ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เวียดนามตั้งเป้าเศรษฐกิจปี 2022 โต 6-6.5%

ASEAN Roundup เวียดนามตั้งเป้าเศรษฐกิจปี 2022 โต 6-6.5%

14 พฤศจิกายน 2021


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 7-13 พฤศจิกายน 2564

  • เวียดนามตั้งเป้าเศรษฐกิจปี 2022 โต 6-6.5%
  • เวียดนามทำแผนแม่บทพัฒนาคมนาคมทางน้ำเชื่อมทั่วประเทศ
  • เวียดนามติดอันดับ 3 อาเซียนเงินไหลเข้า fintech
  • สภาศาสนาแห่งชาติของอินโดนีเซียสั่งให้ เงินคริปโท เป็นสิ่งต้องห้าม
  • มาเลเซียจะเปิดประเทศรับต่างชาติ 1 ม.ค.ปีหน้า
  • สปป.ลาวเตรียมออกจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุดในปี 2026
  • ธนาคารกลางเมียนมาสั่งแลกเงินตามอัตราอ้างอิง
  • กัมพูชาห้ามสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่
  • เวียดนามตั้งเป้าเศรษฐกิจปี 2022 โต 6-6.5%

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/economy/national-assembly-sets-gdp-growth-target-of-6-6-5-pct-for-2022-4385196.html

    สมัชชาแห่งชาติเวียดนามที่ประชุมเมื่อวันศุกร์(12 พ.ย.) ให้ความเห็นชอบ ประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจ(GDP)ปี 2022 ไว้ที่ 6-6.5% และรายได้ต่อหัว(per capita income) ที่ 3,900 ดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งเป้าหมายภาคอุตสาหกรรมว่าจะมีสัดส่วน 25.5-25.8% ต่อ GDP เงินเฟ้อจะไม่เกิน 4% และประสิทธิผลแรงงานจะเพิ่มขึ้นราว 5.5%

    หวู่ หง ทาน สมาชิกคณะกรรมาธิการสามัญประจำสมัชชาแห่งชาติและประธานคณะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการและรัฐบาลกำลังจัดทำแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการพัฒนา และยุทธศาสตร์การควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด -19 โดยรวมเพื่อนำเสนอต่อสมัชชาแห่งชาติในเร็วๆนี้

    สมัชชาแห่งชาติยังให้แนวทางแก่รัฐบาลดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ยืดหยุ่น เพื่อส่งเสริมการผลิต ภาคธุรกิจและการหมุนเวียนสินค้า เชื่อมโยงอุปทานและอุปสงค์ ส่งเสริมการส่งออกและการบริโภคในประเทศ ตลอดจนส่งเสริมการลงทุน

    ในครึ่งแรกของปีนี้เศรษฐกิจขยายตัว 5.64% จากระยะเดียวกันของปีก่อน แต่หดตัว 6.17% ในไตรมาสสาม จากการระบาดระลอกที่ 4 ของไวรัสโควิด ส่งผลให้ 9 เดือนแรกของปีนี้เศรษฐกิจขยายตัวเพียง 1.42%

    เวียดนามทำแผนแม่บทพัฒนาคมนาคมทางน้ำเชื่อมทั่วประเทศ

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/transport-ministry-unveils-prioritised-waterway-projects-in-10-years/215405.vnp

    กระทรวงคมนาคมเวียดนามเปิดเผย แผนงานปรับปรุงการขนส่งทางน้ำครั้งใหญ่ให้เชื่อมโยงกันทั่วประเทศภายในปี 2030 เพื่อดึงดูดธุรกิจและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม

    แผนแม่บทปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมทางแม่น้ำในช่วงปี 2021-2030 ฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีกระทรวง และมีเป้าหมายว่าภายในปี 2050 จะมีการคมนาคมทางน้ำ 55 สายหลักเชื่อมโยงแม้น้ำและลำคลองรวม 140 สายมีความยาวรวมกันราว 7,300 กิโลเมตร

