ThaiPublica > คอลัมน์ > City of Ghosts จากกลุ่มเด็กตามหาผี สู่การค้นพบจิตวิญญาณของชุมชน

City of Ghosts จากกลุ่มเด็กตามหาผี สู่การค้นพบจิตวิญญาณของชุมชน

29 เมษายน 2021


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/City_of_Ghosts

หลังโลกการ์ตูนตะวันตกของผมถูกปิดไปตอนครอบครัวถอด UBC ออก คุณแฟนผู้ชื่นชอบการดูการ์ตูนได้เปิดโลกใบนี้ขึ้นมาอีกครั้งผ่าน Netflix เริ่มตั้งแต่ Over The Garden Wall การ์ตูนผจญภัยในมิติพิศวง, The Amazing World of Gumball และ Close Enough รวมถึงช่วงที่ผ่านมากับ Clarence กลุ่มเพื่อนซี้ที่ใช้ชีวิตวัยเด็กสุดโลดโผน

ท่ามกลางกระแสการเหยียดและทำร้ายชาวเอเชียที่โหมกระหน่ำจากหลายมุมทั่วโลก มีการ์ตูนเรื่องหนึ่งที่ชวนสำรวจประเด็นดังกล่าวผ่านสายตาแหลมคม ผมอยากแนะนำให้รู้จักกับแอนิเมชันเน็ตฟลิกซ์ที่เพิ่งได้ดูไป

Welcome to The Ghost Club!

ความชุลมุนเกิดขึ้นหลายแห่งในเมือง LA มีเด็กกลุ่มหนึ่งเชื่อว่านี่คือฝีมือของผี สถานการณ์วุ่นวายนี้ทำให้พวกเขาออกสำรวจปัญหาผ่านการทำรายการสารคดี สัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งบทสนทนาและการผจญภัยพาคนดูไปรู้จักประวัติศาสตร์ความหลากหลายในลอสแอนเจลิส

City of Ghosts คือผลงานแอนิเมชันเรื่องล่าสุดของ Elizabeth Ito นักเขียนและผู้กำกับวัย 41 ปี ผู้คร่ำหวอดในวงการการ์ตูนกว่าทศวรรษครึ่ง เล่าเรื่องเมือง LA ที่เธอเติบโตผ่านสายตาของ Zelda เด็กผู้หญิงผิวสี ผู้ดำเนินรายการใน Ghost Club ซีรีส์เน็ตฟลิกซ์ซีซันแรกจำนวน 6 ตอน ตอนละ 18 นาที ที่ชวนรู้จักเรื่องราวของคนธรรมดาผ่านดวงวิญญาณ

ตลอดความยาว 18 นาที City of Ghosts เล่าความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ซุกซ่อนอยู่ในเมืองผ่านย่านร้านอาหารญี่ปุ่น, กลุ่มสเกตบอร์ด เวนิซ เมืองริมทะเล, เลอเมิร์ตพาร์ก กับประวัติศาสตร์แจ๊ส, โคเรียทาวน์ และคนพื้นเมือง ท้าทายรูปแบบการเล่าโดยท่าทีของการบรรยายไปเรื่อยๆ ด้วยบทสนทนาในชีวิตประจำวัน มากกว่าการสร้างความรู้สึกตื่นเต้น น่ากลัว บีบคั้น ดราม่า น่าลุ้น ในแบบที่ตัวละครผีมักถูกเล่าผ่าน

แอนิเมชันก้าวออกจากขนบการเล่าการ์ตูนตะวันตกโดยทั่วไปผ่านการบอกว่ามุกตลกและเสียงฮานั้นไม่ใช่ความจำเป็นเสมอไป คงพูดได้ว่า การ์ตูนเรื่องนี้ขาดมุกฮาและเสียงหัวเราะ แต่ถูกเติมเต็มด้วยรูปแบบที่แปลกออกไปและเรื่องราวที่มีคุณค่า ส่วนผสมนี้กลายเป็นรสชาติใหม่ที่ไม่ได้ขาดแหว่งสิ่งใดไป

