ThaiPublica > Sustainability > Contributor > ป่าชุมชนกับบทบาทปรับตัวการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ป่าชุมชนกับบทบาทปรับตัวการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

23 กันยายน 2021


ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ แผนงานประเทศไทย ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

ภูมิอากาศโลกในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนแปลงและแปรปรวนอย่างมาก (climate change) ที่มีฝนเทกระหน่ำหลายร้อยมิลลิเมตรในช่วงเวลาสั้นๆ เกิดเป็นประจำทุกปี ทำให้เกิดโคลนถล่ม แผ่นดินเลื่อนไหล ลมที่มักจะมาพร้อมฝนได้พัดต้นไม้หักโค่น คลื่นตามชายฝั่งรุนแรงกัดเซาะชายฝั่งหลายๆ แห่ง ในช่วงที่ไม่มีฝนอากาศก็ร้อนอบอ้าว ภัยน้ำท่วมและภัยแล้งเกิดขึ้นในปีเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศของโลกและของภูมิภาคนี้ 90-95 เปอร์เซ็นต์ ล้วนเกิดจากมนุษย์ ที่สำคัญก็คือจากปรากฏการณ์ของภาวะโลกร้อน (global warming) นั่นเอง

ป่าชุมชน นัยที่มีต่อภาวะโลกร้อน

นักวิทยาศาสตร์มีแนวคิดว่า สิ่งมีชีวิตไม่ว่าพืชหรือสัตว์ จะถูกห่อหุ้มด้วยลักษณะของภูมิอากาศ กล่าวคือ พืชและสัตว์จะเติบโตและแพร่พันธุ์ได้อยู่ระหว่างอุณหภูมิหนึ่งถึงอุณหภูมิหนึ่ง หรือจากบริเวณที่มีน้ำฝนระดับหนึ่งถึงระดับหนึ่งเท่านั้น ซึ่งกรอบของสิ่งแวดล้อมที่ห่อหุ้มสิ่งมีชีวิตต่างๆ นี้ เรียกกันว่า ซองแห่งชีวิต (biotic envelope) และเชื่อว่าภูมิอากาศจะเป็นปัจจัยหลักที่กำหนดซองแห่งชีวิต

เมื่อไรก็ตามที่อุณหภูมิมีการเปลี่ยนแปลงออกนอกซองแห่งชีวิต สัตว์และพืชก็ต้องเคลื่อนย้ายไปสู่ที่ใหม่ที่ซึ่งตนเองจะเติบโตและแพร่พันธุ์ได้ จากการติดตามพืชและสัตว์ในแปลงตัวอย่างถาวรบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มาหลายสิบปีของศาตราจารย์วอเรน บรอคคอลแมน พบว่ามีสัตว์และพืชกระจายพันธุ์ในบริเวณที่สูงขึ้นกว่าเดิม เพราะอากาศเย็นกว่าและชุ่มชื้นกว่า ไก่ฟ้าพญาลอ (Lophura diardi) ซึ่งปรกติพบในที่ต่ำกลับพบในแปลงบนเขาใหญ่นี้มากขึ้น จนมีการกระจายซ้อนทับกับไก่ฟ้าหลังขาว (L. nycthemera) ที่มีอยู่เดิมในที่สูงหรือในแปลงถาวรนี้มาก่อน และต้นเงาะป่า (Nephelium melliferum) พบว่ามีลูกไม้เกิดขึ้นเฉพาะในบริเวณสูงขึ้นกว่าเดิม (อนุตรา ณ ถลาง 2550, สนทนาเป็นการส่วนตัว)

ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าเมืองใหญ่ๆ โดยรอบเขาใหญ่ เช่น ปราจีนบุรีและนครราชสีมา มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นกว่า 1.5-2 องศาเซลเซียส เนื่องจากความเป็นเมืองได้ขยายตัวมากขึ้นในช่วงสามถึงสี่ทศวรรษที่ผ่านมา ความจริงในบ้านเรามีต้นไม้และสัตว์หลายชนิดที่มีเขตกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติมีความแตกต่างของอุณหภูมิเฉลี่ยรายปีด้านเหนือสุดกับใต้สุด ห่างกันน้อยกว่า 10 หรือ 20 เซลเซียส ในขณะที่เชื่อว่าไม่กี่ปีข้างหน้าที่โลกจะร้อนขึ้น 2-5 องศาเซลเซียส การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิก็ออกนอกซองแห่งชีวิต

แน่นอนการเคลื่อนย้ายของสัตว์และพืชถ้าไม่มีกิจกรรมของมนุษย์มาขัดขวาง สัตว์และพืชนั้นยังมีที่ไปได้ ก็คงจะไม่มีปัญหา แต่โลกเราใบนี้คงจะต้องถูกครอบงำโดยอิทธิพลของมนุษย์ตลอดไป ดังนั้นภูมิทัศน์ (landscape) จึงเป็นหน่วยทางนิเวศวิทยาที่น่าสนใจต่อการศึกษา การตรวจวัดคุณภาพของภูมิทัศน์ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าการตรวจวัดความหลากหลายทางชีวภาพที่เคยทำกันมาในอดีตเสียด้วยซ้ำไป เพราะในภูมิทัศน์ที่มีคุณภาพนั้นสิ่งมีชีวิตหนึ่ง สามารถเคลื่อนย้ายจากที่หนึ่งไปที่หนึ่งได้ การให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ ได้มีโอกาสเคลื่อนย้าย ข้ามหย่อม (patch) ข้ามชายขอบ (edges) และข้ามภูมิทัศน์ (landscape) ไปได้โดยปลอดภัย จะมีความหมายอย่างมากต่องานอนุรักษ์ ในอนาคตที่โลกร้อนขึ้น และสิ่งมีชีวิตจะมีการอพยพเคลื่อนย้าย หากเราไม่สามารถจะอนุรักษ์ในที่หนึ่งที่ใดไว้ได้

