ThaiPublica > คนในข่าว > “ศิริกัญญา ตันสกุล” รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล…เปลี่ยนผู้นำไม่พอ ต้องปรับโครงสร้าง เปลี่ยนทั้งประเทศ

“ศิริกัญญา ตันสกุล” รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล…เปลี่ยนผู้นำไม่พอ ต้องปรับโครงสร้าง เปลี่ยนทั้งประเทศ

20 ธันวาคม 2022


“ศิริกัญญา ตันสกุล” รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ชวนคุยถึงการเลือกตั้งครั้งใหม่ ถึงเวลาเปลี่ยนการเมือง ประชานิยมเป็นรัฐสวัสดิการ แก้ปัญหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง รุกปรับโครงสร้างพื้นฐานเกษตร แก้ปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดิน หนี้สินเกษตร สร้างแหล่งน้ำขนาดเล็ก

หากจะมองหานักเมืองหญิงรุ่นใหม่ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “ศิริกัญญา ตันสกุล” รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ถือเป็นนักการเมืองดาวเด่นคนหนึ่ง ด้วยลีลาอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรที่หนักแน่นด้วยข้อมูล และการเคลื่อนไหวร่วมกับภาคประชาชนก็ชัดเจนเด่นชัดเช่นกัน

อาจจะด้วยปูมหลังที่เป็นนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ นักวิจัยจากมูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation) ทำให้ “ศิริกัญญา” เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ที่มีทั้งความบู๊และบุ๋นในเวลาเดียวกัน

“ไทยพับลิก้า” มีโอกาสพูดคุยกับ “ศิริกัญญา” ถึงอนาคตทางการเมืองไทยท่ามกลางกระแส ส.ส. ย้ายพรรคในช่วงใกล้เลือกตั้งครั้งใหม่ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล

ก่อนตัดสินใจเข้าสู่วงการการเมือง “ศิริกัญญา” บอกว่าทำงานวิชาการมาโดยตลอด หลังจากลาออกจากสถาบันอนาคตไทยศึกษา มาทำงานในบริษัทที่ปรึกษาแห่งหนึ่ง แต่ยังอยากทำอะไรเกี่ยวกับวิชาการ จนกระทั่งเพื่อนที่รู้จักกันชวนมาช่วยทำนโยบายให้พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งลักษณะงานก็ยังคงเป็นความวิชาการที่มีความถนัดอยู่แล้ว

“ช่วงนั้นประมาณเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ปี 2561 เลขาธิการพรรคก้าวไกลคนปัจจุบัน โทรมาทาบทามว่าสนใจร่วมงานกับพรรคอนาคตใหม่ไหม มาเป็น ผอ.สำนักนโยบาย ก็ตัดสินใจเข้ามาร่วมทำงาน”

ด้วยความที่เป็นนักวิชาการ ทำให้การตัดสินเข้าร่วมงานการเมืองเพื่อทำนโยบายฯ พรรค ไม่ใช่เรื่องยาก ขณะเดียวกันการทำงานการเมืองก็ท้าทาย ดูน่าตื่นเต้น

ผันตัวเองจากการทำงานโยบายหลังบ้าน มางานหน้าบ้านด้วยการลง ส.ส.ปาตี้ลิสต์ ได้อย่างไร ?

ตอนแรกทำงานนโยบายหลังบ้านให้พรรคฯ ก็ไม่เปิดตัวอะไร เหมือนเป็นทีมงานคนหนึ่ง แต่พอใกล้เลือกตั้งก็มีการมาถามว่า ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ขาด ประมาณอันดับ 11-20 ไม่มีผู้หญิงเลย ช่วยมาลงให้หน่อย

วันนั้น กระแสพรรคอนาคตใหม่ไม่มีอะไรเลย คิดว่าได้มาแค่ 5 ที่นั่งก็ได้เยอะมากแล้ว ตอนนั้นเราลงอันดับที่ 15 ไม่คิดว่าจะได้ด้วยซ้ำ ก็แค่บอกว่าตกปากรับคำให้เขาจัดปาร์ตี้ลิสต์ให้ครบ แต่จับพลัดจับผลู ก็ไม่คิดว่าจะมาถึงวันนี้

เข้ามาทำงาน ส.ส. ต้องลงพื้นที่มากกว่าการทำงานวิชาการ?

