ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เศรษฐกิจเวียดนามปี 2565 โตทะลุ 8% เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ฉายภาพความสำเร็จ

ASEAN Roundup เศรษฐกิจเวียดนามปี 2565 โตทะลุ 8% เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ฉายภาพความสำเร็จ

1 มกราคม 2023


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 25-31 ธันวาคม 2565

  • เศรษฐกิจเวียดนามปี 2565 โตทะลุ 8%
  • เวียดนาม ไทย เมียนมา ผู้ส่งออกข้าวหลักของโลก
  • อินโดนีเซียออกกฎข้อบังคับฉุกเฉินแทน Omnibus Law
  • อินโดนีเซียคุมเข้มส่งออกน้ำมันปาล์ม 1 ม.ค.
  • เศรษฐกิจเวียดนามปี 2565 โตทะลุ 8%

    ภาพต้นแบบจาก: https://www.uncovervietnam.com/ho-chi-minh-city-vietnam/
    ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของ เวียดนามขยายตัว 8.02% ในปี 2565 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่เร็วที่สุดในรอบปีนับตั้งแต่ปี 2540 โดยได้รับแรงหนุนจากยอดค้าปลีกในประเทศและการส่งออกที่แข็งแกร่ง

    ตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าเป้าหมายการเติบโตอย่างเป็นทางการที่ 6.0%-6.5% และการเติบโตในปีที่แล้วที่ขยายตัวเพียง 2.58% เพราะการปิดเมืองเพื่อควบคุมโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและส่งผลกระทบต่อกิจกรรมโรงงาน

    เศรษฐกิจยังเติบโตได้สูงในปีนี้ แม้ว่าจะมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก และผลกระทบต่อความต้องการต่อการส่งออกจากเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าสำคัญ เช่น สิ่งทอ รองเท้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับแบรนด์ต่างประเทศชื่อดัง

    สำนักงานสถิติทั่วไป (GSO) ระบุในรายงานว่า “การขยายตัวทางเศรษฐกิจเห็นชัด ท่ามกลางความไม่แน่นอนและความท้าทายทางเศรษฐกิจและการเมืองทั่วโลก”

    GSO ระบุว่าการเติบโตของ GDP ในไตรมาสที่ 4 อยู่ที่ 5.92% ชะลอตัวลงจากที่ขยายตัว 13.71% ในไตรมาสที่ 3

    การส่งออกในปี 2565 เพิ่มขึ้น 10.6% มีมูลค่ารวม 371.85 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 19.8% ราคาผู้บริโภคในเดือนธันวาคมเพิ่มขึ้น 4.55% จากปีก่อนหน้า

    นายเหวียน ฝู จ่อง เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ที่มาภาพ:https://en.vietnamplus.vn/vietnam-gathering-momentum-for-sustainable-development-party-leader/246404.vnp

    ความสำเร็จของเวียดนามปี 2565
    นายเหวียน ฝู จ่อง เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ได้กล่าวว่า เวียดนามกำลังมีแรงขับเคลื่อนในการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งเน้นย้ำถึง ความสำเร็จของเวียดนามในปี 2565และผลที่จะมีต่อการเติบโตในปี 2566

    เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ได้ให้สัมภาษณ์กับ Vietnam News Agency เนื่องในโอกาสเทศกาลตรุษจีนปี 2566 และวันครบรอบ 93 ปีของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม (Communist Party of Vietnam-CPV) ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566

    นายเหวียน ฝู จ่อง ชี้ให้เห็นถึงความยากลำบากที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิดในปี 2565 โดยกล่าวว่า โลกมีการพัฒนาที่รวดเร็ว ซับซ้อน คาดเดาไม่ได้ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เวียดนามต้องยกระดับการพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคม และรับมือกับผลกระทบของการระบาดใหญ่ของโควิด-19 โรคตามฤดูกาล และภัยธรรมชาติ

    ภายใต้สถานการณ์ช่นนั้น ด้วยฉันทามติและความมุ่งมั่นของระบบการเมืองทั้งหมด เวียดนามได้บรรลุเป้าหมาย 14 เป้าหมายจากทั้งหมด 15 เป้าหมาย GDP เติบโตสูงถึงประมาณ 8% สูงกว่าเป้าหมาย 6-6.5% ที่วางไว้ ภาคเศรษฐกิจหลักฟื้นตัวและพัฒนาอย่างแข็งแกร่ง รายรับในงบประมาณของรัฐเพิ่มขึ้น 20% จากปี 2564 ในขณะที่การลงทุนทั้งหมดในสังคมเพิ่มขึ้น 12.5% ​​โดยการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ได้มีการเบิกเงินลงทุนไปแล้ว 22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 16% มูลค่าการส่งออกและนำเข้าทั้งหมดเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบรายปี ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 740 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ช่วยให้เวียดนามยังคงเป็นหนึ่งใน 25 อันดับแรกของประเทศที่มีการค้าสูง นอกจากนี้ งานด้านวัฒนธรรม กีฬา และความบันเทิงใหญ่ๆ หลายรายการ โดยเฉพาะการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ก็ประสบความสำเร็จ

