ThaiPublica > คอลัมน์ > นิตยสารตายแล้วจริงหรือ จากข้อมูลดูเหมือนไม่เป็นเช่นนั้น

นิตยสารตายแล้วจริงหรือ จากข้อมูลดูเหมือนไม่เป็นเช่นนั้น

4 มกราคม 2023


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

ท่ามกลางการกล่าวว่า นิตยสารตายแล้ว ราวกับเป็นความจริง แต่เมื่อพิจารณาจากข้อมูล ดูเหมือนจะไม่เป็นเช่นนั้น

ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีจำนวนนิตยสารราว 7,416 หัวในปี 2020 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่มีอยู่ 7,357 แบรนด์ ในประเทศไทยและสถานการณ์ทั่วโลกเอง แม้ว่าจำนวนสื่อสิ่งพิมพ์บางส่วนจะลดลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่เมื่อทบทวนดูแล้วก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องตื่นตระหนก และเมื่อพิจารณาข้อมูลโดยรอบแล้วยิ่งพบว่า คำกล่าวที่ว่า นิตยสารตายแล้ว นั้นเป็นมายาคติ มีสาเหตุหลายประการที่ทำให้งานพิมพ์ยังคงอยู่และจะไม่จากเราไปในเร็วๆ นี้

ปฏิเสธไม่ได้ว่า นิตยสารหลายหัวในบ้านเราเริ่มล้มหายตายจาก แต่ข้อเท็จจริงที่ว่า นิตยสารตายแล้ว อาจทำให้เราสับสนว่า เราไม่ควรสนับสนุนงานพิมพ์เกิดใหม่ด้วยหรือไม่ หนึ่งในปัจจัยที่นอกเหนือจากความเร็วในการเข้าถึงข้อมูลโดยไม่มีค่าใช้จ่าย คือ ความไว้วางใจและความเหนื่อยล้าทางประสบการณ์การอ่านผ่านดิจิทัล สิ่งนี้เองช่วยให้งานพิมพ์มีชีวิตชีวา

ผู้บริโภคสื่อสิ่งพิมพ์มองว่า สำนักข่าวออนไลน์จำนวนไม่น้อยกำลังเผชิญหน้ากับปัญหา fake news ต่อเนื่อง ช่องทางสื่อแบบดั้งเดิมดูจะมอบความน่าเชื่อถือมากกว่า ด้วยเงื่อนไขของระยะเวลาในการตีพิมพ์ที่มีมากกว่าสื่อออนไลน์ ระยะเวลานี้นำมาซึ่งการตรวจสอบความกังวลเกี่ยวกับข่าวปลอมและการโพสต์ การแชร์สิ่งต่างๆ ที่ในทางออนไลน์สะดวกรวดเร็วมากเท่าใด ก็แลกมาด้วยโอกาสที่ข่าวนั้นๆ จะเป็นข่าวปลอมมากขึ้นเท่านั้น

จากการสำรวจของ Two Sides พบว่า นิตยสารสิ่งพิมพ์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นแหล่งข่าวเดียวที่น่าเชื่อถือที่สุด การสำรวจพบว่า 86% ของผู้ตอบแบบสอบถามชอบนิตยสารแบบตีพิมพ์มากกว่า และอีก 63% เห็นว่า การอ่านข่าวในสิ่งพิมพ์ทำให้พวกเขาเข้าใจเรื่องราวได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

เหตุผลหลักอีกประการหนึ่งที่ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าสามารถไว้วางใจงานพิมพ์ได้ก็คือ การพิมพ์นั้นทำให้ผู้อ่านสามารถจดจำเนื้อหาได้มากยิ่งขึ้น สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับการจับต้องได้ของผลิตภัณฑ์กระดาษ เมื่อผู้อ่านถือและพลิกหน้ากระดาษไปพร้อมๆ กับการอ่านควบคู่กัน

บางคนอาจคิดว่า ประชากร Gen Z และคนรุ่นหลังจะไม่มีสัญชาตญาณในการอ่านสิ่งพิมพ์ และตั้งสมมติฐานว่า สิ่งนี้จะทำให้งานพิมพ์ลดลง อย่างไรก็ตาม จากงานศึกษาไม่สนับสนุนการคาดเดานี้ อันที่จริง Gen Z ยังคงใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงทุกสัปดาห์ในการอ่านนิตยสาร

นอกจากนี้ ผลการศึกษาที่เผยแพร่บน Walsworth ยังพบว่า 61% ของคนอายุ 18-23 ปีเกิดความเหนื่อยล้าในการอ่านงานพิมพ์บนสื่อดิจิทัล

นอกจากนี้ สิ่งพิมพ์ยังไม่ตาย หากโฆษณาบนสิ่งพิมพ์ยังเป็นเรื่องจำเป็น พูดอีกนัยหนึ่งคือ เราต้องรอการจากไปของโฆษณาบนสิ่งพิมพ์ก่อน แม้การสื่อสารบนโลกดิจิทัลจำนวนมากจะเกิดขึ้นตลอดหลายปีมานี้ จนทำให้บรรรดาบริษัทผลิตนิตยสารล้วนแล้วต้องปรับตัว แต่เว็บไซต์ Perfect Communications พบว่า 68% ของผู้บริโภคบอกว่า พวกเขาไม่สนใจโฆษณาออนไลน์