ด้วยความที่เราเป็นนักวิชาการต้องทำนโยบาย ทำให้งานพื้นที่ไม่ได้ทำมาก ต้องเร่งทำนโยบาย เพื่อส่งให้ กกต. และทำข้อมูลอื่นๆ และเตรียมเป็นไม้สองไม้สาม เวลาเขาขึ้นเวทีดีเบต หากคุณธนาธรหรือคนอื่นๆ ในพรรคไม่ว่างก็จะขึ้นแทน เพราะสามารถพูดได้ทุกเรื่อง ซึ่งการขึ้นเวทีเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมากกว่า ไม่ได้ถนัดพูดในที่สาธารณะที่มีคนจำนวนมากขนาดนี้

ใช้เวลาตัดสินใจนานหรือไม่ ก่อนลงสมัครปาร์ตี้ลิสต์?

ยิ้มและบอกว่า ประมาณ 30 วินาที เพราะไม่คิดว่าจะได้ ตัดสินใจง่ายเลย (หัวเราะ)

หลังได้รับเลือกเป็น ส.ส. ทำหน้าที่อะไรบ้าง?

หลังเลือกตั้งเรียกว่าเป็นวิบากกรรมเลย ตั้งแต่คุณธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ)ไม่ได้เข้าสภาฯ พรรคอนาคตใหม่โดนยุบพรรคฯ ส.ส.บางส่วน ย้ายพรรค ซึ่งตอนยุบพรรคฯ เหนื่อยกันมาก เพราะว่าในช่วงที่ทำงานพรรคอนาคตใหม่มีทีมมาช่วยกันจำนวนมาก พอยุบพรรคฯ ตอนนี้ก็ไม่เหลือใคร

อีกอย่างเราถือว่าเป็นพรรคใหม่ในสภาฯ การอภิปรายในสภา ต้องค่อยตรวจสคริปต์ ทำสคริปต์ ทำพาวเวอร์พอยต์ เพื่อให้ ส.ส. อภิปราย จนกลายเป็นมิติใหม่ในสภาฯ ที่ทำให้การอภิปรายต้องใช้ข้อมูลมากขึ้น เพราะว่าสมัยก่อนไม่มีพาวเวอร์พอยต์ แต่จะใช้คำพูด วาทศิลป์ แต่เราเปลี่ยนวิธีอภิปรายกันแบบนี้ มีข้อมูลมากขึ้น ทุกคนต้องมีสไลด์ ถือเป็นการจุดประกายในสภาฯ

การเปลี่ยนตัวเองจากนักวิชาการมาเป็นนักการเมือง ชีวิตเปลี่ยนมากน้อยแค่ไหน?

ไม่ถึงขั้นเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก เพราะยังใช้ความถนัดในเรื่องความเป็นวิชาการและความน่าเชื่อถือ เพื่อน ส.ส. ในสภาฯ จะเรียกว่าอาจารย์ไหม/ผอ.ไหม และไม่ว่าจะอยู่พรรคไหนถ้ามีปัญหาทางวิชาการ เรื่องงบประมาณ วิ่งมาถาม ให้ช่วยอธิบายให้ฟังหน่อย หรือบางครั้งให้ช่วยหาข้อมูลก็มี ก็เลยไม่ได้รู้สึกว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่ที่ต่างออกไปคือ การทำหน้าที่ออกสื่อบ่อยและถี่มากขึ้น จากเดิมที่นานๆ ครั้งจะมีแถลงข่าวสักครั้ง

แต่ตอนนี้หากมีประเด็นไหนร้อนๆ ก็ต้องรับสายออกสื่อ ไปเข้ารายการมากขึ้น เช่น ในช่วงเคลื่อนไหวการควบรวมทรูและดีแทค

ส่วนเรื่องอภิปรายก็ต้องปรับมากขึ้น การพูดแนวๆ วิชาการ ข้อมูล อาจจะดูห่างเหินกับประชาชน เพราะภาษาเข้าใจยาก ก็พยายามปรับ แต่จะให้ดุดัน เร้าใจ ก็ไม่ใช่เรา บางครั้งก็มีบ้างช่วงที่เรารู้สึกแย่กับบางประเด็น ก็มีอารมณ์ขึ้นบาง แต่ก็ไม่มากเท่ากับคนอื่น

ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล

ช่วงเปลี่ยนผ่านจากพรรคอนาคตใหม่มาเป็นก้าวไกลเป็นอย่างไรบ้าง ช่วยเล่าสถานการณ์ช่วงนั้น