    เลขาธิการใหญ๋ของพรรคฯเน้นย้ำว่า เวียดนามค่อยๆ ก้าวข้ามความยากลำบากและความท้าทายในการทำหน้าที่ให้สำเร็จและครอบคลุม ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันสำคัญสำหรับประเทศในการก้าวเข้าสู่ปี 2566 ด้วยความไว้วางใจ ขวัญกำลังใจ และความมุ่งมั่นใหม่ที่จะพัฒนาต่อไปอย่างรวดเร็วและยั่งยืน

    นายเหวียน ฝู จ่องกล่าวว่า ต้องขอบคุณการดำเนินงานที่ดีของพรรคกับการสร้างและแก้ไขระบบการเมือง ตลอดจนการเร่งรัดการขจัดการทุจริตและปรากฏการณ์เชิงลบที่เพิ่มขึ้น เวียดนามยังคงรักษาเสถียรภาพทางการเมืองและสังคมได้อย่างมั่นคง ส่งเสริมการฟื้นตัวและการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม ขยายความสัมพันธ์กับภายนอก และเสริมสร้างความไว้วางใจของประชาชนและมิตรประเทศ

    ด้วยความแข็งขันและมีความรับผิดชอบสูง เวียดนามได้รับตำแหน่งในระดับนานาชาติมากมาย รวมทั้งการเป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติและการเป็นสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ นอกจากนี้ยังส่งเจ้าหน้าที่หลายร้อยคนไปปฏิบัติภารกิจรักษาสันติภาพของสหประชาชาติ

    นอกจากนี้ เวียดนามยังได้มีส่วนร่วมในการยุติปัญหาสำคัญระหว่างประเทศหลายประเด็น การแสดงความคิดเห็น ความคิดริเริ่ม และมาตรการแก้ไขปัญหาที่สมเหตุสมผลบนพื้นฐานความเท่าเทียม มิตรภาพ มนุษยธรรม และกฎหมายระหว่างประเทศได้รับการสนับสนุนจากประชาคมระหว่างประเทศ

    นายเหวียน ฝู จ่องกล่าวว่า การเยือนจีนอย่างเป็นทางการเมื่อเร็วๆ นี้ของคณะผู้แทนระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์ ไม่เพียงแต่เป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญเป็นพิเศษต่อเวียดนามและจีนเท่านั้น แต่ยังได้รับความสนใจจากสาธารณชนอย่างมากด้วย

    การเยือนประเทศอื่นของผู้นำพรรคและรัฐ รวมทั้งการเข้าร่วมเวทีระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ เช่น สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) สมัชชารัฐสภาอาเซียน (AIPA) การประชุมเอเชีย-ยุโรป (ASEM) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก(APEC) และสหภาพรัฐสภา (IPU) ตลอดจนการเยือนของผู้นำต่างประเทศ สะท้อนภาพที่สดใสด้านความสัมพันธ์ภายนอก และเป็นก้าวสำคัญในการดำเนินนโยบายภายนอกพรรคฯ ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี สร้างสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศที่เอื้ออำนวยต่อการเร่งการขยายตัวตัวไปสู่อุตสาหกรรม การพัฒนาให้ทันสมัย ​​และการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม

    เลขาธิการใหญ่พรรคฯมองว่า ปัญหาและความท้าทายจะมีมากขึ้นในอนาคต ทำให้เวียดนามต้องตื่นตัว และยังคงควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และโรคระบาดที่เกิดขึ้นใหม่อย่างมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง และเน้นการจัดสรรทรัพยากรไปที่การฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

    เลขาธิการใหญ่พรรคฯเน้นย้ำว่า ต้องให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค การควบคุมอัตราเงินเฟ้อ และรักษาความสมดุลที่สำคัญของเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องเสริมสร้างการป้องกันและการขจัดการทุจริตและปรากฏการณ์เชิงลบ ควบคู่ไปกับการผนึกการป้องกันและความมั่นคง การปกป้องเอกราช อำนาจอธิปไตย เอกภาพ และบูรณภาพแห่งดินแดนอย่างมั่นคง ตลอดจนความมั่นคงทางการเมือง ความสงบเรียบร้อยของสังคมและความปลอดภัย และยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการส่งเสริมการบูรณาการระหว่างประเทศที่ครอบคลุมและเข้มข้นอย่างแข็งขัน และยกระดับประสิทธิภาพด้านกิจการภายนอก

