ThaiPublica > เกาะกระแส > รมช.คลัง ตรวจท่อส่งน้ำภาคตะวันออก เร่งส่งมอบ “วงษ์สยามฯ” ผู้ได้สิทธิบริหารโครงการฯรายใหม่

รมช.คลัง ตรวจท่อส่งน้ำภาคตะวันออก เร่งส่งมอบ “วงษ์สยามฯ” ผู้ได้สิทธิบริหารโครงการฯรายใหม่

24 มกราคม 2023


สันติ พร้อมพัฒน์ เร่งตรวจสอบรายการทรัพย์สิน โครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก กำชับเปลี่ยนผ่านต้องไม่กระทบผู้ใช้น้ำ หลังทำหนังสือยุติให้ อีสท์ วอเตอร์ ดำเนินการ แต่ยังไม่มีการส่งมอบท่อให้บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง เข้าดำเนินการแทน ขณะที่ อีสท์ วอเตอร์ ยืนยันหลักการส่งมอบทรัพย์สิน จะต้องกระทำอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566 นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมนายจำเริญ โพธิยอด อธิบดีกรมธนารักษ์ ลงพื้นที่เส้นทางจังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรี  เพื่อตรวจสอบรายการทรัพย์สิน กระทรวงการคลัง หลังกรมธนารักษ์ได้ลงนามในสัญญาโครงการบริหารจัดการและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออก เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565 กับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับสิทธิบริหารโครงการฯรายใหม่ จากบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์ ซึ่งเป็นผู้บริหารโครงการรายเดิม

สำหรับการส่งมอบทรัพย์สินมีทั้งหมด 3 รายการ ประกอบด้วย

1.โครงการท่อส่งน้ำดอกราย จะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 31 ธันวาคม 2566

2.โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล -หนองค้อ

3.โครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง(ระยะที่2 )

ทั้งนี้ รายการที่ 2 และที่ 3 เป็นรายการที่ไม่มีสัญญา แต่กรมธนารักษ์ได้มีข้อตกลงให้บริษัท อีสท์ วอเตอร์ เป็นผู้บริหารจัดการโครงการในระหว่างยังไม่มีคู่สัญญา  และเมื่อกรมธนารักษ์มีคู่สัญญารายใหม่ คือ บริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด จึงแจ้งขอยุติข้อตกลงกับ อีสท์ วอเตอร์ เพื่อให้บริษัทวงษ์สยามก่อสร้างเข้าไปดำเนินการตามสัญญาที่ลงนามไปแล้ว

แจ้ง อีสท์ วอเตอร์ ขอยุติดำเนินการแต่ยังไม่ส่งมอบท่อ

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากรมธนารักษ์ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังอีสท์ วอเตอร์ ขอยุติข้อตกลงเพื่อให้ผู้มีสิทธิประมูลรายใหม่เข้ามาบริหารจัดการแต่ปัจจุบันนับจากลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ 23  กันยายน 2565 ยังส่งมอบพื้นที่ไม่ได้

นายสันติ กล่าวว่า เพื่อให้การเปลี่ยนผ่าน และการส่งมอบระหว่างผู้บริหารจัดการรายเก่าและผู้บริหารจัดการน้ำรายใหม่ไม่กระทบต่อผู้ใช้น้ำ จึงได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบรายการทรัพย์สินของกระทรวงการคลัง รวมถึงรับทราบปัญหา อุปสรรค และมอบแนวทางแก้ไข อำนวยความสะดวก เพื่อให้การส่งมอบทรัพย์สินของกระทรวงการคลังเป็นไปอย่างราบรื่น

ส่วนการส่งมอบดังกล่าวถือเป็นความล่าช้าหรือไม่ นายสันติ กล่าวว่า  ถ้าเป็นสัญญาโดยทั่วไปหากมีหนังสือแจ้งยุติดำเนินการก็ต้องส่งมอบทันที แต่เนื่องจากโครงการดังกล่าวเกี่ยวข้องกับผู้ใช้ได้ทั้งภาคครัวเรือนและภาคอุสาหกรรม โดยเฉพาะเป็นพื้นที่ EEC มีโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากที่ต้องใช้น้ำตลอดเวลาไม่สามารถหยุดการใช้น้ำได้เลยแม้แต่ 1 ชั่วโมง 3 ชั่วโมง หรือ 6 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นจึงต้องระมัดระวังในการเปลี่ยนผ่านไม่ให้กระทบกับผู้ใช้น้ำ

“เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่นไม่กระทบกับผู้ใช้น้ำ กรมธนารักษ์ และผู้ชนะประมูลที่จะเข้ามาดำเนินการใหม่จะต้องเข้ามาสำรวจรายละเอียดต่างๆทั้งท่อส่งน้ำ มิเตอร์จึงต้องใช้ระยะเวลาในการสำรวจ ระยะหนึ่งก่อนจะเข้ามาดำเนินการ”

นายสันติ ยืนยันว่า การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ต้องไม่กระทบกับผู้ใช้น้ำทั้งภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรม  โดยกำหนดให้มีค่าบริการค่าน้ำไม่เกิน 10.98 บาทต่อหน่วย เพราะฉะนั้นผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนใช้เสมอกันไม่เกินราคานี้ตลอดระยะเวลา 30 ปีนับจากนี้ไป จากเดิมที่ผ่านมาทราบว่าผู้ใช้น้ำที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมบางรายใช้น้ำในอัตราราคาที่สูง

 เตรียมประเมินความเสียหายหากส่งมอบรัฐล่าช้า

สำหรับการส่งมอบที่อาจจะล่าช้า นายสันติบอกว่า จะเร่งรัดให้เกิดส่งมอบเพื่อให้ผู้ประมูลรายใหม่เข้ามาบริหารจัดการ เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ได้สิทธิประมูลรายใหม่ก็จ่ายค่าธรรมเนียม ให้กับรัฐครบถ้วนตามสัญญาแล้ว และยืนยันพร้อมเข้ามาดำเนินการ ดังนั้นหากส่งมอบล่าช้าออกไปรัฐจะเสียประโยชน์  โดยเฉพาะค่าตอบแทนประโยชน์ที่รัฐจะได้รับจากบริษัทที่ได้รับการประมูลรายใหม่มากถึง 27% ซึ่งสูงกว่าที่ได้รับจากรายเดิมหลายเท่า เนื่องจากจ่ายค่าตอบแทนประโยชน์ให้รัฐจาก 3 โครงการเพียง 1%, 3%, 7% เท่านั้น

“ขณะนี้ได้ให้ฝ่ายกฎหมาย และผู้บริหารกรมธนารักษ์ไปตรวจสอบประเมินความเสียหายว่าหาก ส่งมอบโครงการที่ 2 และที่ 3 ล่าช้า เนื่องจากกรมธนารักษ์ได้แจ้งยุติการดำเนินการกับบริษัทรายเดิมไปหลายเดือนแล้วแต่ยังส่งมอบไม่ได้จะทำให้รัฐเสียประโยชน์หรือไม่ ซึ่งฝ่ายกฎหมายต้องพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรในเรื่องนี้”

ทั้งนี้มีรายงานว่า สาเหตุที่ต้องเร่งรัดการส่งมอบท่อ เนื่องจากกรมธนารักษ์ลงนามสัญญากับผู้ชนะการประมูลคือ บริษัทวงษ์สยาม ตั้งแต่ 23 กันยายน 2565 แต่อีสท์ วอเตอร์   ยังไม่ส่งมอบท่อส่งน้ำ อาจทำให้รัฐเสียประโยชน์เพราะ อีสท์ วอเตอร์ จ่ายค่าตอบแทนประโยชน์ เพียงปีละหลัก 10 ล้าน (1% กับ 7%) ขณะที่รายใหม่ (จ่าย 27% ) หรือปีละ 850 ล้านบาท

ด้าน นายจำเริญ โพธิยอด อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวเพิ่มเติมต่อว่า ปัจจุบันกรมธนารักษ์ได้เตรียมความพร้อมเพื่อการส่งมอบทรัพย์สินของรัฐในส่วนของโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล – หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำ  หนองค้อ – แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) โดยกรมธนารักษ์ บริษัท อีสท์ วอเตอร์ และบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด   ได้ร่วมกันดำเนินการสำรวจทรัพย์สินโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล – หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำ หนองค้อ – แหลมฉบัง (ระยะที่ 2)   และอยู่ระหว่างการเจรจาในการส่งมอบพื้นที่คาดว่าหลังจากนี้จะทยอยส่งมอบได้

ทั้งนี้ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้างจำกัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับสิทธิบริหารโครงการรายใหม่ ได้ชำระเงินตามสัญญาและวางเงินประกันการปฏิบัติตามสัญญาฯ ประกอบด้วย1.ค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญา จำนวน580,000,000บาท 2. ผลประโยชน์รายปี  ปีที่ 1 จำนวน 44,644,356 บาท และ 3หลักประกันสัญญา 118,979,500 บาท