ภูมิทัศน์ยังอาจใช้เป็นที่สังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อนได้อย่างดี บริเวณที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ง่ายก็คือตรงเขตรอยต่อของสองระบบนิเวศ หรือที่นักนิเวศวิทยาเรียกว่า อีโคโทน (ecotone) ที่มีอยู่ในภูมิทัศน์นั่นเอง จะเป็นประโยชน์โดยเป็นที่ซึ่งเราใช้สังเกตการณ์เคลื่อนตัวของสังคมพืชต่างชนิดกัน (vegetation shift) ได้ เช่น รอยต่อระหว่างป่าดิบแล้งกับป่าเต็งรัง ที่มีอยู่ใกล้ยอดของภูเขาหินทรายยอดตัดของป่าชุมชนวัดภูนกกระบา (หลวงพ่อจันทร ปัญญาภรณ์) อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย ที่ในหน้าฝนลมฝนจากฝั่งลาวข้ามโขงมาปะทะยอดภู เกิดเป็นป่าเมฆ (cloud forest) น้อยๆ ซึ่งก็คือเป็นป่าดงดิบ จนน้ำหยดลงสู่พื้นดิน เกิดมอสตามพื้นทางเดินในป่าได้ ขณะที่ด้านลาดของภูเขาด้านหน้าผา อันเกิดจากการทรุดตัวตามรอยเลื่อนที่อยู่ติดกัน เป็นป่าเต็งรังแห้งแล้งล้อมป่าเมฆนี้ไว้ ตีนภูเขาก็เป็นนาข้าว และสวนยางพารา

เราเชื่อว่าเมื่ออากาศร้อนขึ้นมากๆ การใช้น้ำจืดในแม่น้ำลำคลองจะมากขึ้น น้ำไหลลงสู่ทะเลน้อยลง น้ำทะเลก็จะดันน้ำจืดเข้าไปได้ไกลจากปากแม่น้ำ บริเวณน้ำกร่อยก็จะขยับสูงขึ้น สัตว์ก็จะเคลื่อนย้าย ตะพาบน้ำ และปลาบางชนิดที่ชอบน้ำจืดก็จะเคลื่อนย้ายตาม ปลาที่ชอบน้ำกร่อยก็เคลื่อนย้ายเช่นกัน การอนุรักษ์หย่อมป่าสาคู และป่าจากตามริมฝั่งน้ำ ก็จะช่วยการเคลื่อนย้ายของสัตว์เหล่านี้ บริเวณรอยต่อระหว่างป่าจากกับป่าสาคู ก็อาจเคลื่อนย้ายตาม (vegetation shift)

บริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำ เช่น พรุ กุด บุ่ง ทาม บึง ก็เป็นถิ่นที่อยู่ธรรมชาติอีกประเภทหนึ่ง คิดว่าน่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงภายใต้ภาวะโลกร้อน ระบบอุทกวิทยา หรือปริมาณน้ำที่เข้าออกอาจเปลี่ยนไป อุณหภูมิของน้ำสูงขึ้น สิ่งมีชีวิตบางชนิดที่เคยเห็นอาจหายไป บางชนิดที่ไม่เคยพบเห็นก็อาจมีขึ้น ปัญหาไฟป่าก็เป็นเรื่องอีกอย่างหนึ่งที่จะรุนแรงขึ้นกว่าเดิม พายุหน้าร้อนก็รุนแรงขึ้น ทำให้ต้นไม้โค่นล้ม ดังที่เกิดขึ้นในป่าชุมชนหลายแห่งในอิสานขณะนี้ เมื่อป่าถูกเปิดออกจนเป็นช่องว่างโดยลมพายุ หรือจากแผ่นดินถล่ม วัชพืชตลอดจนพืชเบิกนำที่ชอบแสงสว่างมากก็จะมีการกระจายแพร่พันธุ์มากขึ้น

หลายคนพูดถึงภัยจากภาวะโลกร้อน แต่เราไม่ได้ยินว่ามีการเตรียมการเพื่อเผชิญกับปัญหานี้อย่างไร เมื่อดูแผนที่โลกก็จะเห็นว่าประเทศไทยนั้นเล็กมาก ถึงแม้จะปลูกต้นไม้ให้เต็มประเทศอยู่ประเทศเดียว ก็คงแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนไม่ได้ แต่ชาวบ้านไทยหลายแห่งที่ทำป่าชุมชน และทำการเกษตรพอเพียง ต้นไม้ทุกต้นที่เขาเหล่านี้ปลูกขึ้น หรือป่าทุกผืนที่เขาฟื้นขึ้นมานั้นมีความหมาย การปฏิบัติจริงของพวกเขาที่ช่วยรักษาถิ่นที่อยู่ธรรมชาติ (habitat) ต่างๆ ไว้ และเชื่อมโยงโดยเส้นทางเดิน (corridor) หรือเป็นเกาะข้ามกระโดด (stepping stones) ในรูปแบบต่างๆ นั้น ก็เป็นผลงานที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้

มาถึงวันนี้ เรามั่นใจว่าวิถีชีวิตของคนพอเพียง แบ่งปัน ผูกพัน คน น้ำ ป่า ได้สร้างวิถีที่พร้อมเผชิญกับปัญหาโลกร้อน เราอยากให้ภูมิทัศน์อื่นๆ เป็นดั่งภูมิทัศน์ของคนพอเพียงที่พวกเราได้เห็นมา