    เลขาธิการใหญ่พรรคฯเน้นย้ำอีกว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและคาดเดาไม่ได้ในโลก แม้ว่าจะเผชิญกับความยากลำบากมากมาย เวียดนามซึ่งมีฉันทามติและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและความมุ่งมั่นอย่างสูงของทั้งพรรค ประชาชน และกองทัพ จะต้องมั่นใจว่าจะปฏิบัติตามมติของที่ประชุมมัชชาใหญ่พรรคพรรคอมมิวนิสต์เวียดนามสมัยที่ 13 ให้สำเร็จ ด้วยการทำให้ประเทศแข็งแกร่งและมั่งคั่งยิ่งขึ้น ทัดเทียมกับมหาอำนาจโลกตามที่ประธานโฮ จิ มินห์แสดงความปรารถนาไว้

    เวียดนาม ไทย เมียนมา ผู้ส่งออกข้าวหลักของโลก

    ที่มาภาพ: https://indonesia.postsen.com/local/393659/The-World-Bank-Calls-Rice-in-Indonesia-the-Most-Expensive-in-Southeast-Asia-Here-Are-3-Reasons.html
    เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ได้มีการเปิดตัวรายงาน “Southeast Asia Paddy Industry 2023-2032” หรือรายงานการวิจัยเกี่ยวกับอุตสาหกรรมข้าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปี 2566-2575″ เพื่อจำหน่ายในแพลตฟอร์ม ResearchAndMarkets.com

    ในแง่ปริมาณการผลิตพบว่า อินโดนีเซีย เวียดนาม ไทย เมียนมา และฟิลิปปินส์เป็นผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในปี 2563 อินโดนีเซียติดอันดับที่หนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยการผลิตข้าวถึง 55.535 ล้านตัน

    เวียดนาม ไทย เมียนมา และกัมพูชา เป็นผู้ส่งออกข้าวหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่บรูไน สิงคโปร์ และประเทศอื่นๆ โดยพื้นฐานต้องพึ่งพาการนำเข้าข้าวและประเทศอื่นๆ เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ต้องนำเข้าข้าวจำนวนมากเช่นกันเพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศทุกปี

    เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในรายงานฉบับนี้ประกอบด้วย 10 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม เมียนมา บรูไน ลาว และกัมพูชา ด้วยจำนวนประชากรทั้งหมดกว่า 600 ล้านคนภายในสิ้นปี 2564 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก และเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนหลักต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในอนาคต

    จากการวิเคราะห์ของรายงาน ระดับเศรษฐกิจของ 10 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยสิงคโปร์เป็นประเทศพัฒนาแล้วเพียงประเทศเดียวที่มี GDP ต่อหัวประมาณ 73,000 เหรียญสหรัฐในปี 2564 ในขณะที่เมียนมาและกัมพูชาจะมี GDP ต่อหัวไม่ถึง 2,000 เหรียญสหรัฐในปี 2564

    จำนวนประชากรและระดับค่าจ้างขั้นต่ำก็แตกต่างกันอย่างมากในแต่ละประเทศ โดยบรูไนเป็นประเทศที่มีประชากรน้อยที่สุดรวมแล้วไม่ถึง 500,000 คนในปี 2564 และอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุด ประมาณ 275 ล้านคนในปี2564 ประเทศที่ก้าวหน้าทางเศรษฐกิจมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่มีค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย โดยค่าจ้างขั้นต่ำจริงสูงกว่า 400 เหรียญสหรัฐต่อเดือน (สำหรับแม่บ้านต่างชาติ) ในขณะที่ระดับค่าจ้างขั้นต่ำต่ำสุดในเมียนมาอยู่ที่ประมาณ 93 เหรียญสหรัฐเท่านั้นต่อเดือน

    โดยรวมแล้ว ขนาดของตลาดข้าวในหลายประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรและการพัฒนาทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ก็ยิ่งมีผลให้ความต้องการข้าวจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

    จากรายงาน อุตสาหกรรมข้าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องในช่วงปี 2566-2575 โดยมี เวียดนาม ไทย และเมียนมาเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก และความต้องการอาหารทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นได้ส่งผลให้การผลิตและการส่งออกข้าวของทั้งสามประเทศนี้ขยายตัวมากขึ้น

