ThaiPublica > เกาะกระแส > อีสท์ วอเตอร์ แจงส่งแผนคืนพื้นที่ท่อส่งน้ำให้กรมธนารักษ์แล้ว พร้อมส่งมอบหลังได้ข้อสรุป

อีสท์ วอเตอร์ แจงส่งแผนคืนพื้นที่ท่อส่งน้ำให้กรมธนารักษ์แล้ว พร้อมส่งมอบหลังได้ข้อสรุป

31 มกราคม 2023


อีสท์ วอเตอร์ เคลียร์ทุกประเด็น พร้อมส่งมอบพื้นที่บริหารจัดการน้ำให้กรมธนารักษ์ ส่งแผนรายละเอียดการส่งคืนระยะ 30 วัน 60 วัน 180 วันไปแล้ว รอการเจรจารายละเอียด ระบุส่งมอบผลประโยชน์ตอบแทนและลงทุนแทนภาครัฐกว่า 3 หมื่นล้านบาท เดินหน้าเพิ่มศักยภาพโครงข่ายท่อส่งน้ำขนาดใหญ่ หรือ Water Grid ที่สมบูรณ์ที่สุด รองรับการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นของลูกค้า

นายเชิดชาย ปิติวัชรากุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์ วอเตอร์  ได้เปิดแถลงข่าวผลดำเนินการของบริษัทปี 2565 และทิศทางธุรกิจปี 2566 และข้อสงสัยประเด็นข่าวต่างๆ

นายเชิดชาย ได้ตอบทุกคำถามที่เกี่ยวกับการส่งมอบพื้นที่บริหารจัดการน้ำให้กรมธนารักษ์ เพื่อให้บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ผู้รับสิทธิ์ดำเนินการรายใหม่เข้าไปดำเนินการแทนในโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก

โดยนายเชิดชาย กล่าวถึงความคืบหน้าในการส่งมอบพื้นที่โครงการท่อส่งน้ำฯ ให้กรมธนารักษ์ เพื่อให้ บริษัท วงษ์ว่า อยู่ระหว่างการหารือกับกรมธนารักษ์ ซึ่งบริษัทได้ทำแผนส่งมอบการส่งมอบพื้นที่ให้กรมธนารักษ์ไปแล้ว แบ่งเป็นระยะ 30 วัน 60 วัน และ 180 วัน นับจากวันที่ได้ข้อสรุป แต่ยังไม่ได้การตอบรับจากกระทรวงคลังว่าจะสรุปให้ส่งมอบอย่างไร

นายเชิดชายยืนยันว่า ไม่ใช่ประเด็นว่าอีสท์  วอเตอร์ไม่ยอมส่งมอบ แต่ยืนยันที่จะส่งมอบ โดยที่ผ่านมามีการหารือร่วมกับกรมธนารักษ์อย่างน้อย 3 ครั้งเพื่อหาข้อสรุป แต่ยังไมมีข้อสรุปว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะมีพื้นที่บางส่วนที่ทับซ้อนกันอยู่ระหว่างกรมธนารักษ์ และอีสท์ วอเตอร์ ซึ่งต้องมีข้อตกลงที่ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาและกระทบกับผู้ใช้น้ำ

“เรายืนยันว่าไม่ใช่ประเด็นว่าเราไม่ส่งมอบ เราเพียงต้องการคุยแผนการดำเนินการให้ชัดเจน เพราะว่ามีบางส่วนที่จะต้องหารือเพื่อให้่การส่งมอบราบรื่นไม่กระทบต่อผู้ใช้น้ำ โดยเราเห็นว่าอะไรที่ไม่เกี่ยวกับโรงสูบน้ำเราจะทยอยคืนไปให้บางส่วนก่อน แต่ยืนยันว่าไม่ติดขัดเรื่องการส่งมอบเพียงแต่ถ้าเราส่งมอบไปแล้วจะต้องมั่นใจว่า ไม่กระทบกับผู้ใช้น้ำ”

  • รมช.คลัง ตรวจท่อส่งน้ำภาคตะวันออก เร่งส่งมอบ “วงษ์สยามฯ” ผู้ได้สิทธิบริหารโครงการฯรายใหม่
  • อย่างไรก็ตาม นายเชิดชาย กล่าวว่า หากที่สุดแล้วมีคำสั่งฉุกเฉินให้ส่งมอบทันที อีสท์วอเตอร์ก็จะดำเนินการตามคำสั่งนั้น แต่หากหลังจากส่งมอบไปแล้ว เกิดอะไรขึ้น คงไม่มีส่วนรับผิดชอบ

