ThaiPublica > เกาะกระแส > ต้นแบบพัฒนาเมือง “ขอนแก่นโมเดล” จากระบบขนส่งมวลชน “รถไฟรางเบา” ถึง “e-Marketplace” ตั้งกองทุน หนุนเงินทุนทำธุรกิจ

ต้นแบบพัฒนาเมือง “ขอนแก่นโมเดล” จากระบบขนส่งมวลชน “รถไฟรางเบา” ถึง “e-Marketplace” ตั้งกองทุน หนุนเงินทุนทำธุรกิจ

22 ธันวาคม 2018


นายกมลพงศ์ สงวนตระกูล ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด

เป็นที่รับรู้กันดีว่าความเหลื่อมล้ำของความเจริญระหว่างเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครกับจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศนั้นดูเหมือนจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของเมือง ไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่งมวลชน รถเมล์ รถไฟฟ้า ไปจนถึงความเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจการค้าการลงทุน นำมาซึ่งการอพยพย้ายถิ่นเข้าสู่เมืองหลวงเพื่อหา “โอกาส” และปัญหาความแออัดของกรุงเทพฯ ที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลและนักวิชาการหลายยุคสมัยต่างเสนอแนวทางการพัฒนาหัวเมืองรอง เพื่อกระจายความเจริญ กระจายงาน กระจายรายได้ และกระจายคนออกไป อย่างไรก็ตาม ด้วยระบบราชการแบบไทยๆ ที่รวมศูนย์กลาง แม้ว่าจะพยายามกระจายอำนาจการปกครอง แต่ในด้านงบประมาณกลับแทบไม่ได้กระจายตามลงไปด้วย ทำให้การผลักดันโครงการต่างๆ เหล่านี้เป็นไปอย่างล่าช้าและไม่ค่อยจะประสบความสำเร็จนัก

อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังกลับมีกระแสพลังที่น่าสนใจของภาคเอกชนและประชาชนในพื้นที่ ที่เริ่มดำเนินการขับเคลื่อนพัฒนาเมืองของตนเองจากภายในไปสู่ใจกลางของอำนาจ จากภายล่างขึ้นสู่ด้านบน โดย “จังหวัดขอนแก่น” ศูนย์กลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของแนวทางการพัฒนานี้ จนนำไปสู่การขนานนามว่า “ขอนแก่นโมเดล”

นายกมลพงศ์ สงวนตระกูล ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด เป็นหนึ่งในแกนนำของการพัฒนาเมืองขอนแก่น ได้สรุปการพัฒนาเมืองรองในฐานะตัวเชื่อมโยงกับการพัฒนาประเทศโดยรวมว่า ปัญหาระดับประเทศอาจจะดูใหญ่เกินไป เราก็คิดว่าไม่น่าจะแก้ไขได้ แต่ถ้ามองเป็นปัญหาย่อยๆ ให้มันเป็นปัญหาของแต่ละจังหวัด อาศัยวิสัยทัศน์ของคนในจังหวัดช่วยกันแก้ไข อาจจะเป็นทางออกของประเทศไทยได้ ซึ่งในอดีตการทำงานพัฒนาเมืองขอนแก่นได้มีมาค่อนข้างนานแล้วจากการสัมมนาขององค์กรต่างๆ ของจังหวัด เช่น 24 องค์กรจีน 5 เทศบาลท้องถิ่น 8 องค์กรเศรษฐกิจ 20 บริษัทเอกชน แต่งานพัฒนาหลายอย่างได้เริ่มมาตกผลึกในยุคปัจจุบันและสามารถขับเคลื่อนจนเริ่มเห็นเป็นรูปธรรม

นายกมลพงศ์กล่าวย้อนกลับไปถึงที่มาที่ไปของของปัญหาของการพัฒนาจังหวัดหรือท้องถิ่นในประเทศไทย ซึ่งเป็นที่มาของขอนแก่นโมเดลว่าเวลามีปัญหาจังหวัดจะพึ่งพาส่วนกลางด้วยการแจ้งร้องขอให้มาช่วยเหลือ เช่น ผ่านการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เจอคือขาดความต่อเนื่องและขาดแผนแม่บทที่มีทิศทางตรงกัน แม้ว่าจะมีเป้าหมายพัฒนาเมืองขอนแก่นเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นหอการค้า สภาอุตสาหกรรม ภาครัฐบาล ที่ต่างมีแผนการทำงานของแต่ละหน่วยงาน

