ผักแว่น ไม้สนธิ์
-
อะไรคือสิ่งที่คนเราต้องการจริงๆ ใน ‘เมือง’ ที่ใช้เราชีวิตอยู่?
‘เมือง’ รูปแบบไหนกันนะ ที่เราควรใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ?
‘ใคร’ มีหน้าที่ทำให้ ‘เมือง’ เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของคนเราได้?
หลายคนเคยตั้งคำถามนี้กันบ้างไหม กับเมืองที่คุณใช้ชีวิตอยู่ในทุกๆ วัน เพื่อทำความเข้าใจตนเอง เพื่อทำความเข้าใจรูปแบบความเป็นเมือง และเพื่อให้การใช้ชีวิตของคุณมีความสุข ซึ่งประกอบด้วย การดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพ ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจของตัวเองและของเมืองเติบโตอย่างเหมาะสม
Smart City ได้เป็นคำตอบของหลายๆ เมืองที่ทั่วโลกนำรูปแบบไปใช้ ซึ่งเป็นผลให้คุณภาพชีวิตของคนในเมืองและเมืองดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
Smart City จึงนับเป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของคนเราได้ เพราะด้วยความที่ Smart City คือรูปแบบของเมืองที่ได้รับการออกแบบโดยให้ความสำคัญในสามองค์ประกอบหลัก คือ การพัฒนารูปแบบและโครงสร้างของเมืองที่สอดรับกับแนวคิดของเมืองอัจฉริยะ, การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ประกอบกับการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและข้อมูลมาช่วยในการบริหารจัดการทรัพยากรของเมืองเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ระบบบริหารจัดการเครือข่ายพลังงานอัจฉริยะ ที่เรียกว่า Smart Grid ระบบมิเตอร์อัตโนมัติ ระบบควบคุมการจราจรอัจฉริยะ ระบบควบคุมอาคารอัจฉริยะ และระบบตรวจวัดมลภาวะ
แน่นอนว่ารูปแบบ Smart City ไม่สามารถ Copy & Paste มาใช้ในเมืองของตน เมื่อบริบทความเป็นเมืองแตกต่างจากเมืองอื่นๆ
“หลายปีมานี้ ผมตั้งคำถามกับขอนแก่นเมืองที่ผมเกิด อยู่ เติบโต และผมไม่เคยไปไหนเพราะใช้ชีวิตอยู่ที่ขอนแก่นมาตลอด เห็นการเปลี่ยนแปลงของเมืองจากตอนผมเป็นเด็กจนถึงตอนนี้ว่ามันต่างกันมาก” คุณสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง หรือ เคเคทีที (KKTT) และ CEO บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) กล่าว
บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด หรือ KKTT เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มธุรกิจชั้นแนวหน้าของจังหวัดขอนแก่นทั้งหมด 20 บริษัท จดทะเบียนเป็นบริษัทด้วยทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท พร้อมร่วมมือกับภาครัฐ คือ องค์กรปกครองท้องถิ่น และกลุ่มเอกชนอื่นๆ ได้แก่ 8 องค์กรเศรษฐกิจ, มูลนิธิขอนแก่นทศวรรษหน้า, 24 องค์กรจีน และมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดในเชิงออกแบบและพัฒนาเมือง อย่างถูกหลักวิชาการ เพื่อให้เมืองขอนแก่นเติบโตอย่างถูกทิศทาง ให้สมเป็นเมืองศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียนและเมืองในอนาคต เพื่อเตรียมตัวก่อนเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดย KKTT เป็นบริษัทที่ริเริ่มทำโครงการขนส่งมวลชนระบบรางเบา รถไฟฟ้าสายสีแดง การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ด้วยตนเอง
