ThaiPublica > คนในข่าว > ‘สอนไซ สีพันดอน’… เมื่อลาวเปลี่ยนผู้นำประเทศคนใหม่

‘สอนไซ สีพันดอน’… เมื่อลาวเปลี่ยนผู้นำประเทศคนใหม่

20 มกราคม 2023


ขุนสามเมือง

นายสอนไซ สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรีลาว ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ที่มาภาพ:https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten2022_Macro239.php

ก่อนฉลองเทศกาลปีใหม่ไม่กี่ชั่วโมง สำนักข่าวลาวเทียนไทม์ส ได้รายงานข่าวสารสำคัญ (วันที่ 30 ธ.ค.2565) ว่า นายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง โดยมีการแต่งตั้ง ดร.สอนไซ สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ให้เข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทน

หากย้อนเวลาไปก่อนหน้านี้ ประมาณเดือนสิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา มีกระแสข่าวจากวงในแพร่กระจายออกมาสู่โลกภายนอก ว่าเกิดกระแสความไม่พอใจในบทบาทการนำของนายพันคำ วิพาวัน ค่อนข้างมาก โดยประเด็นหลักเกิดขึ้นจากไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และปากท้องของประชาชนได้ โดยมีสาเหตุมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่ส่งผลให้การเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวเข้าไปในลาวต้องหยุดชะงัก การค้าของโดยเฉพาะการส่งออกสินค้าของลาวแทบจะติดลบ ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนเงินตราต่างประเทศอย่างหนัก แถมยังถูกซ้ำเติมด้วยวิกฤติพลังงานอันเนื่องมาจากเหตุการณ์รัสเซียบุกยูเครน ทำให้พลังงานมีราคาสูงขึ้นหลายเท่าตัวและเกิดภาวะขาดแคลนพลังงานอย่างหนัก คนลาวต้องต่อแถวยาวเหยียดเพื่อรอคิวเต็มน้ำมันตามปั๊มน้ำมันต่างๆ ทั่วประเทศ ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่ออุปสงค์ อุปทาน การค้าและการลงทุนทั้งระบบ ปัญหาเหล่านี้ได้สะสมจนกลายเป็นวิกฤติการเงิน ค่าเงินกีบของลาวอ่อนค่าลงอย่างหนักเป็นประวัติการณ์ ประเทศประสบกับปัญหาขาดแคลนเงินดอลลาร์ และอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น จนสร้างสถิติสูงสุดใหม่ทุกเดือนมาตลอดตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ประเทศเกือบจะเข้าสู่ภาวะล้มละลายทางเศรษฐกิจ จนต้องลุ้นกันว่าจะเป็นประเทศต่อไปที่เดินตามหลังศรีลังกาหรือไม่ โชคดีที่ลาวยังสามารถเอาตัวรอดมาได้จากความช่วยเหลือของมหามิตรอย่างจีนและรัสเซีย จนประคองตัวมาได้ถึงวันนี้

สถานการณ์เช่นนี้ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของนายกฯ พันคำ วิพาวัน ค่อนข้างมาก เขาเข้ามารับตำแหน่งเมื่อ 21 มี.ค. 2564 และขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 8 ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ท่ามกลางความคาดหวังของค่อนสูงจากประชาชน ด้วยความเป็นคนรุ่นใหม่ มีการศึกษาดี มีวิสัยทัศน์ที่เป็นตัวแทนความหวังของคนลาวรุ่นใหม่ๆ ที่อยากเห็นประเทศหลังม่านหมอกของพวกเขาจะถูกเปิดออกสู่โลกกว้างได้เพิ่มมากขึ้น แต่การณ์หาเป็นเช่นนั้นไม่ สถานการณ์โลกไม่ได้เข้าข้างนายกฯ พันคำมากนัก อีกทั้งยังเกิดกระแสความไม่พอใจส่วนตัว เนื่องจากครอบครัวของเขามีข่าวเข้าไปเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์จากเงินลงทุนต่างประเทศมากเกินไป รวมทั้งปัญหาการคอร์รัปชันที่ค่อนข้างหนักหน่วงในคณะรัฐบาลชุดนี้ ทำให้ชนชั้นนำลาวและแกนนำในพรรคพรรคประชาชนปฏิวัติลาว (The Lao People Revolutionary Party LPRP) ที่คุมอำนาจอยู่ต้องเดิมเกมออกมาบีบให้เขาต้องออกจากตำแหน่งในที่สุด

