นต่อกระทรวงคมนาคมเมื่อไม่นานนี้

    สนามบินนานาชาติ ได้แก่ วัน ด่อง, ก๊าตบี, โหน่ยบ่าย, เถาะซวน , วินห์, ฟู้บ่าย, ดานัง, จูไล, กามซัญ, เลียนเคือง,ล็องถั่ญ, เตินเซินเญิ้ต ,เกิ่นเทอ และ ฟูโกว๊ก

    สนามบิน 14 แห่งที่ให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศเท่านั้น ได้แก่ ลายเจิว,เดียนเบียน, ซาปา, น่าซาน, ด่งฮอย,กว่างจิ, ฟูกัต, ตวีฮวา, เปลกู, บวนมาทวด , ฟานเที้ยต, สักซ้า , ก่าเมา และ กงด๋าว

    ท่าอากาศยานทหาร 2 แห่ง ได้แก่ แทงห์ เชินและเบียนฮวา จะถูกดัดแปลงเพื่อใช้สำหรับวัตถุประสงค์ทางการทหารและพลเรือน

    ร่างแผนงานยังคงมีโครงการสนามบินนานาชาติไฮฟอง ซึ่งได้รับการอนุมัติตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีหมายเลข 640/QD-TTg ลงวันที่ 28 เมษายน 2554

    ภายในปี 2593 เวียดนามคาดว่าจะมีสนามบิน 33 แห่ง รวมถึงสนามบินนานาชาติ 14 แห่ง สนามบินภายในประเทศ 19 แห่ง และสนามบินแห่งที่สองทางตะวันออกเฉียงใต้ ตอนใต้ของฮานอย

    สำนักงานการบินพลเรือนเวียดนาม จะดำเนินการศึกษา สำรวจ และประเมินความเป็นไปได้ต่อไป ในการแปลงสนามบินทหารที่มีอยู่บางแห่งให้เป็นสถานที่ใช้งานได้ทั้งสองวัตถุประสงค์ รวมทั้งสนามบิน เอียนบ๊าย ในจังหวัด เอียนบ๊าย และสนามบิน เกียลัม ในกรุงฮานอย การปรับเปลี่ยนจะรายงานต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเมื่อผลศึกษาเป็นไปตามเงื่อนไขที่จำเป็นทั้งหมด

    ร่างแผนนี้สะท้อนถึงการเปิดกว้างของสำนักงานการบินพลเรือนเวียดนาม ต่อสนามบินพลเรือนแห่งใหม่

    สำนักงานการบินพลเรือนเวียดนามเสนอให้ดำเนินการศึกษา สำรวจ และประเมินความเป็นไปได้ในการสร้างสนามบินในจังหวัดที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งสำคัญด้านการป้องกันและความมั่นคงและมีศักยภาพในการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว แต่ยังไม่มีสนามบินทหาร ได้แก่ ฮาซาง,
    เตวียนกวาง,ห่าติ๋ญ, กอนตูม, กว๋างหงาย, บิ่ญถ่วน, คั้ญฮหว่า, ดั๊กนง และ เต็ยนิญ

    The Transport Engineering Design Incorporated (TEDI) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านการวางแผนพัฒนาสนามบินแห่งชาติ เสนอว่าสนามบินล็องถั่ญ สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 25 ล้านคนต่อปีภายในปี 2573 และจะเพิ่มเป็น 100 ล้านคนภายในปี 2593 ขณะที่สนามบินเตินเซินเญิ้ตจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 50 ล้านคนต่อปี

    สนามบินเบียนฮวาคาดว่าจะรองรับผู้โดยสารได้ 5 ล้านคนต่อปีภายในปี 2573 และเพิ่มเป็น 10 ล้านคนภายในปี 2593

    รัฐบาลลาวเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ

    นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีสปป.ลาว ที่มาภาพ:https://www.vientianetimes.org.la/sub-new/Previous_27_y23/freeContent/FreeConten27_govtpledges_y23.php
    รัฐบาลได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดการกับความท้าทายที่ลาวเผชิญอยู่ และทำงานอย่างแข็งขันมากขึ้นเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น

    ข้อสั่งการดังกล่าวมีขึ้นในระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีประจำเดือนซึ่งสิ้นสุดในวันอังคาร(6 ก.พ.) โดยมีนายกรัฐมนตรี ดร.สอนไซ สีพันดอน เป็นประธาน และมีรองนายกรัฐมนตรีและสมาชิกคณะรัฐมนตรีคนอื่นๆ เข้าร่วม

    นายกรัฐมนตรีสอนไซขอให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องหาวิธีที่มีประสิทธิภาพในการจัดการกับความเปราะบางของเศรษฐกิจมหภาค ควบคู่ไปกับความพยายามในการปรับปรุงมาตรฐานการครองชีพของประชาชน

    อัตราเงินเฟ้อปีต่อปีในลาวพุ่งขึ้นสู่ 40.3% ในเดือนมกราคม สูงสุดในรอบ 23 ปี ตามรายงานล่าสุดจากสำนักงานสถิติลาว