    “รายละเอียดเราส่งแบบแผนการส่งมอบไปแล้วแต่ทางนั้นเขายังไม่ตอบกลับมาว่าจะให้เราส่งมอบอย่างไร  ซึ่งต้องมาคุยกันในรายละเอียดว่าจะดำเนินการอย่างไร เราสามารถส่งมอบในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับผู้ใช้น้ำ แต่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้น้ำอาจจะต้องใช้เวลาพิจารณาด้านเทคนิคและการดำเนินการร่วมกันซึ่งไม่สามารถกำหนดเวลาที่ชัดเจนได้ ขึ้นอยู่กับการหารือร่วมกับกรมธนารักษ์”

    สำหรับโครงการที่จะส่งมอบพื้นที่ให้กรมธนารักษ์ ประกอบด้วย 3 โครงการ

      1.โครงการท่อส่งน้ำดอกราย   มาบตาพุด  สัตหีบ จะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 31 ธันวาคม 2566
      2.โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล -หนองค้อ   
      3.โครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง(ระยะที่2 )

    ส่วนกรณีการขอบริหารจัดการร่วมในพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการฟ้องศาลเพื่อขอบริหารร่วมนั้น  นายเชิดชาย กล่าวว่า  ในส่วนพื้นที่ร่วมในการดำเนินการ บริษัทได้ขอเอกสิทธิ์ในการเข้าไปบริหารจัดการ โดยขอให้กรมธนารักษ์เป็นผู้บริหารจัดการ ทรัพย์สินในพื้นที่ทับซ้อน แต่ที่สุดแล้ว หากไม่มีคำสั่งที่ชัดเจนอาจจะต้องรอให้คดีในชั้นศาลสิ้นสุดว่าจะเข้าไปบริหารจัดการพื้นที่ร่วมอย่างไร

    “เราอยากได้ข้อชัดเจน กรณีปัญหาการใช้พื้นที่บริหารร่วมกันทั้งที่บางส่วนเป็นพื้นที่เช่าของกรมธนารักษ์ หรือบางส่วนเป็นพื้นที่ของเราต้องตกลงกันให้ชัดเจน ไม่อย่างนั้นอาจจะเกิดปัญหาภายหลัง โดยพื้นที่ทับซ้อนส่วนใหญ่อยู่บริเวณพื้นที่ดอกราย และมีการบริหารจัดการน่าจะประมาณ 1-2 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน  ส่วนใหญ่ส่งให้นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด”

    ยืนยันจ่ายประโยชน์ตอบแทนถูกต้องตามสัญญา

    กรณี นายสันติ  พร้อมพัฒน์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และกรมธนารักษ์ได้ลงตรวจสอบพื้นที่และตั้งข้อสังเกตว่ามีการเชื่อมต่อท่อส่งน้ำที่มีสัญญาจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้ 1 %  และท่อส่งน้ำที่จ่ายผลประโยชน์ตอบแทน 7 % 

    นายเชิดชาย กล่าวว่า เรื่องนี้ก็พึ่งทราบจากข่าวเช่นกัน โดยยืนยันว่าอีสท์ วอเตอร์จ่ายตามสัญญา ตามมิเตอร์น้ำ โดยในส่วนการจ่ายค่าตอบแทน 7 % นั้นบริษัทอีสท์ วอเตอร์เป็นผู้เสนอเข้าไป เนื่องจากท่อดังกล่าวไม่มีสัญญาที่ชัดเจน

    ส่วนการส่งผลประโยชน์ขึ้นกับสัญญาโดยจ่ายค่าตอบแทน ตามส่วนแบ่งรายได้ คือ ขายได้เท่าไหร ก็จ่ายไปเท่านั้น   นอกจากนี้การชำระภาษีก็ส่งทางกรมธนารักษ์ทุกปี และมีผู้ตรวจสอบบัญชีอยู่แล้ว จึงคิดว่าไม่มีปัญหา

    และในส่วนการส่งเรื่องดังกล่าวไปยัง ดีเอสไอ ดำเนินการนั้น นายเชิดชายกล่าว ดีเอสไอได้ เข้าตรวจสอบตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2565 แต่ขณะนี้ดีเอสไอยังไม่ได้เข้ามาสอบสวนเพิ่มเติม

