ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup อินโดนีเซียชูสิทธิประโยชน์ภาษีเขต SEZ จูงใจนักลงทุนต่างชาติ

ASEAN Roundup อินโดนีเซียชูสิทธิประโยชน์ภาษีเขต SEZ จูงใจนักลงทุนต่างชาติ

26 กันยายน 2021


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 19-25 กันยายน 2564

  • อินโดนีเซียชูสิทธิประโยชน์ภาษีเขต SEZ จูงใจนักลงทุนต่างชาติ
  • เมียนมายกระดับเขตเศรษฐกิจเจ้าก์ผิ่วเชื่อม BRI จีน
  • เวียดนามประกาศตัวหวังขึ้นแท่นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารในภูมิภาค
  • เวียดนามเริ่มไต่สวนการทุ่มตลาดน้ำตาลไทย
  • อินโดนีเซียชูสิทธิประโยชน์ภาษีเขต SEZ จูงใจนักลงทุนต่างชาติ

    ที่มาภาพ:https://kek.go.id/en/

    อินโดนีเซียมีเขตเศรษฐกิจพิเศษ 19 แห่ง (Special Economic Zones :SEZ) โดย 14 แห่งเปิดดำเนินการอยู่ ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วจะถือว่าเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ใหญ่ที่สุดในโลก (พื้นที่กระจายมากกว่า 6 ล้านกิโลเมตร)

    รัฐบาลอินโดนีเซียให้คำมั่นที่จะให้ความสำคัญกับนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจเฉพาะเป็นลำดับต้นๆในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ส่งเสริมอุตสาหกรรม และส่งเสริมการสร้างงาน ด้วยการอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมผ่าน โครงการจูงใจด้านภาษีภายใต้ระเบียบกระทรวงการคลัง

    สิทธิประโยชน์ทางภาษีเหล่านี้รวมถึงการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อากรขาเข้า ภาษีขายสำหรับสินค้าฟุ่มเฟือย และภาษีสรรพสามิต

    รัฐบาลได้มุ่งมั่นที่จะกระจายกิจกรรมทางเศรษฐกิจออกจากเกาะชวา ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 58 ของ GDP ของทั้งประเทศ และคิดเป็นร้อยละ 60 ของประชากรทั้งหมดของประเทศที่มี 270 ล้านคน ดังนั้นจึงมี SEZ เพียง 6 แห่งเท่านั้นที่ตั้งอยู่บนเกาะชวา และส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาครอบนอก เช่น สุมาตราและสุลาเวสี

    การออกมาตรการจูงใจด้านภาษีล่าสุดในช่วงปลายปี 2020 ถูกมองว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมเมื่อการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทำให้องค์กรต่างๆ พิจารณาสถานที่ตั้งของฐานการผลิตอีกครั้ง

    ที่มาภาพ: https://www.aseanbriefing.com/news/tax-incentives-for-special-economic-zones-in-indonesia/

    เพื่อใช้ประโยชน์จากห่วงโซ่อุปทานโลกที่ปรับเปลี่ยนไป อินโดนีเซียยังได้บังคับใช้กฎหมายการสร้างงานหรือที่เรียกว่า Omnibus Law ซึ่งมีจุดมุ่งหมายให้การอนุญาตธุรกิจง่ายขึ้น ปรับปรุงกฎระเบียบด้านภาษีนิติบุคคล ผ่อนคลายกฎหมายแรงงาน และลดข้อจำกัดการลงทุนจากต่างประเทศ รัฐบาลตระหนักดีว่ากฎหมายแรงงานที่เข้มงวดของอินโดนีเซียไม่จูงใจนักลงทุน

    แรงจูงใจด้านภาษีประกอบด้วย
    ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางธุรกิจในเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจเฉพาะแบ่งออกเป็น ผู้เสียภาษี 2 ประเภทคือองค์กรธุรกิจและผู้ประกอบธุรกิจ

    ทั้งองค์กรธุรกิจและผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิ์ได้รับการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ร้อยละ 100 โดยมีเงื่อนไขว่าการลงทุนดำเนินการในเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจเฉพาะ ต้องมีมูลค่าการลงทุนขั้นต่ำ 100 พันล้านรูเปียะห์ (7 ล้านเหรียญสหรัฐ) เป็นระยะเวลา 10 ปี .