พบท่อ 1% เชื่อมรวมท่อ7 % รัฐส่อเสียประโยชน์

ระหว่างการลงพื้นที่ตรวจสอบทรัพย์สิน นายสันติ ได้ตรวจโครงการท่อส่งน้ำสายหลัก บริเวณจุดสถานีจ่ายน้ำลูกค้า สหพัฒน์, สหโคเจน,กปภ. แหลมฉบัง ไร่ 1  และ จุดสถานีจ่ายน้ำลูกค้า บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด  พบความผิดปกติโดยมีการต่อเชื่อมท่อส่งน้ำที่มีสัญญาชดเชยประโยชน์ให้รัฐ 1 %  และโครงการท่อส่งน้ำที่ต้องชดเชยให้กับรัฐ 7% เข้าด้วยกัน ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะเลือกจ่ายประโยชน์ทดแทนให้รัฐในอัตราเดียว แต่ไม่ชัดเจนว่าเป็นอัตรา 1%  หรือ 7 %  ซึ่งในเรื่องนี้กรมธนารักษ์ได้ส่งข้อมูลให้ดีเอสไอตรวจสอบเพื่อดำเนินคดี หากตรวจสอบพบว่าจ่ายค่าตอบแทนให้รัฐในอัตราที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ก็จะมีความผิดเนื่องจากทำให้รัฐเสียประโยชน์  แต่ขณะนี้ยังไม่ชี้ชัดเจนว่าการเชื่อมท่อส่งน้ำดังกล่าวจ่ายค่าตอบแทนในอัตราใด

นอกจากนี้ยังตรวจสอบพบว่ามี 1 จุด คือ ที่บริเวณ สถานีสหโคเจนมีร่องรอยการตัดท่อส่งน้ำที่ชดเชยผลประโยชน์รัฐ 1% กับ 7 %  ออกจากกัน จากเดิมที่เคยเชื่อมเป็นท่อเดียวกัน ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมธนารักษ์ระบุว่า บริเวณนี้ ได้แจ้งความดำเนินคดีไว้แล้ว และ ดีเอสไอได้เข้ามาตรวจสอบความผิดปกติแล้ว

ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่า มีการเชื่อมท่อที่จ่ายผลตอบแทน 1% กับ7% เป็นท่อเดียวกันทั้งหมด 9 จุดเล็ก และมีจุดใหญ่อีก 3 จุด ซึ่งทั้งหมดกรมธนารักษ์ได้แจ้งความดำเนินคดีแล้ว และขณะนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษอยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐานว่าทำให้รัฐเสียประโยชน์หรือไม่

สำหรับการลงพื้นที่ตรวจสอบทรัพย์สินของกรมธนารักษ์ทั้งหมด 5 จุดประกอบด้วย  1 จุดที่ 1 สถานีสูบน้ำดิบหนองปลาไหล  จุดที่ 2 สถานีอาคารพักน้ำหุบบอน จุดที่ 3 สถานีจ่ายน้ำลูกค้า (สหพัฒน์,สหโคเจน,กปภ. แหลมฉบัง ไร่ 1) ซึ่งพบการตัดต่อเชื่อมท่อ 1% และท่อ 7 % เช่นเดียวกับ จุดที่ 4 เชื่อมท่อ 1% และ 7% บริเวณถนนแหลมทอง เทศบาลนครแหลมฉบัง จ. ชลบุรี  และจุดที่ 5 สถานีจ่ายน้ำลูกค้า บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด

อีสท์ วอเตอร์ ยันหลักส่งมอบทรัพย์สินไม่กระทบผู้ใช้น้ำ

ด้านอีสท์ วอเตอร์ ได้แถลงยืนยันว่า  การส่งมอบคืนทรัพย์สินมิใช่การดำเนินการตามความประสงค์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่หัวใจสำคัญของการส่งมอบคืนทรัพย์สินให้แก่กรมธนารักษ์ ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านไปยังผู้ประกอบการรายใหม่ ต้องมีการวางแผนงานและกำหนดแนวทางขั้นตอนการดำเนินการที่เห็นชอบร่วมกันทุกฝ่าย เพื่อมิให้เกิดปัญหาเป็นการดำเนินการที่เลือกปฏิบัติกับผู้ใช้น้ำกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ

