ThaiPublica > คนในข่าว > “สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย” โชว์ขอนแก่นโมเดล สะท้อนรัฐบริหารล้มเหลว

“สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย” โชว์ขอนแก่นโมเดล สะท้อนรัฐบริหารล้มเหลว

31 ธันวาคม 2022


“บริษัทพัฒนาเมือง” เป็นหนึ่งในความล้มเหลวของระบบการบริหารท้องถิ่นของราชการไทย 

คีย์เวิร์ดของ ‘สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย’ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท พัฒนาเมืองขอนแก่น (เคเคทีที) จำกัด และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) ตัวตั้งตัวตีแห่งการพัฒนาจังหวัดขอนแก่น และเป็นต้นแบบให้กว่า 20 จังหวัดหันมาออกแบบเมืองเองผ่านบริษัทพัฒนาเมืองที่ตั้งโดยเทศบาลและท้องถิ่น

ในงาน BCG Expo 2022 สุรเดช ขึ้นพูดบนเวทีหัวข้อ “ขอนแก่นโมเดล การสร้างเมืองอัจฉริยะ” (KhonKaen Smart City) และให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า การมีบริษัทพัฒนาเมืองเป็นการฟ้องว่ารัฐมีปัญหา และเป็นการฟ้องความผิดพลาด ถ้าทุกคน-รัฐรู้หน้าที่ แล้วทำงานด้วยฟังก์ชันราชการ ก็สามารถทำให้เป็นทุกจังหวัดเป็นเมืองน่าอยู่ได้ โดยไม่ต้องมีเอกชนตั้งบริษัทพัฒนาเมือง

“ภาพรวมงบประมาณ 3 ล้านล้าน มีงบประมาณพัฒนาและการลงทุนแค่ 4.6 แสนล้าน จำนวนนี้ 80 เปอร์เซ็นต์อยู่ส่วนกลาง อีก 20 เปอร์เซ็นต์หาร 70 กว่าจังหวัด ดังนั้น 1 จังหวัดได้งบประมาณนิดเดียว…หลายครั้งเราพูดว่าถูกหลอกก็ได้ เวลามีผู้ใหญ่จากส่วนกลาง หรือครม.สัญจร รัฐมนตรีมามาดูงาน ดูแล้วมาชี้นู่นชี้นี่ เรานึกว่าจะได้งบมาซ่อมหรือพัฒนา สุดท้ายไม่เคยมี ถึงมีก็ไม่โปร่งใส”

ดังนั้น บริษัท พัฒนาเมืองขอนแก่น (เคเคทีที) จำกัด (KKTT) จึงกำเนิดขึ้นจากการร่วมลงทุนของ 20 องค์กรธุรกิจในขอนแก่น และก่อตั้งบริษัท ทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท ด้วยความต้องการที่จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเริ่มต้นจากขนส่งมวลชนระบบรางเบา และการพัฒนาพื้นที่อย่างเหมาะสมในแนวสายรถไฟฟ้ารางเบา ซึ่งเรียกว่า Transit Oriented Development (TOD) หรือการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์โดยใช้ขนส่งมวลชนเป็นตัวนำ โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย

นอกจากนี้ KKTT จะขอใช้พื้นที่จากทางรัฐบาล พัฒนาเป็นสวนสาธารณะและบึงขนาดใหญ่ เพื่อจัดสรรให้เป็นพื้นที่สีเขียว โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวก และมีพื้นที่ส่วนกลางให้คนในจังหวัดสามารถกิจกรรมร่วมกัน ร่วมทั้งมีอาคารที่เป็นแหล่งเรียนรู้ เช่น พิพิทธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ หรือพื้นที่ทำกิจกรรมกลางแจ้ง

สุรเดช ให้ข้อมูลว่า KKTT จะเปิดการระดมทุนสาธารณะ (Crowd Funding) โดยระดมทุนจากบุคคลและนิติบุคคลทั่วไปในจังหวัดขอนแก่น และหลังจากโครงการเริ่มเปิดดำเนินการใน 2 ปีแรก จะมีแผนนำโครงการที่พัฒนาโดยบริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด หรือ KKTS (Khon Kaen Transit System) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