อู้ย… หนัก… หนักมาก ทีมงานมีน้อยลงในช่วงพรรคอนาคตใหม่ยังมีอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล ที่ถนัดงานสภาฯ ค่อยดูข้อบังคับการประชุม งานการเมือง การเจรจรจาต่อรอง พอเปลี่ยนมาเป็นพรรคก้าวไกล ต้องพยายามกันเอง มาทำกันเองทั้งงานอภิปราย แต่ก่อนคุณธนาธรมาช่วยดู ตอนนี้เขาไม่ช่วยแล้วเพราะกลัวข้อหาแทรกแซงครอบงำพรรคฯ ต้องทำเอง ก็หนักพอสมควร แต่ว่าในขณะเดียวกันทีมบริหารเก่าเขาก็ฝากความหวังไว้ ต้องแบกทุกอย่าง รวมทั้งความคาดหวังด้วย

ในช่วงเปลี่ยนผ่านฯ ก็โฟกัสที่งานสภาฯ ต้องเอาให้อยู่ให้รอด ซึ่งถึงตอนนี้เราก็พิสูจน์ตัวเองได้แม้ว่าจะเป็นพรรคก้าวไกล performance ไม่ได้ เราคงเข้มข้นอยู่เสมอ เราถือว่าที่เขาฝากพรรคใหม่ไว้เรา ก็ไม่ได้ทำให้เขาผิดหวัง

การวางนโยบายพรรคฯ เก็บข้อมูลแบบไหน มีกระบวนการอย่างไรก่อนที่จะออกมาเป็นนโยบาย

ในช่วงทำงานพรรคอนาคตใหม่ การทำนโยบายเขามีทีมลงไปสำรวจข้อมูลมาแล้ว เราทำหน้าที่ทำให้ลึกขึ้นทำให้ชัดขึ้นในทางวิชาการ อย่างเรื่องสวัสดิการ ก็มีหน้าที่มาคำนวณงบประมาณ และหาช่องทางว่าถ้าจะทำนโยบายนี้จะต้องหาเงินมาจากไหน โดยที่รัฐไม่ต้องกู้เงินเพิ่ม หรือเอาข้อมูลข้อเท็จจริงมาประเมินทำให้มีความเป็นไปได้มากขึ้น ไม่ใช่นั่งเทียนคิดกันเอง เราก็พยายามหาข้อมูลมาอ้างอิงความเป็นไปได้มากที่สุด

นโยบายที่โดดเด่นของพรรคก้าวไกลจะเป็นเรื่องรัฐสวัสดิการ?

ใช่ นโนยบายของเราจะดูเรื่อง สวัสดิการตั้งแต่เกิดจนตาย และพยายามทำเรื่องนี้ให้ครบทุกมิติมากขึ้น

แต่ดูเหมือนนโยบายทางการเมืองจะโดดเด่นกว่า เช่น แก้ ม.112 หรือ แก้ รธน.

ใช่ จุดเด่นของเราก็เป็นเรื่องกการเมือง ที่เราเสนอไป ก็มีเรื่อง ม.112 การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งประเด็นเหล่านี้อาจจะโดดเด่น เพราะเป็นเรื่องที่คนในสังคมมีความเห็นกันหลากหลาย ทำให้มีการถกเถียงกันค่อนข้างมาก

ช่วงนี้หลายพรรคทยอยเปิดนโยบายไปบ้างแล้ว

พรรคก้าวไกลก็เริ่มเปิดนโยบาย เพราะว่าผู้สมัคร ส.ส. ต้องการใช้นโยบายในการหาเสียง ตอนนี้เราเปิดไปแล้วหลายเรื่อง 3 เรื่อง การเมืองไทยก้าวหนา สวัสดิการก้าวหน้า แอนตี้คอร์รัปชัน และในเดือนมกราคมปี 2566 จะเริ่มเปิดนโยบายใหญ่อีกครั้ง