นายเชิดชาย ปิติวัชรากุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อีสท์ วอเตอร์ กล่าวว่า เมื่อกรมธนารักษ์ประสงค์ที่จะตัดแยกระบบท่อส่งน้ำของกระทรวงการคลัง และของบริษัทฯ เพื่อแยกดำเนินการและบริหารงานออกจากกัน บริษัทฯ ในฐานะที่เป็นผู้บริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกมากว่า 30 ปี จึงมองเห็นถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาได้อย่างชัดเจนว่าผู้ใช้น้ำจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพการส่งน้ำและผันน้ำลดลงไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไขและปรับปรุง และผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำนี้ ก็มิได้มีแค่เพียงผู้ใช้น้ำตามแนวเส้นทางท่อส่งน้ำของกระทรวงการคลังเท่านั้น แต่ยังมีผู้ใช้น้ำตามแนวเส้นทางท่อส่งน้ำของบริษัทฯ ด้วยเช่นกัน

สำหรับเหตุผลที่การกำหนดแนวทางขั้นตอนการส่งมอบ-รับมอบทรัพย์สิน ต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาการใช้พื้นที่ทับซ้อนด้วย ซึ่งการก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำของบริษัทฯ นั้น บางส่วนมีการใช้พื้นที่ราชพัสดุ เมื่อต้องมีการตัดแยกระบบท่อส่งน้ำออกจากกันเป็น 2 ส่วน จึงทำให้ยังคงมีทรัพย์สินของบริษัทฯ บางส่วนอยู่ในพื้นที่ราชพัสดุ จึงเป็นกรณีที่ทั้งบริษัทฯ และกรมธนารักษ์จะต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาการใช้พื้นที่ทับซ้อน เพื่อให้การจัดทำบริการสาธารณะของบริษัทฯ ด้านการบริหารจัดการท่อส่งน้ำในภาคตะวันออกสามารถดำเนินการอย่างต่อเนื่องได้ต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอุปสรรคและผลกระทบต่อผู้ใช้น้าและเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2539 ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงกระทรวงการคลัง และกรมธนารักษ์ ให้ความร่วมมือและอำนวยความสะดวกแก่บริษัทฯ ในการขอรับการอนุมัติและการทำสัญญาต่างๆ ที่จำเป็นในการดำเนินกิจการของบริษัทฯ ด้วย

อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ได้พิจารณาแล้วพบว่ามีทรัพย์สินโครงการท่อส่งน้ำทั้งสองที่บริษัทฯ ได้รับมอบจากกรมธนารักษ์เมื่อปี 2540 และปี 2541 ซึ่งมิได้ใช้งานสามารถส่งคืนในกรณีที่กรมธนารักษ์มีความประสงค์ให้ส่งมอบคืนบางส่วนได้ต่อไป

ส่วนทรัพย์สินอื่นของโครงการท่อส่งน้ำทั้งสองนั้น บริษัทฯ ยินดีให้ความร่วมมือกับกรมธนารักษ์ในการกำหนดขั้นตอนแนวทางการส่งมอบ-รับมอบทรัพย์สิน โดยมีหลักการและวัตถุประสงค์ไม่สร้างปัญหาอุปสรรคและไม่เกิดผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำ ดังที่คณะกรรมการที่ราชพัสดุได้มีมติให้กรมธนารักษ์ดำเนินการ และเป็นไปตามหลักกฎหมายในเรื่องการจัดทำบริการสาธารณะที่ต้องมีความต่อเนื่องต่อไป

นายเชิดชาย  กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ปัจจุบันบริษัทฯ ได้ใช้สิทธิตามกฎหมายยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลปกครองพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกรมธนารักษ์แจ้งให้บริษัทฯ ส่งมอบทรัพย์สินโครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) ไว้แล้ว และบริษัทฯ ขอสงวนสิทธิใดๆ ตามกฎหมายในการเป็นผู้มีสิทธิใช้และบริหารจัดการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกตามนิติสัมพันธ์ระหว่างบริษัทฯ กับกระทรวงการคลัง และกรมธนารักษ์ รวมทั้งสิทธิของบริษัทฯ ในการดำเนินคดีต่างๆ ในศาลปกครองกับคณะกรรมการคัดเลือกเอกชน กรมธนารักษ์ และคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ต่อไปจนกว่าคดีจะถึงที่สุด รวมทั้งสิทธิประการอื่นใดตามกฎหมาย ตลอดจนสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายทุกประการที่เกิดขึ้นหรือน่าจะเกิดขึ้นต่อไปด้วย