ชาวขอนแก่นร่วมสร้างเมืองอย่างสร้างสรรค์ และมีความอัจริยะ ด้วยสมอง เงินทุน และการลงมือทำของตนเอง นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทย และนับเป็นการเตรียมการรองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยสรุปสาระสำคัญของนโยบายสำคัญหนึ่งก็คือ การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ เรื่องของการยกระดับเมืองให้เป็น ‘Smart City’ พร้อมกับยุทธศาสตร์อื่น เพื่อการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นประเทศที่มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการผนึกกำลังของทุกภาคส่วนภายใต้แนวคิด “ประชารัฐ” โดยเป็นประชารัฐที่ผนึกกำลังกับเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ การวิจัยพัฒนา และบุคลากรระดับโลก ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของการ ‘รู้จักเติม รู้จักพอ และรู้จักปัน’
หนึ่งในโครงการที่กำลังเป็นรูปธรรม คือโครงการด้านคมนาคมเพื่อพัฒนาประเทศ ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ ในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 เรียกโดยย่อว่า MOU เพื่อพัฒนารถไฟความเร็วสูง สายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ไฮสปีดเทรน) ระยะทาง 252.5 กม. มูลค่า 179,412.21 ล้านบาท โดยผ่านจังหวัดขอนแก่นที่เป็นศูนย์กลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้วย
ดังนั้น โครงการ Khonkaen Smart City จึงมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนและพัฒนาพื้นที่ให้เหมาะสมในเชิงพาณิชย์ตามแนวรางรถไฟ เรียกว่า Transit Oriented Development หรือการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์โดยใช้ขนส่งมวลชนเป็นตัวนำ ผ่านการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยการลงทุนจากภาคเอกชน เพื่อการสร้างโครงสร้างเมืองให้นำสมัยและยั่งยืน
“การเติบโตของตัวเมืองขอนแก่นมีการขยายตัวเร็วมาก เรียกว่าแบบก้าวกระโดดก็ได้ ส่วนสำคัญคือจากการย้ายถิ่นฐานของคน เพราะเหตุผลในเรื่องของการทำมาหากิน ตอนนี้ในส่วนอำเภอเมืองเองมีประชากรที่ลงทะเบียนอยู่จำนวนล้านเจ็ด ล้านเก้า แต่จริงๆ แล้วมีประชากรแฝงมากกว่านี้ที่ไม่ได้ลงทะเบียน สังเกตได้จาก หนึ่ง เรื่องรถติด สอง เรื่องของที่อยู่อาศัย และสาม เรื่องสภาพแวดล้อม เช่น บึงแก่นนครวันนี้เริ่มไม่ใช่สิ่งที่ธรรมชาติควรเป็น มีความเสื่อมโทรม ผู้บริหารเมืองที่หมายถึงภาครัฐต้องมีความเข้าใจบริหารเมืองแบบ public area (พื้นที่สาธารณะ) พัฒนาพื้นที่ให้ใครก็ได้สามารถเข้าไปใช้ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ทำกิจกรรมต่างๆ รอบๆ บึงแก่นนคร ทั้งคนรวยคนจนต้องไปอยู่ร่วมกันได้
เรื่องสิ่งแวดล้อมและการรักษาธรรมชาตินี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ KKTT อยากบอกว่าต้องให้ความรู้กับผู้บริหารเมืองด้วยตัวเรา เพราะเราเป็นชาวบ้านที่อยู่อาศัยในเมืองนี้จริงๆ อย่างที่รัฐบาลบอกว่าลดความเหลื่อมล้ำ ผมคิดว่าคนที่พูดคำนี้เขาไม่เข้าใจศัพท์ของคำนี้อย่างแท้จริง อย่างที่เห็นกันออกมาคุณแค่พัฒนา public space ที่ดูดี แต่พื้นที่โดยรอบไม่ได้พัฒนาเชิงพาณิชย์ควบคู่ไปด้วยเลย
วิธีลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนในเมืองที่ผู้บริหารประเทศดูแลอยู่ มันหมายความว่า ได้ใช้ public space ทุกคน เช่น ขนส่งสาธารณะอย่างรถเมล์ คือ ไม่ว่าจะป็นประธานบริษัทหรือคนจนก็นั่งรถเมล์ได้ ขณะที่เราต้องสร้างเมืองให้ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนไปได้ พร้อมกับมีสาธารณูปโภครองรับวิถีชีวิตของคน ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยสอดคล้องกับการใช้ชีวิต ต้องคิดถึงอนาคตและลงมือทำกันวันนี้ ไม่ใช่เอาแต่พูดอย่างเดียว ผมพูดมาเยอะสัก 7-8 ปีมาแล้ว เรื่องแนวคิดการสร้างเมืองอย่างมีรูปแบบ และวันนี้ก็ยินดีมากที่ได้ลงมือทำ”คุณสุรเดชกล่าว