    โดยที่ในภาคเหนือจะมีเส้นทางสายหลัก 18 สายจากแม่น้ำและคลอง 49 สายรวมความยาว 3,028 กิโลเมตร ภาคกลาง 11 สายหลักจากแม่น้ำและคลอง 28 สาย ความยาวรวม 1,229 กิโลเมตร และในภาคใต้ 26 สายหลักในแม่น้ำและลำคลอง 63 สาย รวมความยาว 3,043 กิโลเมตร

    แผนแม่บทยังครอบคลุมการพัฒนาศูนย์สินค้าท่าเทียบเรือ 54 แห่ง และท่าเรือรองรับผู้โดยสารอีก 39 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งสามารถรองรับสินค้าได้ถึง 361 ล้านตันและรองรับผู้โดยสารได้ 53.4 ล้านคน

    เหงียน วัน เท รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า กระทรวงฯจะพัฒนากลไกสิทธิประโยชน์ ให้กับบริษัทขนาดใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจการขนส่งทางน้ำเพื่อใช้ศักยภาพที่มีอยู่ให้เต็มที่

    แผนพัฒนาการคมนาคมทางน้ำ ทางบกและทางรถไฟได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี และแผนนี้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการคมนาคมแบบครบวงจร

    กระบวนการในการจัดทำแผนยังเป็นโอกาสในการประเมินและทบทวนศักยภาพในการพัฒนาด้านนี้ โดยเฉพาะการคมนาคมทางน้ำ

    รัฐมนตรีประจำกระทรวงยังแนะนำให้สำนักงานขนส่งทางน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรียนรู้จากประสบการณ์การพัฒนาการคมนาคมทางน้ำในจังหวัดทางภาคใต้และนำมาประยุกต์ใช้กับในภาคเหนือ

    แผนพัฒนานี้มีเป้าหมายที่จะยกระดับความเชื่อมโยงระบบคมนาคมทางน้ำ ทางบกและท่าเรือ โดยเฉพาะระเบียงการคมนาคมชายฝั่งเหนือ-ใต้ และระเบียงการขนส่งในภาคเหนือ 4 เส้น

    “ระเบียงการคมนาคมชายฝั่งเหนือ-ใต้เป็นระเบียงการขนส่งสินค้าชายฝั่งที่สำคัญของประเทศ,”

    “ในระยะต่อไป กระทรวงจะเสนอแผนการลงทุนรถไฟความเร็วสูงเหนือ-ใต้ เพื่อขนส่งผู้โดยสาร ส่วนการขนส่งสินค้าเหนือ-ใต้จะใช้ทางรถไฟเดิม และการขนส่งชายฝั่งเหนือ-ใต้เป็นหลัก”

    เวียดนามติดอันดับ 3 อาเซียนเงินไหลเข้า fintech

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/industries/vietnam-ranks-third-in-asean-fintech-funding-attraction-4384923.html

    รายงานที่จัดทำโดย United Overseas Bank, PwC Singapore และ Singapore FinTech Association ระบุว่า ช่วง 9 เดือนแรกของ ปีนี้ เวียดนามติดอันดับที่ 3 ที่ดึงดูดเงินทุนในอุตสาหกรรมฟินเทคด้วยเงิน 375 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 11% ของเศรษฐกิจ 6 ประเทศหลักในอาเซียน

    โดยเงินลงทุนได้ลงในฟินเทค 2 รายหลัก คือ VNPay ผู้ให้บริการชำระเงิน ได้รับเงินทุน 250 ล้านดอลลาร์ ส่วนอีก 100 ล้านดอลลาร์เข้าสู่ MoMo ซึ่งเป็นกระเป๋าเงินเอิเลคทรอกนิคส์หรือ e-wallet

    VNPay เป็นฟินเทครายที่สองทีได้รับเงินลงทุนขนาดใหญ่ รองจาก Grab Financial Group ที่ได้รับเงินลงทุน 300 ล้านดอลลาร์

    ฟินเทคในสิงคโปร์ได้รับเงินลงทุนมากที่สุดคิดเป็น 49% ของเงินลงทุนทั้งหมด ตามมาด้วยอินโดนีเซีย 26% ส่วนฟิลิปปินส์ ไทยและมาเลเซีย ติดอันดับที่ 4, 5, 6 ตามลำดับ