สุรเดช กล่าวถึงการทำขนส่งมวลชนว่า ระบบรถไฟฟ้าที่ดีจะต้องเข้าถึงทุกชนชั้นและมีเงินอุดหนุนค่าโดยสารเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่ใช่แค่ทำระบบขนรถไฟฟ้าสำหรับชนชั้นกลางแบบในกรุงเทพมหานคร แล้วผลักให้คนมีรายได้น้อยนั่งรถเมล์ 

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้ารางเบาสายเหนือใต้ สำราญท่าพระจะมีระยะทาง 26 กิโลเมตร และมีจำนวนสถานี 21 สถานี ใช้รถไฟฟ้าที่ผลิตและประกอบในประเทศจำนวน 15 ขบวน โดยมีขบวนละ 3 ตู้ ซึ่งใน 1 ขบวน สามารถบรรจุผู้โดยสารได้ 180 คน

สุรเดช กล่าวอีกว่า เทศบาลได้จัดตั้ง KKTS เพื่อมาบริหารจัดการระบบขนส่ง หลักการคล้ายกับที่กรุงเทพฯ มีกรุงเทพธนาคม นอกจากนี้ โครงการได้ซื้อสัมปทานรถสองแถว รองรับเป็นฟีดเดอร์นำคนมาสู่รถไฟฟ้า อีกทั้งจะนำดาต้าการโดยสารรถประจำทางจากรถเมล์สมาร์ทบัสที่ได้เปิดตัวก่อนหน้านี้ มาประยุกต์ใช้กับการขนส่งแบบ Traffic On Demand โดยวิ่งตามความต้องการของผู้โดยสาร และใช้แอปพลิเคชั่นเป็นการผลักดันสู่ smart city ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการเจรจา โดยจะเริ่มก่อสร้างช่วงปี 2568 เป็นต้นไป

“เรามีดาต้าหมดแล้วว่าคนหรือนักเรียนขึ้นเวลาไหน และมีการเก็บสำรวจเพิ่มแนวรถไฟฟ้ารางเบา เรื่องการเดินทางของคน ถ้าเราทำทั้ง 9 สาย คนจะย้ายจากการนั่งรถส่วนตัวมาขนส่งมวลชนมากขึ้น”

นอกจากนี้ KKTT จะพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อคนมีรายได้น้อย (Affordable House) โดยสุรเดช บอกว่า “คนมีรายได้น้อยควรอยู่ใกล้เมือง ไม่ใช่อยู่ไกลเมือง เราต้องการออกแบบขอนแก่นให้เป็น compact city ทุกคนสามารถอยู่ได้ น่าอยู่ และอยู่ได้ด้วยต้นทุนค่าครองชีพถูก”

“โครงการนี้เป็นของ KKTS ของบริษัทของเทศบาลที่ตั้งขึ้น โดยมีกำไรจากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และการทำรถไฟฟ้า รวมกันมี IRR (Internal Rate of Return) ประมาณ 9% พอเราเข้าตลาดหลักทรัพย์ บริษัทเทศบาลก็มีความมั่งคั่งมหาศาล สามารถลงมาทำแผน smart city ขอนแก่นได้อีก เพราะฉะนั้นการพัฒนาเลยเป็นรูปแบบหา funding เองโดยใช้ตลาดทุน…ส่วนใหญ่เรามีแต่เขียนการหาเงิน แล้วบอกสำนักงบประมาณขอเงินหน่อย ซึ่งเป็นไปไม่ได้ แต่ ‘ขอนแก่นโมเดล’ เป็นไปได้”