รสชาติที่แตกต่างออกไปนี้ ทำให้ผีใน City of Ghosts ไม่ได้เป็นปัญหาที่ต้องถูกจำกัด แต่เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องหาวิธีอยู่ร่วมกัน การเล่าไปเรื่อยๆ ผ่านน้ำเสียงของคนธรรมดา ไม่ใช่เสียงฮีโร่ผู้ยิ่งใหญ่หรือคนดัง และไม่ใช่การเล่าผ่านอาหาร หรือสถานที่ท่องเที่ยวโดดๆ แต่เป็นการเล่าผ่านคนปกติทั่วไปที่เจอปัญหาบางอย่าง เมืองใน City of Ghosts จึงมีคน (และผี) เป็นศูนย์กลางในการเล่า คน (และผี) เหล่านี้คือหัวใจของวัฒนธรรม อาหาร ดนตรี คลับ พื้นที่ และความทรงจำ ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และทั้งหมดถูกบันทึกผ่านกลุ่มวัยรุ่นถือกล้องช่วยผู้คนที่ถูกหลอกหลอน

ผีในเรื่องทำให้นึกถึงอีกคำเรียกหนึ่ง คือคำว่า “spirit” หรือ จิตวิญญาณ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อตายจากไป แต่อยู่ภายในคนมีชีวิตด้วยเช่นกัน เป็นสิ่งซึ่งเชื่อมโยงอดีตและปัจจุบันเข้าหากันอย่างแนบแน่น จิตวิญญาณดังกล่าวถูกแสดงออกผ่านผู้คน อาหาร วัฒนธรรม และสีสัน กระจายตัวอยู่ทั่วทุกหนแห่ง ระหว่างทางที่เซลด้าและเพื่อนๆ ตามหาผี พวกเขาได้เจอจิตวิญญาณของเมืองแทน

ที่มาภาพ : https://www.animationmagazine.net/streaming/neighborhood-spirits-elizabeth-ito-shares-the-inspiration-behind-city-of-ghosts/

หนังยังเลือกใช้เสียงพากย์จากคนที่ชีวิตจริงใกล้เคียงกับตัวละคร เช่น ตัวละคร Chef Jo ให้เสียงโดยเชฟ Isa Fabro จากร้านอาหารสไตล์ญี่ปุ่นในย่าน Boyle Heights และระหว่างที่ Ito กำลังทำแอนิเมชันเรื่องนี้ในปี 2019 ก็เกิดกระแส anti-Asian attacks ที่กลายเป็นประเด็นใหญ่ในสังคม ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ City of Ghost เป็นแอนิเมชันที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง

ชุมชนที่ไม่ต้องให้ใครมาสำนึกรักบ้านเกิด

อิสระในการเลือกทำตามความสนใจและสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้างพอจะให้พื้นที่ความสนใจนั้นๆ เจริญงอกงาม พัฒนาความสนุกของเซลด้าและเพื่อนๆ ในชมรมผี ให้กลายเป็นความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของเมืองที่ใช้ชีวิต เมืองในหนังถูกสะท้อนด้วยภาพเมืองที่เปิดรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความสนใจอันไม่มีที่สิ้นสุด เมืองที่แต่ละคนต่างมีพื้นที่ให้เชื่อมโยงตัวเองเข้ากับสถานที่ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ได้โดยไม่สูญเสียตัวตน

ย้อนมองบ้านเรา หนึ่งในสติกเกอร์ที่ผมเคยทำและได้รับความนิยม คือ ลายที่ขีดฆ่าคำว่า “ปลูกจิตสำนึก” แล้วเขียนต่อท้ายด้วยคำว่า “คิดเองได้” กิริยาคำว่า ปลูก หรือจักรวาลศัพท์ที่เกี่ยวกับต้นไม้นั้น ได้รับความนิยมมาช้านานในวงการพัฒนาเยาวชนไทย ที่เชื่อว่า เด็กเป็นต้นกล้าซึ่งต้องเพาะปลูกให้ถูกทาง เราจึงเห็นบรรดาโปสเตอร์ อาร์ตเวิร์ก รณรงค์จำนวนมากหนีไม่พ้นรูปต้นไม้ ใบหญ้า ดอกทานตะวัน

แต่ระยะหลังมานี้ผมคิดว่า บางทีแล้ว เราอาจไม่ได้เกลียดการปลูกจิตสำนึก หากแต่เวทนาเนื้อหาที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันต่างหาก อาจต้องปรับปรุงความหมายของจิตสำนึกใหม่ เช่น ความอดทน หมายถึง อดทนต่อความแตกต่างหลากหลายทางความคิด ไม่ใช่อดทนต่อการละเมิดสิทธิ