    เมื่อครบสิบปี ผู้เสียภาษีมีสิทธิได้รับการลดหย่อน ร้อยละ 50 โดยต้องชำระสำหรับ 2 ปีถัดไป นอกจากนี้ ในช่วงระยะเวลาที่สัญญายังมีผล จะไม่มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับรายได้ที่มีสิทธิ์ เช่น รายได้จากที่ดินและค่าเช่าอาคาร

    ค่าลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล
    ผู้เสียภาษีที่ลงทุน 100 พันล้านรูเปียะห์ (7 ล้านเหรียญสหรัฐ) ก็มีสิทธิ์ได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล หลายรายการเช่นกัน คือ
    •หักลดหย่อนรายได้สุทธิลดลงร้อยละ 30 จากการลงทุนทั้งหมดในสินทรัพย์ถาวรเป็นเวลา 6 ปีในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี
    •หัก ค่าเสื่อมราคาแบบได้ถึงร้อยละ 100 ของอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์
    •ลดอัตราภาษี ณ ที่จ่าย ร้อยละ 10 หรืออัตราตามสนธิสัญญา จากการจ่ายเงินปันผลให้กับ non-resident
    •ขาดทุนทางภาษียกมาได้นานสูงสุด 10 ปี

    ภาษีนำเข้าและสรรพสามิต
    อากรขาเข้า ภาษีในการนำเข้า และภาษีสรรพสามิต ได้รับการยกเว้นสำหรับสินค้าที่ต้องเสียภาษีดังต่อไปนี้
    •สินค้าทุนที่ใช้ในการก่อสร้างหรือพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจเฉพาะเป็นระยะเวลา 5 ปี และ
    •การนำเข้าวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมบริการ (สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษการท่องเที่ยว)
    •การนำเข้าสินค้าที่จะขายในร้านค้าและศูนย์การค้า (สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษการท่องเที่ยว)

    ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีขายสำหรับสินค้าฟุ่มเฟือย ภาษีมูลค่าเพิ่มจะไม่มีการเรียกเก็บจากธุรกรรมต่อไปนี้
    •การนำเข้าสินค้าที่จับต้องได้ที่ต้องเสียภาษีมาใน SEZ โดยองค์กรธุรกิจ
    •การส่งมอบสินค้าที่จับต้องได้ที่ต้องเสียภาษีจากเขตการค้าเสรีของชาวอินโดนีเซีย เขตศุลกากร หรือคลังสินค้าทัณฑ์บนไปให้นิติบุคคล
    •การส่งมอบบริการหรือสินค้าที่ต้องเสียภาษี รวมถึงที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างโดยองค์กรธุรกิจในเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตเศรษฐกิจเฉพาะ ไปยังองค์กรธุรกิจอื่นในเขตเศรษฐกิจพิเศษเดียวกันหรือเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่น และ
    •การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคเข้าสู่เขตเศรษฐกิจพิเศษการท่องเที่ยว

    การไม่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มยังใช้กับวัตถุดิบที่จำเป็นในการให้บริการที่ต้องเสียภาษีหรือสินค้าที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการซ่อมบำรุงเรือและเครื่องบิน การซ่อมแซม และการยกเครื่อง

    เมียนมายกระดับเขตเศรษฐกิจเจ้าก์ผิ่วเชื่อม BRI จีน

    ที่มาภาพ:https://www.irrawaddy.com/news/burma/agreement-moves-myanmars-kyaukphyu-port-project-a-step-forward.html
    เมื่อวันที่ 15 กันยายนที่กรุงปักกิ่ง ได้มีการลงนามในข้อตกลงเพื่อดำเนินการสำรวจภาคสนามเบื้องต้นสำหรับโครงการท่าเรือน้ำลึกในเขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าก์ผิ่ว( Kyaukphyu SEZ) เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความก้าวหน้าอีกขั้นของโครงการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (BRI) ของจีนในเมียนมา

    ผู้พัฒนาหลักของโครงการคือ China International Trust and Investment Corporation Group (CITIC) ประกาศว่า CITIC Consortium Myanmar Port Investment Limited ในฐานะลูกค้า ได้ลงนามกับผู้ที่ชนะการประมูล ซึ่งเป็นกลุ่มที่ประกอบด้วย CITIC Construction และ CCCC FHDI ที่เป็นบริษัทย่อยของ China Communication Construction Company เพื่อดำเนินการบริการให้คำปรึกษาและงานสำรวจพื้นที่เบื้องต้นในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของเมียนมา ที่ตั้งโครงการ