ตัวอย่างหนึ่งคือขาดการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม อย่างโครงการหนึ่งที่องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ต้องการลดอุบัติเหตุทางจราจรด้วยการติดกล้องจับความเร็วที่ถนนมิตรภาพ จึงให้งบประมาณมาติดกล้องและวางระบบสายไฟต่างๆ แต่ยังขาดงบการดูแลรักษาในระยะยาว อีกด้านตำรวจก็อยากจะลดอาชญากรรม เขาตั้งโครงการติดกล้องวงจรปิดและวางระบบสายไฟเหมือนกัน แต่ลองคิดว่าถ้าเมืองขอนแก่นมาคุยกันทุกภาคส่วน JICA อาจจะให้งบประมาณแล้วทางจังหวัดเตรียมระบบสายไฟและงบการดูแลรักษาไว้ให้มาใช้ด้วยกัน มันก็ทำให้แต่ละหน่วยงานที่เข้ามาช่วยพัฒนาขอนแก่นได้ใช้ทรัพยากรร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด แบบนี้บางทีเราอาจจะได้กล้องเพิ่มจาก 100 ตัวเป็น 200 ตัวก็ได้

อีกปัญหาหนึ่งคือเวลาเสนอโครงการเข้าไปยังคณะรัฐมนตรีหลายครั้งจะได้เพียงงบการศึกษาวิจัยความเป็นไปได้ของโครงการ แต่พอจะต้องการงบเพื่อไปดำเนินโครงการจริงๆ อาจจะไม่ได้รับการอนุมัติ ซึ่งเข้าใจว่าส่วนกลางมีจังหวัดต้องดูแลถึง 77 จังหวัด การจัดสรรงบประมาณอาจจะมีข้อจำกัดอยู่มาก แม้ว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีประชากรประมาณ 33% ของประเทศ แต่หากไปดูงบประมาณจากส่วนกลางที่ลงมาจะพบว่าเป็นเพียง 6-7% เท่านั้น

“เมืองขอนแก่นจึงพยายามจะเปลี่ยนความคิดนี้ ผมเองได้ไปเรียนที่กรุงเทพฯ ไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ ได้กลับมาที่ขอนแก่นก็ 16 ปีแล้ว พอกลับมาเราเห็นสิ่งต่างๆ เปลี่ยนไป เห็นตึกรามบ้านช่องใหญ่โต มีศูนย์การค้า แต่สิ่งที่ยังรอการแก้ไขก็ยังมีอยู่ให้เห็น เห็นน้องๆ นั่งรถสองแถว เราเห็นปัญหาของน้ำ เราเป็นเมืองเกษตรกรรม มีปัญหาเรื่องการบริหารน้ำอยู่ ตอนนั้นขอนแก่นได้มีแนวทางการพัฒนาเมืองให้เป็นศูนย์การกลางการประชุมและท่องเที่ยว หรือ MICE City แต่ตอนนั้นก็ยังไม่มีศูนย์ประชุมมาตรฐานเลย เราก็เปลี่ยนความคิดว่าพอมีปัญหา เราก็หาวิธีแก้ไขเองก่อน ช่วยหางบประมาณเองก่อน แต่เราก็ไม่ได้ไม่ต้องการงบจากรัฐบาล แต่เราก็จะพยายามหาเพื่อเริ่มต้นเดินหน้าไปก่อน ต่อไปก็หากฎหมายที่สนับสนุนการดำเนินงาน แตกต่างจากเดิมที่เวลาเจอปัญหา เราก็ร้องเรียนส่วนกลาง ภาครัฐศึกษา ของบประมาณ แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มันก็อาจจะใช้เวลานาน” นายกมลพงศ์กล่าว

นายกมลพงศ์กล่าวต่อว่า เมื่อได้กรอบแนวคิดการพัฒนาเมืองที่ชัดเจน หน่วยงานเอกชนได้เริ่มรวมตัวกันตั้ง บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด ขึ้นมาหารือว่าจะดูแลและพัฒนาจังหวัดอย่างไร? ซึ่งพอหารือกับองค์กรต่างๆ ในจังหวัดพบว่ามีอยู่ประมาณ 30 โครงการที่น่าสนใจและควรพัฒนา แต่ในเบื้องต้นด้วยงบประมาณที่จำกัดจึงคิดว่าควรจะเน้นไปที่ 2 โครงการหลักที่มีผลกระทบกับชุมชนมากที่สุดคือระบบขนส่งมวลชนและศูนย์ประชุมตามแนวทางของการเป็น MICE City

“ในแง่ของศูนย์ประชุม ของเดิมที่มีอยู่ยังมีข้อจำกัดอยู่มากคือจะจัดงานใหญ่ ที่ต้องมีเครื่องมือหรือจัดแสดงเครื่องจักรใหญ่ๆ ไม่ได้ ทางเข้าออกก็เล็ก เราก็เสนอแนวคิดนี้ออกไปว่าควรจะมีตามแนวทางการพัฒนาเมืองขอนแก่นให้เป็น MICE City ทางซีพีก็เห็นด้วยเริ่มจะมาขอลงทุน ตอนแรกบางฝ่ายก็บอกว่าจะมาเป็นคู่แข่งในพื้นที่หรือไม่ แต่เรากลับยินดีมากกว่า เพราะขอนแก่นเองก็มีอีกตั้ง 29 โครงการที่ควรทำ ถ้ามีคนสนใจมาลงทุนเมืองขอนแก่นก็จะมีเงินเหลือไปพัฒนาโครงการต่างๆ เหล่านั้นแทน นี่คือวิธีคิดที่เรามอง” นายกมลพงศ์กล่าว