นโยบายเรื่องค่าแรงขั้นต่ำของพรรคก้าวไกลคืออะไร

เราเสนอค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาท ปี 2566 ทำเลย แต่ความจริงแล้วเราอยากเข้าไปแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ให้ค่าแรงขั้นต่ำต้องขึ้นอัตโนมัติทุกปี ไม่ใช่รอให้มีการเลือกตั้งแล้วค่อยขึ้น วิธีการทำคำนวณคือให้ดูว่าจีดีพีโตเท่าไหร่ เงินเฟ้อเท่าไหร่ ถ้าอันไหนมากกว่าก็ให้ปรับด้วยอัตรานั้นขึ้นไป ซึ่งถ้าปรับขึ้นแบบนี้ตามเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจ นายจ้างไม่ต้องตกใจ ถ้าปีนี้เศรษฐกิจดี ก็รู้เลยว่าค่าแรงต้องขึ้น เป็นเรื่องที่ตรงไปตรงมา เพราะว่าช่วงนี้ค่าครองชีพแพง แล้วค่าแรงก็ขึ้นยากเหลือเกิน ถ้าให้ขึ้นอัตโนมัติก็จะดีกว่า ขึ้นตามเฟ้อเลย

นโยบายที่เป็นไฮไลต์ของพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งครั้งหน้าคืออะไร

นโยบายเศรษฐกิจที่น่าจะเป็นไฮไลต์ว่าเราจะพาประเทศไปอย่างไร เพราะปัญหาเศรษฐกิจเรามีเยอะมาก โดยเฉพาะปัญหาในเชิงโครงสร้าง ซึ่งเราคิดมาตลอดว่าเวลากำหนดนโยบายต้องจะพุ่งชนต้นตออย่างเดียวแก้ที่โครงสร้าง หลายครั้งนโยบายของเราจะไม่หวือหวา ฉาบฉวย เอาง่ายๆ หลายพรรคพูดเรื่องเอสเอ็มอี อยากช่วยเอสเอ็มอี มีกองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอี

แต่เราเห็นว่า ถ้าโครงสร้างเศรษฐกิจไม่เท่าเทียมกัน แล้วรายใหญ่ยังเอาเปรียบ ใช้อำนาจเหนือตลาดทำให้การค้าไม่เป็นธรรม ต่อให้มีกี่สิบกี่ร้อยกองทุนฯ ช่วยเอสเอ็มอีได้จริงหรือเปล่า เอสเอ็มอีจะได้ลืมตาอ้าปากจริงหรือไม่

ถ้าสุดท้ายแล้วรายใหญ่ก็ยังคงลงมาแบ่งมาแข่ง มาแย่งส่วนแบ่งตลาดกันภายในประเทศ ต้องปูพื้นฐานกันให้แน่นก่อน ต้องทำโครงสร้างพื้นฐานให้แน่น อุตสาหกรรมไหนที่ทำมานาน เราทำงานให้บีโอไอ บางอุตสาหกรรมก็เห็นว่าไปต่อไม่ได้ ควรมีรูปแบบการส่งเสริมนักลงทุนแบบใหม่ได้ แต่ประชาชนไม่เชื่อมั่นในรัฐ ราชการ ทุกครั้งที่พูดว่าต้องมีอะไรไปดึงดูดนักลงทุน คนจะเริ่มตั้งคำถามว่าตรงไปตรงมาหรือเปล่า เพราะว่าประชาชนไม่เชื่อมั่นรัฐราชการ เอื้อประโยชน์ใครหรือเปล่า ช่วงนี้หลายประเทศเขาให้เงินอุดหนุนเอสเอ็มอี แต่เรากล้าทำมั้ย ราชการไทยไม่มีใครกล้า ซึ่งจะแก้วิธีคิดอย่างไร ฝั่งประชาชนเองก็มีความเห็นกับบีโอไอในแง่ร้ายอยู่

ถ้าจะแก้ไขในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านเกษตรมีแนวคิดอย่างไร

โครงสร้างพื้นฐานภาคเกษตรกรรมไทย หนีไม่พ้น 3 เรื่อง คือ ที่ดิน หนี้ และน้ำ เรื่องหนี้จะเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ของเกษรตกร เพราะว่าแก่ลงทุกวัน เรื่องนี้ต้องคุยกับแบงก์ชาติ ธ.ก.ส. มี NPL เยอะมาก 12.5% เกษตรกรที่อายุเยอะแล้วใช้หนี้ไม่หมด จะทำอย่างไรให้เขารักษาที่ดินผืนสุดท้ายไว้ได้ เพราะอาจจะเป็นโฉนดเดียวกับบ้านก็ได้

