ThaiPublica > คอลัมน์ > โต๊ะนักเรียนในฐานะพื้นที่ทางสังคม อำนาจ และวัฒนธรรม

โต๊ะนักเรียนในฐานะพื้นที่ทางสังคม อำนาจ และวัฒนธรรม

31 ตุลาคม 2019


เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์

โต๊ะนักเรียน เป็นอะไรหลายอย่าง เป็นเพจฝากบอก เป็นแหล่งซ่อนของที่ไม่อยากถูกยึด เป็นพื้นที่กึ่งส่วนตัว ชื่อแก๊ง คำคม คำประกาศ และเป็นตัวกำหนดโชคชะตาของนักเรียนคนหนึ่งในปีการศึกษานั้นๆ ไม่ใช่แค่เพียงประเภทโต๊ะที่แตกต่างหลากหลาย ตั้งแต่มีเก๊ะ ไม่มีเก๊ะ หรือมีเก๊ะแต่ไม่อนุญาตให้เอาของไว้ ซึ่งมีผลต่อน้ำหนักกระเป๋า ยังมีแบบโต๊ะไม้ โต๊ะเลกเชอร์ และรูปแบบการจัด เช่น จัดแยกหมดทุกโต๊ะ จัดโต๊ะคู่ หรือสามตัวติดกัน ยังรวมถึงตำแหน่งที่ตั้ง ระยะใกล้-ไกลครู นั่งติดเด็กเก่ง นั่งหลังห้อง นั่งตรงกลาง ที่อาจส่งผลต่อสายตาสั้น เกรดเฉลี่ย ความเสี่ยงจากการถูกแปรงลบกระดานเขวี้ยงใส่ ทั้งหมดนี้แทบจะส่งผลต่อทั้งชีวิตของนักเรียนคนหนึ่ง

ความหมายของโต๊ะนักเรียน จึงมีมากกว่าพื้นที่บรรจุนักเรียนลงในห้องเพื่อรับฟังเนื้อหาจากครู แต่หมายถึงการจัดกลุ่มทางสังคม ความปลอดภัย ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลจากครูหน้าห้อง รวมไปถึงความหนาแน่นที่ส่งผลต่อสุขภาพกายสุขภาพจิต

แต่ความหมายของโต๊ะนักเรียนในมิติดังกล่าวกลับไม่ค่อยถูกพูดถึงนัก อย่างมากก็เพียงความพยายามแก้ปัญหาเด็กหลังห้อง ด้วยการจัดโต๊ะเรียนเป็นวงกลม เพื่อเฉลี่ยระยะห่างจากครูผู้สอน ซึ่งไอเดียดังกล่าวยังอยู่ในความหมายที่ว่า จะทำอย่างไรให้เด็กฟังหรือตอบสนองกับสิ่งที่ครูพูด ทั้งที่จริงๆ แล้วโต๊ะนักเรียนมีความหมายมากกว่านั้น ยิ่งหากความต้องการนั่งหลังห้องมาจากความปรารถนาที่จะหลบหนีความน่าเบื่อและการรบกวนสมาธิจากครูผู้สอน เป็นต้น

เมื่อมองโต๊ะเรียนในฐานะพื้นที่ทางสังคม ผลสำรวจจากนิวกราว ปี 2561 สอบถามวัยรุ่นจำนวนกว่า 6,000 คน พบว่า นักเรียนไทยรู้สึกว่าตนเองได้คำตอบในสิ่งที่สงสัยจากอินเทอร์เน็ตเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็น 84.42 คะแนนเต็ม 100 รองลงมาคือการอยู่กับกลุ่มเพื่อนที่สนใจในเรื่องเดียวกัน 61.7 คะแนน แต่ได้คำตอบจากโรงเรียนเพียง 51.83 คะแนน

เมื่อดูในหมวดผลสำรวจที่เกี่ยวข้องกับห้องเรียน นิวกราวพบว่า วัยรุ่นไทยรู้สึกเป็นตัวของตัวเองมากที่สุดเมื่ออยู่กับกลุ่มเพื่อนหรือคนที่สนใจเรื่องเดียวกัน ให้คะแนนสูงถึง 83 เต็ม 100 รองลงมาคือการได้ไปเที่ยว 73.15 คะแนน และเป็นตัวของตัวเองพอสมควรเมื่ออยู่ในห้องเรียน 65.55 คะแนน แต่กลับไม่เป็นตัวของตัวเองเลยเมื่อต้องพูดคุยกับผู้ใหญ่ ได้คะแนนเพียง 39.42 คะแนน ซึ่งน้อยกว่าเมื่อทำพิธีกรรมทางศาสนาและเมื่อทำข้อสอบ