นายกมลพงศ์ สงวนตระกูล

ปั้นฮับ “รถไฟฟ้ารางเบา” อำนวยความสะดวก-หนุนเศรษฐกิจขอนแก่น

สำหรับระบบขนส่งมวลชน นายกมลพงศ์กล่าวว่า จากงานศึกษาที่กรุงเทพฯ พบว่าคนเราจะต้องเสียเวลาไปประมาณ 2 ชั่วโมงต่อวันในการเดินทาง เนื่องจากปัญหาการจราจรติดขัด ซึ่งหากคิดว่าคน กทม. 10 ล้านคนต้องเสียเวลาวันละ 2 ชั่วโมงจะเท่ากับวันละ 20 ล้านชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลามหาศาลที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากกว่านี้ ในกรณีของขอนแก่นตนเองก็คิดว่าไม่ได้แตกต่างกันมากนัก บางช่วงอาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ จึงเป็นที่มาว่าทำไมขอนแก่นต้องมีระบบขนส่งมวลชน

ในช่วงแรกขอนแก่นก็ใช้วิธีประชาสัมพันธ์สร้างความรับรู้ถึงประโยชน์ของระบบขนส่งมวลชน มีการเปรียบเทียบให้เห็นบนท้องถนนว่าต้องเกิดมีคน 100 คนต้องการใช้รถยนต์คนละคันจะต้องเสียพื้นที่ในท้องถนนไปเท่าไหร่ แต่หากเป็นรถสาธารณะอย่างรถเมล์หรือรถไฟจะประหยัดพื้นที่ท้องถนนและเวลาของคนบนท้องถนนไปได้แค่ไหน ชาวขอนแก่นก็ตอบรับและเข้าใจตรงกันถึงความจำเป็นของการมีระบบขนส่งสาธารณะ

นอกจากนี้ บริษัทยังได้หารือกับรถสองแถว ซึ่งจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการเพื่อหาทางออกร่วมกัน ทางบริษัทก็เสนอว่าจะให้คนขับมาวิ่งเป็นรถเมล์เสริม หรือ Feeder ของระบบ ซึ่งจะเป็นโครงการที่ทำขึ้นมาระหว่างรอการลงทุนในรถไฟรางเบา ทำให้วิ่งด้วยระยะทางที่ลดลง แต่ได้เงินจำนวนเท่าเดิม อีกด้านก็มีการจ้างมาวิ่งจะเป็นลักษณะคนเดียวโดยไม่ต้องมีกระเป๋ารถเมล์ ตรงนี้ก็จะช่วยสร้างรายได้ได้มากขึ้นจากเดิมที่ต้องหารคนละครึ่ง ทางด้านประธานสหกรณ์รถสองแถวและสมาชิกก็ยอมรับและเข้าใจถึงความจำเป็นเหล่านี้และยินดีจะร่วมมือจนได้ทางออกร่วมกัน

“คำถามต่อไปคือจะทำระบบขนส่งแบบไหน เป็นรถไฟฟ้ารางหนักแบบบีทีเอสใน กทม. หรือไม่ หรือจะเป็นรถเมล์ แต่พอไปศึกษาจริงจังก็พบว่ารถไฟฟ้ารางเบาน่าจะเหมาะสมที่สุด เพราะ ข้อแรก ใช้เงินลงทุนน้อยกว่ารถไฟฟ้ารางหนักมาก ขณะที่ยังรองรับปริมาณการขนส่งได้ค่อนข้างดี ทำให้คุ้มทุนเร็วกว่า ข้อสอง คือ พัฒนาต่อยอดในเชิงการหารายได้ดีกว่าระบบล้อยางอย่างรถเมล์บนถนน เช่น การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบๆ หรือพื้นที่โฆษณาต่างๆ หรือภาษีส้มหล่นในพื้นที่ข้างเคียงต่างๆ นอกจากนี้ เมื่อศึกษาไปลึกๆ เราพบอีกว่ามันมีความเป็นไปได้ที่ขอนแก่นจะสามารถเป็นฮับผลิตรถไฟรางเบา เนื่องจากความซับซ้อนของเทคโนโลยีที่น้อยกว่ารถไฟฟ้ารางหนัก ตรงนี้ต่อยอดไปหาการจ้างงาน การกระจายรายได้ของขอนแก่นด้วย” นายกมลพงศ์กล่าว