โครงการ Khonkaen Smart City ระยะที่ 1 เริ่มต้นด้วยการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน ด้วยโครงการรถไฟฟ้าระบบรางเบา สายเหนือ-ใต้ คือสำราญ-ท่าพระ ระยะทาง 26 กิโลเมตร และมีจำนวนสถานี 21 สถานี ใช้รถไฟฟ้าที่ผลิตและประกอบในประเทศจำนวน 15 ขบวน โดยมีขบวนละ 3 ตู้ ซึ่งใน 1 ขบวน สามารถบรรจุผู้โดยสารได้ 180 คน ด้วยความร่วมมือจากจังหวัดขอนแก่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลตำบลศาลา เทศบาลตำบลเมืองเก่า เทศบาลตำบลสำราญ เทศบาลตำบลท่าพระ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กลุ่มเอกชนขอนแก่น
ขณะนี้ชาวเมืองขอนแก่นมีรถเมล์แอร์ หรือ Smart Busก่อนแล้ว คือ Khon Kaen City Bus สาย 24 (บขส.3-เมืองขอนแก่น) ฟรี Wifi ค่าโดยสารจ่ายแบบหยอดเหรียญ ซึ่งต่อไปจะเปลี่ยนเป็นระบบการ์ดทั้งหมด ด้วยอัตราค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย สำหรับเด็ก/นักเรียน ค่าโดยสาร 10 บาท ใช้กันก่อนรถไฟฟ้ารางเบาแล้ว ด้วยเพราะสามารถจัดทำได้เร็วโดยทุนของ KKTT เอง พร้อมกับได้รับความร่วมมือจากสมาคมผู้ประกอบการรถสองแถว และเทศบาลเมืองขอนแก่น โดยวางแผนจะเปลี่ยนเป็น Smart Bus ให้บริการทุกสายทั่วเมืองขอนแก่นในอนาคตด้วย
โครงการต่างๆ ที่จัดทำขึ้นมาเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้วยตนเองของชาวขอนแก่นนี้ คุณสุรเดชนำหลักประโยชน์ของชาวขอนแก่นเป็นที่ตั้ง และเสนอต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วยแนวคิดสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา หมายถึง 1. นักธุรกิจเอกชน 2. ภาครัฐ และ 3. ประชาชน บริหารและพัฒนาเมืองซึ่งเป็นรูปแบบของ ‘ประชารัฐ’ อย่างแท้จริง
“ทุกหน่วยงานร่วมมือกันทำตามลักษณะงานเฉพาะของตน ไม่มีใครนำใคร มีแต่ความร่วมมือเพื่อให้เมืองของเราดียิ่งๆ ขึ้น โดยปรึกษาหารือกันอย่างเข้มข้นตลอดเวลา เพราะความสำคัญของการทำงานคือคิดและลงมือทำให้งานมีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม อย่างมั่นคง โดยสอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจระดับประเทศด้วย”
ขณะที่คุณชาญณรงค์ บุริสตระกูล ตัวแทนจาก 8 องค์กรธุรกิจ รองประธานบริหารหอการค้าจังหวัดขอนแก่น และกรรมการผู้จัดการบริษัทอีสานพิมานกรุ๊ป ให้ความเห็นว่า “เราไม่มีคำจำกัดความเกี่ยวกับสิ่งที่เราช่วยกันทำว่าควรให้ขอนแก่นมีชื่อการพัฒนาด้วยรูปแบบ Smart Cities หรือ Creative Cityis เพราะเราเลือกนำแนวคิดดีๆ จากหลายรูปแบบการสร้างเมืองอย่างเป็นระบบมาใช้ให้เหมาะสมกับความเป็นเรา ทุกคนที่มาร่วมมือกันเป็นคนขอนแก่นที่รู้จริตของตัวเราเอง การพัฒนาเมืองไม่ต่างกับการพัฒนาธุรกิจ เราต้องมองไปข้างหน้าโดยมีข้อมูลที่ดีรองรับ ลงมือทำอย่างต่อเนื่อง จริงจัง เพื่อให้ทุกๆ อย่างเป็นไปตามเป้าหมาย อย่างการทำ Smart Bus เพราะรถบัสมีขนาดใหญ่จุจำนวนคนได้ครั้งละมากๆ ที่สำคัญมีความปลอดภัยสูง ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก สมาคมผู้ประกอบการรถสองแถว โดยเส้นทางรถจะเชื่อมต่อกับระบบรางเบาเพื่อช่วยเรื่องเศรษฐกิจของเมืองได้”