ในขณะที่ผู้คนมากกว่า 50% ยอมรับว่าพวกเขาพยายามหลีกเลี่ยงโฆษณาออนไลน์ในทุกกรณี โดยเฉพาะโฆษณาป๊อปอัพออนไลน์เป็นรูปแบบโฆษณาที่ไม่พึงประสงค์ที่สุด ยิ่งไปกว่านั้น 82% ของคนอเมริกันกล่าวว่า พวกเขาเชื่อมั่นในโฆษณาสิ่งพิมพ์บนนิตยสาร และเมื่อตัดสินใจซื้อ ผู้บริโภคจะเชื่อถือโฆษณาสิ่งพิมพ์มากกว่า 34% ที่พวกเขาเชื่อถือโฆษณาบนเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย

เมื่อถึงเวลาต้องตัดสินใจซื้อ ผู้ซื้อเกือบทั้งหมดกล่าวว่า ตนชอบการตลาดสิ่งพิมพ์ นอกจากนี้ ผู้บริโภคจำนวนมากยังมีแนวโน้มที่จะให้ความสนใจกับงานพิมพ์มากกว่า และจะจดจำได้เป็นระยะเวลานานกว่า

เนื่องจากความอ่อนล้าในการเสพเนื้อหาบนโลกดิจิทัลและการเอาตัวเองหมุนรอบอินเทอร์เน็ตมากขึ้น สถิติข้างต้นดูจะโต้แย้งคำกล่าวที่ว่า นิตยสารตายแล้ว

เมื่อสำรวจนิตยสารเกิดใหม่กว่า 60 ฉบับในช่วงเวลาที่ผ่านมาในสหรัฐอเมริกา พบว่างานพิมพ์ที่ตายแล้วคืองานพิมพ์ที่ล้วนแล้วยอมปรับตัวให้แพลตฟอร์มดิจิทัล จากนิตยสารรายสัปดาห์ หรือรายเดือน กลายเป็นสำนักข่าวรายวัน จากทีมงานที่เชี่ยวชาญในการอ่านเขียน กลายเป็นทีมงานที่ต้องเชี่ยวชาญรอบด้าน ทั้งงานพูดบนพอดแคสต์ งานพิธีกรในรายการออนไลน์ กระทั่งงานตัดต่อวิดีโอประกอบบทความ สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุผลที่ใกล้เคียงกับการกลับคืนสู่ตลาดของวงการเทปแคสเซตต์และแผ่นเสียง คือ การปรับตัวดังกล่าวทำให้โลกนิตยสารสูญเสียเสน่ห์บางประการที่เคยมี เราจึงพบว่า นิตยสารเกิดใหม่และอยู่ได้แทบทั้งหมดล้วนเป็นนิตยสารที่เจาะกลุ่มวัฒนธรรมย่อยและมีเนื้อหาที่เฉพาะเจาะจง ทั้งยังให้คุณค่ากับงานพิมพ์เชิงคุณภาพ ทั้งกระดาษ ปก การจัดรูปเล่ม รูปภาพภายใน ตลอดจนคุณภาพงานเขียนที่ลึกซึ้ง นิตยสารในโลกปัจจุบันที่ยังคงอยู่จึงอยู่ในสถานะ 2 บทบาท หนึ่งคือการเป็นของสะสม สองคือแฟชั่นที่มาพร้อมกับการแต่งตัว การถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย และการประกอบสร้างตัวตนของคนๆ หนึ่ง

จากการสำรวจของ Andy Meek นักเขียนอาวุโสประจำ Forbes ยังพบว่า ท่ามกลางยุคโควิด-19 ผู้คนต้องติดอยู่กับบ้าน และถูกจู่โจมด้วยข่าวเลวร้ายบนอินเทอร์เน็ตตลอดทุกวินาที สิ่งนี้ทำให้เรามองหาการพักผ่อน เป็นเหตุให้ในปีที่เลวร้ายแห่งโรคระบาด สหรัฐอเมริกามีนิตยสารน่าสนใจเกิดใหม่มากกว่า 60 ฉบับ

โอกาสยังเป็นของคนผู้แสวงหาและเชื่อมั่น ตลาดโลกนิตยสารในปัจจุบันอาจไม่ได้อยู่บนการแข่งขันในสนามเดียวกับนิตยสารออนไลน์บนโลกอินเทอร์เน็ต แต่คือการแข่งขันกับตัวเองในการดำรงไว้ซึ่งเนื้อหาคุณภาพที่ผ่านการคัดกรองมาอย่างดี ศิลปกรรมในฐานะงานศิลปะสะสม และกิจกรรมนันทนาการที่ผู้คนซึ่งเหนื่อยล้าจากแพลตฟอร์มดิจิทัลนึกถึง