    เขตเศรษฐกิจเจ้าก์ผิ่ว เป็นโครงการหลักภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา (CMEC) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ BRI ที่ตั้งความคาดหวังไว้สูงของจีน

    โครงการนี้ยังรวมถึงแผนการสร้างเขตอุตสาหกรรมพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การแปรรูปวัสดุก่อสร้าง การแปรรูปอาหาร เวชภัณฑ์ อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์และบริการทางทะเล และการวิจัย โครงการทั้งหมดมีแผนที่จะครอบคลุมพื้นที่ 4,300 เอเคอร์ (1,740 เฮกตาร์)

    ระหว่างการเยือนเมียนมาของประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนในเดือนมกราคม 2020 ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามในสัมปทานและข้อตกลงของผู้ถือหุ้นสำหรับท่าเรือน้ำลึก ซึ่งตามข้อตกลง ทั้งสองฝ่ายจะก่อตั้งกิจการร่วมค้าเพื่อดำเนินการก่อสร้างและดำเนินการโครงการ

    ในเดือนพฤศจิกายน 2018 คณะกรรมการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าก์ผิ่ว และ CITIC ได้ลงนามในกรอบข้อตกลงสำหรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าก์ผิ่ว ที่ล่าช้ามานาน

    ข้อตกลงเบื้องต้นประเมินว่าโครงการมีมูลค่า 9-10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันว่าโครงการจะเริ่มในระดับ “ขนาดเล็กหรือขนาดกลาง” ภายใต้รัฐบาลชุดที่แล้ว ท่าเรือน้ำลึกระยะแรกได้ดำเนินการด้วยงบประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

    เวียดนามประกาศตัวหวังขึ้นแท่นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารในภูมิภาค

    ที่มาภาพ:https://en.vietnamplus.vn/vietnam-wants-to-become-food-innovation-hub-in-the-region-president/208551.vnp
    ประธานาธิบดีเหงียน ซวนฟุก เวียดนามประกาศในการประชุมสุดยอดระบบอาหารแห่งสหประชาชาติ (UN Food Systems Summit) ซึ่งจัดขึ้นที่นิวยอร์กเมื่อวันที่ 23 กันยายน (ตามเวลาท้องถิ่น)ว่า เวียดนามหวังว่าจะเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมด้านอาหารในภูมิภาค

    ในการกล่าวสุนทรพจน์ ประธานาธิบดีฟุกระบุว่า “ความร่วมมือระหว่างประเทศ พันธมิตร และผู้ดำเนินการในระบบอาหารจะต้องให้บริการเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน”และเน้นว่า ความมั่นคงด้านอาหารเป็นรากฐานความพยายามของเวียดนามในการขจัดความยากจน ยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชน ส่งเสริมการพัฒนาการเกษตรของเวียดนาม “โปร่งใส รับผิดชอบ และยั่งยืน”

    ด้วยเจตนารมณ์ดังกล่าว ผู้นำแห่งรัฐเวียดนามจึงได้มีข้อเสนอหลายประการเพื่อประกันความมั่นคงด้านอาหารในบริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการระบาดของไวรัสโควิด-19

    ประธานาธิบดีเวียดนามได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการดำเนินตามรูปแบบการพัฒนาการเกษตรที่ “มูลค่าหลากหลาย” ซึ่งครอบคลุมประเด็นทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ภูมิประเทศ และสิ่งแวดล้อม

    การพัฒนาการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปล่อยมลพิษต่ำ และ “อิงธรรมชาติ” ที่สามารถรับมือกับสภาพอากาศและตอบสนองต่อวิวัฒนาการที่ซับซ้อนของโควิด-19 มีความจำเป็น ประธานาธิบดีฟุกกล่าว พร้อมเสริมว่าควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในชนบท การรับประกันว่ามีอาหาร ลดการสูญเสียอาหารและเศษอาหาร การจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ และการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ

    ประธานาธิบดีฟุกเรียกร้องให้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรที่เอื้อต่อการผลิตทางการเกษตรและการพัฒนาเศรษฐกิจในชนบท โดยระบุว่า ควรส่งเสริมให้ภาคเอกชนลงทุนอย่างรับผิดชอบ และควรขยายรูปแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนให้ดีขึ้นด้วย