เรากำลังคิดว่าการปรับโครงสร้างแบบปลดหนี้แบบไม่ให้เขาต้องจ่าย แต่ว่าขอใช้ที่ดินของเขาเอาไปทำอย่างอื่น เช่น ปลูกไม้ยืนต้น ทำโซลาร์ฟาร์ม แล้วก็เอาเงินมาใช้หนี้แทน ซึ่งคนอายุ 70 ปีปลูกข้าวคงได้เงินไม่มากหรอก และเราคิดว่าถ้าคนทั่วไปอายุ 65-70 ปี ยังอยากทำนา ต้องมีสวัสดิการพื้นฐานให้เขาอยู่ได้เปลี่ยน เราเห็นว่าควรเปลี่ยนเงินที่เยียวยาชาวนาจำนวนมากในแต่ละปีมาเป็นสวัสดิการ ดีกว่า

ส่วนเรื่องหนี้เกษตรกร อายุ 70 ปีขึ้นไปเปลี่ยนเอาสินทรัพย์มาทำให้เกิดรายได้ในทางอื่นแปลงหนี้เป็นรายได้น่าจะเป็นทางออก ขณะที่เรื่องที่ดิน เราเห็นว่าปัญหาที่ดินในประเทศมีจำนวนมากที่ชาวนาไม่มีที่ดินทำกิน จากการลงพื้นที่พบว่ามีแต่ปัญหาเรื่องเอกสารสิทธิ์ สปก. โดยเราเห็นว่าสิ่งที่ต้องทำเร่งออกเอกสารสิทธิ์พื้นที่มีปัญหาขัดแย้ง เร่งพิสูจน์สิทธิ์

อันนี้ก็เลยเป็นที่มาว่า โครงสร้างพื้นฐาน หนีไม่พ้นคือที่ดิน นอกจากนี้ยังมีปัญหาคนทับที่ดิน ที่ดินทับที่ป่า เต็มไปหมดแล้ว รัฐเป็นเจ้าของที่ดินเยอะมาก แผนที่ที่ดินก็มีเส้นแบ่งไม่เหมือนกัน เป็นปัญหามาก รัฐเองไม่ได้คิดว่าที่ดินเป็นของประชาชน คิดว่าที่ดินเป็นของรัฐ ซึ่งประเทศไทยมีสัดส่วนที่ดินของรัฐสูงที่สุดในโลก รัฐ 60 กว่าเปอร์เซ็นต์ มีที่ดินประชาชนแค่ 30 เปอร์เซ็นต์

เนื่องจาก พ.ร.บ.ป่าไม้ ปี 2484 บอกว่า ที่ดินตรงไหนก็ตามที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ให้ถือเป็นที่ป่าไม้ คือตอนนั้นประเทศไทยยังส่งออกไม้อยู่เลย กฎหมายเขียนเอาไว้เพื่อให้สามารถส่งออกไม้ได้ แต่ปัจจุบันทำให้มีปัญหา สุดท้ายกลายเป็นว่า ที่บอกว่าประชาชนบุกรุกป่า แต่หลายพื้นที่ไม่เหลือสภาพป่าไม้แล้ว บางอำเภอไม่มีเอกสารสิทธิ์ เพราะเป็นพื้นที่ป่าไม้ แต่มีชาวบ้าน สถานที่ราชการ อยู่กันเต็มไปหมดแล้ว

เราคิดว่า 100 วันแรกคือต้องเร่งออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินที่มีความขัดแย้งกันอยู่ แต่ตอนนี้ การตรวจสอบ พิสูจน์สิทธิ์ ใช้ภาพถ่ายทางอากาศ แต่ว่าขาดคนไปเดินทำรังวัด เพราะหน่วยงานภาครัฐได้งบประมาณไม่มาก

ปัญหาที่ดินของรัฐ ต้องเร่งออกเอกสารสิทธิ์แล้วจะแก้ไขอย่างไร

คิดว่าต้องเอาที่ดินทั้งหมดมาตรวจสอบ เพราะเราลงพื้นที่ภาคเหนือทั้งอำเภอ เป็นที่ดินป่าไม้ แต่มีตลาด มีสถานีตำรวจ ทุกคนไม่มีเอกสารสิทธิ์ แม้แต่สถานที่ราชการ จึงน่าจะมาทบทวนเรื่องนี้กันได้แล้ว

