ThaiPublica > สู่อาเซียน > “พันคำ วิพาวัน”นายกรัฐมนตรีคนที่ 8 ของลาว

“พันคำ วิพาวัน”นายกรัฐมนตรีคนที่ 8 ของลาว

23 มีนาคม 2021


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

พันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีคนที่ 8 ของ สปป.ลาว ที่มาภาพ : จากสำนักข่าวสารประเทศลาวและสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว

ตำแหน่งผู้บริหารประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ลงตัวอย่างเป็นทางการแล้ว ภายหลังที่ประชุมสภาแห่งชาติ ชุดที่ 9 ครั้งปฐมฤกษ์ มีมติรับรอง “พันคำ วิพาวัน” ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 8 พลิกความคาดหมายจากก่อนหน้านี้ ที่หลายคนเชื่อว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องตกเป็นของ “สอนไซ สีพันดอน” ลูกชายขอคำไต สีพันดอน อดีตนายกรัฐมนตรีและประธานประเทศ ซึ่งยังคงมากบารมีอยู่ในลาวจนถึงทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม สอนไซซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2509 ปัจจุบันเพิ่งมีอายุ 55 ปี ยังมีโอกาสขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า

ในรัฐบาลชุดที่มีพันคำ วิพาวัน เป็นนายกรัฐมนตรี สอนไซ สีพันดอน ยังคงตำแหน่งเดิม เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน

การประชุมสภาแห่งชาติ ชุดที่ 9 เริ่มขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 09.00 น. วันจันทร์ที่ 22 มีนาคม ณ หอประชุมใหญ่สภาแห่งชาติหลังใหม่ นครหลวงเวียงจันทน์ โดยวาระสำคัญของการประชุมครั้งนี้เป็นการการคัดเลือกและรับรองตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของประเทศ ประกอบด้วย

    – ประธานและรองประธาน สภาแห่งชาติ ชุดที่ 9
    – เลขาธิการสภาแห่งชาติ และองค์ประกอบของสภาแห่งชาติ ได้แก่ กรรมการคณะประจำสภาแห่งชาติ, กรรมาธิการชุดต่างๆ ประธานและรองประธาน คณะกรรมาธิการ
    – ประธานประเทศ และรองประธานประเทศ
    – นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี
    – ประธานศาลประชาชนสูงสุด และหัวหน้าองค์การอัยการประชาชนสูงสุด
    – ประธานองค์การตรวจสอบแห่งรัฐ และประธานองค์การตรวจตราแห่งรัฐ

พิธีเปิดการประชุมสภาแห่งชาติ สปป.ลาว ชุดที่ 9 เมื่อตอนเช้าวันจันทร์ที่ 22 มีนาคม 2564 ที่มาภาพ : จากสำนักข่าวสารประเทศลาวและสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว

ที่ประชุมเริ่มจากการเลือก “ไซสมพอน พมวิหาน” ให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาแห่งชาติ โดยมีรองประธาน 5 คน ได้แก่

  • สูนทอน ไซยะจัก
  • จะเลิน เยียปาวเฮอ
  • คำใบ ดำลัด
  • สมมาด พนเสนา
  • พลโท สุวอน เลืองบุนมี
ไซสมพอน พมวิหาน ประธานสภาแห่งชาติลาว คนใหม่ ที่มาภาพ : จากสำนักข่าวสารประเทศลาวและสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว

ไซสมพอนเป็นลูกชายของไกสอน พมวิหาน ผู้นำการปฏิวัติ อดีตเลขาธิการคนแรกของพรรคประชาชนปฏิวัติลาว นายกรัฐมนตรีคนแรกของลาว และเป็นประธานประเทศ สปป.ลาว จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2535

จากนั้น ที่ประชุมได้รับรองตำแหน่งประธานประเทศ โดยได้เลือก “ทองลุน สีสุลิด” อดีตนายกรัฐมนตรี ขึ้นดำรงตำแหน่งนี้ มีปานี ยาท่อตู้ และบุนทอง จิดมะนี เป็นรองประธานประเทศ

ปานี ยาท่อตู้ รองประธานประเทศคนที่ 1 เคยดำรงตำแหน่งประธานสภาแห่งชาติลาว ติดต่อกันมาแล้ว 2 สมัย