อย่างไรก็ตาม สุรเดช บอกว่าวิธีนี้คือการแบ่งปันเครื่องมือคนรวยมาให้คนจน ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับการ IPO ยกตัวอย่าง บริษัทใหญ่ๆ ทำไอพีโอเข้าตลาดหุ้น เจ้าของมีหุ้นราคาต้นทุนพาร์ 1 บาท ต่อมามูลค่าตลาดเพิ่มเป็น 10 บาท ทำให้มีเงินมากขึ้น 10 เท่า ดังนั้น KKTS จึงทำแบบเดียวกันเลยออกมาเป็น Poverty Fund ให้ผู้มีรายได้น้อยสะสมเงินเข้าไปในกองทุนนี้ และเมื่อ KKTS ที่ถือกองทุนนี้เข้าตลาดก็จะได้ราคาพาร์ และคาดว่าผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นคนที่สะสมเงินเข้ากองทุนจะได้ผลตอบแทนประมาณ 7-10 เท่า

“งบประมาณประเทศไม่พอที่จะมาทำให้ทุกเมืองเจริญ แต่หมายความว่ารัฐสามารถเป็น facilitator ให้เอกชนและบริษัทพัฒนาเมืองในบริษัทช่วยกันทำให้สามารถพัฒนาท้องถิ่นได้โดยการใช้ทุนจากที่อื่นมาช่วยกัน และไม่มีหนี้สาธารณะ…ประเทศนี้ปล่อยตามยถากรรมไม่ได้ มันต้องการการจัดการและกลยุทธ์ที่ชัดเจนที่ทำให้การแก้ปัญหาเป็นรูปธรรม จึงเป็นขอนแก่นโมเดลที่ 20 บริษัทรวมตัวกัน”

  • KKIC จับมือกลุ่มมิตรผลพร้อม 50 พันธมิตร จัดงาน Isan BCG Expo 2022
  • ธนาคารกรุงเทพ ร่วมงาน Isan BCG Expo 2022 ที่ขอนแก่น
  • เป้าหมายสูงสุดของขอนแก่นโมเดลคือการสร้างเมืองเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ความโปร่งใสเพิ่มขึ้น ความเท่าเทียมของโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน พัฒนาเมืองให้มีประสิทธิภาพและน่าอยู่ ทันสมัย คนจนลดลง โดยใช้ data และเทคโนโลยี

    “นี่ไม่ใช่แค่โครงการรถไฟฟ้า ผมพูดถึงการแก้จนในระยะยาว ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความโปร่งใส ลงไปถึงการศึกษา รถไฟฟ้าสร้างงานสร้างอาชีพ ทำให้เกิด Smart City เราคิดว่าโครงการรถไฟฟ้าจะเป็นเครื่องมือที่ทุกคนสามารถใช้รถขนส่งมวลชนได้ ค่าตั๋วและค่าโดยสารจะต่ำ เพราะเราใช้กำไรจากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มา subsidise ทำให้ค่าตั๋วต่ำ และเรามีเหรียญโทเคนเคโกะในจังหวัดขอนแก่น เป็น utility token เป็น reward ให้ประชาชนเวลาตัดสินใจที่ชาญฉลาด สามารถใช้ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย สมมติเดือนนี้ผมไม่ใช้รถยนต์ส่วนตัวเลย ก็จะได้เหรียญเป็นส่วนลดต่างๆ”

    “ถามว่าทำไมเราวางแผนพัฒนาเมือง 20 ปี เพราะปีที่ 20 ผมจะอายุประมาณ 70 คืออยากเห็นก่อนตาย…แต่เราไม่ควรจะอยู่ตลอด เพราะ ‘ขอนแก่นพัฒนาเมือง’ เหมือนยาที่ฉีดแล้วเส้นเลือดไม่อุดตัน ควรถ่ายออกไป ถ้า 20 ปีแล้วยังอยู่แสดงว่าร่างกายติดยา เราควรทำให้ร่างกายฟังก์ชั่น ทุกเซลล์ควรรู้หน้าที่”

    เพราะถึงวันหนึ่ง การไม่มี “บริษัทพัฒนาเมือง” อีกต่อไป จะสะท้อนว่าระบบการบริหารท้องถิ่นของราชการไทยไม่ล้มเหลวอย่างที่เคยเป็นมา