    ประธานาธิบดีฟุกเสนอแนะให้จัดทำและปรับปรุงแผนโภชนาการที่สมดุลแห่งชาติเป็นประจำเพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการผลิตและการจัดจำหน่าย โดยเสริมว่าสิ่งสำคัญคือ ต้องให้ความรู้มากขึ้นและเผยแพร่ข้อมูลเพื่อสร้างระบบอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารที่สมดุลและเหมาะสมทางโภชนาการ และสีเขียว และแนวโน้มการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ ควบคู่กับการป้องกันการสิ้นเปลือง

    ประธานาธิบดีฟุกยังกล่าวอีกว่า การปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลต้องมาพร้อมกับการปฏิรูปนโยบายและสถาบันที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรและผู้บริโภค นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องสร้างห่วงโซ่คุณค่าทางการเกษตรที่ยั่งยืนโดยเน้นที่ความปลอดภัยของอาหารและมาตรฐานของขั้นตอนและคุณภาพ

    ในขณะเดียวกัน เพื่อพัฒนาระบบอาหารอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องขยายความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการศึกษาและการคาดการณ์ และสร้างระบบเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับภัยธรรมชาติและโรคภัย และเพื่อให้แน่ใจว่ามีการจัดการทรัพยากรดินและน้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพ น้ำที่บริเวณพรมแดนระหว่างประเทศ และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน

    ประธานาธิบดีฟุกยืนยันว่าเวียดนามพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในข้อตกลงความร่วมมือที่นำโดยสหประชาชาติ

    “หากเราทุกคนร่วมมือกัน ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ รวมถึงการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ( SDGs 2030)”

    เวียดนามเริ่มไต่สวนการทุ่มตลาดน้ำตาลไทย

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/industries/vietnam-begins-probe-into-thai-sugar-for-circumventing-anti-dumping-measures-4360720.html
    ทางการเวียดนามได้เริ่มสอบสวนข้อกล่าวหาว่าน้ำตาลไทยได้ส่งออกผ่าน 5 ประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด

    การนำเข้าจากลาว กัมพูชา อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเมียนมาเพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่าเมื่อเทียบปีต่อปี มาที่ระดับ 527,200 ตันในช่วงตั้งแต่เดือนตุลาคม 2020 ถึงมิถุนายนปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่เวียดนามกำลังตรวจสอบการทุ่มตลาดและการอุดหนุนน้ำตาลของไทยจากข้อมูลของ หน่วยงานกำกับดูแลด้านมาตรการการค้า ของเวียดนาม (Trade Remedies Authority of Vietnam : TRAV)

    ในช่วงนั้นการนำเข้าน้ำตาลจากประเทศไทยลดลงเกือบร้อยละ 38 เป็น 595,000 ตัน อุตสาหกรรมน้ำตาลได้ให้หลักฐานที่บ่งชี้ว่าน้ำตาลของไทยเข้ามาในเวียดนามผ่าน 5 ประเทศ เจ้าหน้าที่กล่าว

    ราคาเฉลี่ยของน้ำตาลที่ส่งออกจากไทยไปเวียดนามอยู่ที่ 334 ดอลลาร์ต่อตันในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่งต่ำกว่าราคาตลาดเฉลี่ย 755 ดอลลาร์ ในประเทศ และต่ำกว่าต้นทุนการผลิตซึ่งอยู่ที่ 410 ดอลลาร์

    ปีที่แล้วรัฐบาลไทยให้เงินอุดหนุนเกษตรกรผู้ปลูกน้ำตาลจำนวน 325 ล้านดอลลาร์ ซึ่งบราซิลได้ฟ้องร้องต่อองค์การการค้าโลก

    เวียดนามได้กำหนดใช้ภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดและต่อต้านการอุดหนุนอย่างเป็นทางการของน้ำตาลไทยเบื้องต้นเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ และมีคำวินิจฉัยขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ว่าจะใช้ภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดและตอบโต้การทุ่มตลาดร้อยละ 47.64 กับน้ำตาลที่มาจากประเทศไทยเป็นเวลา 5 ปี

    บริษัทและเกษตรกรชาวเวียดนามกล่าวหาว่าน้ำตาลราคาถูกที่ล้นตลาดเป็นปัญหาใหญ่สำหรับพวกเขา