บรรดาโครงการชวนสำนึกรักบ้านเกิดจำนวนมากกลายเป็นเรื่องที่มีค่านิยมแบบเดิมตั้งไว้อยู่แล้ว ผ่านคำในซับเซ็ตที่คุ้นเคยกันดี อย่าง ทำนุบำรุงศาสนา รับผิดชอบต่อส่วนรวม หรือจิตสำนึกสำเร็จรูปผ่านการโปรโมตด้วยภาพการไหว้ผู้หลักผู้ใหญ่ ทำบุญตักบาตร หรือรูปกลุ่มคนใส่ยูนิฟอร์ม ชูนิ้วโป้งในความหมายของการกดไลก์ และยิ้มเหมือนๆ กัน แต่เราจะไม่เคยเห็นจิตสำนึกรักชุมชนที่หมายถึง การเปิดกว้างต่อความหลากหลาย การเคารพสิทธิของผู้อื่น แม้แต่กิจกรรมทางวัฒนธรรมที่ไม่ใช่วัฒนธรรมดั้งเดิม ก็ยากจะเป็นส่วนหนึ่งของจิตสำนึกรักชุมชนแบบไทยๆ แบบเดียวกับที่เราจะไม่มีทางเจอภาพการเต้นบีบอย เวลาเซิร์ชคำว่า จิตสำนึกรักชุมชน ในกูเกิลเวลานี้

การเปลี่ยนความหมายของคำใหญ่ๆ นั้นมีผลต่อสังคม คำอย่างจิตสำนึกรักความเป็นไทย ก็กลายเป็นไอเดียแบบไทยนิยมที่ถูกเรื่องเล่ากระแสหลักในสังคมกำหนด มากกว่าไอเดียแบบไทยสากล ซึ่งมีพื้นที่ให้เรื่องเล่าที่หลากหลาย โจทย์จึงไม่ใช่จะทำให้ชุมชนเข้มแข็งได้อย่างไร แต่ต้องถามใหม่ว่า เข้มแข็งที่ว่านั้นแปลว่าอะไรกันแน่

ความเข้มแข็งที่เสนอผ่านชุมชน City of Ghosts ไม่ใช่ไอเดียของการสามัคคีรวมพลัง แต่เป็นความเข้มแข็งของวัฒนธรรมที่แตกต่างและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน แต่บางทีก็เลือนหายไป กระทั่งเด็กๆ ค้นพบมันอีกครั้ง

ถึงเวลาที่เราต้องทบทวนความหมายของชุมชนและเสนอไอเดียชุมชนใหม่ที่ต้อนรับให้แต่ละคนต่างรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง ไม่ใช่แค่ได้ใช้บริการสวนสาธารณะหรือทรัพย์สินส่วนรวม แต่เป็นส่วนหนึ่งในทางวัฒนธรรมด้วย

การเติบโตมาอย่างเป็นอื่น เป็นคนแปลกหน้าในบ้านเกิด และเป็นคนนอกในประเทศที่อาศัยอยู่ ความเปราะบางและแตกสลายเหล่านี้กำลังหลอมรวมเป็นจิตวิญญาณแปลกประหลาดบางอย่าง ที่เราคงได้เห็นผลลัพธ์ของมันในเร็ววัน

ละแวกบ้านผมเอง มีศูนย์สุขภาพชุมชน ภายในทันสมัยมีเครื่องออกกำลังกายอย่างดี เปิดให้ใช้ฟรีด้วย แต่น่าเสียดายที่ถูกจำกัดไว้เฉพาะประชาชนสูงวัย แทนที่จะกลายเป็นพื้นที่ให้คนต่างวัยได้มาแลกเปลี่ยนและปฏิสัมพันธ์กัน

City of Ghosts แสดงให้เห็นว่า ชุมชนคือส่วนผสมของความหลากหลายที่ล้วนแล้วกลายเป็นวัฒนธรรม ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง และ Spirit ในเมือง เมืองที่ซึ่งทุกชีวิต (และไม่มีชีวิต) มีตัวตน เป็นเมืองที่เป็นของผี และเป็นของเรา