พันคำ วิพาวัน อดีตนายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ที่มาภาพ: สำนักข่าวสารประเทศลาว

ในการประชุมเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2565 วันสุดท้ายของการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 4 สภาแห่งชาติลาว ชุดที่ 9 ที่มีนายไซสมพอน พมวิหาน ประธานสภาแห่งชาติ เป็นประธาน และมีนายทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศ สปป.ลาว เข้าร่วมประชุมด้วย ที่ประชุมได้มีวาระพิเศษ โดยอนุมัติการขอพักจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพันคำ วิพาวัน โดยให้เหตุผลว่ามีปัญหาสุขภาพ

นายพันคำ วิพาวัน ได้กล่าวในที่ประชุมรัฐสภาถึงการเผชิญความยากลำบากมากมายระหว่างดำรงตำแหน่ง รวมทั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของตน ด้วยเหตุนี้จึงยื่นคำร้องขอลาออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระ และได้รับการอนุมัติโดยนายทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า นายพันคำ ถูกบีบให้ออกจากตำแหน่ง ก็ไม่ผิด…

หลังจากนั้น ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบด้วยคะแนน 149 เสียงจากทั้งหมด 151 เสียง ให้แต่งตั้งนายสอนไซ สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรี ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศแทน ตามการเสนอของทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศ จากนั้นนายสอนไซ สีพันดอน ได้ขึ้นกล่าวรับตำแหน่ง โดยให้คำมั่นสัญญาว่าจะปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความรับผิดชอบสูง ภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมายของ สปป.ลาว และจะยกระดับจิตวิญญาณของนักปฏิวัติให้สูงขึ้น ท่ามกลางวิกฤติภาวะเงินเฟ้อ การขาดแคลนพลังงาน และเศรษฐกิจทรุดตัวต่อเนื่อง

นายกคนใหม่กับความคาดหวังของชาติ

นายสอนไซ สีพันดอน เกิด 26 มกราคม พ.ศ. 2509 อายุ 57 ปี เป็นลูกชายของอดีตประธานพรรค คำไต สีพันดอน และพี่ชายของนายเวียงทอง สีพันดอน เติบโตและเจริญก้าวหน้าในฐานะทายาททางการเมืองของชนชั้นนำของลาว เริ่มไต่เต้ามาจากตำแหน่งสมาชิกพรรคประชาชนปฏิวัติลาว (LPRP) จนเข้าสู่คณะกรรมการกลางแห่งพรรคในคณะกรรมการกลางที่ 8 และเป็นโปลิตบูโรแห่งพรรคในคณะกรรมการกลางที่ 10 ความที่เขาเป็นลูกชายของนายคำไต สีพันดอน อดีตนายกรัฐมนตรี ประธานประเทศ สปป.ลาว และเลขาธิการใหญ่ พรรคประชาชนปฏิวัติลาว เขาจึงเป็นเสมือนทายาททางการเมือง และเป็นดาวรุ่งที่มีชื่อเป็นตัวเต็งว่าจะได้ขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่เมื่อปี 2559 แต่ที่ประชุมสภาแห่งชาติขณะนั้นได้เลือก ดร.ทองลุน สีสุลิด ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน ด้วยเหตุผลเรื่องความอาวุโส