    อีสท์ วอเตอร์ ย้ำชัด ยังเป็นรายใหญ่จัดการน้ำภาคตะวันออก

    ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังการส่งมอบพื้นที่ให้บริษัทวงศ์สยาม ก่อสร้างจำกัดเข้ามาบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออกบางส่วนจะกระทบกับบริษัทอีสท์ วอเตอร์ หรือไม่

    นายเชิดชาย  กล่าวว่า  ขึ้นอยู่กับลูกค้าผู้ใช้น้ำว่าจะเลือกใช้บริการกับบริษัทใด  ระหว่างจะเลือกราคาหรือ ความมั่นคงในการบริการจัดการน้ำ เนื่องจากที่ผ่านมา อีสท์ วอเตอร์ได้ลงทุนสร้างระบบสำรองน้ำ เอาไว้ทั้งหมด 11 โครงการทำให้นิคมอุตสาหกรรมอย่างมาบตาพุดไม่มีระบบสระสำรองน้ำ อีกทั้งที่ผ่านมาไม่เคยมีสักวันใน 30 วันที่น้ำไม่ไหล

    นอกจากนี้ในเรื่องของราคา บริษัทฯคิดราคาที่เหมาะสม ไม่ใช่เก็บค่าน้ำในอัตราที่สูงถึง 30 บาทอย่างที่เป็นข่าว  นายเชิดชาย ยืนยันว่า  โครงสร้างราคาค่าน้ำ เป็นแบบอัตราคงที่ คือ น้ำอุปโภค บริโภค คิดราคา 9.90 บาทต่อลูกบาศ์กเมตร(ลบ.ม.) และภาคอุตสาหกรรม พื้นที่ระยอง ปลวกแดง  11.50 บาทต่อ ลบ.ม . ในพื้นที่ชลบุรี ฉะเชิงเทรา 12.50 บาทต่อ ลบ.ม. โดยในส่วนราคาภาคอุตสาหกรรมอาจจะมีเก็บเพิ่มในอัตราอื่นตามสัญญาที่ตกลงกัน  หากต้องมีลงทุนเพิ่มขึ้นอยู่กับสัญญาเช่นกัน

    “ผมคิดว่า หลังจากส่งมอบพื้นที่ให้กรมธนารักษ์แล้ว อาจจะไม่กระทบกับเรามากนัก ขึ้นกับผู้บริโภคใช้น้ำว่าจะเลือกใช้บริการกับใคร ถ้าเลือกราคา ก็อาจจะไปที่บริษัทใหม่ที่เสนอราคา 9.50 บาทต่อลบ.ม. แต่อีสท์ วอเตอร์ คิดราคา 9.90 บาทต่อ ลบ.ม. แต่เรามีความมั่นคงในการบริหารจัดการมีระบบสำรองน้ำที่มั่นใจว่าน้ำจะไม่หยุดไหลแน่นอน เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ใช้น้ำ”

    นายเชิดชาย ยังกล่าวอีกว่า หลังจากส่งมอบท่อส่งน้ำในพื้นที่เช่ากรมธนารักษ์ซึ่งมีความยาว 135.9 กิโลเมตร แต่ยังมีในส่วนของอีสวอเตอร์ลงทุนเอง 376.1 กิโลเมตร จากความยาวทั้งหมด 512 กิโลเมตรนั้น คาดว่าไม่กระทบกับการจัดการน้ำและรายได้โดยรวม ซึ่งเชื่อว่า รายได้ในปี 2566 น่าจะเพิ่มขึ้นจากปี 2565 แต่จะเพิ่มเท่าไหรนั้นยังไม่สามารถบอกตัวเลขที่ชัดเจนได้

    ลงทุน 4,200 ลบ.รองรับความต้องการน้ำอีก 20 ปี

    นายเชิดชาย กล่าวต่อว่า อีสท์ วอเตอร์  จะเดินหน้าสร้างความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกอย่างเต็มที่ ด้วยการก่อสร้างระบบโครงข่ายท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ-แหลมฉบัง เพิ่มเติมอีกประมาณ 120 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 4,200 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนวางท่อส่งน้ำสายหลักในครั้งนี้ สามารถรองรับความต้องการของผู้ใช้น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกในอีก 20 ปีข้างหน้า เพื่อเพิ่มศักยภาพโครงข่ายท่อส่งน้ำ เกิดเป็นโครงข่ายท่อส่งน้ำขนาดใหญ่ หรือ Water Grid ที่สมบูรณ์มากขึ้น โดยเชื่อมโยงแหล่งน้ำสำคัญในภาคตะวันออกเกือบทั้ง
    หมด