    ตั้งแต่ปี 2017 จนถึงเดือนกันยายนปีนี้ เวียดนามมีฟินเทครายใหม่ 76 แห่ง รวมเป็น 188 แห่ง

    E-wallets ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในเวียดนาม โดยส่วนใหญ่ใช้บริการ MoMo ซึ่งผู้ตอบแบบสอบถามมากถึง 82% ในการสำรวจ ตามมาด้วย ZaloPay ที่ได้รับคำตอบ 62% และ VNPay เป็นอันดับสามด้วย 28%

    เงินทุนที่ลงทุนในฟินเทคของอาเซียนในช่วง 9 เดือนแรกเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าเมื่อเทียบกับทั้งปี 2020 ที่ 3.5 พันล้านดอลลาร์

    สภาศาสนาแห่งชาติของอินโดนีเซียสั่งให้ เงินคริปโท เป็นสิ่งต้องห้าม

    ที่มาภาพ: https://www.aljazeera.com/economy/2021/11/11/indonesias-national-religious-council-says-crypto-is-forbidden

    สภาศาสนาแห่งชาติของอินโดนีเซียประกาศว่า การใช้สินทรัพย์ที่ต้องเข้ารหัสหรือเงินคริปโทเป็นสกุลเงิน เป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับชาวมุสลิม

    สภาศาสนาแห่งชาติ National Ulema Council หรือ MUI ถือว่าเงินคริปโทเคอเรนซี (cryptocurrency) เป็นสิ่งต้องห้าม หรือถูกห้าม เนื่องจากมีองค์ประกอบของความไม่แน่นอน การเดิมพัน และอันตราย Asrorun Niam Sholeh หัวหน้าฝ่ายกฎทางศาสนา กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี(11 พ.ย.) หลังจากที่สภาได้เปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ หากสกุลเงินดิจิทัลเป็นสินค้าโภคภัณฑ์หรือสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถปฏิบัติตามหลักชาริอะห์และสามารถแสดงผลประโยชน์ที่ชัดเจน ก็สามารถซื้อขายได้

    MUI มีอำนาจในการกำหนดให้ปฏิบัติตามกฎหมายชาริอะห์ในอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก โดยกระทรวงการคลังและธนาคารกลางจะขอคำปรึกษาเกี่ยวกับประเด็นทางการเงินอิสลาม

    รัฐบาลเองได้ให้การสนับสนุนสินทรัพย์คริปโท ทำให้สามารถซื้อขายควบคู่ไปกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุน และผลักดันให้มีการจัดตั้งแพล็ตฟอร์ม รองรับการแลกเปลี่ยนภายในสิ้นปีนี้

    อินโดนีเซียไม่อนุญาตให้ใช้เงินคริปโท เป็นสกุลเงิน และให้รูเปียะห์เป็นสกุลเงินเดียวตามกฎหมายของประเทศ

    แม้ MUI มีประกาศห้าม แต่ไม่ได้หมายความว่าการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลทั้งหมดจะต้องยุติในอินโดนีเซีย แต่กฎหมายอาจเป็นอุสรรคต่อชาวมุสลิมในการลงทุนในทรัพย์สิน และทำให้สถาบันในท้องถิ่นต้องทบทวนในการการออกสินทรัพย์ดิจิทัล ธนาคารกลางอินโดนีเซียกำลังพิจารณาการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางแต่ยังไม่มีการประกาศ

    ธุรกรรมคริปโท มีมูลค่า 370 ล้านล้านรูเปียะห์ (26 พันล้านดอลลาร์) ในช่วง 5 เดือนแรกของปีในอินโดนีเซีย ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับตลาดโลกที่มีมูลค่าประมาณ 3 ล้านล้านดอลลาร์

    จุดยืนของผู้นำศาสนาของอินโดนีเซียอาจแตกต่างไปจากผู้นำในประเทศอื่นๆ ที่นับถือศาสนาอิสลาม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อนุญาตให้ซื้อขายคริปโท ในเขตปลอดอากรของดูไบ ในขณะที่บาห์เรนได้สนับสนุนสินทรัพย์ดิจิทัลมาตั้งแต่ปี 2019