    คณะรัฐมนตรีเห็นชอบที่จะสร้างแหล่งรายได้ใหม่ ปรับปรุงการจัดเก็บรายได้ให้ทันสมัย ​​และอุดช่องโหว่ที่ทำให้เกิดการรั่วไหลทางการเงิน
    นางทิพพากอน จันทะวงสา โฆษกรัฐบาล กล่าวในการแถลงข่าวหลังปิดการประชุม

    รัฐบาลมุ่งเน้นการรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราและควบคุมราคาสินค้าที่ขายในตลาด นอกจากนี้ รัฐบาลจะสร้างเสริมสร้างทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ และส่งเสริมการใช้เงินกีบให้มากขึ้น รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้ผลิตปลูกพืชเพื่อการส่งออกมากขึ้น

    นางทิพากอนกล่าวว่า รัฐบาลจะจัดหาเงินทุนเพิ่มเติมเพื่อชำระหนี้ พร้อมนยันว่าจะไม่มีวันปล่อยให้ประเทศผิดนัดชำระหนี้

    ในระหว่างการประชุม สมาชิกคณะรัฐมนตรียังเห็นชอบในการปรับปรุงบริการและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการสร้างถนนเข้าสู่สถานที่ท่องเที่ยวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะหลั่งไหลเข้ามา

    รัฐบาลให้คำมั่นว่าจะทำงานร่วมกับภาคเอกชนในการปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยวและยกระดับบริการรถไฟ เพื่อให้การขนส่งผู้โดยสารและสินค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น

    นางทิพพากอน กล่าวว่า รัฐบาลจะเร่งปรับปรุงบรรยากาศการลงทุน และผลักดันการดำเนินโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาล

    ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งในวาระการประชุมคือมาตรฐานทักษะการทำงาน โดยรัฐบาลกระตือรือร้นที่จะปรับปรุงคุณภาพของแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของนายจ้างในปัจจุบัน

    ที่ประชุมประจำเดือนของรัฐบาลได้รับรองเอกสารสำคัญ 5 ฉบับ เพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่รัฐบาลกำหนด โดยเอกสารฉบับแรกเป็นรายงานเกี่ยวกับความสำเร็จที่โดดเด่นของรัฐบาลในเดือนมกราคมและแผนสำหรับเดือนกุมภาพันธ์
    ฉบับที่สองคือ กฎหมายกองทุนพัฒนาอาชีวศึกษา ข้อที่สาม มติการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพเพื่อตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศในยุคปัจจุบัน และข้อสี่ กฎหมายเกี่ยวกับค่าปรับและโทษอื่นสำหรับความผิดเกี่ยวกับมาตรฐานและระเบียบการวัด และฉบับที่ห้าคือ กฎหมายเกี่ยวกับสินค้าปลอดอากรและร้านค้า

    เงินเฟ้อลาวเดือนม.ค.พุ่งแตะระดับสูงสุดใหม่รอบ 23 ปี

    ที่มาภาพ: https://www.golaos.tours/top-3-vibrant-markets-laos/
    อัตราเงินเฟ้อปีในลาวพุ่งขึ้นสู่ 40.3% ในเดือนมกราคม เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 23 ปี ตามรายงานล่าสุดจากสำนักงานสถิติลาว

    รัฐบาลพยายามควบคุมต้นทุนสินค้าและบริการที่สูงขึ้น แต่ราคาไม่มีทีท่าว่าจะลดลง

    ลาวมีอัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย ทำให้ประชาชนสงสัยว่าเมื่อไรที่ดัชนีราคาผู้บริโภคจะถึงจุดสูงสุดและจะกลับสู่ระดับที่จัดการได้หรือไม่

    จากข้อมูลของสำนักสถิติลาว อัตราเงินเฟ้อจะยังคงเป็นเลขสองหลักในไตรมาสแรกและไตรมาสที่สองของปีนี้ แต่มาตรการของรัฐบาลในการควบคุมราคาสินค้าและบริการอาจให้ผลในเชิงบวกในไม่ช้า จึงคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงในปลายปีนี้

    การอ่อนค่าของเงินกีบเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินบาท และราคาน้ำมันที่พุ่งสูงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้สินค้าที่ซื้อจากประเทศเพื่อนบ้านมีราคาสูงขึ้น ราคาเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้นทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เนื่องจากเครื่องจักร น้ำมัน อาหารสัตว์และปุ๋ยต้องนำเข้าในราคาที่สูงขึ้นต่อเนื่อง

    ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าที่คาดตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้วอยู่ที่ 12.81% ก่อนจะไต่ระดับเป็น 23.61% ในเดือนมิถุนายน ร้อยละ 25.62% ในเดือนกรกฎาคม 30.01% ในเดือนสิงหาคม 34.05% ในเดือนกันยายน 36.75% ในเดือนตุลาคม 38.46% ในเดือนพฤศจิกายน และ 39.27% ในเดือนธันวาคม