ถ้านำมาคิดร่วมกับ “โต๊ะ” และความคิดในการปฏิรูปการศึกษาผ่านโต๊ะ ทำให้ผู้เขียนตั้งข้อสงสัยว่า หรือที่จริงแล้ว นักปฏิรูป ครู และผู้ข้องเกี่ยวกับการศึกษาอย่างเราๆ ยังไม่มีความเข้าใจเรื่อง “ความหมายของโรงเรียน” ในมุมมองของผู้เรียนอย่างจริงๆ จังๆ

หากเราเปลี่ยนการตีความว่า “โต๊ะเป็นพื้นที่บรรจุนักเรียนสู่การฟังครูผู้สอน” เป็น “ผู้เรียนใช้โรงเรียนเป็นพื้นที่ในการพบปะมิตรสหาย” เพราะความรู้และสิ่งที่สงสัยหาได้ในอินเทอร์เน็ต การแก้ปัญหาเรื่องห้องเรียนก็จะไม่ใช่คำถามที่ว่า “ทำอย่างไรให้นักเรียนสนใจครูมากขึ้น” เราอาจจะถามใหม่ว่า “ทำอย่างไรให้การใช้เวลาของผู้เรียนนำไปสู่การเรียนรู้และการค้นคว้าร่วมกันได้”

ห้องเรียนนำร่อง ห้องเรียนอนาคต โครงการซัมซุงSamsung Smart Learning โรงเรียนเทิงวิทยาคม จ.เชียงราย

หากมองโต๊ะเรียนในฐานะพื้นที่ทางกายภาพ จากการสำรวจ 500 กระทู้ในบอร์ดปัญหาที่โรงเรียน เว็บไซต์ Dek-D.com เมื่อวันที่ 22 กันยายน – 6 ตุลาคม 2560 ในหัวข้อร้องเรียน พบว่า ประเด็นโต๊ะเลกเชอร์ที่วางแขนได้ข้างเดียวนั้น มีปัญหาในสัดส่วนพอๆ กับ รด.จิตสีขาว, กีฬาสี, ลาเรียนไม่ได้ และการปฏิเสธผู้ใหญ่ เป็นไปได้หรือไม่ที่ผู้เรียนอาจต้องการโต๊ะนั่งธรรมดา ที่ทำงานได้สะดวก นั่งสบาย มากกว่าห้องเรียนไฮเทค

ในฟากครู พบว่า ห้องเรียนที่แออัดส่งผลต่อความเครียดของครูผู้สอน รวมทั้งต้องใช้เสียงที่ดังมากกว่าปกติ และปัญหาความจุห้องเรียนเกินขนาด ยังทำให้ครูจำนวนมากโฟกัสกับความมีวินัยของนักเรียนและห้องเรียนเกินความจำเป็น (ซึ่งอาจใช้เวลามากกว่าการสอนหนังสือ) ยังไม่รวมการที่ครูไม่สามารถเดินเข้าหานักเรียนได้หากจัดวางโต๊ะหนาแน่น

เมื่อนักเรียนไทยแออัดพอกับนักโทษในคุก?

โรงเรียนไทยคุ้นเคยกับอัตราส่วน 1:1 หรือ นักเรียน 1 คน ต่อโต๊ะ 1 ตัว ในหนังสือ Workplace Strategy โดยคุณอายุธพร บูรณะกุล ระบุว่า ความคุ้นชินนี้อยู่กับมนุษย์มาตั้งแต่เริ่มมีสถานที่ทำงานในรูปแบบออฟฟิศ ราว 300 ปีก่อน เป็นการคำนวณแบบ headcount-based ทำให้หลายบริษัทต้องขยายพื้นที่เพิ่มอยู่ตลอดเวลาเมื่อมีพนักงานมากขึ้น แต่ในโรงเรียน ยากมากที่จะทำเช่นนั้น เว้นแต่สร้างตึกใหม่ไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็มาจบลงตรงที่ ใน 1 ห้องเรียนมีนักเรียนอัดกันอยู่ราว 50 คน

แม้หลายโรงเรียนจะมี smart classroom, ห้องวิทยาศาสตร์, ห้องสตูดิโอ ที่มีโต๊ะแบบงานกลุ่ม แต่คาบส่วนใหญ่ยังใช้พื้นที่แบบ 1:1 หรือแย่กว่านั้น smart classroom ที่ต้องนั่งเรียนด้วยกันในโต๊ะเดียวกลับไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ร่วมกัน แต่สร้างความอึดอัดใจให้ครูผู้สอนแทน

ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการกำหนดความจุไว้ว่า ในห้องเรียน 48 ตารางเมตร ให้จุนักเรียนได้ไม่เกิน 45 คน หากมีพื้นที่มากกว่า 48 ตารางเมตร ให้มีความจุเพิ่มได้ โดยถือเกณฑ์ 1 คน ต่อ 1 ตารางเมตร หรือเฉลี่ยราว 1.07 ตารางเมตรต่อคน ในขณะที่ National Education Union ประเทศอังกฤษแนะนำว่า ในห้องเรียนขนาด 55 ตารางเมตร ควรจุนักเรียนเพียง 30 คน หรือ คิดเป็น 1.83 ตารางเมตรต่อคน หรือในงานของ C. Kenneth Tanner มหาวิทยาลัยจอร์เจีย ระบุว่า ในห้องเรียนมัธยมที่มีนักเรียน 20 คน ควรมีขนาดอย่างน้อย 124.99 ตารางเมตร หรือ 6.25 ตารางเมตรต่อคน ซึ่งมากกว่านักเรียนไทยถึงเกือบ 6 เท่า

ในอเมริกาเหนือ จากการสำรวจของ International Facility Management Association (IFMA) พบว่า ออฟฟิศโดยเฉลี่ยใช้พื้นที่ 11-20 ตารางเมตรต่อพนักงาน 1 คน

ในขณะที่ British Institute of Facilities Management (BIFM) พบว่า อังกฤษใช้พื้นที่เฉลี่ย 8-10 ตารางเมตรต่อคน

หากมาดูความจุคุกไทยที่กรมราชทัณฑ์กำหนดไว้ นักโทษแต่ละคนควรมีพื้นที่ 2.25 ตารางเมตร แม้ในความเป็นจริงที่จำนวนนักโทษล้นคุก ทำให้มีพื้นที่ต่อคนอยู่ราว 1.09 ตารางเมตร (เกินกว่าปริมาณที่รองรับได้ถึง 231 เปอร์เซ็นต์) ซึ่งนั่นพอๆ กับพื้นที่ที่นักเรียนไทยหนึ่งคนจะมีได้ในห้องเรียน

ไม่นับรวมว่า “โต๊ะ” เป็นทรัพยากรที่กินพื้นที่ที่สุดในห้อง และอยู่นิ่งที่สุดโดยแทบไม่มีการเคลื่อนย้าย ในขณะที่คนเคลื่อนย้ายตลอดเวลา

โต๊ะในฐานะพื้นที่ทางอำนาจ

หากมองนอกห้องเรียนออกไป จะเห็นว่าทุกวันนี้บริษัทต่างๆ โน้มน้าววัยรุ่น Millennial ด้วยภาพออฟฟิศแบบใหม่ๆ มีทั้งสไลเดอร์ โต๊ะปิงปอง ล่อตาล่อใจ ที่พบในภายหลังว่า แทบไม่เคยอยากใช้เลยเมื่อเข้าทำงานจริงๆ แต่ถ้าไม่นับโต๊ะแฟนซี วัฒนธรรมโต๊ะทำงานในปัจจุบันเปลี่ยนไปอย่างมากจากในอดีต เช่น การใช้ hot-desk หรือใช้พื้นที่ co-working ไม่มีใครเป็นเจ้าของโต๊ะ หลายบริษัท CEO ไม่มีกระทั่งห้องทำงานส่วนตัว ซึ่งทำให้ความหมายของ “โต๊ะที่เป็นพื้นที่ทางอำนาจ” เปลี่ยนจากอำนาจสูงต่ำไปสู่อำนาจแนวราบ พื้นที่ของ CEO ไปอยู่ปะปนกับพนักงานแทน ผลลัพธ์ที่ได้ คือ CEO ต้องปรับตัวให้คนอยู่ด้วยแล้วอึดอัดน้อยลง เป็นต้น

นักเรียนมีที่กว้างขึ้นได้ไหม โรงเรียนไทยกำลังเผชิญกับจำนวนนักเรียนที่น้อยลงในอนาคต ประชากรรุ่นใหม่มีจำนวนลดลงต่อเนื่อง ในช่วง 20 ปีมานี้ ประเทศไทยมีเด็กเกิดน้อยลง จากอัตราเกิด 6 คน ลดลงมาที่ 2.2 คน จนปัจจุบันอยู่ที่ 1.5 คนต่อครอบครัว