สำหรับแนวทางการบริหารจัดการ บริษัทต้องการให้ระบบขนส่งมวลชนเป็นของทุกคนในจังหวัด จึงได้หารือกับเทศบาลทั้ง 5 เทศบาลในขอนแก่น จัดตั้งเป็นบริษัทขึ้นมาอยู่ภายใต้เทศบาลแยกออกมาจากบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด อย่างชัดเจน คล้ายกับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ที่อยู่ภายใต้กรุงเทพมหานครและดูแลเป็นเจ้าของรถไฟฟ้าบีทีเอส และค่อยเปิดประมูลสัมปทานการก่อสร้างหรือเดินรถต่อไป นอกจากนี้ จะมีสภาอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัยที่จะมาดูแลเรื่องเทคโนโลยี การสร้างฮับของรถไฟรางเบา มีหอการค้ามาดูแลเรื่องท่าเรือบกต่างๆ ด้วย

นายกมลพงศ์กล่าวว่า เมื่อได้รูปแบบของระบบขนส่งมวลชนที่เป็นที่ยอมรับแล้ว อุปสรรคสำคัญต่อไปคืองบประมาณ บริษัทตั้งเป้าหมายว่าจะใช้การระดมทุนจากประชาชนในตลาดทุน โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้มีแนวทางการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานประจำจังหวัด (provincial infrastructure fund – PIF) ขึ้นมารองรับอยู่แล้ว ซึ่งส่วนนี้จะช่วยสนับสนุนความรู้สึกเป็นเจ้าของของคนขอนแก่นที่มีต่อระบบขนส่งมวลชนด้วย แต่ช่วงแรกเนื่องจากอาจจะยังไม่มีผลประกอบการที่ชัดเจน บริษัทตั้งเป้าหมายว่าจะระดมทุนกันเองก่อน รวมไปถึงของบประมาณจากภาครัฐประมาณ 15,000-20,000 ล้านบาท และเมื่อโครงการเริ่มมีผลประกอบการ ประชาชนเห็นประโยชน์ จึงจะหันไปหาการระดมทุนในตลาดทุน

พัฒนา “e-Marketplace” เก็บรายได้ตั้งกองทุนหนุนเอสเอ็มอี

นายกมลพงศ์กล่าวต่อไปว่า อีกโครงการที่กำลังดำเนินงานตามการสนับสนุนของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่สนับสนุนให้ทุกจังหวัดมี e-Marketplace เพื่อสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีให้เข้าถึงโอกาสและตลาดการค้าขายได้ โดยจะรวบรวมสินค้าต่างๆ เข้ามาจาก 26 อำเภอของขอนแก่น

“ส่วนขอนแก่นเรามองไปมากกว่ากลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีหรือธุรกิจค้าขายที่มีอยู่ แต่เรามองขยายออกไปถึงเรื่องโอกาสที่เป็นไปได้ในกลุ่มอื่นๆ ด้วย โดยภายใต้ e-marketplace เราจะเก็บรายได้จากการขายส่วนหนึ่ง 5-10% มาตั้งเป็นกองทุนเพื่อให้ธุรกิจที่มีไอเดียดีสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อเริ่มต้นธุรกิจของเขาได้ด้วย” นายกมลพงศ์กล่าว

ในรายละเอียด กองทุนดังกล่าวอาจจะตั้งเป็นลักษณะของไมโครไฟแนนซ์ โดยจะทำแอปพลิเคชันสำหรับสมัครสินเชื่อ ขณะที่อีกด้านผู้อนุมัติที่จะมาจากผู้บริหารหรือผู้เชี่ยวชาญในการประเมินเรื่องเครดิตก็จะอนุมัติผ่านแอปพลิเคชันด้วย เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และลดต้นทุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจใหม่ๆ นอกจากนี้ กองทุนจะให้น้ำหนักของความเป็นไปได้หรือโอกาสในเชิงธุรกิจประกอบนอกเหนือข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือเครดิตโดยตรง เนื่องจากเป้าหมายสำคัญของกองทุนคือการขยายโอกาสทางธุรกิจมากกว่าการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเอสเอ็มอีเพียงเรื่องเดียว

“เรื่องรายละเอียดอาจจะต้องรอข้อสรุปที่ชัดเจนก่อนว่าสามารถทำได้เพียงใดและอย่างไร แต่นอกเหนือจากขอนแก่น ยังมีจังหวัดอื่นๆ อย่างเชียงใหม่ ภูเก็ต ที่กำลังดำเนินงานในลักษณะเดียวกัน อนาคตก็น่าจะเชื่อมโยงกันเป็น e-marketplace ของทั้งประเทศ” นายกมลพงศ์กล่าว