ในแวดวงการเมืองของลาว ต้องยอมรับว่าจนถึงปัจจุบันนายคำไต สีพันดอน บิดาของนายสอนไซฯ อดีตผู้นำสูงสุด วัย 98 ปี ยังเป็นผู้มากบารมีสูงสุดในลาวคนหนึ่ง และถือเป็นเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณและวีรบุรุษของชาติ จากบทบาทนำในการปฏิวัติประชาชนลาว จึงเป็นผู้ที่ยังมีอิทธิพลต่อนโยบายและการบริหารงานประเทศลาวในหลายๆ ด้าน แม้แต่ในสมัยรัฐบาลของนายพันคำ วิพาวัน เป็นนายกรัฐมนตรี ปรากฏว่ามีคนนามสกุล “สีพันดอน” ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญถึง 4 คน โดยนอกจากนายสอนไซ ที่เป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังมีนายเวียงทอง สีพันดอน เป็นประธานคณะกรรมการตรวจตราแห่งรัฐ, นายเวียงสะหวัน สีพันดอน เป็นรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง และนายอาดสะพังทอง สีพันดอน เป็นเจ้าครองนครหลวงเวียงจันทน์ เป็นต้น

นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีคนที่ 9 จบการศึกษาจากประเทศรัสเซีย และได้ชื่อว่าเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญงานด้านเศรษฐกิจมากเป็นพิเศษ ถูกวางตัวให้จับงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นความหวังว่าเขาจะเป็นผู้กอบกู้วิกฤติเศรษฐกิจของประเทศท่ามกลางสถานการณ์อันไม่แน่นอนของโลกในวันนี้ แน่นอนว่าจากผลงานที่ผ่าน ๆ มา โดยเฉพาะการมีบทบาทนำในการดึงความช่วยเหลือจากจีนและรัสเซียให้เข้ามาเป็นหุ้นส่วนและพันธมิตรในการช่วยเหลือ พัฒนาลาว ถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงของเขา ยังไม่นับรวมถึงในห้วงที่เป็นรัฐมนตรีสาธารณสุข เขาสามารถทำให้ลาวกลายเป็นประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตจากโรคโควิดต่ำที่สุดในภูมิภาค จึงไม่แปลกใจที่ประชาชนลาวทั้งประเทศจะฝากความหวังไว้กับลูกชายวีรบุรุษของชาติเช่นเขา

ด้วยระบบการเมืองการปกครองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์แบบลาว ที่การเมืองค่อนข้างนิ่งและเสถียร เพราะบริหารหารด้วยพรรคเพียงพรรคเดียว น่าเชื่อได้ว่าจากวันนี้ไปลาวน่าจะสามารถเริ่มติดเครื่องยนต์ที่ชำรุดไปชั่วคราวเพื่อเร่งเดินหน้าแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งในระยะสั้นและระยะยาวจะเป็นผลดีกับเพื่อนบ้านอย่างไทยที่จะได้รับอานิสงส์จากการค้า การลงทุน การค้าขายระหว่างประเทศ และการค้าขายตามแนวชายแดนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งด้านพลังงานที่ฝ่ายไทยเข้าไปลงทุนไว้ในลาวจำนวนมากมายมหาศาลก็จะยังสามารถเดินหน้าต่อเนื่องได้ต่อไป

ที่ผ่านมานายกฯ คนใหม่ของลาวคนนี้ ได้ชื่อว่าเป็นคนดูแลและพลักดันเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ตรงข้ามชายแดนอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย มาแต่ต้น และค่อนข้างมีความสัมพันธ์กับกลุ่มทุนจีนที่ถือเงินเข้ามาลงทุนในพื้นที่นี้อย่างมาก ซึ่งก็ต้องดูกันต่อไปว่านายกฯ ลาวคนใหม่จะถ่วงดุลระหว่างการลงทุนของนายทุนยักษ์ใหญ่จีน กับด้านความมั่นคงอย่างไร แน่นอนว่าพื้นที่ตรงนี้คือพื้นที่ยุทธศาสตร์ความมั่นคงจุดใหม่ที่มหาอำนาจทั่วโลกกำลังจับตาอยู่ และมิตรประเทศอย่างไทยก็กำลังมีความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ในพื้นที่แห่งนี้