ด้วยความที่จังหวัดขอนแก่นเป็นศูนย์กลางทางการศึกษา เป็นเมืองศูนย์กลางการปฏิบัติงานตาม ‘แผนงานพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจ’ เชื่อมต่อประเทศไทย พม่า เวียดนาม อีกทั้งเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าและการขนส่ง และเป็นประตูสู่ภูมิภาคอินโดจีนและประเทศจีนตอนใต้แล้ว ขอนแก่นยังได้พัฒนาเป็นเมืองไมซ์ (MICE- Meetings, Incentives, Conventions and Exhibitions) หรือการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อจัดประชุมสัมมนา คือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดประชุมบริษัทข้ามชาติที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทยด้วย เพราะมีศักยภาพรองรับผู้ที่เดินทางมาร่วมอีเวนต์ทางธุรกิจ ตั้งแต่สนามบินนานาชาติขอนแก่น ไปจนถึงศูนย์การประชุมของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่พรั่งพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกเปี่ยมคุณภาพ ซึ่งขณะนี้ขอนแก่นไต่ระดับขึ้นไปถึงระดับสากลแล้ว โดยเป็นสื่อกลางในการผสานโอกาสการติดต่อธุรกิจในหมู่ผู้เข้าร่วมงานนานาชาติ เช่น งานประชุม APEC Ministerial Meeting, International Conference on Humanities and Social Sciences และ Thai-ASEAN Trade Fair เป็นต้น
ขอนแก่นในวันนี้จึงเป็นที่จับตาของหลายๆ คนว่าการรวมตัวร่วมมือของนักธุรกิจ ภาครัฐ และประชาชน ที่เป็นชาวขอนแก่นเอง จะสามารถสร้างเมืองให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ และเป็นเมืองที่สามารถสร้างสรรค์ชีวิตของชาวเมืองให้มีความสุขอย่างเหมาะสม โดยเร็วๆ นี้จะมีศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบขอนแก่น หรือ TCDC Khonkaen คอยสนับสนุนนโยบายการออกแบบต่างๆ ให้กับเมืองขอนแก่นด้วย
ด้วยความที่จังหวัดขอนแก่นมีความพร้อมด้านชุมชน สภาพแวดล้อม ทุนวัฒนธรรม และโครงสร้างพื้นฐานที่เกิดจากความร่วมมือของทั้งภาครัฐและเอกชน TCDC จึงจัดสัมมนา “ก่อร่างเมืองสร้างสรรค์” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจถึงแนวทางการพัฒนาเมืองขอนแก่นไปสู่เมืองสร้างสรรค์ จากวิสัยทัศน์และแนวคิดของผู้วางนโยบายของประเทศ นักสร้างสรรค์ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาพื้นที่ และกลุ่มธุรกิจที่จะมาชี้โอกาสที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีเนื้อหาสำคัญคือ ขณะนี้ภาคส่วนอันได้แก่ ภาครัฐและเอกชน ร่วมดำเนินการไปในทิศทางเดียวกันในอันที่จะเอื้อต่อการพัฒนาเมืองอย่างสร้างสรรค์ สิ่งที่ทำการพัฒนาอันดับแรก คือ ‘คน’ เพื่อให้คนที่เป็นชาวเมืองได้ร่วมพัฒนาวิถีชีวิตของตนไปพร้อมกับการบริหารรัฐในรูปแบบประชารัฐด้วย เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและการเปิดประชมคมอาเซียน ขอนแก่นกำลังก้าวไปสู่เมืองสร้างสรรค์ได้อย่างยั่งยืน
โดยศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ (TCDC) ได้ดำเนินการพัฒนาผู้ประกอบการและผลักดันแนวคิดการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ (Creative City) ให้ขยายไปสู่ภูมิภาค ด้วยการขยายการให้บริการเพื่อให้ผู้ประกอบการและประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เข้าถึงความรู้และทรัพยากรในการพัฒนาธุรกิจและความคิดสร้างสรรค์ ผ่านการให้บริการของ TCDC ขอนแก่น ที่จะเปิดขึ้นในปี 2561 นี้
ขอขอบคุณ :
บริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด (KKTT)
Jump Space the Co-working Space อ.เมือง จ.ขอนแก่น
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสร้างเมืองขอนแก่น ดูต่อได้ที่
Khon Kaen City Bus
Khon Kaen Smart City
Khon Kaen Think Tank : KKTT