ช่วงปี 1955-1995 ไทยมีอัตราการเกิดเกิน 1 ล้านคนต่อปี พอปี 1995-2000 เหลือ 955,000 คนต่อปี จนกระทั่งปีที่แล้ว 2018 เด็กไทยเกิดเพียง 666,109 คน หากลบกับอัตราการตายของคนไทยปีที่ผ่านมา 473,541 คน จะเหลือประชากรเพิ่มขึ้นโดยการเกิดเพียงปีละไม่ถึงสองแสนคน

บวกกับสถานการณ์โรงเรียนขนาดเล็กกว่า 15,089 แห่งทั่วประเทศ หรือราว 50% ของโรงเรียนทั้งหมด โรงเรียนเหล่านี้มีนักเรียนเฉลี่ยน้อยกว่า 120 คน จำนวนนักเรียนที่ลดลงต่อเนื่อง อาจทำให้เราต้องคิดคำนวณเรื่องการจัดห้องเรียนใหม่ทั้งระบบ แต่พื้นที่ที่กว้างขึ้นในทางกายภาพจะไม่มีความหมายเลยหากพื้นที่ทางความคิดยังมีเท่าเดิม ห้องเรียนและโต๊ะนักเรียนที่กินความหมายเกินกว่าพื้นที่เชิงกายภาพ แต่รวมไปถึงพื้นที่ทางสังคม เป็นโจทย์ที่เราควรทบทวนว่า จะทำอย่างไรให้พื้นที่ดังกล่าวสามารถส่งเสริมศักยภาพในการเรียนรู้ ลดแรงกดดันในการใช้ชีวิต และกระชับความสัมพันธ์เชิงอำนาจของนักเรียนและครูได้

ปัจจุบันนี้ นอกจากการเรียนการสอนตามหลักสูตรแล้ว นักเรียนไทยได้รับเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน 5 หมวด

    1. ค่าจัดการเรียนการสอน (โรงเรียนเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องการใช้งบประมาณ)
    2. ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน (โรงเรียนเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องการใช้งบประมาณ)
    3. ค่าหนังสือเรียน (โรงเรียนเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องการใช้งบประมาณ)
    4. ค่าเครื่องแบบนักเรียน (นักเรียนเป็นผู้ตัดสินใจ)
    5. ค่าอุปกรณ์การเรียน (นักเรียนเป็นผู้ตัดสินใจ)

จะเห็นว่า มีเพียง 2 ข้อเท่านั้นที่นักเรียนมีสิทธิตัดสินใจด้วยตัวเอง แม้จะเป็นงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับพวกเขาโดยตรง และเป็นข้อที่ไม่เกี่ยวกับความคิดหรือประสบการณ์ที่จะได้รับจากโรงเรียนโดยสิ้นเชิง

ท้ายที่สุด หากเราส่งเสริมให้นำหลัก user experience มาศึกษาและพัฒนาพื้นที่เรียนรู้จากความต้องการของผู้เรียนเป็นตัวตั้ง จะช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมประชาธิปไตยด้วยการให้ความสำคัญกับความต้องการของผู้ใช้ มากไปกว่าความพยายามปฏิรูปการศึกษาของเด็ก เพื่อเด็ก แต่โดยมองไม่เห็นความต้องการของเด็กดั่งในอดีต

อ้างอิง

neu.org.uk/advice/space-requirements-classrooms

www.scarsdaleschools.k12.ny.us/cms/lib/NY01001205/Centricity/Domain/1105/2014-11-19%20Meeting%20of%20Greenacres%20Building%20Committee%20Meeting%20Handout%203%20-%20Classroom%20Size%20Standards.pdf

ilp.kku.ac.th/e-administration/BackEnd/Program/Manage/view2.php?FILE_ID=2661

-อายุธพร บูรณะกุล. (2561). Workplace strategy: เกมที่ CEO ต้องรู้ (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ: ลายเส้น.
-เพจเกรียนศึกษา www.facebook.com/yeducation/photos/a.1534647870142969/1535322980075458/?type=3&theater

-วิภาพรรณ วงษ์สว่าง. (2561). SDGs Start Up: Youth Development: สหภาพยุโรปประจำประเทศไทย และโครงการพัฒนากลไกเสริมศักยภาพและฐานความรู้คนรุ่นใหม่: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

-ดร.เกื้อ วงศ์บุญสิน. (2560). การคาดการณ์ประชากรไทยในอนาคต: ผลต่อเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ และการศึกษา: สถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ วิทยาลัยรัฐกิจ ม.รังสิต

-เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์. (2559). ปฏิรูปการศึกษาอย่างเป็นประชาธิปไตย. Relearn ห้องเรียนเดินได้ (พิมพ์ครั้งที่ 1). นนทบุรี:โครงการสานพลังการศึกษาบนฐานชุมชน