    นี่อาจเป็นอัตราเงินเฟ้อที่เลวร้ายที่สุดที่ลาวประสบนับตั้งแต่วิกฤติการเงินในเอเชียในปี 2540-2541 โดยเงินกีบมูลค่าลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับเงินบาทและดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2540 ถึงมิถุนายน 2541 เงินกีบมูลค่าลดลง 70% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ ตามรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ( International Monetary Fund-IMF)

    “เงินกีบลาว เนื่องจากมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับเงินบาท จึงมีความเสี่ยงเป็นพิเศษต่อความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนในภูมิภาค” ไอเอ็มเอฟระบุ

    “หลังจากเกิดวิกฤติในภูมิภาค การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในลาวลดลง 91% ในปี 2540 และกระแสเงินสดที่แท้จริงลดลง 41%” วิกฤติการเงินในเอเชียส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อลาวจนถึงปี 2543 โดยอัตราเงินเฟ้อปีต่อปีพุ่งสูงถึง 75.75% ในเดือนมกราคม 2543 ก่อนจะลดลงเหลือ 58.74% ในเดือนกุมภาพันธ์ 45.39% ในเดือนมีนาคม 34.87% ในเดือนเมษายน และ 31% ในเดือนพฤษภาคม

    รัฐบาลได้ให้คำมั่นว่าจะดูแลทางเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างน้อย 4.5% ​​ในปี 2566 ในขณะที่จะคุมเงินเฟ้อไว้ที่ 9% ธนาคารแห่งสปป.ลาว (BOL) ได้ประกาศว่าจะคุมเข้มอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา และในช่วงกลางเดือนมกราคมได้สั่งให้หน่วยแลกเปลี่ยนเงิน 113 แห่งในเครือธนาคารให้ยุติการให้บริการ ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อคุมเข้มอัตราแลกเปลี่ยน

    ลาวกำหนดมาตรการหนุนภาคเกษตร ป่าไม้

    นายกรัฐมนตรีลาวได้กำหนดมาตรการหลัก ได้กำหนดมาตรการหลักเพื่อเสริมสร้างการพัฒนาภาคการเกษตร ป่าไม้ และชนบท โดยเน้นย้ำว่าการผลิตภาคเกษตรต้องกลายเป็นจุดที่ต้องให้ความสำคัญและมุ่งเน้นของการพัฒนาเพื่อสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

    นายกรัฐมนตรี สอนไซ สีพันดอน ได้ให้คำแนะนำแก่เจ้าหน้าที่ ระหว่างเป็นประธานการประชุมประจำปีของทั้งสามภาคส่วนในวันพุธ(8 ก.พ.) พร้อมเน้นประเด็นสำคัญๆ เพื่อให้แน่ใจว่ามีการเปลี่ยนผ่านในเชิงบวกของภาคส่วนที่สำคัญนี้

    ข้อแรก นายกรัฐมนตรีให้ข้อแนะนำว่า โครงการความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ ต้องเชื่อมโยงกับการประเมินและขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ที่แท้จริงของกิจกรรมที่ดำเนินการจนถึงตอนนี้

    โครงการต้องมั่นใจว่ามีการผลิตอาหารเพียงพอ มีการเข้าถึงการขนส่งที่เพียงพอระหว่างจังหวัดและอำเภอ การที่ผู้คนรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการในราคาที่จับต้องได้ และการผลิตอาหารนั้นมีเสถียรภาพและสามารถทนต่อสภาพอากาศและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้

    ข้อสอง ควรปลูกพืชเพื่อการบริโภคในประเทศและการส่งออกให้มากขึ้น เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้นและมีมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้น

    นอกจากนี้ควรปลูกพืชให้มากขึ้นเพื่อลดความต้องการนำเข้าผลผลิต อีกทั้ง ธนาคารและผู้จัดหาสินเชื่อรายอื่น ๆ ควรทำงานร่วมกันเพื่อให้แน่ใจว่ามีตลาดที่มั่นคงสำหรับสินค้าเกษตร ในขณะที่ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่เกษตรกรและสร้างเงื่อนไขที่เอื้อต่อการบริโภคและการใช้ผลิตผลที่ปลูกในลาวที่มีคุณภาพสูง ราคาไม่แพง และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในภาคการท่องเที่ยว

    ข้อสาม ในการฟื้นฟูและขยายพื้นที่ป่า ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญในการจัดการป่าไม้อย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ระบบนิเวศและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนได้รับผลกระทบ

    ข้อนี้เป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันภัยแล้งและน้ำท่วมอย่างรุนแรง และเพื่อให้แน่ใจว่ามีแหล่งน้ำเพียงพอสำหรับการเพาะปลูกพืช นายกรัฐมนตรีกล่าว

    ข้อสุดท้าย เนื่องจากการพัฒนาชนบทมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับการขจัดความยากจน การผลิตภาคเกษตรจะต้องเป็นศูนย์กลางของความพยายามในการพัฒนา และควรรับประกันความยั่งยืนในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

    นายกรัฐมนตรียังแนะนำให้จัดกลุ่มการผลิตที่สามารถรวบรวมด้านเทคนิคของการผลิตพร้อมกับด้านการเงินและการตลาดและการจัดหาเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