จากนั้นเป็นตำแหน่งที่ทุกคนจับตามอง ที่ประชุมได้เลือก “พันคำ วิพาวัน” อดีตรองประธานประเทศ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 8

ทองลุน สีสุลิด ประธานประเทศ สปป.ลาว คนใหม่ ที่มาภาพ : จากสำนักข่าวสารประเทศลาวและสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว

ว่ากันว่า ทองลุน สีสุลิด คือผู้ที่ผลักดันพันคำ วิพาวัน อย่างเต็มที่ เพราะมาจากสายการศึกษา และมีโปรไฟล์คล้ายๆ กัน ทั้งคู่เกิดที่แขวงหัวพัน ได้ไปเรียนต่อที่สหภาพโซเวียต และเคยทำงานเป็นครูมาก่อนที่จะเข้าสู่เส้นทางสายการเมืองเหมือนกัน

พันคำเกิดที่บ้านกาง เมืองซำเหนือ แขวงหัวพัน เคยเป็นรัฐกรในกระทรวงศึกษาธิการ ระหว่างปี 2518-2520

ปี 2520-2526 ไปเรียนต่อในสหภาพโซเวียต กลับมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนบำรุงทฤษฎีการเมือง กระทรวงศึกษาธิการ ระหว่างปี 2526-2528

ปี 2528-2531 ทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก เรื่องทฤษฎีมากซ์-เลนิน ของมหาวิทยาลัยในสหภาพโซเวียต จากนั้นในปี 2531-2539 เป็นรองผู้อำนวยการ วิทยาลัยครูเวียงจันทน์

สำหรับตำแหน่งทางการเมือง ในปี 2544 ได้เป็นรองรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ปี 2548 เป็นเจ้าแขวงหัวพัน ปี 2554-2558 เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา และระหว่างปี 2559-2564 เป็นรองประธานประเทศ

ทองลุนรับมอบตำแหน่งต่อจากบุนยัง วอละจิต ประธานประเทศคนก่อน ที่มาภาพ : จากสำนักข่าวสารประเทศลาวและสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว

นอกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ที่ประชุมสภาแห่งชาติ ยังได้รับรองผู้ที่จะเข้าดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ จำนวน 20 คน ประกอบด้วย

    1. พล.อ. จันสะหมอน จันยาลาด รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงป้องกันประเทศ
    2. สอนไซ สีพันดอน รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงแผนการและการลงทุน
    3. กิแก้ว ไขคำพิทูน รองนายกรัฐมนตรี
    4. คำเจน วงโพสี รัฐมนตรี หัวหน้าห้องว่าการสำนักงานนายกรัฐมนตรี
    5. วิไล หล้าคำฟอง รัฐมนตรีกระทรวงป้องกันความสงบ
    6. สะเหลิมไซ กมมะสิด รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ
    7. คำแพง ไซสมแพง รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า
    8. บ่อเวียงคำ วงดาลา รัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร
    9. เพ็ด พมพิทัก รัฐมนตรีกระทรวงกสิกรรมและป่าไม้
    10. บุนคำ วอละจิด รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
    11. ใบคำ ขัดติยะ รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม
    12. สวนสะหวัน วิยะเกด รัฐมนตรีกระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยว
    13. บุนโจม อุบนปะเสิด รัฐมนตรีกระทรวงการเงิน
    14. เวียงสะหวัด สีพันดอน รัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง
    15. พุด สิมมาลาวง รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา
    16. บุนแฝง พูมมะไลสิด รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข
    17. ไพวี สีบัวลิพา รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม
    18. ทองจัน มะนีไซ รัฐมนตรีกระทรวงภายใน
    19. ดาววง พอนแก้ว รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและบ่อแร่
    20. สอนไซ สิดพะไซ ผู้ว่าการธนาคารแห่ง สปป.ลาว
พันคำ วิพาวัน รับมอบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากทองลุน สีสุลิด ที่มาภาพ : จากสำนักข่าวสารประเทศลาวและสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว

ตำแหน่งบริหารที่เหลือ ที่ประชุมได้รับรอง “เวียงทอง สีพันดอน” เป็นประธานศาลประชาชนสูงสุด, “ไซซะนะ โคดพูทอน” เป็นหัวหน้าองค์การอัยการประชาชนสูงสุด, “มะไลทอง กมมะสิด” เป็นประธานองค์การตรวจสอบแห่งรัฐ และ “คำพัน พมมะทัด” เป็นประธานองค์การตรวจตราแห่งรัฐ

สังเกตได้ว่า ผู้บริหารประเทศชุดใหม่ของ สปป.ลาว ที่ต้องรับหน้าที่ไปตลอด 5 ปี ข้างหน้า เป็นคนนามสกุล “สีพันดอน” ถึง 3 คน คือสอนไซ, เวียงสะหวัด และเวียงทอง

หลังได้รับเลือกให้ขึ้นดำรงตำแหน่ง พันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของลาว ได้กล่าวถึงภารกิจที่จะทำในช่วง 5 ปีที่รับตำแหน่งว่า

    1. จะรักษาเสถียรภาพทางการเมือง ความสงบ ปลอดภัยในบ้านเมืองอย่างเต็มที่ และจะมุ่งหน้าแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่

    2. จะใช้ทุกมาตรการเพื่อควบคุมเศรษฐกิจมหภาคให้มีความเข้มแข็ง รวมทั้งการปฏิรูประบบการเงิน ระบบงบประมาณของรัฐ เพื่อให้การเติบโตทางเศรษฐกิจมีคุณภาพ และยั่งยืน

    3. ปรับปรุงกลไกการควบคุม การบริหารภาครัฐ ให้มีความกะทัดรัด ว่องไว และโปร่งใส ที่สำคัญ จะเพิ่มความเอาใจใส่ในการติดตาม ตรวจตรา ผลักดัน และประเมินผลงาน การจัดตั้งปฏิบัติตามสิทธิหน้าที่ และขอบเขตความรับผิดชอบของแต่ละภาคส่วนตามระเบียบกฏหมาย

    4. เอาใจใส่ และสร้างบรรดาปัจจัย เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแบบยังยืน แก้ไขความทุกข์ยากของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างตัวเมืองกับชนบท

    5. ยึดถือและปฏิบัติตามแนวทางด้านการต่างประเทศเพื่อสันติภาพ มิตรภาพของพรรค ให้ความสำคัญกับความร่วมมือ และผลักดัน ส่งเสริมความสัมพันธ์ ร่วมมือกับบรรดาประเทศเพื่อนมิตรทางยุทธศาสตร์ ทั้งในแนวกว้างและแนวลึก

สภาแห่งชาติ ชุดที่ 9 จะประชุมไปถึงวันที่ 26 มีนาคม 2564 โดยจะมีการรับฟังและพิจารณาปัญหาสำคัญพื้นฐานของชาติ พิจารณาผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี กับแผนงบประมาณแห่งรัฐ 5 ปี ครั้งที่ 8 (พ.ศ. 2559-2563) และรับรองแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี กับแผนงบประมาณแห่งรัฐ 5 ปี ครั้งที่ 9 (พ.ศ. 2564-2568) ฯลฯ

สภาแห่งชาติ ชุดที่ 9 มีสมาชิกทั้งสิ้น 164 คน ได้รับเลือกตั้งเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ปีนี้ ก่อนหน้านั้น ระหว่างวันที่ 13-15 มกราคม พรรคประชาชนปฏิวัติลาวได้มีการประชุมใหญ่ผู้แทนทั่วประเทศ ครั้งที่ 11 ที่ประชุมได้เลือกทองลุน สีสุลิด ขึ้นเป็นเลขาธิการใหญ่ของพรรค แทนบุนยัง วอละจิต

  • “ทองลุน สีสุลิด” ประธานประเทศลาวคนใหม่
  • “4 เอกชนลาว” โชว์วิสัยทัศน์…เวทีประชุมใหญ่พรรคประชาชนปฏิวัติลาวครั้งที่ 11
  • สมดุล “อิทธิพล” ประเทศ “เพื่อนมิตร” ลาว
  • เข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านผู้บริหาร สปป.ลาว