    มาเลเซียจะเปิดประเทศรับต่างชาติ 1 ม.ค.ปีหน้า

    ที่มาภาพ: https://www.channelnewsasia.com/news/asia/malaysia-covid-19-kuala-lumpur-conditional-mco-first-day-12700132

    มาเลเซียจะเปิดชายแดนเพื่อ รับนักท่องเที่ยวนานาชาติในวันที่ 1 มกราคมเป็นอย่างช้า เพื่อฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว สภาที่ปรึกษารัฐบาลเปิดเผย

    มาเลเซียค่อยๆเปิดประเทศในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังยอดติดเชื้อไวรัสโควิดลดลง จากการเร่งฉีดวัคซีน โดยกว่า 3 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด 32 ล้านคนได้รับวัคซีนแล้ว

    อดีตนายกรัฐมนตรี มุห์ยิดดิน ยัสซีน ซึ่งเป็นประธานสภาที่ปรึกษาและรับผิดชอบในการจัดทำแผนพื้นฟู กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า การท่องเที่ยวฟื้นตัวช้าหากไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ และชี้ว่าผู้ประกอบกอารต้องใช้เวลาในการกลับมาดำเนินงานตามปกติ

    อย่างไรก็ตามมุห์ยิดดินกล่าวว่า มาตรการการควบคุมการติดเชื้อเช่น การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ยังคงบังคับใช้ และทางการจะกำหนดการเข้าประเทศจากสถานการณ์การระบาดของโควิด -19 ของประเทศต้นทางรวมถึงปัจจัยอื่นๆ

    มุห์ยิดดินไม่ได้ให้กำหนดวันที่แน่ชัดลงไปในการประกาศเปิดประเทศ เพราะการตัดสินใจต้องรอรายละเอียดจากระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานด้านความมั่นคง

    ในสัปดาห์นี้นี้มาเลเซียได้ประกาศว่าจะเริ่มใช้ vaccinated travel lane กับสิงคโปร์โดยตะเริ่มตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งทำให้การเดินทางระหว่างสองประเทศนี้ไม่ต้องกักตัว สำหรับประชานที่ได้รับวัคซีนแล้ว นอกจากนี้ยังได้ตกลงกับอินโดนีเวียที่จะทะยอยใช้มาตรการในลักษณะนี้

    สปป.ลาวเตรียมออกจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุดในปี 2026

    ที่มาภาพ: http://en.freshnewsasia.com/index.php/en/internationalnews/18742-2020-07-08-03-07-20.html

    รัฐบาลลาวได้เรียกร้องให้ ทุกภาคส่วนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเตรียมพร้อม เพื่อการเปลี่ยนผ่านอย่างราบรื่นตามแผนที่จะพ้นจากสถานะประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Country:LDC) ในปี 2026

    ในการกล่าวปราศรัยในการประชุมผ่านระบบออนไลน์เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน นายโพไซ คัยคำไพทูน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการจัดทำยุทธ์ศาสตร์การเปลี่ยนผ่านที่ราบรื่นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับพ้นจากสถานะ LDC ของลาว

    การประชุมดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากการทบทวนรอบ 3 ปีของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเมื่อต้นปีนี้ ซึ่งมีข้อเสนอแนะ ให้ลาวขยายระยะเวลาเตรียมการออกไปอีก 5 ปี ซึ่งทำให้การพ้นจากสถานะประเทศ LDC อย่างเป็นทางการคาดการณ์ไว้ในปี 20026

    รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า ความดำเนินการทั้งหมดนี้ต้องดำเนินการร่วมกับพันธมิตรด้านการพัฒนาเพื่อให้ประกันว่าผลกระทบที่เกิดจากการสูญเสียการสนับสนุนระหว่างประเทศสำหรับประเทศที่มีสถานะ LDCs จะไม่จำกัดการเดินหน้าพัฒนาของประเทศ