เพราะว่าตัว พ.ร.บ.ป่าไม้ พอมาเป็น พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ เราก็มีแนวคิดเหมือนสหรัฐอเมริกาที่ต้องาสร้างรั้วให้ป่า แต่พรรคของเรามี ส.ส.ชาติพันธุ์ ที่หลายพื้นที่เขามีพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ทางจิตวิญญาณของเขาในป่า ที่เขาต้องเข้าไปเคารพ แต่เข้าไปไม่ได้ เขาไม่สามารถใช้เสรีภาพในการใช้ชีวิตหรือวัฒนธรรมของเขาเองได้ อันนี้ไม่น่าจะถูกต้อง

ส่วนเรื่องน้ำ เราคิดว่าแนวคิดแบบเดิมของกรมชลประทานสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ กว่าจะเสร็จใช้เวลาหลายปีมาก บางพื้นที่เกษตรกรเขาเปลี่ยนอาชีพไปแล้ว แนวทางเรื่องการทำแหล่งน้ำขนาดเล็ก บ่อจิ๋ว หลายๆ แห่ง และไม่ต้องรอให้ส่วนกลางทำ ต้องเป็นหน้าที่ของ อปท. เข้ามาเอาเงินสนับสนุนจากรัฐ ทำแหล่งน้ำ ทำบ่อจิ๋วให้ประชาชน ประเทศไทยฝนตกเยอะแต่เก็บไม่ได้ เราต้องหาวิธีแก้ไขเรื่องนี้

นโยบายแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างจะไปสู่ประชานิยมได้มั้ย หลายพรรคอาจจะเน้นการแจก การเยียวยา?

ไม่ได้ (หัวเราะ ลากเสียงยาว) เราเน้นฐานเสียงคนรุ่นใหม่ เช่น เราไม่อยากทำเรื่องประกันรายได้ต่อแล้ว เพราะว่าไม่ได้ทำให้ชีวิตใครดีขึ้นเลย

มีโอกาสเป็นรัฐบาลหรือไม่?

(หัวเราะ …) เราก็เป็นตัวเลือกหนึ่งของประชาชนที่จะหาแนวทางใหม่ๆ คนรุ่นใหม่ และโอกาสใหม่ในการบริหารประเทศ ถ้าไม่เลือกก้าวไกลแล้วจะเลือกพรรคไหน

หลายคนบอกว่าให้ก้าวไกลเป็นฝ่ายค้านไปยาวๆ เพื่อสร้างผลงานให้ชัดเจนไปเลย

หัวเราะ…

มีนักวิชาการหลายคนบอกว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในสภาฯ ที่ฝ่ายค้านที่ใช้สภาฯ ผลักดันกฎหมาย และนโยบายของพรรคฯ ได้?

(ยิ้ม …) มีนักวิชาการ อาจารย์สิริพรรณ นกสวน บอกว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในสภาฯ ไม่มีฝ่ายค้าน ที่ขับเคลื่อนนโยบายโดยใช้สภาฯ เป็นจังหวะดีด้วย รัฐบาลไม่ได้เสนอกฎหมายเข้าสภาฯ มาก ทำให้วาระของพวกเราเดินหน้าได้เร็ว ทั้งกฎหมายสุราก้าวหน้า กฎหมายสมรสเท่าเทียม ผ่านวาระ 1 ด้วยกันทั้งคู่ แม้ว่าสุดท้ายจะตกไป แต่ก็มีการออกกฎกระทรวง ที่เราเรียกร้องให้แก้ตั้งแต่ปีแรก

“คือเขายอมบางส่วน แม้จะไม่ทั้งหมด ยอมเบียร์ ไม่ยอมเหล้า แต่จริงๆ ก็อาจจะไม่เหมือนยอมจริงเพราะว่าปลดล็อกขั้นต่ำ 10 ล้านลิตรออกมาแล้ว แต่ยังมีเงื่อนไขให้ทำอีไอเอ แต่การทำอีไอเอจะเริ่มทำได้คือ 7.2 ล้านลิตร คือขยับจาก 10 ล้านลิตรลงมาเหลือ 7.2 ล้านลิตร ซึ่งก็ยังมีขนาดใหญ่อยู่ดี แต่ว่าอย่างน้อยเราปรับปรุงได้ในอนาคต แต่เป็นการจุดประกายว่า เรื่องของสุราก้าวหนาไม่ใช่เรื่องของขี้เมา เป็นเป็นเรื่องของการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการายเล็กรายน้อยได้ลืมตาอ้าปาก ไม่ได้ถูกกดเอาไว้ไม่ให้เติบโต”