    ในขณะเดียวกัน จำนวนประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการข้าวเพิ่มขึ้น และการพัฒนาทางเศรษฐกิจนำไปสู่การเปลี่ยนประเภทของข้าวที่คนต้องการเป็นข้าวคุณภาพสูง ซึ่งก็ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

    อินโดนีเซียออกกฎข้อบังคับฉุกเฉินแทน Omnibus Law

    การประท้วงกฎหมาย omnibus law ปี 2020 ที่มาภาพ: https://www.benarnews.org/english/news/indonesian/jobs-law-10052020165828.html

    ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซียได้ลงนามใน กฎข้อบังคับฉุกเฉินเพื่อแทนที่กฎหมายการสร้างงาน(job creation law) หรือที่รู้จักกันในชื่อ Omnibus Law จากการเปิดเผยของนายAirlangga Hartarto ซึ่งเป็น Chief Economics Minister เมื่อวันศุกร์(30 ธ.ค.2565) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินมีข้อบกพร่อง

    ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายบางคนวิพากษ์วิจารณ์ความเคลื่อนไหวดังกล่าวว่า เป็นความพยายามของรัฐบาลที่จะเลี่ยงการอภิปรายที่ควรจะมีในรัฐสภา แต่นาย Airlangga Hartarto ล่าวว่า กฎดังกล่าวมีขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจทางกฎหมายและบรรลุเป้าหมายการลงทุนของรัฐบาลท่ามกลางความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลก

    เมื่อปีที่แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า การผ่านกฎหมายสร้างงานของประธานาธิบดีมีข้อบกพร่อง เนื่องจากไม่ได้ทำการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณะไม่มากพอ และสั่งให้ฝ่ายนิติบัญญัติเริ่มกระบวนการนี้ใหม่ภายในสองปี มิฉะนั้นกฎหมายฉบับจะถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ

    กฎหมายที่เรียกว่า “omnibus” ของอินโดนีเซียผ่านการรับรองในปี 2563 และได้มีการปรับปรุงกฎหมายอื่นๆ มากกว่า 70 ฉบับ และได้รับการยกย่องจากนักลงทุนต่างชาติ ว่าเป็นการปรับปรุงกฎเกณฑ์ทางธุรกิจในประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องระบบราชการที่เข้มงวด

    แต่กฎหมายฉบับนี้ได้จุดชนวนการประท้วงทั่วประเทศจากคนงาน นักศึกษา และกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งระบุว่า กระทบต่อการคุ้มครองแรงงานและสิ่งแวดล้อม

    เมื่อกล่าวถึงคำตัดสินของศาล นายแอร์ลังกากล่าวว่า “ตามรัฐธรรมนูญแล้ว กฎระเบียบฉุกเฉินจะเข้ามาแทนกฎหมายการสร้างงาน”

    Chief Security Minister นายMahfud MD กล่าวว่า รัฐบาลเลือกใช้กฎฉุกเฉิน เนื่องจากขั้นตอนปกติในการปฏิบัติตามคำตัดสินจะใช้เวลานานเกินไป รัฐบาลจำเป็นต้องตัดสินใจ “มาตรการเชิงกลยุทธ์” จากการคาดการณ์ผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกและวิกฤติอาหารที่อาจเกิดขึ้นในปีหน้า

    โดยปกติกฎข้อบังคับฉุกเฉินมักจะมีผลบังคับใช้ทันที แต่ต้องได้รับการรับรองจากรัฐสภาภายในสมัยการประชุมครั้งต่อไปจึงจะมีผลเป็นกฎหมายถาวร

    รัฐสภามีกำหนดเปิดสมัยประชุมในวันที่ 10 มกราคม สำหรับสมัยสามัญที่มีระยะเวลาสี่เดือน

    ความขัดแย้งที่ใหญ่ที่สุดในกฎหมายการสร้างงาน ได้แก่ กฎเกณฑ์ที่ผ่อนคลายเกี่ยวกับค่าชดเชย การเปลี่ยนแปลงสูตรค่าจ้างขั้นต่ำ สัญญาจ้างแรงงานและการว่าจ้างบุคคลภายนอก(outsourcing) และข้อกำหนดว่าการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ที่บังคับเฉพาะการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงเท่านั้น

    กฎข้อบังคับฉุกเฉินได้มีการปรับเปลี่ยนบางด้านในกฎหมายดังกล่าว เพื่อสะท้อนความต้องการของสหภาพแรงงาน นายAirlangga กล่าว รวมถึงการจำกัดการ outsourcing ไปยังบางภาคส่วน และเพิ่มองค์ประกอบสำหรับสูตรที่ใช้ในการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อให้คำนึงถึงกำลังซื้อ

    นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำว่ารัฐบาลได้ดำเนินการรับฟังความเห็นจากสาธารณะมากขึ้นตั้งแต่ศาลมีคำพิพากษา

    อินโดนีเซียคุมเข้มส่งออกน้ำมันปาล์ม 1 ม.ค.