    ในขณะเดียวกัน Sara Sekkenes ผู้ประสานงานประจำสหประชาชาติประจำประเทศลาวได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการประชุม Doha LDC ครั้งที่ 5 ว่าเป็นโอกาสในการเตรียมเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการเปลี่ยนผ่านอย่างราบรื่น ตลอดจนสนับสนุนการสนับสนุนการพ้นจากสถานะประเทศ LDC ที่จำเป็นในประชาคมนานาชาติ

    Sekkenes กล่าวว่าการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับบนที่เศรษฐกิจเปราะบางน้อยลง มีทุนมนุษย์ที่แข็งแกร่งขึ้น และ GDP ที่เพิ่มขึ้นสามารถเป็นกลไกในการขับเคลื่อนลาวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน

    ธนาคารกลางเมียนมาสั่งแลกเงินตามอัตราอ้างอิง

    ที่มาภาพ: https://elevenmyanmar.com/news/myanmar-currency-value-per-usd-increases-after-cbm-instruction

    ในเช้าวันที่ 10 พฤศจิกายน ราคาแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐในเมียนมาลดลงประมาณ 170 จัต โดยหนึ่งดอลลาร์แลกได้ 1,780 จัต หลังธนาคารกลางเมียนมาว่าจะต้อง ซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศตามอัตราอ้างอิงและขึ้นลงไม่เกิน 0.5%ตามเคาน์เตอร์แลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในประเทศ

    คำสั่ง (18/2021) ที่ออกเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายนระบุว่า ธนาคารทุกแห่งที่มีใบอนุญาตเป็นตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับอนุญาต ธนาคารทุกแห่งที่มีใบอนุญาตรับแลกเงิน และบริษัทและองค์กรที่ไม่มีใบอนุญาตรับแลกเปลี่ยนเงินตรา ให้ทำการค้าหรือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ในอัตราอ้างอิงขึ้นลงในกรอบไม่เกิน 0.5 % ตามที่ธนาคารกลางกำหนด

    หากไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำ จะถูกดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบว่าด้วยการจัดการการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งประกาศนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 10 พฤศจิกายน

    เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน จัตเมียนมามีมูลค่า 1,783 Ks ต่อดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ 2,100 จัตต่อยูโร มีค่า 1,350 จัตต่อดอลลาร์สิงคโปร์ แลกได้ 430 จัตต่อริงกิตมาเลเซีย อยู่ที่ 57 จัตต่อบาทไทย อยู่ที่ 17 จัตต่อเยนญี่ปุ่นและอยู่ที่ 290 จัตต่อหยวนจีน

    กัมพูชาห้ามสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่

    ที่มาภาพ: https://cambodianess.com/article/cambodias-coal-fueled-power-plants-and-their-environmental-costs
    กัมพูชามุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการเริ่มต้นห้ามก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่

    กัมพูชามุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการหันไปเพิ่มพลังงานแสงอาทิตย์มากกว่า 400 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 15% ของแหล่งพลังงานทั้งหมดของประเทศ ลดการตัดไม้ผิดกฎหมาย และลดการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำและถ่านหินแห่งใหม่

    นายไสย สมาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมและประธานสภาแห่งชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ประกาศ ความมุ่งมั่นในการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติครั้งที่ 26 ของภาคี (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ของสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน

    การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะไม่หยุดอยู่แค่ชายแดนของเรา ดังนั้น เราต้องแน่ใจว่าจะไม่ละทิ้งความรับผิดชอบร่วมกันสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นายไสยกล่าว

    นายไสยกล่าวต่อว่า การเข้าถึงการเงินด้านสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสำหรับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่เพียงพอสำหรับประเทศที่เสี่ยงต่อภัยคุกคามระดับโลก และเรียกร้องให้ประเทศที่พัฒนาแล้วให้การสนับสนุนต่อไป

    กัมพูชาได้ส่งรายงาน NDC ฉบับปรับปรุง (Nationally Determined Contribution) โดยมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซ 42%ในปี 2030และกำลังเตรียมแผนระยะยาวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนเพื่อส่งเสริมการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ต่ำลง ให้สามารถรับมือต่อสภาพอากาศและส่งเสริมการพัฒนาอย่างทั่วถึง