    นอกจากนี้อีสท์ วอเตอร์ มีแผนเพิ่มศักยภาพแหล่งน้ำต้นทุน ทั้งระยะสั้น  ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อสร้างเสถียรภาพของแหล่งน้ำดิบ  อันจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้น้ำในระยะเวลา 20 ปีข้างหน้า เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อผู้ใช้น้ำ

    อีสท์ วอเตอร์ พัฒนา และยกระดับการให้บริการที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้น้ำให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้ใช้น้ำแต่ละราย ให้บริการธุรกิจน้ำครบวงจรให้แก่กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ทั้งในและนอกพื้นที่ภาคตะวันออก มีรูปแบบการให้บริการน้ำครบวงจร ได้แก่ น้ำดิบ น้ำประปา น้ำอุตสาหกรรม การบำบัดน้ำเสีย และการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ เน้นความต้องการของผู้ใช้น้ำเป็นหลัก เพื่อตอบโจทย์ทุกความต้องการของผู้ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

    “เราได้ดำเนินการคือ โครงข่ายน้ำ water Grid ในพื้นที่ภาคตะวันออกได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องเชื่อมระบบส่งน้ำของกรมธนารักษ์ เข้ากับโครงข่ายทั้งหมดเพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำอย่างมั่นคงได้  โดยแบ่งเป็นพื้นที่เช่าบริหารจากกระทรวงการคลัง 135.9 กิโลเมตร อีสท์ วอเตอร์ลงทุนเอง 376.1 กิโลเมตร รวมความยาวทั้งหมด 512 กิโลเมตรเพื่อสร้างความมั่นคงในการจัดการน้ำ”

    อีสวอร์เตอร์ลงทุนแทนภาครัฐ 3 หมื่นล้าน

    ส่วนกรณีการจ่ายผลตอบแทนภาครัฐที่ระบุว่า อีสวอเตอร์จ่ายผลตอบแทนให้รัฐน้อยนั้น นายเชิดชาย กล่าวว่า ที่ผ่านมาการจ่ายผลตอบแทนภาครัฐเป็นไปตามสัญญาที่ตกลงกันตั้งแต่ต้น โดยที่ผ่านมาตลอด 30 ปีนอกเหนือจากการชำระค่าเช่าบริหารท่อในแต่ละปีให้แก่กรมธนารักษ์ ตั้งแต่ปี 2537-2564 ซึ่งเป็นไปตามสัญญา แบ่งเป็นค่าเช่าท่อกรมธนารักษ์  ตามสัญญาที่กำหนด คือ 588 ล้านบาท  เงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นภาครัฐ 45%  จำนวน 5,500 ล้านบาท ผลประโยชน์ส่วนเพิ่มของผู้ถือหุ้นภาครัฐ จำนวน 3,060 ล้านบาท และลงทุนแทนภาครัฐ ตามมติของคณะรัฐมนตรี จำนวน 31,148 ล้านบาท

    อีสท์ วอเตอร์ ได้เข้ามาบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออกจากมติ ครม. วันที่ 12 กันยายน 2535  ซึ่งปัจจุบันการประปาส่วนภูมิภาค(กปภ.)ถือหุ้นใหญ่  เนื่องจากเห็นว่าภาคตะวันออกมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ มีมูลค่า GDP ถึง 1 ใน 6 ของประเทศ และมีศักยภาพการท่องเที่ยวที่สร้างรายได้สูงปีละ 2 แสนล้านบาท

    ปัจจุบัน อีสท์ วอเตอร์  มีทุนจดทะเบียน 1,664 ล้านบาท มีบริการธุรกิจน้ำครบวงจร  โดยมีบริษัท ยูนิเวอร์แซล ยูทีลิตี้ส์ จำกัด (มหาชน) (UU) และบริษัทในเครือ ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพในการบริหารกิจการประปา และบริหารระบบบำบัดน้ำเสีย ผ่านสัญญาสัมปทาน สัญญาจ้าง หรือสัญญาเช่าบริหารโดยมี กปภ. เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของบริษัทฯ คิดเป็น 40.20%  โดยสัดส่วนรายได้ มาจาก ธุรกิจน้ำดิบ 64 %  น้ำประปา 31 % และ อื่นๆ 5 %