    ที่มาภาพ: https://www.laprensalatina.com/indonesia-to-ban-refined-palm-oil-export-soon/
    อินโดนีเซียคุมเข้มการส่งออกน้ำมันปาล์มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. เพื่อพยุงอุปทานก่อนเดือนรอมฎอน
    อินโดนีเซียจะใช้กฎที่เข้มงวดขึ้นกับการส่งออกน้ำมันปาล์มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม โดยอนุญาตให้ส่งออกไปต่างประเทศลดลงสำหรับทุกๆ ตันที่ขายในประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่ามีน้ำมันสำหรับปรุงอาหารเพียงพอและราคาย่อมเยาในประเทศ เจ้าหน้าที่กล่าวเมื่อวันศุกร์(30 ธ.ค.2565)

    ผู้ส่งออกจะได้รับอนุญาตให้จัดส่งได้ 6 เท่าของปริมาณการขายในประเทศ ซึ่งน้อยกว่าอัตราส่วนปัจจุบันที่ 8 เท่า จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่และกฎใหม่

    “นี่เป็นมาตรการป้องกันการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันปรุงอาหารในประเทศ เนื่องจากความต้องการเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนรอมฎอนและวันอีดิลฟิฏรี ซึ่งจะอยู่ในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน 2566” Budi Santoso เจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการค้ากล่าว

    Septian Hario Seto เจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงประสานงานกิจการทางทะเลและการลงทุน กล่าวว่า การคุมเข้มดังกล่าวมีเป้าหมายเฉพาะเพื่อรักษาอุปทานในประเทศสำหรับไตรมาสแรกของปี 2566

    รัฐบาลจะยังคงประเมินอัตราส่วนการส่งออกเป็นระยะ โดยคำนึงถึงความพร้อมจำหน่ายของน้ำมันปรุงอาหารและราคา Seto กล่าว

    การคุมเข้มของอินโดนีเซียทำให้ราคาน้ำมันปาล์มล่วงหน้าของมาเลเซียพุ่งขึ้นในวันศุกร์ และแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม ที่ 4,193 ริงกิต (950.79 ดอลลาร์) ต่อตัน

    เมื่อต้นปีที่ผ่านมา อินโดนีเซียได้พยายามควบคุมไม่ให้ราคาน้ำมันปรุงอาหารพุ่งเกินไปและควบคุมไม่ได้ และออกมาตรการส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม เพื่อพยายามพยุงอุปทานและดึงราคาลง

    การห้ามส่งออกน้ำมันบริโภคจากอินโดนีเซียในช่วงสั้นๆ ทำให้ตลาดปั่นป่วนและทำให้ความกังวลด้านอุปทานที่มีอยู่ทั่วโลกทวีความรุนแรงขึ้น แต่ก็นำไปสู่การเพิ่มปริมาณสินค้าคงคลังภายในประเทศด้วย

    ปัจจุบัน อินโดนีเซียกำหนดเงื่อนไขที่เรียกว่า domestic market obligation (DMO) ซึ่งกำหนดให้ธุรกิจขายผลผลิตบางส่วนในประเทศเพื่อแลกกับใบอนุญาตส่งออก

    Eddy Martono เลขาธิการสมาคมน้ำมันปาล์มแห่งอินโดนีเซีย (GAPKI) กล่าวว่า ได้มีการสะท้อนความกังวลออกมาในระหว่างการประชุมกับรัฐบาลเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเกี่ยวกับการจัดหาน้ำมันปรุงอาหาร ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงการไบโอดีเซลของรัฐบาล และการคาดการณ์ผลผลิตน้ำมันปาล์มในไตรมาสแรกว่าจะลดลง

    อินโดนีเซียกำลังวางแผนที่จะเพิ่มส่วนประกอบน้ำมันปาล์มบังคับในไบโอดีเซลเป็น 35% เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์

    แม้ว่าธุรกิจจะปฏิบัติตามกฎระเบียบ Eddy กล่าวว่า อัตราส่วนการส่งออกใหม่ควรได้รับการประเมินอย่างสม่ำเสมอในระยะสั้นเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้อุปทานล้นตลาด