เราทำได้ คือว่ารัฐบาลยอมแก้ไขกฎกระทรวงที่เป็นปัญหากับประชาชนตลอด อาจจะไม่ได้ทุกอย่างที่เราอยากได้ อย่างน้อยถือว่าเป็นก้าวแรก เช่นเดียวกับ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม

ที่ผ่านมาเราเข้าชื่อเสนอกฎหมายยื่นประกบ แล้วสิ่งที่เราผลักดันได้คือเข้าชื่อเสนอกฎหมายออนไลน์ให้ไม่ต้อง ใช้บัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านทำให้ประชาชน ซึ่งทำให้ประชาชนสามารถยื่นเสนอกฎหมายของพวกเราได้เลยง่ายขึ้น

นอกจากนี้ เราผลักดัน พ.ร.บ.อุ้มหายและซ้อมทรมาน อันนี้สำคัญและเป็นกฎหมายที่เราร่วมยื่นกับภาคประชาชน แม้ว่าจะไม่ได้ดั่งใจทุกอย่าง มีการแก้ไขหยุมหยิม แต่เราปักธงว่ามีกฎหมายแบบนี้ในประเทศไทย เป็นจุดเริ่มต้น แล้วเราค่อยไปเกลาให้มันสมบูรณ์ภายหลังได้

แต่กฎหมายของพรรคฯ เอง เสนอไปถูกตีความว่าเป็นที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ต้องได้รับการรับรองจากนายกรัฐมนตรีก่อน ทำให้ถูกปัดตกทุกกฎหมาย แม้แต่ที่เสนอ พ.ร.บ.เปิดเผยข้อมูลสารเคมีในโรงงาน เพื่อให้คนในชุมชนพื้นที่รับรู้ว่าโรงงานใช้สารเคมีอะไร ทำให้สถานีดับเพลิงใกล้บ้านสามารถเตรียมการป้องกันภัยรองรับได้ และวางแนวทางอพยพและป้องกันความเสี่ยง แต่กฎหมายนี้ถูกปัดตก หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานหมิงตี้ เพราะถูกตีความว่าเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน

เลือกตั้งครั้งหน้าเปลี่ยนสูตร หาร 100 บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ มีผลกับก้าวไกลมากน้อยเพียงใด

ต้องบอกว่ามีผลมากทีเดียวเลย เพราะว่าเราอาจจะไม่ได้ ส.ส. เท่าเดิม แต่เราตั้งเป้าหมายไว้ประมาณ 20-25% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งก็คือ ประมาณ 8-10 ล้านคน เรายังรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เพราะว่าจากผลโพลที่ผ่านมา เราเห็นแล้วว่าเรามีฐานแฟนคลับที่เหนียวแน่น แม้ว่าจะสำรวจกี่ครั้งเราจะมีคะแนนอยูที่ 20% ตลอด คะแนนไม่ลดลงเลย เลือกตั้งซ่อมภาคใต้ เป็นจุดอ่อนของเรา แต่คะแนน เลือกตั้งซ่อม ส.ก. จะอยู่ที่ ประมาณ 18-20% ตลอด

เราเชื่อว่าแฟนคลับของเรา ที่ยังไงก็จะเป็นคะแนนตั้งต้นให้กับ ส.ส.เขต ทุกคน ถ้าสส.เขตลงพื้นที่ต่อเนื่อง จะได้ชัยชนะ ส่วน ส.ส.ปาตี้ลิสต์ ก็เหนื่อยเหมือนกัน แต่เราเป็นพรรคการเมืองต้องอยู่ให้ได้ทุกระบบการเลือกตั้ง

การขับเคลื่อนนโยบายข้างหน้ายังคงเป็นเรื่องความพยายามแก้ไขในเชิงโครงสร้างต่อไป?

ใช่ เพราะว่าเราเห็นว่าเปลี่ยนผู้นำไม่พอ ต้องเปลี่ยนทั้งประเทศ เพราะว่าใครขึ้นมาเหมือนเดิม ถ้าเราไม่ได้ไปแก้ไขที่โครงสร้างและต้นตอของปัญหาจริงๆ เราจะอยู่กันแบบนี้ แล้วเปลี่ยนอะไรไม่ได้จริง ภารกิจนี้ยังต้องขับเคลื่อนต่อไป